<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
5 พฤศจิกายน 2566
 

เรียนไปเที่ยวไป: เส้นทางบังคับภาคกลาง - Part I: พระราชวังบางปะอิน

เว้นวรรคไปช่วงนึง ความคิดสร้างสรรค์ดับไปช่วงหนึ่ง ...ตอนนี้ความคิดฟุ้งๆ กลับคืนร่าง จึงมาเขียนบันทึกต่อได้ 

ความเดิมในตอนที่แล้ว 

จากทริปทัศนศึกษา เส้นทางบังคับกรุงเทพมหานคร  การเดินทางครั้งที่ 3 ในสัปดาห์ถัดมา คือ
เส้นทางบังคับภาคกลาง เส้นทางที่ 1 : พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี  
ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ในวันเสาร์ที่ 8 และวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2566 
วิทยากร คือ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์  



ทริปนี้ กลุ่มเราไม่ต้องทำหน้าที่มัคคุเทศก์บริการ  ก็สามารถทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวและผู้เข้าอบรมที่ดี  อยู่บนรถฟังมัคคุเทศก์ต้นแบบบรรยายประสบการณ์ 

การเดินทางทุกทริป คณะทำงานใช้บริการรถบัสของ ธนัชวิชญ์ แทรเวล กรุ๊ป จะมีพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถชุดเดิมตลอดทุกทริป ซึ่งดูแลและให้ความช่วยเหลือมัคคุเทศก์เวรประจำวันได้อย่างดี ในรถมีช่อง USB สำหรับให้ชาร์จแบตเตอรี่ด้วย  อันนี้ดีงาม   


ระหว่างทาง แวะปั้มปตท. เป็นที่พักรถ เข้าห้องน้ำ เติมน้ำมัน ...เป็นปั้มหลักของทุกทปจริงๆ  
ช่วงเวลาหน้าฝน ...วิวก็จะเขียว ๆ สบายตา แต่หวั่นใจ หากต้องเดินชม เดินเรียน ท่ามกลางสายฝน 



และแล้วเราก็มาถึงสถานที่แรก พระราชวังบางปะอิน - เมื่อเป็นพระราชวัง สถานที่นี้จึงอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง  การเข้าชมสถานที่จึงต้องตรวจเช็คการแต่งกายของนักท่องเที่ยวให้ดี  ที่นี่ มีรถกอล์ฟ์ให้บริการ สำหรับคนไม่ชอบเดิน  และคณะเราคนเยอะ ก็ค่อย ๆ เดินตามหลังอาจารย์ ...หาที่เหมาะ ฟังข้อมูลเบื้องต้นกันก่อน 


ชื่อ "บางปะอิน" นั้นมีตำนานเรื่อง "นางอินช่วยพระเอกาทศรถ"  แต่ว่ากันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็คือ เมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดอุทิศถวายพระราชมารดาบนที่ดินที่เป็นนิวาสสถานเดิม และสร้างพระราชวังเป็นที่แปรพระราชฐานระหว่างเส้นทางไปนมัสการรอบพระพุทธบาทที่สระบุรี 




ต่อมามีการสร้าง "เหมมณเฑียรเทวราช" เป็นอาคารทรงปรางค์แบบอยุธยา ภายในประดิษฐาน เทวรูปพระเจ้าปราสาททอง รูปลักษณะและคติการสร้างนั้น เป็นแบบเดียวกับแนวคิดการสร้างพระสยามเทวธิราช  รอบต้นไม้ใหญ่หลังปรางค์ มีการปักหินขนวนรูปใบเสมาขนาดใหญ่ ...อาจารย์อธิบายว่า รัชกาลที่ 5 (หรือ 4 ต้องเช็คข้อมูลให้แน่ชัดอีกที) โปรดให้นำมาจากวัดมหาธาตุ ปักไว้เป็น "ตัวอย่าง"  ให้เห็นว่า ใบเสมาสมัยอยุธยาตอนต้น มีรูปแบบและขนาดใหญ่เพียงใด  มีจำนวน 9 หลัก



พระราชวังบางปะอินนั้น เป็น "พระราชวัง" มีการพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ มีการแบ่งพื้นที่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน มีการใช้งานในสมัยอยุธยา มีปรากฎชื่อกล่าวถึงใน "นิราศพระบาท" ของสุนทรภู่ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งครั้งรัชกาลที่ 4 เสด็จทางชลมารค ผ่านมาทอดพระเนตรเห็นสภาพรกร้าง จึงโปรดให้สร้างพลับพลาและบางอาคาร เพื่อพักแรมก่อนเสด็จไปการพระราชพิธีนมัสการรอยพุทธบาท  ต่อมารัชกาลที่ 5 ในช่วงปีพ.ศ.2410 – 2420 จึงเริ่มสร้างพระที่นั่งและอาคารเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน  และมีการแบ่งพื้นที่เป็นเขตพระราชฐาน ชั้นนอก – ชั้นใน โดยใช้คลองแบ่งพื้นที่ 


 
สภาคารราชประยูร  เป็นที่พักของเจ้านายและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ อยู่ในพื้นที่เขตพระราชฐานชั้นนอก สำหรับฝ่ายหน้าใช้งาน  



พระที่นั่งไอยสวรรค์ทิพยอาสน์ เป็นพระที่นั่งกลางน้ำ สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง องค์ที่เห็นในภาพอยู่ระหว่างบูรณะนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 หน้าบันมีตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5  ถือเป็นปราสาทประจำพระราชวัง  ปัจจุบันประดิษฐานพระรูปรัชกาลที่ 5  ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างขึ้น  ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระโกศ พระศพ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี  ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ บุนนาค)  ซึ่งเกิดนอกเศวตรฉัตร  คือประสูติเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ยังไม่ขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 5 โปรดลูกสาวคนแรกนี้มาก ต้นโพที่นำกิ่งพันธ์จากพุทธคยา ก็ปลูกในวันที่ลูกสาวเกิด เมื่อสิ้นพระชนม์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพมาทางรถไฟมาตั้งที่พระที่นั่งองค์ และตั้งใจจัดงานพระราชทานเพลิงที่วัดนิเวศธรรมประวัติ  

จบเรื่องพระที่นั่งสำคัญองค์แรก ก่อนจะเดินข้ามสะพานไปยังพระที่นั่งองค์ต่อไป ก็เก็บภาพ กระโจมแตร  อาคารสถาปัตยกรรมแบบสเปนหลังนี้ เป็นสถานที่สำหรับมหาดเล็กเป่าแตรสัญญา - ซึ่งจะเป็นสัญญานอะไรบ้างนั้น ...ก็ต้องหาหนังสือมาอ่านเพิ่ม





ที่สะพานตุ๊กตาข้ามคลองนี้ ประด้วยนำเข้าตุ๊กตาหินแกะสลักจากอิตาลี แต่ละตัวมีรูปแบบต่าง ๆ กันไป  

 
  


ข้ามสะพานตุ๊กตาแล้ว ก็มาถึง พระที่นั่งวโรภาษพิมาน  เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สไตล์โคโลเนี่ยน หรือสไตล์วิกตอเรีย ใช้เป็นท้องพระโรง ประดิษฐานพระแท่นพระราชบัลลังก์ ใต้พระนพปฏลมหาเศวตรฉัตร



ที่หน้าบันเป็นตราปูนปั้น เขียนจุลศักราช 1244 (+1181) = พุทธศักราช 2448  เคยใช้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชกับหม่อมเจ้าฟ้าหญิงรำไพพรรณี  สวัสดิวัฒน์  ซึงเป็นการจัดงานแต่งงานครั้งแรกที่มีการลงชื่อในทะเบียนสมรส และรัชกาลที่ 6 พระราชทานวังสุโขทัยให้เป็นที่ประทับ (เรือนหอ) 





จบเรื่องอาคารฝ่ายหน้า อาจารย์ก็พาเดินผ่านสะพานเสาวรส ซึ่งเป็นทางฉนวนกั้นฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน  



ความพิเศษนั้นก็คือ ฉากที่กั้นนั้น สาว ๆ นางในจากฝ่ายในสามารถแอบมองเห็นหนุ่ม ๆ ฝ่ายหน้าได้ ซึ่งพวกเราก็ทดสอบกันแล้ว


เข้าเขตพระราชฐานชั้นใน จะเห็นอาคารแบบตะวันตก  พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร  ใช้เป็นอาคารรับรองพระราชอาคันตุกะ เคยรับรองมกุฎราชกุมารรัชเซีย ซึ่งอาคารที่เห็นนี้ สร้างใหม่ทั้งหมดในสมัยชกาลที่ 9 เนื่องจากถูกไฟไหม้ 



 
หันมาทางซ้ายมือ มีเรือนขนมปังขิงขนาดเล็กๆ เรียกว่า เก๋งบุปผาประพาส 
เป็นที่ประทับสำราญพระอริยาบท ก็คือใช้เวลาเสด็จมาพาสอุทยาน ..ชมสวน นั่นแหละ 



เดินต่อไปหยุดฟังบรรยายที่ริมสระน้ำ มีละอองน้ำจากน้ำพุลอยตามลมมาปะทะตัว 
ที่ร้อน ก็ผ่อนคลาย ...เย็นกายเย็นใจ  



มองจากใต้ร่มไม้ริมสระ ตรงหน้าคือ หอวิฑูรทัศนา เป็นหอสูง ใช้เฝ้าระวังภัย และใช้ชมวิวหรือมองหาช้างป่าด้วย





ทางซ้ายมือ (จากจุดที่ฟังบรรยาย) จะเห็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก) เจ้ากรมท่าซ้าย และกลุ่มขุนนางชาวจีน สร้างถวายรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งเวหาศน์จำรูณ หรือ เทียนหมิงเตียน ในภาษาจีน 



พิจารณาจากสักหลังคาที่แอ่นโค้ง เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมจีนภาคใต้ คือ กลุ่มจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ประดับกระเบื้องเคลือบสีตัดชิ้นเล็ก มาประกอบเป็นรูปสัตว์มงคล  มีกำแพงสั้น ในภาษาจีนเรียกว่า หยิ่งปี้ ตั้งกั้นอยู้หน้าประตูทางเข้าพระที่นั่ง เป็นความเชื่อเพื่อกันวิญญานเดินตรงเข้าประตู หรือ กั้นพลังชี่หรือลมปราญ ลดแรงซึ่งเมื่อปะทะกำแพงก็จะหมุนวนแล้วกระจายออกไปทางด้านข้าง 


ลวดลายประดับเป็นสัญลักษณ์มงคล เช่น มะระ ฟัก แฟง  เป็นการอวยพรให้มีลูกชายไม่สิ้นสุด  


ป้ายชื่อพระที่นั่ง เขียนเป็นภาษาไทย แต่มีรูปลักษณ์แบบอักษรจีน 



ภายในประดิษฐานพระป้ายบรรพบุรุษ คือ พระป้ายรัชกาลที่ 4 และพระเทพสิรินทราบรมราชินี และรัชกาลที่ 5 กับพระศรีสวรินทราบรมราชินี  รวมทั้งมีประติมากรรมรูปเทวดา ถือพระขรรค์ พระพักตร์คล้าย ร.4 ด้านหลังสลักพระนามไว้  ทุกปีจะมีพระราชพิธีสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งนี้ 

ฟังบรรยายจบ อาจารย์ก็พาเข้าไปเดินชมใกล้ ๆ ปล่อยเวลาให้ถ่ายรูปกัน ซึ่งเราก็พยายามซูมชื่อพระที่นั่งภาษาไทยนั้นมาไว้ดู  และถ่ายภาพภายนอกไว้เป็นข้อมูล .

เรื่องสถาปัตยกรรมจีน มีเรื่องให้เรียนรู้อีกเยอะแยะมากมาย  ช่างจีนนั้นช่างคิดช่างทำเป็นเชิงสัญลักษณะไปซะทุกสิ่งอย่าง 



สมควรแก่เวลาก็เดินกันต่อไป โดยย้อนกลับมาเดินผ่านพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร  มีหอสูงอยู่ด้านหลัง เป็นหอที่สูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ เวลาใช้งานก็ไขปล่อยน้ำลงมา เหมือนน้ำจากฝักบัวนั่นเอง 





เดินข้ามสะพานมองเห็นประตูน้ำของพระราชวัง เข้าสู่พื้นที่ตั้งอนุสรณ์สถานแห่งความรัก
คือ พระราชานุสาวรีย์หินอ่อน 2 องค์



องค์ทางซ้ายมือ มีภาพประติมากรรมนูนต่ำรูปเหมือน ทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.2430 คือ พระอัครชายาเธอ เสาวภาคย์นารีรัตน์, สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย, สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรวุฒิธารา และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์   โดยทั้งสามพระองค์ล้ววนเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ 

  
  
 
อนุสาวรีย์อีกองค์ทางขวา เป็นของสมเด็จพระนางเรือล่ม หรือ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และพระเจ้าลูกเธอ เรื่องราว "พระนางเรือล่ม" สามารถค้นหาอ่านเพิ่มเติมได้ 



จบการบรรยาย ณ พระราชวังบางปะอิน ที่ประทับแปรพระราชฐานที่พวกเราน่าจะคุ้นเคย เพราะมีเหตุการณ์และเรื่องราวในช่วงรัชสมัยของรัชกาล 5 หลายเรื่องเกิดขึ้นที่นี่และยังปรากฎเป็นฉากบรรยากาศในนิยายเรื่องสี่พระแผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย



ติดตามตอนต่อไป ; คลิก




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2566
0 comments
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2566 19:46:53 น.
Counter : 245 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com