Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
10 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
ตกแต่งภายใน

เทคนิคการตกแต่งภายใน

ห้องนั่งเล่น

1. การจัดวาง ห้องนั่งเล่นเป็นห้องที่ใช้เป็นศูนย์กลาง กิจกรรมของครอบครัวควรจะอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางในบ้านมีการเข้าถึงได้ง่ายและ แยกส่วนกับพื้นที่ต้อนรับแขกภายนอกห้องนั่งเล่นควรเป็นพื้นที่ที่สดใส ไม่ว่าจะนั่งพูดคุยกับผู้ใหญ่หรือเล่นเกมส์กับเด็ก ภายในห้องควรมีการใช้งานที่เปลี่ยนไปมาตามช่วงเวลาการจัดที่นั่งควรเปิดโอกาสให้เคลื่อนย้ายได้ เมื่อมีคนจำนวนน้อยจัดรวมกันเพียงกลุ่มเดียว ถ้ามีคนจำนวนมากสามารถเสริมเก้าอี้ได้อีก

2. การเลือกวัสดุและสีห้องนั่งเล่นโดยส่วนมากสามารถที่จะตกแต่งโดยเลือกวัสดุและสีได้หลากหลายได้ตามความชอบเพราะเป็นห้องที่มีจุดประสงค์ในการใช้งานเพื่อการผ่อนคลาย การเลือกใช้วัสดุและสีอาจเน้นให้เป็นความสนุกสนานมีสีสันฉูดฉาด หรืออาจเลือกโทนสีและวัสดุแบบนุ่มนวลเพื่อการผ่อนคลายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหลักของเจ้าของบ้านว่าต้องการจะใช้เป็นกิจกรรมที่เน้นไปในทิศทางใด

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในห้องนั่งเล่นควรเลือกใช้ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่น เก้าอี้นั่งปรับมุมหรือความสูงได้หรือเก้าอี้เอนหลังอาจมีที่วางเท้า และควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดกลางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์ไม้แข็งกระด้างหรือเก้าอี้ผ้าหนาหนักยวบเพราะไม่เหมาะกับการนั่งเป็นเวลานาน ๆ และควรมีพื้นที่โล่งเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรม ควรมีโต๊ะกลางขนาดเล็กสองสามตัวดีกว่าใช้ตัวใหญ่ตัวเดียวเผื่อการแยกวงกิจกรรมหลายรูปแบบในช่วงเวลาเดียวกันได้ หากมีสมาชิกจำนวนมากมีหลากหลายกิจกรรมสามารถแบ่งแยกได้โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เช่นตู้เตี้ยที่เชื่อมต่อกันได้ด้วยสายตาหรือตกแต่งผนังบางด้านเป็นชั้นวางของผนังด้านที่ไม่ใช้ทำเป็นตู้ จะทำให้มีผิวสัมผัสต่างไป ห้องที่ใช้งานประจำวันมากควรทำให้อยู่สบายมักจะเป็นห้องที่ตกแต่งด้วยสีอย่างกลมกลืนไม่ขัดแย้งรุนแรง

4. แสงและเสียงในห้องนั่งเล่น ห้องนั่งเล่นสามารถทำเป็นห้องโฮมเธียเตอร์ได้ไปในตัว ควรเลือกวัสดุดูดซับเสียงติดที่ฝ้าเพดานหรือผนัง 4 ด้าน เช่น แผ่นยิปซั่มบอร์ดรุ่นดูดซับเสียง หรืออาจใช้พรมปูพื้นห้องแทนและควรคำนึงถึงพื้นที่การจัดวางชุดเครื่องเสียง และโทรทัศน์ไม่อยู่ในด้านที่ต้องหันหน้าเผชิญกับแสงแดดที่หน้าต่าง โซฟาควรเลือกแบบที่ใช้นั่งได้นานโดยไม่เมื่อยล้ามีระยะห่างจากโทรทัศน์อย่างน้อย 1.50 เมตรและควรวางโทรทัศน์ไว้ในตู้แบบมีบานปิด ส่วนแสงภายในให้จัดเป็นสวิตช์หรี่ไฟได้เป็นจุด ๆเพื่อให้สามารถหรี่ได้ในเวลาที่ใช้งานห้อง

ห้องนอน

1. การจัดวาง ห้องนอนเป็นห้องที่ใช้ในการพักผ่อนและเป็นห้องที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด การจัดวางห้องนอนจึงควรจัดให้เป็นห้องที่มีความสบายและผ่อนคลาย โดยทั่วไปแล้วมักจะจัดไม่ให้เตียงนอนหันหัวในทางตรงข้ามกับประตูเข้าห้องนอน นอกจากจะเป็นห้องนอนขนาดใหญ่ที่สามารถเลี่ยงไม่ให้วางเตียงตรงกับประตูได้ ในกรณีที่มีห้องนอนขนาดใหญ่สามารถจัดพื้นที่บางส่วนเป็นส่วนทำงานและเป็นเสมือนด่านหน้าก่อนจะเข้าถึงพื้นที่ส่วนเตียงได้อีกด้วย แต่การจัดห้องทำงานในห้องนอนนั้นก็ควรมีตู้หรือฉากกั้นเป็นสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือการรบกวนกันของการใช้งานทั้ง 2 ส่วน นอกจากนี้ ปัจจุบันยังนิยมกั้นพื้นที่บริเวณใกล้ห้องน้ำเป็นพื้นที่แต่งตัวอีกด้วย

2. การเลือกวัสดุและสีห้องนอน ห้องนอนเด็กควรตกแต่งห้องให้น่าสนใจด้วยจินตนาการของการเลือกสี เด็กเล็กมักจะให้ความสนใจต่อสี การเลือกเฟอร์นิเจอร์จึงมักเรียบง่ายแต่เน้นสี ให้สะดุดตาห้องนอนผู้ใหญ่จะตกแต่งไปตามสไตล์ความชอบส่วนบุคคล การเลือกโทนสีเนื้อนวล หรือสีโทนร้อนที่ไม่ร้อนแรงเกินไปเช่นสีเปลือกไข่ไก่ สีเหลืองอ่อนๆ จะช่วยทำให้ห้องมีความสว่างสดใสและอบอุ่น มีบรรยากาศพักผ่อนที่ดีอุปกรณ์เครื่องนอนควรเลือกผ้าฝ้ายธรรมชาติ ที่ไม่ผ่านการฟอกย้อม

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง ในห้องนอนโดยมากไม่ควรปูพรมเพราะจะเป็นที่สะสมของไรฝุ่น ควรปูพื้นไม้ที่ให้ความเป็นธรรมชาติและทำความสะอาดง่าย แม้แต่ผ้าเช็ดเท้าหน้าเตียงก็ควรหลีกเลี่ยงพรมขนฟูควรใช้ผ้าฝ้ายผืนพอเหมาะที่สามารถซักได้ และเลือกหมอนที่ซักล้างทำความสะอาดได้ง่าย หากต้องมีพรมให้ใช้พรมขนสัตว์แท้ หรือพรมจากวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ แทนพรมสังเคราะห์ ไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์กีดขวางทิศทางจากห้องนอนไปห้องอื่นที่สำคัญในบ้าน เช่น จากเตียงสู่ห้องน้ำเนื่องจากอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืน เตียงนอนไม่ควรหันปลายเท้าทางประตูทางเข้าเพราะเมื่อมีผู้เข้าออกจะทำให้รบกวนผู้นอน ตู้เสื้อผ้า Built-in จะสร้างได้พอเหมาะกับที่ว่างที่มีอยู่ และใช้ปิดมุมเสาให้ห้องดูนุ่มนวลลงได้ ประตูตู้เป็นบานเปิดหรือบานเลื่อนขึ้นอยู่กับที่ว่างหน้าตู้ที่มีอยู่ ถ้าที่ว่างน้อยควรใช้ประตูเป็นบานเลื่อน

4. แสงและเสียงในห้องนอน ห้องนอนเป็นห้องที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดในบ้านการจัดวางทิศทางต้องคำนึงถึงช่องเปิดหรือหน้าต่างที่ จะรับลมได้ดีถ้าไม่มีเครื่องปรับอากาศสำหรับบ้านในกรุงเทพทิศทางลมจะมาจากทุกทิศทางควรทำช่องเปิดมากกว่าหนึ่งด้าน ผู้อยู่อาศัยที่ชื่นชอบแสงเวลาเช้าให้หันทิศทางห้องนอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คนส่วนมากที่ไม่ชอบตื่นเช้าให้หันทิศทางห้องและหัวนอนไปทางทิศเหนือ และไม่หันหัวเตียงไปทางหน้าต่าง แสงที่เข้ามาจะเป็น Indirect Light สะท้อนที่ผนังก่อนจะเข้าตา ช่วยไม่ให้แสงแยงเข้าตาเราสามารถแยกส่วนห้องนอนกับห้องแต่งตัวออกจากกัน เพื่อให้ห้องนอนมีขนาดกว้างขวางขึ้นบริเวณแต่งตัวและโต๊ะเครื่องแป้ง ควรแยกเป็นสัดส่วนกับบริเวณนอน และต่อเนื่องกับห้องน้ำในกรณีที่มีห้องน้ำติดกับห้องนอน ไม่ควรอยู่ทางเข้าเนื่องจากจะทำให้เห็นความไม่เรียบร้อย

ห้องน้ำ

1. การจัดวาง ห้องน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับห้องนอนหรืออยู่บริเวณโถงและทางเดินเชื่อมหน้าห้องแต่ละห้อง บ้านสองชั้นอาจต้องการห้องน้ำสำหรับแขก หรือสมาชิกในบ้านช่วงเวลาที่อยู่ชั้นล่าง ซึ่งห้องน้ำ ประเภทนี้ จะมีเพียงอ่างล้างหน้าโถส้วม และที่ปัสสาวะชายเท่านั้น ห้องน้ำชั้นบน และชั้นล่างควรมีตำแหน่งที่ตรงกันเพื่อความสะดวกในการเดินระบบท่อควรจัดวางทิศทางห้องน้ำไว้ทางทิศใต้ หรือทิศตะวันตกเพื่อให้ได้รับแดดบ่ายได้เต็มที่ซึ่งเป็นการฆ่าเชื้อโรคทั้ง นี้ต้องคำนึงถึงการระบายอากาศด้วยโดยควรมีหน้าต่างระบายอากาศและรับแสงแดด และไม่มีส่วนมุมอับทึบมากเพราะทำให้ไม่สะดวกต่อการทำความสะอาด การแบ่งกลุ่มประโยชน์ใช้สอยภายในห้องน้ำ แบ่งเป็นส่วนแห้ง ได้แก่อ่างล้างมือ กระจก ชั้นวางของโถส้วมและส่วนเปียก ซึ่งได้แก่บริเวณอาบน้ำหรืออ่างอาบน้ำการจัดเรียงลำดับสุขภัณฑ์ควรเรียงลำดับตามความถี่ของการใช้งาน สิ่งที่ใช้มากคืออ่างล้างหน้าซึ่งควรจัดไว้ใกล้กับประตูเข้าออกส่วนโถส้วมไม่ควรจัดให้เปิดประตูเข้ามาแล้วเห็นเป็นสิ่งแรก เพราะจะเป็นภาพที่ไม่น่าดู

2. การเลือกวัสดุและสีห้องน้ำ ควรเลือกตกแต่งห้องน้ำอย่างเรียบง่ายใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกกระเบื้องปูพื้นและผนังที่ผลิตออกมาหลากหลายแบบทั้งที่มีสีและ ผิวเลียนแบบธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเลือกใช้วัสดุธรรมชาติแท้ ๆ เช่น หินและหินกาบ มาตกแต่งเพิ่มเติมในบางจุดได้ พื้นห้องน้ำควรเลือกใช้วัสดุที่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะห้องน้ำในบ้านที่มีเด็กและผู้สูงอายุ โดยเลือกกระเบื้องที่ออกแบบสำหรับปูพื้นซึ่งสามารถกันลื่นได้ ถ้ามีลวดลายในแผ่นหรือมีแผ่นเล็กต้องมีการยาแนวมากจะทำให้เกิดแรงเสียดทานมากขึ้น แต่อาจจะต้องทำความสะอาดมากขึ้นด้วยกระเบื้องปูพื้นและผนังควรเลือกโทนสีอ่อนที่นุ่มนวลสบายตา และเมื่อสกปรกสามารถมองเห็นและทำความสะอาดได้ง่าย ประตูห้องน้ำต้องเลือกชนิดทนน้ำเช่น ไฟเบอร์กลาส หรือพีวีซี ใช้มือจับก้านบิดหรือกลอนที่ใช้สำหรับห้องน้ำโดยเฉพาะ

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งสุขภัณฑ์ที่สำคัญในห้องน้ำคือ อ่างล้างหน้า โถส้วม และอ่างอาบน้ำหรือบริเวณอาบน้ำ อ่างล้างหน้าทำมาจากวัสดุหลายประเภทเช่น เครื่องเคลือบดินเผา โลหะเคลือบหินอ่อน การติดตั้งจะลอยตัวแขวนบนผนัง หรือติดตั้งฝังเคาน์เตอร์ก็ได้โถส้วมควรเลือกใช้ชนิดที่มีการปล่อยน้ำที่สงบ เบาและประหยัดน้ำ ใช้ได้ทั้งหญิงและชายโถส้วมชนิดที่หล่อถังเก็บน้ำและที่นั่งเป็นชิ้นเดียวกัน จะมีราคาแพงกว่าแบบแยกส่วนกัน แต่จะให้ความสวยงามและคงทนกว่า ท่อที่ต่อจากโถส้วมมีทั้งต่อลงพื้นโดยตรง ซึ่งห้องน้ำจะต้องมีเนื้อที่ใต้ห้องน้ำถึงเพดานเพียงพอต่อการเดินระบบท่อหากไม่มีที่ว่างระหว่างเพดานและพื้นชั้นสองเพียงพอ ให้เลือกใช้โถส้วมประเภทท่อของเสียออกจากโถส้วมทางผนังด้านหลังสุขภัณฑ์ประกอบส้วม ได้แก่ ที่ใส่กระดาษชำระ ติดอยู่ด้านขวามือและสายอ่อนชำระซึ่งควรจะติดตั้งอยู่ผนังด้านหลังทางขวาของโถส้วม

4. ระบบไฟฟ้าในห้องน้ำ ระบบไฟฟ้าต้องอยู่สูงกว่าระดับพื้นห้องน้ำมากๆ ส่วนมากนิยมติดที่ผนังบริเวณเคาน์เตอร์ล้างมือและกระจกเงาปลั๊กต้องมีฝาปิด และมีสายดินต้องเตรียมสายไฟให้กับเครื่องทำน้ำอุ่นและที่โกนหนวดด้วย ให้เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นขนาด 3000-3500 วัตต์ก็เพียงพอเนื่องจากอากาศเมืองไทยไม่หนาวจัด

ห้องรับแขก

1. การจัดวาง การตกแต่งภายใน ห้องรับแขกถือเป็นบริเวณกึ่งสาธารณะในบ้านควรจะอยู่ติดกับโถงทางเข้าด้าน หน้าบ้านเพื่อการเข้าถึงโดยสะดวกและควรมีทางติดต่อกับห้องรับประทานอาหาร หรือเฉลียง เพื่อความสะดวกในการย้ายกิจกรรม ห้องรับแขกควรจัดให้มีการถ่ายเทอากาศได้สะดวก ไม่ปิดทึบอาจอยู่ติดกับเฉลียงด้วยประตูขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อบริเวณให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ควรอยู่ทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงบ่าย

2. การเลือกวัสดุและสีห้องรับแขก บ้านที่ไม่มีเด็กและใช้ระบบปรับอากาศสามารถปูพรมได้ แต่ถ้ามีเด็ก อาจจะทำให้ ทำความสะอาดได้ยากพื้นควรปูด้วยไม้ปาเก้กระเบื้องเคลือบหรือวัสดุอื่น ๆแทนแต่จะทำให้รู้สึก แข็งกระด้าง สามารถแก้ได้ด้วย การเน้นบริเวณสำคัญด้วยพรมเป็นเฉพาะจุด ไม่ควรปูพรมทั้งห้องเพราะจะเป็นที่สะสมของฝุ่นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ สีของผนังหากต้องการโชว์รูปแขวน ก็ควรทาสีเรียบผ้าม่านควรมีลายสอดคล้องกับผ้าบุเก้าอี้และโซฟาเพื่อสร้าง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ้าม่านสีอ่อนจะดูสงบสร้างความรู้สึกของผนัง เมื่อปิดม่านสีที่กลมกลืนกันทั้งห้องจะช่วยสร้างบรรยากาศผืนภาพใหญ่เพื่อ เน้นความขัดแย้งของสีเช่น การใช้เฟอร์นิเจอร์หรือพรมสีสะดุดตาการใช้กระถางต้นไม้ จะช่วยให้ห้องดูน่าสนใจขึ้น

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง การจัดเฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่นั่งหลักซึ่งเป็นจุดสำคัญ ของศูนย์กลางห้องเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จะมีโซฟาเป็นศูนย์กลางของห้อง โซฟา 3 ที่นั่งเหมาะสำหรับห้องขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ หรือใช้เป็นโซฟา 2 ตัวต่อกันเป็นมุม 90 องศา บุเบาะด้วยผ้า หนัง หรือหนังเทียม ในประเทศไทยอากาศค่อนข้างร้อน การบุหนังอาจจะทำให้นั่งไม่สบายถ้าไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ควรบุด้วยผ้าด้ายดิบที่สามารถถ่ายเทอากาศได้แทนการใช้หนัง

4. แสงและเสียงในห้องรับแขก การใช้แสงธรรมชาติจะช่วยทำให้อารมณ์สดใสได้มากที่สุด และเน้นแสงเฉพาะจุดในบริเวณที่ให้ความสำคัญ เช่น ภาพเขียน งานประติมากรรม บริเวณที่มีการใช้สอยแตกต่างกันก็ควรใช้แสง แตกต่างกันด้วย ควรเรียนรู้ที่จะเปิดรับแสงแดด ให้เหมาะกับเวลา อาจนั่ง จดบันทึกทิศทางการเคลื่อนที่ของแสงอาทิตย์ ที่ส่องเข้ามาภายในห้องทุกวันและจัดผังกลุ่มเก้าอี้ตาม อย่าจัดกลุ่มโซฟาหันปะทะแสงจ้า และไม่วางโทรทัศน์รับแสงอาทิตย์กลางวันตรง ๆ

ห้องครัว

1. การจัดวาง ห้องครัวตามปกติควรจะตั้งอยู่ในส่วนต่อเนื่องกับห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น ห้องครัวเป็นบริเวณที่มีกลิ่นอาหาร ทิศทางการจัดวางห้องครัวจึงควรอยู่ปลายลมหรือบริเวณที่ลมพัดแล้วกลิ่นจะไม่ไปรบกวนห้องอื่น ๆ ในบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ควรแบ่งครัวไทยและครัวฝรั่งออกจากกัน ให้ครัวไทยอยู่ภายนอกบ้านหรือในห้องแยกต่างหากเพื่อป้องกันกลิ่นจากการทำอาหารส่วนบ้านพักขนาดเล็กอาจใช้ร่วมกัน และใช้เป็นส่วนเตรียมอาหาร(Pantry) ไปด้วยในตัว แต่ควรมีการระบายอากาศที่ดี กรณีที่ไม่มีส่วนระบายอากาศ อาจจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องดูดควันเหนือเตาออกสู่ภายนอกระยะความสูงจากเตา 0.60 เมตรการปฏิบัติงานในครัวต้องคำนึงถึงการทำงานสามจุดได้แก่ อ่างล้างจานตู้เย็น และเตาไฟ ทั้งสามจุดดังกล่าวควรเรียงกันในรูปสามเหลี่ยม และแยกออกจากแนวทางเดินที่ติดต่อกับห้องอื่นการจัดวางแผนผังครัวมีพื้นฐานง่าย ๆ หลายรูปแบบดังนี้คือ

- การจัดครัวตามแนวยาวของผนังหรือสองทางมีทางเดินกลาง ซึ่งทางเดินกลางไม่ควรเป็นทางผ่านสาธารณะของบ้านเพราะจะขัดขวางการทำงาน

- การจัดครัวตัวแอล และการจัดครัวตัวยู เป็นการจัดที่ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด แต่จะใช้พื้นที่มากมีการแยกส่วนปฏิบัติงานชัดเจน มีอ่างล้างจานส่วนโคนตัวยู และอีกสองด้านเป็นตู้เย็นและเตา และการจัดครัวแบบมีเกาะกลาง ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการทำงานหรือใช้เป็นโต๊ะทานอาหารได้

2. การเลือกวัสดุและสีห้องครัว อ่างล้างจานเป็นบริเวณที่ใช้งานมากที่สุด นิยมใช้วัสดุเป็นสแตนเลส อ่างเคลือบโลหะหรือกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ทำให้ห้องดูสดใสขึ้นแต่ก็มีราคาแพง วัสดุผิวหน้าเคาน์เตอร์เตรียมอาหารอาจใช้กระเบื้องเซรามิคได้ แต่ต้องยาแนวระหว่างแผ่นให้ชิดกันมากที่สุดเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค หรือใช้เคาน์เตอร์ทำจากไม้จริงและเคลือบผิวไม้ด้วยการทาสีและใช้ยูเรเทนสูตรน้ำ หรือใช้วัสดุธรรมชาติ เช่นหินแกรนิต หรือสเตนเลสสตีลอุปกรณ์ในงานครัวควรหลีกเลี่ยงพลาสติกลามิเนตผสมอะคริลิกหรือโพลีเอสเตอร์ซึ่งมีส่วนผสมของสารพิษ เฟอร์นิเจอร์ควรหลีกเลี่ยงวัสดุที่ผลิตจากวัสดุไม้อัดที่เรียกว่าปาร์ติเคิลบอร์ด (Particle board)ผนังห้องครัวควรจะต้องทนความร้อนโดยเฉพาะส่วนที่เหนือเตาไฟและต้องทำความสะอาดเศษน้ำมันและอาหารได้ง่าย ถ้าเป็นผนังทาสีความใช้สีน้ำมันเพราะทำความสะอาดได้ง่าย หรือเป็นผนังบุกระเบื้องเคลือบได้ก็จะเป็นการดีการเลือกโทนสีภายในห้องครัวควรเลือกที่มีสีสว่างสดใส วัสดุที่มีผิวมันและกันน้ำเนื่องจากสามารถเห็นรอยเปื้อนและทำความสะอาดได้ง่าย

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง อ่างล้างจานไม่ควรอยู่ใกล้เตาไฟควรติดตั้งอ่างบริเวณใต้หน้าต่างจะช่วยระบายความชื้นได้ดีและมีที่ให้พักสายตาสู่ภายนอกเวลาใช้งาน ตู้ใต้อ่างควรมีถังขยะเพื่อทิ้งขยะจากการล้างจานได้ และอาจติดบ่อดักไขมันข้างใต้อ่างล้างจานได้เลย ตู้เก็บจานชามควรอยู่ใกล้อ่างล้างจานเพื่อความสะดวกในการเก็บหลังจากการล้าง นอกจากนั้นตู้เย็นไม่ควรอยู่ใกล้กับเตาไฟเช่นกัน เพราะระบบความร้อนจากเตาไฟจะรบกวนการทำงานของตู้เย็น ในระบบเฟอร์นิเจอร์Built-in ควรเตรียมพื้นที่วางตู้เย็นไว้ด้วย และให้วางตู้เย็นห่างจากผนังรอบด้านประมาณ 10-15 ซม.เพื่อระบายความร้อน เคาน์เตอร์เตรียมอาหารควรเลือกให้มีที่สอดปลายเท้าลงไปด้านล่างด้านบนสามารถใช้เป็นตู้ลอยเก็บอุปกรณ์มีบานปิดป้องกันฝุ่น บริเวณที่เคาน์เตอร์ชนผนังควรมีบัวกันน้ำเข้าภายในตู้ติดผนังส่วนล่าง และกันความสกปรกจากการเช็ดถู ในการปรุงอาหารจะต้องประกอบด้วยเตาหุงต้มที่มีเตาอบอยู่ส่วนล่าง เตาไฟอยู่ส่วนบนหรือแยกกันก็ได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงพื้นที่เก็บถังแก๊ส ถ้าขนาดเล็กสามารถซ่อนอยู่ข้างใต้เคาน์เตอร์ได้ถ้ามีขนาดใหญ่ควรตั้งไว้ภายนอกห้องครัว และตั้งอยู่ห่างจากเชื้อเพลิงไม่ควรมีส่วนระบายอากาศอยู่เหนือเตาไฟเนื่องจากจะรบกวนเปลวไฟเมื่อมีกระแสลม

4. ระบบไฟฟ้าในห้องครัว ระบบไฟฟ้านิยมติดที่ผนังบริเวณเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร ใช้สำหรับเครื่องปั่นอาหาร หม้อหุงข้าวไฟฟ้าฯลฯ ในครัวควรมีแสงธรรมชาติเพียงพอในเวลากลางวัน และใช้แสงไฟในเวลากลางคืน ไฟจากหลอดไฟควรติดตั้งใต้ตู้ลอยโดยซ่อนไฟฟลูออเรสเซนต์ไว้ด้านหลังหรือติดในระยะที่ไม่ห่างผนังมากกว่า 1.00 เมตร


ห้องรับประทานอาหาร

1. การจัดวาง ห้องอาหาร ควรอยู่ติดกับห้องรับแขก และ ห้องนั่งเล่น และต่อเนื่องกับห้องครัวหรือห้องเตรียมอาหารบางบ้าน อาจใช้ ห้องอาหารเป็นส่วนหนึ่งของห้องรับแขกโดยจัดกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ รับประทานอาหารไว้คนละด้านผนังห้องอาหารด้านหนึ่งอาจเปิด ต่อสู่เฉลียงให้สามารถไปจัดรับประทานอาหารด้านนอกได้ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในได้แก่ โต๊ะอาหารและ เก้าอี้ ให้คำนึงถึง สมาชิกและ ประเภทอาหาร ในมื้อเย็นเป็นหลัก เนื่องจากเป็นมื้อที่ทุกคนในบ้านจะพร้อมหน้าพร้อมตากันมากที่สุด ประตูระหว่างห้องเตรียมอาหารหรือห้องครัวควรเป็นประตูเปิดปิดได้สองทางเพื่อความสะดวกในการลำเลียงอาหาร และเก็บจาน ที่สำคัญ คือต้องมีพื้นระดับเดียวกันเพื่อป้องกันการเดินสะดุดเวลาใช้งาน

2. การเลือกวัสดุและสีห้องทานอาหาร พื้นควรใช้วัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่ายเช่นไม้ปาเก้ กระเบื้องยางหรือวัสดุที่ต่อเนื่องจากห้องอื่น ๆ การเลือกใช้สีที่ตื่นเต้น เช่น สีแดงมีผลทำให้อยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น แต่ควรใช้เป็นจุดเน้นเล็ก ๆ โดยไม่ขัดกับส่วนประกอบส่วนใหญ่ภายในห้อง

3. เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและการตกแต่ง ควรเลือกใช้โต๊ะอาหารที่มากกว่าจำนวนคนในบ้าน 1-2 คนเพื่อใช้ต้อนรับแขก โต๊ะที่ใช้มีทั้งโต๊ะกลมและสี่เหลี่ยม ถ้าผู้ใช้จำนวนมากอาจใช้โต๊ะกลมที่มีแป้นหมุนโดยรอบ หรือใช้โต๊ะหลายตัวต่อกันสามารถต่อเติมได้ถ้ามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ผิวโต๊ะที่ใช้มีหลายประเภทเช่น กระจกใส ไม้ ไม้บุพลาสติกลามิเนต อาจเพิ่มสีสันให้กับห้องโดยใช้ผ้าปูโต๊ะสีสันต่าง ๆ และสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้อีกหลากหลายด้วยเก้าอี้รับประทานอาหารควรเลือกใช้แบบไม่มีที่ท้าวแขนเนื่องจากใช้พื้นที่มาก แต่สามารถใช้ในที่นั่งของบุคคลสำคัญในบ้าน เช่น บริเวณหัวโต๊ะ และควรเลือกให้มีการออกแบบเข้ากับโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ควรมีตู้ติดผนังไว้เก็บอุปกรณ์รับประทานอาหาร หรือใช้เป็นที่วางอาหารก่อนการเสริฟด้วย

4. แสงในห้องอาหาร แสงไฟในห้องรับประทานอาหารควรจะนุ่มนวล ไม่สว่างจ้า สามารถมองเห็นอาหารได้ชัดเจน และเน้นบริเวณที่สำคัญ เช่น ไฟส่องกลางโต๊ะ ไฟส่องรูป ไฟส่องผนัง เป็นต้น
การข้อมูลเพิ่มเติม


Create Date : 10 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 10:57:47 น. 0 comments
Counter : 267 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

danudanu
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add danudanu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.