ถุงผ้าทำให้โลกร้อน
ถุงผ้าทำให้โลกร้อน
mba เล่ม “อากาศเปลี่ยน โอกาสเปิด” เป็นนิตยสารเล่มแรกที่ซื้ออ่านหลังจากกลับมาจากจีน ประเทศที่ผมไม่สามารถซื้อแมกกาซีนมานอนอ่านเล่นได้ เพราะอ่านไม่ออก! เมื่อได้กลับมาเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่พบเห็นอย่างชัดเจนนอกจากโฆษณาของพี่โดมกับน้องแพนเค้กที่ฉาย อยู่จนล้นทีวี ก็คือกระแสเห่อและห่วงโลก เกรงว่ามันจะร้อนจนละลายนี่เอง ที่ใช้คำว่า “เห่อ” ก็เพราะมันลุกลามเหมือนผื่นที่เห่อขึ้นมาเวลาที่เราเผลอไปเกา ซึ่งเมื่อเทียบกับที่จีนแล้ว ขณะนี้เมืองไทย “เขียว” กว่ามาก
ผมสนใจพาดหัวของนิตยสาร mba เพราะเป็นการมองเรื่องโลกร้อนในอีกแง่มุมหนึ่ง มองวิกฤตเป็นโอกาส และเป็นด้านที่ผมยังไม่เคยคิดเลยว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งของโลกใบนี้ มันอาจนำพวกเราไปสู่อีกยุคสมัยได้เลยด้วยซ้ำไป คือยุคสมัยที่ผู้คนจะห่วงใยธรรมชาติและสีเขียวมากขึ้น นั่นเป็นประเด็นใหญ่ และหากมันยังประคับประคองกระแสของตัวเองต่อไปได้ในระยะยาว มันก็อาจจะเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนให้เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่าง
โอกาสทางธุรกิจการค้าเปิดกว้างอย่างกับรูโหว่ในชั้นโอโซน มองไปทางไหนในตอนนี้ก็เห็นสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ขายความเขียวและทำหน้าทำตารัก โลกกันใหญ่ ผมยังไม่ได้เดินทางไปไหนมากสักเท่าไหร่ จะไปก็แต่งานหนังสือ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นวางขายกันมากมายนอกจากหนังสือก็คือ “ถุงผ้า” และดูท่าว่าจะขายดี เพราะถุงชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยทำให้โลกไม่ร้อน (ไปกว่านี้) วิธีอธิบายง่ายๆ คือมันช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก
แต่เมื่อเห็นผู้คนซื้อถุงผ้ากันมากเข้า บางคนก็ซื้อถุงผ้าหลายใบ หลายขนาด หลายดีไซน์ ผมก็หลับตาเห็นกองขยะของถุงผ้าซึ่งไม่ต่างอะไรกับกองขยะถุงพลาสติก จริงอยู่ที่ว่าถุงผ้าอาจย่อยสลายง่ายกว่า แต่หากจะคิดย้อนกลับไปอีกสักหน่อย กว่าที่มันจะมาเป็นถุงผ้าที่เชื่อกันว่าทำให้โลกไม่ร้อนนี้ได้ มันต้องมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ทอผ้า, เย็บถุง, สกรีนลวดลายล่อใจ และอื่นๆ หลับตานึกภาพกระบวนการเหล่านั้น ผมไม่เห็นผู้คนนั่งใช้มือสนเข็มด้นด้ายเย็บให้มันเกิดเป็นถุงขึ้นมา แต่เห็นภาพกระบวนการผลิตในโรงงานที่กำลังพ่นควันดำปุ๋ยๆ ลอยสู่อากาศ ซึ่งไฟฟ้าที่ส่องสว่างและเครื่องจักรในโรงงานเหล่านั้นก็น่าจะต้องใช้ พลังงานไม่ใช่น้อย
ถุงผ้าทำให้เรารู้สึกดีขณะซื้อมัน เพราะเราจะได้ความรู้สึกของการเป็นผู้ถนอมโลกในวินาทีนั้น หากเราใช้งานถุงผ้าที่ซื้อมาอย่างคุ้มค้าของการที่มันเกิดมาเป็นถุงผ้าหนึ่ง ใบ ไปไหนก็พกพาไป ยื่นถุงพลาสติกคืนให้พนักงานคิดเงินอยูเสมอๆ เราก็น่าจะช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้สักนิดหน่อย แต่หากเราเสพติดความรู้สึกที่ได้เป็นผู้รักษาโลก และติดใจการบริโภคความหมายของการเป็นคนดี และซื้อถุงผ้าทุกใบที่ดาหน้าเข้ามาในลูกกะตา เพราะในวินาทีที่ซื้อถุงผ้าเราจะรู้สึกว่าเรากำลังรักษาโลก หากเป็นแบบหลัง แทนที่จะช่วยให้โลกเย็นกลับกลายเป็นทำให้โลกร้อน และผู้บริโภคอย่างเราก็จะตกเป็นเหยื่อของ “มายา” ทางการตลาดไป
เป็นการซื้อ “ความหมาย” มากกว่า “การใช้สอย”
ไม่ต่างอะไรกับที่สมัยหนึ่งเราอยากสะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง เพียงแค่ในวันนี้มันเปลี่ยนเป็นถุงผ้าไปแล้วเท่านั้นเอง
การบริโภคถุงผ้ามากๆ บางครั้งอาจทำให้โลกร้อนไวกว่าการหิ้วถุงพลาสติกด้วยซ้ำ ยิ่งผมได้รู้ข้อมูลใน mba ที่ซื้อมาว่า เดี๋ยวนี้มีพลาสติกบางชนิดทำจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายกว่าพลาสติกที่ทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แต่ข้อมูลตรงนี้ก็น่าคิดต่ออีก เมื่อได้รู้ในอีกไม่กี่หน้าถัดมาว่า พลังงานทางเลือกบางชนิดอย่างพลังงานทางเลือกจากข้าวโพดนั้น ใช้พลังงานในการกลั่นแอลกอฮอล์จากข้าวโพดมากกว่าพลังงานที่ได้ออกมาเสียอีก
ที่คิดไว้ว่าดำ มันกลับเขียว
ที่คิดว่าเขียว บางครั้งมันกลับดำซะยิ่งกว่า
ผมคิดว่า ปัญหามันอยู่ตรงที่พวกเราชาวโลกยังไม่ยอมแพ้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริ โภค แต่กลับพยายามดิ้นรนหาทางที่จะใช้พลังงานเท่าเดิม ใช้ผลิตภัณฑ์เท่าเดิม ด้วยพฤติกรรมเดิมๆ ซึ่งสำหรับผู้สังเกตการณ์ ภาวะแบบนี้ก็น่าสนุกดี เวลาได้เห็นมนุษย์ขบคิดหาทางที่จะอยู่รอดต่อไป แต่สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ หากเห็นว่าการช่วยโลกร้อนเป็นแฟชั่นก็คงไม่น่าวิตกอะไร แต่หากใครที่อยากจะช่วยโลกให้โหว่ช้าลงจริงๆ เห็นทีจะต้องคิดให้ถ้วนถี่อีกสักหน่อย ไม่เพียงแค่บริโภค “สัญลักษณ์” แต่น่าจะคิดถึงพฤติกรรมการบริโภคของตัวเองให้มากขึ้นอีกด้วย
เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกคนจ้องแต่จะขายของ กระทั่งเรื่องอวสานของโลกก็ดูเหมือนจะโหมกระแสกันขึ้นมาให้คนเห็นว่ามันเป็น วิกฤต จะได้กลายเป็นโอกาสของผู้ค้าทั้งหลาย ผมว่าบางทีวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้โลกเย็นขึ้นบ้างก็คือการบริโภคสิ่งต่างๆ ให้น้อยลง
ใช่ครับ รวมถึงการบริโภค “ถุงผ้า” ด้วย
ที่มา : roundfinger.wordpress.com
กระเป๋าผ้า
ถุงผ้า
ถุงผ้าดิบ
ถุงผ้าลดโลกร้อน
Create Date : 06 มกราคม 2552 |
|
0 comments |
Last Update : 6 มกราคม 2552 14:01:47 น. |
Counter : 458 Pageviews. |
|
 |
|