Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
13 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
ข้อมูลและกฎระเบียบทั่วไป ในการทำงาน เช่าบ้าน เปิดบัญชีธนาคาร อื่นๆ

ข้อมูลและกฎระเบียบทั่วไป

เงื่อนไขในการเข้าประเทศ
การเข้าประเทศเพื่อทำงาน
การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมาย
บริษัทจัดหางานจัดส่งไปทำงาน

ปัจจุบันมีบริษัทจัดหางานต่างประเทศจำนวน 227 บริษัท (ณ วันที่ 9 มีนาคม 2538) ที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน บริษัทดังกล่าวในบางขณะไม่มีตำแหน่งว่าง แต่รับสมัครงานไว้เป็นการล่วงหน้า ดังนั้นเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจสมัครงานขอให้ท่านตรวจสอบและไตร่ตรองด้วยว่า

เป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจัดหางานหรือไม่?
มีตำแหน่งงานว่างจริงหรือไม่?
ผู้ติดต่อ ชักชวนให้สมัครงานเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของบริษัทหรือไม่?

กรมการจัดหางานจัดส่ง

ในกรณีที่นายจ้างในต่างประเทศติดต่อขอให้กรมการจัดหางานจัดส่งคนงานให้ กรมการจัดหางาน จะประกาศรับสมัครงาน คัดเลือกคุณสมบัติดำเนินการตามกระบวนการจัดส่งคนงานไปต่างประเทศ โดยคนงานไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ

นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน
ในกรณีนี้ นายจ้างอาจมีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศหรืออาจประมูลงานได้ จึงส่งคนงานที่อยู่ในประเทศไทยไปทำงาน คนงานดังกล่าวยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของนายจ้างในประเทศไทย จึงได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเต็มจำนวน

นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน
ลักษณะนี้นายจ้างต้องขออนุญาต พาลูกจ้างในโครงการส่งไปฝึกงานต่างประเทศ หรือบริษัทแม่ หรือเครือข่ายเป็นการเรียนรู้พัฒนาฝีมือลูกจ้างให้ทันกับเทคโนโลยี สมัยใหม่
คนงานแจ้งไปทำงานด้วยตนเอง ในการนี้ คนงานที่ติดต่อหางานต่างประเทศ หรือจากการแนะนำของญาติ พี่ น้อง เพื่อน ฯลฯ หรือ คนงานที่ทำงานครบตามสัญญาจ้างแล้วได้ต่อสัญญาจ้าง เมื่อเดินทางกลับมาพักผ่อนในประเทศไทย และจะเดินทางกลับไปทำงานอีก ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 10 วัน


ขั้นตอนสมัครไปทำงานต่างประเทศโดยการจัดส่งของรัฐ

1.ก่อนสมัครงานต้องเตรียมตัว คือ

ควรจัดทำหนังสือเดินทาง(Passport)ไว้ล่วงหน้าเพราะการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
ทุกครั้งจะต้องใช้หนังสือเดินทาง
ควรตรวจโรคล่วงหน้าเพื่อจะได้ทราบว่าเป็นโรคที่ต้องห้ามในการเดินทางไปทำงานหรือไม่
ติดตามข่าวสารประกาศรับสมัครงานจากสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออาจสอบถาม
ได้โดยตรงที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวท่านเองว่ามีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครหรือไม่
หรือสำนักงานจัดหางานเขตทุกเขต

2.สามารถสมัครได้ที่
ผู้ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคสมัครที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
ผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ สมัครที่สำนักงานจัดหางานเขตทั้ง 9 เขต

3. เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร
- รูปถ่าย 2 นิ้ว 3 รูป
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ- สกุล (กรณีเปลี่ยนชื่อ-สกุล)
- สำเนาหน้าพาสปอร์ต (ถ้ามี)
- ใบผ่านงาน (ถ้ามี)

4. วิธีการสมัคร
- เตรียมเอกสารตามข้อ 3 ให้พร้อม ตรวจดูตำแหน่งงานที่ต้องการสมัคร
- สมัครตามสถานที่ที่ระบุในข้อ 2
- กรณีสมัครล่วงหน้า ให้ระบุตำแหน่งที่ต้องการ และสถานที่ที่จะติดต่อกลับได้ให้ชัดเจน

5. ค่าบริการ
ท่านไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้นจนกว่าท่านจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ให้เตรียมตัวเดินทางไปทำงาน ท่านจึงจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน

6. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานมีดังนี้
- ค่าตั๋วเครื่องบิน (มากน้อยตามประเทศที่จะเดินทาง)
- ค่าธรรมเนียมวีซ่า
- ค่าบัตรสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ (ตามกฎหมาย)

คุณสมบัติของผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่อทำงาน

ปัจจุบันการนำเข้าพ่อครัว-แม่ครัวไทย ไปญี่ปุ่น ทางฝ่ายญี่ปุ่นเข้มงวดมาก จึงต้องมีใบอนุญาตการทำงาน หรือ Work Permit มีขั้นตอนสรุปได้ ดังนี้ เจ้าของร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น แจ้งความประสงค์นำเข้าพ่อครัว ต่อสำนักงานที่ปรึกษาแรงงานไทยในญี่ปุ่น สำนักงานแรงงานไทยในญี่ปุ่น จะประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับแรงงานของญี่ปุ่น หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านแรงงานญี่ปุ่น จะแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น กองตรวจคนเข้าเมืองจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบที่ร้านอาหารว่าสมควรมีพ่อครัวหรือไม่ ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน ผู้ที่จะเดินทางไปเป็นพ่อครัว ต้องไปขอรับหนังสือรับรองจากกระทรวงแรงงานไทย ผู้ที่จะเดินทางนำหลักฐานทั้งหมดไปยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเจ้าของกิจการที่ต้องการนำเข้าพ่อครัว ต้องมีหนังสือรับรองไปที่สถานทูตญี่ปุ่นในไทยด้วย (//www.thaikitchen.org/thai/)

เอกสารที่ต้องจัดเตรียม

หนังสือเดินทาง (ในวันยื่นขอวีซ่ามีอายุใช้งานเหลืออย่างน้อย 6 เดือนและมีหน้าว่าง ที่ไม่มีตราประทับมากกว่า 2 หน้าขึ้นไป หากมีหนังสือเดินทางเล่มเก่า กรุณานำมาแสดงด้วย)
ใบคำร้องขอวีซ่า (แบบฟอร์มของสถานทูตฯ หรือพิมพ์มาจากโฮมเพจของสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) 1 ใบ
รูปถ่าย (ขนาด 2 x 2 นิ้ว สีหรือขาวดำ ที่มีพื้นหลังเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลาย ไม่มีการแต่งภาพถ่าย จะต้องเป็นรูปถ่ายที่ชัดเจนและถ่ายมาไม่เกิน 6 เดือน) 1 ใบ
ใบรับรองสถานภาพการพำนัก (ไซริวชิคาคุนินเทโชเมโชะ) ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด
ทะเบียนบ้าน ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด
ประวัติการศึกษาและการทำงาน (ให้ระบุรายละเอียด ประวัติการศึกษาทั้งหมดจนถึงชั้นสูงสุด, วิชาเอก ตลอดจนชื่อ, ที่อยู่, รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ของสถาบันที่จบการศึกษา / ส่วนประวัติการทำงาน ให้ระบุรายละเอียด ชื่อบริษัทหรือหน่วยงาน, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, ระยะเวลาที่ทำงาน, ตำแหน่งและเนื้อหาของงาน) 1 ชุด
ผู้ที่เดินทางเป็นครั้งแรก หากเคยเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล หรือผู้ที่ได้เปลี่ยนชื่อตัวหรือสกุล หลังจาก เดินทางไปญี่ปุ่นครั้งที่แล้ว ให้เตรียมเอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล เช่น ใบเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล, ใบสำคัญการสมรส, ใบสำคัญการหย่า ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด
หมายเหตุ
หากเอกสารที่เตรียมมาไม่ครบถูกต้องตามระเบียบที่ได้ระบุไว้ข้างต้น กรุณารับทราบด้วยว่าทาง สถานทูตจะไม่สามารถรับคำร้องขอวีซ่าได้
รับคำรัองขอวีซ่า ระหว่างเวลา 13.30 - 16.00 น. ที่ช่องหมายเลข 1
สำหรับวันและเวลาในการคืนหนังสือเดินทาง (การฟังผลวีซ่า) สถานทูตจะให้ใบนัดฟังผลในวันที่ ยื่นคำร้อง กรุณาตรวจยืนยันวันที่คืนหนังสือเดินทางตามที่ระบุไว้ในใบนัดฟังผล โดยที่สถานทูตจะ คืนหนังสือเดินทางให้ใช้เวลาเร็วที่สุดคือ อีกสองวันทำการถัดไปนับจากวันที่ยื่นคำร้อง ในเวลา 13.30-16.00 น. ในกรณีที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าจะติดในหนังสือเดินทาง

สำหรับผู้ยื่นที่ทางเจ้าหน้าที่คิดว่าอาจใช้เวลาพิจารณามากกว่าสองวันทำการถัดไป เช่น ผู้ที่เดินทางไป ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หรือตามวัตถุประสงค์ในการเดินทาง หรือแล้วแต่สถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งใน บางกรณีอาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติม, การสัมภาษณ์ผู้ยื่นขอวีซ่า หรือมีความจำเป็นต้องตรวจสอบ ไปยังกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ทางสถานทูตจะให้ใบนัดฟังผลและระบุว่าให้รอ [ทางสถานทูตจะ ติดต่อทางโทรศัพท์ให้มาฟังผลในภายหลัง] ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจจะไม่สามารถพิจารณาวีซ่าได้ทันตาม กำหนดการเดินทางที่ต้องการ ฉะนั้นกรุณายื่นขอวีซ่าล่วงหน้าหลายๆวันก่อนการเดินทาง กรณีที่ยัง ไม่ได้รับการติดต่อจากสถานทูตญี่ปุ่นหลังจากที่ยื่นวีซ่าไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ผู้ยื่นสามารถ โทรศัพท์สอบถามได้ โดยให้แจ้งหมายเลขใบนัดฟังผล (ตัวอักษรภาษาอังกฤษกับตัวเลข 5 หลัก) และหมายเลขบาร์โค้ด (ตัวเลข 8 หลัก) อนึ่งกรุณารับทราบด้วยว่าการพิจารณาออกวีซ่า ต้องใช้เวลาอย่าง น้อยสองวันทำการจึงไม่สามารถออกวีซ่าให้ได้เร็วกว่านี้ตามคำร้องขอเป็นกรณีพิเศษ

*กรุณาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ แผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่น สามารถสอบถามได้ด้วยภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2259-0444,0-2259-0725 และ 0-2258-9915
(//www.th.emb-japan.go.jp/th/consular/visa10.htm)

ค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่า

ค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับคนไทย ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2006 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วีซ่าทั่วไป 1,110 บาท
วีซ่า Multiple 2,210 บาท (สำหรับการเดินทางหลายครั้ง)
วีซ่าทรานซิท 260 บาท (สำหรับการเดินทางผ่าน)

มาตรฐานของพ่อครัว-แม่ครัว

ข้อกำหนดเรื่องประสบการณ์ทำงาน
มีอายุ 28 ปีขึ้นไป
มีประสบการณ์ในด้านการประกอบอาหารในร้านอาหารหรือโรงแรงที่เชื่อถือได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี
(//www.thaikitchen.org/thai/)

สถาบันหรือเอกสารรับรอง

สำหรับสาขาอาชีพผู้ประกอบอาหารไทยนั้น ควรได้รับใบรับรองการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือเอกสารรับรองการผ่านงานเป็นพ่อครัว จากโรงแรม หรือร้านอาหารที่เชื่อถือได้อายุการผ่านงานต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี
ข้อกำหนดเรื่องระดับการศึกษา
สำหรับข้อกำหนดเรื่องระดับการศึกษาของผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพผู้ปรุงอาหารในประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้มีกำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นคุณสมบัติเพิ่มเติมของผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ได้
มาตรฐานของพ่อครัว-แม่ครัว ด้านการสื่อสาร
มาตรฐานในด้านการสื่อสารของผู้ปรุงอาหารไทยนั้น ไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างแน่นอน แต่เนื่องจาก คนญี่ปุ่นไม่นิยมใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารทั้งเรื่องการทำงาน และการดำรงชีวิต จึงควรมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง

ข้อมูลค่าแรง ค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของแรงงานต่างด้าวในประเทศเป้าหมาย

ค่าแรง

ค่าแรง นายจ้างจะจ่ายค่าแรง และสวัสดิการต่างๆ (เงินเดือน เงินประกันสังคม โบนัส 1 เดือน ค่าที่พักอาศัย) ให้ตามกฎหมายญี่ปุ่น เฉลี่ยประมาณ เดือนละ 250,000-300,000 เยน สำหรับพ่อครัวธรรมดา ส่วนพ่อครัวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือหัวหน้า เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นตามความสามารถ (//www.thaikitchen.org/thai/)
ค่าครองชีพ เช่น ค่าอาหาร ที่พัก โดยเฉลี่ย

ค่าอาหาร

ร้านอาหารในญี่ปุ่นมีมากมายหลากหลาย อาหารธรรมดาโดยทั่วไป ราคาจะแตกต่างกันไปตั้งแต่
350 - 1,000 เยนต่อชามหรือต่อชุด (110 - 330 บาท) บางร้านจะมีโปรโมชั่นลดราคาพิเศษ ซึ่งสามารถดูได้จากป้ายหน้าร้าน ในร้านคอนวิเนียนสโตร์ ก็มีอาหารหลายประเภทจำหน่ายในราคาไม่แพง และสามารถอุ่นให้ร้อนได้ นอกจากนี้ยังสามารถประกอบอาหารเองได้ ซึ่งจะประหยัดมากกว่า โดยสามารถซื้ออาหารสดได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือตลาดสด
(//www.jeducation.com/THAI/special/geos/life_spring.html)

การเช่าบ้านพักและที่อยู่อาศัย

การติดต่อขอเช่าบ้าน

o ติดต่อสำนักงานนายหน้าจัดหาบ้าน (ฟุโดซัง) โดยขอข้อมูลเกี่ยวกับบ้านที่ต้องการ เช่น ค่าเช่า ขนาดห้อง ทิศทางแสงอาทิตย์หรือลม ระยะทางจากสถานีรถไฟหรือป้ายรถเมล์ เป็นต้น ถ้าหากมีรายการที่ตรงกับความต้องการของท่าน สำนักงานจัดหาบ้านก็จะแนะนำให้พิจารณา และส่วนใหญ่ผู้เช่าสามารถขอดูสถานที่ได้ก่อนตัดสินใจ

ค่าใช้จ่ายในการเช่าบ้าน สัญญาเช่า ค่าตอบแทน

o สามารถทำสัญญาผ่านสำนักงานจัดหาบ้านได้โดยตรง โดยจะต้องศึกษารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆในสัญญาให้ละเอียดก่อน ทั้งนี้

มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในวันทำสัญญา ได้แก่

o ค่าธรรมเนียมให้แก่สำนักงานจัดหาบ้าน (อัตราปกติจะเท่ากับเงินค่าเช่าบ้าน 1 เดือน)
o เงินกินเปล่าให้เจ้าของบ้าน (เรคิน) (อัตราปกติจะเท่ากับค่าเช่าบ้าน 1-3 เดือน)
o เงินมัดจำให้เจ้าของบ้าน (ชิคิคิน) (อัตราปกติจะเท่ากับค่าเช่าบ้าน 1-3 เดือน) เงินจำนวนนี้จะได้รับคืนเมื่อเลิกสัญญา แต่จะถูกหักค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมห่งก่อนออก
o ค่าเช่าบ้านเดือนแรกให้เจ้าของบ้าน ซึ่งหากย้ายเข้าบ้านก่อนถึงวันสิ้นเดือน ก็อาจต้องชำระค่าเช่าบ้านล่วงหน้าสำหรับวันที่เหลืออยู่ของเดือนนั้น และของเดือนถัดไปเต็มเดือน

เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว ต้องการยกเลิกสัญญา
o โดยส่วนใหญ่สัญญาจะมีระยะเวลา 2 ปี หากต้องการยกเลิก จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของบ้านทราบล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน หรือตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าตามเงื่อนไข ก็อาจไม่ได้รับเงินมัดจำคืน
oเมื่อย้ายออกก็ต้องย้ายเฟอร์นิเจอร์ออกจากห้องด้วยตนเองรวมทั้งทำความสะอาดให้บ้านอยู่ในสภาพเดิมเหมือนตอนย้ายเข้า มิฉะนั้นจะถูกหักค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต่างๆ จากเงินมัดจำที่จะได้รับคืน
oเมื่อสัญญาเช่าหมดลง สัญญามักจะได้รับการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ

ยกเว้นในกรณีที่เจ้าของบ้านมีความประสงค์จะยกเลิกสัญญา ทั้งเจ้าของบ้าน และผู้เช่าต่างจะต้องแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า 1-2 เดือน

การซ่อมแซมหรือต่อเติมห้องพัก

o หากต้องการซ่อมแซม ต่อเติม ทาสี หรือตอกตะปูบนผนังห้อง จะต้องปรึกษาเจ้าของบ้านก่อน ห้ามต่อเติมเองโดยเด็ดขาด
(คู่มือการดำรงชีวิตในประเทศญี่ปุ่น.สถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงโตเกียว)

ความปลอดภัย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัยประเทศหนึ่ง อันเนื่องมาจากสาธารนูปโภค และเครื่องอำนวยความสะดวกที่ครบครัน และล้วนแต่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องอาชญากรรมจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่บ้าง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจัง
สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่เป็นแรงงานถูกกฎหมายนั้น ส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่เดียวกับพนักงานชาวญี่ปุ่นทั่วไป คือมีที่พัก ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครัน มีสวัสดิการ เงินเดือนที่ได้รับค่อนข้างเป็นไปตามเกณฑ์ และมีค่อยมีปัญหาเรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบ แรงงานเหล่านี้มักมีการทำสัญญาการจ้างงาน และตระหนักในสิทธิของตน
อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างชาติยังได้รับแรงต่อต้านจากสหภาพแรงงานในญี่ปุ่น เนื่องจากเกรงว่าจะมาแย่งงานคนญี่ปุ่นทำ แต่ชาวญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการต่อต้านที่รุนแรง และสามารถยอมรับแรงงานต่างด้าวได้ (สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น)

ประมวลข้อมูลและกฎระเบียบการจ้างงานพ่อครัว-แม่ครัวในประเทศเป้าหมาย

ประเด็นทางกฎหมายในการเข้าทำงาน

สิ่งที่ควรและไม่ควรปฎิบัติสิ่งที่คนต่างชาติมักจะทำอย่างถูกวิธีไม่ค่อยได้ก็คือ การใช้ตะเกียบ ตะเกียบเป็นเครื่องมือในการทานอาหารญี่ปุ่นที่สำคัญที่สุด สมัยก่อนคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใช้ช้อนหรือส้อม ใช้แค่ตะเกียบอย่างเดียว ในมารยาทการรับประทานอาหารของญี่ปุ่นก็มีข้อห้ามสำหรับการใช้ตะเกียบหลายอย่าง

รูปแบบสัญญาการว่าจ้าง เงื่อนไขระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

เงื่อนไขการทำงานต่างๆเป็นเรื่องที่นายจ้างและลูกจ้างจะต้องเจรจาตกลงกัน และเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย และเมื่อตกลงกันแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการ (สำนักแรงงานในประเทศญี่ปุ่น)

เงื่อนไขการทำงานในญี่ปุ่นประเด็นแรงงานในญี่ปุ่นบางประการ

ชั่วโมงทำงานปกติไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาพัก) กรณีทำงานเกิน 6 ชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 45 นาที และกรณีทำงานเกิน 8 ชั่วโมง จะต้องให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
หากให้ลูกจ้างทำงานเกินชั่วโมงการทำงานปกติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเพิ่มอีก ในระหว่าง 25%-50% ของค่าจ้างในชั่วโมงทำงานปกติ และในกรณีเป็นการทำงานในช่วงเวลา 22.00-05.00 น.ของวันถัดไป หรือ 23.00-06.00 น.ของวันถัดไป จะต้องจ่ายเพิ่มพิเศษอีก 25%
นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วัน และกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยได้รับค่าจ้าง ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
สำหรับผู้ที่ทำงานติดต่อกัน 6 เดือน และมีจำนวนวันทำงานตั้งแต่ 80% ขึ้นไป ให้นายจ้างจัดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วัน
สำหรับผู้ที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี 6 เดือนขึ้นไป ให้หยุดเพิ่มได้อีก 1 วัน และให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการทำงานคิดเป็นปีๆ ละ 1 วัน จนกระทั่งมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีครบ 20 วัน ในส่วนที่หยุดเกิน 20 วัน อนุญาตให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดนั้น

การบอกเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องแจ้งลูกจ้างให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หรือนายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 30 วันแทนการบอกล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีเลิกจ้างเนื่องจากเหตุภัยธรรมชาติ หรือเหตุอื่นๆ ที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ หรือการบอกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากความประพฤติของลูกจ้าง และไม่รวมถึงลูกจ้างรายวันที่จ้างติดต่อกันเกิน 1 เดือน หรือลูกจ้างที่จ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนไม่เกิน 2 เดือน หรือลูกจ้างที่จ้างตามฤดูกาลที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไม่เกิน 4 เดือน หรือลูกจ้างทดลองงาน

นายจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่ต่ำกว่า 60% ของค่าจ้างเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างในช่วงระยะเวลาที่หยุดดำเนินการนั้น

กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยค่าแรงขั้นต่ำ ในญี่ปุ่นมี 2 ประเภท คือ

1) ค่าแรงขั้นต่ำจำแนกตามเขตท้องที่ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉลี่ย ทุกเขตทั่วญี่ปุ่น ช.ม. ละ 654 เยน เขตที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด เช่นที่โตเกียวนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำ ช.ม. ละ 708 เยน ส่วนเขตโอกินาวามีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด ช.ม. ละ 604 เยน

2) ค่าแรงขั้นต่ำจำแนกตามเขตท้องที่และประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2545 มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรม วันละ 6,571 เยน โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดคืออุตสาหกรรมการผลิตสี ส่วนอุตสาหกรรมที่มีค่าแรงขั้นต่ำรายวันต่ำสุดคืออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือนจากไม้ อัตราวันละ 5,085 เยน

หากประสงค์จะเปลี่ยนงาน จะออกจากงาน ตามปกติต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน แต่บางกรณีหากนายจ้างเสียหายเพราะขาดคนทำงาน ก็อาจต้องให้เวลานานกว่า 14 วันก็ได้
สวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้รับ เงินประกันสังคมเมื่อได้รับอุบัติเหตุ

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่คนงานไทยพึงได้รับในกรณีต่าง ๆ จำแนกได้ดังนี้

1)กรณีเจ็บป่วย ประสบอันตรายหรือเสียชีวิตจากการทำงาน
ไม่ว่าลูกจ้างจะมีวีซ่าทำงานอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่มีวีซ่าก็ตาม นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดทำประกันอุบัติเหตุจากการทำงานให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองตามระบบประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน ดังนี้


สิทธิประโยชน์

เงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล จะจ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานจนกว่าจะหมดความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษา ค่าชดเชยได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าผ่าตัด ค่าอุปกรณ์ในการรักษา ค่าเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นต้น
เงินชดเชยในระหว่างหยุดงานเพื่อพักรักษาตัว ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 60 ของอัตราค่าจ้างพื้นฐาน เฉลี่ยรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 4 ที่ต้องหยุดงานเนื่องจากเจ็บป่วย และหากหยุดงานเพื่อรักษาตัวไปจนครบปีครึ่งแล้วแต่อาการยังไม่หายจะจ่ายเงินทดแทนให้เป็นเงินรายปี ในอัตราเท่ากับค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยรายวันจำนวน 245 ถึง 313 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ
เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ หากได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานและการรักษาสิ้นสุดลงแล้วแต่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ จะมีการตีระดับของการสูญเสียหรือทุพพลภาพว่าอยู่ในระดับใด (ระดับ 1 ถึง 14 ) ในระดับ 1 ถึง 7 จะได้รับเงินชดเชยเป็นเงินรายปีในอัตราเท่ากับรายได้เฉลี่ยรายวันจำนวน 131 ถึง 313 วัน และหากอยู่ในระดับ 8 ถึง 14 จะได้รับเงินชดเชยเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเท่ากับรายได้เฉลี่ยรายวันจำนวน 56 ถึง 503 วัน
เงินชดเชยให้แก่ทายาทกรณีลูกจ้างเสียชีวิต หากลูกจ้างเสียชีวิตเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ทายาทของผู้เสียชีวิตที่ มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน เรียงลำดับทายาทดังนี้

o คู่สมรสที่อยู่กินฉันท์สามี / ภรรยา ( แม้ว่าจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน)
o บิดามารดา
o บุตร หลาน ที่มีอายุไม่ครบ 18 ปี
o ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีอายุเกิน 60 ปี
o พี่ น้อง ที่มีอายุไม่ครบ 18 ปี หรือเกิน 60 ปี


กรณีบุตรที่อยู่ในครรภ์ภรรยาในขณะที่สามีถึงแก่ความตาย เมื่อคลอดแล้วก็จะเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนด้วย

เงินค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ หากลูกจ้างถึงแก่ชีวิต ทายาทหรือผู้จัดการศพมีสิทธิจะได้เงินค่าจัดการจำนวน 315,000 เยนพร้อมกับรายได้เฉลี่ยรายวันอีกจำนวน 30 วัน หรือได้รับเงินรายได้เฉลี่ยรายวันจำนวน 60 วัน แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า

หมายเหตุ

กรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บในระหว่างเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและที่ทำงานก็จะได้รับผลประโยชน์การคุ้มครองเช่นเดียวกับการได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน

เอกสารเบื้องต้นที่จำเป็นประกอบคำร้องทุกข์ในการเรียกร้องสิทธิกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน
1.หลักฐานประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง, บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตร
ประจำตัวคนต่างด้าว (ที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้)
2.หลักฐานการจ้างงาน เช่น สัญญาการจ้างงาน, ใบรับเงินเดือน หรือ ใบลงเวลาทำงาน
3.หลักฐานการรับการตรวจรักษาจากโรงพยาบาล
4.ชื่อ-ที่อยู่-หมายเลขโทรศัพท์ของนายจ้าง

อายุความในการยื่นคำร้อง หากได้รับอุบัติเหตุนานเกิน 2 ปี จะไม่สามารถขอรับสิทธิเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยในระหว่างหยุดงานเพื่อพักรักษาตัวได้ แต่หากไม่เกิน 5 ปีก็ยังสามารถเรียกร้องเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพได้

2) กรณีเจ็บป่วย ประสบอันตรายหรือเสียชีวิต นอกเวลาทำงาน
ผู้ที่เข้าร่วมระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นจะได้รับการคุ้มครองเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายนอกเวลาทำงานซึ่งระบบนี้เปิดให้เฉพาะผู้ที่อยู่ญี่ปุ่นอย่างถูกต้องเท่านั้น มีคนไทยที่ไม่มีวีซ่าเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมทำประกันสุขภาพของรัฐได้
สิทธิประโยชน์

ค่ารักษาพยาบาลเงินชดเชยเมื่อบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยโดยมิได้มีสาเหตุจากการทำงาน และ
เข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาล ลูกจ้างรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือ (อีกร้อยละ 70) สถานพยาบาลจะรับจากรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้รับการช่วยเหลือค่ายาอีกด้วย และหากจำเป็นต้องรับการรักษาที่บ้าน หรือเข้าโรงพยาบาล ค่าเตียง ค่าอาหาร หรือค่าอื่นๆ ตามที่กำหนดก็จ่ายในอัตราเพียงร้อยละ 30 เช่นกัน
เงินอุดหนุนระหว่างหยุดพักรักษาตัว หากเจ็บป่วยหนักจนไม่สามารถไปทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้าง ประกันจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างนับตั้งแต่วันที่สี่ที่หยุดงานเป็นระยะเวลาปีครึ่ง
เงินอุดหนุนระหว่างลาเพื่อไปคลอดบุตร ในกรณีที่ลาเพื่อไปคลอดบุตร มิได้ทำงาน ขาดรายได้ ประกันก็จะจ่ายเงินอุดหนุนขณะลาคลอดให้ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างจำนวน 42 วันก่อนคลอด (กรณีลูกแฝดจ่าย ร้อยละ 60 ของค่าจ้าง 98 วัน) และอีกร้อยละ 60 ของค่าจ้างจำนวน 56 วันหลังคลอด
เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร จะได้รับเงินอุดหนุนค่าคลอดบุตร 300,000 เยน ต่อบุตร 1 คน
เงินอุดหนุนค่าจัดการศพ ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ทายาทหรือผู้ที่รับผิดชอบจัดงานศพจะได้รับเงิน
อุดหนุนเท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของผู้ตายจำนวน 1 เดือน (ไม่น้อยกว่า 100,000 เยน)

ขั้นตอนการเรียกร้อง / ข้อมูล และเอกสารประกอบคำร้อง

ในกรณีเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเ้พียงแต่แสดงบัตรประกันสุขภาพก็สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้ ส่วนในกรณีอื่น ๆ ต้องยื่นแบบฟอร์มการขอรับสิทธิประโยชน์ต่อที่ว่าการเขตที่อาศัยอยู่

3)กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง, เงินทำงานล่วงเวลา, ไม่จ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างกระทันหัน
สามารถยื่นคำร้องโดยระบุรายละเอียดบันทึกปากคำ พร้อมแนบเอกสารดังนี้

1.หลักฐานประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง, บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวคนต่างด้าว (ที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้)
2.หลักฐานการจ้างงาน เช่น สัญญาการจ้างงาน, ใบรับเงินเดือน หรือ ใบลงเวลาทำงาน
3.ชื่อ-ที่อยู่-หมายเลขโทรศัพท์ของนายจ้าง
//www.mol.go.th/download/japan_help.doc)

ระเบียบ กฎเกณฑ์ และค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของธนาคาร

ธนาคาร เปิดทำการวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 15.00 น.

เอกสารที่จำเป็นในการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารญี่ปุ่น

ตราชื่อประทับ อินคัง คือ ตราชื่อประจำตัวของแต่ละบุคคล (โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นจะใช้ชื่อสกุล) สามารถสั่งทำได้จากร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป ตราประทับดังกล่าว สามารถนำไปทำนิติกรรมต่างๆได้ ตามกฎหมายญี่ปุ่น ไม่ว่าผู้ที่ถือนั้นจะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น จึงควรรักษาไว้ในที่ปลอดภัย)
เอกสารประจำตัว เช่น หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวคนต่างชาติ หรือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
เมื่อเปิดบัญชีแล้ว นอกจากจะได้รับสมุดบัญชีธนาคาร ยังสามารถทำบัตร ATM ที่ใช้สำหรับฝากและถอนเงินได้ (รายละเอียดของบริการอื่นๆ กรุณาติดต่อสอบถามกับธนาคารนั้นๆ) สำหรับ ตราชื่อประทับ และเอกสารประจำตัวนั้น จะต้องนำติดตัวไปทุกครั้ง เพื่อสะดวกในการติดต่อทำธุรกรรมต่างๆกับทางธนาคาร (คู่มือการดำรงชีวิตในประเทศญี่ปุ่นใสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว)

ประเภทของบัญชีเงินฝาก
บัญชีออมทรัพย์
( Futsuuyokin ) เป็นบัญชีที่ใช้กันมากที่สุด สามารถฝากได้ตั้งแต่ 1 เยน ดอกเบี้ยไม่สูง แต่สามารถถอนได้ทุกเมื่อ และฝากถอนได้ทุกสาขาของธนาคารนั้น ทั้งยังสามารถทำบัตร ATM ได้
บัญชีฝากประจำ
( Teikiyokin )ได้ดอกเบี้ยสูง แต่จะต้องฝากเงินไว้ในระยะเวลาที่กำหนด
บัญชีฝากประจำทุกเดือน
( Tsumitateyokin )เป็นการฝากเงินในอัตราเท่ากันทุกเดือน
(//www.jeducation.com/THAI/lifeinjapan/life/bank.html)

การทำเรื่องขอกลับเข้าประเทศอีกครั้ง

การขอเดินทางกลับประเทศ ติดต่อสถานเอกอัคราชทูตฯฝ่ายกงสุลด้วยตนเอง สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว
3-14-6, Kami-Osaki, Shinagawa-ku, Tokyo 141-0021
เวลาทำการ:
เวลารับคำร้องฝ่ายกงสุล 9:00 น.- 11:45 น.วันหยุด: เสาร์, อาทิตย์, และวันหยุดประจำปีของไทยและญี่ปุ่น

ดูรายละเอียดวันหยุดพิเศษประจำปีของสถานทูต

เวลาทำการฝ่ายอื่นๆ 9:00 น. - 12:00 น.13:30 น.- 17:00 น.

บริการทางโทรศัพท์:
ฝ่ายกงสุล Tel: (03) 3441-1386 14:00 น.- 17:30 น.
แผนกวีซ่า ต่อ 263, 265
แผนกหนังสือเดินทาง ต่อ 233, 266, 278
แผนกทะเบียนราษฎร์ ต่อ 269
แผนกหนังสือมอบอำนาจ ต่อ 270
แผนกแปลเอกสาร ต่อ 266
แผนกคุ้มครองคนไทย ต่อ 232, 260
Fax: (03) 3441-2597
อีเมล: infosect@thaiembassy.jp


เราหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็เลยนำความรู้มาฝากกัน คัดลอกเขามาจ้า..


Create Date : 13 มิถุนายน 2552
Last Update : 13 มิถุนายน 2552 12:19:23 น. 2 comments
Counter : 764 Pageviews.

 
ขยันค้นหาข้อมูลจังเลย

แต่ก็เอาไว้ให้สะใภ้เจแปนรุ่นใหม่ได้เข้ามาอ้างอิงข้อมูลด้วยเนอะ ปรบมือให้ในความขยันจ้า

จขบ.เช็คหลังไมค์ยังคะ เราหลังไมค์ไปนะคะ


โดย: wippy+totoro IP: 125.54.170.159 วันที่: 13 มิถุนายน 2552 เวลา:16:48:42 น.  

 
จิงดิ ...เดี๋ยวเช็ค...


โดย: noon (Nooni_Jung ) วันที่: 14 มิถุนายน 2552 เวลา:10:31:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nooni_Jung
Location :
Tokyo Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Visit InfoServe for backgrounds.
Friends' blogs
[Add Nooni_Jung's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.