มิตตันดร ตอนที่ ๒
มิตตันดร

ตอนที่ ๒

“สวัสดีครับ”
เจ้าของเสียงทักทายเป็นเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้น ๆ ที่วิ่งฝ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวมาตามถนนข้างตลาดท่าล้อตรงมายังชายหนุ่มที่เตร่รอบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของพม่า

เด็กหนุ่มยกมือไหว้เสียสวยงาม ใบหน้าเปื้อนยิ้มสวมแว่นตานั้นดูเป็นคนอารมณ์ดีอยู่ไม่น้อย

“ผมชื่อ คัมภีระ ครับ... คุณคงจะเป็นคุณชินนุตสินะครับ ทางสำนักพระราชวังไชยพระเกตุว่าจ้างให้ผมมารับคุณเข้าไปยังนครรัฐของเรา”

“นายมีชื่อเล่นไหม?” ชายหนุ่มรู้สึกว่า ชื่อจริงของน้องตรงหน้าช่างเรียกยากเสียนี่กระไร

“พี ครับ เรียกผมว่า พี ก็ได้” เด็กหนุ่มชื่อ พี หรือ คัมภีระ กุลีกุจอ “มีอะไรให้ผมช่วยถือไหม?”

“ไม่เป็นไร” ชายหนุ่มปฏิเสธ “เราต้องรออีกนานไหมละเนี่ย?”

คัมภีระก้าวเข้าไปในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของพม่า ไม่กี่อึดใจ เด็กหนุ่มก็ยิ้มร่าออกมา “เรียบร้อยแล้วครับ”

“งั้นก็ไปกันเถอะ รถจอดตรงไหนละ?”

“ผมจอดไว้หลังตลาด” แม้จะพูดภาษาไทยไม่ชัดเท่ากับเจ้าของภาษา แต่เด็กหนุ่มก็พยายามหัดเท่าที่จะทำได้ “เป็นรถเช่าเหมาพร้อมคนขับ ตามกฎหมายของพม่าและไชยพระเกตุ”

เขาพยักหน้า ในบทความสารคดีท่องเที่ยวเกี่ยวกับไชยพระเกตุที่แพร่หลายอยู่น้อยนิดและหายาก ได้ระบุว่า การเดินทางเข้าไปในประเทศพม่า เพื่อผ่านไปยังไชยพระเกตุ ใช้ข้อบังคับเช่นเดียวกับการเดินทางไปท่องเที่ยวยังเมืองเชียงตุง หรือเมืองลา ของประเทศพม่า นั่นคือ ต้องมีไกด์ที่มีบัตรอนุญาตนำไปด้วย ๑ คน ไม่อนุญาตให้เดินทางตามลำพัง หากมาเป็นหมู่คณะ ต้องติดต่อบริษัททัวร์ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ให้จัดเตรียมรถบัสไว้รองรับด้วย หรือถ้าเดินทางมาคนเดียว ไม่เกินสามคน ก็สามารถเช่ารถเก๋งพร้อมคนขับได้ คัมภีระ เล่าให้ฟังว่า ทางสำนักพระราชวังไชยพระเกตุเจ้าของโครงการเกรงว่า ชายหนุ่มจะไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะรถเก๋งเท่าที่มีให้เช่าในดินแดนแถบนี้ จะเป็นรถรุ่นกลาง ๆ ไปจนถึงเก่าเก็บ จึงลงทุนซื้อรถมือสองคันใหม่คันหนึ่งนำเข้าจากประเทศจีน เป็นรถโฟร์วีลสี่ประตู ดูแข็งแรงลุยงานได้ มอบให้ใช้ในโครงการนี้เลย และนำมารับเขาที่ชายแดนไทย – พม่าอีกด้วย

แม้จะนั่งในตอนหน้าคู่กับคนขับ แต่เจ้าตัวออกจะพอใจที่ได้หันหลังคุยกับแขกผู้มาเยือนอย่างชินนุตด้วยความเบิกบานใจ คัมภีระ เป็นชาวไชยพระเกตุ หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ชาวไทเกด ซึ่งเป็นชาวไทเช่นเดียวกับ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยวน หรือไทลื้อ ซึ่งเป็นชาวไทที่อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิมดินแดนแถบนี้ ก่อนจะอพยพและถูกเทครัวลงไปยังอาณาจักรล้านนา

“คนขับเป็นคนเชียงตุง แต่เขาเคยขับไปไชยพระเกตุอยู่”

คัมภีระ อธิบาย ขณะรถยนต์แล่นไปตามถนนผ่านจุดตรวจของทหารพม่าในเมืองท่าขี้เหล็ก คนขับรถสวมหมวกแคป ผิวคล้ำและท้วมเล็กน้อย มีเพียงความเคร่งขรึมปรากฏอยู่บนใบหน้า

“พีพูดภาษาไทยได้เก่งเลยทีเดียว” ชินนุตเอ่ยปากชม

“ผมเรียนจบมัธยมปลายในโรงเรียนที่เชียงรายครับ แต่ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่สิงคโปร์ แล้วถึงกลับมาทำงานที่ไชยพระเกตุ” คัมภีระ เฉลย

เด็กหนุ่มยังขยายความให้ฟังอีกว่า ขณะที่เรียนที่สิงคโปร์นั้น เขาได้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพิ่มเติม ทำให้พูดได้ถึง ๖ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาไทเกดอันเป็นภาษาราชการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายภาษาพม่าผสมกับภาษาไทใหญ่ ทำให้พูดภาษาพม่า และไทยใหญ่ได้อีกด้วย ส่วนการส่งลูกหลานออกไปเรียนยังต่างประเทศนั้น เป็นธรรมเนียมของขุนนางและคหบดีชาวไทเกด ที่พอมีทุนทรัพย์ส่งเสียได้ พ่อของคัมภีระ ชื่อ กองงาย เป็นข้าราชบริพารในส่วนงานต้อนรับอาคันตุกะของสำนักพระราชวังไชยพระเกตุ ส่วนแม่ของเขาเป็นเจ้าของสวนผลไม้ขนาดใหญ่ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีนได้เงินมากโข ตอนนี้ คัมภีระ เปิดบริษัททัวร์กับเพื่อน และเปิดร้านอาหารอยู่ตรงถนนริมแม่น้ำแสง แม่น้ำสายหลักของนครรัฐไชยพระเกตุ งานนี้พ่อของเขามอบหมายให้มารับชายหนุ่มในนามสำนักพระราชวังไชยพระเกตุ



ถนนที่มุ่งสู่ไชยพระเกตุซึ่งเป็นถนนเส้นเดียวกับที่ตรงไปยังเชียงตุงนั้น แม้จะเป็นถนนลาดยางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา แต่สภาพไม่ค่อยดีนัก รถจึงเคลื่อนตัวด้วยความเร็วปานกลางสลับกับการชะลอเป็นพัก ๆ เพื่อหลบหลุมถนน ทิวทัศน์สองข้างทาง คือ ภูเขาลูกใหญ่ที่มีป่าไม้เขียวขจีลูกแล้วลูกเล่า กับแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งไหลเชี่ยวกรากผ่านโขดหินน้อยใหญ่ที่อยู่เบื้องล่าง นาน ๆ ถึงจะมีรถสวนมาสักคันหนึ่ง ถ้าไม่ใช่รถทหารก็เป็นรถโดยสาร หรือรถบรรทุกสินค้า หมู่บ้านรวมกระจุกตัวกันเป็นกลุ่ม ค่อนข้างอยู่ไกลกัน ชายหนุ่มอดสงสัยไม่ได้ว่า หากมีเจ็บป่วยหรือมีเรื่องฉุกเฉินเกิดขึ้น เขาจะติดต่อกันได้อย่างไร ในเมื่อการสื่อสารอื่น ๆ ก็แทบจะไม่เห็นร่องรอย

คัมภีระ บอกให้คนขับรถจอดแวะที่เมืองท่าเดื่อเป็นจุดแรก คนขับเลี้ยวเข้าไปจอดกลางลานโล่งที่ปราศจากผู้คนและรถคันอื่นจอดอยู่ เด็กหนุ่มเปิดประตูรถตรงไปยังห้องน้ำที่อยู่ด้านหลังร้านอาหารแห่งหนึ่ง ส่วนชายหนุ่มซึ่งมานั่งมาในตอนหลังของรถค่อยเปิดประตู หลังจากที่ทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว เขาก็ล้วงกระเป๋าหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา ไม่มีสัญญาณหลงเหลือสักขีดเดียว เพราะทางการยังไม่อนุญาตให้มีการเชื่อมต่อสัญญาณข้ามประเทศ ถ้าจะใช้โทรศัพท์ติดต่อกลับมายังประเทศไทย อาจต้องรอถึงเมืองไชยพระเกตุถึงจะใช้โทรศัพท์แบบเชื่อมต่อสายสัญญาณได้



สองข้างทางยังคงเป็นภูเขาสูงซึ่งแทบไม่มีที่ราบ ชาวบ้านจึงพากันถางผืนดินตามไหล่เขากลายเป็นผืนนาแบบขั้นบันได แต่เนื่องจากเป็นฤดูแล้ง ท้องนาจึงดูแห้งเหี่ยวอับเฉาไปหมด ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา รถเริ่มแล่นเข้าสู่เขตเมืองพยาก หมู่บ้านและชาวบ้านเริ่มมีให้เห็นกันขวักไขว่ คัมภีระ ลงจากรถไปติดต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ณ จุดตรวจของทางการพม่าอีกครั้ง เส้นทางสายหนึ่งที่ทอดตัวจากเมืองแห่งนี้ไปทางตะวันตกไม่ไกลนัก จะถึงเมืองยอง เมืองบรรพบุรุษส่วนหนึ่งของชาวลำพูน ซึ่งในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กวาดต้อนชาวบ้านแบบเทครัว มายังเมืองลำพูน เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังไพร่พลให้แก่ล้านนาในยุคฟื้นฟูบ้านเมือง หลังจากที่พม่าเข้ายึดปกครองมานาน โชคดีที่กษัตริย์นครรัฐไชยพระเกตุได้ผูกสัมพันธ์และทำการค้าขายกับล้านนาตั้งแต่สมัยโบราณกาล พระเจ้ากาวิละจึงไม่ได้ยกทัพเข้าตี

“นี่ก็สิบโมงแล้ว เราจะแวะกินข้าวที่นี่ หรือไปกินที่บ้านปางควายดีครับ?” คัมภีระ ถาม เพราะเมืองพยากมีร้านอาหารอยู่หลายร้าน และเป็นจุดแวะพักอีกแห่งหนึ่งด้วย

“ผมไม่รู้จักสักที่เลยแหะ” ชินนุต หัวเราะ “แล้วแต่พีเถอะครับ”

“งั้นก็ไปกินบ้านปางควาย มีของดีให้ซื้อด้วยครับ เผื่อจะสนใจ”

‘ของดี’ ที่ว่า คือเหล้าต้มอย่างดีที่ชาวบ้านหมู่บ้านปางควายผลิตขึ้นมาเองตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คัมภีระเล่าให้ฟังว่า รสชาติของมันร้อนแรงยิ่งนัก
เขาสอบถามเกี่ยวกับการซื้อของใช้ในไชยพระเกตุ ไกด์หนุ่มอธิบายว่า เมื่อก่อนนี้ สินค้าต่าง ๆ มักถูกคัดกรองโดยทหารพม่าก่อนเสมอบนเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองเชียงตุง และไชยพระเกตุ บางครั้งก็อาจอันตรธานหายไประหว่างการขนส่งหรือการเปิดเพื่อตรวจค้นตามด่านต่าง ๆ จนกระทั่งเมื่อหลายเดือนก่อน ไชยพระเกตุก็บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าในการขนส่งระหว่างพรมแดน ในการนำสินค้าจากจีนและไทยเข้ามายังเส้นทางผ่านพม่าซึ่งเป็นเส้นทางเข้าเมืองเพียงเส้นทางเดียว โดยใช้รถบรรทุกของทางไชยพระเกตุซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการ ทำให้การขนส่งเริ่มสะดวกขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ค่าขนส่งก็แพงลิบลิ่วเสียจนสินค้านำเข้าทุกอย่างมีราคาสูงตามไปด้วย

“เราเลยใช้ของจากจีนกัน เพราะมีราคาถูกกว่า สามารถนำเข้าจากพรมแดนของเราได้โดยสะดวก” คัมภีระ เอี้ยวตัวมาบอก

“ผมลืมถามพีไปเลย แล้วเขาจัดให้ผมพักที่ไหน?”

ไกด์หนุ่มทำท่านึกอยู่ครู่หนึ่ง “ผมได้ยินพ่อคุยกับเจ้ากรมว่า ทางสำนักพระราชวังจัดให้คุณไปพักที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง ผมทราบมาเพียงเท่านี้ เดี๋ยวคุณเจอพ่อผมตอนถึงไชยพระเกตุไว้ถามท่านอีกครั้งหนึ่งแล้วกันครับ”

ช่างเถอะ...! ชายหนุ่มคิด อย่างน้อยก็ให้ไปถึงไชยพระเกตุเสียก่อน เรื่องอื่น ๆ ค่อยว่ากัน เพราะยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องทำ!



คัมภีระ ปฏิเสธที่จะทานข้าวกับเขา เด็กหนุ่มเดินเตร็ดเตร่ไปหาของกินอย่างอื่น เช่นเดียวกับคนขับรถที่ไปหาอะไรกินตามลำพัง ชายหนุ่มจึงหาอะไรง่าย ๆ ทานแถวนั้น ซึ่งหน้าตาอาหารก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองไทย แถมคนขายยังพูดภาษาไทยได้คล่องปรื๋อ เสร็จแล้วจึงซื้อเหล้าซึ่งบรรจุขวดพลาสติกขนาดใหญ่ ใส ไม่มีสี ขวดหนึ่ง กับเหล้าที่มีสีออกเขียวอ่อน ๆ ทำจากข้าวเม่าซึ่งจะมีกลิ่นหอมเล็กน้อยอีกขวดหนึ่ง ใส่ถุงแล้วเดินตรงมายังรถที่จอดอยู่ เขาเห็นกิจวัตรอย่างหนึ่งของชาวพม่านั่นคือ เวลาขี่รถจักรยานยนต์ทางไกลแบบนี้ มักจะจอดพักตามจุดแวะพักต่าง ๆ แล้วใช้น้ำจากสายยางที่ต่อไว้บริการ รดลงบนตัวเครื่องที่ร้อนจี๋จนควันขึ้น เห็น คัมภีระ เคยบอกเขาว่า ชาวพม่าเห็นว่าเป็นการช่วยถนอมเครื่องยนต์ไม่ให้ร้อนเกินไป

“กินข้าวแล้วหรือครับ?”

เขาชะงักขณะกำลังเอื้อมมือไปเปิดประตูรถ สำเนียงเช่นเดียวกับคนไทใหญ่พูดภาษาไทย คนขับรถนั่นเอง! แกกำลังพ่นควันบุหรี่อย่างสำราญ

“เรียบร้อยแล้วครับ” ชายหนุ่มยิ้มให้นิดนึง แล้วในที่สุด คนขับรถก็พาตนเองกลับไปสู่มาดเคร่งขรึมตามเดิมอย่างน้อยก็พอรู้ว่า คนขับรถพูดภาษาไทยได้เล็กน้อย

“คุณชินนุตอยากแวะเที่ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนไหมครับ? จะชวนแวะที่บ้านนาฟาน เมื่อวานผมผ่านมากับคนขับรถ เห็นเขามีงานทำบุญกันน่าสนุกเชียว เผื่อได้หาข่าวหรืออะไรเขียนลงบทความเป็นการทดลองมือไปก่อน?”

“ทดลองมือ....” ชายหนุ่มพึมพำ “ซ้อมมือมากกว่ามั้ง?”

“ทดลองถูกแล้ว” คัมภีระขมวดคิ้ว ทำหน้าเคร่งใส่คนพูด “ทดลอง ก็เหมือนซ้อมนั่นแหละครับ ลองทำไปก่อน อะไรทำนองนี้ไงครับ”

“ผมได้ยินแต่คำว่า ซ้อมมือ ตลอดนะ”

“ไม่ ๆ ๆ” คราวนี้อีกฝ่ายไม่ลดละ “ทดลองถูกแล้วครับ”

ชินนุตนึกขำที่ให้คนที่ไม่ได้พูดภาษาไทยโดยกำเนิดมาสอนสำนวนให้ เลยยอมไกด์หนุ่มโดยดุษณี

“แวะนานไม่ได้หรอกมั้งครับ? เดี๋ยวเราไปถึงไชยพระเกตุค่ำเกิน”

“ประมาณครึ่งชั่วโมงได้อยู่ครับ” คัมภีระตอบ บ้านนาฟาน คือหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างรอยต่อของเชียงตุงกับนครรัฐไชยพระเกตุ จากหมู่บ้านแห่งนี้ไปไม่เกิน ๓๐ นาที ก็จะถึงชายแดนไชยพระเกตุ และอีกเพียงไม่เกินสองชั่วโมงก็จะถึงตัวเมืองไชยพระเกตุ

“ไม่น่าจะเกินสี่โมงเย็น” คัมภีระ เอี้ยวตัวจากที่นั่งข้างคนขับมาคุยกับเขา “รับรองว่าไปถึงไชยพระเกตุแล้ว ยังมีแดดให้เห็นอยู่”

เงียบกันไปสักพักเพราะถนนเริ่มขรุขระ ขบวนเดินทางต้องหยุดตามด่านเก็บค่าผ่านทางต่าง ๆ ไกด์เป็นผู้นำเอกสารผ่านทางวิ่งไปที่อาคารสำนักงานของด่านซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ชั้นเดียว เจ้าหน้าที่ทหารพม่าจำนวนมากกลับนุ่งโสร่งมากกว่าจะสวมเครื่องแบบ ผ่านได้เกือบครึ่งทาง คัมภีระก็ซักถามผู้มาเยือนด้วยความใคร่รู้

“คุณชินนุตเป็นทหารด้วยหรือครับ?”

“เรียกผมว่า เกิง ดีกว่า... เกิงเป็นชื่อเล่นของผม แล้วเลิกเรียกว่า คุณ เถอะนะ... เรียกว่าพี่จะดีกว่า” เขาทิ้งความเป็นทางการลง เพื่อทำความสนิทสนมกับอีกฝ่าย เพราะเชื่อว่าชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปในไชยพระเกตุคงต้องพึ่งน้องชายคนนี้อีกมาก

“ครับ พี่เกิง” คนช่างซักขานรับ แต่ก็ยังช่างสงสัย“ชื่อแปลกดีจังเลยนะครับ เกิง... เป็นภาษาไทยหรือครับ? ... แปลว่าอะไรหรือครับ?”

“พี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เคยเปิดพจนานุกรม เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเขียนบทกลอน คุณแม่ของพี่เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อท่านเป็นคนตั้งให้”

“ถ้าเป็นภาษาไทเกด เกิง คล้าย ๆ กับคำว่า เกิ่ง ที่แปลว่าครึ่ง”

“ครึ่งบกครึ่งน้ำหรือเปล่า...” คนพูดกลั้วหัวเราะ

“พี่เกิงยังไม่ได้ตอบคำถามผมเลย ว่าเป็นทหารหรือเปล่า?”

“ในเอกสารก็ระบุว่าพี่เป็นทหารไม่ใช่หรือ?” เขาย้อนถามแบบสนุก ๆ ก่อนจะตอบจริงจัง “เป็นทหารถูกแล้วครับ สังกัดกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์”

“นั่นสิ! แล้วพี่มาเป็นนักเขียนได้ยังไงครับ?” คัมภีระ ขมวดคิ้ว “ประเด็นนี้แหละที่ผมสนใจ”

“อ๋อ!” ก็นึกว่าเรื่องอะไร อีกฝ่ายเลยอธิบาย “พี่ชอบขีด ๆ เขียน ๆ แล้วก็ชอบท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายมาแล้ว เริ่มจากที่ใกล้ ๆ ในตัวเมือง พอเข้าเตรียมทหาร ช่วงปิดเทอมกลับบ้าน ก็หาโอกาสไปเที่ยวไกล ๆ หลายวันติดต่อกัน เอาประสบการณ์มาเขียนเป็นบันทึกลงในบล็อก ช่วงแรกก็มีเพื่อน ๆ เข้ามาอ่าน... มาคอมเมนท์กัน พอนานเข้า ๆ เพื่อนบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ เลยมีคนตามเข้ามาอ่านมากขึ้น ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ไอ้เราก็เลยมีกำลังใจทำ มันก็เลยได้ฝึกฝนผลงานตรงจุดนี้ด้วย”

“เดี๋ยวถ้าไปถึงไชยพระเกตุแล้ว พี่จดเวบไซต์บล็อกให้ผมหน่อยสิครับ ผมจะลองเข้าดู แต่อินเตอร์เนทที่โน่นก็ยังช้ามาก ๆ ยังดีที่พอเล่นได้” เด็กหนุ่มใครรู้ “แล้วพี่ไปเที่ยวเยอะไหมครับ? เฉพาะในประเทศไทยหรือว่าต่างประเทศครับ?”

คนถูกถามพยักหน้า “ทั้งสองอย่างแหละ... ในประเทศก็ไปเยอะพอสมควร บางทีก็เป็นที่เที่ยวในกรุงเทพฯหรือว่าใกล้ ๆ กรุงเทพฯ เพราะผมออกต่างจังหวัดนานมากไม่ได้ ติดภารกิจ หัวหินก็ไปบ่อยนะ บางทีก็ไปกลับเอา เช่น แถวนครปฐมก็มีที่เที่ยวเยอะ ส่วนต่างประเทศก็นับเอาได้เพราะต้องดูงบประมาณด้วย แถวเอเชียอย่างฮ่องกงก็พอไหว อังกฤษ กับฝรั่งเศสก็เคยไปมาละ แต่ยุโรปประเทศอื่น กับอเมริกายังไม่เคยไป”

“โห!” คัมภีระอุทาน “พี่เดินทางเยอะแยะเลย... มิน่าละ ผลงานพี่ก็เลยเข้าตาโครงการของเราใช่ไหมครับ?”

“จะว่าอย่างงั้นก็ได้” ชินนุต สรุปให้ เพราะเจ้าตัวเองก็ยังไม่แน่ใจว่า ที่ต้องรอนแรมมาถึงไชยพระเกตุนี่ เป็นเพราะความสามารถ หรือว่าความบังเอิญ หรือว่าทั้งสองอย่างกันแน่!?!?



กองงาย เป็นหนุ่มใหญ่วัยห้าสิบต้น ๆ ที่ยังดูแข็งแรงทะมัดทะแมง ร่างท้วมเตี้ยนั้นช่างแตกต่างจากผู้เป็นลูก คือ คัมภีระ เสียนี่กระไร

บนถนนหลังพระราชวังหลวงออกไปไม่ไกลนัก มีย่านชุมชนคหบดีเก่าแก่ของไชยพระเกตุตั้งอยู่ บ้านแต่ละหลังถึงแม้ว่าจะมีรั้วชิดติดกัน แต่อาณาบริเวณกลับกว้างขวางใหญ่โต และเต็มไปด้วยความร่มรื่น ด้วยปลูกสร้างมานาน วันนี้เขามีนัดดูบ้านเช่าหลังหนึ่งให้กับชายหนุ่มผู้มาจากเมืองไทย ตามโครงการสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของสำนักพระราชวังไชยพระเกตุ อันที่จริง กองงายซึ่งทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะผู้ประสานงานโครงการต้องพยายามอยู่หลายวันกว่าจะควานหาบ้านเช่าได้ เนื่องจากในไชยพระเกตุไม่มีธุรกิจให้เช่าบ้าน ประชาชนนิยมสร้างบ้านให้พออยู่เฉพาะครอบครัวเท่านั้น แม้จะเป็นห้องเช่าก็ต้องเป็นโรงแรม หรือไม่ก็เช่าตึกแถวทั้งคูหาอยู่อาศัยไปเลย ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เหล่าผู้บริหารโครงการ บ้านเช่าหลังนี้ จึงมีความเหมาะสมยิ่งนัก เนื่องจากมีความเป็นส่วนตัว มีประตูเข้าออกได้อีกทางหนึ่ง ส่วนเจ้าของบ้านอาศัยอยู่บนตึกใหญ่สองชั้นทรงยุโรป ที่ถึงแม้จะเก่าแก่ตามกาลเวลา หากยังดูงดงามอยู่ในที เมื่อสองวันก่อนเขาก็ได้ไปสำรวจบ้านมาแล้ว

ประตูรั้วด้านหน้าทำไม้หนาหนัก ปิดสนิท มีประตูไม้อันเล็กอีกบานหนึ่งใช้สำหรับเป็นทางเข้าออก กองงาย กดกระดิ่งเป็นสัญญาณเรียก ราชโปริมนายหนึ่งเปิดประตูให้

“ผมมาเข้าเฝ้าฯ เจ้านางโคมศรีทิพยาครับ”

เจ้านางโคมศรีทิพยาในวัยแปดสิบปี ยังกระฉับกระเฉงว่องไว หัวขาวโพลน เป็นพระธิดาในเจ้าฟ้าชายพระองค์หนึ่งผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าไชยนครินทร์ กษัตริย์ผู้ปกครองไชยพระเกตุพระองค์ที่ ๑๓ กับนางสนม ทรงประสูติภายหลังจากที่พระเจ้าไชยนครินทร์ทรงสวรรคตไปแล้วหลายสิบปี ดังนั้น พระองค์จึงดำรงพระชนม์ชีพร่วมสมัยเดียวกับกษัตริย์พระองค์ปัจจุบันของไชยพระเกตุ ซึ่งเป็นพระองค์ที่ ๑๖ พระเจ้าติสสะ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเจ้านางในฐานะกุลเชษฐ์ หรือญาติผู้ใหญ่แห่งพระราชวงศ์

“หม่อมฉันขอเบิก นายกองงาย เข้าเฝ้าฯ เพคะ” นางกำนัลหน้าห้องรับรองบนตึกใหญ่กราบทูลเจ้านางซึ่งทรงประทับอยู่เพียงพระองค์เดียว

“เข้ามาสิ” เจ้านางผู้ทรงศักดิ์ทรงสวมชุดผ้าซิ่น เสื้อคอแขนกระบอกพอดีตัว ประทับอยู่บนพระเก้าอี้โยก ริมหน้าต่างบานยาวจรดพื้น ภายในห้องตกแต่งแบบตะวันตกทั้งสิ้น โคมระย้ากลางห้องวิจิตร ดอกไม้สดใส่แจกันคริสตัลประดับไว้ตามโต๊ะ และชั้นวางต่าง ๆ กองงายทรุดตัวลงคลานเข่าเข้าไปกราบตรงหน้า

“บางทีข้าก็อดคิดไม่ได้ว่า เหตุไฉนท่านหัวหน้าโครงการอย่างท่านราชเลขานุการในพระองค์ถึงไม่ยอมมาพบข้า แต่ถึงส่งเจ้ามาติดต่อข้าแทนเขาอยู่เนือง ๆ ขนาดหลายวันก่อน พาช่างภาพมาเข้าเฝ้าฯ ก็ปล่อยให้เขามาเอง นี่ถ้านางไม่มีเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายชุมเงิน ธรรมเนียมการเข้าเฝ้าอะไรต่าง ๆ ก็คงมีหลุดกันบ้างละ”

กองงาย เหลือบมองต้นห้องของเจ้านางโคมศรีทิพยาอย่างอึดอัด ก่อนจะกราบทูลด้วยเสียงอันเบา

“ต้องขอประทานอภัยถ้าหากหม่อมฉันทำให้พระองค์รู้สึกไม่สบายพระทัย”
ผิดคาดที่เจ้านางผู้ทรงศักดิ์ทรงพระสรวล “ข้าไม่ได้เคืองนะ กองงาย แต่นั่นเป็นข้อสังเกตจากเราเท่านั้น”

เงียบกันไปชั่วขณะหนึ่ง จนเจ้านางโคมศรีทิพยาเป็นฝ่ายตรัสขึ้น

“จะมาดูบ้านละสินะ... แล้วเขาจะมาอยู่ตั้งแต่เมื่อใดกัน?”

“เย็นวันมะรืน พะย่ะคะ” กองงายนั่งพับเพียบกับพื้นที่ปูพรมนุ่ม

“ถ้าเข้ามาวันมะรืนนี้ คงไม่ได้พบกัน เพราะฉันจะไปค้างที่ชุมเงินสักระยะหนึ่ง พรุ่งนี้เช้าก็จะออกเดินทางแล้ว”

“ปีนี้ไปเสด็จเร็วกว่าปกตินะพะย่ะคะ” กองงาย ทราบดีเช่นเดียวกับประชาชนชาวไชยพระเกตุทั้งหลายว่า เจ้านางผู้นี้ มักทรงเสด็จไปประทับตากอากาศ ที่หัวเมืองหนึ่งของนครรัฐ ที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไป ชื่อ พระแก้วหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่พระเจ้าอานันทะฤาไชยทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้เปลี่ยนมาตั้งแต่ครั้งสถาปนานครรัฐ แต่ชาวไชยพระเกตุส่วนใหญ่ มักเรียกเมืองนี้ว่า ชุมเงิน ตามชื่อเดิม

เมืองชุมเงินเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่ในหุบเขาสูง การเดินทางไปเมืองนี้ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวัน เนื่องจากเส้นทางคดเคี้ยวที่ไต่ตามไหล่เขาสูงชัน และถนนหนทางที่ยังทุรกันดาร กองงาย เคยเดินทางไปยังเมืองนี้เพียงสองครั้งซึ่งล้วนแต่เป็นธุระส่วนตัวทั้งสิ้น เขายังจดจำภาพของเมืองที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น กระจายตัวอยู่ในหุบเขาเล็ก ๆ ป่าไม้และลำธารอันอุดมสมบูรณ์ แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นที่นี่ และที่สำคัญ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไป

“อากาศที่นี่เริ่มร้อนอบอ้าว ทำให้ฉันไม่ค่อยสบายนัก” เจ้านางทรงตรัสเรียกใครอีกคนที่ยืนหลบอยู่ตรงมุมห้อง “แม่ใหญ่... มานี่หน่อย เคยคุยกับกองงายแล้วไม่ใช่หรือ?”

“เคยแล้วเพคะ” แม่ใหญ่เป็นหญิงสาวเจ้าเนื้อผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเหล่าข้าราชบริพาร อายุอานามราว ๖๐ ปีเศษ แต่งกายละม้ายคล้ายกับผู้เป็นเจ้านาย

“งั้นแม่ใหญ่ช่วยจัดการเรื่องให้เรียบร้อยด้วยละกัน ตัดสินใจตามสมควรไปได้เลย ฉันอนุญาต” เจ้านางโคมศรีทิพยาตรัสกับข้าหลวงคนสนิทที่อยู่ด้วยกันมาช้านาน “มีอะไรก็แจ้งแม่ใหญ่ได้ ในระหว่างที่ฉันไม่อยู่ หากมีปัญหาหรือไม่ได้รับความสะดวกก็ให้มาคุยกับแม่ใหญ่ได้เลย แม่ใหญ่ไม่ได้ไปกับฉัน เขาพักที่เรือนหลังเล็กทางซ้ายมือของตึกนี่เอง”

ประโยคหลังนี้ เจ้านางตรัสกับกองงายโดยตรง

“เป็นพระกรุณาพะย่ะคะ...”




“เรารู้ดีพอ ๆ กับที่ท่านรู้นั่นแหละ ท่านกองงาย ว่าแท้จริงแล้ว ท่านราชเลขานุการในพระองค์พระเจ้าติสสะ ก็ไม่โปรดเข้าเฝ้าฯ เจ้านางโคมศรีทิพยา เพราะเกรงพระทัยพระเจ้าหลวงที่ทรงไม่ถูกกันกับเจ้านางของฉัน”

กองงายกลืนน้ำลายดังเฮือก เพราะเสียงของแม่ใหญ่ดังไปทั่วบริเวณ นางคงถือว่านี่เป็นเขตพระราชฐานของเจ้านายของนาง แถมยังปราศจากบุคคลที่สามอยู่แถวนั้น ถึงอย่างไรก็ตาม เขาเองก็ไม่อยากนินทาเจ้านาย

“ก็เป็นเรื่องของพระองค์ท่าน บางทีเราก็ไม่อาจเข้าใจก็ได้นะครับ”

“ถ้าจะพูดให้ถูก... ไม่ใช้พระเจ้าหลวงหรอก องค์ที่ไม่ถูกด้วยกับเจ้านางของฉัน น่าจะเป็นหม่อมมารดาของพระองค์มากกว่า”

“แม่ใหญ่!” คราวนี้ เสียงกองงายเข้มขึ้น “พระมารดาของพระเจ้าหลวงไม่ใช่หม่อมนะครับ แต่เป็นถึงที่เสด็จย่าทวดของพวกเราเชียวนะ”

“ท่านจะว่าอย่างไรก็ได้ ฉันก็ขอเรียกองค์นี้ว่า หม่อม ตามพื้นเพเดิม.... ตามศักดิ์และสิทธิ์ที่แท้จริงขององค์เอง”

กองงายขี้คร้านจะเถียงให้เป็นเรื่องต่อความยาวสาวความยืด ไชยพระเกตุยังคงปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ผู้มีอำนาจเต็มสมบูรณ์ ดีไม่ดี... งานนี้อาจจะได้หัวหลุดจากบ่ากัน!

เส้นทางเดินที่แม่ใหญ่พากองงายเดินไปดูบ้านเช่านั้น ต้องผ่านอุทยานทางด้านหลังของวังเจ้านางโคมศรีทิพยา หินเจียรตัดเรียบวางเป็นแผ่นปูทางเดินยาวต่อเนื่องไปจนถึงรั้วสูงทางด้านหลัง ต้นหางนกยูงสูงใหญ่หลายต้นยืนโค้งปกคลุมกำลังเริ่มเฉาดอก กิ่งไม้และใบไม้แห้งตกบนทางเดินเป็นระยะ หมู่ดอกลั่นทมดูแห้งเหี่ยวปราศจากชีวิตชีวา ต้นเฟื่องฟ้าไร้ซึ่งดอกหลากสีสันแต่งแต้ม หญ้าที่ปลูกไว้เริ่มตายเป็นตอน ๆ จนเห็นพื้นดินแข็งกระด้าง แปลงชาทองริมแนวทางเดินมีร่องรอยของการตัดแต่งอยู่บ้าง แต่เต็มไปด้วยหญ้าและเครือเถาขึ้นรกเรื้อ แม่ใหญ่คงจะเดาความคิดของผู้ที่เดินตามต้อย ๆ อยู่ด้านหลังได้ จึงเอ่ยขึ้นเสียงเรียบ ๆ

“เจ้านางท่านทางไม่โปรดให้พวกเราเข้ามาปรับปรุงที่ทางทางนี้เท่าไรนัก ไม่เสด็จมาด้วยซ้ำ แต่พวกเราเองเนี่ยแหละอดไม่ไหว บางครั้งฉันก็เลยให้คนสวนเขาเข้ามาทำอะไรบ้าง แต่ก็ไม่มาก”

“เสียดายพื้นที่นะครับ ถ้าบำรุงขึ้นมาเสียใหม่ คงจะสวยไม่แพ้อุทยานทางด้านหน้าเลย” กองงาย นึกถึงสวนแบบอังกฤษที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของตึกใหญ่ สนมังกร และสนฉัตรขึ้นชะลูด แปลงดอกกุหลาบชูช่อสะพรั่งล้อมบ่อน้ำพุประดับตุ๊กตาโรมันนั้นช่างขับความสง่าของตึกทรงยุโรปให้ออกมาได้อย่างสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก

แม่ใหญ่ทำเฉย ไม่ต่อความประโยคดังกล่าว ทั้งสองคนเดินมาจนสุดเขตรั้วปูนสีขาว ก็พบกับประตูลูกกรงเหล็กขนาดเท่าบานประตูบ้าน วงกบเป็นช่องโค้ง มีลายปูนปั้นเป็นรูปเทวดาประทับยืนถือพระขรรค์ชี้ลงอยู่เหนือช่องโค้ง แม่ใหญ่ไขกุญแจที่คล้องโซ่เส้นเขื่องนั้น แล้วก้าวเข้าไป กองงายไม่เคยเข้ามาทางนี้เลย ครั้งแรกที่เขามาดูบ้านหลังนี้ คือ เข้าทางด้านข้างของบ้านจากถนนเส้นหลังวังของเจ้านางโคมศรีทิพยา

แม่ใหญ่ปิดประตูลงโซ่คล้องกุญแจไขปิดไว้ตามเดิม

“เดี๋ยวฉันจะออกทางประตูหน้าของบ้าน” หล่อนหมายถึงประตูด้านข้างทางเดียวกับที่กองงายเข้ามาเมื่อคราวที่แล้ว

แม้ว่าเขาจะเคยเข้ามายังบ้านหลังนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่สำหรับครั้งนี้การผ่านเข้ามาทางอุทยานทำให้กองงายรู้สึกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในโลกอีกแห่งหนึ่ง บ้านหรือเรือนพักตามที่แม่ใหญ่แจ้งผ่านนายหน้าในไชยพระเกตุคนหนึ่งไว้ว่า มีไว้ให้สำหรับผู้สนใจเช่าอยู่ ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีผิดกับสภาพของอุทยานที่เพิ่งผ่านตาไป

บ้านชั้นเดียวธรรมดาหลังคามุงกระเบื้องดินขอตามแบบบ้านทั่วไปในไชยพระเกตุ แต่ว่าผนังก่ออิฐสองชั้นทำให้ภายในอากาศเย็นสบาย ขนาดของบ้านพอดีกับที่ดิน ล้อมด้วยกำแพงวังสีขาวสูงเช่นเดียวกับวังของเจ้านางโคมศรีทิพยา ประตูไม้ด้านหน้ามีขนาดเล็กพอให้รถคันเดียวแล่นผ่านเข้ามาจอดตรงหน้าบ้านได้ ไม้ดอกในกระถางงามสะพรั่ง บ้านทั้งหลังมีเพียงห้องเดียวกว้างขนาด ๔๐ ตารางเมตร พื้นปูด้วยไม้สักขัดมันวับ เครื่องเรือนประกอบด้วยเตียงพร้อมฟูกหนาน่านอนยิ่งนัก ตู้ไม้โบราณสำหรับใส่เสื้อผ้า ตู้หนังสือและโต๊ะไม้เข้าชุดกัน ฉากไม้บุผ้าไหมทอมือลายพื้นเมือง กั้นห้องนอนกับส่วนหน้าของบ้านที่มีตั่งไม้รับรองตั้งไว้ ห้องน้ำเป็นชักโครกอย่างดี ทั้งหมดนี้ เจ้านางโคมศรีทิพยาทรงพระกรุณาในราคาที่ไม่แพงเลย

“ให้กำชับผู้เช่าด้วยว่า โปรดรักษาของด้วย จะให้ดี อย่าทำอะไรแตกหักเสียหาย” แม่ใหญ่พูดขึงขัง

“ได้ครับ” กองงายรับคำ

“เดี๋ยวฉันจะให้คุณตรวจดูรายการของให้เรียบร้อย เมื่อสิ้นสุดโครงการและหมดสัญญาเช่าแล้ว จะได้เป็นพยานว่าอะไรอยู่ครบหรืออะไรหายไปได้”

แม่ใหญ่เปิดประตูบ้านก้าวเข้าไปในส่วนหน้า กองงายก้มลงถอดรองเท้า พอเงยหน้าขึ้นจะเดินตามเข้าไป เขาเหมือนเห็นเงาไหว ๆ อยู่ตรงปลายเตียงนอนหลังฉากกั้น

“มีอะไรหรือคะ?” หล่อนทักเพราะเห็นอีกฝ่ายยืนนิ่งอยู่ตรงประตูบ้าน

“เปล่าครับ...” กองงายตอบได้ไม่เต็มปากนัก

ทั้งสองคนเดินสำรวจสภาพตัวบ้าน น้ำไฟ เครื่องเรือน และของใช้ที่ทางเจ้าของบ้านเตรียมไว้ให้อยู่พักใหญ่ก็เรียบร้อยดี เขาดูนาฬิกาข้อมือ เป็นเวลาเลยเที่ยงมาแล้ว ป่านนี้ นักเขียนจากเมืองไทยยศร้อยเอก กับ พี ลูกชายของเขาคงใกล้มาถึงด่านเมืองเชียงตุงแล้วกระมัง...

“อันที่จริง ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะบอกให้คุณได้ทราบไว้ด้วย”

“ครับ?” กองงายชะงักด้วยคำพูดของแม่ใหญ่

“ฝากบอกผู้มาอยู่ด้วยว่า... เออ... ถ้าเจอเรื่องอะไรแปลก ๆ ก็ไม่ต้องตกใจ”

“เรื่องแปลก ๆ... เอ หมายความว่ายังไงครับ?” กองงายสงสัย

แม่ใหญ่ยิ้มมุมปากแทนคำตอบ
.........................



Create Date : 20 มกราคม 2557
Last Update : 20 มกราคม 2557 16:40:41 น.
Counter : 358 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
มกราคม 2557

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31