ชีวิตคือการเรียนรู้

 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 พฤศจิกายน 2553
 

กองขยะ...กลางสมุทร (1)

ทุกๆ ปีชาร์ล เจ มัวร์ (Charles J. Moore) พร้อมด้วยลูกเรือของเขา จะเข้าร่วมการแข่งขันแล่นเรือใบข้ามมหาสมุทรจากลองแองเจอลิสไปยังโฮโนลูลู หมู่เกาะฮาวาย โดยปกติงานประจำของมัวร์คือการเป็นนักสมุทรศาสตร์ แต่เมื่อมีเวลาว่าง การแล่นเรือท่องทะเลก็คือการงานของเขา ปีนี้ ปี 1997 ก็เช่นกัน มันก็คงไม่ต่างจากปีอื่นๆ ที่เขาแล่นเรือใบจากลอสแองเจอลิสมายังโฮโนลูลู เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันก็แล่นเรือย้อนกลับตามเส้นทางเดิม หากแต่ว่าการแล่นเรือในปีนี้กลับต่างออกไป เมื่อมัวร์เลือกที่จะเดินทางกลับตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ แทนที่จะเป็นเส้นทางตะวันออกเฉียงใต้อย่างเดิม


กัปตันชาร์ล เจ มัวร์


จากปกติที่ใช้เวลาไม่กี่วันในการกลับบ้าน คราวนี้มัวร์และลูกเรือต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งอาทิตย์กว่าจะถึงที่หมาย พวกเขาไม่ได้หลงทาง พวกเขาไม่ได้เจอโจรสลัด พวกเขาไม่ได้เจอพายุ พวกเขาไม่ได้เจอภูเขาน้ำแข็งขวางทาง สิ่งที่พวกเขาเจอมีเพียง “ขยะ” การแล่นเรือในแถบมหาสมุทรอาร์กติกอาจจะเสียเวลาในการตัดผ่านแผ่นน้ำแข็ง แต่การเล่นเรือของเขาต้องเสียเวลาในการตัดผ่านดงขยะไม่ว่าจะเป็นแก้วพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มใสห่ออาหาร เศษแห อวน ท่อประปา และอีกมากมายเหลือคณานับ ลอยตัวให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทางการเดินทางกลับบ้านของพวกเขา กินอาณาบริเวณกว้างเกือบจะเป็น 2 เท่าของรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา หรือมากกว่าพื้นที่ประเทศไทยและพม่ารวมกันเสียอีก

“นั่นคือเรื่องน่าสะพรึงกลัวที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา”

ทะเลที่เขารักกำลังเปลี่ยนไป บางสิ่งบางอย่างกำลังเปลี่ยนท้องทะเลที่สวยงามให้กลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่ที่น่าสะพรึงกลัวและขยะแขยง มัวร์รู้ตัวโดยทันที ณ ตอนนั้นว่า การทำลายแพขยะเหล่านี้จะเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเขานับแต่นี้ไป เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องทำให้ท้องทะเลกลับมาสวยงามอีกครั้งหนึ่ง


  


ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดถึงปริมาณขยะทั่วโลกนั้นมีมากมายขนาดไหน แต่จากข้อมูลของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) พบว่า เฉพาะในปี 2009 สหรัฐอเมริกาซึ่งมีจำนวนประชากรแค่ร้อยละ 4 ของโลก ผลิตขยะออกมาถึง 220 ล้านตัน ซึ่งมากพอที่จะนำไปกองบนสนามฟุตบอลได้ทั้งสิ้น 82,000 สนาม โดยที่แต่ละสนามมีความสูงเกือบ 2 เมตร หรือเทียบได้กับจังหวัดภูเก็ตทั้งจังหวัด จากข้อมูลนี้ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขปริมาณขยะทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านตัน ซึ่งเทียบได้กับสนามฟุตบอลกว่า 400,000 สนาม หรือมากกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการทั้งจังหวัดรวมกันเสียอีก และที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือจำนวนสนามฟุตบอลเหล่านี้มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้จึงมีความพยายามในการออกมาตรการเพื่อลดปริมาณขยะลง วิธีสำคัญที่นำมาใช้คือการรีไซเคิลหรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้วปริมาณการรีไซเคิลขยะยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณขยะทั้งหมด แม้แต่ในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่ดีอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็มีอัตราการรีไซเคิลขยะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ขณะที่ประเทศไทยตามข้อมูลของสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม มีอัตราการรีไซเคิลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 19 เท่านั้น และตัวเลขเหล่านี้จะยิ่งน้อยลงไปอีกเมื่อเป็นขยะประเภทพลาสติก

ส่วนขยะที่เหลือซึ่งไม่ผ่านการรีไซเคิลนั้น บางส่วนอาจถูกนำไปเผาทำลาย แต่ก็ยังเหลืออีกจำนวนมากโดยเฉพาะพลาสติกซึ่งย่อยสลายยากที่ถูกทิ้งไว้อยู่ตามที่ต่างๆ ที่น่าตระหนกก็คือพื้นที่ทิ้งขยะซึ่งมีบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในโลกนั้นกลับไม่ได้อยู่บนพื้นแผ่นดินแต่อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือในบริเวณที่เรียกว่า “วังวนใหญ่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ” (North Pacific Gyre) อันบริเวณเดียวกับที่มัวร์เจอกับขยะจำนวนมากและเรียกมักว่า “แพขยะใหญ่แปซิฟิก” (Great Pacific Garbage Patch) หรือ “แพขยะตะวันออก” (East Garbage Patch – EGP)

อันที่จริงแล้วก่อนหน้าการค้นพบของมัวร์ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว โดยในปี 1988 “สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยาการแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา” (NOAA) ได้ตีพิมพ์รายงานวิจัยของนักวิจัยสมุทรศาสตร์ประจำสถานีอะลาสก้าระหว่างปี 1985-1988 ที่ทำการวัดค่า “นูว์สตอน” (Neuston) หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำและพืชที่ลอยอยู่บริเวณผิวน้ำ ผลการศึกษาพบว่าแทนที่จะพบเฉพาะนูว์สตอนกลับพบเศษขยะลอยมาปะปนอยู่ด้วยจำนวนมาก อันเป็นผลจากกระแสน้ำในบริเวณนั้น จากการค้นพบนี้นักวิจัยได้นำไปศึกษาต่อจนพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์อย่างเดียวกันในบริเวณวังวนใหญ่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งมีกระแสน้ำที่เอื้อในการพัดพาเศษขยะจากพื้นทวีปทั้งจากฝั่งอเมริกาเหนือและเอเชียมารวมกันเป็นแพขยะขนาดใหญ่

การก่อตัวของแพขยะขนาดมหึมาแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลานาน โดยเป็นผลมาจากกระแสน้ำสี่สายที่ไหลวนรวมกันเป็นวังวนขนาดใหญ่ ได้แก่ “กระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนีย” (California Current) ที่ไหลเรียบจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกของเม็กซิโก ไปบรรจบกับ “กระแสน้ำอุ่นเส้นศูนย์สูตรเหนือ” (North Equatorial Current) บริเวณด้านใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือซึ่งไหลจากชายฝั่งตะวันตกของเม็กซิโกข้ามมหาสมุทรไปสิ้นสุดที่บริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงเป็น “กระแสน้ำอุ่นกุโระชิโอะ” (Kuroshio Current) ที่เคลื่อนตัวจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ขึ้นเหนือไปจนถึงทะเลญี่ปุ่น ขณะที่ด้านเหนือของวังวนกระแสน้ำนี้ก็มี “กระแสน้ำอุ่นแปซิฟิกเหนือ” (North Pacific Current) ซึ่งไหลจากทะเลญี่ปุ่นข้ามมหาสมุทรไปบรรจบกับกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียอีกครั้งหนึ่ง



วังวนกระแสนน้ำเหล่านี้ได้กลายเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ชั้นดีซึ่งจะกักเก็บขยะจำนวนมหาศาลที่ถูกปล่อยทิ้งจากชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือและชายฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชียไหลมารวมกันภายในวังวน โดยเฉพาะขยะจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น สองประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตขยะมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยประจำสถานีอะลาสก้าก็ต้องรอเกือบถึง 10 ปีให้หลังกว่าเรื่องนี้จะได้รับการยืนยันว่าแพขยะแห่งนี้มีอยู่จริง เมื่อมัวร์มีโอกาสได้สัมผัสกับแพขยะนี้อย่าง “จะๆ” ด้วยตัวเอง

  


มัวร์เป็นนักสมุทรศาสตร์ แน่นอน...เขาเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับแพขยะในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือมาบ้างแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นมันด้วยตาของตัวเอง

“นายต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่าฉันไปเจออะไรมา”

ทันทีที่ถึงฝั่ง เขารีบนำเรื่องน่าสะพรึงกลัวในท้องทะเล ไปเล่าให้เพื่อนนักสมุทรศาสตร์ของเขาที่ชื่อว่า เคอร์ติส เอมเบสเมเยอร์ (Curtis Embesmeyer) ฟัง ซึ่งช่วยให้เรื่องนี้ไปถึงหูสื่อมวลชนในเวลาไม่นาน พวกเขาต่างพากันตีข่าวเรื่องนี้กันยกใหญ่ อ้างว่านี่คือผลลัพธ์ของการทำร้ายสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมต่างออกมาขานรับเรื่องนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่จะยอมรับมัน

“มันไม่มีจริงหรอก แพขยะอะไรนั่นนะ ทำไมนะเหรอ ก็ถ้ามันมีจริงทำไมถึงไม่มีดาวเทียมดวงไหนจับภาพได้ล่ะ”

ยังมีผู้คนอีกหลายคนที่กล่าวหาว่ามัวร์โกหก แพขยะใหญ่แปซิฟิกเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงของพวกเอ็นจีโอที่ต่อต้านความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเท่านั้น

“ผมเห็นมันจริงๆ”

มัวร์ยังคงยืนยันคำเดิม จนถึงตอนนี้มัวร์ซึ่งได้พ่วงเอานักอนุรักษ์ธรรมชาติมาไว้ที่ตัวเขานอกจากนักสมุทรศาสตร์แล้วก็ได้หันมาศึกษาเรื่องแพขยะอย่างเต็มตัว พร้อมกันนั้นก็มีนักวิจัยอีกมากมายให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องนี้


  


จากผลการศึกษาของนักวิจัยต่างๆ พบว่า การเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่าแพขยะอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะแพขยะแห่งนี้ไม่ใช่สถานที่ที่มีแต่ขยะลอยเต็มไปหมดจนมองไม่เห็นผิวน้ำ หรือเป็นเกาะขยะขนาดยักษ์กลางมหาสมุทรอย่าง อันที่จริงแล้วแพขยะแห่งนี้มีลักษณะตรงกันข้าม เพราะขยะส่วนใหญ่ในแพขยะแห่งนี้โดยเฉพาะพลาสติกมีลักษณะเป็นชิ้นเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมหาศาล ที่กระจายตัวอยู่ใต้ผิวน้ำและอยู่ลึกลงไปจนถึงก้นมหาสมุทร เสมือนดวงดาวนับล้านในเอกภพ จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือแม้แต่สังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียมก็ตาม ขยะที่มัวร์พบเป็นขยะชิ้นใหญ่ที่ลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยเท่านั้น แม้ว่าข้อค้นพบนี้ในแง่หนึ่งจะเป็นการโจมตีคำกล่าวของมัวร์ที่บรรยายแพขยะไว้อย่างเกินจริงว่าเป็นเต็มไปด้วยขยะสุดลูกหูลูกตา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่าแพขยะแห่งนี้มีอยู่จริง และอันตรายกว่าที่มัวร์คิดไว้แต่แรก


ขยะในแพขยะฯ มีลักษณะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มากกว่าขยะชิ้นใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ง่าย


ขณะเดียวกัน NOAA ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้และพบว่า ขนาดพื้นที่ของแพขยะใหญ่แปซิฟิกก็อาจไม่ได้เท่ากับ 2 เท่าของรัฐเทกซัสอย่างที่มัวร์กล่าวไว้แต่ต้น อันที่จริงขนาดที่แท้จริงยังไม่มีการยืนยัน เพราะการกระจายตัวของขยะในมหาสมุททรแปซิฟิกเหนือไม่ได้อยู่ใกล้ชิดติดกันจนสังเกตเห็นแยกต่างหากจากพื้นที่อื่น ว่ากันว่าขนาดที่แท้จริงของแพขยะอาจมีตั้งแต่ 7 แสนตารางกิโลเมตร ไปจนถึงมากกว่า 15 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับ 2 เท่าของสหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็นร้อยละ 8.1 ของขนาดมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมดก็เป็นได้ มากกว่าขนาดที่มัวร์คาดการณ์ไว้ถึง 10 เท่า

นักวิจัยประมาณการกันว่าหากนำปริมาณขยะในแพขยะใหญ่แปซิฟิกมารวมกันจะมีน้ำหนักว่า 1 ร้อยล้านตัน โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นขยะจากบนบก ซึ่งกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือใช้เวลา 5 ปีพัดขยะเหล่านี้จากชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ และ 1 ปีจากชายฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชียมารวมกัน ขณะที่ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 ถูกทิ้งจากเรือที่แล่นไปมาในมหาสมุทร โดยขยะส่วนใหญ่ที่อยู่ในแพขยะแห่งนี้เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก จน ศ.เดวิด คาร์ล (David Carl) ผู้เชี่ยวชาญด้านมหาสมุทรแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้ศึกษาเรื่องนี้กล่าว่า พลาสติกที่ผลิตขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังคงลอยเอ้งเท้งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในแพขยะแห่งนี้


To be continue




Create Date : 16 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2553 22:07:27 น. 0 comments
Counter : 1225 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เซียวเล้ง
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้ย้าย Blog หลักไปที่ zeawleng.wordpress.com แล้วนะครับ
[Add เซียวเล้ง's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com