ทานอย่างไรดี แม่ท้อง
ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บางครั้งก็ไม่สบายตัว โดยเฉพาะเวลากินอาหาร เพราะแบบนี้อานักก็เลยขอเอาใจคุณแม่ท้องเป็นพิเศษ ด้วยการเลือกเอาเทคนิคการกินให้สบายตัวตอนที่อ้วนกลมอุ้ยอ้ายมาฝากกันค่ะ พร้อมเมนูแนะนำง่ายๆ ที่สำคัญเป็นเมนูคุ้นลิ้นแถวๆ บ้านเรานี่แหละค่ะ



เคี้ยวละเอียด-กินช้า
ความจริงถึงไม่ต้องตั้งท้อง การกินอาหารช้าๆ และเคี้ยวให้ละเอียดก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะถือเป็นการช่วยให้กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป ยิ่งช่วงท้องระบบย่อยอาหารมีการปรับเปลี่ยน เนื่องมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนและขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นด้วยแล้ว การกินช้าและเคี้ยวให้ละเอียด ก็จะช่วยให้คุณแม่ผจญกับอาการท้องอืดแน่นเฟ้อน้อยลงได้
Tip : นอกจากเคี้ยวให้ละเอียดกินช้าลงแล้ว การเลือกอาหารที่ย่อยง่าย ลดของทอดของมัน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจค่ะ

เมนูแนะนำ : ข้าวต้มทะเลรวมมิตร/ เมี่ยงปลาทู/ ข้าวอบสมุนไพรทรงเครื่อง/ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน/ ปลาลวกจิ้ม


น้อยแต่ถี่
เมื่อมีอีกหนึ่งชีวิตมาเติบโตอยู่ในตัวเราอย่างนี้ คุณแม่จึงต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น (จากเดิมอีกประมาณวันละ 500 กิโลแคลอรี) เพื่อจะเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็ก ยิ่งเป็นช่วงไตรมาสที่ 2 และที่ 3 คุณแม่ก็จะหิวบ่อย กินเก่งมากขึ้นแต่จากที่เคยกินมื้อใหญ่ได้เยอะจนไปอิ่มไปนานหลายชั่วโมง คุณแม่คงจะต้องแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ แบะเพิ่มความถี่เป็น 5-6 มื้อแทนเพื่อที่จะย่อยได้สะดวก เหมาะกับการที่ลำไส้ทำงานช้าลงเพื่อจะดูดซึมอาหารได้มากขึ้นระหว่างนี้นั่นเอง ถ้าคุณแม่เกิดลืมตัวกินเพลินแบบเต็มสตีมคงได้จุกแน่น อึกอัดท้องแน่ๆ ใช้วิธีกินจุบจิบเรื่อยๆ สบายท้อง อิ่มตลอดแบบนี้ดีกว่ากันเยอะเชียวค่ะ คุณแม่ขา…
Tip : พกของว่าระหว่างที่อร่อยมากคุณค่าไว้ใกล้ตัว หรือบนโต๊ะที่ทำงานก็จะช่วยให้คุณแม่ไม่หิวจนหน้ามืดตาลายได้ค่ะ

ของว่างแนะนำ : ปลากรอบแก้วสมุนไพร/ ผลไม้สด/ เต้าฮวยฟรุตสลัด


หมั่นจิบน้ำ
คุณแม่คงจำได้ว่าร่างกายของเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 70% คำแนะนำที่ควรดื่มน้ำสะอาดวันละไม่ต่ำกว่า 8 แก้วจึงยังใช้ได้อยู่ค่ะ แถมช่วงท้องอย่างนี้คุณแม่เองอาจจะดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าขณะตั้งครรภ์อุณหภูมิในตัวคุณแม่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายปรับเปลี่ยน นอกจากนั้นในช่วงนี้ร่างกายของคุณแม่จะผลิตเลือดเพิ่มมากขึ้นเพื่อไปเลี้ยงลูกแล้วน้ำก็เป็นส่วนและกอบของเลือดจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคุณแม่จึงต้องการน้ำมากขึ้น
Tip : นอกจากน้ำจะช่วยปรับอุณหภูมิให้ร่างกายสมดุลแล้ว อาการท้องผูกที่มากวนใจคุณแม่ก็จะคลายลงไปได้ถ้าหมั่นจิบน้ำ ส่วนคุณแม่ที่แพ้ท้องอยู่อานักขอแนะให้ลองจิบน้ำผสมมะนาวอุ่นๆ ตอนเช้าสักแก้วก็จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ลงได้ค่ะ

เครื่องดื่มแนะนำ : นมพร่องไขมันอุ่นๆ/ น้ำผลไม้สด/ น้ำสมุนไพร เช่น น้ำขิง น้ำใบเตย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย ฯลฯ


พิถีพิถันกับทุกมื้อ
ไม่ว่าคุณแม่จะกินอะไรลูกก็จะกินอย่างนั้นไปด้วยความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่เคยกินอะไรสบายตามใจก็ต้องแตะเบรกชะลอกันเสียบ้างแล้วล่ะ โดยเฉพาะอาหารที่รสจัด ไม่สด ปรุงไม่สะอาดพอ เผลอกินเข้าไปก็อาจจะปวดท้องหรือท้องเสียเป็นเรื่องได้เชียวนะคะ

นอกจากจะต้องเลือกอาหารที่มีคุณค่ากับร่างกาย อย่างโปรตีน แคลเซียม เหล็ก วิตามินต่างๆ และไฟเบอร์ (ใยอาหาร) แล้วต้องลดอาหารกลุ่มแป้ง แอลกอฮอล์ ด้วยค่ะ

เรื่องของอาหารการกินยามท้อง ไม่อยากให้กังวลมากจนเครียด แต่ขอให้ยึดหลัก “ครบ 5 หมู่ สด สะอาด” จะกินอะไรก็ได้ไม่เป็นปัญหาอยู่แล้ว
Tip : สำหรับช่วงกลางวันที่คุณแม่อาจจะต้องฝากท้องนอกบ้าน ขอให้เน้นร้านที่สะอาดและเลือกอาหารจานด่วนจานเดียวที่ครบคุณค่า 5 หมู่นะคะ

เมนูแนะนำ : สุกี้น้ำ/ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ/ ข้าวกระเพราไข่ดาว/ ข้าวสวย
แกงส้มผักรวม
ไข่เจียว/ ปลาสลิดทอด และตบท้ายด้วยผลไม้สดสัก 4-5 ชิ้น


เป็นไงคะเทคนิคที่เลือกสรรเอามาฝาก หวังว่าคุณแม่จะมีความสุข อิ่มแบบสบายตัวกับทุกมื้ออาหารนะคะ

Bon Appetit ค่ะ



(update 26 ตุลาคม 2006)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.11 No.130 August 2006]

อาการแพ้ท้องถือเป็นอาการประจำตัวของแม่ท้องเลยก็ว่าได้นะคะ ยิ่งตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรกจะเป็นช่วงที่แพ้ท้องกันกระจาย คุณแม่บางท่านไม่สามารถกินอาหารได้ทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น โอเมก้า 3 เหล็ก แคลเซียม โฟลิก และโปรตีน แล้วหากกินอาหารบางชนิดไม่ได้ก็ต้องกินอาหารทดแทนค่ะ



โอเมก้า 3
พบในอาหารประเภทปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาโอลาย กินอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ปรุงด้วยวิธีที่ไม่ต้องทอด ครั้งละ 100 กรัม

อาหารทดแทน

เมล็ดแฟลกซ์ (Flax Seed) วันละ 2 ช้อนชา
ควรบดให้ละเอียดก่อนกินโดยโรยใส่ในนมหรือโรยกินกับข้าวก็ได้
เหล็ก
พบในอาหารประเภทไข่ กินวันละ 1 ฟอง หรือตับสัตว์ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ไม่ควรกินเกิน 50 กรัมต่อครั้ง

อาหารทดแทน

งาดำคั่วบด วันละ 1 ช้อนโต๊ะ
ซีเรียลที่ทำจากรำข้าว วันละ 1/2 ช้อนโต๊ะ
ถั่วเขียว ถั่วแดง ต้มสุก วันละ 1/2 ถ้วย
แคลเซียม
พบในอาหารประเภทนม นมถั่วเหลือ ควรดื่มวันละ 2 แก้ว

อาหารทดแทน

เต้าหู้แผ่นชนิดแข็ง วันละ 1/2 แผ่น
งาดำหรืองาขาวบด วันละ 3 ช้อนชา
โยเกิร์ต วันละ 2 ถ้วย
ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม ใบชะพลู ตำลึง บร็อกโคลี ยอกดอกแค มื้อละ 1 ทัพพี
ปลาเล็กปลาน้อยที่สามารถกินได้ทั้งก้างวันละ 2-3ช้อนโต๊ะ
โฟลิก
พบในอาหารประเภทตับสัตว์ ควรกินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่ไม่เกิน 50 กรัมต่อครั้ง (โฟลิกจากแหล่งธรรมชาติ จะสลายได้ง่ายควรกินทันทีเมื่อทำอาหารเสร็จ)

อาหารทดแทน

แคนตาลูป วันละ 1/2 ถ้วย
ผักโขม ผักใบเขียวเข้ม วันละ 1 ถ้วย
ส้มเขียวหวาน หรือน้ำส้มคั้นสด วันละ 1-2 ผล
ซีเรียลธัญพืช วันละ 1/2 ถ้วย
โปรตีน
พบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และปลา ควรกินวันละ 60-75 กรัม

อาหารทดแทน

นมพร่องมันเนย แก้วละ 8 ออนซ์ จำนวน 3 แก้ว
ปลาทะเล 90 กรัม
ไข่ทั้งฟอง 2 ฟอง (หรือไข่ขาว 5 ฟอง)
ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง วันละ 1 ถ้วย
เนื้อไก่ (ไม่ติดหนัง) 65 กรัม


ด้วยความที่เกิดอาการแพ้ท้องกินอะไรก็เป็นยาขมไปเสียทุกอย่าง เมื่อร่างกายต่อต้านและใจพานยกธงขาวทุกครั้งที่กินเข้าไปแล้วพะอืดพะอม เราควรใช้เทคนิคหลอกล่อให้เจ้าอาการแพ้ท้องนี้งุนงงเพื่อที่คุณแม่จะสามารถกินอาหารได้บ้าง



Eating Tricks for Mom
เลือกกินอาหารที่ร้อนหรืออุ่น เพราะอุณหภูมิอาหารมีส่วนช่วยลดหรือเพิ่มอาการคลื่นไส้อาเจียน

แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก กินครั้งละน้อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่ไม่คลื่นไส้ให้กินอาหารเท่าที่จะสามารถกินได้นะคะ

เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ช่วยให้ย่อยง่ายเมื่ออาหารไม่อยู่ในท้องนานก็จะลดอาการคลื่นไส้อาเจียน

หากชอบกินอาหารซ้ำๆ เช่น ต้องกินไก่ทุกวัน ก็ให้เปลี่ยนเมนูไปเป็นไก่ย่าง ไก่อบแต่ละวันควรมีเครื่องเคียงที่เป็นผักหรือผลไม้กินคู่กัน

พยายามเลือกกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ อาจใช้หน้าตาของอาหารให้น่ากินเข้าไว้ค่ะ

กินน้ำผลไม้แทนน้ำเปล่าจะได้รู้สึกหวานอมเปรี้ยว ช่วยแก้เลี่ยนได้บ้าง

อมลูกอมที่มีรสเปรี้ยว เพื่อให้ได้กลูโคสจะช่วยอาการคลื่นไส้


Avoided Food
เลี่ยงอาหารกลิ่นฉุนหรือมีกลิ่นคาว เช่น แซนด์วิชทูน่า ขนมกุยช่าย หรือเมื่อประกอบไม่ควรใส่กระเทียมเพราะกลิ่นแรงกระตุ้นให้อาเจียนง่าย

หลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มโปรตีน คาร์โบไฮเดรต อาหารกลุ่มนี้จะใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานจึงทำให้อึดอัดแน่นท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น

ไม่ควรกินข้าวคำน้ำคำขณะกินอาหารเพราะจะยิ่งทำให้กินข้าวได้น้อยและอิ่มเร็วกว่าปกติ
ถึงอาการแพ้ท้องจะไม่ส่งผลกระทบกับลูกน้อยในท้อง แต่ถึงอย่างไรคุณแม่ก็ควรกินเพื่อสุขภาพ และหากร้ายแรงถึงขั้นไม่สามารถกินอะไรได้เลยควรพบคุณหมอที่ฝากครรภ์นะคะ

ถามถึงสาเหตุการแพ้ท้องยังไม่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ที่รกและเด็กสร้างขึ้นซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะมีปริมาณสูงในช่วงไตรมาสแรกแล้วจะค่อยๆ ลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ค่ะ



Drink for Mom
น้ำขิงอุ่น ขิงมีรสหวานและรสเผ็ดนิดหน่อยแต่ด้วยรสชาติและสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ดีค่ะ

น้ำเก๊กฮวย ในดอกเก๊กฮวยมีสรรพคุณและกลิ่นที่ดื่มแล้วช่วยทำให้สดชื่นและแก้กระหายได้ด้วยค่ะ

โกโก้ผสมนม จะช่วยเพิ่มแคลเซียมค่ะ



(update 7 เมษายน 2008)
[ ที่มา.. นิตยสาร MODERNMOM Vol.13 No.146 December 2007]

อาการเจ็บป่วยยามตั้งครรภ์ย่อมส่งผลกระทบกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เรียกว่าสร้างความกังวลใจให้ไม่น้อยเลยค่ะ จะหาหยูกยากินก็กังวลว่าจะกระทบกับลูกน้อย ถ้าเช่นนั้นหากต้องกินอยู่แล้ว ก็กินให้เป็นยาเสียเลยดีกว่าค่ะ



ท้องผูก & ริดสีดวง

สาเหตุส่วนหนึ่งของท้องผูกและริดสีดวงของแม่ตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบในร่างกาย เพราะด้วยฮอร์โมนบางชนิด ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลงกว่าเดิม รวมถึงการที่มดลูกมีขนาดใหญ่จึงไปกดทับลำไส้ ทำให้ตังหวะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้เกิดอาการท้องผูก ยิ่งกับคุณแม่ท้องแก่จะมีโอกาสท้องผูกบ่อย เพราะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือด ขณะที่การไหลกลับสู่ระบบไลเวียนเลือดเป็นไปได้ไม่สะดวกเนื่องจากมดลูกมีน้ำหนักมากและมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงไปกดเส้นเลือดดำในบริเวณอุ้งเชิงกราน ยิ่งถ้าคุณแม่เคยมีปัญหาท้องผูกมาก่อน ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดริดสีดวงในระหว่างตั้งครรภ์ได้มากขึ้น แต่อย่ากังวลใจไปค่ะ เพราะเมื่อคลอดลูกแล้วปัญหาริดสีดวงจะดีขึ้นเอง

ส่วนอาการท้องผูกที่สัมพันธ์กับการเกิดริดสีดวงนั้น หากเกิดท้องผูกเป็นประจำก็ส่งผลให้เกิดการเสียดสีของอุจจาระที่แข็งกับผนังของเนื้อเยื่อบริเวณรูทวาร บวกกับการออกแรงเบ่งในขณะขับถ่ายซึ่งเป็นการเพิ่มความดันในช่องท้อง ก็ส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักจนทำให้เกิดอาการริดสีดวงทวาร

จริงๆ แล้วอาการท้องผูกและริดสีดวงทวารไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือรุนแรงค่ะ เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์โดยตรง และคุณแม่ยังสามารถคลอดลูกได้ตามปกติ แต่ก็ถือว่าสร้างความเจ็บปวด ไม่สบายตัวให้คุณแม่ไม่น้อย แต่อาจจะต้องระวังหากมีการเสียเลือดจากริดสีดวงเป็นประจำ หรือมีเลือดออกมากและบ่อยก็อาจจะทำให้เกิดภาวะซีดได้

ใยอาหาร พระเอกตัวจริง

เน้นอาหารมากกากใย ใยอาหารหรือกากใยคือส่วนประกอบของสารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตจากพืชเมื่อกินแล้วไม่สามารถย่อยได้ เนื่องจากร่างกายไม่มีน้ำย่อยในการย่อย ซึ่งสุดท้ายจะถูกขับออกจากร่างกาย ด้วยคุณสมบัติที่สามารถอึ้มน้ำไว้ได้ดี ทำให้ตัวใยอาหารมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 4-6 เท่า เรียกว่าเป็นการเพิ่มปริมาตรและน้ำหนักกให้กับอุจจาระ ซึ่งมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวบ่อยขึ้นและทำให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนิ่มและยังช่วยดูดซับสารตกค้างต่างๆ เพื่อขับออกจากร่างกาย ใยอาหารอาจจะกินแล้วรู้สึกอิ่มได้นานแต่ไม่ควรกินแทนมื้อหลัก เพราะไม่มีสารอาหารและไม่ให้พลังงาน

ชนิดของใยอาหาร
ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ได้แก่ กัมและเพกติน เช่น แป้งบุก ผลไม้ เช่น ลูกสำรอง มีความสำคัญต่อระบบการย่อยอาหาร เนื่องจากเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีและมีส่วนช่วยในการดูดซับสารพิษ น้ำตาลและไขมัน เพื่อขับออกจากร่างกาย

ใยอาหารที่ละลายน้ำไม่ได้ ได้แก่ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ถั่วบางงชนิดหรือข้าวโพด มีหน้าที่กวาดล้างสิ่งตกค้างตลอดทั้งลำไส้ และยังช่วยเพิ่มมวลอุจจาระให้เป็นก้อนโปร่ง ไม่จับตัวแน่น ช่วยให้การทำงานของแบคทีเรียดีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ
อาหารมากกากใย
ถั่วแดงหลวง เมล็ดบัว ดอกแค มะเขือพวง สะเดา ถั่วฝักยาว ข้าวโพด มะขามหวาน แพสชั่นฟรุต กล้วยน้ำว้า มะม่วงแรดดิบ ส้มเขียวหวาน ข้าวกล้อง
ควรกินอาหารมีใยอาหารให้ได้ประมาณ 25-30 กรัมต่อวัน หรืออย่างน้อยควรกินผักให้ได้มื้อละ 1-2 ทัพพี


ภาวะครรภ์เป็นพิษ

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มักเกิดได้เมื่อมีอายุครรภ์ 5-6 เดือนขึ้นไปค่ะ เกิดจากหลอดเลือดฝอยหดรัดตัวทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ส่วนสาเหตุที่เกิดยังไม่ทราบชัดเจนแต่มักจะพบในการตั้งครรภ์แรก ครรภ์แฝด ครรภ์ไข่ปลาอุก และคนที่เคยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไต

ครรภ์เป็นพิษแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
ชนิดไม่รุนแรง จะมีความดันโลหิตสูง (สูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) มีอาการทั่วไปคือบวมตามมือ เท้าและใบหน้า ปวดศีรษะ ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ลิ้นปี่ ถ้าอาการไม่รุนแรงหลังคลอดแล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเอง ส่วนอาการบวมก็จะยุบหายหมดไปใน 7 วัน และความดันโลหิตจะลดลงมาเป็นปกติภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด

ชนิดร้ายแรง อาจมีอาการชักหรือหมดสติ เรียกว่าเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้
ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นสำรวจตัวเองหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบคุณหมอและควรควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงและป้องกันอาการตัวบวมไม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการควบคุมปริมาณการกินโซเดียมค่ะ

ลดโซเดียมคือคำตอบ

โซเดียมเป็นสารอาหารที่อยู่ในกลุ่มเกลือแร่ มีประโยชน์ต่อร่างกายคือช่วยควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำและรักษาระดับความเป็นกรดด่างในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จะได้รับโซเดียมสูงเกินความมต้องการ เพราะจริงๆ แล้วปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมคือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับกันเกลือเพียง 6 กรัม เพราะโซเดียมมาในรูปของอาหารที่มีรสเค็ม ทั้งที่ปรุงรสและยังไม่ได้ปรุงรส เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ เรียกว่ายิ่งอาหารถูกแปรรูปหรือปรุงแต่งเพิ่มขึ้นเท่าใดปริมาณโซเดียมก็จะเพิ่มขึ้นตามเท่านั้น และนี่คือวิธีที่จะช่วยลดโซเดียมให้คุณแม่ค่ะ
เลือกกินอาหารที่ทำจากวัตถุดิบสดๆ ดีกว่าที่ผ่านการแปรรูป
ปรับพฤติกรรมกินอาหารรสจัด โดยเฉพาะเค็มจัด
เลี่ยงกินของหมักดอง เช่น เลือกกินปลาทูสดแทนปลาทูนึ่ง ไข่ต้มแทนไข่เค็ม ผักกาดขาวแทนผักกาดดอง
เลี่ยงอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว และเบเกอรี่
เลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม งดเติมน้ำปลา เติมซีอิ๊วเพราะในอาหารใส่อยู่แล้วค่ะ และงดการเติมหรือจิ้มซอสชนิดต่างๆ เรียกว่าไม่ควรตั้งไว้บนโต๊ะอาหาร
ก่อนเลือกซื้ออาหารหรือขนมอ่านฉลากโภชนาการและเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ
เลือกใช้สมุนไพรแทนสารสังเคราะห์ เช่น ใส่กระเทียม พริกไทย มะเขือเทศ (มีกลูตาเมท) เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติแทน
งดดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และความเครียด ยิ่งกลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แม่ที่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี หรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต หัวใจ เบาหวาน


ตะคริว

ปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ ในปริมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้กับลูกในท้อง แต่หากได้รับไม่เพียงพอ ลูกจะดึงแคลเซียมจากคุณแม่ทำให้คุณแม่อาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับฟัน รวมถึงเป็นตะคริวได้บ่อย แต่ไม่เฉพาะการขาดแคลเซียมเท่านั้นที่จะทำให้เป็นตะคริว เพราะปริมาณแมกนีเซียมในร่างกายก็มีส่วนสัมพันธ์ด้วยค่ะ แล้วส่วนใหญ่คุณแม่มักจะได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอ ซึ่งปกติแล้วต้องได้รับปริมาณแมกนีเซียม 300 มิลลิกรัมต่อวัน

แต่หากได้รับแคลเซียมสูงเกินไปโดยเฉพาะหากกินแบบเม็ดยา จะส่งผลไปขัดขวางการดูดซึมแมกนีเซียมในร่างกายให้น้อยลงไป เรียกว่าต้องรักษาสมดุลของร่างกายให้ดี เพื่อลดอาการตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ

เน้นแคลเซียมและแมกนีเซียม
ช่างเลือกกินอาหารให้มากกว่าเดิม อาหารที่มีปริมาณแมกนีเซียมและแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวเข้ม ถั่วเมล็ดแห้ง เพราะสาเหตุของความไม่สมดุลของระดับแร่ธาตุสองตัวนี้เป็นสาเหตุหลักของการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่ผิดจังหวะ

อาหารที่มีแคลเซียมสูง ยกตัวอย่างเช่น นม โยเกิร์ต ผักใบเขียวเข้ม กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้ง

อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ยกตัวอย่างเช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว เมล็ดทานตะวัน


น้ำตาลในเลือดสูงกับโรคเบาหวาน

การมีน้ำตาลในเลือดสูงมีความเสี่ยงที่คุณแม่จะเป็นโรคเบาหวานค่ะ ถ้าจะให้แก้แบบตรงจุดที่สุดคือเมื่อน้ำตาลมากไปก็ต้องลดน้ำตาลให้น้อยลง เพราะผลเสียของการไม่อ่อนหวานลงเสียบ้างจะส่งผลกระทบทั้งกับแม่และลูกน้อยในครรภ์ นอกจากจะเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ขณะเดียวกันลูกน้อยก็อาจจะได้รับผลกระทบคือมีโอกาสแท้งเสียชีวิตในครรภ์ และพิการแต่กำเนิดมากขึ้น ซึ่งหากคลอดแล้วลูกอาจจะมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดธรรมชาติได้ยาก และเด็กอาจจะมีอาการดี ซ่านและปอดทำงานไม่สมบูรณ์

งด ลด ละ ช่วยลดน้ำตาล
งดอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ควบคุมปริมาณอาหารและปริมาณน้ำตาล ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวและแป้ง

เพิ่มโปรตีนและเน้นผักผลไม้ ส่วนผักประเภทหัวและถั่วต่างๆ จะมีคาร์โบไฮเดรตแฝงอยู่บ้างก็ควรกินเล็กน้อยก็พอค่ะ ส่วนผลไม้ควรเลี่ยงที่มีรสหวานจัด เช่น ลำไย องุ่น เพราะด้วยความหวานอาจจะทำให้รู้สึกติดพันกับรสหวานจนเผลอกินมากเกินไป ควรเลือกชนิดที่มีใยอาหารสูงจะดีกว่า เช่น ส้ม แอปเปิ้ล ฯลฯ ส่วนน้ำผลไม้ไว้กินยามจำเป็นเวลาที่ไม่มีผลไม้สดดีกว่านะคะ เพราะผลไม้สดจะได้กากใยมากกว่า หากแบ่งเป็นมื้อควรกินมื้อละ 6-8 ชิ้น

หากชอบดื่มนม ควรเลือกดื่มนมสดชนิดจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยนะคะ หรือจะกินอาหารอื่นที่มีแคลเซียม เช่น เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียวเข้ม แทนก็ได้เช่นกัน

งดกินอาหารที่มีไขมันและของทอด เช่น ขนมกรุบกรอบ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง อัลมอลต์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน หรืออาหารประเภททอด แกงกะทิ หากปรุงอาหารเองควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองสำหรับผัด และน้ำมันรำข้าวสำหรับทอด

เลิกกินตาลทุกชนิด ให้เลือกใช้สารให้ความหวานที่ไม่ค่อยให้พลังงาน เช่น น้ำตาลเทียม (กลุ่มแอสปาแทมหรือซูคราโลส) จะดีกว่าค่ะ

ออกกำลังกายเป็นประจำ และหากต้องรักษาโรคไปด้วยก็ต้องกินยาหรือฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ
ปริมาณนั้นสำคัญ
นมควรดื่มให้ได้วันละ 3 ส่วน หรือ 3 กล่อง ขนาด 250 ซีซี.
ผักมื้อละ 1-2 ถ้วยตวง ส่วนผักประเภทหัวและเมล็ด ควรกินมื้อละ 1 ทัพพี
ไขมันกินมื้อละ 2 ช้อนชา
ข้าวและแป้งกินมื้อละประมาณ 3 ส่วน หรือ 3 ทัพพี
ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ที่ติดมัน และควรกินมื้อละ 4-6 ช้อนโต๊ะ
คุณแม่ลองเป็นคนช่างเลือกดูนะคะ เริ่มต้นที่เรื่องกินก่อนเลยค่ะ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ คำนึงไว้เสมอว่ากินอะไรเข้าไป ลูกน้อยในครรภ์ก็ได้รับสิ่งนั้นด้วย ยิ่งถ้าคุณแม่มีอาการป่วยยิ่งจะต้องระวังรักษาสุขภาพนะคะ นอกจากการใช้ยาแล้ว หากรู้จักเลือกกินอาหารให้เหมาะสมและปรับพฤติกรรมบางอย่าง ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาที่มากวนตัวกวนใจให้คุณแม่ได้ค่ะ



(update 29 ตุลาคม 2008)
[ ที่มา.. นิตยสาร MODERNMOM Vol.13 No.149 March 2008 ]




Create Date : 11 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2552 10:25:25 น.
Counter : 1173 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ของขวัญรัก
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



หัวใจผูกพัน รักกันตลอดไป http://psgallery.hi5.com
http://psgallery.hi5.com
พฤศจิกายน 2552

1
3
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog