พฤษภาคม 2555

 
 
1
2
3
4
11
12
13
14
17
18
20
22
23
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog
เรื่องน่ารู้ ..... น่าเสียดาย…หากสมอง Expired ก่อนกำหนด
Pic_222339

 

หลงลืมทิศทาง คิดหาคำพูดที่ต้องการจะพูดไม่ออก เรียกชื่อคน สิ่งของไม่ถูก... ดูเหมือนว่าอาการเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นปัญหามากมายนัก หนำซ้ำยังเคยเกิดขึ้นกับคนแทบทุกคน ถ้าเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง และไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็คงไม่ต้องกังวลอะไร แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ ยิ่งนานวันยิ่งเป็นมาก...แบบนี้อาจจะมองเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้อีกต่อไป

นายแพทย์ชยานุชิต ชยางศุ อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยถึงที่มาของภาวะสมองเสื่อมว่า ความจริงแล้วสภาวะเหล่านี้อาจมาจากปัญหาทางสมองเอง หรือภาวะของโรคนอกสมองที่ทำให้เกิดมีอาการคล้ายสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นคำเรียกกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง ทั้งด้านที่เกี่ยวกับความจำ การใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ และยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพร่วมด้วยได้ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเมินเฉย เป็นต้น อาการของภาวะสมองเสื่อมจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานานเป็นปี โดยตัวผู้ป่วยเองอาจไม่สังเกตเห็น แต่คนรอบข้างมักจะสังเกตเห็นความผิดปกตินั้นได้ ซึ่งในที่สุดอาการของภาวะสมองเสื่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านอาชีพการงาน และชีวิตส่วนตัว

ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย แต่อุบัติการณ์และความชุกของโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ความชุกของการเกิดสมองเสื่อมในประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อม มีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)

 


นายแพทย์ชยานุชิต กล่าวถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมว่า เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีผลต่อหลอดเลือด เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ ไม่ค่อยออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย หรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

อาการต่างๆ ของโรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม รองลงมาคือโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมอง นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมที่พบได้คือ โรคพาร์กินสัน, Frontal Lobe Dementia, สมองเสื่อมจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากโรคเอดส์เป็นต้น

อาการสำคัญของโรคสมองเสื่อม

ผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะแรกอาจมีอาการไม่มากนัก โดยเฉพาะอาการหลงลืมและยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่จะเป็นมากเมื่อเวลาผ่านไป อาการดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรม และอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ตามมา ซึ่งอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยสมองเสื่อมมีดังนี้

•    ความจำเสื่อม โดยเฉพาะความจำระยะสั้น หรือมีความบกพร่องในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมากเกินวัย เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุใกล้เคียงกัน เช่น การวางของแล้วลืม จำนัดหมายที่สำคัญไม่ได้ ลืมไปแล้วว่าเมื่อสักครู่พูดอะไร ใครมาพบบ้างในวันนี้ และหากมีความรุนแรงมากขึ้น ความจำในอดีตจะเสื่อมด้วย
•    ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ เช่น ลืมไปว่าจะปรุงอาหารชนิดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เคยทำมาก่อน
•    มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น พูดไม่รู้เรื่อง พูดซ้ำๆ ซากๆ เรียกชื่อคน หรือสิ่งของผิดเพี้ยนไป ลำบากในการหาคำพูดที่ถูกต้อง ทำให้ผู้อื่นฟังไม่เข้าใจ
•    มีปัญหาในการลำดับทิศทางและเวลา ทำให้เกิดการหลงทาง หรือกลับบ้านตัวเองไม่ถูก
•    สติปัญญาลดลง การคิดเรื่องยากๆ หรือคิดแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ มีการตัดสินใจผิดพลาด
•    วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอาเตารีดไปวางในตู้เย็น เอานาฬิกาข้อมือใส่เหยือกน้ำ เป็นต้น
•    อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เช่น เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวสงบ
•    บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ซึมเศร้า หรืออาจมีบุคลิกที่กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ จึงต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา


เนื่องจากสาเหตุของโรคสมองเสื่อมมีมากมายหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีอาการน่าสงสัย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อให้ทราบว่า ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร

อายุรแพทย์ระบบประสาท กล่าวถึงแนวทางการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมว่า เมื่อมีอาการผิดปกติแพทย์จะให้ทำแบบคัดกรอง ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที ซึ่งผลจากแบบคัดกรองดังกล่าว สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยอยู่ในข่ายน่าสงสัยว่าอาจมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ หากผลตรวจบ่งไปในทางที่น่าจะเป็นปัญหาสมองเสื่อม แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคต่างๆ ภายนอกสมองที่อาจมีผลต่อความจำหรือภาวะสมองเสื่อม เมื่อแยกโรคทั่วไปออกแล้ว แพทย์จะทำการตรวจส่วนของปัญหาภายในสมอง ซึ่งจะต้องแยกโรคติดเชื้อ เนื้องอก โพรงน้ำไขสันหลังขยายตัว เส้นเลือดตีบออกไปจากภาวะสมองเสื่อมหรือฝ่อ โดยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสมต่อไป

สำหรับบุคคลทั่วไป หรือผู้ที่สงสัยว่าคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติที่อาจมีความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม สามารถเข้าไปทำแบบคัดกรองภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์เบื้องต้นได้ที่//www.vejthani.net/Alzheimer_test/ ซึ่งจะประเมินด้วยคะแนน ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม

วิธีการรักษา

สำหรับการรักษาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ปัจจุบันมียาหลายชนิด ทั้งในรูปแบบของยารับประทาน และแผ่นแปะที่สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดยอาการอาจจะไม่กลับมาดีเหมือนเดิม แต่ทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ลดความรุนแรงของของอารมณ์ลงได้

นายแพทย์ชยานุชิต กล่าวโดยสรุปว่า ในคนทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้นบางครั้งอาจมีอาการหลงๆ ลืมๆ ได้บ้าง แต่อาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อม จะมีลักษณะแตกต่างออกไป คืออาการหลงลืมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ จำเรื่องราวเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าเป็นมากขึ้น อาจจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร หรือแม้กระทั่งไม่สามารถพูดได้เป็นประโยค ซึ่งจะนำความลำบากมาสู่การใช้ชีวิตประจำวัน คนรอบข้างต้องเข้าใจและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com

 

ที่มา ไทยรัฐ




Create Date : 06 พฤษภาคม 2555
Last Update : 6 พฤษภาคม 2555 17:49:03 น.
Counter : 483 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kaweejar
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]