space
space
space
<<
เมษายน 2564
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
space
space
5 เมษายน 2564
space
space
space

Epson R3000 insurrection and resurrection

ช่วงปลายปี 2563 น้อง Epson R3000 อายุ 7 ขวบ (ซื้อจากเมการาคา $779 วันที่ Dec 16, 2013 เจอค่าส่งมาเมืองไทย THB 11,270 รวมราคาเป็นเงินไทยประมาณ 34,640 บาท) มีอาการงอแงอย่างมาก เร่ิมจาก หมึกสีฟ้าและสีชมพูชอบมีปัญหา เนื่องจากเราใช้ปริ๊นเตอร์ไม่บ่อย ก่อนจะสั่งงานพิมพ์ก็จะเช็ค nozzle ก่อน พอเช็ค nozzles ก็จะพบว่าสีฟ้าไม่ออก (ไม่ออกเลย สักขีด) ก็ทำการล้าง ก็จะสวยออกครบ พอไม่ได้พิมพ์สัก 2-3 วันก็จะเป็นอีก คือเช็ค nozzles ก็จะพบว่าไม่ออก เมื่อล้างก็จะหาย แล้วก็เป็นอีกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตอนแรกก็เป็นเฉพาะสีฟ้า ตอนหลังสีชมพูก็เอาด้วย ก็เลยเป็นความน่าเบื่อ ที่จะต้องพยายามมาหางานพิมพ์ทุก 2-3 วัน พอไม่มีงานจะพิมพ์ก็ต้องเช็ค nozzles ตอนหลังพบว่า ไม่เกี่ยวกับพิมพ์งานหรือไม่พิมพ์ คือเรียกได้ว่า ทุก 2-3 วัน หมึกชมพู และหมึกฟ้าจะมีอาการเช็ค nozzles แล้วออกไม่ครบ หายไปเลยหรือออกน้อยมาก  และอาการเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ คือ เคยล้างทีเดียวออก หลัง ๆ ต้องล้างหลาย ๆ ทีถึงจะออก

ตอนแรกเราก็ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร คิดว่าหัวพิมพ์ไม่น่าจะตัน เพราะเค้าเป็นเฉพาะสีฟ้ากะสีชมพู ถ้าหัวพิมพ์ตันจริง เค้าไม่ควรจะหายไปทั้งแถบ คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องระบบ CIS มากกว่า ตอนนั้นก็มีการทำสารพัด เป็นต้นว่า ลองเปลี่ยนไปใช้ตลับเติมหมึก ยกระดับ reservoir tank ขึ้น  กระทั่งมีการอัดแรงดันเข้าไปในขวด reservoir ของระบบ CIS (Continuous Ink System) โดยเอา syringe 20 mL อัดอากาศเข้าไป 1-2 บ้อง (-อันนี้จะบอกว่าไม่ดี อย่าทำนะคับ) มันก็เหมือนอาการจะดีขึ้นอยู่พักนึงแล้วก็ไม่หายขาด มาอีก น่าเบื่อมาก เรียกว่าชวนให้โยนทิ้งจริง ๆ 

จำคำพูดคุณมานพที่พูดว่า "ถ้าเสียอีก ไม่ต้องยกมาให้ซ่อมแล้วนะ ซื้อเครื่องใหม่ได้แล้ว"

หลังจากหงุดหงิดกับอาการดังกล่าวอยู่ได้เกือบเดือน เราก็เริ่มมาสังเกตเห็นว่าในขวดหมึกของทั้งสีชมพูและสีฟ้านั้นมีตะกอนหมึกอยู่ ใช่แล้ว คิดว่าต้องเป็นเพราะเหตุนี้นี่เอง ก็เลยทำการสูบหมึกออกจากกล่อง reservoir แล้วก็ทำการล้างกล่อง reservoir จนใส ตรงแท๊งค์ reservoir เค้าจะมีเหมือนกับตาข่ายกรองหมึกตรงช่องทางออกไปต่อกับท่อหมึก ตรงส่วนนี้ที่มีตะกอนอุดตัน หลังจากล้างแท๊งค์จนใสสะอาด ปราศจากตะกอนแล้ว ก็เติมหมึกใหม่ลงไป ก็พบว่ายังส่งหมึกจากแท๊งค์ไม่ได้อยู่ดี เนื่องจากเราพยายามเอา syringe ดูดผ่านสาย โดยปลดสายตรงที่ต่อเข้ากับตลับหมึกเพื่อดูด พบว่าดูดไม่มา ขนาด syringe ยังดูดไม่มา แล้วตลับหมึกโดยเครื่องปริ๊นเตอร์สูบมาจะมีแรงได้ยังไง  ปรากฎว่าตรงข้อต่อ 90 องศาที่หักศอกตรงสายนำหมึกมาจากขวด reservoir มาสู่ตลับหมึกมันตันตรงนั้นด้วยตะกอน ก็ตามไปล้างตรงนั้นอีก ทั้งสีชมพู และสีฟ้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าหมึกที่มีตะกอนได้แก่ สีฟ้า (cyan) สีชมพู (magenta) และก็ photo black (PB) เนื่องจาก PB เรามีการสลับไปมากับ matte black (MB) อาการเลยไม่เด่นเท่า magenta และ cyan  เท่าที่สังเกต MB ไม่เคยมีตะกอน แต่ PB มี เราก็เลยตามไปล้าง reservoir ของ PB ด้วย ทำแบบเดียวกัน สูบหมึกออกจาก reservoir กลั้วน้ำล้าง เช็ดแห้ง และก็ล้างข้อต่อ 90 องศาที่จุกตลับหมึกอยู่ด้วย  คิดว่าน่าจะจบ

ก็เลยขอสรุปว่าสงสัยตัวเองใช้หมึกเก่า เลยอายุขัยที่กำหนดบนตลับ ถึงจะเป็นหมึกแท้ Epson แต่หมึก pigment ก็ยังคงเป็น pigment มีการตกตะกอนนอนก้น บังเอิญว่าพวกสี yellow, vivid light magenta, light cyan, light black, light light black และ  matte black เค้าเป็นเด็กดี อาจจะมีความเจือจางพอควร หรือ stability ดีกว่า ก็เลยทำให้ไม่เห็นมีตะกอนหรือมีปัญหาอุดตัน แต่หมึกตัวแสบได้แก่ cyan, magenta และ photo black สามสีนี้ต้องคอยระวัง

ก็นึกว่าจะจบข่าว สรุปได้ด้วยดี ปรากฎว่าก็ยังมีอาการอยู่ ถึงจะดีขึ้น แต่ก็ถ้าไม่ได้พิมพ์ 2-3 วัน nozzle check ไม่ครบอีกแระ ต้องล้างเป็นระยะ ๆ เรียกว่า อาการกลับไปเหมือนตอนเริ่มต้น ไม่ต้องล้างหลาย ๆ ที แต่ก็ยังต้องล้างอยู่

ทีนี้ก็เลยเกิด idea บรรเจิด สงสัยว่าตะกอนมันจะเข้าไปอุดอยู่ในระบบของเครื่อง ไม่ได้อยู่เฉพาะตรง reservoir (ซึ่งทำความสะอาดหมดแล้ว เรียกว่าต้นทาง เคลียร์ให้หมดแล้ว) หลังจากอ่าน ๆ ค้น ๆ ดูบนเว็บก็พบว่ามีพรรคพวกเอาเครื่อง R3000 ไปดัดแปลงพิมพ์หมึกยูวี DTG (Direct to Garment) printing เยอะแยะ  พวกนี้เค้าแนะนำว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่ส่วนที่เรียกว่า damper ทุก ๆ 1-2 ปี เราก็เลยไปลองหาซื้อมาเปลี่ยน ก็เจอขายแบบทั้งชุด (SKU: EP-3880-DPA) Epson R3000 Damper ASSY ที่ https://www.sdott-parts.com ราคา $119.62 + ค่า rubber seal $5 + ค่าส่งอีก $27 กลายเป็นรวม $151.62 โดนตัดบัตรเครดิตเป็นเงินไทยเป็น THB 4,741.76 และดูเหมือนจะโดนลุงตู่รีดภาษีนำเข้าอีก จำไม่ได้ละ เอาเป็นว่าประมาณ 5000 กว่าบาท

เยอะมั้ยก็เยอะอยู่ แต่ตอนนั้นคิดว่าเอาเถอะ ถ้าเปลี่ยนแล้วมันหายก็คุ้ม จริง ๆ แล้วตัว damper เดี่ยว ๆ จริง ๆ มีขายบน aliexpress เยอะ เลยถูกกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งยูนิตก็ได้ เพราะทั้งยูนิตมันติดมาทุกอัน มีมอเตอร์ มีแผงวงจร นู่นนี่ แต่ถ้าเปลี่ยนทั้งยูนิต จริง ๆ อาจจะง่ายกว่า เพราะตอนหลังเราเอายูนิตเก่าออกมาแกะล้างน้ำยาดู มันแกะไม่ง่ายเท่าไหร่โดยเฉพาะสีชมพูและสีดำ (2 ใน 3 สีที่มีปัญหา)

เปลี่ยนยากมั้ยอะ สำหรับคนที่ไม่เคยแกะปริ๊นเตอร์แบบล้างผลาญ (เรานี่แหละไม่เคยแกะซะขนาดนี้) มันก็ยากอยู่ แต่เนื่องจากตอนนั้นมันอยู่ในอารมณ์ที่ต้องเลือกว่าจะโยนทิ้งมั้ย มันก็เลยออกมาในรูปแบบการลุยแหลก ดู video บนยูทูปสักสองสามรอบ แล้วก็เอาเลย จะว่าไปก็ไม่ยากมากมาย ส่วน damper ยูนิตเนี้ยมันอยู่บนหัวพิมพ์เลย เรียกว่าเป็นด่านสุดท้ายมัง ก่อนถึงหัวพิมพ์ ไขสกรูอยู่ไม่กี่ตัว และเนื่องจากเปลี่ยนทั้งยูนิต มันก็ง่ายกว่าแงะเปลี่ยนตัว damper ของแต่ละสี เราก็สามารถทำสำเร็จได้ภายใน 2-3 ชม. ได้โอกาสไปนั่งทำความสะอาดสีชมพู (ที่เกิดจากการรั่วคราวก่อน) ที่มันหกเลอะเทอะอยู่ข้างในทั้งส่วนที่อยู่ใต้ต่อช่องวางตลับหมึกและตรงส่วนหัวพิมพ์ เสียเวลานั่งเช็ดหมึกชมพูเก่าออก ใช้เวลาเช็ดทำความสะอาดนานกว่าเวลาเปลี่ยน damper assembly unit ทั้งอัน

ปรากฎว่าอาการก็ยังไม่หายขาด ทีนี้ก็สรุปว่าเราได้ทำความสะอาด ล้างส่วนต้นทาง ได้แก่กล่องหมึก reservoir สายนำหมึกมาที่ตลับ ข้อต่อมุมฉาก และตลับหมึกแล้ว   และก็ได้กำจัดชะล้างส่วนปลายทาง ได้แก่ส่วน damper และหัวพิมพ์ เนื่องจากหัวพิมพ์เราไม่ตันแน่นอนเพราะเวลา clean ดี ๆ เค้าก็พิมพ์  nozzle ได้ perfect และส่วน damper ก็เป็นอะไหล่ใหม่ ซิงๆ (จะบอกว่า damper เก่าที่แกะออกมาล้างก็เป็นไปตามคาด คือเห็นตะกอนหมึกเฉพาะสีฟ้า สีชมพู และก็ photo black ของคนอื่นเค้าไม่มีตะกอน)  ดังนั้น อาการที่ยังเหลืออยู่ก็คือเฉพาะส่วน tubing และระบบนำหมึกจากตลับหมึกไปยัง damper นั่นแหละ

ก็เลยอยากจะ flush ล้างส่วนที่อยู่ตรงกลาง ได้แก่ส่วนที่ไกลกว่าตรงตลับหมึกออกไป ได้แก่ระบบส่งหมึกทั้งหมดจากตรงที่ตลับหมึกเสียบอยู่ จนไปถึงที่ damper

ที่เคยทำมา ก็คือเอาน้ำอุ่นมั่ง windex มั่ง  alcohol มั่ง มาดัน syringe ล้าง (จะขอบอกสั้น ๆ ก่อนว่าไม่แนะนำให้ทำเลย อ่านดูได้ว่าเกิดอะไรขึ้น)

คือเมื่อครั้งสุดท้ายที่ยกไปให้คุณมานพซ่อม (July 14, 2018) ถ้าจำไม่ผิดก็คือการทำเยี่ยงนี้เลย คือการเอา syringe ต่อสาย ดูดน้ำอุ่น/windex/alcohol ไปดันโดยตรงที่ก้านเสียบตลับหมึก แล้วตอนนู้น ก็คือหมึกชมพูเกิดอาการทะลุ ปุ๊ แล้วเราก็เห็นหมึกชมพูนองอยู่ข้างล่างเต็มไปหมด ท่วมด้านในเลย ตอนนั้นรู้เลยว่าทำเจ๊งซะแล้ว ก็เลยยกไปให้เค้าซ่อม เสียค่าซ่อมไป 5,350 บาท เป็นค่าอะไหล่ชิ้นเนี้ยแหละ ink supply unit รออะไหล่อยู่ 3 เดือน พอซ่อมเสร็จคุณมานพก็บอกว่าถ้าเจ๊งอีกไม่ต้องซ่อมแล้วนะ

รอบนี้ เค้าเรียกว่าไม่รู้จักเข็ดหลาบ  รอบนี้เป็นกับสีฟ้า เราดันสีชมพูก่อน จากฝืด ๆ ก็ไหลลื่นโอเค คือ เวลาดันตอนแรก ๆ จะรู้สึกถึงความฝืด ก็คือตรงส่วนที่มันอุดตันนั่นแหละ แต่พอเค้าหลุดไปหมด มันก็จะหายฝืด ลื่นขึ้น แต่เป็นลักษณะลื่นขึ้นแต่ยังมีแรงต้านทานอยู่ ไม่ใช่ดัน ๆ ฝืดอยู่แล้วลื่นปุ๊ เพราะถ้าลื่นปุ๊ คือมันรั่ว นั่นแหละ สิ่งนั้นคือส่งที่เกิดขึ้นกับสีฟ้า สงสัยจะดันกันมันส์ไปหน่อยได้ใจ ตอนดันสีชมพู พอดันสีฟ้า ก็เลยออกแรงช้างน้ำ จากฝืดมาก ๆ กลายเป็นลื่นเผละ คราวนี้เรารู้เลยว่าทำอะไรแตกหรือรั่วอยู่ข้างล่าง หลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ 1) ลื่นเกินเหตุเวลาดัน ลื่นแบบไม่มีแรงต้านทาน  2) น้ำหมึกนองอยู่ด้านล่าง (ต้องสังเกต)  3) ไม่มีน้ำหมึกไปโผล่ออกตรงหัวพิมพ์  (ปกติเวลาจะดันหมึกต้องหาอะไรไปรองใต้หัวพิมพ์นะคับ แล้วถ้าน้ำยาที่เราดันไปถึงปลายทาง มันก็จะไปนองอยู่ใต้หัวพิมพ์ ไม่ใช่นองอยู่กลางทาง)  

สรุปว่า ทำเจ๊งคามืออีกแระ รอบนี้ ก็ยังอุตส่าห์รวบรวมความกล้า โทรหาคุณมานพช่างซ่อมปริ๊นเตอร์อยู่ดี คุณมานพน่ะจำเสียงเราได้ (ก่อนหน้านี้เคยยกไปให้ซ่อมหลายที) และก็จำได้ด้วยว่าไม่ต้องเอามาซ่อมแล้วนะ จัดแจงแนะนำรุ่นใหม่ให้เราเรียบร้อย แต่เรายังไม่ตัดใจ หลังจากวางหูคุณมานพ เราก็เลยรวบรวมความกล้าบ้าบิ่น แกะรื้อมันตรงที่มันรั่วนั่นแหละ

ตำแหน่งที่รั่ว มันเป็นระบบที่วางอยู่ใต้ตลับหมึก ลักษณะเป็นตลับแบน ๆ ใน 1 ตลับจะมีทางวิ่งหมึกทั้งหมด 3 สี  เราไม่แน่ใจว่าเค้ามีหน้าที่อะไร รู้แต่ว่าดูเหมือนจะเป็น buffer system แต่ละทางวิ่งหมึกเค้าจะมี diaphragm valve, one-way valve สปริง และก็ช่องทางสูบหมึกทิ้งด้วย สีใครสีมัน เราพบตรงตำแหน่งที่รั่วคือพลาสติกใสวงกลมที่แปะอยู่มัน leak เข้าใจว่า leak จากแรงดันน้ำอุ่นที่เราดันเข้าไปด้วยแรงช้างน้ำ (ต้องดูรูปด้านล่างฮะ)  เราพยายามปะกาว ปะสารพัดกาว หาวิธีดัดแปลง ยังไง ๆ ก็ไม่เวิ๊ค  ซีลเดิมเค้าเป็น factory seal ด้วยความร้อน กาวอะไรไปปะก็เอาไม่อยู่นอกจากกาวยูวี (ไม่มีฮับ ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม) สุดท้าย แฮะ ๆ จะโยนทิ้งดีไหมอ่า

ตอนนี้ใช้เวลาตัดสินใจนานเป็นเดือน ระหว่าง 1) โยนทิ้งแล้วไม่ต้องซื้อใหม่อีก  2) โยนทิ้งแล้วซื้อใหม่ทดแทน  3) ซ่อมต่อไปจนกว่าจะหาไม่  ขอพรรณนาไปทีละทางเลือกเลยนะฮับ

1) โยนทิ้งไปแล้วไม่ต้องซื้อใหม่ ข้อเสียก็คือ น้อง R3000 ก้อจะกลายเป็นขยะ e-waste ก่อนเราจะทำหมึกฟ้ารั่วคามือ หมึกอื่นเค้ากลับมาแล้ว ชมพูก็มาแล้ว ดำ PB ก็มาแล้ว สมบูรณ์แบบทุกอย่าง ขาดแค่สีฟ้าสีเดียว แหมมันน่า... อีกนิดเดียวก็ซ่อมได้  คือจะทิ้งก็เสียดายของ เก็บไว้ทำอะไร เอิ่ม เนื่องจากถึงตอนนี้ (ปาเข้าไปเดือนม.ค.แล้วฮับ) เราได้ Epson L15160 มาแล้ว เค้าพิมพ์ A3 ได้ พิมพ์งานสีได้ดี (ดีกว่า R3000) ด้วยซ้ำ ขนาดใช้หมึกแค่ 4 สีและไม่ใช่ photo printer   จะว่าไปก็มีอยู่แค่ 3 อย่างที่ R3000 ทำได้แต่ L15160 ทำไม่ได้ ได้แก่ การพิมพ์กระดาษหนา canvas   การพิมพ์ตรงบนแผ่น CD/DVD  และการพิมพ์ภาพ panorama บนกระดาษม้วน  ในบรรดา 3 รายการนี้ 2 รายการแรกเราแทบไม่เคยทำ กล่าวคือ ไม่เคยพิมพ์บนกระดาษหนาหรือ canvas printing   ส่วนการพิมพ์บนแผ่น CD/DVD นั้นเคยทำในอดีต ปัจจุบันแทบไม่เคยปริ๊นท์เลย จำไม่ได้แล้วด้วยว่าทำยังไง แต่ภาพ panorama เนี่ยสิ มันก็ยังอยากพิมพ์อยู่นะ ยังมีกระดาษม้วนอยู่ที่บ้านที่ซื้อตุนไว้ตั้งแต่ตอนอยู่เมกาตั้งหลายม้วน สรุปว่าก็ยังอยากได้ R3000 อยู่ถ้ามันเวิ๊ค

2) โยนทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ อันนี้เนี่ยเป็น dilemma มาก เพราะอีตาคุณมานพแนะนำให้ทำอย่างนั้น ประเด็นก็คือ R3000 ของเรามันตกรุ่นไปชาตินึงแล้ว เทคโนโลยีก็ล้าสมัย งานพิมพ์ตอนนี้ยังสู้ L15160 ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ขนาดมีตั้งหลายสี แถมตั้งแต่ไปซ่อมคุณมานพมาครั้งที่แล้ว หัวพิมพ์เหมือนจะออกอาการเสื่อม คือมีความไม่คมชัดอยู่โดยเฉพาะเวลาพิมพ์สีชมพู แต่หลังจากช็อปดูตัวทดแทนแล้วไม่ค่อยน่าพิสมัย  เราเคยลั่นปฏิญานแล้วว่าจะไม่ซื้อปริ๊นเตอร์ที่ใช้ตลับหมึกอีก เพราะเป็น single used plastic ไม่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ A3 size ink-tank photo printer ก็คือ L1800 ออกแบบมาให้ใช้กับ dye ink ซึ่งเราก็คงจะไม่ใส่ dye ink ก็คงเท Epson genuine ultrachrome HDR pigment inks ลงไปแล้วก็ต้องมานั่งทำ profile ต่างหากอีก รู้ว่าทำ profile ยังไง ๆ ก็อาจจะได้คุณภาพงานพิมพ์สู้ driver profile ของ original Epson printer ไม่ได้  ส่วนปริ๊นเตอร์ที่เป็นตัวอัพเกรดของ R3000 ณ ปัจจุบันคือ Epson SC-703 และ SC-P903 (หน้ากว้าง 13 นิ้ว และ 17 นิ้ว) ซึ่งพัฒนาดีขึ้นในแง่ของหมึกดำไม่ต้องสลับไปมาระหว่าง PB กับ MB และมีเพิ่มสีม่วงขึ้นมา (เรียก Ultrachrome Pro10) เคลมว่าปริ๊นท์ได้สีดำลึกขึ้น gamut กว้างขึ้น แต่เจ้ากรรม เจือกมาลดปริมาตรน้ำหมึกต่อตลับลงอีก สมัยเป็น SC-P807  (รุ่นก่อนหน้านี้)เคยตลับหมึกละ 80 มล. ตอนนี้เหลือ 50 มล.ราคาตลับหมึกไม่ได้ถูกลงซะเท่าไหร่  สรุปว่าก็ซื้อไม่ลงอยู่ดี ค่าหมึกแพงเกินเหตุ ค่าเครื่องตั้งต้นก็ไม่ได้ถูกเท่าไหร่ แถมยังจะตามมาด้วยขยะพลทสติกอีกเพียบ

3) ซ่อมต่อไปจนกว่าจะหาใหม่ ข้อดีของการซ่อมคือเราลดปริมาณ e-waste ก็คือไม่ต้องทิ้งเครื่องเก่า แต่เราต้องเสียเงินซื้ออะไหล่ ซึ่งในรอบนี้ เราก็ได้จ่ายค่าอะไหล่ไปแล้วสำหรับ damper assembly 5000 กว่าบาท  ส่วนไอ้เจ้าตัวแบน ๆ ด้านล่างตลับที่มันรั่ว เราไปหาซื้อดูแล้ว เค้าไม่มีขายเฉพาะส่วน buffer ที่รั่วนั้น ทางเลือกคือต้อง ซื้อ SKU:EP-R3000-501 หรือ Epson R3000 Ink Supply Unit -1539519, 1604456 ทั้งก้อน (ดูรูปด้านล่าง) คือมีกล่องสำหรับใส่ตลับหมึก สายซิลิโคน ที่เจ็บปวดคือไอ้ส่วน damper assy unit ที่เราเคยซื้อไปแล้ว 5 พันกว่าบาทนั้น มันก็รวมอยู่ในนี้ด้วย (แสบไหมล่ะ) อะไหล่ก้อนใหม่นี้ (ink supply unit) ขายที่ sdott-parts.com ราคา $243.50 ตอนแรกก็เกือบจะคลิ๊กซื้อไปแระ หลังจากทำใจอยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ ปรากฎพอจะเอาเข้าจริง ๆ เจอค่าส่ง FEDEX/DHL/UPS อีก $50 รวมเข้าไปเป็น $293.50 แล้วพอมาถึงเมืองไทยก็จะต้องเจอลุงตู่ขูดภาษีนำเข้าอีก ก็คงปาเข้าไปหมื่นกว่าบาท  เลยทำให้ชะงัก  ทางเลือกคือไปหาซื้ออะไหล่เก่า ๆ บนอีเบย์ ซึ่งเราก็ไปเจอคนจีนเค้าแงะก้อนเนี้ยออกมาขายอยู่ราคา $120 เป็น used part ต้องเอามาล้างอีก และก็ต้องทำใจว่ามันไม่รั่วเหมือนของเรานะ หรือถ้ารั่วอันนึง (อันนึงมี 3 สี) อีก 2อันหวังว่าจะไม่รั่ว (แต่ก็ต้องมานั่งล้างสีเก่าออก) ซึ่งจากประสบการณ์การล้างของเรา ล้างยังไงๆ ก็ออกไม่หมด มันยังมีสีเก่าตกค้างอยู่  แต่ในเมื่อมันถูกกว่าตั้งครึ่งนึง ก็เลยตัดสินใจคลิ๊กซื้ออะไหล่เก่าจากอีเบย์ไป ยอมรอ รอไปเดือนเศษ ๆ ก็ยังไม่มา (ตั้งแต่ปลายม.ค. 64 รอจนถึงมีนาคมเลย) สรุปว่าอีตาคนขายมันบอกว่าสินค้าโดนตีคืน (แล้วก็เจือกไม่บอกตรู) แต่เราคิดว่าเค้าไม่ได้ส่งของออกมาตั้งแต่แรก ถึงตอนนี้เราถึงกับอึ้งเลย  R3000 ก็ถูกเปิดแงะรอเท้งเต้งอยู่อย่างนั้น เปิดรอไว้จนกลัวว่าตอนใส่กลับเข้าไปคงจะจำไม่ได้แล้วว่าประกอบเข้าไปยังไง  ระหว่างนี้ก็ไปเจอคนขายซาก printer R3000 เก่าที่ฝาหน้าหลุด แต่ยืนยันว่าเปิดติด ไม่รับประกันว่าพิมพ์ได้ ราคาประมาณ $300 ซึ่งถือว่าถูกมากสำหรับซากปริ๊นเตอร์ทั้งเครื่องจะเวิ้คหรือไม่เวิ้คก้อตาม คิดว่าเป็นแหล่งอะไหล่สำรองให้เราได้ และค่าส่งก็ไม่แพงมาก (ประมาณ $30)  ตอนแรกก็เกือบจะจัดไปแระ (ต้องมาแงะออกมา ล้างหมึก... etc แค่นึกก็เซ็งแระ)  คิดไม่ตก จะคลิ๊กซื้อก็เซ็งว่าแล้วซากปริ๊นเตอร์ที่เราแงะเอาชิ้น buffer ออกมาใช้การไม่ได้จะไปเก็บไว้ไหน ก็เท่ากับได้ e-waste มาอีกก้อนนึงอยู่ดี ท้ายที่สุด เราลองคีย์ตัวเลขรหัสอะไหล่ 1539519, 1604456 เข้าไปในอากู๋ ไปโผล่เจอเว็บไซต์ printerspareparts.co.uk มีลิสต์ขายอะไหล่ชิ้นนี้อยู่ ไม่มีรูปให้ดู แต่คิดว่าตัวเลขไม่ผิด เค้าเขียนว่า Ink Suppy Unit FITS: Epson Stylus Photo R3000 และก็มีของในสต็อค ที่สำคัญคือเค้าชิ๊ปมาเมืองไทยด้วยในราคา ค่าของ GBP 99 + ค่าส่ง 30.49 รวมเป็น GBP 129.49 ถูกตัดบัตรเครดิตเป็น THB 5,732.63  และก็โดนลุงตู่ขูดภาษีอีกรอบ จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ เอาเป็นว่าประมาณไม่เกิน 7000 บาท และที่แสบที่สุด ย้ำอีกรอบ ก็คืออะไหล่ก้อนนี้มันมี damper assembly unit ที่เราเปลี่ยนไปแล้ว ติดมาด้วยสิฮะ (ไม่น่าเสียค่าโง่เปลี่ยนตอนแรกเลย)

ก็ได้อะไหล่มาประมาณกลางเดือน มีนาคม เราก็แงะเอาแผ่น buffer ชิ้นกลางออกมา prime ด้วยหมึกของแต่ละสี แต่ละช่อง (สีชมพู สีฟ้า สี light black) เค้าใช้ไปช่องละประมาณ 3 CC  และก็พยายามประกอบกลับไปซึ่งก็ลืมไปแล้วจริง ๆ ว่าประกอบยังไง ต้องมานั่งเปิดยูทูปดูกันอีกรอบ แต่สุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้ เหงื่อตกมากตอนประกอบคืน ลืมว่าสกรูไหนลงรูไหน

ในที่สุด ก็ออกทุกสี ยกเว้นสีฟ้า แฮ่ ๆ ยังดื้ออยู่อะ  แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ปัญหาของ buffer unit ใต้ตลับหมึกแล้ว เพราะอันนี้อะไหล่ใหม่ซิง ๆ ไม่มีรั่ว และต้องเวิ้คแน่นอนเพราะเป็นอะไหล่ใหม่

เราก็นั่งทำใจเย็น ลองล้างหัวพิมพ์ พักคืนนึง มาลองปริ๊นท์ใหม่ ล้างหัวพิมพ์ พักอีกคืน ลองปริ๊นท์แถบหมึกฟ้าดู ลองสารพัด ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์ nozzle check สีฟ้าก็ยังออกไม่ครบ (แทบไม่ออกเลย) สีอื่น ออกดีหมด

แสดงว่ามันก็ต้องเป็นส่วนกลางทางนั่นแหละ เพราะรอบที่แล้วมันไม่ทันถูก flush ล้าง เพราะมันดันรั่วแตกด้านใต้ตลับหมึก่อน รอบนี้ก็เลย รวบรวมความกล้าครั้งที่สาม ทำ flush maneuever ซ้ำแบบเดิม (ไอ้ที่เคยทำแล้วปริ๊นเตอร์เจ๊งน่ะ) เกิดอาการ dejavu ขึ้นมาทีเดียว แต่ตอนนี้เราฉลาดขึ้นมานิดนึง รู้แล้วว่าไม่ควรใช้ น้ำอุ่น ไม่เอา windex และไม่ใช้ alcohol  ที่สำคัญก็คือ อย่าดันด้วยแรงดันสูงเกินไป  ระหว่างที่กลุ้มใจเรื่อง R3000 เจ๊ง เราก็ไปเจอว่าบน shopee/lazada มีผู้ขายน้ำยาล้างหัวพิมพ์ inkjet เต็มไปหมด  แรก ๆ ก็ไม่เชื่ออะนะ แต่เห็นราคาขวดเล็กถูกดี ก็ลองซื้อมา ปรากฎว่าน้ำยาเค้าดีจิงอะ เวิ้คจ้า มันเป็นน้ำยาใส ๆ มีกลิ่นหอม ๆ คล้าย ๆ กลิ่นดอกไม้ มีคุณสมบัติในการละลายหมึก เป็นต้นว่ารอยหมึกที่ stain อยู่บนโต๊ะ บนชิ้นส่วนต่าง ๆ ถ้าชุบผ้าก๊อซด้วยน้ำยานี้เช็ด เค้าจะออกเลย เช็ดง่าย เพราะ stain รอยเปื้อนน้ำหมึกบางที่ เราเช็ดด้วย alcohol ยังไม่ออกเลย แต่เช็ดน้ำยานี้ออก ล้างหมึกพิมพ์ตกค้างก็ออก ล้างตะกอนหมึก pigments ก็ออก ตอนหลังก็เลยไปสอยมาอีก 2 ขวดเล็ก และต่อมาติดใจหนักก็เลยสอยขวด 1 ลิตรมาเลย กะล้างให้มันรู้ดีชั่วกันไปข้างนึง น่าจะเป็นส่วนผสมของ solvent อะไรบาที่มี propylene glycol หรือเปล่า เค้าไม่กัดพลาสติก ไม่ละลายยาง ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่ระคายผิวหนัง ดีมากทีเดียว

เราก็เลยต้องทำ flush maneuver อีกครั้ง (หวังว่าเป็นครั้งสุดท้าย) ที่ก้านเสียบหมึกสีฟ้า ดันเบา ๆ ด้วยแรงดันคงที่ ตอนแรก ๆ มันก็ฝืดมาก ๆ หลังน้ำยาเข้าไปสัก 3-4 cc เราก็ทิ้งน้ำยาไว้ให้เค้าค่อย ๆ ละลายหมึกข้ามคืน  ตอนเช้ามาดันต่ออีกนิด ค่อย ๆ ดัน ไม่ใช้แรงดันช้างน้ำ หลังจากดันไปได้ประมาณ 10 ซีซี ไม่มีรั่วข้างใต้ (ไม่ได้ปุ๊ แล้วลื่น อะไรเงี้ย) แล้วก็น้ำยา+สีฟ้า ไปออกที่ใต้หัวพิมพ์ (เวลาดันต้องหาแผ่นพลาสติกมารองแล้วก็เอากระดาษที่ซับหมึกได้รองไว้ พอดันไปซัก 4-5 ซีซี กระดาษซับจะชุ่ม ก็ต้องเปลี่ยน ไม่งั้นเด้วหมึกท่วมฟองน้ำด้านล่าง) 

ตอนนี้เวิ๊คแล้วฮับ จำได้ว่าดีใจจนน้ำตาเล็ด ไม่นึกว่าจะได้ประกอบกลับไปเหมือนเดิม ไม่นึกว่า R3000 จะกลับมาทำงานได้ในขวบปีที่ 8  หมดค่าซ่อมไปหมื่นกว่าบาท (ถ้าสอย Epson SC-P903 ก็จะหมดเข้าไป 49,xxx บวกค่าตลับหมึกมหาโหด -ซีซีละ 30 กว่าบาท) ตอนนี้ก็เลยมีปริ๊นเตอร์ที่เวิ้คที่บ้านครบ 2 ตัว คือ Epson L15160 ซึ่งใช้งานเป็นส่วนใหญ่เพราะปริ๊นท์ได้เร็วกว่าสวยกว่า ส่วน R3000 งานหลักก็จะเอาไว้ปริ๊นท์ panorama และเอาไว้ปริ๊นท์เสริมเวลา L15160 เค้าทำงานอื่นอยู่ ที่สำคัญก็คือเซฟ e-waste ให้โลกได้ 1 ก้อนใหญ่ ประหยัดเงิน 49K ไม่ต้องซื้อ SC-P903 อย่างน้อยก็อีกพักนึงแหละ

มาลุ้นต่อไปว่า R3000 จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้ระบบทำงานของเค้ามากขึ้น ต่อไปนี้หมึกทุกสีที่ดูดจากตลับใหญ่จะต้องกรองตะกอนก่อนใส่ลงไปใน CIS reservoir

หลังซ่อมก็ดีตรงที่ว่าเค้าไม่ต้องมาคอยนั่งล้างหัวพิมพ์ทุก 2-3 วัน ทุก ๆ สัปดาห์เราก็จะหาเรื่องพิมพ์อะไรสักครั้งนึง เช็ค nozzles ก็ออกมาครบดีทุกสีไม่มีปัญหา ก็รอดูว่าเมื่อไหร่หมึกจะตกตะกอนแล้วตันอีก แต่หวังว่าจากนี้ไป เราสองคนจะเข้าใจกันและกันมากขึ้นนะ


ภาพถ่าย damper unit assembly ทั้งก้อน ราคา $119 อันนี้เป็นอะไหล่ชิ้นแรกที่เราเปลี่ยนไป


ด้านหลังเค้ามีทางเดินน้ำหมึกที่ซับซ้อน มี barcode + ตัวเลขแปะอยู่ มีมอเตอร์ตัวใหม่ แผงวงจร สายดิน ครบทั้งยูนิต แต่ใครอยากจะซื้อเฉพาะตัว damper เปลี่ยนก็ได้ มีขายบน aliexpress


หลังจากเราเปลี่ยน damper unit ทั้งก้อนใส่เข้าไป ก็มานั่งแกะของเก่าออกมาดู ตามคาด ก็คือสีชมพู สีฟ้า และสีดำ มีตะกอนค้างอยู่ น้ำยาล้างหัวพิมพ์ที่ซื้อมาเวิ๊คดีมาก อันนี้เป็นตัว damper เดี่ยว ๆ ที่ถืออยู่ในมือเป็นของสีชมพู magenta ก็มีตะกอนหมึกให้เห็นได้ชัด ถ้าใครมีความสามารถอยากประหยัดเงิน ก็เปลี่ยนเฉพาะตัวนี้ แต่บางสีเค้าแงะออกมายากมาก เลอเทอะด้วย 


ก้อนนี้คือ damper unit assembly อันเก่า (แต่ tubing น่ะเป็นของใหม่) หลังจากล้างส่วน damper แต่ละสีจนคิดว่าใสสะอาดที่สุดแล้ว (ก็ยังเห็นคราบสีนิด ๆ อยู่) เราก็ประกอบกลับเข้าไปเหมือนเดิม ยังคิดอยู่ว่าจริง ๆ ไม่ต้องซื้อก็ยังได้ เอามาล้างให้สะอาด มันก็น่าจะยังใช้ได้อยู่ แต่ตรงส่วนที่เป็นกลไกเลือกสีดำ PB/MB ที่ติดอยู่กับสีชมพู ตรงเนี้ยถอดยากจริง ๆ ตรงสีอื่น ๆ ถอดค่อนข้างง่าย


อันนี้เป็นน้ำยาล้างหัวพิมพ์อันแรกที่ซื้อมา เค้าจะแถมกระบอกยา เข็มฉีดยา ถุงมือมาด้วย ขวดเล็กประมาณ 100 มล. ถ้าไม่ได้ล้างเยอะก็เกินพอ น้ำยานี้สีใส ๆ มีกลิ่นหอม ๆ คล้ายกลิ่นดอกไม้ เขย่าแล้วจะเป็นฟองฟอด ไม่กัดพลาสติก ไม่กัดยาง ไม่ระคายเคือง เช็ดน้ำหมึก ละลายน้ำหมึกออกได้โดยละม่อม เหมาะสำหรับใช้ flush ใช้เช็ดทำความสะอาด น่าจะละลายคราบหมึกได้ดี ตอนหลังก็ใช้น้ำยานี้เช็ดตลอด


ตอนหลังใช้ถูกใจมาก ซื้อขวดเล็กมาอีก 2 ขวดก็ยังไม่สะใจ เลยสอยขวดใหญ่มาซะเลย บังเอิญเป็นแม่ค้าคนละเจ้ากัน  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจ่ายถูกลงเมื่อคิดต่อซีซีรึเปล่า เลยทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าน้ำยาขวดใหญ่มันสู้ขวดเล็กไม่ได้ ชอบขวดเล็กมากกว่า แต่ราคาต่อซีซีเค้าก็จะสูงกว่า  นี่ขนาดเคลมว่าเข้มข้นแล้วนะเนี่ย



ชิ้นนี้แหละที่เป็นตัวการ ส่วนนี้เป็นส่วนที่อยู่ใต้ที่เสียบตลับหมึก จะเห็นว่าตรงเครื่องปริ๊นเตอร์มีคราบหมึกสีชมพูซึ่งเป็นรอยรั่วของเดิม (คุณมานพไม่ได้เช็ดให้ แต่ตอนนี้เราเช็ดเกลี้ยงหมดแล้ว) รอบใหม่นี้เป็นสีฟ้ารั่ว เป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับใครที่คิดจะ flush หมึก อย่าดันแรง อย่าใช้น้ำยาต้องห้าม


ส่วนที่รั่ว ปุ๊ หมึกรั่ว คือตลับเนี้ยแหละ เธอนั่งอยู่ด้านล่างของที่เสียบตลับหมึก  ของ R3000 ก็จะมีทั้งหมด 3 ก้อน (ตลับ) ตลับละ 3 สีครบ 9 สีพอดี (เครื่องพิมพ์ได้ทีละ 8 สีเพราะสีดำ Photo black กับ Matte black เค้าต้องสลับกัน) ของกรณีเรา ตัวกลาง และช่องหมึกกลาง หรือสีฟ้า คือตัวที่รั่ว


หงายตลับด้านล่างขึ้นมาดู ก็จะพบลักษณะดังกล่าว จะสังเกตเห็นว่าอันกลาง หมึกตรงกลาง เงี่ยงสีขาวมันผลุบอยู่ ไม่โผล่เหมือนคนอื่น อันนี้คือันที่รั่ว เนื่องจากแผ่นพลาสติกใสมันแฟบ เงี่ยงพลาสติกสีขาวมันไม่เลยไม่โผล่ยื่นออกมาเหมือนคนอื่น


ตลับ buffer ทั้งสามอันเค้าจะมีช่องทางเดินหมึกที่ค่อนข้างยาวและซับซ้อน ก่อนที่เข้าจะทอดออกไปสู่แผงท่อซิลิโคนสีขาวขุ่นที่นำหมึกไปยัง damper และ nozzle ตรงส่วนนี้จะมีช่องสำหรับดูดหมึกทิ้งด้วย เราเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไมทางเดินหมึกมันถึงซับซ้อนขนาดนี้ นี่ถ้าวัดระยะทางหมึกเดินทางจากตลับหมึกถึง nozzle น่าจะคลี่ออกมาได้เป็นระยะทางเกือบครึ่งเมตร


ถ้าเราแกะตลับ buffer ออกมา ก็จะพบหน้าตาแบบนี้ อันนี้ถ่ายให้เห็นแผ่นพลาสติกใสที่เดิมมันรั่วตรงขอบนิดเดียว และโดนดึงออกไปแล้ว จริง ๆ แล้วถ้าเราไม่ได้ดึงออกแล้วพยายามปะ มันอาจจะพอเอาอยู่ก็ได้ แต่พอดึงออกหมดแล้วพยายามยากาว มันเอาไม่อยู่จริง ๆ ตอนนั้นลองใช้ทั้งกาวซิลิโคน กาวร้อน ไม่อยู่ทั้งคู่ เข้าใจว่าแรงดันส่วนนี้อาจจะค่อนข้างสูงส่วนตลับนี้มีหน้าที่เป็น one-way valve คือหมึกจะไม่สามารถ back flow ย้อนกลับขึ้นไปสู่ตลับได้ และทำตัวเหมือนกับเป็น buffer ให้ระบบจ่ายหมึกป้อน nozzle กล่าวคือถ้าตลับหมึกหมดหรือตัน ตรงนี้ยังมีอยู่อีกประมาณ 3 มล.  อาจจะพอช่วยดักแอร์ ดักตะกอนได้บ้าง 


สภาพปริ๊นเตอร์ตอนแกะรออะไหล่ เละจนดูไม่ได้ ถูกกองไว้แบบนี้เดือนกว่า ตอนจะประกอบกลับเข้าไปยังนึกว่าประกอบไม่เป็นแล้วซะ เละไปหมด เหมือนกองขยะ


ink supply unit อันใหม่ที่ซื้อมา เค้าก็มาทั้งกล่องใส่ตลับหมึก สายซิลิโคนส่งหมึก และมากับ damper unit ที่เราเคยซื้อต่างหากไปก่อนหน้านี้ จริง ๆ แล้วส่วนที่เราต้องการก็แค่ตลับ buffer ที่วางอยู่ใต้ที่เสียบหมึกแค่นั้นเอง ที่เหลือไม่ได้ใช้เลย เสียดายจัง แต่เค้าไม่ขายแยก


ไป ๆ มา ๆ ที่พยายามปลุกชีพเค้าขึ้นมา ก็เพื่อการนี้โดยเฉพาะเลย คือเอามาพิมพ์ pano อันนี้เป็นตอนก่อนแกะใหญ่ มีอยู่ช่วงนึงที่เค้ากลับมาเหมือนดี ก็เลยรีบพิมพ์ panorama ใส่กระดาษม้วนก่อน ได้สัก 2-3 วันแล้วก็ตายจากไปอีกรอบ


สงสัยจะถ่ายพานอไว้เยอะในอดีต ก็เสียดาย ส่วนใหญ่เป็นวิวตปท. ที่ถ่ายพานอในเมืองไทยมีไม่เยอะ นี่กระดาษม้วนยังไม่หมดนะเนี่ย  จำได้ว่าสมัยก่อน เครื่องปริ๊นเตอร์ R3000 เนี่ยแหละเคยปริ๊นท์พานอได้กว้างเกิน 1 เมตร ไม่ทราบว่า driver มันถูก update, downdate ไปยังไง ตอนนี้ปริ๊นท์ยาวกว่า 1 เมตรไม่ได้ซะแล้ว ลิมิตอยู่ที่ 1 เมตร


ไปหาซื้อ filter มา เนื่องจากในที่ทำงานเรา ยาบางตัวเค้าจะมี filter หน่วยกรองเป็นหลักไมครอน (1 ใน 1000 มิลลิเมตร) เราก็เลยไปหาซื้อบนช็อปปี้ ลาซาด้า น่าจะเป็นอุปกรณ์เค้าสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ ต่อไปนี้พอเราสูบหมึกออกจากตลับหมึก Epson ก่อนเติมลงไปใน reservoir tank ของ CIS เราก็กรองเค้าซะก่อนรอบนึง จะได้กรองเอาตะกอน particle เล็ก ๆ ทั้งหลายออกมา




 




 

Create Date : 05 เมษายน 2564
1 comments
Last Update : 9 เมษายน 2564 21:53:51 น.
Counter : 1792 Pageviews.

 

 

โดย: Ufaslot (สมาชิกหมายเลข 5941739 ) 12 เมษายน 2564 1:32:18 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space