แง แง ... ใครปลุกหนูตื่น
เฟินชายผ้าสีดาหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Platycerium นั้นในบรรดาพันธุ์แท้ทั้งหมดมีอยู่ 18 ชนิดด้วยกันคือ - Platycerium bifurcatum
- Platycerium willinckii (สายม่านบุษบา หรือชายผ้าอินโดนีเซีย )
- Platycerium wandae
- Platycerium wallichii (ปีกผีเสื้อ)
- Platycerium veitchii
- Platycerium superbum
- Platycerium stemaria
- Platycerium redleyi (เขากวางตั้ง)
- Platycerium quadridichotomum
- Platycerium madagascariense
- Platycerium holtummi (หูช้างไทย)
- Platycerium hillii
- Platycerium grande (ชายผ้าสีดาฟิลิปปินส์)
- Platycerium elephantotis (หูช้างแอฟริกัน)
- Platycerium ellisii
- Platycerium coronarium (สายม่าน)
- Platycerium andinum
- Platycerium alcicorne
แหล่งข้อมูล: //www.iloveferns.com, //www.fernsiam.com
ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับต้นเฟินจากเพื่อนที่เรียนด้วยกันตั้งแต่มหาวิทยาลัยมาสองต้น ต้นแรกเป็น P. bifurcatum ลักษณะของพันธุ์นี้คือใบชาย (ใบที่ห้อยลงด้านล่าง ส่วนใบที่หุ้มบริเวณโคนจะเรียกว่า "ใบกาบ") จะตั้งขึ้นก่อนแล้วส่วนปลายของใบจะอ่อนโค้งลงมา โดยปลายใบชายจะกางออก ใบชายจะมีอายุได้ราว ๆ 2-3 ปี ใบกาบ มีลักษณะเป็นแผ่นกว้าง ส่วนล่างห่อหุ้มระบบรากแนบติดกับหัวกระเช้า เป็นรูปค่อนข้างกลม หรือรูปตับ ขนาดกว้างได้ถึง 30 ซม. ปลายบนกางตั้งขึ้น ขอบบนสุด เรียบ, หยัก หรือหยักตื้น แต่ในต้นที่อายุยังน้อย ขอบบนยังไม่ตั้งขึ้นและขอบเรียบไม่เป็นหยัก ใบกาบสีเขียวอ่อน เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใบแก่ ผิวใบเรียบ เส้นลายใบละเอียดเป็นร่างแห ไม่ปูดนูนขึ้นมา เมื่อใบกาบใหม่ออกมา จะกางแผ่ซ้อนทับใบกาบเก่าไปเป็นชั้นหนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเก็บสะสมน้ำและอาหารสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้ง
P.bifurcatum เป็นชายผ้าที่เลี้ยงค่อนข้างง่าย เหมาะกับการปลูกเลี้ยงในทุกๆสภาพอากาศ และมีการแตก pup (หน่อใหม่) ง่ายมาก ดังนั้น P.bifurcatum จึงเหมาะกับนักปลูกมือสมัครเล่นในระยะเริ่มต้นทดลองเลี้ยง พบเจอที่เกาะนิวกีนี อินโดนีเซีย และทางออสเตรเลียทางเหนือ ดูใบกันชัด ๆ ครับ ต้นนี้ผมให้เกาะต้นแคนาไว้ P. bifurcatum จะไม่มีการพักตัวนะครับ
ส่วนต้นที่สองเป็น Platycerium wallichii หรือชายผ้าสีดาปีกผีเสื้อ เจ้าต้นนี้จะมีการพักตัวในช่วงหน้าแล้ง รูปนี้ถ่ายไว้ช่วงก่อนปีใหม่ครับจะเห็นว่าผีเสื้อน้อยตัวนี้ได้หลับใหลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลักษณะของ P. wallichii ใบกาบ ชูตั้งขึ้นเป็นตะกร้า หรือมงกุฏ มีขนาด 40-80 ซ.ม. ทั้งด้านตั้งและด้านข้าง มีขนาดเท่ากัน ใบกาบตั้งขึ้นและปลายขอบเป็นแฉกลึก เกือบถึงครึ่งของขนาดใบ แตกแฉกเป็นคู่มากกว่า 1 ครั้ง ปลายแฉกมนกลมถึงแหลม มองเห็นเส้นใบปูดนูนทั้งสองด้านของใบในต้นที่โตเต็มที่ เส้นใบหลักแตกสาขาเป้นกิ่งคู่ ส่วนเส้นใบรองเป็นร่างแห ใบส่วนบนเนื้อใบบาง ใบส่วนล่างหนาได้มากกว่า 1 ซ.ม. ใบกาบจะงอกออกมาทีละคู่
ใบชาย งอกออกมาเป็นคู่เช่นกัน ใบชายผ้าห้อยลง ยาวได้ถึง 40-80 ซ.ม.ในต้นใหญ่อายุมาก ใบชายผ้าช่วงโคนออกมาเป็นแผ่นแผ่กว้าง ปลายใบแผ่สยายเป็นแฉกริ้วห้อยลง แตกเป็นแฉกหลัก 3 ชุด แต่ละชุดแตกเป็นแฉกกิ่งสาขาเป็นคู่ๆ ได้หลายครั้ง ปลายแฉกแคบ ขอบเรียบ เส้นใบหลักแตกกิ่งสาขาเป็นคู่ ปูดนูนบนผิวด้านหน้า มองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเส้นใบย่อยเล็ก ดูไม่ชัด ใบเป็นแผ่นหนา ปกคลุมแน่นด้วยขนรูปดาว
การกระจายพันธุ์ พบในอินเดีย พม่า ไทย และทางมณฑลยูนนานของจีน เฟินห่อข้าวสีดา ปกติไม่นิยมปลูกประดับในสวนธรรมชาติ เนื่องจากพักตัวในหน้าแล้งตั้งแต่ปลายปีถึงต้นฤดูฝนใหม่ การพักตัวนี้มีผลมาจากความชื้นในอากาศน้อยลง อุณหูมิลดลงหรือ ประกอบกับแสงจากดวงอาทิตย์ ช่วงระยะเวลากลางวัน สั้นกว่ากลางคืน โดยเริ่มตั้งแต่ราวเดือน พ.ย. หรือหลังจากหมดฝนสักระยะ ใบกาบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง จากนั้นใบชายผ้าจะเริ่มแห้งตามมา และบิดเป็นเกลียว แต่ยังคงเป็นสีเขียวแห้งอยู่ (ดูรูปด้านบน) อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่มีฝนหลงฤดูกระหน่ำมาติด ๆ กันหลายวันในช่วงสัปดาห์นี้ ก็เลยทำให้เจ้าปีกผีเสื้อของผมเข้าใจผิดคิดว่าถึงฤดูฝนแล้ว ก็เลยตื่นฟื้นจากหลับใหลขึ้นมา อ้าว ..
"ใครปลูกหนูขึ้นมาทำไมเนี่ย" "อีกตั้งหลายเดือนกว่าจะถึงหน้าฝนจริง ๆ แล้วหนูจะทำยังไงดีล่ะ" "แล้วหนูจะต้องนอนต่ออีกรอบหรือเปล่า"
ผมเองก็ยังไม่รู้ ยังงง ๆ อยู่เลย คงต้องลองสังเกตดูไปก็แล้วกัน ถ้าหากน้องเขาจะหลับอีกรอบ ผมจะปล่อยให้เขาหลับไป แถมสบายดีด้วยน้ำก็ไม่ต้องรด ขอจบดื้อ ๆ ตรงนี้เลย
สวัสดี มะโรง
Create Date : 10 มกราคม 2553 |
Last Update : 10 มกราคม 2553 0:14:03 น. |
|
11 comments
|
Counter : 2406 Pageviews. |
|
|