ปลาใหญ่ ปลาเล็ก (ลอกคนอื่น)
ไปเจอบทความดีๆเลย ขออนุญาต คุณ Antonio at MonkeyFreeTime ลอกมาเก็บไว้อ่านค่ะ เรื่องของ ปลาใหญ่ ปลาเล็ก ถ้าเปรียบหุ้นทั้งหมดในตลาดเป็น "ปลา" ที่แหวกว่ายไปมารอให้คนมาซื้อ สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนทำก็คือ ซื้อปลามาเพื่อเลี้ยงและขายต่อให้ได้ราคาดีๆ ผมคงต้องยอมรับว่าเป็นคนไม่ชอบลงทุนกับ "ปลาใหญ่" แม้จะรู้ว่าปลาใหญ่แข็งแรงกว่า ทนกว่า และเนื้อเยอะกว่า ในทางตรงข้ามผมกลับชอบซื้อ "ปลาเล็ก" ที่แคล่วคล่องว่องไวและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ความชอบส่วนตัวเท่านั้น
ที่จริงแล้วสำหรับคนที่เลือกปลาเก่งๆ ไม่ว่าปลาจะตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น
ปลาใหญ่ ปลาใหญ่ หรือ หุ้นตัวใหญ่ จำพวกที่อยู่ใน SET50 หรือ SET100 นั้นเป็นที่หมายปองของนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น "ขาเล็ก" อย่างพวกรายย่อย หรือ "ขาใหญ่" อย่างนักลงทุนสถาบัน
นักลงทุนสถาบัน เช่น ผู้จัดการกองทุน หรือเฮ็ดจ์ฟันด์ต่างๆ มักมีข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาต้องจดจ่ออยู่กับหุ้นตัวใหญ่ แม้ที่จริงในกรณีของเฮ็ดจ์ฟันด์จะสามารถดิ้นไปลงทุนใน "อะไรก็ได้" แต่การจับหุ้นตัวเล็กก็ทำให้พวกเขามีอาวุธไม่ครบมือ อย่างน้อยก็ไม่สามารถช็อตเซลล์ (short sell) หุ้นก่อน แล้วค่อยไปซื้อกลับในราคาถูกๆ เพื่อทำกำไร ด้วยเหตุนี้นักลงทุนขาใหญ่จึงถูกบังคับให้ซื้อ "ปลาใหญ่" ไปอย่างช่วยไม่ได้
แต่ในมุมของนักลงทุนรายย่อยนั้นแตกต่างออกไป พวกเขาสามารถ "เลือก" ปลาใหญ่หรือปลาเล็กก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมจะพูดถึงพวกที่ชอบปลาใหญ่ก่อนก็แล้วกัน
ในรายที่เลือกซื้อปลาใหญ่ หลายคนเลือกเพราะความเชื่อใจและความสบายใจ ความเชื่อใจที่ว่านี้ก็คือ หุ้นตัวใหญ่ หรือ หุ้นบลูชิป เป็นหุ้นดีและปลอดภัย พวกเขาตัดสินใจซื้อแม้จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับธุรกิจของมันเลย รู้แต่ว่า "ปลาใหญ่ไม่มีวันจม" และ "หุ้นบลูชิปไม่มีวันเจ๊ง"
ขณะที่รายย่อยอีกหลายคนก็พยายาม "เล่นหุ้น" แบบเน้นคุณค่า พวกเขาเข้าใจว่านักลงทุนแบบ VI ต้องซื้อหุ้นแล้วถือยาว ต้องซื้อหุ้นพื้นฐานดี แล้วก็เข้าใจต่อไปว่าหุ้นบลูชิปคือหุ้นพื้นฐานดี ก็เลยสรุปว่า "เป็น VI ต้องซื้อหุ้นบลูชิปแล้วถือยาว" ...ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปมาก
ปลาใหญ่อาจไม่ทำกำไรก็ได้ หากว่ามัน "ป่วย" หลังจากที่คุณซื้อมา การอนุมานว่าปลาใหญ่ต้องแข็งแรงจึงไม่ถูกต้องเสมอไป
นอกจากนี้ปลาใหญ่นั้นมักจะโตมาเป็นเวลายาวนานแล้ว โอกาสที่เลี้ยงไปแล้วมันจะโตขึ้นก็มีอยู่จำกัด อีกทั้งปลาใหญ่ย่อมเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั้งขาใหญ่ขาเล็ก โอกาสที่เราจะได้ซื้อมันในราคา "เจ๋งๆ" ก็มีอยู่ไม่มาก ผมจึงมองว่าทั้ง "ศักยภาพ" และ "โอกาส" ไม่ค่อยเอื้อให้กับนักลงทุนรายเล็กๆ อย่างผมสักเท่าใดนัก ผมเลยมักจะเบี่ยงตัวเองออกไปมองหาปลาเล็กเสียมากกว่า
ปลาเล็ก การมองหาปลาเล็กถือได้ว่าเป็นเรื่องสนุกกว่ากันมาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณมองเห็นปลาเล็กตัวแจ๋วๆ รับรองว่ามันจะทำกำไรให้คุณได้ชนิดอ้าปากตาค้างเลยล่ะ
ปลาเล็ก หรือ หุ้นตัวเล็ก อยู่นอกจอเรดาร์ของเหล่าผู้จัดการกองทุน ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเลือกตัวหุ้น "โอกาส" ของเราที่จะซื้อมันได้ในราคาดีๆ จึงมีอยู่เสมอ นอกจากนี้ปลาเล็กยังมี "ศักยภาพ" ที่จะเติบโตได้อีกมาก ถ้าเราสามารถเลือกปลาเล็กที่แข็งแรงและโตไว
อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อหุ้นตัวเล็กมีข้อควรระวังอยู่มากเหมือนกัน ข้อแรก คือ คุณภาพของมัน หุ้นตัวใหญ่จัดได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวพิสูจน์ตัวเองมาปีแล้วปีเล่า จนกลายเป็นบริษัทใหญ่อย่างในทุกวันนี้ ในขณะที่หุ้นตัวเล็กอาจแทบไม่เคยผ่านศึกหนักมาเลย การมองหาหุ้นตัวเล็กที่เจ๋งจริงๆ จึงต้องใช้สายตาที่แหลมคมอยู่พอสมควร
ข้อสอง ความที่หุ้นตัวเล็กเป็นการ "เล่นกันเอง" ในระหว่างรายย่อยด้วยกัน สภาพคล่องของหุ้นจึงค่อนข้างน้อย แม้กระทั่งรายย่อยที่มีเม็ดเงินมากหน่อยก็อาจกลายเป็น "เจ้ามือหุ้น" ที่สามารถลากหรือทุบราคาหุ้นได้แล้ว เราจึงต้องระวังไม่เข้าไปเล่นในเกมเดียวกับเจ้ามือหุ้นเหล่านั้น
ข้อสาม สืบเนื่องจากสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อย การซื้อหรือขายหุ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เราได้ราคาแย่กว่าที่ควร เพราะช่วงห่างระหว่างราคา bid กับ offer ที่ห่างกันมาก ในเวลาที่จะซื้อถ้าเราอ้อยอิ่งใจเย็นเกินไป ราคาหุ้นก็ขยับขึ้นทุกวัน เราก็อาจต้องตามซื้อในราคาที่แพงอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อสุดท้าย ผมขอย้อนกลับไปในกรณีที่เราพลาดไปซื้อ "ปลาป่วย" หากเป็นเคสของปลาใหญ่เรายังตัดใจขายทิ้งได้ทันทีโดยไม่เจ็บปวดมากนัก แต่ในเคสของปลาเล็ก เราอาจ "โดน" ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสามกลับมาเล่นงานอ่วมได้ เพราะตลาดของปลาเล็กนั้นจัดว่าเป็น niche market หรือตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง
ด้วยเหตุนี้ผมจึงเตือนตัวเองเสมอว่า "รักจะซื้อปลาเล็ก สายตาต้องแหลมคม" และ "ต้องเฉียบคมขึ้นอยู่เสมอ" จะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้เลย ที่อยากฝากไว้สำหรับคนรักปลาเล็กทุกคนครับ --------------------------------------------------------- เครดิต v//www.monkeyfreetime.com/2012/08/blog-post_20.html จากคุณ | : Antonio at MonkeyFreeTime | เขียนเมื่อ | : 20 ส.ค. 55 01:13:40 | VI+เทคนิค=? บ่อยครั้งที่ได้ยินคนถามกันว่า "ใช้แนวทางไหนในการลงทุนหุ้น?" แล้วคำตอบหนึ่งที่ดูเหมือนคนตอบจะภาคภูมิใจ แต่กลับทำให้ผมมึนไปเลย เขาบอกว่า "ผมลงทุนแบบ VI แต่เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค"
ฟังดูดีแต่... เราทราบกันดีอยู่แล้วว่านักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI เน้นการมอง "ตัวธุรกิจ" มากกว่าราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ พวกเขาจำเป็นต้องดูงบการเงินให้เป็น(บ้าง) เพื่อที่จะสามารถประเมินมูลค่าของบริษัทได้ เพราะถ้าประเมินมูลค่าไม่ได้ พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าต้องซื้อหุ้นที่ราคาเท่าไหร่ถึงจะ "ต่ำกว่ามูลค่า"
การบอกว่า "ลงทุนแบบ VI" จึงฟังดูดี แต่พอบอกว่า "เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค" ผมชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าผู้พูดมีความเข้าใจหลักการมากน้อยแค่ไหน
นักลงทุนแบบ VI เน้นการซื้อของถูก นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องมานั่งหา "มูลค่าที่แท้จริง" เหล่า VI ที่มีความอดทนจะจับตามองและรอคอย ระดับราคาที่น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนบรรจุตัวตนของตนเองลงไป เพราะแม้กระทั่ง VI สองคนที่คำนวณมูลค่าหุ้นออกมาได้เท่ากัน ก็อาจมี action ที่แตกต่างกันได้
คนที่ต้องการความปลอดภัยสูง (ต้องการ Margin of Safety เยอะ) จะรอ "ระดับราคา" ที่ต่ำกว่ามูลค่ามากๆ เช่น ถ้าคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 50 บาท เขาอาจรอให้ราคาหุ้น discount ลงมาถึง 40% หรือเมื่อราคาหุ้นลดลงมาเหลือ 30 บาทเสียก่อนจึงจะเข้าซื้อ ส่วนคนที่ต้องการ Margin of Safety น้อยกว่า อาจรอให้ราคาหุ้นลดเหลือ 40 บาท ก็เข้าซื้อแล้ว นี่คือความสำคัญของระดับราคาหุ้นที่มีผลต่อการตัดสินใจของ VI แต่ละคน
ในทางตรงข้ามนักเก็งกำไรจะไม่สนใจระดับราคามากนัก พวกเขาพยายาม "อ่านตลาด" ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อจับสัญญาณว่าทิศทางราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยินดีซื้อถ้ามั่นใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าราคาหุ้นกำลังจะปรับตัวสูงขึ้น
เคยได้ยินคำว่า "buy low, sell high" และ "buy high, sell higher" มั็ยล่ะครับ?
นักเทคนิคคนหนึ่งอาจซื้อหุ้นที่ 20 บาท และขายที่ 22 บาท (กำไร 10%) ในขณะที่อีกคนซื้อที่ 30 บาท แล้วไปขายที่ 33 บาท กำไร 10% เท่ากัน สังเกตว่าราคาหุ้นถูกแพงไม่ว่ากัน ขอให้ราคาขยับถูกทิศถูกทางก็เป็นอันใช้ได้
ด้วยเหตุนี้ความจดจ่อของ VI จึงอยู่ที่ "price level" ในขณะที่นักเทคนิคไปอยู่ที่ "price movement" ...คนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง
ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น ถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า "แล้วไง? ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้กำไรก็แล้วกัน" ซึ่งก็คงจะจริงครับ ถ้านักลงทุนโชคดีพอ
ที่บอกว่า "โชคดีพอ" ก็เพราะว่า วิธีเลือกหุ้นแบบ VI แล้วจับจังหวะเข้า-ออกด้วยเทคนิคนั้นจะทำงานได้ดีในภาวะอุดมคติ คือ หุ้นไหลลงมาชั่วคราวจนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จากนั้นก็รอสัญญาณซื้อทางเทคนิคเมื่อราคาหุ้นเริ่มดีดกลับและเข้าสู่ "ขาขึ้น" ครั้งใหม่ แล้วก็กำไรเละ บราโว่!
แต่เคยคิดไหมครับว่าในโลกของความเป็นจริง ราคาหุ้นมันไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นลูกคลื่นเนียนๆ พอสัญญาณซื้อมาได้แป๊บนึง จากนั้นหุ้นก็ลงต่อ เบรกสัญญาณขาย เผลอแป๊บเดียวก็หักขึ้นไปเบรกสัญญาณซื้ออีก ฯลฯ คุณจะทำยังไง
"ทางหนีทีไล่" ของนักเก็งกำไรมืออาชีพ คือ ต้อง cut loss ในขณะที่ทางหนีทีไล่ของนักลงทุนแบบ VI คือ การเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ในระดับที่พวกเขาพอใจ ดังนั้น VI จึง ไม่ คัทลอส ...ถามว่าในเมื่อคุณโดดเข้าไปในฐานะ "ลูกครึ่ง" ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ คุณจะเลือกทางไหน?!
ถ้าเลือกคัทลอส ก็แปลว่าคุณไม่ได้ลงทุนแบบ VI แล้ว แต่ถ้าเลือกถือหุ้นต่อ ก็แปลว่าคุณเพิกเฉยต่อสัญญาณทางเทคนิค
หากว่าคุณยังโชคดีพอก็อาจจะกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็หลุดออกมาได้ มีกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุนไม่มาก แต่ถ้าโชคร้ายก็ขาดทุนยับ ยิ่งถ้าซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น อันนี้ยิ่งนรกเลย เรื่องเงินๆ ทองๆ ผมว่าไม่ควรรอโชคดวง แต่ว่าควรเลือกทางให้เหมาะกับตัวเองตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เฉลยดีกว่า จากหัวข้อที่ผมตั้งไว้ว่า VI + เทคนิค เท่ากับอะไร เฉลยก็คือ
VI + เทคนิค = ความสับสน
ในเมื่อวิธีคิดของทั้งสองเรื่องไม่ได้ไปด้วยกัน (เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ไปด้วยกันตั้งแต่แรก) การพยายาม mix and match จึงนำไปสู่ความสับสน ถ้าไม่อยากสับสนและต้องอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจแบบนี้ ก็อย่าหลงเชื่อแนวทางสวยๆ ฟังดูดี แต่มีมุมมืดรออยู่
อยากเป็น VI หรืออยากเป็นนักเก็งกำไรเก่งๆ ก็เป็นไปเลย มันเป็นหนทางที่ทำกำไรได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าสู่ "โหมดสับสน" เมื่อไหร่ หายนะก็ใกล้จะมาถึงครับ ---------------------------------------------------------- เครดิต //www.monkeyfreetime.com/2012/08/vi.html จากคุณ | : Antonio at MonkeyFreeTime | เขียนเมื่อ | : 26 ส.ค. 55 23:19:45 |
Create Date : 22 สิงหาคม 2555 |
Last Update : 31 สิงหาคม 2555 8:36:58 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1029 Pageviews. |
|
|