by Sawittri Kaewkhiaw
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
15 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 

บันทึกการเดินทางธรรม - ถวายเทียนพรรษา 9 วัด

วันที่ 9 กรกฎาคม 2554 เวลา 05.00 น. ข้าพเจ้าและคณะเดินทางธรรม ได้นำเทียนไปถวายที่วัดจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งหมด 9 วัด ดังต่อไปนี้

1. วัดมโนธรรมาราม หรือ วัดนางโน
สถานที่ตั้ง - ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติวัดมโนธรรมาราม
เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วหลายร้อยปี แต่หลักฐานการก่อสร้างไม่ปรากฏชัดว่าสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ใดหากมีศิลปกรรมภายในวัดคือ พระปรางค์ เป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น วัดนางโนมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ด้านฝั่งตะวันตกของวัดติดลำน้ำแม่กลอง เขตตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จ. กาญจนบุรีสันนิษฐานกันว่าเดิมทีวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนแต่ครั้งเกิดสงครามไทยกับพม่า ชาวบ้านจึงอพยพหลบหนีไปที่อื่น วัดจึงตกอยู่ในสภาพเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับอีกหลายๆวัดในเขตเมืองกาญจนบุรี ครั้นสงครามสงบลง ชาวบ้านจึงได้กลับถิ่นฐานเดิมและบูรณะซ่อมแซมวัด แล้วจึงนิมนต์พระภิกษุให้มาจำพรรษาในครั้งนั้น มีผู้หญิงท่านหนึ่งชื่อ “โน” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด เมื่อทุกอย่างสำเร็จลงแล้ว ชาวบ้านจึงได้เรียกวัดนี้ว่า “วัดนางโน” เรื่อยมาจนกระทั่งได้ชื่อเป็นทางการว่า“วัดมโนธรรมาราม”
” เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2502 จากหนังสือวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดกุมารทอง บุตรนางบัวคลี่
ตอนที่ว่า
“ อุ้มเอาทารกยกจากท้อง กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ
หยิบเอาย่ามใหญ่ใส่สวมคอ เอาผ้าห่อลูกชายสะพายไป
เปิดประตูจู่ออกมานอกบ้าน รีบเดินผ่านป่าตัดเข้าวัดใต้
ปิดประตูวิหารลั่นดาลใน ลิ่มกลอนซ่อนใส่ไว้ตรึกตรา ”



หนังสือสมุดราชบุรีของสยามรัฐพิพิธถัณฑ์ พุทธศักราช 2468 กล่าวไว้ในตำนานเรื่องเมืองกาญจนบุรีเกี่ยวกับการการปกครองท้องที่ในระเบียบใหม่เมื่อ ร.ศ.114 ถึง ร.ศ.116 ได้แบ่งอาณาเขตเมืองกาญจนบุรีไว้เป็น3 อำเภอ คือ1. อำเภอเมืองกาญจน์ 2.อำเภอใต้ 3.อำเภอเหนือ- อำเภอใต้ที่ว่านี้ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ท่าไม้รวก ตำบลม่วงชุม ริมแม่น้ำแม่กลอง- ร.ศ.120 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่ตำบลท่าม่วงฝั่งซ้ายริมแม่น้ำแม่กลอง เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลวังขนาย- พ.ศ. 2490 ที่ว่าการอำเภอย้ายไปตั้งที่ริมถนนแสงชูโต ในเขตตำบลท่าม่วง” เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าม่วง จนถึงปัจจุบันนี้ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า วัดใต้ ที่กล่าวในวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ก็คือ วัดนางโน นั่นเอง

ติดต่อวัด - พระครูวิสุทธิกาญจนคุณ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
วัดมโนธรรมาราม ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ ๗๑๑๑๐ โทร ๐-๓๔๖๐-๒๐๒๖โทรสาร ๐-๓๔๖๐-๒๐๒๖
เว็ปไซด์ //www.manothammaram.com/contact





2. วัดบ้านถ้ำ
สถานที่ตั้ง - ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

วัดบ้านถ้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาน้อย ห่างจาก วัดถ้ำเสือ ไปทางตัวเมืองกาญจนบุรีประมาณ 5 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสายในถนนเลียบริมแม่น้ำแม่กลอง ทางขึ้นถ้ำเป็นบันไดลึกเข้าไปในปากมังกรตัวใหญ่ ภายในถ้ำมีหินงอกลักษณะคล้ายผู้หญิง เชื่อว่าคือ นางบัวคลี่ ภรรยาของขุนแผน ตำนานอิงประวัติศาสตร์เรื่องขุนช้างขุนแผนที่เล่าขานกันต่อมาช้านานและบนยอดเขายังมีถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงามอยู่อีกหลายถ้ำ

วัดบ้านถ้ำ เป็นวัดเก่าแก่สร้างในยุคสมัยสุโขทัยเมื่อปี 2325 ด้านหลังจรดเขา ด้านหน้าจรดแม่น้ำแม่กลอง มีชายหาดสวยงามอยู่หน้าวัด ภูเขาที่ตั้งวัดสูงราว 200 กว่าเมตร ปากทางขึ้นปากถ้ำจะเป็นรูปมังกรใหญ่ บริเวณถ้ำจะเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ชินราช หินงอกแม่นางบัวคลี่ และถ้ำต่าง ๆ

วัดบ้านถ้ำตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง เนื่องจากวัดแห่งนี้มีถ้ำเป็นสัญลักษณ์จึงได้ชื่อว่า วัดบ้านถ้ำ มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยสุโขทัย มีเศรษฐีคนหนึ่งเห็นว่าถ้ำแห่งนี้ใหญ่โตสวยงามน่าอยู่อาศัย ภายในถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างสาดส่องเข้าไปในถ้ำ จึงได้นิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งให้มาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ เศรษฐีได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งไว้ในถ้ำมีรูปแบบเหมือนพระพุทธชินราช สูง ๑๑ ศอกเศษ ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทอง

ประวัติอีกส่วนหนึ่งมีที่มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน กล่าวไว้ว่าบริเวณบ้านถ้ำนี้เป็นที่อยู่ของหมื่นหาญ มีลูกสาวชื่อบัวคลี่ เป็นภรรยาคนหนึ่งของขุนแผน

จากพระพุทธรูปใหญ่ในถ้ำใบพัทธสีมาศิลาแลงในพระอุโบสถเก่า ล้วนเป็นฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อประมาณ ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ได้มีผู้ขุดพบกรุพระพุทธรูป พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่เกือบเท่าพระพุทธรูปที่อยู่ในถ้ำ เป็นพระบูชาและพระเครื่องเป็นจำนวนมาก พระบูชาเป็นพระพุทธรูปขนาดกลาง ในห้วงระยะเวลาเดียวกัน ได้มีพระจีนมาปกครองถ้ำนี้สองรูป ได้ทำการซ่อมแซมตกแต่งพระพุทธรูปใหญ่ที่ฐาน สร้างบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นไปยังปากถ้ำจำนวน ประมาณ ๓๐๐ ขั้น แล้วทำป้ายชื่อถ้ำนี้ใหม่ว่า ถ้ำคูหาสวรรค์ บริเวณหน้าถ้ำมีบ่อน้ำ และศาลาพักร้อน บริเวณปากถ้ำจะแลเห็นทิวทัศน์เบื้องล่าง เช่นแม่น้ำแม่กลอง ทุ่งนา หมู่บ้าน สวยงาม ตัวถ้ำเป็นห้องโถงใหญ่ ทางซ้ายมือมีปล่องแสงสว่างลอดผ่านเข้าไปในถ้ำ อากาศภายในถ้ำเย็นสบาย

ในพิธีตักบาตรเทโวในงานออกพรรษาประจำปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา ได้มีประชาชนในหมู่บ้านและที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมพิธีเป็นประจำทุกปี



3. วัดถ้ำมังกรทอง
สถานที่ตั้ง - ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี



วัดถ้ำมังกรทอง (Wat Tham Mangkon Thong) ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแควน้อย ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีราว 3-4 กิโลเมตร ตามทางรถยนต์สายกาญจนบุรี - ด่านมะขามเตี้ย ตัวถ้ำอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 100 เมตร ถ้ำมังกรทองเป็นถ้ำขนาดเล็กมีรูปสิงโตติดอยู่กับหินแท่งใหญ่ตรงปากถ้ำ ภายในมีซอกหินสลับซับซ้อนสวยงาม บริเวณถ้ำมังกรทองมีวัดถ้ำมังกรทอง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2477 ทางขึ้นวัดทำเป็นบันไดก่ออิฐถือปูนประมาณ 95 ขั้น สองข้างบันไดทำเป็นรูปมังกรชูศีรษะ นอกจากวัดและถ้ำมังกรทองแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีจุดสนใจอยู่ที่การแสดงแม่ชีลอยน้ำ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การเดินทางไปถ้ำมังกรทองสามารถใช้เส้นทางรถยนต์สายกาญจนบุรี - ด่านมะขามเตี้ย ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยทางเรือตามลำแควน้อยประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จนถึงวัดถ้ำมังกรทอง



วัดถ้ำมังกรทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๗ กิโลเมตร บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตั้งอยู่เชิงเขา วัดนี้สร้างขึ้นในปี ๒๔๔๗ เหตุที่ได้ชื่อว่าถ้ำมังกรทองก็เนื่องจากมีถ้ำขนาดเล็กอยู่บนยอดเขา โดยราวบันไดขึ้นสู่ถ้ำสร้างเป็นรูปมังกรสองตัวขนาดใหญ่ ขนานกันไปจนสุดทางที่ปากถ้ำ มีบันไดทั้งหมด ๙๕ ขั้น ที่ตรงปากถ้ำมีหินใหญ่ทำเป็นหน้าสิงโตดูน่าเกรงขาม วัดถ้ำมังกรทองยังมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักแพร่หลายเกี่ยวกับการทำสมาธิลอยตัวในน้ำ ที่เรียกกันว่า “แม่ชีลอยน้ำ” โดยเสียค่าเข้าชม(ทำบุญ) ๑๐ บาทต่อคน มีผู้สนใจมาชมการแสดงลอยตัวในน้ำเป็นประจำ

การเดินทาง จากถนนแสงชูโตใช้เส้นทางที่แยกซ้ายจากหน้าศาลากลางจังหวัดไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองไปยังวัดถ้ำมังกรทอง





4. วัดถ้ำมุนีนาถ
สถานที่ตั้ง - ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

วัดถ้ำมุนีนาถ เป็นวัดเล็ก ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ด้านหลังติดกับภูเขาเรียงสลับซับซ้อน



5. วัดแก่งหลวง
สถานที่ตั้ง - ตำบลแก่งหลวง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

วัดแก่งหลวง เป็นวัดเล็ก ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ อยู่ติดกับแม่น้ำแควน้อย ไหลผ่านด้านหลังวัดแก่งหลวง เป็นบรรยากาศที่สวยงามมาก มีทางเดินลงไปชมทัศนียภาพของแม่น้ำแควน้อยและมีต้นไผ่สองข้างทาง






6. วัดถ้ำเจริญธรรม
สถานที่ตั้ง - ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

วัดถ้าเจริญธรรม เป็นวัดที่ร่มรื่น และ มีผู้คนเยอะกว่าวัดอื่น ๆ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้ง 5 วัดข้างต้น เพราะด้วยเหตุที่ว่า ความอัศจรรย์ฤาษีแฝงร่างช่างสร้างพระพุทธรูปใหญ่ ผี้งหลวงทำรังใต้พระโอษฐ์ ณ วัดถ้ำเจริญธรรม

พระพุทธรูปนับเป็นวัตถุมหามงคลที่เป็นสื่อในการน้อมศรัทธาทางจิตใจให้รำลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า รำลึกถึงคุณแห่งศีลแห่งธรรม และเป็นบันไดแรกในการนำทางเข้าสู่ประตูแห่งการบรรลุธรรมได้ เพราะเมื่อยังเป็นปุถุชนผู้มีจิตใจยังหยาบเพราะเกลือกกลั้วไปด้วยกิเลสตัณหา เมื่อได้กราบไหว้พระพุทธรูป ย่อมเกิดพุทธานุสติเกิดความปีติแม้เพียงเล็กน้อยขึ้น แต่ก็สามารถพัฒนาส่งผลในการใฝ่ดีใฝ่ธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

ดังที่วัดถ้ำเจริญธรรม ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระครูอุปถัมภ์ธรรมวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาสฯ วัดตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติสวยงาม มีถ้ำขนาดใหญ่ที่ ก้องจักรวาล เข้าไปชม เป็นถ้ำสวยงามมีความเงียบสงบ เหมาะในการปฏิบัติธรรม ถึงแม้การลงไปในถ้ำจะลำบากสักนิด แต่เมื่อได้เข้าไปแล้วสัมผัสความเย็นฉ่ำภายในถ้ำก็แทบหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะเข้าถ้ำเราจะพบเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คือสมเด็จพระศรีเพชรธรรมวัตรศาสดา หรือหลวงพ่อโต ตั้งตระหง่านบนเนินเขาสูงถึง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 12 เมตร ในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ มีศรัทธาสาธุชนร่วมบริจาคปัจจัยร่วม 2 ล้านบาท โดยช่างที่มาช่วยสร้าง พวกเขามาด้วยจิตศรัทธาจริงๆ รวมทั้งชาวบ้านแถบนี้ช่วยกันขนอิฐหินดินทรายทำแบบถวายวัด จึงมีค่าใช้จ่ายไปในเรื่องวัสดุก่อสร้างมากกว่า และหากให้ช่างทั่วไปสร้างแล้วคิดว่าองค์พระพุทธรูปคงจะต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทเป็นแน่ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเจริญธรรมกล่าว

พระพุทธรูปองค์นี้เกิดอัศจรรย์ในระหว่างการก่อสร้าง เพราะช่างที่รังสรรค์งานประติมากรรมนี้ ในระหว่างที่ปั้นไปมีชาวบ้านแถบวัดได้เห็นว่าช่างที่ปั้นนั้นไม่ธรรมดาคือมองไปเหมือนคนใส่ชุดฤาษีกำลังปั้นพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่เลืองลือและช่างที่ปั้นยังเป็นนักปฏิบัติธรรมตัวยง และในเวลาต่อมาได้บำเพ็ญตนสวมชุดคล้ายฤาษีเคร่งในศีล มุ่งปฏิบัติธรรมสงเคราะห์ชาว บ้านในนาม ฤาษีวีระ มาทุกวันนี้

พระครูอุปถัมภ์ธรรมวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังการก่อสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ สมเด็จพระศรีเพชรธรรมวัตรศาสดา (หลวงพ่อโต) สำเร็จแล้ว 1 เดือน ทางวัดได้จัดงานฉลองใหญ่ 2 วัน 2 คืน มีการทำบุญเลี้ยงพระเพล 200 รูป และจัดให้มีมหรสพสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ พอหลังงานฉลองผ่านไปไม่กี่วัน จู่ๆ ได้มีผึ้งหลวงมาทำรังขนาดใหญ่ที่ใต้พระโอษฐ์ของหลวงพ่อโต ทำให้มองคล้ายเคราซึ่งเป็นเรื่องประหลาดมาก

ชาวบ้านพอทราบข่าว ก็แห่กันไปจุดธูปเทียนขอโชคลาภกัน และได้รับการยืนยันว่ามีคนได้โชคไปหลายราย เลยมีคนมาแก้บนทำบุญเลี้ยงพระ พร้อมจุดธูปเทียนบูชาหลวงพ่อโตกันมากขึ้นๆ ฝูงผึ้งที่ทำรังอยู่ที่ใต้พระโอษฐ์ทนกลิ่นธูปไม่ไหว ก็ย้ายรังออกไป แต่ไม่นานก็หวนกลับมาอีก เมื่อคนไปจุดธูปน้อยลง เวียนวนอยู่อย่างนี้ ต่อมามีคนขอร้องอย่านำธูปเทียนมาจุดอีก ให้ใช้ดอกไม้และกราบไหว้บูชาท่านก็พอแล้ว เพื่อไม่ให้ไปรบกวนฝูงผึ้ง
ที่วัดถ้ำเจริญธรรม นอกจากมีองค์หลวงพ่อโตเป็นพระสง่างามและนับเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ก้องจักรวาล พบว่ายังมีไม้ตะเคียนศักดิ์สิทธิ์ ศาลพ่อปู่ทัสโก ชุมนุมพระฤาษีรอบบริเวณขุนเขา และพระฤาษีในถ้ำให้สักการะอีกด้วย

พระครูอุปถัมภ์ธรรมวัฒน์ หรือหลวงพ่ออำนวย วัฑฒโน เล่าด้วยว่า อาตมานอกจากเป็นเจ้าอาวาสและรองเจ้าคณะตำบลหนองหญ้า แล้วเคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และหลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง

อาตมา นามเดิม อำนวย ยางม่วง เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2503 ณ บ้านเลขที่ 9 หมู่ 6 ต.ลาดบัวใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี บิดาชื่อเคลื่อน มารดาชื่อเล็ก ยางม่วง ศึกษาที่โรงเรียนบ้านรางวาลย์ เมื่อจบการศึกษาไปทำงานที่โรงพิมพ์สหายการพิมพ์ และรับใช้ชาติเป็นทหารในค่ายภาณุรังสี กรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี

พ.ศ.2526 ได้อุปสมบทที่วัดรางวาลย์โดยมีพระครูวิจิตรธรรมธาดา วัดหุบกระทิง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิบูลย์ธรรมโกศล วัดรางวาลย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูสุนทรจรณคุณ วัดรางวาลย์ เป็นพระอนุศาสนาจารย์ อุปสมบทแล้วได้ออกเดินธุดงค์ไปทั่วประเทศ และศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่คำคะนิง ที่วัดโขงเจียม ได้คาถา อด อัด อุด เป็นคำบริกรรมให้เกิดพลังจิตและชำระจิตให้มีสติสัมปชัญญะยิ่งขึ้น

สำหรับเส้นทางเดินทางไปยังวัดถ้ำเจริญธรรมนั้น ใช้เส้นทางจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปทางด่านมะขามเตี้ย ผ่านกองผสมสัตว์ ของกองทัพบก ไปอีกไม่ไกลถึงสามแยกวังปลาหมู เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 4 กม.ก็จะถึงวัดถ้ำเจริญธรรม สอบถามได้ที่ โทร. 0-5292-8493

พระครูอุปถัมภ์ธรรมวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างอุโบสถและจะจัดพิธีทอดกฐินสามัคคีเพื่อสมทบทุนในการสร้างอุโบสถให้แล้วเสร็จ ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมเป็นเจ้าภาพติดต่อกับอาตมาได้โดยตรง หรือบริจาคปัจจัยผ่านธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี บัญชีเลขที่ 713-1-97562-1 ในนามบัญชีชื่อ วัดถ้ำเจริญธรรม และขอเชิญสาธุชนที่ใฝ่ในธรรมไปปฏิบัติธรรมที่วัดได้ เพราะธรรมชาติที่ตั้งของวัดสงบ และมีถ้ำที่เย็นฉ่ำบรรจุคนได้นับร้อยคน สมกับชื่อ ถ้ำเจริญธรรม




7. วัดถ้ำพุหว้า
สถานที่ตั้ง - ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี



วัดถ้ำพุหว้า ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหญ้า และอยู่บนเขาสูง ประมาณ 1,500 เมตร เป็นสาขาหนึ่งของวัดปากน้ำ บรรยากาศโดยรอบสะอาดร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมเจริญศีลภาวนา ทั้งสวยงามด้วยภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาป่าไม้ และถ้ำที่เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยงดงามหลายแห่ง



การเดินทางไปยังวัดถ้ำพุหว้า สามารถใช้เส้นทางไปได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกาญจนบุรี-บ้านเก่า เลี้ยวซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 16 ไปตามเส้นทางสายพุประดู่-วังลาน อีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกเข้าวัด หรือข้ามแพขนานยนต์ที่ท่าน้ำหน้าเมือง เดินทางผ่านวัดถ้ำเขาปูน สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จากนั้นเลี้ยวขวาที่บริเวณระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 49-48 ไปตามเส้นทางสายพุประดู่-วังลาน อีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกเข้าวัด






8. วัดใหม่รังสรร
สถานที่ตั้ง - ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี



วัดใหม่รังสรร เป็นวัดที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สงบเงียบ เรียบง่าย บริเวณวัดใหม่รังสรร ไม่กว้างมาก เป็นวัดเล็ก ๆ อยากให้ผู้ใจบุญได้เข้าไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้กันเยอะ ๆ






9. วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต
สถานที่ตั้ง - ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
เว็ปไซด์ - //www.krubachaoboonkhoom.com/



วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต เป็นวัดที่งดงามมาก มีสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ภายในวัดมีบริเวณกว้างมาก สวยงามมากคล้ายรีสอร์ท

ประวัติครูบาบุญคุ้ม
กว่า 4 ปีบนผืนแผ่นดินบริเวณแห่งนี้ที่ได้ก่อกำเนิดเป็น วัดโพธิ์สัตย์บรรพตนิมิต มีเส้นทางการเดินทางและความเป็นมาของพระนักสู้แห่งกองทัพธรรมรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทพเจ้าแห่งเมืองนักรบ เมืองด่านหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินสยามแต่โบราณกาล ด้วยกองกำลังทหาร แต่สำหรับครูบาบุญคุ้มกลับปกป้องด้วยกองทัพแห่งธรรม ด้วยคำกล่าวประโยคหนึ่งที่ยึดหัวใจคนทั้งปวงว่าสงบนิ่งชนะทุกสรรพสิ่งใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวทั้งปวง จากพระธุดงค์ ผู้ปฎิบัติกรรมฐานวิปัสสนา ตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อยกจิตวิญญาณให้เข้าถึงหลักแห่งอัมตะธรรม โดยน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอน แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใคร่ครวญและปฏิบัติตามแล้วจึงนำคำสั่งสอนที่ ปฏิบัติ แล้วนั้นมาเผยแพร่แก่สาธุชน หลายคนฟังจากท่านแล้ว ซาบซึ้งตรึงใจและได้ข้อคิดพิจารณาว่าทำอย่างไรเราจะมุ่งเข้าสู่ทางธรรมที่ถูกต้อง เป็น สัมมาทิฐิ นอกจากนี้ครูบาบุญคุ้มยังได้ริเริ่ม สร้างปูชนียะวัตถุขึ้น เพื่อเป็นการประกาศพระพุทธศาสนาทางด้านรูปธรรมคือจุดเริ่มต้น ให้เป็นจุดยึดเหนี่ยวก่อนการเข้าสู่หนทางการละเอียดแยบคายคือการได้รับฟังธรรม เพื่อการเข้าถึงธรรมต่อไป จากชีวิตในวัยเด็กที่แสนจะลำบากในครอบครัวพี่น้อง 7 คนเป็นหญิง 2 ชาย 5 ของ นายหุ้ม และ นางสม โดยครูบาบุญคุ้มที่ชื่อเดิมคือ อภิลักษณ์ ทาสีเพชร เป็นคนที่ 4 เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ปีมะเมีย ที่บ้านดอนฮี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ต่อมาได้ อพยพไปหักล้างถางพงได้ที่ดินผืนใหม่ที่บ้านโคกสูง ในวัยเด็กของครูบาบุญคุ้มนั้น ออกจะผิดแผกไปจากเด็กในวัยเดียวกันโดยทั่วไป ไม่ค่อยได้รวมกลุ่มเล่นกับเพื่อนๆ แต่ชอบจะหาผ้าห่ม มาคลุมตัวเล่นเป็นพระ แม้แต่เงินก็ไม่ขอพ่อแม่แต่ใช้วิธีไปหาผักมาขายขายได้สตางค์มาก็เก็บไว้จนพอซื้อศาลเจ้าคล้ายศาลเจ้าจีนมาไว้ในบ้าน ในวัยเด็กของครูบาเจ้าบุญคุ้ม มีเรื่องน่า อัศจรรย์ใจยิ่ง ที่เกิดขึ้นกับครูแม่ว่าลูกนั้นตายไปแล้ว แต่แม่อุ้มลูกคือครูบาบุญคุ้มมีน้ำลายไหลออกจากปาก แม่มีความรู้สึกว่าลูกยังไม่ตาย ก็กอดลูกไปร้องไห้ไป รอให้พ่อกลับจากธุระก่อนค่อยเอาไปฝัง แต่ด้วยบุญบันดารแม่เดินไปรอบๆบ้าน เจอห่อบาบุญคุ้มถึง 2 ครั้ง 2ครา ในครั้งแรกได้ชัก จนหมดสติ เสียชีวิตไปหมอชาวบ้านพยายามเอาน้ำมาป้อน บอกยาไวคุณเด็กตราหัวสิงห์จึงเอามาละลายค่อยๆหยอดลงปากลูก หยอดไปร้องไห้ไป ประมาณ 10 นาที ลูกค่อยมีสติฟื้นขึ้นเอ่ยปากเพียง แม่ครับ แล้วก็ลุกขึ้นเดินได้ตามปกติ ครั้งที่ 2 ครูบาบุญคุ้มถูกม้าแตะจนเสียชีวิตไป 1 วัน จนโยมพ่อให้นำไปฝังแต่โยมแม่ไม่ยอมจึงได้ อธิฐานจนท่านพื้นในที่สุด ได้บรรพชาสามเณรตั้งแต่เยาว์วัยศึกษาเล่าเรียนจากหลวงปู่ ลาภ เขมปัตโต แห่งวัดปู่จ้อก้อ อ.คำชะอี จ.มุกดาหารท่านเป็นอาจารย์ สายวิปัสสนาของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่มีชื่อเสียงทั่วดินแดนอีสานซึ่งเมื่อเติบใหญ่พอจะออกธุดงค์ได้ ได้ธุดงค์ไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปนมัสการ หลวงปู่หล้า จันโท วัดป่าตองตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และน้อมถวายเป็นศิษย์ จากนั้นได้ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่เกษม เขมโก แห่งสำนักสุสานไตรลักษณ์ จังหวัด ลำปาง ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้อยู่ในระยะหนึ่งครูบาบุญคุ้มได้บวชเป็นพระภิกษุในวันเดียวกับที่ ประชุมเพลิงหลวงปู่หล้า วัดปู่จ้อก้อ มี พระครู จันทวิสุทธา วัดศรีมงคล เหนือ จังหวัดมุกดาหาร เป็นพระอุปชา พระครูมุกดาหารโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระประยูร กันยาศีโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ภายหลังได้ลาครูบาอาจารย์ลงออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อศึกษาหลักธรรมไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งในเขตพม่าและเขตเขมร กระทั่งเมื่อได้ ธุดงค์ ผ่านจังหวัด สุพรรณบุรี มาถึงพระแท่นดงบัง ได้อยู่ที่นั่น 1 ปี พยายามพาลูกศิษย์สร้างสำนักสงฆ์ขึ้น แต่ก็มีปัญหา ก่อนตัดสินใจอะไร ครูบาบุญคุ้มเหมือนจะมีจิตสัมผัสก่อนทุกครั้ง เวลานั้นครูบาบุญคุ้มได้มีสัมผัสขึ้นว่ามีอุปสรรคเกิดขึ้นที่พระแท่นดงบัง หลังจากนั้น ก็เกิดนิมิตขึ้นว่าเห็นตัวเองไปยืนอยู่หน้าโบสถ์ แต่ว่าโบสถ์หลังเก่ามาก ในที่สุดก็มีคนขัดขวางอาตมาทำไม่ได้ จนกระทั่ง วันหนึ่ง คิดไปคิดมาว่าไม่สบายก็อยากลึก แต่พอตกกลางคืนก็เกิดนิมิตขึ้นเห็นพระประทานอยู่องค์ใหญ่มากมีแสงสีทองพุ่งออกมาโดนพระครูบาบุญคุ้ม ตัวครูบาบุญคุ้มก็เป็นสีทองหมดเลย พอตื่นเช้าก็เจอพระธุดงค์จึงชวนกันออกธุดงค์ ไปทางทิศตะวันตก เรื่อยๆ จนมาแยกกับเพื่อนที่สะพานสมเด็จพระสังฆราช จังหวัดกาญจนบุรี ครูบาบุญคุ้มได้เดินทางถึง ตำบล หนองหญ้า เข้าไปบำเพ็ญอยู่ในภูเขา ลูกหนึ่งอยู่ในช่อง เขาเรียกว่า ทางผ่านเขา ช่องเสด็จ ตกกลางคืนได้นิมิตว่ามีคนใส่ชุดขาวมีความรู้สึกเหมือน เจ้าแม่กวนอิม และนำฉัตรมาถวาย 4 ต้น อาตมามีความรู้สึกว่าอาตมาจะต้องสร้างวัด ต้องเผยแพร่ธรรม แก่ศิษย์ เมื่อไปอยู่ในถ้ำทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้มาขับไล่ให้ออกไป แต่ครูบาบุญคุ้มท่านได้บอกว่า มาแสวงหาความเงียบสงบสันโดษเท่านั้น ไม่ได้เคยคิดจะเอาอะไรติดไม้ติดมือไปจนในที่สุดเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ก็ได้ตกลงให้ครูบาบุญคุ้มท่านอยู่บำเพ็ญต่อไป อยู่มาวันหนึ่งครูมาบุญคุ้มได้คิดอยากเดินทางกลับ ใจจะเลือกว่าจะกลับระหว่าง จ.เชียงใหม่หรือว่าจะกลับไปที่บ้านเกิดคือจังหวัดยโสธร ดีในช่วงนั้นได้มีชาวบ้านได้เกิดแรงศรัทธาบอกว่ามีที่ดินแห่งนึ่งนิมิตให้ครูบาบุญคุ้มไปอยู่ เมื่อเข้าไปอยู่จึงรู้ว่ากันดารมากน้ำและไฟฟ้ายังไม่มี ซึ่งก็คือที่สร้างสำนักสงฆ์วัดโพธิ์สัตย์บรรพตนี่เอง หลังจากนั้นครูบาบุญคุ้มได้นำธูปจำนวน 19 ดอก มาจุดอธิฐานปรากฏว่า ได้มีผึ้งจำนวนมากก่อทำรังใหญ่ บนต้นตะโก ครูบาบุญคุ้มมีความรู้สึกว่าฤกษ์งามยามดีจึงได้ตั้งจิตอธิฐานว่าหากข้าพเจ้ามีบารมีขอให้ข้าพเจ้าได้น้ำขอให้ข้าพเจ้ามีลูกศิษย์ลูกหามาช่วยสร้างวัดภายใน 1 ปีข้าพเจ้าจะบวชตลอดชีวิตและปฏิบัติธรรมรับใช้ศาสนาเป็นสาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตราบชั่วกาลนาน ใน วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 ได้รับบริจาคที่ดิน 2ไร่จึงปลูกกุฏิเป็นเพิงแฝก และได้เข้าไปอยู่ในวันที่วันที่ 14 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2544 มีสามเณร 3-4 รูปได้มาขออยู่อาศัยด้วย มีอยู่คืนหนึ่งฝนตกหนักมีพายุใหญ่เณรหนาวมากครูบาบุญคุ้มจึงนำจีวรไปคลุมไว้เป็นช่องๆและคลุมตัวเองกันหนาวแต่ทุกๆคนเปียกหมด พอรุ่งเช้าครูบาบุญคุ้มได้บอกแก่สามเณรว่าสึกเถอะลูกเณรมันเป็นทุกข์ แต่ตรงนั้นสามเณรกลับไม่สึกอยากอยู่ด้วยกันแต่อยู่ด้วยความยาก ไปบิณฑบาตได้ข้าวมานิดหน่อยกันฉันท์ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครูบาบุญคุ้มได้คิดจะสร้างวัดขึ้นให้ได้ ตกกลางคืนคืนหนึ่งครูบาบุญคุ้มได้นิมิตว่ามีคนหามเสลี่ยงเป็นแถวเต็มไปหมดเหมือนคณะเจ้าเมืองเก่าๆ มากราบครูบาบุญคุ้มและได้พูดขึ้นว่าสถานที่นี้ต่อไปจะมีความเจริญรุ่งเรืองจะมีคนมีบุญบารมีมาก่อสร้างวัดให้ หลังจากนั้นไม่นานมีชาวสวิตเซอร์แลนด์และอุบาสกอุบาสิกาบอกความประสงค์ว่า จะร่วมกันสร้างกุฏิสงฆ์ให้สัก11 หลังพร้อมศาลา ครูบาบุญคุ้ม ท่านบอกว่าเป็นไปไม่ได้เพียงแต่ระยะเดือนกว่าๆ หลังจากนั้นอีกเดือนก็ปรากฏผลขึ้นเขาเริ่มลงมือสร้างกุฏิให้ 11 หลัง หลังละประมาณ 8-9 หมื่นบาท เป็นกุฏิทรงล้านนาทั้งหมด ตามที่ครูบาบุญคุ้มฝันเห็นและสร้างศาลาการเปรียญอีก 1 หลังมี 6 ห้อง ใช้ปัจจัยในการสร้างทั้งสิ้น 2-3 ล้านบาท พร้อมทั้งถมที่ให้ด้วย หลังจากได้สร้างกุฏิเสร็จแล้วครูบาบุญคุ้มยังมิได้ย้ายเข้าไปยังอาศัยอยู่ในกุฏิแฝกเพราะกุฏิยังไม่เสร็จและก่อนถึงวันเกิดในเดือนมิถุนายนจะมีคนมาสร้างกุฏิให้ครูบาบุญคุ้มก็ยังไม่เชื่อแต่ไม่นานชาวสวิตเซอร์แลนด์ ขนไม้มาจอดที่ด้านหน้าวัดมาบอกว่าจะสร้างกุฏิให้และหาที่ตั้งกุฏิปัจจุบันข้างกุฏิเขาขุดดินไปขายทิ้งไว้เป็นบ่อร้างมาแต่เดิม บ่อนั้นเก็บน้ำไม่ได้ครูบาบุญคุ้มได้ให้สร้างกุฏิตั้งไว้ที่ด้านข้างบ่อดินจะเกิดความอุดมสมบูรณ์และหันหลังพิงเขาใหญ่เหมือนมีแขนสองข้างโอบล้อมเรา ต่อมาครูบาบุญคุ้มได้ฝันเหมือนมีคนบอกในฝันว่า ครูบาเจ้าท่านอย่าได้ทุกข์ใจเรื่องน้ำต่อไปหากท่านได้น้ำให้ท่านเดินหาต้นมะขามเทศ หากเจอต้นมะขามเทศให้เจาะน้ำได้เลย และในฝันมีคาถามาให้ 3 บท สวดแล้วให้เอาสิ่งมงคลไปโปรยลงในน้ำต่อไปน้ำจะเต็มบ่อทำให้วัดของท่านอุดมสมบูรณ์เขียวขจีชั่วนาตาปีซึ่งเมื่อเจาะแล้วได้น้ำอุดมสมบูรณ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้มีบางคนถามครูบาบุญคุ้มว่าท่านเป็นพระกรรมฐานทำไมสร้างวัดใหญ่โตมโหฬาร และเน้นขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปะล้านนา ซึ่งถ้าไม่มีประเพณีต่อ ครูบาเจ้าบุญคุ้มว่าต่อไปจะมีแต่คนป่าถอดผ้าเดินเพราะเดี๋ยวนี้เขานุ่งผ้าเหนือสะดือกันแล้ว หลากหลายสิ่งหลากหลายอย่างที่ท่านบรรจงสร้างขึ้นในบวรพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเนรมิตสิ่งก่อสร้างต่างๆขึ้นที่ วัดโพธิ์สัตย์บรรพตนิมิตหมายรวมถึงการ เคร่งครัดปฏิบัติจนเป็นที่ศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน เรียกว่าคลองใจชาวพุทธก็ว่าได้ ลุ่มแม่น้ำแควมีพระดีชื่อครูบาเจ้าบุญคุ้มผู้เปรียบเสมือนดวงใจของชาวลุ่มน้ำแควเป็นพระแท้ที่ผู้คนศรัทธาในญาณบารมี น้ำใจไม่เคยเหือดแห้งสาดส่องดุจแสงสุรีย์เบิกฟ้านี่คือคำกล่าวที่สะท้อนตัวตนของท่านอย่างแท้จริง ครูบาเจ้าบุญคุ้มกล่าวว่าจุดที่สำคัญของการเผยแพร่ธรรมผู้ฟังจะต้องได้รับผลที่เกิดขึ้นคือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพราะผู้มีธรรมจะแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ ผู้ที่แสดงธรรมต้องมีเป้าหมายที่จะกล่าวธรรมออกไปการแสดงธรรมจึงนะเกิดผลสำเร็จกับผู้รับธรรม ครูบาเจ้าบุญคุ้มเป็นผู้สืบทอดสายครูบามาจากเมืองเหนือผู้ที่ไปกราบท่านหลายคนต่างรู้สึกชื่นใจเย็นใจ จากพระธรรมที่ท่านเทศนาและเมตตา บารมี ที่ท่านแผ่ออกมา คนที่มาหาท่านด้วยความทุกข์ใจก็มากมาหาของดีก็มากที่มาฟังด้วยความรู้จริงในทางสายอริยมรรคหลากหลายเหตุผลที่ต้องการมาพบครูบาเจ้าบุญคุ้มล้วนไม่มีผิดหวังเพราะครูบาเจ้า ท่านเป็นสายพระเกจิและสายนักปฏิบัติสำหรับท่านที่ต้องการกำลังใจ ท่านก็มีวัตถุมงคลช่วยเสริมกำลังใจซึ่งหลายท่านนำพกติดตัวซึ่งก็ได้ผลดีมีประสบการณ์ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งเป็นสุดยอดเครื่องรางตะกรุดไผ่ตัน อันเป็นอันเป็นเครื่องรางของดีที่ครูบาเจ้าบุญคุ้มพกติดตัวตลอดนั้นว่ากันว่ามีพุทธคุณทั้งแก้และกันของไม่ดีต่างๆทั้งยังเป็น เมตตามหานิยมได้ด้วยตะกรุดไผ่ตันที่ครูบาเจ้าบุญคุ้มพกติดตัวนั้นเป็น ของดีที่ได้จากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ และถ่ายทอดสุดยอดเคล็ดวิชานี้ให้กับท่าน ทั้งศิษย์ใกล้ไกลต่างถวิลหาอยู่เนืองๆ สมัยที่เดินธุดงค์อยู่ในป่าเขาครูบาเจ้าบุญคุ้มก็ได้สิ่งมงคลนี้ปัดเป่าเภทภัย และคุ้มครอง ภยันตราย จากคุณไสย มนต์ดำที่คนเล่นของส่งมาลองภูมิซึ่งครูบาท่านรู้อยู่เต็มอกจึงตั้งจิตเจริญสมาธิแผ่เมตตาและ บริกรรมพุทธาคม กำกับด้วยตะกรุดไผ่ตันที่ประดุจพลังพุทธเวทย์ทุกวันจนเกิดเป็นพลังมวลสารศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธานุภาพมหาศาลสามารถต้านทานสิ่งอัปมงคลมิให้เข้าสู่ตัวได้ นอกจากตะกรุดตันแล้วครูบาเจ้ายังได้เก็บผงพิเศษที่ได้จากการสร้างตะกรุดไผ่ตันมาจัดสร้างวัตถุมงคลชุดพิเศษนั่นคือ พระผงรูปเหมือนมงคลจักรวาล พระผงรูปเหมือนมงคลจักรวาลนี้ เป็นของดีที่รวมอนุภาพพลัง วิเศษที่สุดของที่สุด นั่นคือตะกรุดเงิน ทุกองค์ตอกหมายเลขกำกับ เช่น พญาครุฑออกศึก พญาครุฑออกทัพสยบความจน ของดีที่ผ่านการปลุกเสกหนุนชาติ จากพลังจิตของครูบาเจ้าบุญคุ้มล้วนเป็นเครื่องรางของขลังที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่ พระท่ากระดาน พระปิดตาแร่เหล็กไหลมหาลาภ พระยาจระเข้ เมตตาค้าขายดี ตะกรุดข้อมือ สร้อยคอกะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ ไม้ขนุนแก่ 12 นักษัตร นกคุ้มมหาลาภ พระผงพิมพ์น้ำตาลแว่นโภคทรัพย์ กำไลข้อมือตะกรุดเงินแคล้วคลาด พญาครุฑมหาอำนาจและอื่นๆอีกมากมาย หากใครมีไว้พกติดตัวและเวลานำออกไปใช้ตั้งจิตอธิฐานถึงบารมีครูบาเจ้าบุญคุ้มจะคุ้มครองป้องกันภัยและบันดารโชคลาภได้ราวปาฏิหาริย์สิ่งสำคัญที่ทำให้ครูบาเจ้าบุญคุ้มเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา นอกเหนือจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและวัตถุมงคลที่โด่งดัง ยังมีเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาอีกด้วยสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ครูบาเจ้าบุญคุ้มเป็นผู้สืบสานด้วยการแห่ตุงและเสลี่ยงภายในวัดและในตัวเมืองกาญจนบุรี ท่านเล่าขานตำนานตุงว่าเริ่มเทศกาลสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของไทยชาวล้านนามักมีการประดับธงหรือตุงจะมีสีและลวดลายทั้งที่ทำจากผ้า กระดาษและวัตถุอื่นๆมีการใช้ตุงปรากฏเป็นหลักฐานนานนับพันปี และพัฒนาไปตามความเชื่อในแต่ละสังคมจนใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน การใช้ตุงทางภาคเหนือปรากฏเป็นหลักฐานเป็นครั้งแรกในพระธาตุดอยตุงชาวเหนือนิยมใช้ตุงในการประกอบพิธีกรรมต่างๆทั้งทางศาสนาและพิธีที่เกี่ยวกับชีวิตงานเทศกาลและเฉลิมฉลองต่างๆตามคติความเชื่อการจัดงานของท่านครูบาเจ้าบุญคุ้มบาทเดียวก็ไม่มี ขอขอบคุณเทวดาหรือผู้มาร่วมงานเทวดาทั้งหมดในนี้ คนใดฟังเทศน์จิตใจในขณะนั้นเป็นพรหมคนใดรักษาศีลขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เค้าเรียกเริ่มเป็นอนาคามี คนใดไม่ฟังเทศน์หรือฟังธรรมระวังจะเกิดไปเป็นเปรตอสุรกายคือมีแต่โลภอยากได้ของเค้า คิดแต่กอบโกยแต่อนาคตของเราไม่แน่ว่าเมื่อใดยังมีชีวิตต้องทำความดีที่สุด คืออนาคตอย่างตรงนี้ไม่ใช่คิดว่าพรุ่งนี้จะได้เท่าไหร่ จะถูกโกง ใครจะมาทวงหนี้ ถ้าอนาคตมี ไม่เป็นไรวางในเป็นกลาง มัชฌิมาและให้ถือคติสงบนิ่งชนะทุกสรรพสิ่งไม่ว่าอะไรมารุมเร้าให้นิ่งๆใครว่าเราให้เฉยๆ ให้เราเอาคนเหล่านั้นเป็นครูเราจะไม่เป็นคนอย่างนั้นกล่าวในวันสงกรานต์นำศิลปวัฒนธรรมประเพณีเผยแพร่ว่าครูบาว่างานใดก็ตามหากว่าตามหากว่าเรามีความตั้งใจ หากว่าเรามีความเชื่อมั่น หากว่าสิ่งนี้เราทำลงไปทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมให้คนส่วนมากได้มีความชื่นชมยินดีและผู้ที่อยากจะทำหรือสืบสานไม่ให้สิ่งเก่าแก่ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณที่สืบทอดกันมายังรุ่นหลังตั้งแต่รุ่นของปู่ย่าตาทวดได้สูญหาย หรือเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นมีความงามและความอ่อนโยนอยู่ในตัวเอง มีศิลปะอันงดงามบ่งบอกสิ่งที่ดีสิ่งที่สวย และยังบ่งบอกถึงอนาคตบอกถึงอดีตให้เราได้รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างครูบาท่านว่าเป็นธรรมะชนิดหนึ่ง หากใครมองทะลุได้ ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี เป็นบ่อเกิดแห่งพลังสามัคคีให้แก่คนที่รักคำว่าพุทธ พุทธ คือเบ่งบาน จะเป็นศีลก็ได้ จะเป็นสมาธิอย่างเช่น มาร้อยดอกไม้หากว่าเราไม่มีจิตดี สมาธิไม่ดี ใจไม่ดี เราร้อยดอกไม้ไม่ได้สวยไหนจะสอดด้ายลงรูเข็มจับมันใส่ลงรูเข็มนั้นนิดเดียว เปรียบเสมือนธรรมะ เราจะนำด้ายแยงเข้าไปในรูเข็ม เราจะต้องมีสมาธิที่ดีอย่ามองการตบแต่งถ้าให้เกิดความสวยงามแต่หารู้ไม่ว่ามันลำบากกว่าจะได้มาลำบากมาก ผู้ที่จะอนุรักษ์ประเพณีนั้นต้องรักมันจริงๆ ครูบาเจ้าบุญคุ้มท่านยกตัวอย่างยุกต์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามถ้าคนรุ่นใหม่เห็นประเพณีชอบทุกคน แต่ว่าใครจะทำให้โดดเด่นสำคัญกว่า ต่อสังคม หรือต่อประเทศชาติ สมาธิสำคัญเบื้องหลังการทำงานสืบสานประเพณีกว่าจะออกมาได้อย่างสวยงามมันลำบากมาก เปรียบเสมือนการปฏิบัติธรรม เราบวชมาตั้งแต่เด็กๆ บวชมาตั้งแต่เณรกว่าเราจะฝ่ากิเลสไม่ลุ่มหลงไม่ยึดติด เหมือนกับการปฏิบัติมารักษาประเพณี หรือการตบแต่งขบวนบุพชาติหรือมาต้องลายคือการฉลุลายออกมาให้เป็นภาพที่เก่าแก่นำติดกับไม้ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างทำให้เกิดความสวยงาม ก็เปรียบเสมือนกับการแสดงธรรมนำมาแต่งนำมาเสริมจิตใจที่มันหายไปให้เกิดพลังที่สวยงาม วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่คิดพิจาณาประเพณีจะเป็นตัวช่วย พระพุทธศาสนาให้คงอยู่ยืนนานได้ ประเพณีหรือวัฒนธรรมสำคัญ วัฒนธรรมก็คือการรักษาลูกหลานของเขา ประเพณีจะต้องกตัญญูกตเวทิตา ลูกหลานเราอยู่ที่ไหนก็เรียกมารวมกันเรียกว่ารวมพลัง เช่นประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรเทโว เข้าพรรษาเป็นต้น จุดมุ่งหมาย ในการสร้างตุงจึงทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาสร้างกุศลให้ตนเองและอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะได้พ้นจากเวรกรรมและได้ขึ้นสวรรค์ โดยเฉพาะภัยที่เชื่อว่าเกิดจากภูตผีปีศาจ หรือบาปกรรมทั้งหลาย และยังใช้ในทางไสยศาสตร์หรือพิธีกรรมเทศกาลต่างๆ เช่นพิธีสวดพุทธมนต์ พิธีสืบชะตา งานปอยหลวง ทอดกฐิน ประเพณีสงกรานต์ หรืองานอวมงคลเกี่ยวกับคนตาย ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ ก็ยังนิยมสร้างตุงเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆงานเทศกาลหรือเฉลิมฉลองเราจึงเห็นตุงประดับประดาตามสถานที่จัดงานต่างๆเพื่อ ความสวยงามแต่ทั้งนี้ควรนำตุงไปใช้ให้เหมาะสม เพราะหากไม่มีการอนุรักษ์หรือศึกษารูปแบบตามคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ตุงให้เข้าใจ อย่างถ่องแท้ ก่อนนำไปใช้แล้ว อนาคต การใช้ตุงในพิธีต่างๆตามความเชื่อเดิมอาจจะถูกดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไปในที่สุด ครูบาเจ้าบุญคุ้มจึงได้สืบสานประเพณี แห่ตุงแบบวัฒนธรรมล้านนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาให้เป็นมรดกธรรม มรดกไทย มรดกโลกต่อไป

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาบุญให้แด่ทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชม blog ของข้าพเจ้า สาธุ สาธุ สาธุ




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2554
0 comments
Last Update : 23 กรกฎาคม 2554 14:03:15 น.
Counter : 5887 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แผ่นฟ้า-พระจันทร์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




E-MAIL to Panfah-Prajan http://panfah-prajan.bloggang.com
Friends' blogs
[Add แผ่นฟ้า-พระจันทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.