พึงข่มขี่ปรัปวาท อย่างไร

พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรมอย่างนี้ 

ชื่อกระทู้ ตัดมาจากบางประโยคใน ทิฏฐิสูตร

อนาถบิณฑิกไปเยี่ยมพวกปริพาชก
หลังจากพูดคุยแสดงความระลึกถึงกันแล้ว ก็มีการถามทิฏฐิกัน


ดูกรคฤหบดี ขอท่านจงบอก พระสมณโคดมมีทิฐิอย่างไร
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค ฯ
ดูกรคฤหบดี นัยว่า บัดนี้ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม
ขอท่านจงบอก ภิกษุทั้งหลายมีทิฐิอย่างไร ฯ
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมด แม้ของภิกษุ
ทั้งหลาย ฯ
-ดูกรคฤหบดี นัยว่า ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม
ทั้งไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพวกภิกษุด้วยประการดังนี้ ขอท่านจงบอก
ตัวท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าบอกทิฐิของข้าพเจ้า
ว่ามีทิฐิอย่างใดนี้ไม่ยาก เชิญท่านทั้งหลายบอกทิฐิของตนเสียก่อน
ข้าพเจ้าจึงจะบอกทิฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฐิอย่างใดในภายหลัง
ซึ่งเป็นการทำไม่ยาก ฯ

ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯ
ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
...ฯลฯ......ฯลฯ......ฯลฯ


ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ท่านผู้มีอายุได้กล่าวอย่างนี้ว่า ...ฯลฯ... ทิฐิของท่านผู้มีอายุนี้
เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน
หรือเพราะโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย

ก็ทิฐินั้น เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว
เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย

สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ


ดูกรคฤหบดี พวกเราทั้งหมดบอกทิฐิของตนแล้ว ขอท่านจงบอก
ท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย
สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
ข้าพเจ้ามีความเห็นสิ่งนั้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ

ดูกรคฤหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ ฯ

ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
ข้าพเจ้าเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ทั้งรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้นอย่างยอดเยี่ยมตามเป็นจริง ฯ


เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว
ปริพาชกเหล่านั้นพากันตอบโต้ไม่ได้

ต่อมาท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ได้ทูลเล่าเหตุการณ์ให้ฟังทุกประการ
พระองค์ตรัสว่า

"ดีละๆ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษเหล่านั้นให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี
โดยกาลอันควร โดยชอบธรรม
อย่างนี้แล"

ภายหลังพระองค์ตรัสกะภิกษุทั้งหลายอีกว่า


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุใดแลเป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัยตลอดกาลนาน
ภิกษุแม้นั้นพึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรมอย่างนี้
เหมือนท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น ฯ"






      ดูกรภิกษุทั้งหลาย


      บุคคลบางคนในโลกนี้
      -ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะอันไม่เป็นธรรมด้วยวาทะอันไม่เป็นธรรม
      -และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะอันไม่เป็นธรรม
      -บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า
      ดูกรท่านผู้เจริญท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ฯ


      อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
      -ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม
      -และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ให้ยินดีด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม
      -บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า
      ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ฯ


      อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
      -ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมและวาทะที่ไม่เป็นธรรมด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม
      -และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะไม่เป็นธรรม
      -บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันไม่เป็นธรรมนั้นว่า
      ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ฯ



      อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
      -ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่ไม่เป็นธรรมด้วยวาทะที่เป็นธรรม
      -และย่อมยังบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรม
      -บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะอันเป็นธรรมนั้นว่า
      ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ฯ



      อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้
      -ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่เป็นธรรม
      -และย่อมยังบริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรม
      -บริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมนั้น ย่อมสรรเสริญเสียงเอ็ดอึงเพราะวาทะที่เป็นธรรมนั้นว่า
      ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ฯ


      บางส่วนจาก อาชินสูตร




      อันนี้ ความจริงเป็นเรื่องของภิกษุโจทภิกษุกันเอง
      แต่ชาวบ้านอย่างเราๆ เอามาประยุกต์ใช้ด้วยก็ดี

      เรื่อง ทูลถามโจท
      ผู้โจทก์พึงมนสิการธรรม ๕ ประการ

                  [๕๑๐] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง
      มนสิการธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า
                  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น
      พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น คือ:-
                               ๑. ความการุญ
                               ๒. ความหวังประโยชน์
                               ๓. ความเอ็นดู
                               ๔. ความออกจากอาบัติ
                               ๕. ความทำวินัยเป็นเบื้องหน้า
                  ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่าง
      นี้ไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น ฯ


      ผู้ถูกโจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ

                  [๕๑๑] พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรมเท่าไร
      พระพุทธเจ้าข้า
                  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรม
      ๒ ประการ คือ ความจริง ๑ ความไม่ขุ่นเคือง ๑ ฯ







      บางส่วนจาก  กกจูปมสูตร


      ถ้อยคำที่คนอื่นจะพึงกล่าว ๕ ประการ

      [๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ

      กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑
      กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑
      กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑
      กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
      มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม
      จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม
      จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
      จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม
      จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
      จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก
      เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน
      เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์
      ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง
      ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.



      บางส่วนจาก พรหมชาลสูตร

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม
      เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
      ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
      อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่


      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
      ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
      เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้ละหรือ?


                  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.


      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
      ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง
      เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่านั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้
      นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย
      และคำนั้นจะหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย



      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
      เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้น

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น
      อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลายเพราะเหตุนั้นเป็นแน่

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์
      ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า
      นั่นจริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย
      และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.




      ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      จะพึงทราบบุคคลว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน


      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา
      ไม่เฉลยโดยส่วนเดียว ซึ่งปัญหาที่ควรเฉลยโดยส่วนเดียว
      ไม่จำแนกเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรจำแนกเฉลย
      ไม่สอบถามเฉลย ซึ่งปัญหาที่ควรสอบถามเฉลย
      ไม่หยุดปัญหาที่ควรหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

      (พึงทราบบุคคลควรพูดโดยนัยตรงข้าม)



      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลเมื่อถูกถามปัญหา
      ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ
      ไม่ดำรงอยู่ในปริกัป
      ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง
      ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

      (พึงทราบบุคคลควรพูดโดยนัยตรงข้าม)



      ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา
      พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว
      แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ
      เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

      (พึงทราบบุคคลควรพูดโดยนัยตรงข้าม)




      ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา
      พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด
      เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ควรพูด

      (พึงทราบบุคคลควรพูดโดยนัยตรงข้าม)




      ดูกรภิกษุทั้งหลาย
      พึงทราบบุคคลว่า มีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน

      ผู้ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย
      ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย

      เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง
      ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง
      ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง

      เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง
      กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง
      ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์
      การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์
      การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ จิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ฯ



      กถาวัตถุสูตร





      กถาวัตถุสูตร

      คำว่า ควรพูดหรือไม่ควรพูด
      ด้านหนึ่งหมายความว่า คนที่มีลักษณะนั้นๆ น่ะ ไม่ควรพูดออกมา
      เพราะพูดไม่เป็นธรรมไม่เป็นหลัก
      ด้านหนึ่งหมายความว่า ถ้าเจอกะคนที่มีลักษณะนั้นๆ เราก็ไม่ควรจะพูดด้วย
      เพราะเขาไม่มีอุปนิสัยที่จะฟังคำเราให้เกิดประโยชน์ การคุยนั้นไร้ประโยชน์


      คำว่า ไม่ดำรงอยู่ในฐานะและอฐานะ
      หมายถึง ไม่มีจุดยืนในความเห็นของตน คือ พอโดนต้อนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
      ทีแรกยืนยันว่าจริง พอจะจนคำเข้า ก็บอกว่า ผมไม่เคยบอกว่าจริงนะ


      คำว่าไม่ดำรงอยู่ในปริกัป
      ข้อนี้จำไม่ค่อยได้แล้วครับ เดาว่าน่าจะหมายถึง
      คนนั้นๆ คิดจะถามจะตอบอะไร พออีกฝ่ายหนึ่งดักคอได้ ก็เปลี่ยนว่า
      ไม่ได้จะถามหรือจะตอบอย่างนั้น แทนที่จะยืนคำถามคำตอบตามที่คิดไว้แต่เดิม


      คำว่า ไม่ดำรงอยู่ในวาทะที่ควรรู้ทั่วถึง
      ข้อนี้ น่าจะ(อีกแล้ว) หมายความว่า คำถามคำตอบที่ตนเองมีความรู้อยู่นั้น
      ตนได้พูดไปแล้ว แต่พออีกฝ่ายแย็บเข้ามา ยังไม่ทันจะแย้งอะไร
      ก็รีบลังเลว่าที่เราพูดไปนี้ผิดประเด็นหรือไร



      คำว่า ไม่ดำรงอยู่ในปฏิปทา
      อันนี้เป็นหลักปฏิบัติของพระภิกษุครับ
      ที่มีกฏเกณฑ์ว่าจะเทศน์หรือตอบธรรมะในกาลเทศะแบบไหนบ้าง
      หรือคนที่ถามนั้นถามโดยเคารพหรือเปล่า
      ถ้าคนมาถามโดยผิดกาลเทศะก็ไม่ควรตอบเพราะจะผิดธรรมเนียม


      อ่านเพิ่มเติมจาก อรรถกถา ครับ




      คำตาม

      กระทู้นี้ ตั้งด้วยเหตุอะไร คาดว่าคนมาอ่านคงเดาง่ายมากๆ : )
      คืออย่างที่รู้ๆ กันว่า ห้องศาสนานี้ มีกระทู้ทะเลาะกันบ่อย โต้แย้งกันบ่อย
      โดยเฉพาะ "คน"พุทธกับ"คน"พุทธ
      อื่นๆ ปลีกย่อยเช่นใครถูกผิด หรือมีคดีอะไรบ้างขอละไว้ก็แล้วกัน

      รวมความว่า อลหม่านในสายตาหลายคน



      1.เวลามีการโต้แย้งจนหลายทีถึงกับทะเลาะกันนี้
      จะมีบางท่านเห็นว่า อย่าทะเลาะกัน อย่าขัดแย้งกัน
      ใครจะทำอะไรมันก็เรื่องของเขา พิจารณาและเพ่งโทษแต่ตัวเราเถิด...

      ส่วนบางท่านจะอยู่อีกฟากหนึ่ง คือ ฟากบู๊ ดาหน้าชน
      ซึ่งก็มีหลายดีกรีความแรง หลายสไตล์การชก
      ชกเบาก็มี แรงก็มี ชกตามกติกาก็มี กัดหูก็มี
      (ผมเองก็เคยร่วมในบางวงบ้าง ไม่ใช่ไม่เคย ขอสารภาพ...)


      ประเด็นนี้ ก็เป็นความหวังของคนตั้งกระทู้ว่า
      ถ้าเกิดใครมาอ่าน ก็อาจจะได้แชร์ความรู้กันว่า
      หลักทางพุทธนั้น ไม่ได้ห้ามการขัดแย้ง ไม่ได้ห้ามการโต้วาที

      เพียงแต่เราจะขัดแย้งและโต้วาที
      "เรื่องไหน ด้วยท่าทีอย่างไร และกับใคร" ต่างหาก

      จึงจะถูกและงามตามธรรมแบบพุทธ

      (ที่จริง ยังมีพระสูตรที่เกี่ยวข้องกะประเด็นนี้ในแง่อีื่นๆ อีกที่ไม่ได้ยกมาอีก
      แต่เกรงจะยาวไป)



      แน่นอนอีกว่า ย่อมมีคนไม่ได้มาอ่าน หรืออ่านแล้วไม่สนใจไม่ฟังก็มี T T
      ในส่วนนี้ ก็คงต้องถือว่า แต่ละคนก็มีวินิจฉัยของเขา มีเหตุผลของเขา
      ซึ่งไม่อยู่ใต้ความอยากได้หรือไม่อยากของเราอยู่แล้ว : )




      2.สภาพวุ่นวายของการโต้แย้งกันเรื่องหลักการก็ดี ทะเลาะกันเรื่องส่วนตัวก็มี
      แย้งกันเรื่องหลักการจนทะเลาะเรื่องส่วนตัวไปก็มี : )

      อาจมีบางคนเห็นแค่ภาพการทะเลาะกันก็เสื่อมศรัทธาต่อพุทธธรรม
      หรือบางคนเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่ชวนเสื่อมศรัทธาของบางคน
      แล้วพานเสื่อมศรัทธาต่อพุทธธรรมก็อาจมี


      ในส่วนนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้กระทู้นี้มีส่วนให้ใครก็ตามที่มองอย่างนั้น
      ได้มองแยกแยะว่า "พฤติกรรมของคนที่ชื่อว่านับถือพุทธ"
      กับ "หลักธรรมจริงๆ ของพุทธ" นั้น เป็นคนละส่วนกัน
      อย่าเอามาปนกัน

      ยกตัวอย่างแบบสุดโต่งก็เช่นว่า เราคงไม่มองว่า
      โจรปล้นฆ่าข่มขืนที่แขวนพระเครื่องเต็มคอ เป็นตัวแทนศาสนาพุทธหรอกนะ

      หรือเอาแบบจริงจัง ก็เช่นว่า คนมีกิเลสแม้จะนับถือธรรมที่ไม่เป็นไปกับกิเลส
      แต่บางทีก็ยังแพ้แก่กิเลสเป็นบางด้านหรือบางระดับอยู่
      นั่นเพราะพุทธธรรมเป็นศาสนาที่ศาสนิกต้องนำธรรมมาฝึกพัฒนาตัว

      แต่จะพัฒนาไกลหรือใกล้จากจุดหมายแค่ไหนก็อีกเรื่อง
      เป็นเรื่องของบุคคลล้วนๆ
      อย่างผมเห็นสาวสวยก็ยังเหล่มองอยู่บ่อยๆ เลย : )



หมายเหตุ ก้อป+ตัดแต่งจากกระทู้ พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์



Create Date : 13 มิถุนายน 2555
Last Update : 13 มิถุนายน 2555 1:33:42 น.
Counter : 2528 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
 
All Blog