grassroot ยินดีต้อนรับทุกท่าน สู่ Blog ความคิดเสรี มิตรภาพ ความสุข และความงดงามของชีวิต
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
24 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
กรณีศึกษา : การปฏิวัติของคนจนในเวเนซูเอลา




เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์

ภัควดี วีระภาสพงษ์
นักแปลและนักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการนี้ได้รับมาจากผู้เรียบเรียง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เหตุการณ์จลาจลของคนจนในเวเนซุเอลา ซึ่งทนรับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความผันผวนไม่ไหว จึงก่อเกิดการลุกฮือขึ้นมาในที่สุด ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากอเมริกัน มักใช้ละตินอเมริกาเป็นหนูทดลองทฤษฎีใหม่ๆ ส่วนทหารอาชีพของเวเนซุเอลามีสำนึกกับเรื่องเหล่านี้ไปในทางเห็นใจประชาชน


เวเนซุเอลา: เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : นักแปลและนักวิชาการอิสระ

"...วิกฤตการณ์ที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่กำลังตายยังไม่ตายสนิท
และสิ่งที่กำลังก่อเกิดยังก่อเกิดไม่เสร็จสิ้น..."
อันโตนิโอ กรัมชี

เรามักเห็นรายการบันเทิงทีวีนำเรื่องหน้าแตกของเหล่าดาราหรือคนดังมาให้คนดูขำขันเล่น ถึงขนาดมีการจัดอันดับว่า การปล่อยไก่โดยไม่ได้ตั้งใจของใครจะหน้าแตกได้ละเอียดกว่ากัน แต่หากจัดอันดับเรื่องหน้าแตกของนักวิชาการบ้าง อันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้นวลีสะท้านบรรณพิภพที่ประกาศถึง "จุดจบของประวัติศาสตร์" ของฟรานซิส ฟูกุยามา

ประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้ฟูกุยามาเห็นแล้วว่า ประวัติศาสตร์ยังไม่ยอมตายง่าย ๆ และทุนนิยมยังไม่ชนะอย่างเด็ดขาด ประวัติศาสตร์สร้างความผิดคาดให้เราเสมอ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่เคยมีใครคิดว่าการปฏิวัติสังคมนิยมจะเกิดขึ้นในประเทศอ่อนแอล้าหลังอย่างรัสเซีย และในศตวรรษที่ 21 ละตินอเมริกาคือภูมิภาคที่ไม่มีใครคาดคิดเช่นกันว่า มันจะกลายเป็นเวทีแนวหน้าของอุดมการณ์สังคมนิยม

ย้อนกลับไป...แต่ไม่ต้องถึงจุดเริ่มต้น
เราคงไม่ต้องย้อนอดีตกลับไปถึง 500 ปีก่อน เมื่อคองควิสตาดอร์สแปเนียร์ดเดินเรือมาพิชิตดินแดนในภูมิภาคนี้และทำลายอารยธรรมของชาวอินเดียนแดง ไม่ต้องเล่าย้อนถึงเวลาหลายร้อยปีหลังจากนั้นที่ชาวอินเดียนแดงถูกกดขี่ และชาวแอฟริกันจำนวนมากถูกจับลงเรือมาขายเป็นทาสข้ามทวีป ไม่ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อวีรบุรุษของชาวเวเนซุเอลาและอเมริกาใต้ ซีโมน โบลิวาร์ นำทัพปลดปล่อยดินแดนแห่งนี้จากการเป็นอาณานิคมของสเปน ทั้งยังก่อตั้งสาธารณรัฐแห่งโคลอมเบีย (ปัจจุบันคือเอกวาดอร์, โคลอมเบีย, ปานามาและเวเนซุเอลา) ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาคือการรวบรวมดินแดนนี้เพื่อก่อตั้งเป็น "The Gran Colombia" ที่กินอาณาเขตไปถึงเปรูกับโบลิเวีย

เราจะย้อนกลับไปใกล้ ๆ แค่สิบกว่าปีก่อน เมื่อ ค.ศ. 1989 ปีที่ประวัติศาสตร์จารึกเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองโลกหลายอย่าง มันเป็นปีที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นแค่ข่าวเล็ก ๆ หรือไม่เป็นข่าวเลยในสื่อมวลชนกระแสหลัก คือการจลาจลในเมืองหลวงคารากัสของเวเนซุเอลา

คงเพราะมันเป็นการจลาจลในประเทศแถบละตินอเมริกาที่อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ แต่มันส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อประชาชนในประเทศนี้ และกลายเป็นชนวนของแรงกระเพื่อมที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน การจลาจลครั้งนี้เรียกขานกันว่า เหตุการณ์คารากาโซ (El Caracazo)

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 เช้าวันจันทร์เริ่มต้นเหมือนวันอื่น ๆ ผู้คนจากชุมชนแออัดยากจน (barrios) ที่ตั้งบนเนินเขาล้อมรอบเมืองคารากัส เดินลงมาตามทางลาดชันไปที่ถนนใหญ่ พวกเขาไปรอรถประจำทางเพื่อไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือเหมือนทุก ๆ วัน แต่ในวันนั้น พวกเขากลับพบว่า ค่ารถโดยสารขึ้นราคาไปถึงสองเท่าและบัตรลดของนักศึกษาใช้ไม่ได้แล้ว

ประชาชนเริ่มจับกลุ่มพูดคุยกัน มีการโต้เถียงทะเลาะระหว่างผู้โดยสารกับคนขับรถ โดยไม่มีการเตรียมการ ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ การประท้วงก่อหวอดขึ้นมาตามสถานีรถโดยสารทั่วย่านชานเมืองคารากัส และตามชุมทางสถานีที่เชื่อมเมืองหลวงกับเมืองรอบนอก กล่าวกันว่าความรุนแรงครั้งแรกสุดปะทุขึ้นที่ท่ารถนูเอโวเซอร์โก ในใจกลางเมือง รถเมล์ถูกพลิกคว่ำและเผาวอด ภายในไม่กี่ชั่วโมง คารากัสก็ปั่นป่วนไปทั้งเมือง

เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นจลาจล มีการปิดถนน บุกรุกร้านค้า เผาศูนย์การค้าใหญ่ ๆ และประชาชนขนสินค้าออกไปแจกจ่ายกันเอง พอถึง 6 โมงเย็น ประชาชนหลายหมื่นคนออกมามีส่วนร่วมประท้วงบนถนน ถนนสายหลักทุกสายในคารากัสถูกปิดตาย มันให้บังเอิญที่กองกำลังตำรวจเองก็กำลังนัดหยุดงานประท้วงขอขึ้นค่าจ้าง ความกะทันหันของเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลไม่ทันตั้งตัว

เมื่อข่าวโทรทัศน์แพร่ภาพประชาชนเข็นรถที่เต็มไปด้วยอาหาร สินค้าและเสื้อผ้า ประชาชนในเมืองอื่นจึงเอาอย่างตามบ้าง การประท้วงขยายวงไปทุกเมืองใหญ่ ทั้งเมืองมาราไก, วาเลนเซีย, บาร์กีซีเมโต, ซิวดัดกายอานาและเมรีดา

คำขวัญที่ประชาชนตะโกนและเขียนไว้บนกำแพงคือ "ประชาชนหิวโหย", "ประชาชนโกรธแค้น" และ "พอกันทีกับคำหลอกลวง" ขณะที่บุกเข้าไปขนสินค้าตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขามักร้องเพลงชาติไปด้วย มีหลายคนแบกธงชาติ และมีหลายที่ที่ประชาชนจัดระเบียบการปล้นร้านค้าโดยเข้าแถวกันอย่างสงบเรียบร้อย

เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลคนไหนโผล่หน้ามาให้เห็น จนกระทั่งเที่ยงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีมหาดไทยจึงออกโทรทัศน์แถลงการณ์ว่า รัฐบาลจะไม่ยินยอมให้เกิด "ความรุนแรง" เช่นนี้ แต่การที่รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นลมไประหว่างแถลงการณ์หน้าจอทีวี มันยิ่งทวีบรรยากาศของความปั่นป่วน

จนตกเย็น ประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซและคณะรัฐมนตรีจึงออกทีวีประกาศภาวะฉุกเฉิน แม้ว่ามีทหารในกองทัพบางส่วนไม่ยอมรับคำสั่งจากประธานาธิบดี แต่สุดท้าย กองทัพก็ยอมออกปฏิบัติการทางทหาร ยึดครองถนนและบุกเข้าไปในชุมชนแออัด กวาดจับประชาชนหลายพันคนขณะเข้ารื้อค้นเพื่อริบสินค้าที่ขโมยมา

ประชาชนบางคนแค่โผล่หน้าออกมาดูทางหน้าต่าง ก็ถูกทหารที่กำลังประสาทเสียยิงตาย การปราบปรามเป็นไปด้วยความรุนแรง พอถึงวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม เวเนซุเอลาก็เข้าสู่ภาวะเงียบสงัด รัฐบาลระบุจำนวนคนตายแค่ 372 คน แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมีประชาชนถูกฆ่าตายไปเกือบ 3000 คน โดยมีอย่างน้อย 2000 คน เสียชีวิตในเมืองคารากัส ยังไม่นับผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน

เหตุการณ์คารากาโซ สร้างรอยแผลไว้ในใจของชาวชุมชนแออัดจำนวนมาก ในด้านหนึ่ง เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มรวมตัวกันจัดตั้งเพื่อเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ ในช่วงราว 10 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1989 ไปจนถึงปีที่อูโก ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1998 มีการประท้วงที่จดบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นทุกวัน เฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง นี่ยังไม่นับการประท้วงที่ไม่มีการบันทึก การเมืองของเวเนซุเอลาเริ่มย้ายจากระบบพรรคการเมืองและรัฐสภาไปมีชีวิตชีวาบนท้องถนน

และในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์คารากาโซถือเป็นชนวนและแรงบันดาลใจที่ทำให้ทหารบางส่วนในกองทัพพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1992

บริบทแวดล้อม: ชะตากรรมของการเป็นหลังบ้านสหรัฐฯ
ลัทธิทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาใช้ละตินอเมริกาเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่มาเป็นเวลานมนาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่สหรัฐฯ ต้องการ จะถูกทดสอบที่ละตินอเมริกาเป็นอันดับแรก เมื่อสหรัฐฯ ต้องการระบบเผด็จการทหารไว้ทำลายขบวนการประชาชนและลัทธิคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ก็นำมาใช้ในละตินอเมริกาเป็นต้นแบบ

บราซิล, อาร์เจนตินา, ชิลี คือระบอบเผด็จการทหารที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดที่มนุษยชาติเคยเห็นมา พอศัตรูคอมมิวนิสต์ถูกกวาดล้างราบคาบ เมื่อสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดทางด้านการเมือง สหรัฐฯ ก็ใช้ละตินอเมริกาเป็นสนามทดลองลัทธิเสรีนิยมใหม่ การทดลองย้ายมาเน้นหนักทางด้านเศรษฐกิจ

กระบวนการที่เกิดขึ้นคือการรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ เงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา แนวคิดเบื้องหลังก็คือทดลองดูว่า ประเทศเหล่านี้สามารถดำเนินเศรษฐกิจฟองสบู่ไปได้ยาวไกลสักแค่ไหน และจะเป็นอย่างไรเมื่อเงินทุนไหลออก ตัวอย่างที่ถือเป็นต้นแบบของการทดลองครั้งนี้คือ ชิลี ภายใต้การปกครองของนายพลปิโนเชต์, บราซิลภายใต้ประธานาธิบดีคาร์โดโซ, และอาร์เจนตินาภายใต้รัฐบาลหลายชุด

ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1990-2002 บรรษัทข้ามชาติเข้าครอบงำกิจการในภูมิภาคนี้กว่า 4000 แห่ง ทั้งธนาคาร โทรคมนาคม ขนส่ง น้ำมันและเหมืองแร่ ทำให้ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ถดถอย การไหลเข้าออกของเงินทุนเป็นไปเพื่อเก็งกำไร สินค้านำเข้าเข้ามาทำลายการผลิตในท้องถิ่น รายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย ตลาดภายในประเทศถูกทำลาย

ประเทศอย่างอาร์เจนตินาที่เคยมีตลาดภายในประเทศเข้มแข็งและแรงงานค่อนข้างมีความรู้มีฝีมือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเลวร้ายมาก เดี๋ยวนี้คนระดับอาจารย์และนักวิชาชีพชาวอาร์เจนตินา ต้องไปรับจ้างทำความสะอาดบ้านในย่านคนรวยของชิลี ในประเทศที่ยากจนกว่าอย่างเอกวาดอร์และโบลิเวีย ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำลายตาข่ายทางสังคมที่มีน้อยอยู่แล้วจนพินาศหมด ถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของคนจนส่วนใหญ่

เวเนซุเอลาก็หนีไม่พ้นการตกเป็นหนูทดลอง แต่มันอาจจะแตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ อยู่บ้าง ตรงที่เวเนซุเอลามีแหล่งทองคำสีดำ นั่นคือ น้ำมัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาของเวเนซุเอลาตั้งอยู่บนน้ำมันเป็นสำคัญ ในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลของประธานาธิบดีเปเรซที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นครั้งแรก จัดการโอนกิจการน้ำมันมาเป็นของชาติ ผลักดันให้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมขนานใหญ่ ลงทุนในด้านสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก อลูมิเนียมและถ่านหิน

การมุ่งพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรมและละเลยภาคชนบท ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของประชากรเข้ามาสู่เมือง ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศสังคมเมือง 87% ของประชากร 25 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ขณะเดียวกัน มูลค่าของเกษตรกรรมในจีดีพีก็ลดต่ำลงเหลือแค่ 6% ในปี ค.ศ.1999 ต่ำที่สุดในละตินอเมริกา เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศเดียวในทวีปนี้ที่นำเข้าผลผลิตทางการเกษตรและอาหารทั้งหมด ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันทำให้ค่าเงินของเวเนซุเอลาแข็ง จนผลผลิตในท้องถิ่น ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ไม่สามารถแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

พอเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1980 กระแสลัทธิเสรีนิยมใหม่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศ ประธานาธิบดีลูอิส แอร์เรรา ลดภาษีนำเข้าจาก 300% เหลือน้อยกว่า 100% พร้อมกับตัดลดงบประมาณสาธารณะลง เวเนซุเอลาเริ่มก้าวเข้าสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนระดับล่าง แม้แต่ชนชั้นกลางและนายทุนท้องถิ่นบางส่วนก็พลอยย่ำแย่ไปด้วย ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนของเวเนซุเอลาที่ดูเหมือนมีความมั่นคงมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ตลอดมา เริ่มสั่นคลอนและประสบกับภาวะวิกฤตศรัทธา

เมื่อประธานาธิบดีเปเรซได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1989 เขาลงมือปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ตามแนวทางของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ยกเลิกการควบคุมราคาสินค้าและบริการ ลดค่าเงิน ลดกำแพงภาษีนำเข้าลงเรื่อย ๆ ขึ้นราคาสินค้าและบริการด้านสาธารณูปโภค ลดภาษีให้ภาคธุรกิจและปล่อยเสรีอัตราดอกเบี้ย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1989 การขึ้นราคาสาธารณูปโภคของรัฐบาลถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก น้ำมันขึ้นราคาไป 10% และค่าโดยสารขนส่งมวลชนขึ้นไปถึง 30% ในชั่วข้ามคืน วันนี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์คารากาโซ หรืออีกนัยหนึ่ง ชาวเวเนซุเอลาแสดงปฏิกิริยาต่อนโยบายเสรีนิยมใหม่อย่างที่รัฐบาลไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ชนชั้นกึ่งกรรมาชีพและกึ่งกระฎุมพี
แม้น้ำมันจะนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ แต่มันก็บิดเบือนระบบเศรษฐกิจและทำให้เวเนซุเอลามีการแบ่งแยกทางชนชั้นอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่เวเนซุเอลาเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผลิตน้ำมันได้ถึง 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในโอเปค รองจากซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน โดยมีสหรัฐฯ เป็นลูกค้านำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุด แต่ชาวเวเนซุเอลาถึง 80% กลับมีชีวิตอยู่ในความยากจน

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกา การแบ่งแยกทางชนชั้นในเวเนซุเอลามีความเหลื่อมซ้อนกับการกดขี่ทางเชื้อชาติ นี่คือประเทศที่ประชากร 67% เป็นเมสติโซ (สายเลือดผสม) 10% เป็นคนผิวดำ มีชนกลุ่มน้อยเพียง 23% ที่เป็นคนผิวขาว เจ้าที่ดินส่วนใหญ่มีเชื้อสายยุโรป

เวลามีการเดินขบวนประท้วง แค่มองดูสีผิว เราก็รู้ว่าขบวนนั้นเป็นฝ่ายไหน ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลชาเวซส่วนใหญ่จะมีผิวสีคล้ำ หรือที่มีคำเรียกอย่างดูแคลนในสังคมเวเนซุเอลาว่า pardos ซึ่งมีความหมายว่า เชื้อสายของทาสผิวดำ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านชาเวซส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวขาว ฝ่ายหลังมักเหน็บแนมพวก chavistas (ผู้สนับสนุนชาเวซ) ว่า เป็นนิโกรหรือ lumpen (มีความหมายคล้าย ๆ พวกร้อยพ่อพันแม่หรือพันทาง) ซึ่งแสดงถึงความรังเกียจทางเชื้อชาติปนกับความเกลียดกลัวในทางอุดมการณ์

นโยบายเสรีนิยมใหม่ซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมให้ยิ่งรุนแรงกว่าเดิม การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้ค่าแรงดิ่งเหว และการใช้จ่ายในภาคสังคมของรัฐถูกตัดทิ้ง สัดส่วนของประชากรที่มีชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี ค.ศ. 1984 เป็น 66% ในปี 1995 จำนวนคนที่มีชีวิตในความยากจนสุดขีดเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จาก 11% เป็น 36% การว่างงานในเมืองเพิ่มมากกว่าสองเท่า ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้แห่งชาติของคนจนที่สุดที่มีอยู่ 2 ใน 5 ของประชากร ระหว่างปี ค.ศ. 1981-1997 ตกลงจาก 19.1% เหลือแค่ 14.7% คนรวยที่สุดที่มีแค่ 1 ใน 10 ของประชากร กลับมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 21.8% เป็น 32.8% พร้อม ๆ กับชนชั้นกลางค่อย ๆ หดตัวลงไป

การเติบโตเป็นประเทศสังคมเมืองของเวเนซุเอลาไม่ได้มีการวางแผนที่ดี ประชากรจากชนบทที่อพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ต่างสร้างที่อยู่อาศัยกันตามมีตามเกิดบนเนินเขาที่ล้อมรอบเมืองหลวงคารากัส พวกเขาสร้างบ้านจากเศษอิฐเศษไม้ สังกะสี หรือวัสดุอะไรก็แล้วแต่เท่าที่จะหาได้ เพิงพักของคนจนสร้างขึ้นมาอย่างแออัด จนกลายเป็นชุมชนสลัมที่เรียกว่า barrios ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีระบบสาธารณูปโภค ไม่มีถนนหรือท่อน้ำทิ้ง ไม่มีสถานีอนามัย มิหนำซ้ำ ชุมชนหลายแห่งยังสร้างบนพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาดินถล่มเมื่อเกิดพายุฝน เช่น ในปี ค.ศ. 1999 พายุฝนที่เกิดนอกฤดูกาลทำให้เกิดดินถล่มอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

คนจนในชุมชนแออัดเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างชั่วคราว หรือเป็นแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ หรือที่แย่กว่านั้นคือเป็นคนว่างงาน เศรษฐกิจนอกระบบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงธุรกิจที่ผิดกฎหมาย แต่หมายถึงการทำงานสุจริตที่อาจต้องทำผิดกฎข้อบังคับบางข้อเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่แผงลอย รับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ หรือขายของโดยไม่ได้จดทะเบียนการค้า ขายอาหารโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเทศบาล ผลิตของเล็กๆ น้อยๆ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต เป็นต้น แรงงานนอกระบบเหล่านี้ เนื่องจากความที่มันอยู่นอกระบบ จึงไม่มีสวัสดิการสังคม ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีองค์กรสหภาพ

แรงงานในระบบของเวเนซุเอลาส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และข้าราชการ องค์กรทางด้านสหภาพแรงงานดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลาคือ Confederacion de Trabajadores de Venezuela (CTV) แต่แทนที่ CTV จะเป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงาน มันกลับกลายเป็นแค่เครื่องมือของพรรคการเมืองเพื่อใช้ควบคุมขบวนการแรงงาน สมาชิกสหภาพส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและภาคราชการ รัฐบาลจึงเข้าไปครอบงำได้ง่าย สมาชิกสหภาพ CTV คิดแต่จะหาอภิสิทธิ์ให้ตัวเอง มากกว่าจะร่วมมือกับแรงงานนอกระบบที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนน้ำมันทำให้ชนชั้นกระฎุมพีของเวเนซุเอลา มุ่งหาความมั่งคั่งจากค่าสัมปทานน้ำมันมากกว่าจะลงทุนในภาคการผลิตจริง พวกเขามีวิธีคิดแบบหัวหน้ามาเฟียมากกว่าผู้ประกอบการ แสวงหาการบริโภคมากกว่าการสะสมทุน ความคลั่งไคล้ในการบริโภคถึงกับทำให้ครอบครัวที่มีอันจะกินจำนวนมาก ซื้อที่อยู่อาศัยไว้ในรัฐฟลอริดา เพื่อบินไปช้อปปิ้งสินค้าในวันหยุดสุดสัปดาห์

ลักษณะการเมืองของเวเนซุเอลาตกอยู่ในวังวนของระบบอุปถัมภ์ เป็นการเมืองระบบสองพรรคใหญ่ที่ผลัดกันครองอำนาจ แต่แทบไม่มีนโยบายที่แตกต่างกันเลย สองพรรคดังกล่าวนั้นคือ พรรค Accion Democratica (AD) เป็นพรรคของชนชั้นกระฎุมพีและนักธุรกิจ และ พรรค Comite de Organizacion Politica Electoral Independiente (COPEI) พรรคของคาทอลิกอนุรักษ์นิยม

ในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนสนับสนุนและเป็นสมาชิกสองพรรคนี้ เพื่อหวังส่วนแบ่งจากเศษเดนความมั่งคั่งที่เหลืออยู่ พรรคการเมืองทั้งสองอ้างว่า มีสมาชิกถึง 3 และ 2 ล้านคนตามลำดับ เฉพาะในเมืองหลวงคารากัส มีประชาชนถึง 150,000 คน ที่เป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่การดำเนินนโยบายลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของสองพรรคนี้ลงอย่างมาก

ชายชาติทหารลูกชาวนา: กองทัพกับอุดมการณ์แบบใหม่
ท่ามกลางความปั่นป่วนในเหตุการณ์คารากาโซ ทหารส่วนหนึ่งในกองทัพไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลที่ให้ปราบปรามประชาชน ทหารบางคนถึงกับเข้าไปช่วยจัดระเบียบประชาชนในการปล้นซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อถูกสั่งให้ออกปฏิบัติการ พันตรีฟรานซิสโก คาร์เดนาส ถามพลทหารใต้บังคับบัญชาว่า "ใครเป็นสมาชิกคันทรีคลับ [สโมสรของมหาเศรษฐี] ยกมือขึ้น!" ไม่มีพลทหารคนไหนยกมือ ทุกคนนิ่งเงียบ คาร์เดนาสจึงบอกพลทหารว่า "ประชาชนที่อยู่ที่นี่ก็เหมือนพวกเรา พวกเขาเป็นชาวบ้าน เป็นพี่น้องของเรา ห้ามยิงถ้าไม่มีคำสั่ง ห้ามยิงเด็ดขาดนอกจากเราถูกโจมตี!"

การเข้าข้างประชาชนของทหารส่วนหนึ่งในกองทัพเวเนซุเอลา ไม่ได้เกิดมาจากความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นกระบวนการ และกลายเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในเส้นทางสู่การปฏิวัติโบลิวาร์ของเวเนซุเอลา

กองทัพเวเนซุเอลาแตกต่างจากกองทัพในประเทศละตินอเมริกาอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ส่งทหารไปรับการฝึกอบรมใน Escuela de las Americas (School of the Americas--SOA) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกการสู้รบสำหรับทหารในละตินอเมริกา ตั้งอยู่ที่ฟอร์ทเบนนิง รัฐจอร์เจีย โดยได้รับการสนับสนุนจากเพนตากอนและรัฐบาลสหรัฐฯ SOA เน้นฝึกอบรมทหารในด้านการปราบจลาจล การซุ่มยิงระยะไกล หน่วยคอมมานโดและการทำสงครามจิตวิทยา การสืบราชการลับของกองทัพและยุทธวิธีในการสอบปากคำผู้ต้องหา SOA มีส่วนพัวพันกับรัฐก่อการร้ายในยุคทศวรรษ 1970 เช่น กองพันมรณะในเอลซัลวาดอร์ ซึ่งปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ

ไม่กี่ปีมานี้เนื่องจากการปักหลักประท้วงของนักกิจกรรมในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ กองทัพอเมริกันจึงยุบ SOA เพียงเพื่อจะเปลี่ยนชื่อเป็น "Western Hemisphere Institute for Security Cooperation"

กองทัพเวเนซุเอลาไม่ได้ส่งทหารไปฝึกอบรมที่ SOA เวเนซุเอลามีวิทยาลัยกองทัพประจำชาติของตนเอง และมีหลักสูตรที่ผ่านการปฏิรูปในปี ค.ศ. 1971 เปิดโอกาสให้ทหารเรียนวิชาทหารควบคู่ไปกับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของพลเรือน นั่นหมายความว่า นายทหารรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาทางด้านทฤษฎีการเมืองที่หลากหลายกว่าเดิม และได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเหมือนนักศึกษาทั่วไป ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนนักศึกษาหัวก้าวหน้าคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทหาร การปฏิรูปครั้งนั้นยังทำให้โครงสร้างของกองทัพมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิมด้วย อย่างน้อยการเลื่อนตำแหน่งก็เปลี่ยนมาให้น้ำหนักต่อผลงาน มากกว่าสายสัมพันธ์ทางชาติตระกูล

แม้ว่ากองทัพเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการค้ำจุนความเหลื่อมล้ำของชนชั้นและการกระจายความมั่งคั่งอย่างไม่เป็นธรรม แต่ทหารส่วนใหญ่ในกองทัพกลับมีพื้นเพมาจากชนชั้นล่างที่ยากจนหรือชาวนาในชนบท

พลเอกวิลเฟรโด รามอน ซิลวา นายทหารผู้สนับสนุนการปฏิวัติโบลิวาร์คนหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่ดีของทหารรุ่นแรกที่จบจากวิทยาลัยในหลักสูตรใหม่ รามอน ซิลวา เป็น 1 ในพี่น้อง 11 คนที่เกิดในเมืองเล็ก ๆ ชื่อ ลา มีเอล จากครอบครัวยากจน แม่เป็นผู้ช่วยพยาบาล พ่อเป็นคนขับรถบรรทุก

"พวกเราที่อยู่ในชนบทรู้เห็นการกดขี่ที่พวกเจ้าที่ดินทำต่อชาวนา พวกนั้นปล้นที่ดินของเราไปและเหยียบย่ำรังแกพวกเรา ผมเติบโตมากับเรื่องพวกนี้ ครอบครัวผมมีชีวิตอยู่กับเรื่องพวกนี้"

ในหลักสูตรกองทัพใหม่ ทหารหนุ่มได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนกับนักศึกษาหัวก้าวหน้า ได้อ่านงานเขียนทางทฤษฎีที่รวมทั้งมาร์กซ์และเลนินด้วย นี่เป็นข้อขัดแย้งที่พวกนายทหารรุ่นเก่านึกไม่ถึงมาก่อน พลเอกรามอน ซิลวายังจำได้ดีถึงความเกลียดชังที่นายทหารรุ่นเก่ารู้สึกต่อพวกตน จนถึงจุดหนึ่งที่งานเขียนของมาร์กซ์และประวัติศาสตร์สังคมบางเล่ม ถูกสั่งห้ามไม่ให้นักศึกษาทหารอ่าน

ข้อแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกาอีกประการหนึ่งคือ นายทหารเหล่านี้มีประสบการณ์การสู้รบกับกองทัพจรยุทธ์ที่ไม่รุนแรงมากนัก แทนที่จะสู้รบนองเลือด พวกเขากลับพบแต่ความทุกข์ยากของชาวบ้านในชนบท ซึ่งแตกต่างราวฟ้ากับดินเมื่อเปรียบกับความมั่งคั่งของชนชั้นสูงที่บางครั้งพวกเขามีโอกาสได้สมาคมด้วย พลเอกรามอน ซิลวา เล่าว่า:

"พวกเราที่จบการศึกษามาด้วยกัน จึงเริ่มพูดคุยกันในยามว่างและตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่เรากำลังต่อสู้กับอะไรกันแน่ เราถูกสั่งให้ตามล่ากองทัพจรยุทธ์ แต่สิ่งที่เราเห็นมีแต่ความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสของประชาชน มีหลายครั้งที่เราเอาอาหารไปแลกกับไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ และบางครั้งก็แจกอาหารให้พวกเขาเลย เพราะเราเห็นแต่ความยากจนข้นแค้น...

"วันนี้เราอยู่ในชนบทกับชาวนา เห็นแต่ความยากไร้ พออีกวันเราเข้ามาในเมือง เข้าพบนายกเทศมนตรีหรือแม้กระทั่งประธานาธิบดี แล้วเห็นแต่ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย วิสกี้ที่มีให้ดื่มไม่อั้น ความสุรุ่ยสุร่ายอย่างเหลือเชื่อ พอเห็นภาพที่ขัดแย้งแตกต่างขนาดนี้ เราอดถามตัวเองไม่ได้ว่า: 'นี่เรากำลังต่อสู้เพื่ออะไร? เราจะยอมให้ความยากแค้นดำเนินต่อไป ปล่อยให้ชาวนาทุกข์เข็ญ ในขณะที่คนกลุ่มนี้ยังเอาแต่ผลประโยชน์ใส่ตัวอย่างนั้นหรือ?' "

ทหารเหล่านี้ต้องเผชิญกับความรู้สึกขัดแย้ง ระหว่างวินัยกับความคิดอิสระ การเป็นชนชั้นล่างกับการไต่เต้าเข้าสู่สังคมของชนชั้นสูง การเป็นทหารอาชีพกับการเป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม นายทหารอีกคนหนึ่งคือ พลเอกเวอร์จิลิโอ ลาเมดา เคยกล่าวไว้ว่า:

"เมื่อมีใครบอกผมว่า เขาเป็นทหารอาชีพ ผมมักถามกลับไปว่า ทหารอาชีพหมายถึงอะไร? หมายความว่าคุณจะกอดอกยืนดูเฉย ๆ ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางสังคม คุณจะทำอะไรต่อเมื่อปัญหานั้นเป็นปัญหาในกองทัพล้วน ๆ เท่านั้นหรือ? การเป็นทหารอาชีพหมายถึง การรู้ว่าคุณต้องรับใช้ใครเป็นหลักและภารกิจของทหารคืออะไร ภารกิจของทหารคือการปกป้องดินแดน ปกป้องอำนาจอธิปไตย แต่อำนาจอธิปไตยคือประชาชน"

บริบทแวดล้อมนี้เองที่ทำให้นายทหาร 4 คน คือ อูโก ชาเวซ, ราอูล บาดูเอล, อูร์ดาเนตา แอร์นันเดซ และเฟลีเป อันโตนิโอ อะโคสตา คาเลซ ทำสัตย์สาบานร่วมกันก่อตั้งขบวนการลับชื่อ กลุ่ม MBR-200 ขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 1982 พลเอกลูอิซ เฟลีเป อะโคสตา คาเลซ น้องชายของเฟลีเป อันโตนิโอ เล่าให้ฟังถึงคำพูดที่พี่ชายพูดกับพ่อตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังจากทั้งสี่ทำสัตย์สาบานกันแล้วว่า:

"พ่อครับ พวกเราเพิ่งทำสัตย์สาบานกันที่ซามาน เด เกรา เราตั้งปณิธานว่าจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงในเวเนซุเอลา ความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ประชาชนต้องมีปากเสียง และความต้องการของประชาชนต้องได้รับการตอบสนองด้วยนโยบายสาธารณะของรัฐบาล"




Create Date : 24 พฤษภาคม 2549
Last Update : 26 พฤษภาคม 2549 23:17:22 น. 1 comments
Counter : 954 Pageviews.

 
ในความเป็นจริงมันคือ"ชีวิต"และ"ความจริง"ที่อยู่หลัง"ความตาย"


โดย: นิค IP: 222.123.73.249 วันที่: 15 เมษายน 2550 เวลา:10:56:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

grassroot
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






หากเอาเวลาของจักรวาลเป็นตัวตั้ง แล้วเอาเวลาของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งเป็นตัวเทียบ......ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้นยิ่งนัก...สั้นยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ....

Friends' blogs
[Add grassroot's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.