* ไ ฮ โ ซ ไ ว้ ก่ อ น พี่ ๆ ส อ น ไ ว้ *
 

มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง แนวโน้มสดใส ถ้าทำได้อย่างที่พูด

ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งจัดทำเป็นรายเดือนโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร ระบุชัดเจนว่า ดัชนีบ่งชี้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับธุรกิจและการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นการทำสถิติ "ต่ำที่สุด" ในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ที่มีการทำสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544

++ความพยายามเริ่มส่งผลเชิงบวก

ดัชนีดังกล่าวประมวลจากความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถาม 681 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้บริหารญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย 102 ราย และเป็นความเห็นเกี่ยวกับความสามารถในการทำยอดขาย การทำกำไร การวางแผนงานการลงทุน อุปสงค์และอุปทานในตลาด รวมถึงความคาดหวังเกี่ยวกับแผนการธุรกิจและแผนลงทุนในอนาคตของแต่ละบริษัท
ขณะที่ดัชนีภาพรวมของ 5 ประเทศอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีดัชนีเชิงบวกจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์เป็นแรงหนุน แต่สำหรับไทย ภาพที่ได้กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิงด้วยหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นการหดตัวของตลาดรถยนต์ถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากต่างประเทศ
ภาพสะท้อนจากผลการสำรวจชิ้นนี้ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมาผนวกเข้ากับความไม่มั่นใจของนักธุรกิจญี่ปุ่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองรวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงมากับการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็ยิ่งทำให้สถานะความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในฐานะประเทศที่ดึงดูดใจนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้ เริ่มสั่นคลอนจนหลายหน่วยงานภาครัฐต้องออกมาเร่งมือแก้ไขสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำคณะเดินทางเยือนญี่ปุ่นโดยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณต่อภาคเอกชนญี่ปุ่นอย่างชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นเช่นไร ไทยก็ยังให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น และยึดมั่นต่อการค้าเสรีอย่างแน่นอน
ล่าสุดวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ตอกย้ำคำมั่นต่อนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 200 คนอีกครั้งเกี่ยวกับ "อนาคตและความก้าวหน้าของประเทศไทย" ซึ่งเป็นหัวข้อของปาฐกถาพิเศษในวันนั้น ว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งมืออยู่ในขณะนี้ ไม่เพียงเป็นการสะสางปัญหาและปูทางไปสู่การเมืองในระบบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่กำลังเร่งสร้างกรอบกติกาทางเศรษฐกิจที่โปร่งใสและเป็นธรรม ที่สำคัญคือกำลังเร่งผลักดันโครงการกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจ การลงทุน และการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม
เกี่ยวเรื่องนี้ นายโยอิชิ คาโตะ ประธานเจโทร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยช่วยลดความกังวลใจของบริษัทญี่ปุ่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตลงไปได้มาก ทั้งยังสร้างความมั่นใจมากยิ่งขึ้น "เรายอมรับว่าปัญหาทางเทคนิคนั้นเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา แต่จากการที่ญี่ปุ่นมีประสบการณ์ในการเข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในไทยเป็นเวลายาวนานแล้ว เราตระหนักดีว่าเศรษฐกิจของไทยโดยพื้นฐานนั้นยังแข็งแกร่งอยู่ และเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาให้ความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เรามั่นใจมากขึ้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความโปร่งใส การบริหารประเทศด้วยธรรมาภิบาล และการสร้างกติกาการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม ให้ความเท่าเทียมกัน รวมทั้งการเมืองในระบบประชาธิปไตยนั้นเป็น "ค่านิยมสากล" ที่ทุกฝ่ายต่างต้องการให้เกิดขึ้น ผมเองก็เห็นด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องที่ยังเป็นห่วงก็มีบ้าง ไม่ใช่จะไม่มีเลย เช่น ค่าเงินบาทที่ยังแข็งมากเมื่อเทียบกับเงินเยน ส่งผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกเพราะตลาดไทยเองยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับกำลังผลิต ส่วนกรณีการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของต่างด้าวนั้น เชื่อว่ามีรายละเอียดทางเทคนิคที่กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาอยู่ ร่างสุดท้ายก็ยังไม่สรุปออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ผมจึงยังไม่อยากออกความเห็นในเรื่องนี้ ณ ขณะนี้"

++ เชื่อครึ่งปีหลังฟ้าใส

ประธานเจโทรคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีหลังว่า จะมีการเฉลิมฉลองปีพระราชสมภพครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีการเลือกตั้ง ฉะนั้นหากไทยสามารถผ่านร่างรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งอย่างที่นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นเอาไว้ ก็เชื่อว่าบรรยากาศการค้าและการลงทุนจะฟื้นตัวสดใสขึ้นอย่างแน่นอน แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งที่รัฐบาลคาดหมายให้เกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้ตามที่วางไว้หรือเปล่า ส่วนเขาเองนั้นเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นการเลือกตั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับนายอากิโยชิ ทากาฮาชิ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท มิตสยาม มอเตอร์ส จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถฮีโน่ในไทย ที่แสดงความเห็นว่า หลังเลือกตั้งไปแล้วน่าจะได้เห็นสัญญาณเชิงบวกในตลาด เพราะตอนนี้ยังมีความไม่มั่นคงเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศ ทำให้คนไทยส่วนมากไม่คิดลงทุนหรือขยายธุรกิจเพิ่ม ขณะที่ธุรกิจญี่ปุ่นเอง ยังต้องพึ่งพากำลังซื้อและตลาดไทยอยู่ ฉะนั้นหนทางที่พอจะทำได้มากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ทางบริษัทจะต้องเดินหน้าทำกิจกรรมทางธุรกิจในไทยต่อไปจนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลายตัวในช่วงปลายๆ ปี
" ก่อนหน้านี้ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยมีความกังวลกับสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจง ก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะชี้แจงเป้าหมายนโยบายการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี จากนี้ไปผมคิดว่าน่าจะถือเป็นโอกาสเหมาะที่ธุรกิจญี่ปุ่นจะรักษากิจกรรมการทำธุรกิจ (ในไทย) เอาไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างน้อยต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญมาก ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในปัจจุบัน บริษัทญี่ปุ่นในไทยยังมีหน้าที่ต้องรายงานทำความเข้าใจต่อบริษัทแม่ในญี่ปุ่นไปด้วยว่าสถานการณ์ไม่ได้น่าวิตกจนเกินไป และยังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจก็คือ แนวนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทย ที่แม้จะเป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่ก็ได้สร้างความกระจ่างขึ้นแล้วว่าจะผลักดันเศรษฐกิจให้คืบหน้า ผมจึงคิดว่าจะลงทุนสร้างกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทยต่อไป"
ด้านนายมัตซึโมะโตะ เทสซึโอะ ประธานบริษัท เค แอนด์ ยู เอ็นเตอร์ไพรส์ ธุรกิจส่งออกอาหารทะเล กล่าวเพียงว่า ในฐานะนักธุรกิจญี่ปุ่น ยังมีความมั่นใจต่อการทำธุรกิจในไทย เพราะมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งและรู้สึกมาโดยตลอดว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจกับนักธุรกิจญี่ปุ่นเป็นลำดับแรกๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม
แต่สิ่งที่ยังเป็นความกังวลอยู่คือเรื่องปัญหาค่าเงินบาท ที่ตอนนี้รู้สึกว่าค่าเงินไทยแข็งค่ามากเกินไป ทำให้ธุรกิจส่งออกของญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยประสบปัญหา จึงอยากเห็นมาตรการของรัฐบาลไทยในการแก้ไขจุดนี้ และคิดว่าหากสามารถแก้ไขได้จะยิ่งทำให้มีธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน หรือขยายธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2229 24 มิ.ย. - 27 มิ.ย. 2550




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550    
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 12:14:08 น.
Counter : 469 Pageviews.  

เจรจาปลดล็อกค้าโลกของ G4 ล้มไม่เป็นท่า

ความพยายามปลดล็อกเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาของ G4 ล้มไม่เป็นท่า ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาโทษกันเองจากปัญหาเดิมๆที่สรุปไม่ลงตัวเรื่องการเก็บภาษีสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม "ปาสคาล ลามี" ยังมีความหวังรอโอกาสเจรจากลุ่มใหญ่ของสมาชิกดับบลิวทีโอ
กลุ่มผู้แทนด้านการค้าของประเทศยักษ์ใหญ่ 4 ประเทศ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) บราซิล และอินเดีย หรือเรียกว่า G4 ซึ่งมีบทบาทสำคัญบนเวทีเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เสร็จสิ้นการเจรจาต่อรองเพื่อหาทางผลักดันการเจรจารอบโดฮาให้เดินหน้าต่อไปที่จัดขึ้นที่เมืองพ็อตสดัมในเยอรมนีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงประสบความล้มเหลว แต่ละฝ่ายซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนากลับกล่าวโต้กันอย่างเผ็ดร้อนว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าด้วยสาเหตุเดิมๆ เรื่องการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าการเกษตรและอุตสาหกรรม
สหรัฐฯ และอียูโทษว่าอินเดีย และบราซิลไม่ให้ข้อเสนอใหม่ๆ ที่จะลดอุปสรรคต่อการเจรจาที่ลากยาวมานานเกือบ 6 ปี โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมให้กับชาติตะวันตก ขณะที่บราซิลและอินเดียก็โทษว่าความล้มเหลวในครั้งนี้เพราะสหรัฐฯ และอียูเสนอที่ปรับลดการให้การอุดหนุนภาคการเกษตรของตนเองแบบขอไปที
นายคามาล นาธ รัฐมนตรีการค้าของอินเดียกล่าวโทษว่าประเทศร่ำรวยหยิ่งผยองและไม่ยืดหยุ่น ปัญหาในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่การต่อรองด้านตัวเลขแต่อยู่ที่ทัศนคติ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ตระหนักว่าโลกในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้การเจรจาในครั้งนี้ไม่มีประโยชน์ และว่าข้อเสนอสหรัฐฯที่จะจำกัดเพดานอุดหนุนภาคเกษตรของตน ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยบิดเบือนการค้าให้เหลือเพียง 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากก่อนหน้านี้ที่มีมูลค่าถึง 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีก่อน แต่หากพิจารณาจากปีที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การอุดหนุนอยู่ที่ 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อเสนอการปรับลดในครั้งนี้จึงยังไม่เพียงพอ ทั้งไม่สมเหตุสมผลและไม่ยุติธรรม
เช่นเดียวกับนายเซลโซ อาโมริม รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิลที่ระบุว่าข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯ และอียูที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนาลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมมากถึง 58% เป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป
ส่วนนายไมค์ โจฮานน์ส รัฐมนตรีเกษตร และนางซูซาน ชว็อบ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้ยอมยื่นข้อเสนอปรับลดการอุดหนุนที่ถือว่ามากพอจนอาจสร้างรอยร้าวในเชิงการเมืองได้หากเริ่มใช้ แต่ทางบราซิลและอินเดียกลับไม่ได้ให้ข้อเสนอในการเข้าถึงตลาดสินค้าอุตสาหกรรมที่มากพอเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนกัน
นายปีเตอร์ แมนเดลสัน ผู้แทนการค้าอียูก็กล่าวในทำนองเดียวกันโดยโทษว่าบราซิลและอินเดียปฏิเสธที่จะให้ข้อเสนอในการเปิดตลาดอุตสาหกรรมที่สมน้ำสมเนื้อเพื่อแลกกับการเปิดตลาดเกษตรของตน แม้ว่าทางยุโรปเต็มใจที่จะขยายการต่อรองให้มากขึ้นอีก แต่หากคู่เจรจาปิดตายข้อเสนอดังกล่าว การเจรจาย่อมไม่สามารถเดินต่อไปได้
ถึงแม้แต่ละฝ่ายจะล้มเหลวในการหาจุดร่วมจนอาจถือเป็นการก้าวถอยหลัง แต่ทุกฝ่ายยังตั้งความหวังว่าโอกาสการค้ารอบโดฮาจะยังไม่ปิดตาย เช่นเดียวกับนายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการดับบลิวทีโอที่ระบุว่า แม้การหารือของ G4 จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยปูทางไปสู่การเปิดเสรีการค้าได้ แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็ไม่ได้จะมีบทบาทสำคัญจนขาดไม่ได้ อียู สหรัฐฯ บราซิล และอินเดียยังมีโอกาสพยายามหาข้อยุติกันได้ใหม่กับประเทศสมาชิกที่เหลือของดับบลิวทีโออยู่ดี
ในอีกด้านหนึ่งกลุ่มความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ชื่อเพื่อนของโลกออกมาแสดงความยินดีที่ผลการเจรจาครั้งนี้ล่มไป โดยนายโจ ซาคูน นักเคลื่อนไหวด้านการค้าระบุว่า ความล้มเหลวของการเจรจาการค้าแบบลับๆ เช่นนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะนำไปสู่การพัฒนาทางเลือกในการเจรจาการค้าลู่ทางใหม่ที่จะให้ประโยชน์กับทั้งประเทศกำลังพัฒนาและสิ่งแวดล้อมโดยรวม เนื่องจากทางกลุ่มเคลื่อนไหวมองว่าข้อเสนอที่สหรัฐฯ และอียูพยายามผลักดันนำเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจในประเทศตนเป็นตัวตั้งแทนที่จะนึกถึงความจำเป็นของประเทศที่ยากจนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2229 24 มิ.ย. - 27 มิ.ย. 2550




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550    
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 12:15:03 น.
Counter : 299 Pageviews.  

อเมริกันสะเทือน...เมื่อมังกรขยับ

ดูเหมือนว่าความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่จะสกัดกั้นดาวรุ่งอย่างจีนไม่ให้เข้าไปสร้างความโดดเด่น หรือมีอิทธิพลจากการเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอเมริกัน ที่เคยประสพความสำเร็จมาแล้วเมื่อครั้งที่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ สามารถล้มข้อเสนอซื้อกิจการ บริษัท ยูโนแคลของ บริษัทไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออย คอร์ปอเรชั่น(CNOOC) เมื่อปี 2548 โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ นั้น ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว
เห็นได้จากความล้มเหลวในการออกมาเคลื่อนไหวของนาย จิม เวบ สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตที่ส่งจดหมายถึงนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายไมเคิล เชอร์ทอฟฟ์ รัฐมนตรีความมั่นคงภายในประเทศ และนาย คริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ(เอสอีซี)
ให้ยับยั้งแผนกระจายหุ้นขายให้นักลงทุนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) ของ แบล็คสโตน จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท)เมื่อศุกร์ที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อสกัดกั้นจีนที่ตกลงซื้อหุ้นดังกล่าวจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 1 แสนล้านบาท)
แม้วุฒิสมาชิก จิม เวบ จะอ้างว่าการลงทุนของจีนในแบล็คสโตน จเป็นการเปิดโอกาสให้จีนเข้ามามีอิทธิพลและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากแบล็คสโตนเป็นไพรเวท อิควิตี้รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และถือหุ้นในบริษัทจำนวนมาก มีมูลค่ารวมกันกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมถึงหุ้นในบริษัทจัดหาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกองทัพสหรัฐฯ และเทคโนโลยีดาวเทียม
และในอนาคตอันใกล้นี้ยังเชื่อกันอีกว่า การลงทุนของจีนจะไหลเข้าไปยังสหรัฐฯเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากที่ จัดตั้ง บริษัท ลงทุนแห่งชาติ จำกัด (The State Investment Company: SIC)โดยรัฐบาลจีนวางแผนจัดสรรทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วน (ประมาณ 8.3 ล้านล้านบาท) จากจำนวนทุนสำรองที่มีอยู่ทั้งหมดโดยตัวเลขเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ ประมาณ 42 ล้านล้านบาท ไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศที่ให้กำไรสูง
โดยกระบวนการถึงขณะนี้ ทางการจีน เตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินไปซื้อเงินตราต่างประเทศจากธนาคารกลางแห่งชาติจีนที่ถืออยู่ ซึ่งจะเสนอขออนุมัติจากสภาประชาชนแห่งชาติที่จะเปิดประชุมกันระหว่าง 24-29 มิถุนาย 2550 นี้ หนึ่งในโครงการลงทุนของเอสไอซี คือ แบล็คสโตน จากการซื้อหุ้นไอพีโอมูลค่า 1 แสนล้านบาทหรือประมาณ 9.7% ซึ่งการลงทุนครั้งนี้หลายคนมองว่าจะเป็นแนวทางให้เอสไอซี ได้เรียนรู้การเทคโอเวอร์กิจการ ที่จะนำไปใช้ในอนาคต
และเมื่อเร็วๆนี้ยังมีกระแสข่าวว่า บริษัทที่เป็นเป้าหมายต่อไปของเอสไอซีคือ บีเอชพี บิลลิตัน ผู้ผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ถ่านหิน อลูมิเนียม เพชร ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนมีความต้องการสำหรับรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังบูม
ต่อจากนี้ไปคงต้องติดตามดูการเคลื่อนไหวของเอสไอซีอย่างใกล้ชิดเพราะบริษัทในไทยมีสิทธ์ถูกซื้อได้เหมือนๆกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2229 24 มิ.ย. - 27 มิ.ย. 2550




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550    
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 12:03:57 น.
Counter : 356 Pageviews.  

จีนเลิกอุดหนุนสินค้าส่งออก

นางหวู เซี่ยวหลิง รองผู้ว่าการธนาคารประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวตอบโต้นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ที่วิจารณ์ค่าเงินหยวนว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นางหวูกล่าวว่าการเปิดเสรีการเงินของจีนต้องสอดคล้องกับระบบการเงินในประเทศมิเช่นนั้นจะทำให้เสถียรภาพการเงินสูญเสียไป และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังออกมาตรการด้านการเงินและภาษีเพื่อลดปริมาณการส่งออก และ เพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ เมื่อเร็วๆนี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจีนประกาศการยกเลิกหรือ ลดการให้เงินอุดหนุนสินค้าส่งออกถึง2,831 รายการ หรือ 37 % ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของจีนมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณการขยายตัวของสินค้าส่งออก ขณะที่ธนาคารประชาชนเปิดให้กองทุนในประเทศเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฏาคม เพื่อลดปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2229 24 มิ.ย. - 27 มิ.ย. 2550




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550    
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 11:57:03 น.
Counter : 283 Pageviews.  

มะกันไฟเขียวนำเข้าผลไม้สดจากไทย 6 ชนิดเป็นปีแรก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯอนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดจากไทย จำนวน 6 รายการ อาทิ ลิ้นจี่ ลำไย มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.นี้ ถือเป็นปีแรกที่ได้รับอนุมัติ และเป็นประเทศแรกที่ได้รับอนุญาตนำเข้ากลุ่มผลไม้สดนอกภูมิภาคอเมริกา ขณะที่โฆษกกระทรวงพาณิชย์ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการขยายตลาดผลไม้ไทย คาดมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยปีนี้จะเพิ่มอีกปีละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทย จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มังคุด สับปะรด และเงาะ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ากลุ่มผลไม้สดเหล่านี้นอกภูมิภาคอเมริกา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการขยายตลาดผลไม้สดของไทย และคาดว่า การส่งออกผลไม้สดไปสหรัฐฯจะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกผลไม้ไทยอีกปีละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600 ล้านบาท

“แม้ในทางปฏิบัติอาจจะมีขั้นตอนยุ่งยากอยู่บ้าง และค่าใช้จ่ายการดำเนินการสูง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังหารือกับสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ถึงแนวทางการปฏิบัติและทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีการส่งออกสินค้าผลไม้ไปสหรัฐฯได้จริง เพราะการส่งออกไปสหรัฐฯต้องมีการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบด้านความปลอดภัยของโรคพืช แต่เป็นตลาดบริโภคสูงถึงปีละ 100,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตในประเทศมีเพียง 10,000 ตัน ซึ่งประเทศคู่แข่งอื่น เช่น จีน เวียดนาม ก็สนใจเข้าชิงตลาดสหรัฐฯเช่นกัน” นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ ปี 2549 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ จำนวน 19,454 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ไม่มีผลไม้เลย ซึ่งไทยได้เปิดเจรจามาตั้งแต่ปี 2546 และตั้งเป้าการส่งออกไปสหรัฐฯปีนี้ไว้ที่ 20,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 5 เดือนแรก มีการส่งออกแล้ว 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่าการส่งออกผลไม้ไปทั่วโลกของไทย ในปี 2549 มีจำนวน 1,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2550 มีเป้าหมายมูลค่าส่งออกผลไม้ 2,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 5 เดือนแรก ไทยส่งออกผัก-ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง รวม 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 มิถุนายน 2550




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2550    
Last Update : 27 มิถุนายน 2550 11:52:49 น.
Counter : 333 Pageviews.  

1  2  
 
 

joezx
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กลุ่ม 6 ประเทศ สิงคโปร์
[Add joezx's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com