<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
2 ธันวาคม 2556

Review : Oppo N1 เกิดมารับศัพท์ฮิตแห่งปี 'Selfie'



นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะมากกับการออกวางจำหน่ายของ Oppo N1 ที่เข้ากับการที่ออกซ์ฟอร์ดยกคำว่า ‘Selfie’ เป็นคำแห่งยอดฮิตปีนี้ ที่แปลว่าเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปตนเอง และแชร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะจุดเด่นที่สุดของ Oppo N1 คือเรื่องของกล้อง ที่สามารถหมุนกล้องหลักมาถ่ายภาพตนเองเสมือนกล้องหน้าได้ทันที ทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ารุ่นอื่นๆในท้องตลาด

       แน่นอนว่ากล้องไม่ใช่ฟังก์ชันเดียวที่ Oppo ใส่เข้ามาในเครื่อง เพราะกับราคาเปิดตัวที่ 19,990 บาท ทำให้ N1 ยังมีลูกเล่นที่สำคัญๆ เพิ่มเติมเข้ามาอย่างแถบควมคุมจากฝาหลัง การสั่งงานเครื่องแม้ยังไม่เปิดหน้าจอ และการใช้นิ้วพร้อมๆกัน หรือ การหมุนเครื่องมาช่วยสั่งงาน ประกอบกับขนาดของหน้าจอที่ใหญ่ ส่งผลให้ Oppo ค่อนข้างมั่นใจว่า N1 จะได้รับความนิยมในท้องตลาด

การออกแบบและสเปก



ในแง่การดีไซน์ต้องยอมรับว่า Oppo ทำการบ้านมาค่อนข้างดี เพราะด้วยการที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่จากหน้าจอ แต่จากการออกแบบให้มีความบาง ทำให้สามารถจับใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ถึงกระนั้นในการใช้งานก็จำเป็นต้องใช้ 2 มือในการสัมผัสอยู่ดี เพราะว่าไม่สามารถใช้นิ้วโป้งสัมผัสได้ทั่วจอแน่ๆ

       โดยตัวเครื่องจะถูกออกแบบให้เป็นแบบตัวเครื่องชิ้นเดียว ไม่สามารถถอดฝาหลังได้ โดยขนาดตัวเครื่องของ N1 จะอยู่ที่ 170 x 82.6 x 9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 213 กรัม และวางจำหน่ายเพียงสีขาว สีเดียวเท่านั้น



ด้านหน้า - เริ่มกันจากส่วนของหน้าจอมัลติทัชสกรีนที่ใช้กอลิล่ากลาส 3 และยังเป็นจอแบบ IPS ขนาด 5.9 นิ้ว ความละเอียด 1,920 x 1,080 พิกเซล (Full HD) ให้ความละเอียดเม็ดสี 337 ppi ถัดลงมาด้านล่างก็จะเป็นปุ่มควบคุมแบบสัมผัสเรียกเมนู โฮม และย้อนกลับ



       ส่วนขอบบนในส่วนที่หมุนได้นั้นจะมีแถบลำโพงสนทนา และเซ็นเซอร์อยู่ ถ้าหมุนสลับมาก็จะเจอ กล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชคู่ ที่มาช่วยปรับสภาพแสงให้สมจริง โดยมีขนาดรูรับแสงอยู่ที่ F/2.0 โดยทาง Oppo เคลมว่า ข้อต่อการหมุนนี้ปรับมุมได้ 206 องศา รองรับการหมุนได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนครั้ง หรือหมุนวันละ 40 ครั้งได้ 7 ปี




ด้านหลัง - ตรงกลางจะมีแถบที่เรียกว่า O-Touch อยู่ใต้สัญลักษณ์ Oppo ซึ่งสามารถใช้งานในการเลื่อนหน้าจอขึ้นลง ปัดซ้ายขวา หรือกด เพื่อใช้งานฟังก์ชันต่างๆของเครื่องได้ อย่างการถ่ายรูป เลื่อนหน้าจอเว็บเบราว์เซอร์ เลื่อนดูรูปโดยไม่ต้องสัมผัสด้านหน้าจอ และภายในจะมีแบตเตอรีอยู่ที่ 3,160 mAh




ด้านซ้าย - จะมีช่องสำหรับใส่ไมโครซิมการ์ดที่ต้องใช้เข็มจิ้มเพื่อนำถาดใส่ซิมออกมา ด้านขวา - จะเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง ซึ่งทำมาค่อนข้างตื้นและมีขนาดเล็ก ทำให้อาจกดใช้งานได้ลำบาก




ด้านบน - ถูกปล่อยว่างไว้ เพื่อให้สามารถหมุนใช้งานกล้องได้สะดวกที่สุด ด้านล่าง - มีทั้งช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. พอร์ตไมโครยูเอสบี และลำโพง ที่ให้เสียงค่อนข้างดัง



       สำหรับสเปกภาพในของ Oppo N1 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลควอดคอร์ 1.7 GHz ของค่าย Snapdragonn ในรหัส 600 มีหน่วยประมวลผลภาพ Adreno 320 มาช่วย ตัวเครื่องให้ RAM มา 2 GB พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูล 32 GB ไม่รองรับการใส่ไมโครเอสดีเพิ่มเติม

       ด้านการเชื่อมต่อ ตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 3G ทุกเครือข่าย นอกจากนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อไวไฟ บนมาตรฐาน 802.11 b/g/n สามารถใช้เป็นไวไฟฮ็อตสป็อตได้ บลูทูธ 4.0 NFC GPSทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 4.2.2 Jelly Bean แต่ทาง Oppo เรียกว่าเป็นระบบปฏิบัติการ Color แทน

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



       ในส่วนของส่วนติดต่อผู้ใช้งานภายใต้ระบบปฏิบัติการ Color ก็จะมีหน้าว่างให้ผู้ใช้ได้ลากวิตเจ็ตมาใส่เช่นเดียวกับแอนดรอยด์ปกติ เพียงแต่ว่าจะมีแถบพิเศษเพิ่มเข้ามา 2 ส่วนคือ โหมดถ่ายภาพด่วน ซึ่งเมื่อเข้ามาอยู่ในหน้าจอนี้ จะสามารถใช้งานโหมดกล้องเพื่อบันทึกภาพได้ทันที และภาพที่บันทึกไว้ก็จะกลายเป็นไทม์ไลน์เรียงตามวันและเวลาลงมา กับอีกหน้าหนึ่งที่เป็นเหมือนแผ่นเสียง ถ้าลากเข็มมาวางบนแผ่นก็จะกลายเป็นการเล่นเพลงทันที



       โดยในสวนของหน้าจอหลักสามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 9 หน้าด้วยกัน ถัดมาในส่วนของแถบการแจ้งเตือนถือว่าทำมาให้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบเพราะว่ามีส่วนของการตั้งค่าลัดมาให้ด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกเปิดปิดการใช้งาน จีพีเอส บลูทูธ ซิงค์ NFC ไวไฟ ดาต้า โหมดประหยัดพลังงาน ระบบสัมผัส O-Touch ล็อกหน้าจอ และปรับระดับแสงหน้าจอได้ทันที ส่วนการเรียกดูแอปฯที่ใช้งานล่าสุดทำได้ด้วยการกดปุ่มโฮม 2 ครั้ง



       สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่องจะแบ่งออกเป็น 3 หน้าหลักๆด้วยกันคือ แอปฯที่เกี่ยวข้องกับบริการของกูเกิล ถัดมาก็จะเป็นพวกโทรศัพท์ ข้อความ รายชื่อ ปฏิทิน นาฬิกา พยากรณ์อากาศ โน้ต เครื่องเล่นเพลง วิดีโอ กล้อง อัลบั้มภาพ เว็บเบราว์เซอร์ ปิดหน้าจอ การตั้งค่าระบบต่างๆ เฟซบุ๊ก เครื่องคิดเลข โดยจะมีอีก 2 โฟลเดอร์เกี่ยวกับความปลอดภัย และเครื่องมืออื่นๆอยู่ภายใน



       ซึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจใน N1 จะเริ่มกันตั้งแต่ระบบป้องกันการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งได้ว่าในแต่ละเดือนสามารถใช้งานได้กี่ MB / GB นับวันตัดรอบบิลวันไหน หรือจะดูควบคู่ไปกับการใช้งานไวไฟก็ได้ และสามารถตั้งได้ว่าจะให้มีการแจ้งเตือนเมื่อใช้งานถึงเท่าใด



       ถัดมาคือในส่วนของฟังก์ชันประหยัดพลังงาน ที่จะมีบอก % แบตเตอรี และเวลาใช้งานได้ชัดเจน ซึ่งในโหมดประหยัดแบต ก็จะมีให้เลือกว่า ประหยัดด้วยการตั้งค่าความสว่างหน้าจอ ปิดการสั่น และปิดการเชื่อมต่อต่างๆที่กินพลังงานเป็นต้น



       นอกจากนี้ก็ยังมีระบบสำรองข้อมูลอย่าง Oppo Cloud ไว้สำรองข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ ข้อความ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ส่วนแอปฯอย่างไฟฉาย และเข็มทิศก็มีมาให้ใช้งานตามปกติ



       อีกสิ่งหนึ่งที่ Oppo ภูมิใจคงหนีไม่พ้นในแง่ของระบบเสียงเพราะถือเป็นบริษัทชั้นนำที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ทำให้ใน N1 นอกจากจะมีการใส่ลำโพงที่ให้เสียงดัง และมีมิติแล้วนั้น ยังมีการนำระบบ Dolby ในมือถือมาให้ผู้ใช้ได้เลือกปรับกันด้วย หรือจะเลือกจากโหมดเสียงต่างๆที่มีไว้ให้ก็ได้



       ยังไม่พอ ภายในตัว N1 ยังได้มีการใส่ระบบป้องกันไวรัสมาให้ด้วย ซึ่งถ้าโหลดใช้งานอัปเดตดาต้าเบส แล้วก็สามารถใช้สแกนไวรัสภายในเครื่องได้ทันที



       ขณะเดียวกันก็ยังมีการใส่ระบบความปลอดภัยอย่าง การใส่รหัสเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าใช้งานแอปพลิเคชันได้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้การป้องกันกับแอปฯใดบ้าง รวมไปถึงสามารถเลือกใช้ระบบปกป้องข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้แอปฯเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยผู้ใช้ไม่รู้ตัวได้



       ยังไม่นับรวมกับ Guest Mode ที่ใช้วิธีการปลดล็อกเครื่องในรูปแบบที่ตั้งไว้ ว่าถ้าปลดล็อกแบบใดเป็นการใช้งานปกติ และการปลดล็อกแบบใดเป็นการเข้าใช้งาน Guest Mode ซึ่งแน่นอนว่าสามารถเลือกได้ว่าใน Guest Mode จะสามารถเข้าถึงอะไรได้บ้าง



       ส่วนฟังก์ชันพื้นฐานอย่างโหมดโทรศัพท์ก็ถือว่าทำมาได้ค่อนข้างดี เพราะมาพร้อมระบบเดารายชื่อจากเลขหมายที่พิมพ์ไป ซึ่งจะมีปุ่มให้เลือกได้ว่าจะโทร ส่งข้อความ หรือแสดงข้อมูลในหน้ากดเบอร์ ส่วนหน้าระหว่างใช้สาย ก็จะมีโหมดสำหรับบันทึกเสียง เข้ารายชื่อ เพิ่มสาย จดโน้ต เปิดลำโพง ปิดเสียง เพื่อเรียกใช้งานได้ทันที ขณะที่การรับสายก็จะใช้การเลื่อนไปทางซ้าย-ขวาเพื่อรับหรือตัดสายตามปกติ



       คีย์บอร์ดที่ N1 ให้มาถือว่าใช้งานได้ค่อนข้างดี มีแป้นพิมพ์ภาษาไทยมาให้เรียบร้อย สามารถกดเปลี่ยนภาษาได้จากปุ่มซ้ายล่าง หรือจะเลือกจากแถบที่แสดง รูปแบบตรงกลางบน ของคีย์บอร์ดก็ได้เช่นเดียวกัน ที่น่าสนใจคือมีคีย์ที่เป็นอีโมติคอนมาให้ใช้ด้วย



       เว็บเบราว์เซอร์ กับหน้าจอขนาด 5.9 นิ้ว ถือว่าช่วยให้การรับชมเว็บไซต์ทำได้ง่ายมาก ความเร็วในการแสดงผลอยู่ในระดับที่ดี รองรับการใช้งานทั้งแนวตั้งแนวนอน ที่สำคัญคือในเว็บเบราว์เซอร์ สามารถใช้แทบ O-Touch ในการเลื่อนหน้า ช่วยให้สามารถอ่านเว็บได้ด้วยมือเดียว



       โหมดกล้องถือว่าเป็นจุดเด่นของ N1 ที่มีการใส่โหมด Beauty มาให้สำหรับใช้ถ่ายภาพบุคคล ที่ทำให้คนใช้หน้าใสขึ้นมาได้ทันที หรือแม้แต่จะใช้การปรับแต่งหลังจากถ่ายภาพก็มีโหมดให้เลือกใช้เช่นเดียวกัน โดยผู้ใช้สามารถปรับแต่งจุดสำคัญๆ อย่างดวงตา และปากได้



       โดยในโหมดถ่ายภาพปกติ จะมีชัตเตอร์กล้องอยู่ที่มุมขวาตรงกลาง ขวาล่างเป็นปุ่มบันทึกวิดีโอ ขวาบนเป็นการเข้าดูอัลบั้มภาพ ส่วนฝั่งซ้ายจะมีให้เลือกโหมดถ่ายภาพ เปิดปิดแฟลช และเข้าสู่หน้าการตั้งค่า ส่วนโหมดถ่ายภาพก็จะมีให้เลือกโหมดปกติ ถ่ายชดเชยแสง พาโนรามา และชัตเตอร์ช้าให้เลือกใช้งานกัน



       สุดท้ายเข้ามาดูในส่วนของโหมดการตั้งค่า จะแบ่งออกเป็น 3 แถบหลักๆคือ ทั่วไป ไว้ใช้เข้าไปตั้งค่าการเชื่อมต่อเครือข่าย ระบบไวไฟฮ็อตสป็อต NFC ตั้งค่าความปลอดภัย การเชื่อมต่อข้อมูล และส่วนสำหรับเปิดใช้งานฟีเจอร์ลัดต่างๆ



       ถัดมาก็จะเป็นเกี่ยวกับระบบเสียง การแจ้งเตือน ที่ผู้ใช้สามารถตั้งได้แทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นปุ่มกด เสียงล็อกหน้าจอ เปิดปิดเครื่อง และการสั่นตอบสนองการสัมผัส สุดท้ายในส่วนของหน้าจอก็จะมีให้ปรับความสว่าง แสดงเปอเซนต์แบตเตอรี ตั้งไฟปุ่มสัมผัส และเวลาการปิดหน้าจอเป็นต้น



       ทีนี้มาดูกันที่ส่วนของการใช้ท่าทางกำหนดการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นฟีเจอร์เด็ดที่ N1 ใส่มาให้ กล่าวถือ สามารถตั้งได้ว่า ถ้ามีการหมุนเครื่องให้เปิดใช้งานกล้อง ใช้ 3 นิ้วลากขึ้นหรือลงเพื่อจับภาพหน้าจอ การใช้ 5 นิ้วจีบเข้าหากันเพื่อเรียกใช้งานโหมดกล้อง ใช้การสัมผัสหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเรียกหน้าจอปลดล็อกขณะที่เครื่องปิดหน้าจออยู่ รวมกับฟังก์ชันอย่างคว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียงกรณีที่มีการโทรเข้า



       นอกจากนี้ก็จะมีโหมดอย่างการวาดสัญลักษณ์ระหว่างที่หน้าจอปิดอยู่ อย่างที่เครื่องกำหนดมาคือ วาดตัว O สำหรับเรียกโหมดกล้อง วาดตัว V สำหรับเปิดไฟฉาย ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้สามารถเพิ่มสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรให้เรียกใช้งานแอปฯได้ด้วยตนเอง



       ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 8,426 คะแนน และ 24,874 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน

       ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 1,986 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 653 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 และ Nenamark2 60.9 fps An3dBench 7,544 คะแนน และ An3dBenchXL 38,742 คะแนน



       ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 1,980 คะแนน CPU 2,379 คะแนน Disk 15,425 คะแนน Memory 2,860 คะแนน 2D Graphics 1,063 คะแนน และ 3D Graphics 1,122 คะแนน

       ส่วนการทดสอบ CF-Bench และ 3D Mark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง





       ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึง เนื่องจากทีมงานไม่ได้รับมาทดสอบด้วย แต่ถือเป็นอุปกรณ์ที่จะแถมให้ในกล่องคือ O-Click ซึ่งเป็นเหมือนปุ่มชัตเตอร์พกพา เชื่อมต่อกับเครื่อง N1 ผ่านระบบบลูทูธ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานกล้องถ่ายภาพผ่านอุปกรณ์นี้ได้ทันที

จุดขาย

       - กล้อง 13 ล้านพิกเซล ที่สามารถปรับมุมได้ 206 องศา พร้อมไฟแฟลช
       - หน้าจอ IPS ขนาด 5.9 นิ้ว ความละเอียด FullHD กับระบบเสียงที่ดี
       - แถบควบคุม O-Touch หลังเครื่องช่วยให้ใช้งานเครื่องมือเดียวง่ายขึ้น
       - ฟีเจอร์ที่นำระบบการสัมผัสหน้าจอ และการขยับของเครื่องมาใช้งาน

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

       - ตัวเครื่องมีขนาดค่อนข้างใหญ่ทำให้พกพายาก
       - ราคาค่อนข้างสูง และได้ซีพียูสเปกต่ำกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องในระดับเดียวกัน
       - ยังไม่รองรับการเชื่อมต่อ 4G
       - ไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

ถ้าเป็นผู้ที่ชื่นชอบการ Selfie Oppo N1 ถือเป็นรุ่นที่เหมาะกับการใช้งานมาก จากทั้งโหมด Beauty ที่อยู่ในเครื่อง ช่วยอำพรางร่องรอยบนใบหน้าให้เรียบเนียน ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแอปแต่งรูปอื่นๆเลย แต่ก็แลกมากับราคาของเครื่องที่ 19,990 บาท



       แต่ก็ใช่ว่า N1 จะโดดเด่นแค่เรื่องกล้องอย่างเดียว เพราะในแง่ของการใช้งานโดดรวม ถือว่าทำออกมาได้โอเค รองรับการใช้งานมัลติมีเดียได้เต็มรูปแบบ หรือจะเลือกนำไปเล่นเกมกับหน้าจอขนาดใหญ่ การประมวลผลก็ไม่มีอาการกระตุกแต่อย่างใด ซึ่งก็เสียอยู่อย่างเดียวที่ไม่สามารถเพิ่มหน่วยความจำได้ อาจทำให้ต้องมีการล้างข้อมูลในเครื่อง หรือใช้งานควบคู่กับระบบคลาวด์ที่ให้มาแทน

       ส่วนเรื่องของแบตเตอรีที่ให้มา 3,160 mAh ถ้าใช้งานทั่วๆไป ไม่ได้นำมาเล่นเกม หรือเปิดใช้งานหน้าจอต่อเนื่องติดกันเป็นเวลานานๆ N1 ถือว่าสอบผ่านในการยืนระยะใช้งานในแต่ละวัน เพราะสามารถอยู่ได้สบายๆ แม้จะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เปิดใช้แอปฯแชท ซิงค์เมล โทรศัพท์ กล้องถ่ายภาพแบบทั่วๆไป

       ทั้งนี้ในเครื่องที่ได้มาทดสอบ N1 ยังมีอาการรวนๆอยู่บ้างหลังจากการเรียกใช้งานโหมดกล้อง กรณีที่หมุนไป-มา ทำให้กล้องกลับภาพไม่ทัน ส่งผลให้การแสดงผลจะคนละทิศทางกับการใช้งานกล้องโดยปกติ อีกจุดหนึ่งคือกรณีที่มีการติดตั้งแอปฯใหม่ซึ่งเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะมีคำเตือนขึ้นมาในภาษาที่อ่านไม่ออกเพื่อให้กดอนุญาตก่อนเข้าใช้งานแอปฯ

Oppo N1การออกแบบสเปก/ฟีเจอร์ความคุ้มค่าภาพรวมทั้งหมด40510Overall Rating80%


Company Related Links :
Oppo
CyberBiz Social


Create Date : 02 ธันวาคม 2556
Last Update : 2 ธันวาคม 2556 22:59:19 น. 0 comments
Counter : 1170 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hutza
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add hutza's blog to your web]