Welcome to my planet, and enjoy taking a wonderful journey

<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
25 ตุลาคม 2553
 

agilityขององค์กร

//www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q4/2009november24p1.htm

Agility คืออะไร?
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ได้จัดงานวัน TMA 2009 ขึ้น โดยในปีนี้หัวข้อหลักเป็นเรื่องของ Agility และผมเองก็มีโอกาสได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในผู้พูดในหัวข้อนี้ด้วยเช่นกันครับ โดยพูดในกลุ่มของ CPMG หรือ Corporate Performance Management Group และพูดร่วมกับวิทยากรอีกสองท่าน ผมเลยอยากจะขอนำเสนอเนื้อบางส่วนที่ได้พูดและไม่ได้มีโอกาสพูดในวันนั้นมานำเสนอผ่านทางบทความในสัปดาห์นี้นะครับ

คำว่า Agility ไม่ใช่คำใหม่ เพียงแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำคำนี้กันมากขึ้นในแวดวงธุรกิจ ดังนั้น ก็เลยมีคำถามว่า จริงๆ แล้ว Agility มีความหมายความอย่างไร ซึ่งก็มีคำนิยามที่หลากหลายนะครับ ในส่วนตัวผมเวลานึกถึงคำว่า Agility นั้น จะนึกถึงการเปลี่ยนแปลง หรือการเคลื่อนไหว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่สูญเสียจังหวะ หรือ Momentum แต่อย่างใด ก็ได้มีการพูดคุยกันในกลุ่มวิทยากรที่บรรยายร่วม (คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และ ดร.นิธินารถ สินธุเดชะ) ว่า ในคำภาษาไทยนั้นเราจะใช้คำว่าอะไร ก็มีคำคำหนึ่งที่โผล่มาและผมชอบครับ นั่นคือคำว่า ปราดเปรียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง หรือ Change ทั่วๆ ไปนั้น จะเกิดขึ้นได้จะต้องผ่านกระบวนการ หรือขั้นตอนต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ก็มักจะใช้เวลาพอสมควร แต่สำหรับ Agility แล้วเป็นลักษณะขององค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเร็ว ไม่เสียเวลา แต่อย่างใดไม่เสียจังหวะ คุณกิตติรัตน์เองก็เปรียบให้เห็นภาพว่าเหมือนนักฟุตบอลที่เลี้ยงบอลไปในทิศทางหนึ่งแล้วสามารถเปลี่ยนไปอีกทิศทางหนึ่งอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ไม่เสียจังหวะ หรือต้องปรุงแต่งลูกบอลแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นถัดมา ก็คือ ทั้งๆ ที่ Agility เป็นคำที่มีมานานแล้วนั้น ทำไมถึงเพิ่งมานิยมกันเมื่อไม่นานมานี้ จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ Agility นั้น มีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซับซ้อนขึ้น ในเชิงกลยุทธ์นั้นคำว่า Strategic Agility เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น เนื่องจากการวางแผนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เริ่มมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น การพยากรณ์ด้วยวิธีการต่างๆ เริ่มไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้น แทนที่องค์กรจะอาศัยการพยากรณ์ หรือการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเดียว ถ้าองค์กรมีความพร้อม หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนอย่างปราดเปรียวและฉับพลันมากขึ้นเท่าใด องค์กรก็ยิ่งพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Agility มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากความสามารถในการลอกเลียนแบบของคู่แข่งขันที่มากขึ้นทุกขณะ ถึงแม้องค์กรจะเน้นและให้ความสามารถกับนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพียงใด แต่จากความสามารถที่เพิ่มขึ้นของคู่แข่งขันในการลอกเลียนแบบ องค์กรก็ยิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับความปราดเปรียวและฉับพลันในการเปลี่ยนแปลง

จริงๆ ถ้าท่านผู้อ่านนึกถึงเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ที่องค์กรต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ก็จะพบว่าความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ทั้งหลายที่จะส่งผลต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวขององค์กรนั้นยากที่จะบริหารจัดการได้ทุกขณะ ดังนั้น นอกเหนือจากเรื่องของการบริหารความเสี่ยงแล้ว องค์กรควรจะมีลักษณะของ Agility ที่พร้อมจะเปลี่ยนได้อย่างฉับพลันและรวดเร็ว

ท่านผู้อ่านลองสังเกตองค์กรท่านดูนะครับว่าในอดีตองค์กรท่านมีความปราดเปรียวเพียงไหน และปัจจุบันองค์กรท่านเริ่มเปลี่ยนจากความปราดเปรียวมาเป็นความอุ้ยอ้ายหรือยัง ในเวทีของ TMA เมื่อวันศุกร์เราก็ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้พอสมควรครับ และท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ เมื่อองค์กรเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ และเริ่มจะขยายใหญ่ขึ้น องค์กรส่วนใหญ่จะยังมีความปราดเปรียวอยู่ แต่เมื่อองค์กรเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ขอบเขตการทำงานเริ่มมากขึ้น จำนวนบุคลากรมากขึ้น และสิ่งต่างๆ ในองค์กรทั้งใหญ่และมากขึ้น ความอุ้ยอ้ายก็เริ่มเข้ามาครอบงำ เนื่องจากกระบวนการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย แนวปฏิบัติต่างๆ ที่จะต้องมีเมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขณะเดียวกัน องค์กรจะเติบใหญ่โดยขาดสิ่งต่างๆ ข้างต้นก็ไม่ได้ มิฉะนั้น องค์กรก็จะดำเนินงานในลักษณะที่ไร้ระเบียบหรือที่เรียกกันว่า Chaos ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจ ก็คือ จะสามารถสร้างดุลยภาพ หรือความสมดุลระหว่างความปราดเปรียวได้อย่างไร หรือจุดสมดุลนั้นอยู่ ณ ตรงไหน

ทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรยังมีลักษณะของความ Agility อยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกรอบแนวทางต่างๆ ในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ดูเหมือนคำถามข้างต้นจะเป็นคำถามที่ตอบยากนะครับ และน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนพยายามเสาะแสวงหาสำหรับองค์กรตนเอง แล้วทีนี้ถ้าไม่มองเพียงแค่องค์กร แต่มองระดับประเทศละครับ ประเทศไทยมีความ Agility มากน้อยเพียงใดครับ นั่นคือ เป็นประเทศที่ปราดเปรียวหรือเป็นประเทศที่อุ้ยอ้าย

สัปดาห์นี้เราน่าจะพอเข้าใจและเห็นภาพของ Agility กันนะครับ สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อดีกว่าครับว่าการที่องค์กรหรือประเทศไทยจะมีความเป็น Agility ได้ดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง


--------------------------------------------------------------------------------

ปัจจัยที่ฆ่า Agility ในองค์กร

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำเสนอหลักการและแนวคิดของคำว่า Agility มาเล่าสู่กันฟังนะครับ ซึ่งเนื้อหาหลักๆ นั้น นำมาจากที่ผมได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในวิทยากรของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้ว เพียงแต่เป็นการนำเสนอให้เห็นถึงหลักการและแนวคิดของคำว่า Agility ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันเยอะพอสมควร สัปดาห์นี้ผมจะขอนำเสนอต่อว่าการที่องค์กรไม่มีความ Agility นั้น คือ มีความอุ้ยอ้าย เชื่องช้า และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ยังไม่ได้นำเสนอในงานสัมมนาของ TMA ที่ผ่านมา

สาเหตุสำคัญของการที่องค์กรไม่สามารถปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่วและปราดเปรียวนั้น ก็เริ่มจากตัวผู้บริหารเลยครับ โดยผู้บริหารในที่นี้ครอบคลุมทั้งตัวผู้บริหารสูงสุด และทีมผู้บริหารในระดับต่างๆ ด้วย ซึ่งปัญหาในเรื่องของผู้บริหารนั้นยังแยกได้เป็นอีกหลายประเด็นย่อยๆ แต่สาเหตุสำคัญที่ผมพบเจอบ่อยมากในกลุ่มผู้บริหารขององค์กรในประเทศไทย (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ก็คือ การยึดติดและไม่เปิดใจให้กว้างที่จะยอมรับในสิ่งที่แปลกและแตกต่าง ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่าผมกล่าวตามทฤษฎี แต่ต้องเรียนว่านี่คือประสบการณ์ตรงๆ ที่พบเจอผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย หลายครั้งที่ดูจากภายนอกว่าผู้บริหารสมัยใหม่นั้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัว แต่สิ่งที่พบเจอ คือ ภายในนั้นยังยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ

ประเด็นในเรื่องของความยึดติดที่พบเจอบ่อยมาก ก็คือ ชอบมองว่าองค์กรตนเองมีความแตกต่างหรือไม่เหมือนกับองค์กรอื่น ไม่ว่าจะอยู่คนละอุตสาหกรรม หรือไม่ใช่องค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร หรือเหตุผลอีกมากมาย ดังนั้น เมื่อผู้บริหารเริ่มคิดว่าตนเองแตกต่าง ไม่เหมือนกับที่อื่นแล้ว การที่จะเปิดใจและพร้อมจะยอมรับเรียนรู้ และปรับตัวนั้นก็เริ่มที่จะไม่ง่ายอย่างที่คิดแล้วครับ จริงอยู่ที่องค์กรแต่ละแห่งมีความแตกต่างจากกัน และไม่มีทางเป็นไปได้ที่องค์กรสองแห่งจะมีลักษณะที่เหมือนกัน แต่องค์กรแต่ละแห่งก็สามารถที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นได้ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ ความคิดที่ชอบมองว่าตนเองแตกต่าง ไม่เหมือนองค์กรอื่นนั้น ก็เป็นเสมือนปราการที่คอยปิดกั้นไม่ให้ผู้บริหารได้เห็น และยอมรับถึงความสำคัญที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากปัญหาความยึดติดในความเข้าใจ (ผิด) ว่า องค์กรตนเองแตกต่างแล้ว ผู้บริหารจำนวนมากยังมีความยึดติดต่อความสำเร็จ หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในปัจจุบันตำราและผู้รู้จำนวนมากก็จะออกมาเตือนอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต ดังนั้น องค์กรจะต้องรู้จักที่จะปรับตัวและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ยึดติดในรูปแบบและวิธีการทำงานในอดีต ที่อาจจะเคยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมาในอดีต แต่อาจจะไม่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต

ผู้บริหารในองค์กรที่มี Agility สูง จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเสียใหม่ จากที่เคยคิดว่าผู้บริหาร คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ และคอยบอกหรือสั่งผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารสำหรับองค์กรที่ต้องการความปราดเปรียวนั้น จะต้องหันมาถามและปรับตัวแทน ผู้บริหารจะต้องเรียนรู้ที่จะถามผู้อื่น ไม่ว่าจะถามผู้บริหารด้วยกันหรือถามผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญกับต่อการปรับตัวนั้น บางครั้งผู้ที่จะรู้เร็วและรู้ดีที่สุดจะไม่ใช่ตัวผู้บริหารระดับสูง แต่จะเป็นพนักงานที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าและตลาดมากที่สุด ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเรียนรู้ที่จะถามผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการปรับตัว และเมื่อถามแล้วผู้บริหารก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้าสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าผู้บริหารในยุคของการเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบันจะต้องเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว แนวคิด และสไตล์การบริหารให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ปัญหาที่สำคัญอีกประการของผู้บริหาร ก็คือ การขาดความหลากหลาย องค์กรที่ต้องการที่จะมี Agility นั้น ผู้บริหารควรจะมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายในมุมมองและวิธีคิด ทั้งนี้ เนื่องจากการที่องค์กรจะสามารถปรับตัวและมีความปราดเปรียวได้นั้น ผู้บริหารจะต้องมีมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถรับรู้ต่อข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน การที่ผู้บริหารระดับสูงมีวิธีการคิดและมุมมองต่างๆ ในลักษณะที่เหมือนกันหมด จะทำให้ผู้บริหารเองมีมุมมองต่อเหตุการณ์ต่างๆ เพียงด้านเดียว ในขณะที่องค์กรที่มีผู้บริหารที่มีมุมมองที่หลากหลาย จะทำให้มีมุมมองที่หลากหลายต่อข้อมูลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้มีทางเลือกในการปรับตัวได้ดีกว่า ถึงแม้ว่าการมีมุมมองที่หลากหลายมักจะทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย แต่ผู้บริหารสูงสุดที่มีความสามารถก็ย่อมที่จะสามารถพิจารณาและเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร

จริงๆ ยังมีอีกหลายประการนะครับที่เป็นตัวฆ่า Agility ในองค์กร แต่วันนี้ ก็ขอเน้นที่ผู้บริหารก่อนแล้วกันนะครับ ก็หวังว่าองค์กรของท่านผู้อ่านคงไม่มีผู้บริหารที่มีคุณลักษณะต่างๆ ข้างต้น ที่จะทำให้องค์กรไม่สามารถทำตัวให้ปราดเปรียว และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น




Create Date : 25 ตุลาคม 2553
Last Update : 25 ตุลาคม 2553 19:28:35 น. 1 comments
Counter : 877 Pageviews.  
 
 
 
 
ตย. เช่น การกระจายอำนาจให้หน่วยงานระดับรองลงมา
ให้สามารถงานบริหารบางอย่างได้ เซนต์เอกสารบางอย่างได้
 
 

โดย: oozingplanet (oozingplanet ) วันที่: 25 ตุลาคม 2553 เวลา:19:31:23 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

oozingplanet
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ร้อนหนาวอยู่ที่กาย สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
[Add oozingplanet's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com