<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
21 สิงหาคม 2556

Review: Samsung Galaxy S4 Zoom โทร แชะ แชร์ มี 3G นี่คือกล้องหรือสมาร์ทโฟน!?



       จำได้ว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซัมซุงได้สร้างเสียงฮือฮาให้กับตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพกต์กันไปแล้วกับ Samsung Galaxy Camera ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์พร้อมความสามารถในการติดตั้งแอปฯ จาก Play Store ได้ มาวันนี้ซัมซุงต่อยอดความสำเร็จอีกครั้งกับ Galaxy S4 Zoom พร้อมจัดเต็มฟีเจอร์ให้เหนือกว่าดิจิตอลคอมแพกต์ทุกรุ่นในตลาดจนพูดได้เต็มปากว่า "ไม่มีใครมีแนวคิดแหวกแนวได้เท่านี้มาก่อน"


เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น กดรับชมวิดีโอชมการใช้งานแบบภาพเคลื่อนไหวกันก่อน


การออกแบบและสเปก




       เพียงแค่หน้าตาของ Galaxy S4 Zoom ถ้ามองในมุมมองเห็นเลนส์กล้อง ไฟแฟลช ไฟส่องหาโฟกัสพร้อมกริปจับถือถนัดมือแล้วก็ดูไม่แตกต่างจากกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ทั่วไปที่วางขายบนท้องตลาด แต่เมื่อทีมงานลองพลิกมาอีกด้าน ซึ่งปกติจะต้องเป็นหน้าจอแสดงผลภาพที่ถ่ายจากกล้องพร้อมปุ่มปรับโหมดถ่ายภาพต่างๆ นานา แต่ Galaxy S4 Zoom แตกต่างออกไป เพราะบริเวณดังกล่าวถูกติดตั้งด้วยหน้าจอสมาร์ทโฟน แบบสัมผัส (sAMOLED ความละเอียด 960x540 พิกเซล) ขนาด 4.3 นิ้ว บนดีไซน์ Galaxy S4 พร้อมช่องลำโพงฟังเสียงสนทนาสำหรับใช้งานโทรศัพท์และกล้องหน้าความละเอียด 1.9 ล้านพิกเซล

       ส่วนขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 63.5x125.5x15.4 มิลลิเมตรพร้อมน้ำหนัก 208 กรัม

       มาที่ด้านล่างของจอมีปุ่มโฮมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปุ่มเมนูและปุ่มย้อนกลับติดตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งตามแนวทางของซัมซุงเพื่อให้รู้ว่า S4 Zoom ขับเคลื่อนด้วยแอนดรอยด์รุ่นล่าสุด (Jelly Bean 4.2)

"ถูกต้องและไม่อ่านผิดไป Samsung Galaxy S4 Zoom คือกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ มีเลนส์ซูมออปติคอลที่แนบติดสมาร์ทโฟน Galaxy S4 (รุ่นลดสเปก) มาให้ สามารถใช้งานได้ทั้งโทรศัพท์ ถ่ายภาพแบบกล้องถ่ายภาพควรจะเป็น ไปถึงโหลดแอปฯ เปิด 3G ใช้งานได้แบบแอนดรอยด์โฟนอย่างใดอย่างนั้น"



       หยุดความประหลาดใจแล้วมาดูสเปกของ Galaxy S4 Zoom เริ่มจากส่วนของกล้องถ่ายภาพ เลนส์กล้องขนาดใหญ่ที่ติดตั้งบริเวณด้านหลังของ S4 Zoom เป็นเลนส์ซูมออปติคอล 10 เท่าหรือเทียบกับระยะของกล้องฟลูเฟรม 35 มิลลิเมตรคือระยะ 24-240 มิลลิเมตร พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว รองรับค่าความไวแสง (ISO) สูงสุด 3,200 และมีไฟแฟลช Xenon



ภาพตัวอย่างแสดงคุณภาพของเลนส์ซูมในระยะปกติที่ 24 มิลลิเมตรกับระยะซูมสุด 10 เท่าที่ 240 มิลลิเมตร ซึ่งจะเห็นว่าสามารถซูมได้ใกล้วัตถุค่อนข้างมาก (ผู้ถ่ายอยู่บนชั้น 8 ของตึกที่เห็นในภาพ)


ในส่วนเซ็นเซอร์รับภาพเป็น Backside-illuminated (BSI) CMOS ขนาด 1/2.33" ความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซลที่อัตราส่วนภาพ 4:3 เทียบตามตารางเซ็นเซอร์แล้วเล็กกว่า Nokia Lumia 1020 ที่มีขนาด 1/1.5" แต่เด่นกว่าตรงเลนส์ซูมออปติคอลจริงๆ 10 เท่า (อัปเดตแก้ไข-เนื่องจากครั้งแรกทีมงานเข้าใจผิดว่าขนาดเซ็นเซอร์ S4 Zoom เล็กกว่า Lumia 1020

       มาดูในส่วนที่สองกับระบบสมาร์ทโฟนที่ใช้ควบคุมการทำงานของกล้อง เริ่มจากหน่วยประมวลผลที่ใช้จะเป็น Samsung Exynos 4212 Dual Core ความเร็ว 1.5GHz (ต่างจาก S4 ที่เป็น Quad Core) GPU ใช้เป็น Mali-400 MP และแรมที่ให้มาอยู่ที่ 1.5GB (แต่ระบบแจงว่าแรมในเครื่องมี 1.21GB)




       ด้านระบบปฏิบัติการที่ใส่มากับ Galaxy S4 Zoom จะเป็น Android 4.2.2 Jelly Bean (สามารถติดตั้งแอปฯ และเกมเพิ่มเติมได้เองจาก Play Store) ครอบด้วย TouchWiz UI ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลภายในมีมาให้ฟรีๆ 16GB แต่ผู้ใช้สามารถอัปเดตเพิ่มเนื้อที่เก็บข้อมูลด้วย MicroSD สูงสุด 64GB

       ในส่วนสเปกอื่นๆ S4 Zoom รองรับ 3G ทุกเครื่อข่าย (850/900/1900/2100 MHz) ที่ความเร็วสูงสุด HSDPA 21Mbps ส่วน GSM เพื่อใช้งานโทรศัพท์จะรองรับความถี่ 850/900/1800/1900 MHz

       ด้านสเปก GPS รองรับ A-GPS + GLONASS บลูทูธรองรับเวอร์ชัน 4.0 WiFi รองรับ 2.4GHz/5GHz (a/b/g/n) พร้อม NFC และแบตเตอรีที่ให้มามีขนาด 2,330mAh

ปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง



       จบเรื่องของสเปกและการออกแบบ มาถึงปุ่มกดและช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง เริ่มจากข้างขวาของตัวเครื่องจะเป็นปุ่มปิด-เปิด/Sleep/Awake ถัดลงมาเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียง และสุดท้ายปุ่ทกลมๆ ด้านขวามือสุดของภาพจะเป็นชัตเตอร์กล้อง (กดลงครึ่งหนึ่งเพื่อคอนเฟริมโฟกัส กดลงเต็มแรงเพื่อถ่ายภาพ)



       ส่วนวงแหวนบริเวณเลนส์กล้องจะทำหน้าที่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือถ้าอยู่ในหน้าโฮมสกรีนหรือแอปฯ ต่างๆ เมื่อหมุนวงแหวนนี้จะเป็นการเข้าเมนูกล้องและ Gallery แบบลัด โดยผู้ใช้สามารถเลือกโหมดถ่ายภาพสำเร็จรูปได้ (ตามภาพประกอบด้านบน)



       มาที่อีกด้านจะไม่มีปุ่มคำสั่งใดๆ ติดตั้งอยู่ จะมีเพียงแต่ช่องยึดกับขาตั้งกล้อง ช่องใส่ MicroSD เพิ่มความจุพื้นที่เก็บข้อมูลภายในเท่านั้น และรูสำหรับร้อยสายคล้องข้อมือ



       ส่วนด้านบนจะเป็นช่องเสียบ Headset/Headphone ขนาด 3.5 มิลลิเมตร อยู่ขวาสุดของภาพพร้อมช่องแสงอินฟาเรดสำหรับใช้สั่งงานอุปกรณ์โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ในบ้านผ่านแอปฯ WatchON ที่ติดตั้งอยู่ใน S4 Zoom




       มาถึงส่วนสุดท้ายกับช่องใส่แบตเตอรีและช่อง microUSB พร้อมไมโครโฟนรับเสียงสนทนา รวมถึงเมื่อเปิดช่องใส่แบตเตอรีออกจะพบช่องใส่ซิมการ์ด (MicroSIM) อยู่ด้านในด้วย

User Interface และฟีเจอร์เด่น




       อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า S4 Zoom ขับเคลื่อนด้วยแอนดรอยด์ 4.2.2 Jelly Bean และถูกครอบด้วย TouchWiz UI อีกที ทำให้การใช้งานจึงคล้ายกับสมาร์ทโฟน Galaxy S4 แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการโทรศัพท์ ระบบ S-Beam, Group Play, S Memo, S Translator ไปถึงความสามารถในการดาวน์โหลดติดตั้งแอปฯ จาก Play Store หรือ Samsung Apps ก็สามารถทำได้ตามปกติ



       แต่ก็ใช่ว่า Galaxy S4 Zoom จะเหมือนกับสมาร์ทโฟน S4 ทั้งหมด เพราะเนื่องจากการใช้งานเน้นไปที่เรื่องถ่ายภาพตามรูปแบบของดิจิตอลคอมแพกต์เป็นหลัก ทำให้ซัมซุงตัดฟีเจอร์บางส่วนออกเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะแย่งตลาดกันเอง อย่างเช่น Air Gesture และพวกออปชัน Smart ต่างๆ ที่มีมาให้ไม่ครบเหมือน S4 ปกติ



       ด้านประสิทธิภาพการประมวลผลก็ได้คะแนนต่ำกว่า Galaxy S4 ปกติพอสมควรเนื่องจากซีพียูเป็น Dual Core รวมถึงการรองรับระบบสัมผัสแบบมัลติทัชจาก 10 จุดพร้อมกันใน S4 เหลือ 8 จุดพร้อมกันใน S4 Zoom



       แต่ทั้งนี้ถ้าถามว่าในเมื่อซีพียูที่ใช้ใน S4 Zoom ช้ากว่า S4 ปกติอยู่พอสมควร แล้วอย่างนี้การใช้งานทั่วไปจะมีปัญหาด้านความลื่นไหลหรือไม่ ส่วนนี้ทีมงานไซเบอร์บิซขอตอบว่า ไม่มีปัญหาใดๆ การใช้งานทุกแอปฯ ทำได้ลื่นไหลปกติยกเว้นการเล่นเกมหรือประมวลผลภาพเมื่อใช้เอ็ฟเฟ็กต์ตกแต่งรูปจำนวนมากจะทำงานช้ากว่า S4 ปกติอยู่พอสมควร



       ส่วนโหมดถ่ายภาพสามารถเข้าใช้งานได้โดยการกดชัตเตอร์ค้างไว้หรือกดแอปฯ Camera จะมาพร้อมหน้าตาเรียบๆ ปุ่มคำสั่งมีให้ไม่มากไล่จากมุมบนซ้ายเป็นปุ่มสลับกล้องหน้า-หลัง ถัดลงมาเป็นปุ่มซูมภาพเข้าออกแบบออปติคอล และด้านล่างสุดเป็นพรีวิวภาพที่ถ่ายไปก่อนหน้านี้ซึ่งเมื่อผู้ใช้จิ้มลงไปที่ภาพ ระบบจะเข้าสู่ Gallery

       ในส่วนกลางที่เป็นพรีวิวภาพจากเลนส์กล้อง ด้านบนจะเรียกเมนูสำหรับปรับแต่งการตั้งค่าใช้งานกล้อง เช่น ความละเอียดภาพ อัตราส่วนภาพ 4:3 3:2 16:9 1:1 เป็นต้น ไปถึงการเปิด-ปิด GPS Tag ต่างๆ และตรงกลางที่เป็นจุดโฟกัส สามารถสัมผัสเพื่อโฟกัสวัตถุต่างๆ ได้ตามต้องการ

       ส่วนปุ่มคำสั่งด้านขวาสุด ด้านบนจะเป็นตัวอักษรบอกโหมดภาพที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยข้างๆ จะเป็นขีดแบตเตอรีบอกพลังงานที่เหลืออยู่ ถัดลงมาจะเป็นปุ่มชัตเตอร์และปุ่มบันทึกวิดีโอ ส่วนตรงกลางเป็นปุ่มเข้าสู่โหมดถ่ายภาพที่มีให้เลือกทั้ง Auto, Smart และ Expert หรือแมนวลโหมดปรับแต่งเองทั้งรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์สปีด รวมถึงค่า ISO ชดเชยแสง



       ด้าน Smart Mode ที่เป็นตัวชูโรงไม่พูดถึงไม่ได้ โดยโหมด Smart จะมีซีนโหมด 25 ซีนโหมดให้เลือกใช้ (รวมถึงโหมด Drama Shot และ Eraser หรือโหมดลบภาพวัตถุหรือคนที่ไม่ต้องการออกจากรูปที่มีให้ใน Galaxy S4 ก็ถูกติดตั้งมาให้ใช้งานใน S4 Zoom ด้วย) จนเรียกได้ว่าแทบจะทุกสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นเวลาถือกล้องถ่ายรูปทั้งกลางวันและกลางคืนจนแทบจะไม่ต้องพึ่งพา Manual Mode ให้เสียเวลา และผมก็คงไม่จำเป็นต้องอธิบายการใช้งานโหมดต่างๆ เนื่องจากซัมซุงทำภาพกราฟิกของโหมดใช้งาน 25 ซีนโหมดมาได้ชัดเจนอย่างมาก



       แต่ทั้งนี้ด้วยซีนโหมดที่เยอะแยะแสดงความเป็น Smart Camera ก็อาจทำให้ผู้ใช้หลายคนที่ไม่สันทัดเรื่องการถ่ายภาพเกิดความงงงวยว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ต้องเลือกใช้โหมดไหน ไม่ต้องห่วงครับ เพราะซัมซุงมีโหมดที่ชื่อว่า Smart Mode Suggest (ซีนโหมดอันแรก) ให้เลือกใช้

       โดยหลักการทำงานของ Smart Mode Suggest เมื่อผู้ใช้จิ้มหน้าจอเพื่อคอนเฟริมโฟกัสหรือกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง (กรอบโฟกัสเป็นสีเขียว) ระบบจะทำการประมวลผลภาพ และคาดการณ์เองว่าผู้ใช้จะถ่ายภาพลักษณะนี้พร้อมปรากฏซีนโหมด 3 ซีนขึ้นด้านล่างของจอให้เลือกตามความต้องการอีกครั้ง ซึ่งจากการทดสอบตลอด 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า Smart Mode Suggest คาดการณ์โหมดถ่ายภาพได้ค่อนข้างแม่นยำ จนทำให้ผมแทบไม่ต้องเข้าไปเลือกซีนโหมดให้เสียเวลาและความต่อเนื่อง



       และมีโหมดสำคัญอีก 2 โหมดที่ผมต้องขอยกมาพูดถึงให้เป็นประเด็นสำคัญเพราะ 2 โหมดดังกล่าวเป็นโหมดที่น่าจะถูกใช้บ่อยที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ เริ่มจาก Best Face ที่มีมาให้ใช้งานสักพักแล้ว แต่เมื่อมาอยู่ใน S4 Zoom โหมดนี้ดูจะมีความสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพบุคคลทั้งเดี่ยวและหมู โดยหลักการทำงานของโหมดนี้ก็คือ จะใช้ระบบ Face Detection จับใบหน้าของคนที่ถูกถ่ายไว้ โดยเมื่อกดชัตเตอร์ระบบจะทำการบันทึกภาพต่อเนื่อง 4 รูปจากนั้นเมื่อระบบประมวลผลภาพถ่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้จะสามารถเลือกหน้าที่ดีที่สุดของแต่ละคนที่อยู่ในรูปได้ เช่น สมมุติถ่ายภาพ 2 คน อีกคนดันหลับตาตอนชัตเตอร์ลั่นพอดี คุณก็สามารถจิ้มหน้าคนนั้นแล้วเลือกภาพหน้าของเขาก่อนหลับตาได้ ก็เท่ากับว่าไม่ต้องเสียเวลาถ่ายภาพนั้นใหม่อีกครั้ง



       อีกโหมดหนึ่งก็คือ RichTone (HDR) สำหรับคนชอบถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์หรืออยากถ่ายภาพหมู่ย้อนแสงแบบไม่ใช้ไฟแฟลชแต่อยากให้ภาพวิวด้านหลังยังคงอยู่ โหมดนี้จะจัดการให้ โดยกล้องจะทำการถ่ายภาพคร่อมแสงไว้ประมาณ 3 ค่าแสง (มืด สว่างและแสงพอดี) จากนั้นระบบจะรวมภาพเหล่านั้นเป็นภาพเดียว ทำให้น้ำหนักของแสงในภาพนั้นพอดีกันทั้งหมดโดยไม่เสียรายละเอียดของภาพบางส่วนไป



       ในส่วนวิดีโอ Galaxy S4 Zoom รองรับคุณภาพวิดีโอ 1080p ที่ความเร็วเฟรม 30 เฟรมต่อวินาที ส่วนที่ความละเอียด 720p จะสามารถถ่ายวิดีโอที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาที เฟรมต่อวินาทีผนวกกับระบบป้องกันภาพสั่นไหว



       สุดท้ายในส่วนขนาดไฟล์ JPEG ที่ความละเอียดสูงสุด 16 ล้านพิกเซล (4,608x3,456 พิกเซล) อยู่ที่ประมาณ 5-6 MB และไม่รองรับการถ่าย RAW File

ทดสอบประสิทธิภาพ

       ในเมื่อ Galaxy S4 Zoom ถูกชูในเรื่องกล้อถ่ายภาพเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการทดสอบต่อจากนี้จะเน้นที่เรื่องภาพกับ Smart Mode เป็นหลัก ส่วนระบบการใช้งานต่างๆ ขอไม่กล่าวถึงเพราะใช้งานเหมือนสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy ที่ทีมไซเบอร์บิซได้รีวิวไปก่อนหน้าทุกประการ

สำหรับหน่วยความจำภายนอกที่ใช้ทดสอบเป็น MicroSD 16GB Class 4 จาก Kingston ซึ่งนับว่าความเร็วของการ์ดระดับนี้เพียงพอต่อการใช้งานครับ

20130731_152139

S4Zoom-4

S4Zoom-9

S4Zoom-19


       มาที่การทดสอบแรกกับเรื่องเลนส์ซูม 10 เท่าที่ถูกอกถูกใจอาชีพนักข่าวอย่างผมมาก เพราะระยะระดับนี้เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกต่อการถ่ายภาพในที่ประชุมหรือเวทีสัมนาต่างๆ ได้ดีมาก หรืออยากได้ภาพแนว Life แอบถ่ายชีวิตของชาวบ้านชาวช่อง หมาแมวนอนแบบอาร์ทๆ ก็ทำได้อย่างน่าพอใจ ยิ่งผนวกกับโหมดถ่ายภาพ Smart Mode Suggest ด้วยแล้วแทบไม่ต้องไปปรับค่ากล้องอะไรให้วุ่นวายเลย เพราะกดถ่ายกดถ่ายสนุกมือเลยทีเดียว

S4Zoom-12

S4Zoom-2

S4Zoom-1

S4Zoom-8

S4Zoom-14


       แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งดีใจว่าเลนส์ซูม 10 เท่าจะทำให้ Galaxy S4 Zoom เป็นกล้องเทพที่สุดในจักรวาลของดิจิตอลคอมแพกต์เพราะเมื่อลองมาดูในเรื่องคุณภาพไฟล์ สีสันที่ได้จาก BSI CMOS ต้องขอบอกด้วยเสียงดังๆ ว่า "ผิดหวังไม่เปลี่ยนแปลง" ตั้งแต่ Galaxy Camera มาถึง S4 Zoom คุณภาพไฟล์ภาพไม่น่าพิศมัยเหมือนเดิม ยิ่งมองจากหน้าจอ Super AMOLED ที่ดูหลังกล้องแล้วสีสวย ภาพคม แต่เมื่อมาดึงไฟล์ดูพรีวิวผ่านจอคอมพิวเตอร์เครื่องแล้วเครื่องเล่า ภาพที่ได้สีสันจืดกว่าความเป็นจริงและภาพมักติดอาการแสงฟุ้งเล็กน้อย

ยกเว้นจะเทียบกับคุณภาพไฟล์จากกล้องบนสมาร์ทโฟนด้วยกัน Galaxy S4 Zoom ถือว่าให้ความคมชัดและมิติที่ดีกว่ากล้องบนสมาร์ทโฟนด้วยกันแน่นอน โดยเฉพาะซูมจริง 10 เท่าที่อย่างไรก็ให้คุณภาพเหนือกว่าแนวทางของสมาร์ทโฟนคู่แข่งหลายเจ้า

S4Zoom-20

20130731_133000


       จบจากคุณภาพไฟล์ ผมบ่นงึมงำกับตัวเองว่า "ไม่มีผลิตภัณฑ์ไอทีใดที่ผมรีวิวแล้วจะวิจารณ์ในแง่ลบอย่างเดียว ฟีเจอร์เจ๋งๆ มันต้องมีเช่นกัน" และผมก็พบเจอ เริ่มจากเรื่องแรก ซีนโหมด Waterfall ทำงานได้เจ๋งมากเท่าที่กล้องคอมแพกต์อัตโนมัติกดถ่ายอย่างเดียวจะทำได้ เพราะเพียงแค่ผมเลื่อนซีนโหมดไป Waterfall จากนั้นนำกล้องไปตั้งบนขาตั้งกล้องหรือสิ่งยึดเหนี่ยวอะไรก็ได้ที่ไม่ให้กล้องเคลื่อนไหวจากนั้นก็บรรจงกดชัตเตอร์ลงไปเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้ทำผมร้อง ว้าว! ทันที ระบบปรับแต่งค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ค่า ISO ได้อย่างอัจฉริยะ ไม่ต้องพึ่งการปรับแต่งแบบ Manual ให้เสียเวลาเลย

S4Zoom-29

S4Zoom-26

S4Zoom-15


       เรื่องที่สองที่ถือเป็นสิ่งดีๆ ที่ได้รับจาก S4 Zoom ก็คือ ไฟแฟลช Xenon ซึ่งถ้าข้อมูลไม่ผิด ไฟแฟลชยิงได้ไกล 6 เมตรและแม่นยำมาก ไม่ว่าจะมาโคร (ติดขอบดำจากเลนส์เล็กน้อย) ระยะซูมหรือระยะไวด์ ไฟลแฟลชแสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจทุกเวลา พอใจจนผมกล้าเปิดแฟลชยิงใส่วัตถุใกล้ๆ ได้อย่างไม่อายฟ้าดินใดๆ เลย

S4Zoom-22


       สุดท้ายกับซีนโหมด Dawn และ Sunset ที่ช่วยให้บรรยากาศภาพถ่ายออกมาดีมาก โดยเฉพาะภาพวิว ทิวทัศน์ ที่ถึงแม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันครึ้มฟ้าฝน แต่เมื่อผ่านสองโหมดนี้บรรยากาศภาพแบบอุ่นๆ โทนสวยๆ ก็กลับมา จนผมลืมคิดไปเลยว่า "เมื่อสักครู่ ผมเพิ่งวิจารณ์เรื่องคุณภาพไฟล์ S4 Zoom ไปเอง"



       ส่วนแบตเตอรีจากการทดสอบเชื่อมต่อ 3G - WiFi สลับตลอดทั้งวัน และใช้งานเล่นโซเชียล เกม เว็บ เฟสบุ๊ก ถ่ายภาพบ่อยครั้ง แต่ปิด GPS Tag พบว่าแบตหมดลงอย่างรวดเร็วเพียง 6 ชั่วโมง 52 นาที แบตเตอรีก็เหลือ 20% แล้ว

ส่วนภาพอื่นๆ รับชมได้ต่อจากนี้ และสามารถรับชมภาพเต็มความละเอียดได้จาก //www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157635131646409/

S4Zoom-21

S4Zoom-25

S4Zoom-24

S4Zoom-7

S4Zoom-16

S4Zoom-28

S4Zoom-27

S4Zoom-6


ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต/สรุป

       และนี่ก็คือสามข้อดีที่ผมพบเจอเฉพาะการทดสอบประสิทธิภาพการถ่ายภาพเท่านั้น ส่วนข้อดีอื่นๆ ของ S4 Zoom ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า กล้องบวกสมาร์ทโฟนตัวนี้ใช้งานง่าย แค่ Smart Mode ฟีเจอร์เดียวเอาอยู่ทั้งหมด ส่วนถ้าอยากใช้งานโทรศัพท์หรือเล่นแอปฯ แบบแอนดรอยด์โฟนทั่วไป S4 Zoom ตอบสนองคุณได้ดีทีเดียว

       ส่วนพวกโปรๆ อยากได้กล้องถ่ายภาพเล็กๆ ฟีเจอร์ดีๆ คุณภาพไฟล์แจ่มๆ ต้องบอกว่า 2 ข้อแรก S4 Zoom ให้คุณได้ แต่ข้อหลัง (คุณภาพไฟล์แจ่มๆ) S4 Zoom สอบตกทันที เพราะ S4 Zoom เหมาะแก่การเป็นกล้องดิจิตอลเก็บภาพความทรงจำสำหรับครอบครัวมากกว่าจะใช้งานจริงจัง

แถมการใช้งานโหมดกล้องก็ดูติดขัด บางทีแอปฯ กล้องก็ค้างเด้งออกมาให้รำคาญเวลารีบๆ เก็บภาพ รวมถึงการออกแบบ ความมนของกล้องที่ดูไม่ลงตัว จับถือไม่ถนัดและกระชับมือ ยิ่งบวกกับหน้าจอขนาดใหญ่ทำให้เวลาใช้งานบางครั้งมือเผลอไปกดหน้าจออย่างไม่ตั้งใจอยู่หลายครั้ง

       และด้วยการออกแบบที่สุดแสนจะแปลกแหวกแนว และรูปทรงดูผิดเพี้ยนไม่ชัดเจน ด้านหนึ่งเป็นกล้อง ด้านหนึ่งเป็นสมาร์ทโฟนหน้าตา S4 ที่มีความหนาค่อนข้างมาก และเมื่อใช้งานโทรศัพท์ก็ดูแปลกและสามารถเรียกให้คนหันมามองได้ทั้งตำบลจนผมต้องรีบควานหา Bluetooth Headset มาใส่ ส่วนนี้คงต้องขอบอกว่า แนวทางการออกแบบเฉพาะตัวแบบนี้ต้องให้ผู้อ่านเป็นคนตัดสินเองว่าชอบหรือไม่ เพราะถ้าชอบและรับได้กับรูปแบบการใช้งานลักษณะนี้ ก็คงชื่นชอบ S4 Zoom ได้ไม่ยาก

       แถมด้วยราคาขายเพียง 15,800 บาทก็ถือว่าคุ้มค่าทีเดียวสำหรับฟีเจอร์และฟังก์ชันที่ให้มาอย่างจุใจ

ถ้าผู้อ่านเป็นคนชอบถ่ายรูป เป็นนักข่าว บล็อกเกอร์ และอยากความสามารถของสมาร์ทโฟนมาอยู่ในกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะการตกแต่งภาพแล้วแชร์ขึ้นโซเชียลต่างๆ หรือเว็บไซต์ผ่าน Browser ได้ทันที Galaxy S4 Zoom ตอบสนองสิ่งเหล่านั้นได้ดีมาก แต่ถ้ารักการถ่ายภาพเพื่อเน้นคุณภาพไฟล์ อารมณ์ แสง เงาต้องดีเลิศ มองข้าม S4 Zoom ไปหากล้องดิจิตอลเพียวๆ จะดีที่สุดครับ เพราะ Galaxy S4 Zoom เป็นแค่กล้องถ่ายภาพเน้นถ่ายสนุก ใช้งานง่าย และเอาใจวัยรุ่นสุด Geek ด้วยแอนดรอยด์พร้อมสร้างความต่างด้วยความสามารถในการโทรศัพท์ได้เท่านั้นเอง

Company Related Link :
Samsung

CyberBiz Social


Create Date : 21 สิงหาคม 2556
Last Update : 21 สิงหาคม 2556 23:35:25 น. 0 comments
Counter : 1641 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hutza
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add hutza's blog to your web]