พฤษภาคม 2555

 
 
1
2
3
4
11
12
13
14
17
18
20
22
23
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog
Manometry การตรวจการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร
Pic_262694

นานแค่ไหนแล้ว ที่ร่างกายต้องทรมานกับอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร แต่ก็ตรวจหาสาเหตุไม่เจอ พบหมอก็แล้ว ส่องกล้องก็แล้ว เป็นเรื้อรัง ไม่หายซักที จบปัญหาเหล่านี้ด้วย “การตรวจการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร” หรือที่เรียกว่า Manometry

นายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงประสบการณ์ของโรคทางเดินอาหารว่า มีอาการต่างๆ ที่หลายคนอาจเคยประสบ เช่น ท้องผูก กลืนติด แต่เมื่อไปพบแพทย์แล้ว และได้รับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด และบางครั้งแพทย์ก็สั่งยามาให้รับประทานโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง อาการก็เป็นเรื้อรัง ไม่หายซักที ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของโรคทางเดินอาหารที่ตรวจส่องกล้องแล้วไม่พบความผิดปกติ คือ โรคที่มีการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ (Motility disorder)

นายแพทย์บุญเลิศ ยกตัวอย่างถึง กรณีของผู้หญิงไทย อายุ 30 ปี มาตรวจด้วยอาการท้องผูกที่เป็นมานาน 10 ปี กินยาระบายทุกวัน ร่วมกับการสวนอุจจาระเป็นบางครั้ง เมื่อปวดอยากถ่าย แต่ก็รู้สึกถ่ายไม่สุด นั่งนาน บางครั้งต้องใช้น้ำฉีด หรือใช้นิ้วล้วงออก เคยได้รับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ไม่พบความผิดปกติ เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจดูการเคลื่อนไหวของลำไส้ และตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่งอุจจาระ เรียกง่ายๆ ว่า เบ่งอุจจาระไม่เป็น หรือเบ่งไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีการฝึกเบ่งอุจจาระให้ถูกวิธีด้วยการใช้เครื่องมือช่วยฝึกเบ่งอุจจาระ (Biofeedback therapy) ก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์กับภาวะท้องผูกเรื้อรังได้สำเร็จ

หลักการตรวจ Manometry

การตรวจการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารชนิดนี้ ใช้หลักการของการวัดความดันที่เกิดขึ้นในทางเดินอาหารทั้งขณะพัก และขณะที่มีการเคลื่อนไหว ทำให้สามารถตรวจดูความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะนั้นได้ เครื่องมือชนิดนี้สามารถตรวจได้ทั้งการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก เป็นต้น สามารถบอกรายละเอียดว่ามีการเคลื่อนไหวที่ลดลง หรือมีการหดรัดตัวของหูรูดมากเกินไปได้ ดังเช่นกรณีตัวอย่างข้างต้น ที่ทำให้ทราบว่าสาเหตุของท้องผูกเกิดจากการทำงานของหูรูดทวารหนักหดรัดตัวผิดปกติ นอกจากการวินิจฉัยโรคได้แล้ว เครื่องมือชนิดนี้สามารถให้การรักษาแก่ผู้ป่วยได้ด้วย


Manometry มีวิธีการตรวจอย่างไร

ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ หรือยาสลบ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจที่สำคัญมีสองอย่าง คือ สายที่ใช้ในการวัดความดันภายในทางเดินอาหาร และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมในการบันทึกและแปลผลการตรวจ การตรวจใช้เวลาไม่นาน ส่วนใหญ่ไม่เกินครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง กรณีการตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร แพทย์จะใส่สายตรวจทางจมูก ส่วนการตรวจหูรูดทวารหนัก ก็จะใส่สายทางทวารหนัก ในการเตรียมตัวก่อนตรวจนั้น แนะนำให้งดน้ำและอาหารก่อนตรวจหลอดอาหาร แต่กรณีตรวจทวารหนัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องสวนอุจจาระก่อนทำการตรวจวินิจฉัย โดยทั่วไปไม่มีข้อห้ามเฉพาะในการตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้ และความเสี่ยงในการตรวจก็ต่ำมาก นอกจากนี้การตรวจชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

นายแพทย์บุญเลิศ กล่าวถึงประโยชน์อื่นของเครื่องมือชนิดนี้ คือใช้ร่วมกับเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน โดยการตรวจวัดปริมาณกรดไหลย้อนตลอด 24 ชั่วโมง จุดประสงค์ของการตรวจก็เพื่อหาตำแหน่งของหูรูดหลอดอาหาร เพื่อใช้ในการวางสายสำหรับตรวจปริมาณกรดไหลย้อน ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและถูกต้อง

กล่าวโดยสรุปคือ เครื่องมือสำหรับตรวจการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (Manometry) มีความสำคัญในการวินิจฉัยและรักษากลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร (Motility disorder) ทั้งชนิดที่เคลื่อนไหวน้อยไป หรือมากเกินไป ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตรงจุด และบางครั้งสามารถทำให้หายขาดจากโรคได้ โดยเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัยและไม่ยุ่งยาก

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ  โรงพยาบาลเวชธานี


ที่มา ไทยรัฐ




Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
Last Update : 27 พฤษภาคม 2555 19:52:09 น.
Counter : 678 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kaweejar
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]