ชีวิต...คือความหลากหลาย
Group Blog
 
 
เมษายน 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
26 เมษายน 2549
 
All Blogs
 

การเมืองภาคประชาชน ใน ระบอบประชาธิปไตยไทย : หนังสือสำหรับทุกคนที่ยังไม่เบื่อการเมือง



สภาพบ้านเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงการเลือกตั้งเมื่อต้น ปี 2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยชนะอย่างถล่มทลาย ครั้งนั้นนักวิชาการท่านนึงบอกไว้ว่า ต่อไปประชาชนจะต้องออกมาเป็นฝ่ายค้านซะเอง ระบบการตรวจสอบจะยกออกจากสภา ไปอยู่บนถนน แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ

หลายเดือนมานี้ คำว่า การเมืองภาคประชาชน ได้ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ผมเองยังคิดไปว่ามันเป็นคำใหม่ และยังงง ๆ กับคำนี้ จนกระทั่งมาเจอหนังสือเล่มนี้ การเมืองภาคประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยไทย โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ช่วยให้เข้าใจได้ค่อนข้างชัดเจนเลยครับ

หนังสือเล่มนี้เป็น ผลงานวิจัย ครับ ตอนเปิดมาอ่านตอนแรกยังตกใจกับคำว่า งานวิจัย เราจะอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า ? แต่ด้วยความเป็นนักเขียน ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักเขียนในดวงใจของผม ทำให้ผมเชื่อมั่นจนกระทั่งเลือกหยิบมาอ่านจนได้

ไม่ผิดหวังเลยครับ อ.เสกสรรค์ ยังเป็นนักเขียนที่ เขียนได้เรียบง่าย แต่ลุ่มลึก อ่านแล้วกระจ่างแจ้ง ได้คิด จนเกิดความเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยได้อ่านงานวิจัยวิชาการในด้านสังคม กฏหมาย การเมืองอย่างนี้มาก่อน แต่เชื่อว่า การเขียนของ อ.เสกสรรค์ สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีในการเขียน เพราะสามารถทำให้คนที่ไม่เคยเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ อย่างผมสามารถเข้าใจได้

นอกจากที่จะบอกให้รู้ถึงความหมายที่มาที่ไป ของการเมืองภาคประชาชน ที่มากกว่านั้นซึ่งเป็นจุดที่ทำผมสามารถเข้าใจปัญหาการเมืองในบ้านเราได้มากขึ้น นั่นคือการที่ อ.เสกสรรค์ เชื่อมโยงเรื่องราวในอดีต ประวัติศาตร์และวัฒนธรรมของไทย มาร้อยโยงให้เข้าใจได้ ประชาธิปไตยแบบไทย เป็นอย่างไร อย่างเช่น

"ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล และสิทธิของปัจเจกบุคคล... ตีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม... วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยทั่วไปกลับยึดติดกับเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีฐานะลดหลั่นไม่เท่ากัน"
(หน้าที่ 15)

"ระบอบประชาธิไตยแบบผู้แทนนั้นที่จริงเป็นเวทีการเมืองของชนชั้นนำ ดังเห็นได้ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งในปี 2512 ซึ่งพ่อค้าและนักธุรกิจได้รับเลือกเป็น ส.ส.ถึง 45.7 เปอร์เซนต์ของสมาชิกทั้งหมด"
(หน้าที่ 35)

ลักษณะการพัฒนาประชาธิปไตยในไทย ในมุมมองของ อ.เสกสรรค์ จากเหตุการณ์ เมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎร์ก็ดี เหตุการ 14 ตุลา ก็ดี หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จริง ๆ แล้วเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงส่วนหัว หาได้เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่อย่างใด

"กรณี 2475 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่จริงแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองตามที่เรียกขานกัน แต่เป็นการรับช่วงโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาขยายต่อให้แผ่กิ่งก้านสาขาต่อไป"
(หน้าที่ 25)

"ระบอบประชาธิปไตยไทยซึ่งถูกสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2475 และถูกขับเคลื่อนอย่างมีพลังในปี 2516 ตลอดจนได้รับการยืนยันจากปวงชนในปี 2535 มักถูกบิดเบือนให้จำกัดตัวอยู่แค่กระบวนการจัดหารัฐบาลมาเป็นส่วนหัวของรัฐราชการ หรือเป็นแค่การเปิดพื้นที่แข่งขันทางการเมืองให้แก่ชนชั้นนำหมู่เหล่าต่าง ๆ มากกว่าการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับสังคม"
(หน้าที่ 69)

"ผลพวงอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม คือทำลายระบบธุรกิจผูกขาดแบบเก่า หรือเครือข่ายอุปถัมภ์ที่มีชนชั้นนำจากกองทัพเป็นหัวแถว ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอิสระมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำทางธุรกิจสามารถต่อรองกับชนชั้นนำจากระบบราชการได้มากกว่าเดิม"
(หน้าที่ 71)

ประชาธิปไตยของไทยที่ดูมีแต่หัว แต่โครงสร้างกระท่อนกระแท่น ประชาธิปไตยที่คนในสังคมยังไม่มีอุดมการณ์ที่จะรองรับระบบ เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีอำนาจจริงในระบอบประชาธิปไตย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์ เมื่อวันนี้แนวความคิดของทุนนิยม กำลังบอกว่า ตลาดเสรีคือสิ่งที่จะต้องอยู่เหนือ การควบคุมของรัฐ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน จะแทรกแซงโดยรัฐไม่ได้เมื่อเป็นตลาดเสรี ปัญหาอะไรที่จะตามมา ?
อ.เสกสรรค์ได้ตั้งคำถามไว้อย่างแหลมคมว่า

"การที่อธิปไตยของรัฐไทยได้ถูกลดลงไปหลายส่วน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วระบอบประชาธิปไตยจะมีความหมายอันใดเหลือ การเลือกตั้งจะมีประโยชน์อันใดถ้าประชาชนไทยกำหนดนโยบายเองไม่ได้...."
"...โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงว่า ในระบบตลาด ผู้ที่จะได้รับการดูแลคือลูกค้าหรือผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อเท่านั้น ซึ่งต่างจากการรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อพลเมืองของตน ในเมื่อรัฐถูกลดอำนาจส่วนนี้ พลเมืองไทยส่วนใหญ่ที่ยากจนและไม่มีอำนาจซื้อจะมีชีวิตอยู่เช่นใด"
(หน้าที่ 203)

อ.เสกสรรค์มองทางเลือกทางออกของปัญหา นั่นคือการเมืองภาคประชาชนนั่นเอง ซึ่งก็คือการปรับโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยไทย โดยการขยายฐานจากชนชั้นนำ จากกลุ่มนักวิชาการชนชั้นสุง กลุ่มทหาร กลุ่มนักธุรกิจ ขยายมาสู่ประชาชนให้มากที่สุด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นนั่นเอง

โดยอ.เสกสรรค์ได้กล่าวถึงการเติบโตของ เอ็นจีโอ การเข้าไปคลุกคลีกับประชาชน ทำให้เกิดความร่วมมือของชาวบ้านและเอ็นจีโอ จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน เช่น สมัชชาคนจน การร่วมตัวของภาคประชาชน ก็มีให้เห็นในหลายกลุ่ม เช่น แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่ง ในความเห็นของ อ.เสกสรรค์ ค่อนข้างจะให้ความสำคัญ ในกลุ่มประชาชน จากที่กล่าวไว้ว่า

"จุดที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับกลุ่มประชาชนเล็ก ๆ เหล่านี้ก็คือ พวกเขามักค้นคว้าสภาพปัญหาที่ตนเองต้องเผชิญได้อย่างชัดเจนลึกซึ้ง รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และในการเคลื่อนไหยก็จะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างสันติ...ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอื่นแล้วจึงจะใช้วิธีชุมนุมประท้วง"
(หน้าที่ 171)

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการจำหนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ เหล่าปัญญาชนสาธารณะ เช่น นายแพทย์ ประเวศ วะสี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็มีการแสดงความคิดเห็นผ่าน "ยุทธชาติแก้วิกฤติชาติ" ซึ่งเป็นการคัดค้านการเปิดเสรีประเทศไทย

ดูเหมือนการเมืองภาคประชาชนของไทย จะไปได้ด้วยดี ที่เราเคยคิดว่าชาวบ้านที่ดูเหมือนไร้การศึกษา ก็ดูเหมือนมีแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็ไม่เคยขาดแคลน ปัญญาชนที่สนใจแก้ปัญหาให้ชาติบ้านเมือง
แล้วปัญหาของการเมืองภาคประชาชนอยู่ที่ไหน? อ.เสกสรรค์ เองได้ชี้ให้เห็นหลายจุด เช่น หลักคิดของผู้นำ และของรัฐบาล ที่ไม่ค่อยยอมรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
การใช้นโยบายประชานิยม ที่เป็นการดึงประชาชนให้กลับไปพึ่งพิงรัฐ มากกว่าที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น แต่ปํญหาอีกจุดที่ผมอ่านแล้วรู้สึกจุกและโดนใจที่สุด ก็คือ ปัญหาความไม่เข้าใจและวางเฉยของสังคมที่ไม่เดือดร้อน โดยมีการอ้างอิงจากความเห็นและการวิจัยหลายแห่ง เช่น

"...ดังเห็นได้จากการวิจัยของสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าเยาวชนคนชั้นกลางในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนรวม และดำเนินชีวิตไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ขยายตัวมากขึ้น..."
(หน้าที่ 191)

"ดังที่นักวิชาการคนหนึ่ง (สุชาย ตรีรัตน์) ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า "ถ้าพูดภาษาการเมืองคือคนชั้นนี้โลเล โลเลไม่พอ ส่วนหนึ่งยังเป็นวัวลืมตีน"
(หน้าที่ 192)

และสุดท้ายจากความเห็นของ อ.เสกสรรค์ เอง

"...ชาวบ้านที่ดูเหมือนยากจนไร้การศึกษา จริง ๆ แล้วกลับเข้าใจและสนใจปัญหาบ้านเมืองมากกว่าคนในเมืองจำนวนมาก เพราะมันเป็นปัญหาที่พวกเขาตองแบกทาน ... คนชั้นกลางที่มีฐานะและการศึกษาสูงเสียอีกที่โดยทั่วไปเป็นฝ่ายไม่เอาธุระ กระทั่งมีใจโน้มเอียงไปทางกระแสโลกาภิวัฒน์จนคล้ายแอบถอนสังกัดออกจากประเทศไทย ผมเห็นความโน้มเอียงเช่นนี้ในฐานะที่เคยพยายามชวนพวกเขามาต่อต้านการเอาเปรียบของต่างชาติ และในฐานะอาจารย์ที่สอนลูกหลานของพวกเยา ผมพบว่ามีน้อยคนมากที่คิดเรื่องส่วนรวม และยิ่งน้อยกว่าอีกที่จะนึกถึงคนยากคนจนอีกครึ่งประเทศ"
(คำนำหน้าที่ 10)



เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้มีผู้คนหลากหลายออกมา แสดงความคิดความเห็น อาจจะเป็นครั้งหนึ่งที่มีความเห็นหลากหลายมาก ๆ นักวิชาการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย พระสงฆ์ หมอ นิสิตนักศึกษา แม้กระทั่งเด็กมัธยม นี่อาจจะเป็นข้อดีของเหตุการณ์ในครั้งนี้ ที่ปลุกให้สังคมที่เฉยเมยได้ลืมตามามอง บ้านเมืองของตัวเองบ้าง แต่เราจะพอใจเพียงแค่นี้อีกหรือเปล่า ? หลังเหตุการณ์นี้ เราจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือเปล่า ?

คนชั้นกลาง จะกลับไปเป็นคนโลเล สนใจแต่ตัวเอง อีกเช่นเดิม เพราะไม่มีอะไรกระทบกับตัวเองแล้ว ขอแค่ปัญหาน้ำมัน รถติด ดีขึ้น ชาวใต้ที่เดือดร้อน ชาวบ้านปากมูลที่ยังเรียกร้องไม่เลิก พรบ.ป่าชุมชนของชาวเขาชาวดอย เรื่องเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธุระ อีกเช่นเดิม ?

การเมืองภาคประชาชนจะก้าวเดินได้ต่อไป คงต้องมองเห็นปัญหานี้ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเฉยเมย ไม่เอาธุระของคนชนชั้นกลาง แล้วพวกเรา บ้านเมืองของเราจะรอดในกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกรากนี้ไปพร้อม ๆ กัน
........................................................................
ข้อมูลหนังสือ
การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย
ผู้เขียน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์อมรินทร์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548
ราคาปก 240 บาท




 

Create Date : 26 เมษายน 2549
2 comments
Last Update : 29 เมษายน 2549 18:04:46 น.
Counter : 1500 Pageviews.

 

ตามมาจากโอเพ่นออนไลน์ค่ะ

ซื้อหนังสือเล่มนี้มาปีนึงแล้ว
อ่านยังไม่จบเลย

พยายามจะอ่านให้จบเร็วๆนี้

ชื่นชอบอาจารย์มากๆ
ล่าสุดอ่าน" ผ่านพบไม่ผูกพัน"


 

โดย: keyzer 12 พฤษภาคม 2549 1:42:07 น.  

 

หนังสือเล่มนี้ดีมากๆครับ ผมขอแนะนำให้รีบไปหาซื้ออ่าน (โดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้ของ อ.เสก) หากอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้เห็นพัฒนาการ ความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนในหลายพื้นที่ของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

โดย: Pat5577@hotmail.com IP: 203.146.196.18 2 พฤษภาคม 2551 15:19:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


pigletdora
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add pigletdora's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.