กรณีศึกษา: การแปรรูปน้ำในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
| ภัควดี วีระภาสพงษ์ เรียบเรียงจาก No silver bullet Water privatization in Atlanta, Georgia a cautionary tale Frank Koller, CBC Radio | Feb. 5, 2003
เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อเทศบาลเมืองแอตแลนตาแปรรูปการบริหารจัดการระบบน้ำประปาให้อยู่ในมือของบริษัทเอกชนยูไนเต็ดวอเตอร์ หลายคนมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของแนวโน้มใหม่ ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่า แอตแลนตาจะเป็นเมืองนำร่องให้เกิดการแปรรูปน้ำประปามากขึ้นในสหรัฐอเมริกา
แต่ตอนนี้หลายคนต้องคิดใหม่ ถ้าไม่ถึงขั้นเลิกเชื่อไปเลย
บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของบรรษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจน้ำสัญชาติฝรั่งเศส ซูเอซ (Suez) ต้องลาโรงไปจากเมืองแอตแลนตาแล้ว และการแปรรูปน้ำเหลือทิ้งไว้แต่รสชาติขมฝาดแก่ชาวเมืองจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2542 เทศบาลเมืองแอตแลนตาแปรรูปการบริหารจัดการระบบน้ำประปาแก่บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ สัญญาระยะเวลา 20 ปี มีมูลค่าถึง 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เพียงสี่ปีให้หลัง เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 นายกเทศมนตรีเมืองแอตแลนตา นางเชอร์ลี แฟรงคลิน แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนว่า สัญญาทั้งหมดถูกยกเลิก
ฉันยืนอยู่ที่นี่ในวันนี้ พร้อมกับ มร.ไมเคิล เชสเซอร์ ประธานและซีอีโอของบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์เซอร์วิส เพื่อประกาศว่า เทศบาลเมืองแอตแลนตาและบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ได้ตกลงร่วมกันยกเลิกข้อสัญญาที่ให้บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์บริหารจัดการระบบน้ำประปาของเมือง...
นายกเทศมนตรีกล่าวว่า แอตแลนตาจะบริหารจัดการระบบน้ำประปาเองอีกครั้ง
ฉันขอรับประกันแก่ชาวแอตแลนตาทุกคนว่า ระบบน้ำประปาของคุณอยู่ในมือที่ไว้ใจได้
ตอนที่บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ชนะการประมูลสัญญาบริหารจัดการน้ำประปา หลายคนเชื่อว่า ระบบน้ำประปาตกอยู่ในมือที่ไว้ใจได้ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองแอตแลนตาคนหนึ่งกล่าวว่า
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดในการแปรรูป เพราะการประปาเป็นลูกหัวแก้วหัวแหวนของรัฐที่นิสัยเสียไร้ประสิทธิภาพ เป็นหน่วยงานที่นักการเมืองชอบใช้เส้นสายเอาเพื่อนหรือญาติมาฝากเข้าทำงาน มันเป็นหน่วยงานที่มีระบบจัดการไม่ได้เรื่องและใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น
แต่พอผ่านไปสี่ปี สมาชิกสภาเทศบาลคนเดียวกันนี้ถึงกับส่ายหน้าและบอกว่า มันเป็นกรณีตัวอย่างที่คุณภาพถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง เฉพาะในเขตของผม มีหลายสิบครั้งที่เกิดปัญหาน้ำประปาขุ่นคลั่กและมีคำเตือนให้ต้มก่อนดื่ม ในเมืองใหญ่ระดับเวิลด์คลาสอย่างแอตแลนตา เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น มันน่าจะเกิดในประเทศโลกที่สามมากกว่า แต่ไม่ควรมาเกิดขึ้นในแอตแลนตา
ลามาร์ มิลเลอร์ เป็นคุณแม่ลูกสามที่ต้องพึ่งพาเครื่องซักผ้าเสมอ บ้านของนางมิลเลอร์ตั้งอยู่ในย่านชนชั้นกลางมีอันจะกินและอยู่อาศัยที่นั่นมาหลายสิบปีแล้ว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอมีปัญหาเรื่องน้ำเป็นครั้งคราว แต่ไม่เคยเลวร้ายเท่าฤดูร้อนปีสุดท้ายของการบริหารจัดการน้ำด้วยบริษัทเอกชน
เวลาคุณเปิดก๊อกน้ำ คุณก็หวังว่าน้ำจะไหล เธอบ่น แต่ฤดูร้อนปีนี้มีไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่พอคุณเปิดก๊อก กลับไม่มีน้ำไหลสักหยด บางทีก็เป็นชั่วโมง บางทีตั้งสองสามวัน แล้วพอน้ำไหล มันขุ่นยังกับน้ำในคู มันทำให้เสื้อผ้าสีเปลี่ยนไปหมด บริษัทก็ไม่รู้จักเตือนล่วงหน้าว่าจะย้อมสีเสื้อผ้าให้เรา
วันหนึ่ง นางมิลเลอร์บรรจุเสื้อเชิ้ตสีขาวของสามีหลายตัวเข้าไปในเครื่องซักผ้า สามสิบนาทีให้หลัง เสื้อสีขาวกลายเป็นเสื้อสีตุ่น
ในช่วงฤดูร้อนเมื่อแรงดันน้ำต่ำ น้ำจะแดงจนเห็นได้ชัด เธอเล่าต่อ ถ้าคุณสระผม ผมคุณจะเหมือนโกรกด้วยไฮไลท์สีแดงอมส้ม พอจะหยอกกับใครต่อใครว่าคุณมีเชื้อสายไอริชได้ทีเดียว
ในฤดูร้อนปีนั้น ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงทำให้ชาวแอตแลนตาต้องปฏิบัติตามระเบียบการปันส่วนใช้น้ำอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อท่อหัวฉีดดับเพลิงบนถนนหน้าบ้านของนางวอลดา ลาฟรอฟแตกและพ่นน้ำนองถนน นางลาฟรอฟบอกว่า เธอต้องโทรศัพท์แจ้งย้ำซ้ำซากถึง 10 วัน กว่าบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์จะมาจัดการซ่อมให้เรียบร้อย ข้อดีที่พอจะมีอย่างเดียวก็คือ ฟุตบาธแถวนั้นถูกน้ำล้างจนสะอาดเอี่ยม
นอกจากนั้น ยังมีหลายคราวที่นางลาฟรอฟได้รับแจ้งจากบริษัทให้ต้มน้ำดื่ม เธอบอกว่าไม่เคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อนในสมัยที่เทศบาลเป็นคนบริหารระบบน้ำประปา มิหนำซ้ำ ในย่านที่เธออยู่อาศัยยังมักได้รับแจ้งให้ต้มน้ำดื่มล่าช้าไปวันสองวันเสมอ เธอบ่นว่า นี่เป็นเรื่องซีเรียสนะ เพราะถ้าน้ำไม่ปลอดภัยพอที่จะชงนมให้เด็กอ่อนหรือให้ผู้ป่วยผู้สูงอายุดื่ม เราก็ควรได้รับแจ้งทันที ไม่ใช่อีกวันสองวันให้หลัง
เมื่อถูกบอกเลิกสัญญา ทางบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์แถลงข่าวแก้ตัวว่า เทศบาลเมืองแอตแลนตาไม่บอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับสภาพความสมบูรณ์ของท่อน้ำประปาแก่บริษัทที่มาร่วมประมูลสัญญา บริษัทอ้างว่าหลังชนะการประมูล ถึงเพิ่งรู้ว่าสภาพของระบบน้ำประปาที่เป็นอยู่ย่ำแย่ขนาดไหน
แต่เทศบาลเมืองแอตแลนตาก็ผิดหวังกับบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์เช่นกัน เพราะบริษัทไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ว่าจะช่วยประหยัดงบประมาณให้เทศบาล เมื่อนายกเทศมนตรีสั่งตรวจสอบบัญชี ก็พบว่าบริษัทไม่ได้จัดเก็บค่าน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกร้องเงินเพิ่มจากเทศบาลและล่าช้าในการซ่อมแซม
เทศบาลเคยคิดว่า ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจะหมดไปเมื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการแทน เจ้าหน้าที่เทศบาลคนหนึ่งกล่าวว่า ตอนนั้นเราเชื่อกันว่าเราจะประหยัดได้สัก 20 ล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเวลา 20 ปี แต่ตอนนี้ แม้แต่คนที่เคยเชื่อหัวปักหัวปำในเรื่องการแปรรูปยังโทรศัพท์มาบ่นกับฉันว่า ต่อให้เทศบาลประหยัดงบประมาณสัก 20 ล้าน ก็คงไม่จัดการแย่ขนาดนี้ และพวกเขาก็พูดถูก เพราะสี่ปีมานี้เราประหยัดได้แค่ 8 ล้านเอง
ตอนที่เมืองแอตแลนตาตัดสินใจแปรรูประบบน้ำประปา บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดการน้ำแห่กันมาที่รัฐจอร์เจีย นี่เป็นดีลการแปรรูปน้ำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมาในสหรัฐอเมริกา การชนะประมูลที่นี่จึงน่าจะเป็นการตอกหมุดบุกเบิกตลาดขนาดใหญ่ที่ยังไม่ไขก๊อก การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด
ห้าบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้าร่วมการประมูลใช้เงินไปหลายล้านดอลลาร์ในแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฝูงนักล้อบบี้และทนายความรุมตอมนักการเมืองในเทศบาลกันหึ่ง ท้ายที่สุด บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ สาขาของบรรษัทซูเอซ ณ ปารีส ก็ชนะประมูลด้วยราคาต่ำสุด
สมาชิกสภาเทศบาลคนเดิมเล่าให้ฟังว่า บรรษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้บอกกับพวกเขาว่า ดีลนี้สำคัญใหญ่หลวงนัก เพราะมันจะเป็นหลักหมายที่แรก กำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ต่อให้ไม่ได้กำไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ลงจอดได้ก่อนก็พอ เพื่อจะได้มีที่หยั่งเท้าสำหรับการรุกคืบในอนาคต เทศบาลแอตแลนตาจึงวางใจว่า การเสนอราคาต่ำสุดไม่น่าเป็นปัญหาต่อคุณภาพในการจัดการน้ำประปาแต่อย่างใด
แอตแลนตามักจะถูกเรียกว่า เมืองใหญ่ที่โตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา แต่มันก็เป็นเมืองที่เก่าแก่มาก ระบบท่อประปาจึงเก่าและรั่วไม่น้อย
ฮาโรลด์ คันลิฟฟ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในแอตแลนตาเชื่อว่า ไม่ควรกล่าวโทษบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์เสียทั้งหมดต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าเทศบาลเองก็ทำให้บริษัทบริหารจัดการได้ยาก เช่น ต้องจ้างพนักงานคนเก่าของเทศบาลเอาไว้ เป็นต้น มันจึงไม่ใช่การแปรรูปอย่างสมบูรณ์แบบ เทศบาลน่าจะยกให้บริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์มีอิสระเสรีในการดำเนินงานอย่างเต็มที่ แทนที่จะยกเลิกสัญญากลางคัน ต่อคำถามว่า น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญเกินกว่าจะตกอยู่ในเงื้อมมือบริษัทเอกชนหรือเปล่า เขาให้เหตุผลว่า
มีปัจจัยอีกตั้งเยอะแยะที่สำคัญกว่าน้ำ เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย แล้วเราก็แปรรูปปัจจัยจำเป็นต่อชีวิตเหล่านี้ให้อยู่ในมือเอกชนมาตั้งนานแล้ว มันก็ดำเนินไปได้ดีในระบบผู้ประกอบการเสรีนี่
ตอนแรกมีความหวั่นเกรงว่า การยกเลิกสัญญาจะทำให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์ตามมา แต่ในท้ายที่สุด เทศบาลและบริษัทยูไนเต็ดวอเตอร์ก็สามารถแยกจากกันด้วยดี ไมเคิล เชสเซอร์ ซีอีโอของบริษัทบอกว่า เขาผิดหวังมาก
ผมเชื่อว่า ถ้าเราได้เริ่มต้นใหม่ในวันนี้ ด้วยสปิริตของความเป็นหุ้นส่วน จากสิ่งที่เรามีอยู่และสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เราน่าจะร่วมกันสร้างกระบวนการที่ประสบความสำเร็จได้ ตอนนี้เราได้แต่ขออวยพรให้เทศบาลโชคดี
สิ่งหนึ่งที่เหลืออยู่แน่ ๆ จากการทดลองแปรรูปน้ำในเมืองแอตแลนตาก็คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างกล่าวว่า พวกเขาเจอบทเรียนกันชนิดเต็มกลืน สมาชิกสภาเทศบาลอีกคนกล่าวว่า
จิตใจแบบอนุรักษ์นิยม (คำนี้ในสหรัฐอเมริกาหมายถึงเสรีนิยมใหม่ผู้แปล) ของผมเลิกเซ่นไหว้ที่แท่นบูชาการแปรรูปเหมือนเมื่อก่อนแล้ว บางครั้ง การแปรรูปอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็จริง แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า มันไม่ใช่คำตอบหนึ่งเดียวเสมอไป และเราต้องระมัดระวังให้มากในเรื่องนี้
ส่วนเจ้าหน้าที่เทศบาลอีกคนบอกว่า น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับทุกคน ฉันคิดว่า ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา พวกเราพากันหลงเคลิ้มมากไปหน่อยกับการโหมโฆษณาชวนเชื่อว่า การแปรรูปคือแก้วสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เราจึงเดินหลงไปกับหนทางที่ผิด
ที่มา..จากเวป ประชาไท ดอท คอม..อ่านเพิ่มเติม..คลิ๊กที่นี่..
Create Date : 16 มิถุนายน 2549 |
Last Update : 16 มิถุนายน 2549 10:44:38 น. |
|
0 comments
|
Counter : 596 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
กรุงเทพ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]
|
หากเอาเวลาของจักรวาลเป็นตัวตั้ง แล้วเอาเวลาของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเป็นตัวเทียบ......ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้นยิ่งนัก...สั้นยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ....
|
|
|
|
|
|
|