grassroot ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่ Blog ความคิดเสรี มิตรภาพ ความสุข และความงดงามของชีวิต
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
5 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
กรณีศึกษา:การจัดการทางการเงินหลังการแปรรูป ปตท.


การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปรรูปจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติการ ปิโตรเลียม มาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยการแปลงสภาพภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ (พ.ร.บ.ทุนฯ) และกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2544 โดยยังคงมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และในปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปลี่ยนระบบจากการจ่ายเงินนำส่งเข้าสู่รัฐ เป็นการจ่ายภาษีเงินได้นิติ บุคคล และเงินปันผล ปตท.ได้จ่ายเงินให้รัฐเป็นจำนวน 17,240 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2544 ที่มีการนำเงินส่งรัฐ 11,269 ล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปี 2548 นี้ ปตท. และบริษัทในเครือได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินปันผล เป็นเงิน 25,911 ล้านบาท

ทำไม หลังแปรรูป ปตท. มีผลประกอบการแบบก้าวกระโดด ทั้งๆที่มีผู้บริหาร และพนักงานคณะเดิม
หาก ปตท. ทำเพียงจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น โดยยังบริหารงานอย่างเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่กว่า ปตท. และบริษัทในเครือจะประสบ ความสำเร็จได้มากขนาดนี้ ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ต้องเป็นองค์กรที่ดี มีผู้บริหารที่ดีมีวิสัยทัศน์ บุคลากรในบริษัทต้องมีคุณภาพ ต้องดำเนินงานอย่างมีความเที่ยงธรรม สิ่งสำคัญที่สุดต้องมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความจริงแล้ว การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 เป็นแรงกระตุ้นทำให้ ปตท. และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความเข้มแข็งในระยะยาว พร้อมรับกับสถานการณ์ทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการแปรรูปเป็นคำตอบหนึ่งที่ ทำให้ ปตท.เข็มแข็งในระยะยาว ดังตัวอย่างในปี 2536 ที่ปตท. ได้นำ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นบริษัทแรกในเครือ ปตท. เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะธุรกิจของ ปตท.สผ. ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ซึ่งในขณะนั้น บริษัทแม่ก็ คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถให้เงินสนับสนุนในจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องหาวิธีการระดมทุน แบบอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินทุนจากบริษัทแม่ ดังนั้น การเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ ปตท.สผ. จึงเป็นทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อให้มีเงินมากพอที่จะซื้อทรัพย์สินได้ใหญ่ขึ้น จนวันนี้ ปตท.สผ. มีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ทำให้มีศักยภาพเพียงพอในการเข้าไปลงทุนในสัมปทาน แหล่งก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันทั้งในและต่างประเทศ เช่น แหล่ง S1 แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน เป็นต้น

วันนั้นถ้า ปตท.ไม่ทำให้ ปตท.สผ. มีเงินทุนเพื่อไปลงทุนได้ ปตท.สผ. คงมีสัมปทาน เพียงแหล่ง S1และแหล่งอื่นอีกเล็กน้อย จะไม่มีแหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน รวมถึง แหล่งเจดีเอ เพราะฉะนั้นหาก ปตท.สผ.ไม่ได้แปรรูป และ ปตท.เป็นเจ้าของ 100% จะมีมูลค่าเพียง 5 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ ปตท. เป็นเจ้าของ 60 % ของมูลค่าบริษัทที่ 3 แสนล้านบาท พร้อมกับ ศักยภาพ ในการหาแหล่งพลังงานได้มากขึ้น

การแก้ปัญหาบริษัทในเครือ หลังระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลังปี 2540 ทุกบริษัทประสบปัญหาขาดทุน และภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะค่าเงินบาทตกต่ำลง ทำให้ภาระหนี้เมื่อคิดเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วงขาลง หลายบริษัทอยู่ในขั้นไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ ปตท.เองก็อยู่ในภาวะตึงตัว อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในอัตรา 5:1 แต่ประโยชน์ที่ได้ จากการแปรรูป และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ ทำให้ ปตท. ได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 26,000 ล้านบาท โดย ปตท. ได้นำมาลดหนี้สินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบางส่วน ซึ่งมีผลให้ โครงสร้างทางการเงินของ ปตท. แข็งแรงขึ้น มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2 :1 .ในระยะแรก และ มีเงินสดเพียงพอ สำหรับให้ความช่วยเหลือบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงิน นอกจากนั้นปตท. ยังมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น สามารถตัดสินใจเข้าลงทุน เข้าบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งดำเนินการเจรจาปรับลดหนี้ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาจนกลับมาแข็งแรง เป็นบริษัทที่มีผลดำเนินงานที่ดี และสามารถขยายกิจการเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาก ปตท.ไม่ได้แปรรูป และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

เริ่มจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เดิมมีทุนจดทะเบียนอยู่ 20 ล้านบาท แต่มีหนี้อยู่เกือบแสนล้านบาท เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลให้ไทยออยล์ประสบปัญหาทางการเงิน เมื่อรวมกับค่าการกลั่นในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำมากคือประมาณ 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล รายได้จากการดำเนินงานนำมาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหลือจ่ายดอกเบี้ยได้น้อยมาก จึงมีความจำเป็นต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้

วิธีปรับโครงสร้างหนี้ของไทยออยล์ ที่มีหนี้ทั้งหมดประมาณ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปตท.ได้เจรจาขอลดหนี้ลงประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเงื่อนไขว่า ปตท.ต้องเพิ่มทุนในไทยออยล์ เป็นเงิน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 11,000 ล้านบาท) และส่วนของเจ้าหนี้ ให้แปลงหนี้เป็นทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับลดหนี้ได้ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้เหลือหนี้ ประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ นำมาจัดโครงสร้างในการชำระหนี้ใหม่ โดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการชำระหนี้มากกว่า 10 ปี อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็จะจ่ายในช่วงปีแรกน้อย และเพิ่มขึ้นในช่วงปีหลัง

การปรับโครงสร้างหนี้ของ ไทยออยล์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทั้งหมด ทั้งผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ และพนักงานในบริษัท ทำควบคู่กันไป โดยในส่วนของบริษัทเองมีการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งมีคนสมัครเข้าโครงการ 200 กว่าคน พนักงานส่วนที่เหลือไม่ขึ้นเงินเดือน 3 ปี มีลาออกไปบางส่วน ขายธุรกิจ
บางอย่าง ส่วนฝ่ายบริหารเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งจากเบนซ์มาเป็นวอลโว่ ผู้บริหารระดับรองลงมานั่งโตโยต้า ส่วนระดับล่างไม่มี มีการขายธุรกิจเรือออกไปได้เงิน ประมาณ 10 กว่าล้านเหรียญฯ และขายหุ้นโรงไฟฟ้าออกไป 25%

จน ปี 2546 ไทยออยล์ เริ่มมีกำไร 6,750 ล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปีนี้ มีกำไร 7,222 ล้านบาท ถ้า ปตท. ไม่มีกำลังเข้าไปปรับโครงสร้างในขณะนั้น ไทยออยล์วันนี้จะกลายเป็นของเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะมีการขายออกไปให้ต่างชาติ เพราะผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงินไม่ต้องการที่จะมาลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด วันนี้โรงกลั่นไทยออยล์ก็อาจจะกลายเป็นของต่างชาติ

สำหรับการดำเนินการกับโรงกลั่นน้ำมันระยอง ( RRC) ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นอยู่ 36% บริษัทขาดทุนสะสม มาตลอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะความต้องการใช้น้ำมันลดลง ค่าการกลั่นต่ำมาก ทำให้ประสบปัญหาการเงินจากภาระหนี้สูง โดยมีหนี้อยู่ 1,335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปตท. ใช้วิธีในการเจรจากับเจ้าหนี้ ทำให้ลดหนี้ได้ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 200 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นอีก 64% จาก บริษัท เชลล์ ทำให้ ปตท. มีหุ้นในโรงกลั่นระยอง 100% ซึ่งถือเป็นโชคดีเพราะหลังจากที่ ปตท. เป็นเจ้าของโรงกลั่นระยอง ในครึ่งปีแรกค่าการกลั่นดีขึ้น ทำให้มีกำไรถึง 11,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการรวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( ประมาณ 7,700 ล้านบาท ) ด้วยแล้ว และโดยที่ค่าการกลั่นดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น จึงสามารถนำกำไรส่วนนี้ไปทยอยคืนหนี้ของบริษัท ทำให้วันนี้ โรงกลั่นระยองมีภาระหนี้ลดลงจาก 1,135 ล้านเหรียญฯ เหลือเพียง 600 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทางด้านกรณีของ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอซี และ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอทีซี ใช้วิธีเดียวกันในการแก้ปัญหาโครงสร้างเงินทุนคือ ทำการลดทุน ลดหุ้นบริษัทเพื่อล้างขาดทุนสะสม เพื่อให้บริษัทมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถจ่ายเงินปันผล โดยกรณี ทีโอซี ได้ทำการเพิ่มทุนใหม่ในภายหลัง และเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาใช้ในการชำระหนี้ และลงทุนในการขยายงานของบริษัท ซึ่งปัญหาของ ทีโอซี และ เอทีซี ในด้านปฏิบัติการจะคล้ายกันคือ กำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่ไม่
อยู่ในระดับโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินต้น แต่มีความสามารถเพียงการจ่ายค่าดอกเบี้ยเท่านั้น จึงต้องมีการขอยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป และจะต้องมีการลดต้นทุนการผลิต โดยในส่วนของ ทีโอซี ต้องมีการขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น (เอทธิลีน) เพิ่มเติมอีก 3 แสนตันต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่แล้ว 5.75 แสนตันต่อปี โดยโรงงานส่วนขยายนี้จะต้องมีการลงทุนเพิ่มอีก 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่จะช่วยทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงมา อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ปตท. จึงได้ตัดสินใจที่จะใส่เงินลงไปใน ทีโอซี อีก 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) ส่วนอีก 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทีโอซี กู้จากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ปตท. ยังให้เงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของ ทีโอซี อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( ประมาณ 4,000 ล้านบาท ) โดยในเดือนธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา โรงงานก็ได้ก่อสร้างเสร็จ แม้ว่าราคาปิโตรเคมีจะตกลงในช่วงปีนี้ แต่ด้วย
ต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ทำให้กำไรครึ่งปีนี้ของ ทีโอซี เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่หากไม่ขยายกำลังการผลิตเลยกำไรในปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว

สำหรับในส่วนของ เอทีซี ก็ลงทุนขยายโรงงาน (Debottleneck) ซึ่ง ปตท.คาดการณ์ว่า ราคาผลิตภัณฑ์น่าจะดีขึ้น และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี ปตท. ได้ให้เงินทุนหมุนเวียน จำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,600 ล้านบาท ) ซึ่งก็เป็นไปตามคาด นอกจากนั้น ปตท. ได้เข้ามาช่วยเจรจาปรับ
โครงสร้างหนี้ ทำให้ฐานะการเงินของ เอทีซี เกิดความเข้มแข็ง กอปรกับผลดำเนินงานที่ดีขึ้น เอทีซี จึงสามารถเจรจาหาเงินกู้มาลงทุนในโรงอะโรเมติกส์ โรงที่ 2 เองได้

สรุปภาพรวม ตั้งแต่ แปรรูป ปตท.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและใช้ศักยภาพที่มีเพื่อการลงทุนทั้งในบริษัทในเครือ และในธุรกิจของ ปตท. เอง ( สร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 / เพิ่มประสิทธิภาพการส่งก๊าซฯ ของระบบท่อส่งก๊าซฯ เดิม และเร่งก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ สายประธานเส้นที่ 3 ฯลฯ ) รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของ ปตท. เอง จนทำให้ในปีที่ผ่านมา และ ในปีนี้เป็นปีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างชัดเจนของ ปตท. ในรูปของผลการดำเนินงาน โดยจะเห็นได้ว่ากำไรส่วนใหญ่ของ ปตท. มาจากส่วนแบ่งเงินกำไรจากบริษัทในเครือ ที่เป็นผลจากเม็ดเงินที่ ปตท. เพิ่มการลงทุนในบริษัทในเครือทั้งสายการกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ทำให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาตั้งแต่ช่วงปี 2543 และ 2544 สามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้ในปัจจุบัน และส่งผลกำไรจำนวนมากกลับมาให้กับ ปตท. ในวันนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.เอง ก็มีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นเพราะมีการขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น (สินค้าในธุรกิจนี้ คือ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ) เนื่องจาก ในช่วง 3-4 ปีหลังแปรรูป ปตท.ได้ลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 5 ซึ่งใหญ่ที่สุด
ในประเทศไทยแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2547 ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซฯออกมาขายได้มากขึ้นถึง เกือบ 50% และนำก๊าซธรรมชาติจากหลุมขึ้นมาขายเพิ่มขึ้นอีก 20%

ถ้า ปตท. ไม่แปรรูปวันนี้รัฐบาลก็เป็นเจ้าของ ปตท. 100% แต่ธุรกิจนั้นอาจจะกำไร 2-3 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ รัฐ / กองทุนของคนไทย ถือหุ้นกว่า 70% ปตท. และบริษัทในเครือมีกำไร 7-8 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าเมื่อแปรรูปแล้ว ปตท. ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ทำหลายอย่างให้บริษัทในเครือเจริญเติบโตขึ้นด้วย และที่สำคัญการปรับโครงสร้างหนี้ของไทยออยล์ และ RRC มีผลทำให้หนี้ของประเทศลดลงด้วย ในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้ทำ หรือไม่มีกำลังที่จะทำ นอกจากไม่มีวันนี้วันที่รายได้ของทุกบริษัทดีขึ้น และกลับมาสู่ ปตท. แล้ว แต่ธุรกิจเหล่านั้นก็อาจจะไปอยู่ในมือธนาคารต่างประเทศ และจะขายต่อให้ใครก็ไม่มีใครรู้

ปัจจุบัน ปตท.ดำเนินธุรกิจ ในกรอบของกฎระเบียบเดิมเหมือนกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ เหมือนกับโรงกลั่นแห่งอื่นๆ ของเอกชน และเหมือนกับโรงงานปิโตรเคมีของเอกชนอื่นๆ ทุกประการ ดังนั้น การแปรรูปจึงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ ปตท.กลายเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ แต่ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ระบบบริหารงานที่เอื้อต่อการดำเนินงาน พนักงานต้องพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถมองการลงทุนในระยะยาวได้ การลงทุนจะต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง รอบคอบ และมีการศึกษาอย่างดี บางครั้งจะต้องมีการคิดนอกกรอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือจะต้องมีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงิน และ ท้ายสุดหากต้องการซื้อคืนก็สามารถทำได้ และไม่ว่าก่อน หรือหลังการแปรรูป ความเข้มแข็งของ ปตท. ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ โดยยืนอยู่บนการทำธุรกิจที่สมเหตุสมผล และเป็นธรรม

แก้ไขเมื่อ 08 เม.ย. 49 17:12:32

จากคุณ : Gump - [ 8 เม.ย. 49 17:11:06 ]




Create Date : 05 พฤษภาคม 2549
Last Update : 5 พฤษภาคม 2549 21:36:34 น. 0 comments
Counter : 1048 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

grassroot
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






หากเอาเวลาของจักรวาลเป็นตัวตั้ง แล้วเอาเวลาของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเป็นตัวเทียบ......ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้นยิ่งนัก...สั้นยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ....

Friends' blogs
[Add grassroot's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.