Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2557
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
9 มิถุนายน 2557
 
All Blogs
 
ธรรมาภิวัตน์ : เหลียวดูพุทธศาสนาใน 'เวียดนาม'

คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเทศเวียดนามบ้างครับ?

       สำหรับผู้เขียนแล้ว ภาพแรกที่นึกถึงคือ เวียดนามเป็นประเทศที่ผ่านความเจ็บปวดจากสงครามที่โหดร้ายมาอย่างยาวนาน ทว่าในปัจจุบัน เวียดนามกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เตรียมแซงหน้าไทยในหลายด้าน ทั้งนี้ ด้วยความกดดันที่เกิดขึ้นจากอดีตภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทำให้คนเวียดนามมีแรงขับที่ต้องการปลดแอกให้หลุดพ้นจากชีวิตที่ลำบาก



       ส่วนในด้านประวัติศาสตร์และพัฒนาการพระพุทธศาสนานั้น ในอดีตเวียดนามมีการกดขี่เรื่องศาสนา พระผู้ใหญ่หลายรูปถูกคุมขัง โทษฐานเผยแผ่พุทธศาสนาโดยไม่ได้รับอนุญาต ในทางตรงกันข้าม ความพยายามในการสานต่อพระพุทธศาสนา กลับกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมีพระภิกษุสามเณรไปศึกษาต่อด้านพุทธศาสนายังต่างประเทศ เพื่อที่จะรักษาพุทธศาสนาเอาไว้

       นอกจากนี้ ชาวพุทธเวียดนามยังพยายามสร้างศาสนทายาท สนับสนุนให้มีการบวชเรียน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ตาม เพื่อให้พุทธศาสนาดำรงคงอยู่ให้ได้

       ประเด็นเหล่านี้ จึงทำให้ผู้เขียนมีความสนใจ ที่อยากจะไป "ท่องเที่ยว ท่องธรรม" ยังประเทศเวียดนามสักครั้ง จึงหาข้อมูลไว้แล้วนำมาเขียนเล่าให้อ่านก่อนครับ

เวียดนามไม่มีศาสนาประจำชาติ โดยรัฐธรรมนูญให้อิสระในการเลือกนับถือศาสนา ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณ 90 % นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 7% ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ

       เวียดนามได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศมังกรน้อย (Little Dragon) เคียงคู่กับประเทศจีนซึ่งเป็นมังกรใหญ่ ในอดีตมีชื่อเรียกเวียดนามหลายชื่อ เช่น จามปา อันนัม ตังเกี๋ย ได๋เวียด นามเวียด ญวน และแกว (ชื่อสุดท้ายนี้ไม่ค่อยสุภาพ อย่าไปเผลอเรียกขานคนเวียดนามเข้านะครับ)

       คำว่า "เวียด" เป็นภาษาจีน แปลว่า ไกลออกไป เดินข้ามไป หรืออาณาจักร คำว่า "นาม" แปลว่า ทิศใต้ รวมความหมายแล้ว "เวียดนาม" จึงหมายถึง ประเทศที่ไกลออกไปทางทิศใต้ของประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่า ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและความคิดมาจากจีนมากพอสมควร

       ราวปี พ.ศ. 591 สมัยพระนางเตรียวถี่ตริน เวียดนามพยายามต่อต้านการกดขี่ปกครองจากจีน มีการสู้รบกันหลายครั้ง สมัยนั้นพุทธศาสนายังไม่ได้แผ่ขยายเข้ามายังเวียดนาม คงมีแต่ศาสนาพื้นเมืองคือการนับถือผี รวมทั้งขงจื้อและเต๋าจากจีน

       การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศเวียดนามตั้งแต่สมัยใด ยังไม่ชัดเจนนัก แต่จากหลักฐานจดหมายเหตุของจีนที่ปรากฏอยู่สรุปได้ว่า เวียดนามทางตอนใต้เป็นที่ตั้งของอาณาจักรจามปา (Champa Kingdom) ราวพ.ศ. 950 ในสมัยจักรพรรดิทุกฟาน เริ่มมีการรับอารยธรรมอินเดียเข้ามา พระสงฆ์อินเดียนำโดยพระวีนีตรุจิ (Vinitaruchi) เดินทางมาจาริกยังเวียดนาม โดยทางเรือสินค้า และเดินทางผ่านมาจากทางจีน มีการนำเอาศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธแบบมหายานเข้ามายังเวียดนามด้วย พระวีนีตรุจิได้พยายามให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระสูตรของพระพุทธศาสนามากถึง 15 พระสูตรด้วยกัน และได้วางรูปแบบนิกายฉันหรือฉาน (Ch’an Sect) ซึ่งเป็นนิกายแรกของเวียดนามเอาไว้ด้วยครับ

       ต่อมามีพระสงฆ์อินเดียนามว่ามหาชีวกะ (Mahajivaka) ได้มาประกาศพุทธศาสนาในเวียดนาม ก่อนที่ท่านจะเดินทางต่อไปยังจีน และมีพระสงฆ์อินเดียอีกรูปหนึ่งนามว่าพระกัลยาณรุจิ (Kalyanaruchi) หรือฉีโจงโหลง ซึ่งมีความสามารถในด้านภาษาจีนด้วย เพราะเคยเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจีนมาก่อน

       พระกัลยาณรุจิได้เผยแผ่พุทธศาสนาอยู่นานหลายปี มีการแปลคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาหลายเล่มจากภาษาจีนเป็นภาษาเวียดนาม และจากภาษาสันสกฤษเป็นภาษาเวียดนาม จึงทำให้เกิดพัฒนาการของชาวเวียดนามในการนับถือพราหมณ์ฮินดู พัฒนาไปเป็นการนับถือพุทธศาสนาในเวลาต่อมา

       จนทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศเดียวในแถบสุวรรณภูมิที่นับถือพุทธศาสนามหายานมาอย่างต่อเนื่อง คราใดบ้านเมืองเกิดสงคราม เรื่องทางศาสนาก็หยุดชะงักลง แต่คราใดบ้านเมืองสงบสุข พระพุทธศาสนาก็กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีก

       จวบจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าดินห์โมดินห์ พระองค์ได้ทรงรวบรวมประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นสำเร็จและพ้นจากอำนาจของจีน พระองค์ได้ทรงเอาใจใส่ฟื้นฟูพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่นับถือกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

       ส่วนในสมัยราชวงศ์เลและราชวงศ์ลี้ พุทธศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากเช่นกัน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงมาโดยตลอด ราชวงศ์ลี้นับว่าเป็นราชวงศ์ที่ใกล้ชิดพุทธศาสนายิ่งนัก กษัตริย์หลายพระองค์ได้ทรงออกผนวชเป็นแบบอย่างของชนรุ่นหลังโดยไม่ครองราชย์จนสิ้นอายุขัย ยึดถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พุทธศาสนาในเวียดนามจึงแพร่หลายเข้าถึงประชาชนทุกหนแห่ง

       สิ้นยุคสมัยของราชวงศ์ตรัน (เริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 15) พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแห่งเวียดนามก็เริ่มเสื่อมถอยน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20

       เมื่อเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงพ.ศ. 2426-2497 พระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมและไม่ได้รับการทำนุบำรุงเท่าที่ควร มีการควบคุมการเผยแผ่พุทธศาสนา ยึดคัมภีร์ไปเผาทำลาย พุทธศาสนิกชนถูกกีดกันในการประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา การรวมตัวเพื่อประกอบพิธีจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางการฝรั่งเศสก่อน ความเชื่อเรื่องผีสางและลัทธิต่างๆ ก็เข้ามาในพุทธศาสนา เช่น หว่าเหา และเกาได๋

       ชาวพุทธจึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้น แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากฝรั่งเศสที่เข้ามาครอบครอง ยิ่งไปกว่านั้น มีความพยายามในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ให้เข้ามาแทนที่ศาสนาพุทธ เกิดการกดขี่ทางการปกครองต่อชาวเวียดนาม เกิดความทุกข์ยากทั่วหย่อมหญ้า

       ฝรั่งเศสได้มองพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาท้องถิ่นที่น่ารังเกียจ จึงมีนโยบายสกัดการเติบโตโดยไม่สนับสนุนให้สร้างวัดใหม่ ไม่ให้บวชพระเพิ่ม ข้าราชการระดับสูงต้องเปลี่ยนศาสนาก่อนจึงจะได้รับการแต่งตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงได้เห็นหลายเหตุการณ์ที่เกิดกบฏชาวเวียดนามหลายกลุ่มที่พยายามรวมกันต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส

       ในปี พ.ศ. 2474 ได้มีการก่อตั้งสมาคมชาวพุทธขึ้นในเวียดนามตอนใต้ ปีถัดมาได้มีการจัดตั้งพุทธสมาคมในลักษณะเดียวกันในเมืองเว้ ในภาคกลางของเวียดนาม และในฮานอย ปีพ.ศ. 2477

       วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดประชุมพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นที่เมืองเว้ ที่ประชุมได้ลงมติผ่านข้อตกลงสำคัญหลายข้อ สำหรับการร่วมจัดตั้งองค์กรพระพุทธศาสนาเรียกว่า คณะสงฆ์ชาวพุทธแห่งเวียดนาม (Vietnam Buddhist Sangha) ทำหน้าที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมกับองค์การพระพุทธศาสนาแห่งโลก (The World Fellowship of Buddhists) ซึ่งเรียกโดยย่อว่า W.F.B. ก่อตั้งขึ้นในการประชุมชาวพุทธครั้งแรก ที่จัดขึ้นในกรุงโคลัมโบ ศรีลังกา ในปี พ.ศ. 2493 โดยการริเริ่มของ ดร.จีพี.มาลาลาเสเกรา (Dr. G.P. Malalasekera) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกท่านหนึ่ง

       ปีต่อมาได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากศรีลังกาไปญี่ปุ่นและแวะพักที่เวียดนาม มีชาวพุทธในเวียดนามเข้ากราบสักการะกว่า 50,000 คน เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมชาวพุทธเป็นอย่างมาก ทางคณะสงฆ์ชาวพุทธยังได้ออกวารสาร "พุทธศาสนาเวียดนาม" ตีพิมพ์เพื่อเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยมีการตีพิมพ์ทั้งภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

       เมื่อเวียดนามได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว ผู้คนต่างมีความหวังว่า บ้านเมืองจะสงบสุข พุทธศาสนาจะคืนกลับมาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับประเทศ แต่กลับมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนา เมื่อเวียดนามมีรัฐบาลคอมมิวนิสต์เข้ามาปกครอง พุทธศาสนาก็กลับเสื่อมโทรมลงอีก นับจากพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา

       สภาพความวุ่นวายภายในประเทศ ทั้งการเมืองและภาวะสงครามที่มีขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนถึงกับมีการรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงและเผาตัวเองของพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี เพื่อปกป้องพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ.2506 พระมหาเถระนามว่า "พระติ๊ชกวางดึ๊ก" จากวัดเทียนหมู่ เมืองเว้ ทนเห็นความโหดร้ายทารุณที่รัฐบาลปราบปรามชาวพุทธไม่ไหว จึงได้ยอมสละชีวิต ด้วยการจุดไฟเผาตนเองตายที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือเมืองโฮจิมินห์) เพื่อให้รัฐบาลหยุดปราบปรามชาวพุทธและรักษาพระพุทธศาสนาไว้ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องพุทธศาสนา

       กระทั่งสภาวะทางการเมืองเริ่มสงบ รัฐบาลลดการจำกัดสิทธิการนับถือศาสนา ชาวพุทธจึงพยายามฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ จนมีอยู่หลากหลายนิกายในปัจจุบัน อาทิ พุทธศาสนาแบบจีนเธียน (เซน, ฌาน), แบบเถรวาท, แบบหินยาน, นิกายดินห์โต, นิกายขัตสีฯลฯ ซึ่งต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอน และด้วยความรักที่มีให้กันและกันอย่างแท้จริงนั่นเองครับ

       วัดหรือที่ภาษาเวียดนามเรียกว่า "จั่ว" หรือ "ตื้อ" ได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชนชั้นทุกระดับ เป็นที่พึ่งของชุมชน และยังเป็นสถานที่ชุมนุมของชาวพุทธในการพบปะปรึกษาหารือกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านศาสนาและการเมือง โดยมีพระสงฆ์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน

       แม้ในอดีตรัฐบาลเวียดนามจะพยายามเปลี่ยนศาสนาหลักของประเทศ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของพุทธศาสนา และความตั้งใจจริงของพระสงฆ์ ส่งผลให้ปัจจุบันเวียดนามก็ยังคงนับถือศาสนาพุทธ และสร้างความยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้น ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยวันฮันห์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพระพุทธศาสนา

       ด้วยเหตุนี้ พัฒนาการทางพุทธศาสนาของเวียดนาม จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยว ท่องธรรม เป็นอย่างยิ่งครับ

       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)



Create Date : 09 มิถุนายน 2557
Last Update : 9 มิถุนายน 2557 13:09:42 น. 0 comments
Counter : 1765 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

MR.ITANRICH
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




ผมเป็นคนไทยที่รักประเทศไทย
Friends' blogs
[Add MR.ITANRICH's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.