Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
11 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 

เศรษฐศาสตร์จานร้อน:เมื่ออิหร่านขาดแคลนน้ำมัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : บางคนอาจสงสัยว่ากว่าอิหร่านจะขาดแคลนน้ำมันก็คงจะอีกหลายสิบปี เพราะเราทราบกันดีว่าอิหร่านนั้นเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันสูงเป็นที่สองของโอเปค และเป็นที่ 4 ของโลก แต่การขาดแคลนน้ำมันของอิหร่านนั้นเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยรัฐบาลประกาศปันส่วน (ration) น้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้รถยนต์เพียง 100 ลิตรต่อเดือน หากใช้ LPG หรือ CNG ก็จะได้รับปันส่วนเพียง 30 ลิตรต่อเดือน

ทั้งนี้ การจำกัดการใช้น้ำมันเบนซิน โดยการปันส่วนดังกล่าวจะดำเนินการเป็นเวลา 4 เดือน แต่อาจจะขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ ผลคือประชาชนไม่พอใจอย่างมาก เพราะต้องนำรถมาเข้าแถวเติมน้ำมันยาวเป็นหลายกิโลเมตร บางคนโมโหมากจนวางเพลิงปั๊มน้ำมัน โดยมีรายงานว่า ปั๊มน้ำมันในกรุงเตหะรานถูกเผาไปแล้วกว่า 12 แห่ง ทำให้ต้องส่งทหารติดอาวุธมาประจำการที่ปั๊มต่างๆ ซึ่งก็ไม่สามารถหยุดยั้งการสาปแช่งของประชาชนที่ตะโกนว่า "ประธานาธิบดีมามุดอามาดินแจด ควรจะถูกฆ่าให้ตาย"

ทำไมประเทศที่มีน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก จึงขาดแคลนน้ำมันเบนซินได้ เพราะในเมื่อน้ำมันดิบราคาเพิ่มจาก 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็นเกือบ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อิหร่านก็น่าจะได้กำไรมหาศาลจากการส่งออกน้ำมันดิบ จนน่าจะมีเงินกำไรมาซื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วและสร้างโรงกลั่นได้อย่างไม่ลำบากนัก? คำตอบคือ รัฐบาลอิหร่านคงจะหวังดีกับประชาชนเห็นว่ามีน้ำมันดิบมาก จึงตั้งราคาน้ำมันเบนซินในประเทศเอาไว้ที่ระดับต่ำ (จนน่าอิจฉา) คือ 2.80 บาทต่อลิตร และต่อมาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.50 บาทต่อลิตร ก่อนที่จะใช้มาตรการปันส่วนน้ำมันเบนซิน

การตั้งราคาน้ำมันที่ต่ำเกินไปนั้นมิใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะทำให้ชาวอิหร่านใช้ทรัพยากรที่มีค่าอย่างฟุ่มเฟือย โดยประเมินว่า อิหร่านมีรถยนต์ประมาณ 7 ล้านคัน แต่ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์เก่า ที่ไม่ค่อยจะบำรุงรักษา จึงกินน้ำมัน (ก็จะต้องบำรุงรักษาไปทำไม ในเมื่อน้ำมันราคาถูกกว่าน้ำเปล่า) ผลคือรัฐบาลมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพียง 60% ของความต้องการน้ำมันเบนซินทั้งหมดของประเทศ อีก 40% ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเสียเงินงบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (เพราะน้ำมันเบนซินในตลาดโลกนั้น ราคาประมาณ 25 บาทต่อลิตร เทียบกับราคาในประเทศที่ 3.50 บาทต่อลิตร)

ทั้งนี้ ที่รัฐบาลต้องบังคับให้ปันส่วนน้ำมันใช้กัน ก็เพราะเกรงว่าความต้องการในอนาคตจะเพิ่มขึ้น จนทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณซื้อน้ำมันเบนซินปีละ 9.5 พันล้านดอลลาร์ ไม่ใช่ 5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ อิหร่านยังประสบปัญหาการลักลอบนำน้ำมันเบนซินในประเทศไปขายในต่างประเทศอีกด้วย

จะเห็นได้ว่านโยบายที่หวังดีกับประชาชน แต่ไม่คำนึงถึงราคาตลาดนั้นนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพและความเสียหายยากที่จะแก้ไข ทั้งนี้ เพราะแนวนโยบายที่ถูกต้อง คือการปรับราคาในประเทศให้ใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก แต่รัฐบาลคงไม่กล้า เพราะราคาตลาดโลกสูงกว่าถึง 9 เท่า

แต่การปันส่วนน้ำมันให้ใช้เพียง 100 ลิตรต่อเดือน ก็ไม่ได้แก้ปัญหา กลับทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมาก ซึ่งบทเรียนคือควรอาศัยราคาตามกลไกตลาดเสรี เป็นเครื่องมือในการจัดสรรการใช้ทรัพยากร สินค้า และบริการ หากสินค้าขาดแคลนราคาต้องปรับขึ้น เพื่อให้มีการประหยัดสินค้าที่มีจำนวนจำกัด

บางคนอาจแย้งว่าน้ำมันนั้นเป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีวิตที่สำคัญ ดังนั้น การลดราคาน้ำมันเบนซินให้ต่ำของรัฐบาลอิหร่าน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยเหลือประชาชน แต่ในกรณีของอิหร่านนั้นปรากฏว่าเงินเฟ้อสูงถึง 17% ต่อปี และยังอาจเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่าการควบคุมราคาสินค้าบางประเภทนั้น มิใช่วิธีการที่จะลดเงินเฟ้อ การควบคุมเงินเฟ้อนั้นขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินเป็นหลัก

ในกรณีของประเทศไทยก็เช่นกันอัตราเงินเฟ้อนั้น จะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อของโลก นโยบายการเงินของไทยและความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่มาตรการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งควรปล่อยให้ปรับตัวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานการเข้าไปแทรกแซงราคาตลาดนั้นจะพึงกระทำก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีการผูกขาดโดยผู้ผลิตรายเดียว หรือการฮั้วกันของผู้ผลิต 3-4 ราย

บางคนอาจคิดว่าการกระทำแบบอิหร่านนั้น ย่อมจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะคนไทยเราจะมีเหตุผล แต่ผมก็อดห่วงไม่ได้ว่า แนวคิดประเภทนี้ก็ยังมีอยู่ เช่น การที่มีผู้ร้องต่อศาลปกครองให้สั่งคืนปตท.ให้กลับมาเป็นของรัฐ เพราะเมื่อแปรรูปและเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว (แม้ว่ารัฐจะยังถือหุ้น 70%) ปตท.มุ่งแต่จะทำกำไร ซึ่งเป็นการขูดรีดประชาชน และกำไรที่ได้ก็ตกอยู่กับนักลงทุนเพียงบางกลุ่มที่ถือหุ้น ปตท.เท่านั้น

ธุรกิจของปตท.นั้น เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันและราคาก็เป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น กำไรที่มีเกิดจากการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ และกำไรส่วนใหญ่ของ ปตท.ก็ถูกนำไปลงทุน เพื่อขยายการผลิตเพื่อเพิ่มผลตอบแทน และแสวงหาแหล่งทรัพยากรเพิ่มเติม อันเป็นผลให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรได้ในอนาคตอย่างไม่ติดขัด หากกำไรถูกตัดทอนไปหมดโดยการลดราคา (ที่ผิดไปจากราคาที่ได้มาจากกลไกตลาด) ก็จะทำให้การลงทุนชะงัก และเกิดปัญหาการขาดแคลนในอนาคตได้

บางคนแย้งว่า หากกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด ก็ยังจะสามารถดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงก็ได้ในขณะที่กำไรจะตกเป็นของรัฐทั้งหมด คำตอบคือ เราเห็นบ่อยครั้งว่าองค์กรที่ถูกควบคุมโดยภาครัฐ มักจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพต่ำ และถูกแทรกแซงทางการเมืองได้โดยง่าย

การอยู่ในตลาดหุ้นนั้น ทำให้ปตท.ถูกนักวิเคราะห์ 30-40 คน เฝ้าติดตามข้อมูลและออกบทวิเคราะห์เป็นระยะๆ เหมือนกับถูกส่องด้วยแสงสว่างตลอดเวลา ผู้บริหารเองก็จะต้องพบปะและให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งความน่าเชื่อถือและผลงานของผู้บริหารนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากในอนาคตบริษัทจะต้องเพิ่มทุนเพื่อขยายการผลิต

แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องรองบประมาณของรัฐที่มีจำกัด และการอนุมัติโครงการต่างๆ ก็มักจะทำได้อย่างเชื่องช้า และจะต้องมีข้อครหาเกี่ยวกับผลประโยชน์แอบแฝงและคอร์รัปชันทุกครั้งไป ทำให้การตัดสินใจลงทุนเกิดความล่าช้าได้โดยง่าย ผมจึงอยากเห็นประเทศไทยรู้จักใช้ตลาดทุนให้เป็นประโยชน์สูงสุดครับ


โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ : 9 ก.ค. 50




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2550
3 comments
Last Update : 14 กรกฎาคม 2550 18:57:08 น.
Counter : 480 Pageviews.

 

รัฐบาลสนับสนุนเงินในกองทุนน้ำมันหลายประเทศกระทำกันแม้ในอาเชียนทราบว่าที่ มาเลย์เซีย และอินโดฯ รัฐอุดหนุนเงินเพื่อกดราคาน้ำมันในประเทศให้ต่ำกว่าราคาตลาดโลก
ประเทศไทยปล่อยราคาลอยตัวแบบนิ่มๆไร้ประชาชนต่อต้านเมื่อเกือบสิบปีก่อน ขณะที่ฟิลิบปินประชาชนไม่พอใจ
ยิ่งอินโด ฯ รัฐไม่กล้าแม้แต่คิดเรื่องนี้กัน

 

โดย: Yoawarat 11 กรกฎาคม 2550 11:00:24 น.  

 

เป็นอุทาหรณ์สอนว่า
สักวัน ประเทศไทยอู่ข้าวอู่น้ำของโลก
อาจต้องปันส่วน ข้าว ปลา อาหารกัน
ด้วยหรือเปล่าเอ่ย

 

โดย: moonfleet 11 กรกฎาคม 2550 13:07:47 น.  

 

เอ๊ะ แต่ผมแปลกใจอย่าง ประเทศพวกนี้ น่าจะร่ำรวย ชนิดที่ไม่น่าจะมีรถเก่า ๆ เยอะนะ อ่านใน Blog นี้ก็เลยงง ๆ

ผมว่า ถ้ารัฐบาลบังคับเรื่องราคาน้ำมันไม่ได้ ก้บังคับผ่านการใช้รถยนต์ได้นะ

แต่หากประชานิยมไว้เยอะ จะไปหักดิบ ก็คงเสียคะแนนเสียง จนอยู่ไม่ได้อยู่ดีแหละ

 

โดย: :bo (ECie ) 11 กรกฎาคม 2550 13:27:04 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Dododee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่
"No_Idea Bloggang"
Blog นี้จัดทำโดย
นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คณะบริหารธุรกิจ
สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ
International Business Management (IBM)
กลุ่ม No_Idea

Friends' blogs
[Add Dododee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.