คุณอนุชา เกื้อจำรูญ บอกว่า สิ่งของบางอย่างก็มาจากที่บ้าน บางอย่างมีคนนำมามอบให้ และคิดว่าของบางอย่างที่บางคนคิดว่าไม่ใช่ของเก่า แต่คุณอนุชา ก็บอกว่าเดี๋ยวต่อไปมันก็เป็นของเก่าเองนั่นแหละ เพราะอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ดูในอนาคต
เอามะพร้าวแห้ง มาขัดกะทะ ภูมิปัญญาไทยของคนสมัยก่อน
อุปกรณ์ และขั้นตอนวิธีการทำขนมไทย
ของใช้บางอย่าง บางคนก็อาจจะคุ้นว่าเคยได้เห็น ได้ใช้งานมาบ้าง ...เรานะคุ้นแถบจะทุกอันเลย เพราะเป็นคนต่างจังหวัด
แต่เจ้าสามตัวนี้คืออะไร? ใครรู้บ้าง ตัวแบน 2 ตัว หมือนที่ทับกล้วยปิ้งเลย (เคยเห็นที่บ้านหน้าตาแบบนี้) ไม่มีป้ายบอกด้วย
ตอนแรกคิดว่าเป็นถ้วยของ ขนมถ้วย (กะทิสีขาว) แต่คุณอนุชา บอกไม่ใช่่ ถ้าขนมถ้วยรอบปากจะหนา แต่เนี่ยปากถ้วยบาง จึงเป็นถ้วยของขนมน้ำดอกไม้ (ขนมทีี่่มีรูตรงกลางมีหลายสี)



ระฆังใบนี้มีเรื่องเล่า...เมื่อสำนักระบายน้ำมาสร้างประตูและติดตั้งเครื่องสูบน้ำครั้งแรกที่ปากคลองเล็กคลองหนึ่งที่แยกจากคลองบางกอกน้อยตรงวัดทอง ซึ่งชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่าคลองวัดทอง คลองนี้จะผ่านวัดสุทธาวาส วัดอมรทายิการาม จะเรียกว่าคลองลัดวัดทอง เมื่อไปถึงวัดยาง เรียกคลองวัดยาง ทางราชการติดชื่อว่าประตูระบายน้ำคลองจักรทอง ชาวบ้านท้วงติงกับ ผ.อ เขตฯท่านหนึ่งในสมัยนั้นว่าไม่ใช่ชื่อนี้เพื่อให้ผ.อ ช่วยประสานงานแก้ไข แต่ผ.อ ท่านนั้นบอกว่าต้องมีเอกสารยืนยัน ผมซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยถึงกับงง คนท้องถิ่นที่ร่วมประชุม๕ คนอายุรวมกันเกือบห้าร้อยปี ผ.อ จะเอาเอกสารจากชาวบ้าน บังเอิญผมมาเจอระฆังใบนี้จารึกข้อความถึงการสร้างโดยคณะกฐินสามัคคีถวายไว้ ณ วัดสุทธาวาส (ดุสิทธิ์) ในคลองลัดวัดทอง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ผมจึงลอกข้อความนี้เข้าประชุมอีกที ผ.อ จึงดำเนินการให้เปลี่ยนชื่อจากคลองจักรทองเป็นคลองวัดทอง แต่ไม่กี่ปีนี้สำนักระบายน้ำซ่อมแซมประตูระบายน้ำแห่งนี้ใหม่ กลับไปติดตั้งชื่อคลองจักรทองอีกแล้ว นี่คือตัวอย่างการทำงานของข้าราชการกับคนท้องถิ่น วันหน้ายังมีเรื่องเล่าที่แสบไปกว่านี้อีกจะเล่าให้ฟัง

ปอลอ ...คุณอนุชา เล่าถึงตอนที่ยอมเปลี่ยนชื่อมาใช้คลองวัดทอง ตามเดิม พวกเราก็ปรบให้ตอนใ้ห้ แต่คุณอนุชา พวกอย่าเพิ่งปรบมือครับ แล้วก็เล่าต่อ ว่าก็ต้องมาใช้ชื่อคลองจักรทองอีกแล้ว
ปอลอ... จริงๆ แล้วจำเรื่องเล่าไม่ได้ปะติดปะต่อขนาดนี้ เพราะฟังไปก็ถ่ายรูปในพิพิธภัณฑ์ฯ ไปด้วย เลยไปเอาคำบอกเล่าแบบเต็มจาก เฟชบุ๊ก เครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม
โรงพยาบาลวังหลัง คือโรงพยาบาลศิริราช อายุ 100 กว่าปี ที่สนับสนุนโดย เจ้านายและบุคคล ตามพระราชปณิธานในรัชกาลที่ 5 ตึกสถาปัตยกรรมที่สวยงามเหล่านี้ ถูกสร้างมาพร้อมกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการสาธาณสุขไทย
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ปัจจุบันตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ใช้ร่วมในกระบวน พยุหยาตราชลมารค เพื่อเชิญผ้าพระกฐินตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เรือพระที่นั่งองค์นี้ก็ได้ใช้ร่วมพระราชพิธีแล้ว ตามหลักฐานรูปถ่ายนี้ถ่ายหน้าวัดสุวรรณาราม
มุมจำลองบ้านเรือนของข้าราชการสมัยก่อน ที่น่าสนใจคือเครื่องเล่นแผ่นเพลง เครื่องเล็ก
มุมแสดงร้านค้า ร้านกาแฟของสมัยก่อน มุมนี้ชอบลูกคิดมาก เพราะเมื่อก่อนเคยดีดลูกคิดเป็น เกิดจากไปร้านคนจีน เห็นเขาดีดคิดเงิน เร็วมาก (ตอนนั้นก็มีเครื่องคิดเลขแล้ว) เลยอยากรู้ว่ามันจะเร็วจริงมั๊ย ...โชคดีตอนเรียนมัธยม มีให้เรียน...ตอนนี้ลืมแล้ว
มุมนี้มีภาพถ่ายสมัยก่อนของเขตบางกอกน้อย และภาพปัจจุบันที่มีร่องรอยอดีต และอุปกรณ์ของช่างที่มีชื่อเสียงในการแกะพระพุทธรูป
จากนั้นก็ต้องไปชมสถานที่ต่อไป ...กลุ่มเราบอกลา คุณอนุชา ผู้ที่เล่าเรื่องราวชุมชนบ้านข้าวเม่า และเป็นคนที่มีความตั้งใจจะอนุรักษ์เรื่องราวและสิ่งของไว้ใหนคนไทยรุ่นหลังได้รับรู้
อยากให้ทุกคนได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านข้าวเม่า หรือไปเยี่ยมชาวบ้านข้าวเม่า เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนกับความคิดดีๆ ของชาวชุมชนที่จะอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา ...เดินเที่ยวแบบสบายๆ ริมคลองบางกอกน้อย
จะได้รู้เรื่องเก่า ๆ แล้วมีขนมที่ใช้ของใช้เก่า ๆ ทำขายด้วยยิ่งดีใหญ่เลย