มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
10 มิถุนายน 2556

Review : Sony Xperia ZL ร่างรองสเปกเยี่ยม



       อย่างที่รับรู้กันว่า Sony Xperia Z และ Sony Xperia ZL ที่เปิดตัวมาพร้อมๆกันนั้นมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในรุ่น Xperia ZL ซึ่งถือเป็นรุ่นรองไฮเอนด์ในเวลานี้ ได้ถูกตัดออกไปในแง่ของความสามารถในการกันน้ำ และวัสดุที่ไม่หรูหราเท่า



       ด้วยราคาเปิดตัวของ Xperia ZL ที่ 18,990 บาท ทิ้งช่วงห่างจากรุ่นพี่ Xperia Z ที่ 20,900 บาท จึงทำให้ผู้บริโภคหลายรายเกิดความลังเล ที่จะสามารถประหยัดงบลงได้เล็กน้อย แต่ประสิทธิภาพโดยรวมใกล้เคียงกันนั่นเอง

การออกแบบและสเปก



       แง่ของการออกแบบโดยรวมยังคงเอกลักษณ์ของสมาร์ทโฟนโซนี่ในช่วงหลังๆ อาจจะมองว่าใกล้เคียงกับรุ่นที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกันอย่าง Xperia Z เพียงแต่ในส่วนของหลังเครื่องจะเปลี่ยนจากกระจก เป็นไฟเบอร์โพลีเมอร์ ช่วยให้จับได้ถนัดมือมากยิ่งขึ้น

       ขนาดตัวเครื่องของ Xperia ZL อยู่ที่ 131.6 x 69.3 x 9.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 151 กรัม มีให้เลือก 3 สีด้วยกันคือ ดำ ขาว และแดง แต่ในประเทศไทยนำเข้ามาจำหน่ายเพียงสีดำเท่านั้น

       ด้านหน้า - สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นหน้าจอทัชสกรีนขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล ให้ความละเอียดเม็ดสีที่ 441 ppi โดยมีช่องลำโพงสนทนาอยู่ชิดติดกับขอบบนของเครื่องถัดลงมาเป็นโลโก้โซนี่

       ขณะที่ล่างหน้าจอจะมีเพียงไฟแสดงสถานะ และกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล อยู่ที่มุมล่างขวา ส่วนปุ่มกดย้อนกลับ หน้าแรก และเรียกดูแอปฯย้อนหลังจะถูกฝั่งอยู่ในหน้าจอแทน



       ด้านหลัง - ด้วยวัสดุที่ใช้เป็นคาร์บอนโพลีเมอร์แบบที่มีผิวสัมผัสขรุขระ ส่งผลให้ถือจับใช้งานได้กระชับมือมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลฝาหลังเป็นรอยหรือเครื่องลื่นหลุดมือเหมือน Xperia Z ทั้งนี้ตัวฝาหลังไม่สามารถถอดออกเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ให้มา 2,730 mAh ได้แต่อย่างใด

       ทั้งนี้ตรงกลางจะเป็นที่อยู่ของกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็นไฟแฟลชแอลอีดี ซึ่งมีโลโก้ Xperia อยู่ตรงกึ่งกลาง ถัดลงมาขอบล่างจะเป็นช่องสำหรับงัดฝาออกมาเพื่อใส่ไมโครซิมการ์ด และไมโครเอสดีการ์ด




       ด้านซ้าย - จะมีเพียงช่องเสียบสายไมโครยูเอสบีเพื่อชาร์จหรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ด้านขวา - มีทั้งปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง (สีเงินปุ่มกลมๆ) ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องในตระกูลนี้ และยังมีปุ่มชัตเตอร์กล้องที่สามารถกดค้างเพื่อเรียกใช้งานกล้องได้ทันที




       ด้านบน - มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - เป็นช่องร้อยสายคล้องโทรศัพท์ที่มุมซ้าย

       สำหรับสเปกภายในของ Xperia ZL มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 ทำงานบนหน่วยประมวลผล Qualcomm MDM9215M ซึ่งเป็นควอดคอร์ 1.5 GHz มีหน่วยประมวลผลภาพ Adremo 320 RAM 2 GB หน่วยความจำภายในเครื่อง 16 GB สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมได้สูงสุด 64 GB

       ด้านการเชื่อมต่อรองรับ 3G ทั้ง 850 / 900 / 2100 MHz Wi-Fi มาตรฐาน 802.11 a/b/g/n รองรับการใช้งานแบบดูอัลแบรด์ มีบลูทูธ NFC GPS ต่อออกจอภาพผ่านสาย MHL ได้

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



       ในส่วนของ Xperia ZL ฟีเจอร์ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับ Xperia Z ทั้งหมดเพียงแต่ตัดความสามารถในแง่ของการป้องกันน้ำออกไป ส่งผลให้อาการแอปฯเด้งที่เคยเจอใน Xperia Z ยังคงพบเจอได้ใน Xperia ZL เช่นเดียวกัน ดังนั้นคงต้องรอการอัปเดตเฟิร์มแวร์เพื่อให้ใช้งานได้สเถียรอีกครั้งหนึ่ง

       ในส่วนของ Timescape UI ยังคงรูปแบบการใช้งานที่ใกล้เคียงกับของเดิมกล่าวคือ มีหน้าหลักให้ 5 หน้าสำหรับเลือกใส่วิตเจ็ต ไอค่อนต่างๆ โดยสามารถกดที่หน้าจอค้างเพื่อเลือกเปลี่ยนพื้นหลัง หรือธีมได้ ในส่วนของแถบการแจ้งเตือนจะมีแถบไอค่อนลัดสำหรับเปิด-ปิด เสียง บลูทูธ ไวไฟ ดาต้า และเข้าสู่หน้าการตั้งค่า



       สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาภายในเครื่องประกอบไปด้วย โครมเบราว์เซอร์ กูเกิลเพลยสโตร์ ข้อความ โทรศัพท์ เครื่องเล่นเพลง อัลบั้มรู้ป หนัง แอปฯรวมโปรแกรมที่โซนี่คัดสรรไว้ กล้อง เฟซบุ๊ก ยูทูบ อีเมล ปฏิทิน โน้ต รายชื่อผู้ติดต่อ ตั้งค่า นาฬิกา แผนที่ วิทยุเอฟเอ็ม เครื่องมือต่างๆอย่างเครื่องคิดเลข สำรองข้อมูล สแกน QRcode แอปฯ TrackID ใช้ตรวจสอบรายชื่อเพลง ตัดต่อวิดีโอ ตั้งการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ รีโมทควบคุม โหมดใช้งานในรถยนต์ และแอปพลิเคชันต่างๆจากบริการของกูเกิล



       ส่วนของการตั้งค่าเป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ Jelly Bean ที่จะมีการแบ่งการตั้งค่าออกเป็น 5 ส่วนหลักๆคือ การเชื่อมต่อ ตัวเครื่อง ข้อมูลส่วนตัว บัญชีผู้ใช้ และระบบเท่านั้นเอง



       สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องหลายๆรุ่นของโซนี่ คือการเพิ่มระบบ Mobile BRAVIA Engine 2 เข้ามาช่วยขับความสวยงานของรูปภาพและวิดีโอ มีระบบปรับสมดุลแสงขาวของหน้าจอให้เลือก และที่โซนี่พยายามชูให้เป็นจุดเด่นคือโหมดประหยัดพลังงานอย่าง Stamina Mode



       ขณะที่ในส่วนชองการเชื่อมต่อก็จะมีการตั้งค่าแชร์อินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟให้อุปกรณ์อื่น การเปิด NFC เพื่อใช้เชื่อมต่อต่างๆ ตั้งค่าเสียงก็จะมีโหมดอย่าง Clear Phase และ xLOUND ช่วยเพิ่มคุณภาพเสียง แม้ว่าตัวเครื่องจะมีพื้นที่ให้ 16 GB แต่เมื่อหักจากรอมที่ลงก็จะเหลือพื้นที่ให้ใช้งานประมาณ 12 GB



       ทีนี้มาดูกันที่ Sony Car ที่เป็นเหมือนโหมดไว้ใช้งานในรถยนต์ด้วยการปรับอินเตอร์เฟสให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถกดเพื่อเรียกใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆได้เลยอย่างแผนที่นำทาง เครื่องเล่นมัลติมีเดีย โทรศัพท์ โดยผู้ใช้สามารถเพิ่มแอปพลิเคชันที่ใช้งานประจำลงไปได้ด้วย



       Sony Select เป็นเหมือนแหล่งรวมแอปพลิเคชันที่โซนี่เลือกมาให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะลิงก์ไปสู่หน้ากูเกิล เพลยสโตร์เหมือนเดิม



       Remote Control ถือเป็นอีก 1 แอปพลิเคชันที่มีมาให้กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่เป็นรุ่นไฮเอนด์ ด้วยความที่มีการเพิ่มพอร์ตอินฟาเรตเข้ามา ทำให้ช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์อย่างโทรทัศน์ กล่องเคเบิลทีวี ชุดโฮมเธียเตอร์ได้ โดยการตั้งค่าของโซนี่ จะใช้การเลือกประเภท และยี่ห้อเท่านั้น หลังจากนั้นก็สามารถใช้ควบคุมตัวเครื่องได้ทันที



       เว็บเบราว์เซอร์ที่ให้มาเนื่องจากเป็น Chrome ทำให้ไม่รองรับการใช้งานแฟลชแล้ว แต่ความสามารถในการประมวลผลทำได้ค่อนข้างดี ทำให้ท่องเว็บได้ลื่นไหล ประกอบกับการที่มีจอขนาดใหญ่ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย



       แม้ว่าโซนี่จะให้เซ็นเซอร์ถ่ายภาพมาความละเอียดสูงถึง 13 ล้านพิกเซล แต่ก็ต้องยอมรับว่าเฟิร์มแวร์กล้องของโซนี่ในโหมดอัตโนมัติยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ ถ้าต้องการภาพที่เรียกประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ออกมาได้ ควรปรับไปใช้โหมดถ่ายภาพแบบปกติแทน



       สำหรับโหมดถ่ายภาพของกล้องประกอบไปด้วย โหมดอัจฉริยะ ทั่วไป สามารถถ่ายภาพชดเชยแสงได้ (HDR) ได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหว ถ่ายภาพต่อเนื่อง ใส่เอฟเฟกต์ภาพ พาโนราม่า เลือกฉากถ่ายภาพ และภาพจากกล้องหน้า



       ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 6,341 คะแนน และ 16,156 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน

       ทดสอบการประมวลผล HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 1,983 คะแนน Metal 444 คะแนน กราฟิกผ่าน Nenamark1 และ Nenamark2 59.7 fps An3dBench 7,241 คะแนน และ An3dBenchXL 35,407 คะแนน



       ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,195 คะแนน CPU 3,490 คะแนน Disk 5,474 คะแนน Memory 2,348 คะแนน 2D Graphics 1,639 คะแนน และ 3D Graphics 946 คะแนน

       ส่วนการทดสอบ 3D Mark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง



จุดขาย

       - ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของโซนี่
       - หน้าจอความละเอียดสูง 1080p ที่ให้ความคมชัดสูง และยังสามารถปรับสมดุลแสงขาวด้วย
       - เทคโนโลยีเฉพาะของโซนี่อย่าง xLound และ Bravia Enginge
       - สเปกระดับสูงด้วยหน่วยประมวลผลควอดคอร์ 1.5 GHz RAM 2 GB
       - ใช้ควบคุมโทรทัศน์ หรือชุดเครื่องเสียงผ่านอินฟาเรดได้

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

       - ปัญหาแอปฯเด้งยังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรอเฟิร์มแวร์ออกมาแก้ไข
       - บริเวณฝาหลังที่ปิดช่องใส่ซิมการ์ดและไมโครซิมอาจหลวมได้ถ้ามีการเปิด-ปิดบ่อย
       - แน่นอนว่าเครื่องที่ขายในไทยไม่มี 4G
       - เฟริมแวร์กล้องยังไม่สมบูรณ์ทำให้โหมดอัตโนมัติถ่ายภาพไม่สวยเท่าปรับเอง

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

       ถ้าโซนี่สามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ออกมาแก้ปัญหาแอปฯเด้งจากเรื่องของฟอนต์ภาษาไทยได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ก็เชื่อว่าจะมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ยังติดตามเลือกซื้อ Xperia ZL กันต่อไป เพราะเมื่อใช้งานไปจะเกิดความรำคาญจนอยากขายเครื่องทิ้งก็เป็นได้

       แต่ถ้าในแง่ของการใช้งานโดยรวมถือว่าเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่ทำออกมาได้ครบถ้วนดี ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ รูปแบบการเชื่อมต่อทั้งไวไฟ บลูทูธ NFC วิทยุ จีฟีเอส เรื่องได้ว่าให้มาแบบจัดเต็มรองรับการใช้งานในอนาคตต่อไประยะหนึ่งแน่นอน

       แบตเตอรี่ถือเป็นอีกจุดที่โซนี่ทำออกมาได้ค่อยข้างดี การใช้งานโดยทั่วไปสามารถอยู่ได้สบายๆ 1 วัน แต่ถ้าต้องการใช้งานที่ต่อเนื่องไปอีกก็สามารถเปิด Stamina Mode เพื่อยืดระยะเวลาการใช้งานได้ ในเรื่องของเสียงสนทนาถือว่าการใส่ระบบตัดเสียงรบกวนมาช่วยเร่งความใสของเสียงสนทนาได้ชัดเจนมากขึ้น

Company Related Links :
Sony




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2556
0 comments
Last Update : 10 มิถุนายน 2556 20:29:37 น.
Counter : 1332 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


hutza
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add hutza's blog to your web]