<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
16 พฤศจิกายน 2556

กูเกิลชนะคดี ไฟเขียวโครงการสแกนหนังสือห้องสมุดดิจิตอล

หลังจากถูกกลุ่มนักเขียนและสำนักพิมพ์จำนวนหนึ่งฟ้องศาลเพื่อให้กูเกิล (Google) หยุดสแกนหนังสือและอัปโหลดเนื้อหาในหนังสือหลายล้านเล่มสู่โลกออนไลน์ด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ ปรากฏว่าล่าสุดศาลอเมริกันตัดสินให้กูเกิลชนะคดี เรียกว่าเป็นการเปิดไฟเขียวที่กูเกิลจะสามารถเดินหน้าโครงการห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์ได้หลังจากสู้คดีมานาน 8 ปี

       ย้อนกลับไปในปี 2005 กลุ่มสำนักพิมพ์และนักเขียนอเมริกันนาม US Authors Guild เปิดฉากฟ้องโครงการสแกนหนังสือของเจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิน ที่กูเกิลตั้งใจสร้างห้องสมุดดิจิตอลด้วยการนำหนังสือที่เก็บไว้ในห้องสมุดสาธารณะ และห้องสมุดมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ มาสแกนและเก็บเป็นไฟล์เอกสารดิจิตอลที่คนทั่วโลกจะสามารถค้นหาและเปิดอ่านโดยไม่ต้องเสียเงินและเวลาในการเดินทาง โดยสมาคมนักเขียนและสำนักพิมพ์ให้เหตุผลในการฟ้องร้องว่า โครงการดังกล่าวทำให้สำนักพิมพ์ประสบปัญหาขาดรายได้จากการจำหน่ายหนังสือในระยะยาว ขณะเดียวกัน กูเกิลไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำซ้ำหนังสือและเผยแพร่ต่อสาธารณชน แถมยังขาดการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือทั้งหมดบนเว็บไซต์ด้วย

ทั้งหมดนี้ เดนนี ชิน (Denny Chin) ผู้พิพากษาสหรัฐฯ เห็นด้วยกับกูเกิล ที่ระบุว่าโครงการนี้เกิดขึ้นบนความถูกต้องและยุติธรรม เนื่องจากเป็นการนำข้อความเนื้อเรื่องย่อของหนังสือขึ้นสู่โลกออนไลน์ (excerpts of texts) โดยศาลรับฟังความเห็นกูเกิลที่ระบุว่า โครงการนี้จะทำให้สาธารณชนทั่วโลกได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ความรู้ในวงกว้าง

       การตัดสินมาราธอนครั้งนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่กูเกิลเริ่มดำเนินการสแกนหนังสือในห้องสมุดของ 3 มหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยมิชิแกน และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมถึงห้องสมุดสาธารณะของนิวยอร์กกับห้องสมุดของเมืองออกซฟอร์ดเมื่อปี 2005 สาเหตุที่กูเกิลถูกต่อต้านคือการกระทำของกูเกิลที่เปรียบเสมือนการทุบหม้อข้าวธุรกิจจำหน่ายหนังสือ เพราะถ้าสิ่งพิมพ์กลายเป็นสิ่งที่สามารถหาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ก็ควรได้รับรายได้หล่อเลี้ยงจากการจัดการด้านลิขสิทธิ์ แม้ว่าหนังสือจะถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการสแกนหนังสือของกูเกิลว่าอาจทำให้กูเกิลมีอำนาจในการตั้งราคาค่าบริการกับห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลกหากบริการดังกล่าวกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห้องสมุดขึ้นมา ขณะเดียวกัน โครงการนี้จะทำให้กูเกิลสามารถสแกนหนังสือหรือบทความที่ไม่ปรากฏเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบกับกูเกิลในอนาคต

       การฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนำไปสู่การเจรจาในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้โครงการสแกนหนังสือของกูเกิลได้รับไฟเขียวจากการยอมความระหว่างกูเกิลกับบางสำนักพิมพ์ ครั้งนั้นกูเกิลตกลงยอมจ่ายเงินจำนวน 125 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างทำเนียบทะเบียนลิขสิทธิ์หนังสือ หรือ Book Rights Registry ให้ผู้แต่งหนังสือและสำนักพิมพ์สามารถลงทะเบียนงานเขียนและได้รับค่าตอบแทนจากรายได้สั่งซื้อหนังสือ ซึ่งจะติดไว้ท้ายหน้าเพจสแกนหนังสือที่ปรากฏบนโลกออนไลน์

       แม้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ระบุว่าจะเข้าร่วมโครงการ Book Rights Registry โดยจะยอมให้กูเกิลเผยแพร่หนังสือในครอบครองของมหาวิทยาลัยอย่างเสรี แต่ปรากฏว่าการยอมความนี้ถูกต่อต้านจากผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งคู่แข่งของกูเกิลอย่างอเมซอนและไมโครซอฟท์ที่หวั่นเกรงว่ากูเกิลจะมีอิทธิพลมากขึ้น กลุ่มคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่เป็นห่วงว่ากูเกิลอาจทำประโยชน์จากโครงการนี้จนเกินงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและกลุ่มหอสมุดระดับโลกที่กังวลว่าตัวเองอาจลดบทบาทความสำคัญลง รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศซึ่งมองว่าข้อตกลงนี้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ ทำให้ศาลสหรัฐฯ ต้องลงมาพิจาณาการยอมความที่เกิดขึ้น และประกาศไม่อนุมัติการยอมความในที่สุด

มีนาคม ปี 2011 ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ อย่างเดนนี ชิน จึงปฏิเสธไม่อนุมัติการยอมความระหว่างสำนักพิมพ์อเมริกันกับกูเกิล โดยให้เหตุผลว่าการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าสำนักพิมพ์เช่นนี้เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการผูกขาดการค้าในตลาดหนังสือออนไลน์ รวมถึงขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ แม้จะยอมรับว่าโครงการสแกนหนังสือสามารถเป็นประโยชน์ต่อประชากรโลกได้จริง

       ในเวลานั้นศาลสหรัฐฯ มีความเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างกูเกิลกับสำนักพิมพ์จะทำให้กูเกิลมีสิทธิเข้าถึงหนังสือทั้งหมดโดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้กูเกิลมีโอกาสผูกขาดสิทธิในการเข้าถึงงานเขียนที่ไม่สามารถระบุเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย ทั้งงานเขียนที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนหรือหนังสือที่เลิกพิมพ์ไปแล้ว ซึ่งจะผิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการขึ้นราคาสินค้าและบริการโดยไม่เป็นธรรม

ฮิลลารี แวร์ (Hilary Ware) ทนายความกูเกิลซึ่งระบุว่าได้สแกนหนังสือไปมากกว่า 15 ล้านเล่มแล้วในขณะนั้น พร้อมยืนยันว่าจะเดินหน้าเจรจากับสำนักพิมพ์ เนื่องจากมั่นใจว่าแนวคิดห้องสมุดออนไลน์คือสิ่งจำเป็นในอนาคต และเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงหนังสือหลายล้านเล่มที่มีอยู่ในสหรัฐฯ

       แม้จะอยู่ระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ ช่วงเดือนเมษายน 2013 กูเกิลเปิดเผยว่าได้สแกนหนังสือไปมากกว่า 30 ล้านเล่มตั้งแต่ปี 2004 ทั้งหมดพร้อมที่จะแจ้งเกิดในโครงการห้องสมุดออนไลน์

สำหรับการตัดสินครั้งนี้ กูเกิลจะมีสิทธิโดยชอบธรรมในการสแกนหนังสือและให้บริการบนโลกออนไลน์ได้ฟรี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีตัวแทนสำนักพิมพ์และนักเขียนออกมาให้ความเห็น



Create Date : 16 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2556 22:16:35 น. 0 comments
Counter : 924 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hutza
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add hutza's blog to your web]