Group Blog
 
 
มิถุนายน 2554
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
หน้าที่ 1

กูฏวานิชชาดก
(พ่อค้าโกง)



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีปรารภพ่อค้าโกงผู้หนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานชาดกมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพ่อค้าอยู่ในเมืองพาราณสี มีชื่อว่าบัณฑิต (แปลว่า นายฉลาด) ได้เข้าหุ้นทำการค้ากับพ่อค้าคนหนึ่งชื่อว่า อติบัณฑิต (แปลว่า นายฉลาดกว่า) วันหนึ่ง คนทั้งสองชวนกันบรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มไปขายที่ชายแดนแห่งหนึ่ง ได้กำไรกลับมาอย่างงดงามเมื่อกลับมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว ถึงเวลาแบ่งทรัพย์กัน นายอติบัณฑิตจึงเอ่ยปากขึ้นว่า "นี่เพื่อนรัก เราควรจะได้ส่วนแบ่ง ๒ ส่วนนะ"
"ทำไมละเพื่อน" พระโพธิสัตว์ถาม
"ก็เพราะท่านชื่อบัณฑิตเฉยๆ ควรได้ส่วนเดียว ส่วนเราชื่ออติบัณฑิตจึงควรจะได้ ๒ ส่วนนะสิ" อติบัณฑิตตอบ

พระโพธิสัตว์ไม่ยอมกล่าวอ้างว่า "ทุนซื้อก็ดี พาหนะขนสิ่งของก็ดีมีส่วนเท่าๆ กัน แล้วทำไมเวลาแบ่งจึงต้องแบ่งไม่เท่ากันละ ?"
นายอติบัณฑิตก็อ้างแต่ว่าไปหารุขเทวดาเป็นผู้ตัดสินให้

คนทั้งสองเดินไปที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งอติบัณฑิตได้บอกอุบายให้พ่อของตนเองไปแอบอยู่ในโพรงไม่นั่นแล้ว เมื่อไปถึงต้นไม้นั้นแล้ว อติบัณฑิตก็ถามความเห็นของรุกขเทวดาให้ช่วยเป็นผู้ตัดสินใจให้ด้วยทันใดนั่นเองก็มีเสียงเปล่งออกมาจากต้นไม้นั้นว่า "ถ้าเช่นนั้น คนชื่อบัณฑิตควรได้ ๑ ส่วน อติบัณฑิตควรได้ ๒ ส่วน"

พระโพธิสัตว์ฟังคำตัดสินนั้นแล้วคิดว่า "เดี๋ยวเถอะจะได้รู้กันว่าเป็นเทวดาจริง หรือเทวดาปลอมกันแน่" เดินไปหอบฟางมาใส่โพรงไม้แล้วจุดไฟทันที ทันใดนั่นเองพ่อของนายอติบัณฑิตรีบหนีตายขึ้นข้างบนต้นไม้โหนกิ่งไม้แล้วกระโดดลงดินพลางกล่าวเป็นคาถาว่า

"คนชื่อบัณฑิตดีแน่ ส่วนอติบัณฑิตไม่ดีเลย เพราะเจ้าอติบัณฑิตลูกเราเกือบเผาเราเสียแล้ว"

เมื่อแผนการถูกเปิดโปง นายอติบัณฑิตจึงจำต้องแบ่งส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน




กุสนาฬิชาดก
ประโยชน์ของการผูกมิตร




ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมิตรของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสว่า " ธรรมดามิตร จะเป็นคนเล็กน้อยไม่มี ผู้สามารถรักษามิตรไว้ได้เป็นสิ่งประเสริฐ มิตรผู้เสมอกัน ต่ำกว่ากัน หรือสูงกว่ากันควรคบไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้ทั้งนั้น " แล้วนำอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวดาอยู่ที่กอหญ้าคาในพระราชอุทยาน เป็นมิตรกับเทวราชผู้ศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่ง ผู้อาศัยที่ต้นไม้มงคลของพระราชาอยู่ในพระราชอุทยานนั้นด้วย ครั้งนั้น พระราชาประทับอยู่ในปราสาทเสาเดียว เสาของปราสาทนั้นสั่นไหวขึ้น พระองค์จึงรับสั่งให้พวกช่างไม้หาไม้แก่น มาเปลี่ยนเสาปราสาทใหม่ พวกช่างไม้เสาะแสวงหาไม้แก่นในพระราชอุทยาน ตกลงกันจะเอาต้นไม้มงคลนั้นทำเป็นเสาปราสาท จึงกราบทูลพระราชา พระองค์จึงอนุญาตให้ตัดได้ วันนั้น พวกนายช่างได้ไปทำพลีกรรมต้นไม้มงคล และกำหนดตัดในวันพรุ่งนี้

ฝ่ายเทวราช พอทราบว่าต้นไม้ที่อยู่อาศัยจะถูกตัด ไม่เห็นที่จะไป จึงกอดคอลูกน้อยร้องไห้อยู่ หมู่รุกขเทวดาทราบเรื่องแล้ว ก็ไม่มีใครจะช่วยแก้ปัญหาได้ เทวดาพระโพธิสัตว์ทราบเรื่อง จึงพูดปลอบเทวราชผู้สหายนั้นว่า " พรุ่งนี้เราจะไม่ให้ตัดต้นไม้นั้น พวกเราคอยดูเราเถิด "

ครั้นรุ่งขึ้น พอพวกช่างไม้มาถึง ท่านก็แปลงตัวเป็นกิ่งก่าวิ่งนำหน้าพวกช่างไม้ไป มุดเข้าที่โคนต้นไม้มงคลไปโผล่ออกทางยอดไม้นอนผงกหัวอยู่ ทำประหนึ่งว่าต้นไม้นั้นเป็นโพรง

นายช่างไม้เห็นเช่นนั้นแล้ว ก็เอามือตบต้นไม้นั้นแล้วตำหนิว่า " ต้นไม้นี้ มีโพรง ไร้แก่น เมื่อวานไม่ทันได้ตรวจดูถ้วนถี่ หลงทำพลีกรรมกันเสียแล้ว " ก็พากันหนีกลับไป

เทวราชพอเห็นวิมานของตนไม่ถูกทำลาย ก็ยกย่องพระโพธิสัตว์ ท่ามกลางหมู่รุกขเทวดา ด้วยคาถาว่า
" บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากันหรือเลวกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้
เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้
เหมือนเราผู้เป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ต้นรุจา กับเทวดาผู้สถิตที่กอหญ้าคาคบกัน "



ทีฆีติโกสลชาดก
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้กระทำการทะเลาะทุ่มเถียงกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นมายังพระเชตวันวิหาร ขอให้พระศาสดาทรงยกโทษ พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นโอรสของเรา ชื่อว่าบุตร ผู้เกิดจากปาก อันบุตรทั้งหลายไม่ควรทำลายโอวาทที่บิดาให้ไว้ ก็เธอทั้งหลายไม่กระทำตามโอวาท บัณฑิตทั้งหลายแต่ก่อน แม้โจรผู้ฆ่ามารดาบิดาของตนแล้วยึดครองราชสมบัติ ตกอยู่ในเงื้อมมือในป่า ก็ ยังไม่ฆ่าด้วยคิดว่า จักไม่ทำลายโอวาทที่มารดาบิดาให้ไว้ ดังนี้ แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
ก็ในชาดกนี้ เรื่องทั้งสอง คือเรื่องปัจจุบันและเรื่องในอดีต จักมีแจ้งโดยพิสดารในโกสัมพีขันธกะ ทีฆาวุภาณวาร



โกสิยชาดก
ถ้อยคำกับการกินไม่สมกัน



ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ บังเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล เรียนศิลปะทุกประการในเมืองตักกสิลา แล้วได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในพระนครพาราณสี ขัตติยกุมารในราชธานีทั้งร้อยเอ็ด และพราหมณกุมาร พากันมาเรียนศิลปะในสำนักของท่านผู้เดียวมากมาย

ครั้งนั้นมีพราหมณ์ชาวชนบทผู้หนึ่ง เรียนไตรเพทและวิทยฐานะ ๑๘ ประการ ในสำนักของพระ โพธิสัตว์แล้ว ตั้งหลักฐานอยู่ในพระนครพาราณสีนั่นเอง เขาได้มาที่สำนักของพระโพธิสัตว์วันละสองสามครั้งทุกวัน นางพราหมณีของเขา เป็นหญิงประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หยาบช้า ลามก เรื่องทั้งปวงตั้งแต่นี้ไป ก็เช่นเดียวกับเรื่องปัจจุบันนั่นแล

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อพราหมณ์นั้นบอกว่า ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงไม่มีโอกาส เพื่อจะไปรับโอวาทดังนี้ ก็ทราบว่า นางมาณวิกานั้น นอนหลอกพราหมณ์นี้เสียแล้ว คิดว่า เราต้องบอกยาที่ เหมาะสมให้แก่นาง แล้วกล่าวว่าพ่อคุณ ต่อแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ ให้เนยใส และน้ำนมสดแก่นางเป็นอันขาด แต่จงโขลกใบไม้ ๕ อย่างและผล ๓ อย่างเป็นต้น ใส่ในมูตรโค แล้วแช่ไว้ในภาชนะทองแดงใหม่ ๆ ให้กลิ่นโลหะมันจับ แล้วถือเชือก หวาย หรือไม้เรียว กล่าวว่า ยานี้เหมาะแก่โรคของเจ้า เจ้าจงกินยานี้ หรือไม่เช่นนั้น ก็ลุกขึ้นทำการงานให้สมควรแก่ภัตรที่เจ้าบริโภค แล้วต้องกล่าวคาถานี้ ถ้านางไม่ยอมดื่มยา ก็ต้องเอาเชือกหรือ หวาย หรือไม้เรียว หวดนางลงไปอย่างไม่ต้องนับ แล้วจิกผม กระชากมาถองด้วยศอก นางจักลุกขึ้นทำงานในทันใดนั่นเอง
เขารับคำว่า ดีจริงขอรับ แล้วทำยาตามข้อที่บอกแล้วนั่นแหละ กล่าวว่า แม่มหาจำเริญ เชิญดื่มยานี้เถิด นางถามว่า ยานี้ใคร บอกท่านเล่าเจ้าคะ ? ตอบว่า อาจารย์บอกให้ แม่มหาจำเริญ นางกล่าวว่า เอามันไปเสียเถิด ฉันไม่ดื่ม มาณพกล่าวว่า เจ้าจักดื่มตามใจชอบของตนไม่ได้ แล้วคว้าเชือกกล่าวว่า เจ้าจงดื่มยาที่เหมาะแก่โรคของตน หรือมิฉะนั้นก็จงทำงานให้สมควรแก่ภัตรที่บริโภค แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า
"ดูก่อนนางผู้โกสิยะ เจ้าจงกินยาให้สมกับที่อ้างว่าป่วย
หรือจงทำงานให้สมกับอาหารที่บริโภค
เพราะถ้อยคำกับการกินของเจ้าทั้งสองอย่างไม่สมกันเลย" ดังนี้.

เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ธิดาแห่งโกสิยพราหมณ์ คิดว่า ตั้งแต่เวลาที่อาจารย์ช่วยขวนขวายแล้ว เราไม่อาจลวงเขาอย่างนี้ต่อไปได้ ต้องลุกขึ้นทำการงาน ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นประกอบกิจตามหน้าที่ ทั้งยังเป็นหญิงมีศีล งดเว้นจากการทำความชั่ว ด้วยความยำเกรงในอาจารย์ว่า ความที่เราเป็นหญิงประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อาจารย์รู้หมดแล้ว ต่อแต่นี้ไป เราไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้อีก.
แม้นางพราหมณีนั้น ก็ไม่กล้าทำอนาจารซ้ำอีก ด้วยความเคารพในพระศาสดาว่า ได้ยินว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้เรื่องของเราแล้ว.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า คู่สามีภรรยาในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่สามีภรรยาในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.



อินทสมานโคตตชาดก
การสมาคมกับสัตบุรุษ




พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภ ภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้


ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยละเพศฆราวาส ออกบวชเป็นฤๅษี เป็นครูของเหล่าฤๅษี ๕๐๐ อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ ในครั้งนั้นบรรดาศิษย์ดาบสเหล่านั้น ได้มีดาบสชื่ออินทสมานโคตร เป็นผู้ว่ายากไม่เชื่อฟังใคร ดาบสนั้นเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่ง
พระโพธิสัตว์ได้ทราบข่าว จึงเรียกดาบสนั้นมาถามว่า เขาว่าเธอเลี้ยงลูกช้างไว้จริงหรือ ?
ดาบสตอบว่าจริงขอรับอาจารย์ ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่ง แม่มันตาย
พระโพธิสัตว์พูดเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าช้าง เมื่อเติบโต มักฆ่าคนเลี้ยง เธออย่าเลี้ยงลูกช้างนั้นเลย
ดาบสกล่าวว่า ท่านอาจารย์ข้าพเจ้าไม่อาจทิ้งมันได้
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจักได้รู้เอง
ดาบสเลี้ยงดูช้างนั้น ต่อมามันมีร่างกายใหญ่โต
คราวหนึ่งพวกฤๅษีพากันไปในที่ไกลเพื่อหารากไม้ และผลาผลในป่า แล้วพักอยู่ ณ ที่นั้น ๒ - ๓ วัน
ช้างก็ตกมัน รื้อบรรณศาลาเสียกระจุยกระจาย ทำลายหม้อน้ำดื่ม โยนแผ่นหินทิ้ง ถอนแผ่นกระดานแขวนทิ้ง แล้วเข้าไปยังที่ซ่อนแห่งหนึ่งยืนคอยมองดูทางมาของดาบส ด้วยหวังว่าจักฆ่าดาบสนั้นแล้วหนีไป
ดาบสอินทสมานโคตรหาอาหารไว้ให้ช้างเดินมาก่อนดาบสทั้งหมด ครั้นเห็นช้างนั้น จึงเข้าไปหามันตามปกติ ครั้นแล้วช้างนั้นออกจากที่ซ่อนเอางวงจับดาบสนั้นฟาดลงกับพื้น เอาเท้าเหยียบศีรษะขยี้ให้ถึงความตาย แล้วแผดเสียงดังหนีเข้าป่าไป พวกดาบสที่เหลือจึงแจ้งข่าวนั้นให้พระโพธิสัตว์ทราบ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่ว แล้วกล่าวคาถานี้ว่า:
บุคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
ท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์อยู่ ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน
เพราะอนารยชนนั้นแม้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำความชั่ว
ดุจช้างผู้ทำลายดาบสอินทสมานโคตรฉะนั้น
บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเรา
ด้วยศีล ด้วยปัญญา และแม้ด้วยสุตะ
พึงทำไมตรีกับบุคคลผู้นั้นนั่นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำมาซึ่งความสุขแท้

อรถกถาอธิบายความว่า
บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา หรือความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร กับคนมักโกรธที่น่าชัง
ในบรรดาอริยะ ๔ จำพวก คืออาจารอริยะ ได้แก่อริยะในทางมารยาท ๑ ลิงคอริยะ อริยะในทางเพศ ๑ ทัสสนอริยะ อริยะในทางความเห็น ๑ ปฏิเวธอริยะอริยะในทางรู้แจ้งแทงตลอด ๑ บรรดาอริยะเหล่านั้น ในที่นี้ท่านหมายถึงอริยะประเภท อาจารอริยะ ผู้รู้จักประโยชน์ คือรู้จักผล ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ดำรงอยู่ในอาจาระ ไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหาหรือความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร กับคนที่มิใช่อริยะ คือคนทุศีลไม่มียางอายเพราะคนที่มิใช่อริยะนั้น แม้อยู่ร่วมกันนาน ก็มิได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันนั้น ย่อมกระทำกรรมอันลามกเท่านั้น เหมือนช้าง ฆ่าอินทสมานโคตรดาบส
พึงรู้จักบุคคลใดว่า ผู้นี้เหมือนเราโดยศีลเป็นต้น พึงกระทำไมตรีกับบุคคลนั้นเท่านั้น การสมาคมกับด้วยสัตบุรุษย่อมนำความสุขมาให้
พระโพธิสัตว์สอนหมู่ฤๅษีว่า ธรรมดาคนเราไม่ควรเป็นผู้สอนยาก ควรศึกษาให้ดี แล้วให้จัดการเผาศพอินทสมานโคตรดาบส เจริญพรหมวิหาร ได้เข้าถึงพรหมโลก
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประชุมชาดกว่าอินทสมานโคตรในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุสอนยากนี้ในครั้งนี้ ส่วนครูประจำคณะได้เป็นเราตถาคตนี้แล





Create Date : 02 มิถุนายน 2554
Last Update : 2 มิถุนายน 2554 11:47:36 น. 0 comments
Counter : 339 Pageviews.

blogbag
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add blogbag's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.