Group Blog
 
 
มิถุนายน 2554
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 

หน้าที่ 9

เภริวาทชาดก
การทำเกินประมาณ




ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นช่างตีกลอง อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในช่วงเทศกาลงานประจำปีในเมืองพาราณสี เขาได้ชวนลูกชายไปแสดงตีกลองเก็บเงินค่าดูได้จำนวนมาก

ในวันสุดท้ายของวันงานจึงเดินทางกลับบ้าน ลูกชายด้วยความคะนองและดีใจที่ได้เงินมาก จึงตีกลองไปตลอดทาง พอไปถึงดงโจรในระหว่างทาง พ่อจึงกล่าวว่า
" ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองไม่หยุดระยะ จงตีเป็นระยะ เหมือนกลองของทหารเดินทางสิ "

ลูกชายกลับพูดว่า
" ผมจักไล่พวกโจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองนี้ " แล้วยิ่งกระหน่ำตีกลอง ไม่หยุดระยะเลย

ฝ่ายพวกโจรพอได้ยินเสียงกลองครั้งแรกก็คิดจะหนีไปเพราะนึกว่ากลองทหาร พอฟังนานๆไปก็เอ๊ะใจว่าไม่ใช่ จึงซุ่มดูอยู่ข้างทางเห็นมีเพียงสองพ่อลูกเท่านั้น จึงรุมทุบตีแย่งชิงทรัพย์เอาไปหมดสิ้น พ่อจึงกล่าวสอนลูกชายด้วยคาถาว่า
" เมื่อจะตีกลองก็ตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ
เป็นการเสียหายของเรา ทรัพย์ตั้งร้อยที่ได้มาเพราะการตีกลอง ได้สูญเสียไป
เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ "



พกชาดก
นกกระยางเจ้าเล่ห์




ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ล่อลวงถือเอาผ้าจีวรรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า ...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่สระน้ำแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่มากนัก มีปลาอาศัยอยู่มาก ในฤดูร้อน น้ำในสระจะลดน้อยลงจนเกือบแห้งขอด ทำให้ปลาอยู่อย่างลำบาก ในที่ไม่ไกลจากสระนี้ มีนกกระยางอยู่ตัวหนึ่ง เห็นปลามีอยู่จำนวนมาก จึงคิดหาอุบายลวงกินปลาขึ้นมาได้อย่างหนึ่งแล้วไปยืนอยู่ที่ริมสระน้ำนั้น ทำทีเป็นเศร้าสร้อยหงอยเหงา ยืนเซื่องซึมอยู่ ปลาเห็นนกกระยางเป็นเช่นนั้นจึงถามว่า
" ท่านเป็นอะไร ถึงดูซึมเศร้าไป "
นกกระยางจึงบอกว่า
" เรากำลังสลดใจ สงสารพวกท่าน ที่น้ำในสระนี้มีน้อย มีที่เที่ยวน้อยและความร้อนมีมาก ในที่ไม่ไกลจากนี้ มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่งทั้งลึก มีน้ำมากและมีดอกบัวเต็มสระ ถ้าพวกท่านไว้ใจเราๆ จะอาสาพาพวกท่านไปด้วยจงอยปาก คาบพวกท่านไปทีละตัว "

ปลากล่าวว่า
" เจ้านาย ไม่เคยได้ยินว่า นกกระยางคิดดีต่อปลาเลย ท่านต้องการกินปลาทีละตัวมากกว่า พวกเราไม่เชื่อท่าน "

นกกระยางกล่าวว่า
" ถ้าพวกท่านไม่เชื่อเรา พวกเจ้าจงส่งปลาตัวหนึ่งไปดูสระน้ำพร้อมกับเราซิ "

ปลาจึงคัดเลือกได้ปลาดำใหญ่ตัวหนึ่ง ที่มีความสามารถทั้งทางน้ำและทางบก เป็นตัวแทนไปดูสระน้ำนั้นกับนกกระยาง นกกระยางได้นำปลาตัวนั้นไปชมสระน้ำนั้นบินวน ๓ รอบ แล้วนำกลับมาปล่อยยังสระเดิม ปลานั้นได้พรรณนาถึงสระน้ำที่ไปเห็นมาให้ปลาทั้งหลายฟัง พวกปลาจึงตกลงใจจะไปอยู่ที่สระใหม่ตามคำแนะนำของนกกระยางนั้น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นกกระยางก็คาบปลาทีละตัวไปและกินเสียที่ต้นไม้กุ่มใกล้สระนั้น จนปลาหมดสระ ในสระนั้นยังมีปูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง นกกระยางอยากจะกินปูนั้น จึงไปใช้อุบายนั้นอีก ส่วนปูฉลาดกลับเสนอว่า เนื่องจากปูตัวใหญ่ เกรงว่านกจะคาบไปไม่ไหว จึงขอใช้ก้ามปูคีบคอนกไปแทนก็แล้วกัน ด้วยอำนาจแห่งความหิว ทำให้นกกระยางตกลงตามนั้น พอบินไปถึงต้นกุ่มนกกระยางก็ไปจับที่ต้นไม้นั้นหวังจะกินปู

ปูเห็นก้างปลาที่โคนต้นกุ่มนั้น กองอยู่อย่างมากมาย ทำให้ทราบความจริง จึงสั่งให้นกกระยางบินกลับไปส่งที่สระตามเดิม นกกระยางจะไม่ไป ปูจึงหนีบคอนกกระยางให้แน่นขึ้น พร้อมกับขู่จะหนีบคอนกให้ขาด นกกระยางกลัวตายจึงบินกลับไปที่สระน้ำนั้น พอบินไปถึงกลางสระน้ำ ปูจึงตัดสินใจหนีบคอนกกระยางขาดตายกลางสระนั่นเอง

รุกขเทวดา เห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
" บุคคล ผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น จะพบความสุขอยู่ได้ไม่นาน
เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้
เหมือนนกกระยางถูกปูหนีบคอตาย ฉะนั้น "


กลัณฑุกชาดก
มารยาทส่อสกุล




พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

เรื่องแม้ทั้งสองในชาดกนั้น ก็เช่นเดียวกันกับ กฏาหกชาดกนั้นแหละ แต่ในชาดกนี้ ทาสของพาราณสีเศรษฐีผู้นี้ มีชื่อว่า กลัณฑุกะ ในเวลาที่เขาหนีไปครอบครองธิดาของปัจจันตเศรษฐี อยู่ด้วยบริวารเป็นอันมาก พาราณสีเศรษฐี แม้จะให้คนเที่ยวสืบหา ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป จึงส่งนกแขกเต้าผู้อยู่กับตนไปว่า ไปเถิด ไปสืบหากลัณฑุกะให้ทีเถิด ลูกนกแขกเต้าเที่ยวไปเรื่อย ๆ จนถึงนครนั้น ในกาลนั้น กลัณฑุกะประสงค์จะเล่นน้ำ ให้คนถือเอาดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้กับขาทนียะ และโภชนียะเป็นอันมากไปสู่แม่น้ำ นั่งเรือกับเศรษฐีธิดาเล่นน้ำอยู่ ก็ในประเทศถิ่นฐานนั้น เมื่อเจ้านายใหญ่โต เล่นกีฬาในน้ำจะดื่มนมสดแกล้มด้วยเภสัชที่มีรสเข้ม เพื่อว่าเมื่อเล่นน้ำตลอดวัน ความหนาวก็ไม่เบียดเบียนได้ แต่กลัณฑุกะนี้ ถือถ้วยนมสด บ้วนปากแล้วถ่มนมสดนั้นทิ้งเสีย แม้เมื่อจะถ่มทิ้ง ก็ไม่ถ่มลงในน้ำ ถ่มลงบนหัวของเศรษฐีธิดาอีกด้วย

ฝ่ายลูกนกแขกเต้า บินถึงฝั่งแม่น้ำ ก็เกาะอยู่ที่กิ่งมะเดื่อกิ่งหนึ่ง ค้นดู ก็จำกลัณฑุกะได้ เห็นกำลังถ่มรดศีรษะธิดาเศรษฐีอยู่ ก็กล่าวว่า แนะเจ้าทาส กลัณฑุกะชาติชั่ว จงสำนึกถึงชาติกำเนิด แลพื้นเพของตนบ้าง เถิด อย่าเอานมสดมาล้างปากแล้วถ่มรดศีรษะเศรษฐีธิดา ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จำเริญด้วยความสุขเลย ช่างไม่รู้ประมาณ ตนเลยนะแล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :
"สกุลของเจ้าไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้
นายของเจ้าทราบแน่แล้ว ก็พึงจับเจ้าไป
ดูราเจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มน้ำนมเสียเถิด" ดังนี้.

ฝ่ายกลัณฑุกะเล่าก็จำลูกนกแขกเต้าได้ ด้วยความกลัวว่า มันพึงเผยเรื่องของเรา จึงเชิญว่า มาเถิดนาย ท่านมาเมื่อไรเล่า ? แม้นกแขกเต้าเล่าก็รู้ว่า เจ้านี่ไม่ได้เรียกเราด้วยความปรารถนาดี แต่มีความประสงค์จะบิดคอเราให้ตาย จึงกล่าวว่า เราไม่มีธุระกับเจ้า ดังนี้แล้ว โดดจากที่นั้นไปสู่พระนครพาราณสี เล่าเรื่องราวตามที่ตนเห็นมาให้ท่านเศรษฐีฟังโดยพิสดาร ท่านเศรษฐีคิดว่า มันทำไม่สมควรเลย จึงนำตนมาสู่พระนครพาราณสีตามเดิม ลงอาชญาแก่เขา แล้วใช้สอยอย่างทาสสืบไป.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า กลัณฑุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล



มหาอุกกุสชาดก
การผูกมิตรไมตรี




ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภอุบาสกผู้ผูกมิตรคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธ ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชาวบ้านกลุ่มหนี่งประกอบอาชีพล่าสัตว์ พอทราบว่าป่าใดมีสัตว์มากก็จะพากันตั้งแค้มป์พักอยู่ใกล้ป่านั้นล่าสัตว์ อยู่ต่อมาได้พากันไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่งในป่านั้นล่าสัตว์ อยู่ต่อมาได้พากันไปล่าสัตว์ในป่าแห่งหนึ่ง ในป่านั้นมีสระเกิดเองโดยธรรมชาติสระหนึ่ง มีสัตว์ ๔ ชนิดอาศัยอยู่รอบสระ ด้านขวามือของสระมีเหยี่ยว ๒ ผัวเมียอาศียอยู่ ด้านเนือมีราชสีห์ ด้านตะวันออกมีพญานกออก (นกเหยี่ยวขนาดใหญ่ชนิดหนี่ง ชอบหากินปลาในทะเล) และในสระมีเต่าอาศัยอยู่ สมัยนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์

วันหนึ่งเหยี่ยวสามีได้ปรึกษาภรรยาว่า "นี่น้อง..เราควรจะมีลูกน้อยได้แล้วละ" ภรรยากล่าวว่า "พี่.. เรายังไม่มีมิตรสักคนเลย ถ้าเกิดภัยอันตรายขึ้นมา เราจะไปพึ่งใคร ก่อนแต่จะมีลูกน้อย น้องว่าเราควรจะเข้าไปผูกมิตรกับสัตว์อีก ๓ ตัวนั้นก่อน" สามีเห็นดีด้วยเมื่อผูกมิตรกับสัตว์ทั้ง ๓ ตัวแล้ว จึงไปทำรังอยู่ที่ต้นกระทุ่มต้นหนึ่งข้างสระน้ำนั้น ไม่นานก็มีลูกน้อย ๒ ตัว

อยู่มาวันหนึ่ง พวกชาวบ้านกลุ่มนั้นพากันตระเวนล่าสัตว์ป่าตลอดวันไม่ได้สัตว์อะไรสักตัวเลยปรึกษากันว่า "เมื่อไม่ได้อะไรพวกเราก็พักอยู่ในป่านี่แหละ ได้อะไรแล้วค่อยกลับคืนบ้าน" ตกลงพักค้างคืนใต้ต้นกระทุ่มต้นนั้น เมื่อมียุงมารุมกัดพวกเขาจึงก่อกองไฟขึ้น ควันไฟได้รมลูกนกเหยี่ยวมันจึงพากันร้อง พวกเขาจึงพูดกันว่า "เสียงลูกนกนี่ หาอะไรไม่ได้ทั้งวันหิวจนตาลายอยู่แล้ว มัดคบเพลิงเร็ว จะขึ้นไปนำมันลงมาปิ้งกัน" แม่เหยี่ยวพอลูกส่งเสียงร้องก็ทราบว่ามีภัยอันตรายแล้ว จึงรีบบินบอกสามีให้ไปขอความช่วยเหรือจากพญานกออก

พญานกออกยินดีช่วยเหลือได้บินไปจับอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ข้างเคียง พอชาวบ้านคนหนึ่งถือคบเพลิงปีนขึ้นต้นไม้ใกล้จะถึงรังนกเหยี่ยว มันก็รีบบินลงในสระน้ำนำมาดับคบเพลิง คนนั้นก็จะลงมาจุดคบเพลิงและปีนขึ้นไปใหม่ ใกล้จะถึงรังนกเหยี่ยวก็ถูกพญานกออกดับคบเพลิงอีก เป็นอยู่ลักษณะเช่นนี้จนถึงเที่ยงคืน พญานกออกเหน็ดเหนื่อยจนตาแดงก่ำ เหยี่ยวเห็นพญานกออกเหน็ดเหนื่อมากแล้วจึงขอบคุณและให้กลับไปพักผ่อนส่วนตนรีบขอความช่วยเหลือจากเต่า เต่าใหญ่ขึ้นมาจากสระน้ำนำเปลือกตมและสาหร่ายขึ้นไปดับกองไฟ แล้วหมอบอยู่

พวกชาวบ้านเห็นเต่าใหญ่ขึ้นมาจากสระน้ำมาดับไฟก็พากันหันมาจับเต่าแทน ช่วยกันดึงเถาวัลย์ และแก้ผ้านุ่งผูกเต่าดึงไว้กลับถูกเต่าใหญ่ลากลงสระน้ำไป ต่างคนก็สะบักสบอมได้กินน้ำจนพุงกาง ขึ้นจากสระน้ำแล้วพากนบ่นพึมพำว่า "พวกเราเหวย ..นกออกคอยดับคบเพลิงเราตั้งครึ่งคืน คราวนี้โดนเต่าใหญ่ลากลงน้ำได้กินน้ำจนพุงกาง ก่อไฟขึ้นใหม่เถอะเรา เมื่ออรุณขึ้นแล้วค่อยกินลูกเหยี่ยวก็ได้" ว่าแล้วกากันเก็บฟืนมาก่อไฟขึ้นใหม่

ส่วนเหยี่ยว ๒ ผัวเมียหารือกันว่า "คงจะต้องถึงเวลาไปขอความช่วยเหลือจากท่านราชสีห์แล้วละทีนี้" เหยี่ยวสามีจึงไปขอความช่วยเหลือจากท่านราชสีห์ ราชสีห์รับคำแล้วเดินไปที่กองไฟของพวกชาวบ้าน พวกเขาพอเห็นราชสีห์เดินมาต่างก็พากันกลัวตายร้องเสียงหลงว่า "ครั้งแรกนกออกคอยดับคบเพลิง เต่าใหญ่มาทำให้พวกเราผ้าเปียก คราวนี้ราชสีห์จักมาเอาชีวิตพวกเราแล้วต่างพากันแตกตื่นวิ่งหนีกระเจิงไป

ราชสีห์เดินไปใต้ต้นกระทุ่มไม่เห็นมีใครหลงเหลืออยู่เลย ไม่นานเหยี่ยว พญานกออก และเต่าก็เข้ามาหา ราชสีห์จึงให้โอวาทว่า " ต่อแต่นี้ไป สูเจ้าทั้งหลายอย่าทำลายมิตรธรรม อยู่อย่างไม่ประมาทเถิด" แล้วก็กลับที่อยู่ของตน สัตว์ต่าง ๆ ก็แยกย้ายกลับที่อยู่ของตนไป แม่เหยี่ยวมองดูลูกน้อยของตนแล้วพูดขึ้นว่า "เพราะอาศัยมิตรแท้ ๆ เราจึงรักษาลูกๆ ไว้ได้" แล้วจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

"บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่ เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้วป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ฉะนั้น"


ลฏุกิกชาดก
คติคนมีเวร




ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัตผู้ไม่มีความกรุณาปรานีแก่หมู่สัตว์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างมีช้างประมาณ ๘๐,๐๐๐ เชือก เป็นบริวารอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของช้างนั้นมีนางนกไส้ (นกต้อยตีวิด) ตัวหนึ่งตกฟองไข่อยู่ที่พื้นดินใกล้ทางเดินของพญาช้าง ในรังนั้นมีลูกนกออกใหม่หลายตัว

วันหนึ่ง พญาช้างนำบริวารหากินไปถึงที่นั้น นางนกไส้เห็นช้างกำลังเดินมา กลัวว่าจะเหยียบลูกน้อยจึงประคองปีกทั้งสองข้างยืนอยู่ต่อหน้าพญาช้างพูดอ้อนวอนว่า "ท่านพญาช้าง ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอพวกท่านอย่าได้เหยียบลูกน้อยของข้าพเจ้าผู้ไม่มีกำลังเลย" พญาช้างตอบว่า "แม่นางนกไส้ ไม่ต้องกลัวเราจะรักษาลูกของเจ้าให้เอง" ว่าแล้วก็ยืนค่อมรังนกไว้ ให้ช้างบริวารเดินผ่านไปก่อน แล้วได้กล่าวเตือนนางนกไส้ว่า "ยังมีช้างเกระเชือกหนึ่งมักหากินผู้เดียวจะตามหลังมา เขาไม่อยู่ในโอวาทเรา เจ้าจงอ้อนวอนเขาเองนะ" ว่าแล้วก็เดินตามหลังช้างบริวาร ต่อมาไม่นานช้างหัวดื้อชอบแตกโขลงตัวนั้นก็มาถึงที่นั้น นางนกไส้ก็แสดงตนพร้อมพูดอ้อนวอนเหมือนกับครั้งก่อน ช้างนั้นพอได้ฟังว่ามีลูกนกอยู่ข้างหน้ายิ่งชอบใจใหญ่ กล่าวตอบนางนกไส้ว่า "แม่นางนกไส้เอ๋ย.. เราจักฆ่าลูกน้อยของเจ้าทั้งหมด เจ้าจะมีปัญญาทำอะไรเราได้" ว่าแล้วก็เดินเข้าไปกระทืบรังนกแหลกละเอียดแล้วร้องแป้นๆ เดินจากไป

ฝ่ายนางนกไส้ที่บินหนีตายขึ้นไปจับบนกิ่งไม้ ได้พูดอาฆาตตามหลังช้างนั้นไปว่า "เจ้าช้างเกเร วันนี้เป็นวันของท่าน ปล่อยให้ท่านไปก่อน วันข้างหน้าเราจะเห็นดีกัน การใช้กำลังทำลายผู้ไม่มีกำลังไม่ดีแน่สำหรับท่าน" กล่าวจบก็บินไปขอความช่วยเหลือจากกา กาถามว่าจะให้ช่วยเหลืออะไร นางนกไส้จึงเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า "ท่านกา ขอเพียงท่านช่วยจิกตาช้างให้บอดเท่านั้นเอง กาก็รับคำช่วยเหลือนั้น

นางนกไส้เข้าไปหาแมลงวันหัวเขียว เล่าเรื่องให้ฟังแล้วขอความช่วยเหลือให้แมลงวันหัวเขียวไข่ใส่ตาช้าง แมลงวันก็รับคำช่วยเหลือ ต่อจากนั้นก็เข้าไปหากบตัวหนึ่ง เล่าเรื่องให้ฟัง และก็ขอความช่วยเหลือว่า "ท่านกบเมื่อช้างตาบอดและแมลงวันไข่ใส่ตามันแล้วมันก็จะแสวงหาน้ำดื่ม ขอให้ท่านไปอยู่ที่ปากเหวส่งเสียงร้องล่อช้างไปตกเหวให้หน่อย" กบก็รับคำช่วยเหลือ

หลายวันต่อมา นางนกไส้เสาะแสวงหาจนพบช้างเกเรตัวนั้นแล้วจึงไปบอกกา กาได้ไปจิกตานั้นบอดทั้งสองข้างแมลงวันหัวเขียวก็ไปไข่หนอนใส่ตาช้างอีก สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ช้างเป็นอย่างยิ่ง สองสามวันต่อมาช้างเดินสะเปะสะปะโซซัดโซเซแสวงหาสระน้ำดื่ม ได้ยินเสียงกบร้องแว่วมาแต่ไกลจึงกำหนดทิศทางเสียงกบด้วยเข้าใจว่ากบร้องอยู่ข้างสระน้ำ เดินไปไม่นานก็ผลัดตกเหวตายในที่สุด สร้างความดีใจแก่นางนกไส้เป็นอย่างยิ่งที่ศัตรูได้ตายไป

พระพุทธองค์เมื่อเล่านิทานจบจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายขึ้นชื่อว่าเวรไม่ควรทำกับใคร ๆ แม้สัตว์ทั้ง ๔ ร่วมมือกันทำให้ช้างผู้มีกำลังกว่าให้ตายได้" แล้วตรัสพระคาถาว่า
"ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์เหล่านี้ได้ฆ่าช้างแล้ว จงดูการจองเวรของคนคู่เวรทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธออย่าได้ก่อเวรกับใคร ๆ แม้กับคนไม่เป็นที่รักเลย"









 

Create Date : 02 มิถุนายน 2554
0 comments
Last Update : 2 มิถุนายน 2554 13:13:51 น.
Counter : 641 Pageviews.


blogbag
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add blogbag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.