ชีวิตคือการเรียนรู้

 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 พฤศจิกายน 2553
 

กองขยะ...กลางสมุทร (2)



ในปี 1994 มัวร์ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิเพื่อการวิจัยทางทะเลอัลกาลิตา” (Algalita) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เน้นการสำรวจตามชายฝั่งมหาสมุทร แต่หลังจากปี 1997 เป้าหมายของมูลนิธิก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องแพขยะเพียงอย่างเดียว และมูลนิธินี่เองที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการศึกษาเรื่องแพขยะของมัวร์

ปี 1999 สองปีหลังจากมัวร์เจอกับแพขยะ เขาและทีมงานของเขาได้กลับไปที่แพขยะแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำทะเลในระยะทางกว่า 1 ร้อยกิโลเมตรไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ สิ่งที่เขาได้น่ากลัวกว่าที่เขาเคยเจอเสียอีก

แม้มัวจะร์คุ้นชินกันขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นอย่างดี เขาเคยเห็นเต่าทะเลซึ่งกลางกระดองถูกรัดด้วยยาง หรือซากนกที่ภายในท้องที่ภายในท้องเต็มไปด้วยฝาขวดพลาสติก แต่จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำทะเลครั้งนี้ สิ่งที่เขาเจอคือเศษพลาสติกขนาดเล็กมาก บางชิ้นมีขนาดเท่าแพลงตอนสัตว์ (Zooplankton) จำนวนมหาศาลในมหาสมุทร แน่นอนพลาสติกเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นขยะที่ถูกทิ้งจากฝีมือมนุษย์ จากการคำนวณพบว่าในบางบริเวณมีเศษพลาสติกขนาดเล็กถึง 1.6 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าจำนวนแพลงตอนสัตว์ในบริเวณเดียวกันถึง 6 เท่า นี่คือขยะที่มีมากที่สุดและอันตรายที่สุดในบริเวณนี้




  


คาดคะเนกันว่ามีพลาสติอยู่ร้อยละ 90 ของจำนวนขยะทั้งหมดในแพขยะใหญ่แปซิฟิก ซึ่งเป็นจำนวนที่สร้างความกังวลใจให้กับนักวิจัยและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลานานกว่าจะผ่านกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่พวกมันกลับผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การเสื่อมสลายด้วยแสง” (Photodegration) ซึ่งเป็นผลจากแสงและน้ำทะเลที่ทำปฏิกิริยากับพลาสติกจนทำให้พลาสติกมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนถึงระดับที่มีขนาดเล็กที่สุดคือโมเลกุล โดยที่ยังคงรักษาคุณสมบัติพื้นฐานของพลาสติกไว้ได้ อาจกล่าวได้ว่าพลาสติกไม่มีวันตาย มันแค่ “แตกสลาย” แต่ไม่ “ย่อยสลาย” แม้พลาสติกจะมีขนาดเล็กขนาดไหน ตราบที่ยังไม่ถึงระดับโมเลกุล มันก็ยังคงความเป็นพลาสติกอยู่นั่นเอง

ขนาดของพลาสติกที่เล็กลงเรื่อยๆ หลายชิ้นมีขนาดเล็กกว่า 5 มม. และอีกจำนวนมากเล็กจนต้องส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ เหล่านี้ทำให้สัตว์ทะเลรวมถึงนกเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกเหล่านี้คือแพลงตอนสัตว์แหล่งอาหารของพวกมัน และโดยไม่รู้ตัว พลาสติกเหล่าก็ได้เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเราเรียบร้อยแล้ว

การกินพลาสติกเข้าไปซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงประสงค์นัก เราอาจเคยได้รับทราบข่าวที่ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกินพลาสติกเข้าไป เนื่องจากพลาสติกเป็นสิ่งที่ย่อยสลายยากตามธรรมธรรมชาติ เมื่อตกไปถึงกระเพาะอาหารจึงส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารของเราผิดปกติ และหากได้รับพลาสติกมากเกินไปก็อาจเสียชีวิตได้ สัตว์ทะเลก็เช่นกัน การบริโภคขยะพลาสติกชิ้นใหญ่เข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที แต่ถึงจะเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ไม่แสดงผลทันที แต่ในระยะยาวก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายสัตว์นั้น และทำให้เสียชีวิตลงในที่สุดเช่นกัน

จากการสำรวจของมัวร์และคณะในปี 2007 พบว่าในขยะพลาสติกนั้นประกอบไปด้วยสารพิษประเภทต่างๆ รวมถึงสาร Polychlorinated Biphenyl (PCB), Dichlorodiphenyltrichloroethane (DDT) และ Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ซึ่งหากสะสมเป็นจำนวนมากในร่างกายนอกจากจะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติแล้ว ยังจะทำให้ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติด้วย สอดคล้องกับงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เดือนตุลาคม ปี 2008 ที่พบว่าในพลาสติกยังประกอบไปด้วยสารพิษอื่นๆ จำพวก Bisphenol A (BPA), Phthalates, Brominated Flame Retardant (PBDEs) อีกด้วย โดยจากการทดลองพบว่ามีอันตรายต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของสัตว์ รวมถึงส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศอีกด้วย งานวิจัยในวารสารชิ้นนี้ยังกล่าวอีกว่า มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือคือพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารเหล่านี้มากที่สุด ซึ่งเป็นการยืนยันถึงอันตรายของขยะพลาสติกในแพขยะใหญ่แปซิฟิกได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วขยะพลาสติกในท้องทะเลเหล่านี้สามารถกลับมาหาเราได้ทุกเวลา เมื่อสัตว์ซึ่งกินขยะพลาสติกเหล่านี้โดนผู้ล่าตามธรรมชาติในท้องทะเลกินไป พลาสติกก็จะถูกส่งทอดต่อไปยังผู้ล่าเหล่านั้นโดยไม่หายไปไหน ผู้ล่าในระดับที่สูงขึ้นของห่วงโซ่อาหารก็มีโอกาสที่จะสะสมปริมาณพลาสติกในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดขยะพลาสติกเหล่านั้นก็อาจกลับมาหาเราอีกครั้งในรูปของอาหารเช้าแสนอร่อยก็เป็นได้

  


ตลอดเวลานับสิบปีที่มัวร์เผ้าศึกษาเรื่องแพขยะ เขาได้แสดงให้โลกเห็นว่า แพขยะนั้นมีอยู่จริง และชี้ให้เห็นว่ามันน่ากลัวต่อชีวิตเราเพียงใด อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของเขาไม่ใช่แค่ศึกษาแต่ยังเป็นกำจัด และนั่นทำให้เขาและมูลนิธิ Algalita ของเขา จัดทำโครงการ “แพขยะ” (Junk Raft) ขึ้นในปี 2008 แล่นข้ามแพขยะใหญ่ เพื่อเก็บเศษขยะและรณรงค์การไม่ทิ้งขยะลงทะเล ตลอดเส้นทางการเดินทาง มัวร์และคณะได้รับความร่วมมือจากเหล่าผู้รักธรรมชาติเป็นอย่างดี

“เราต้องช่วยกัน”

แน่นอน....มัวร์ไม่ได้สู้อยู่คนเดียว มีผู้คนอีกมากมายที่ตระหนักถึงปัญหานี้ และร่วมมือกันหาทางกำจัดแพขยะนี้ไปพร้อมๆ กับมัวร์


  


เดือนเมษายน ปี 2008 ริชาร์ด ซันดานซ์ โอเวน ผู้รับเหมาก่อสร้างและครูสอนดำน้ำผู้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับท้องทะล ได้จัดตั้ง “แนวร่วมทำความสะอาดสภาวะแวดล้อม” (ECC) ขึ้นเพื่อหาแนวทางและกรรมวิธีที่ปลอดภัยเพื่อขจัดพลาสติกออกจากมหาสมุทร ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2009 กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันตั้งโครงการเพื่อการศึกษาและทำความสะอาดแพขยะแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า ”ไคเซอิ” (Kaisei) ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า โลกมหาสมุทร และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั่นเอง ไคเซอิได้ปล่อยเรือ 2 ลำคือ เรือขอบฟ้าใหม่ (RV New Horizon) และเรือไคเซอิ (Kaisei) ออกเดินทางสำรวจแพขยะ เพื่อศึกษาหาความเป็นไปได้ในการกำจัดขยะมหาสมุทร โดยวิธีเปลี่ยนมาขยะมาเป็นเชื้อเพลิงดีเซลสำหรับเดินเรือ

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2010 เดวิด เดอ รอธส์ไชลด์ (David de Rothchild) ทายาทนายธนาคารใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งมีสถานะอีกอย่างคือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ต่อเรือใบที่ชื่อว่า “พลาสติกิ” (Plastiki) ซึ่งทำมาจากขวดพลาสติก 12,500 ใบ ที่ถูกอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปจนเต็ม และเชื่อมติดกันโดยกาวกันน้ำที่ทำจากน้ำตาลผสมกับมะม่วงหิมพานต์ ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากน้ำมันไบไอดีเซล ประกอบกับพลังงานธรรมชาติจากแรงขาปั่นจากตัวเดวิดและลูกเรือที่เดินทางไปด้วยอีก 5 คน เดวิดได้นำเรือนี้ล่องจากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ผ่านแพขยะใหญ่แปซิฟิก ไปสิ้นสุดที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย โดยมีการรายงานสถานการณ์การเดินทางผ่าน Twitter ตลอดเส้นทาง โดยเดวิดตั้งเป้าไว้ว่าการเดินทางของเขาจะเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาตระหนักปัญหาขยะในท้องทะเลมากยิ่งขึ้น


เรือพลาสติกิ


แม้จะมีความพยายามจากหลายองค์กร แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ขยะเหล่านี้หมดไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาณาบริเวณบริเวณที่กว้างขวาง และอีกส่วนคือขยะจำนวนมากอยู่ลึกลงไปในผืนน้ำ หลายชิ้นจมอยู่ใต้ก้นมหาสมุทร นี่ยังไม่รวมถึงขยะส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากต่อการจัดเก็บมาก ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือช่วยกันป้องกันไม่เพิ่มปริมาณขยะลงสู่มหาสมุทรมากไปกว่านี้อีก เพราะไม่ฉะนั้นเราอาจมีโอกาสได้เห็นแพขยะที่เป็น “แพขยะจริงๆ” ก็เป็นได้

  


มัวร์ไม่รู้ว่าเขาจะได้มีโอกาสได้ท้องทะเลที่ไม่มีขยะหรือเปล่า ข่าวดีคือปัจจุบันเรื่องขยะกลายเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสนใจ การลดปริมาณขยะกลายเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในหลายประเทศ แต่ข่าวร้ายก็คือแพขยะใหญ่แปซิฟิกเหนืออาจะเป็นกองขยะขนาดใหญ่ที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีกองขยะแบบนี้แค่กองเดียว จากการสำรวจพบว่า ยังมีแพขยะลักษณะนี้ กระจายตัวตามวังวนกระแสน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกอีก 5 แห่ง แต่สำหรับมัวร์แล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือการทำหน้าที่ของเขาต่อไป เผื่อว่าใสสักวันหนึ่งสิ่งที่เขาปรารถนาจะเป็นจริงขึ้นมา


แพขยะแห่งอื่นๆ ในโลก





 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2553
0 comments
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2553 22:15:56 น.
Counter : 1019 Pageviews.

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เซียวเล้ง
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้ย้าย Blog หลักไปที่ zeawleng.wordpress.com แล้วนะครับ
[Add เซียวเล้ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com