เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
15 เมษายน 2554
 
 
ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 25-27 มีนาคม 2554 (วันที่สอง)

ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เสาร์ 26 มีนาคม 2554




นู๋เมี่ยงตั้งนาฬิกาปลุกตอนตี 3 ครึ่ง เพื่อจะได้ทำธุระส่วนตัว ชำระร่างกายให้สดชื่น ตื่นตัว (จะได้ไม่เผลอหลับ) ขณะฝึกปฏิบัติ พอใกล้ถึงเวลา ตี 4 ครึ่ง โยคีนักปฏิบัติธรรมต่างขึ้นไปชั้น 4 พร้อมที่จะเริ่มฝึกปฏิบัติกันแล้ว



เช้านี้พระอาจารย์กำหนดให้พวกเราฝึกเดินจงกรมสักพักหนึ่ง ก็แนะนำให้รู้จักการ “กำหนดนั่ง” (นัดขัดสมาธิ) ฝึกจิตนั่งสมาธิ เพ่งอารมณ์ (ความรู้สึก) ไปที่การยุบ-พองของหน้าท้อง การฝึกกำหนดนั่งนี่ทรมานสุดๆ ยิ่งนั่งก็ให้รู้สึกเจ็บ ขาเริ่มชา เป็นเหน็บ และทวีความเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนขาเหมือนกลายเป็นก้อนหิน ขยับขาขวาเองไม่ได้ (ถ้าขาเป็นก้อนหิน แต่ทำไมเราจึงยังมีความรู้สึกเจ็บได้ล่ะ – มันขัดแย้งกันอยู่นา?)



หลังจากฝึกปฏิบัติเสร็จ 6.00 โมงเช้า เริ่มพิธีการทำวัตรเช้า สวดมนตร์ บูชาพระรัตนตรัย

7.00 น. ลงไปรับประทานอาหารเช้าที่โถงชั้นล่าง ก่อนทานให้บูชาข้าวพระพุทธ พิจารณาก่อนรับประทานอาหารว่าเพื่อเป็นการประทังร่างกายให้อยู่ได้





นู๋เมี่ยงตักข้าวต้มหมูมาชามเท่านี้ก็พอแล้ว ปกติก็ไม่ค่อยเน้นมื้อเช้าเท่าไหร่

ทานอิ่มแล้ว ออกไปเดินเล่นรอบๆ บริเวณแห่งนี้ดีกว่า ยังมีเวลาก่อนขึ้นไปฝึกปฏิบัติธรรมกว่าครี่งชั่วโมง เดินออกจากโถงมานิ๊ดเดียว อ๊า... มีรถขายกาแฟโบราณ รถขายข้าวโพคเข้ามาในนี้ด้วย



แต่นู๋เมี่ยงไม่สนเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟอยู่แล้ว ตั้งใจว่าจะเดินไปถึงปากทางเข้าเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ที่เมื่อวานรถบัสแล่นเข้ามาสักหน่อย อากาศเย็นสบาย ทั้งที่ปกติเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่อากาศร้อน ถือว่าเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ตอนนี้ภูมิอากาศของโลกกำลังแปรปรวนจนน่าวิตก

เอาล่ะ ในที่สุดนู๋เมี่ยงก็เดินมาถึงปากทางเข้ามหาวิทยาลัยจนได้



ด้านหนึ่งของฐานหินสีดำ สลักจารึกข้อความเป็นลายมือเขียนไว้ว่า “ที่นี่จะสร้างขึ้นสำหรับส่วนมหานิกาย จะให้ชื่อว่า มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย” และลงพระนามกำกับไว้ด้วยว่า “สยามินทร์” “วันที่ 22 กันยายน ร.ศ 115”



ส่วนอีกด้านหนึ่งของฐานหินสีดำ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้โดยสังเขปดังนี้

กาลานุกรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในปีพุทธศักราฃ 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายการบอกพระปริยัติธรรมจากวัดพระแก้วไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2490 พระเถรานุเถระฝ่ายมหายาน 57 รูป นำโดยพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุประชุมกันที่ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ ได้มีมติให้เปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย ....

อ๋อ ... อ่านจากประวัติตรงนี้แล้ว นู๋เมี่ยงพอจะเข้าใจว่า ... ทั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่างใช้พระนามท่านเป็นชื่อของสถาบัน เพียงแต่แห่งแรกเป็นสถาบันเพื่อให้ความรู้ทางโลก ส่วนอีกแห่งเป็นแห่งเผยแผ่ความรู้ทางธรรม ทางพระพุทธศาสนาของฝ่ายสงฆ์



ถัดไปไม่ไกลจากอนุสาวรีย์พระไตรปิฏก ก็คือ อาคาร “พิพิธภัณฑ์พระไตรปิฏก” เดินขึ้นบันไดขึ้นไปหมอบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ทรงประทับยืนอยู่บนฐานสูงด้านนอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์



หน้าบันประดับด้วยดอกไม้ (ลายดอกพุดตาน?) ดูเหมือนทำมาจากกระเบื้อง ตามอย่างแบบศิลปะราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3



ภายในพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นู๋เมี่ยงนึกแปลกใจว่าทำไมจึงเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ "พระไตรปิฎก"?



เมื่อมองจากด้านหลังของอาคารพิพิธภัณฑ์จะเห็นอาคารต่างๆ วันนี้อากาศร่มรื่น ลมพัดเย็นสบาย แดดอ่อนๆ (เหมือนไม่ใช่เดือนมีนาคม ฤดูร้อนเลยแฮะ)





8.30 น. พร้อมเพรียงกันบนชั้น 4 กราบบูชาพระรัตนตรัยและพระอาจารย์ จากนั้นพระอาจารย์จึงเริ่มบรรยายธรรม ซึ่งนู๋เมี่ยงพอจับความและจดได้กระท่อนกระแท่นดังต่อไปนี้



“การเดินกำหนด” หรือ “การเดินจงกรม” คือการเดินอย่างมีสติ เดินเก็บรายละเอียดหรือสังเกต คืออาการของเท้า การลงเท้า เมื่อมีอารมณ์อื่นเข้ามากระทบขณะกำลังเดิน ก็ให้เดินช้าๆ ก้าวพอเหมาะ ก้าวช่วงสั้นๆ เก็บสายตา (มองลง ไม่ฟุ้งซ่าน) แต่อย่าหลับตาเดิน

“การนั่งกำหนด” ด้วยการ 1) ดูอาการ/ รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของท้อง (พอง-ยุบ) เป็นอารมณ์หลัก การเอามือขึ้นมาวางไว้บนท้องเพื่อช่วยในการสังเกต หรือ 2) บริกรรม “นั่งหนอ ถูกหนอ” กำหนดอารณ์แทน “ยุบหนอ พองหนอ” - “นั่งหนอ” หมายถึง รู้สึกว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่ “ถูกหนอ” หมายถึง จุดที่มีการสัมผัสชัดเจน เช่น บริเวณก้น ตาตุ่ม มือสองข้างที่วางซ้อนกัน

ให้รู้จักกำหนดอารมณ์ที่แทรกอยู่ (อารมณ์จร) ได้แก่ ง่วงนอน เสียงที่กระทบโสตประสาท ปวดเหน็บ เป็นต้น อารมณ์จรใดที่รู้สึกชัดเจน ให้เรากำหนดเรียกชื่ออารมณ์นั้นๆ เป็นภาษาของเราอย่างนั้น

ต่อจากการบรรยายธรรม คือการได้ฝึกปฏิบัติ “กำหนดเดิน” และ “กำหนดนั่ง” สลับกันไปอย่างละครึ่งชั่วโมง และช่วงนี้ก็เริ่มให้โยคีนักปฏิบัติทยอยลงไปสอบอารมณ์ (ซักถามข้อสงสัย) กับพระอาจารย์ทีละแถว รอบนี้ยังไม่ถึงคิวแถวของนู๋เมี่ยง

การเดินจงกรมยังไม่สร้างสภาวะทุกขเวทนาให้นู๋เมี่ยงเท่ากับกานนั่งสมาธิกำหนดอารมณ์ เพราะร่างกายปวดและร้าวจนสุดจะบรรยาย อารมณ์ช่วงหลังที่ชัดเจนได้แต่กำหนดว่า “เจ็บหนอ” “ตรูจะทนไม่ไหวแล้ว (โว๊ย)” ๆ ..... ไม่สามารถทนกำหนดนั่งได้ครบเวลา ต้องขยับร่างกาย และถอนจากสมาธิบีบแข้งขา .... มันเป็นสภาวธรรมที่ทนได้ยาก เจ็บจริงๆ นะเออ ไม่เชื่อลองทำดูบ้างสิ

11.00 น. เสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติ ได้เวลารับประทานอาหารกลางวัน



นู๋เมี่ยงรู้สึกมึนหัวตุ๊บๆ รู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจเพราะเมื่อคืนดันนอนไม่ค่อยหลับ สภาวะนอนน้อย ทั้งๆ ที่กับข้าวที่โรงครัวทำไว้ นู๋เมี่ยงทานได้ทุกอย่างเสียด้วย มีแกงเลียง ผัดกระหล่ำ พะแนงไก่ แต่กลับไม่อยากอาหารเสียดื้อๆ

หลังจากทานอาหารเสร็จ ขึ้นไปที่พักชั้น 3 นั่ง-นอนบิดดัดท่าโยคะเผื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อย (แต่เหมือนไร้ผล) ต้องงีบสัก 10 นาทีเผื่ออาการปวดหัวตุ๊บๆ จะบรรเทาลงบ้าง

.......

บ่ายโมง ได้เวลาฝึกปฏิบัติธรรม นู๋เมี่ยงไม่อยากขึ้นไปฝึกเลย ร่างกายมันโอดครวญว่าจะขึ้นไปหาทุกข์ให้มันทำไม(วะ) เว้นวรรคหยุดสักหน่อยเถิด แต่สุดท้ายก็ต้องตัดใจ “เอาวะ ทนอีกหน่อย เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็กลับแล้ว”



พระอาจารย์เริ่มต้นด้วยธรรมเสวนา บรรยายเรื่อง “ปฏิจจสมุทปบาท” คือ อายตนะ  ผัสสะ  เวทนา (ชอบ-ไม่ชอบ)  ตัณหา (อยากได้-ไม่อยากได้) อุปาทาน  ภพ ชาติ ชรา มรณะ และพูดถึง “สังโยช 10” เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เครื่องร้อยรัดสัตว์ให้อยู่ในวัฎจักรสงสาร มี 10 เส้น ซึ่งมีความหยาบและละเอียดต่างกัน พระโสดาบันสามารถตัดกิเลสได้เพียง 3 เส้นแรก พระสกิทาคามีได้ 3 เส้นแรก และทำให้อีก 2 เส้นเบาบางลง พระอนาคามีได้เพียง 5 เส้นแรก พระอรหันต์จึงจะสามารถตัดได้ทั้ง 10 เส้น อย่างนี้เป็นต้น


- ภาพถ่ายวัดโสธร แขวนไว้อยู่บนผนังชั้น 4 ปฏิบัติธรรม -


หลังจากจบการบรรยายธรรม ก็เข้าสู่ขั้นตอนการฝึกปฏิบัติ เริ่มที่การกำหนดเดิน สักพักก็ถึงรอบแถวของนู๋เมี่ยงลงไปสอบอารมณ์ (ซักถามข้อสงสัยการกำหนดสมาธิของแต่ละคน) กับพระอาจารย์

แถวนึงก็จะมีสักประมาณ 10 กว่าคน แต่ละก็ถามไถ่พระอาจารย์ถึงข้อสงสัยของตนเองขณะฝึกปฏิบัติ สำหรับนู๋เมี่ยงคำถามตอนนี้ของนู๋เมี่ยงมีแต่อารมณ์เดียวที่ชัดเจนและทนได้ยาก ความเจ็บ (เจ็บขาทั้ง 2 ข้าง แล้วค่อยลามไปเริ่มปวดแปล๊บตรงหลัง) อยู่เหนืออารมณ์ใดหลายก่อนหน้านี้ การกำหนดความรู้สึกง่วง ความเซ็ง เสียงดังจากภายนอก ฯลฯ มันหายไปในบัดดล ได้แต่กำหนดอารมณ์ว่า “เจ็บหนอๆ“ ไม่สามารถกำหนดตั้ง “พองหนอ ยุบหนอ” ที่ท้องได้ และถึงแม้พยายามกำหนดเรียก “เจ็บหนอ ๆ” เท่าไหร่ก็ไม่หายเจ็บเสียที

พระอาจารย์อธิบายว่าให้มีสติกำหนดทุกอิริยาบถ คือกำหนดเพื่อให้รู้ ไม่ใช่เพื่อให้หาย อ้าวววว!!!!

คราวนี้พอมันเจ็บมากเข้าๆ ก็คิดว่า “เมื่อไหร่จะครบกำหนดออกจากสมาธิเสียที (วะ)” ระหว่างนั้นได้ยินเสียงพระอาจารย์ผู้สอนบอกให้ทำใจให้สบาย ในใจก็เริ่มคิดพาลว่า “เจ็บจะตายแล้ว มันจะสบายได้ยังไงล่ะ (ฟะ)” ตรงนี้แหละที่นู๋เมี่ยงกลัวใจตัวเองหนักหนา มางานนี้แทนที่จะได้บุญ กลับได้บาปเสียนี่หล่ะตรู -“-!

พระอาจารย์อธิบายว่าตอนรู้สึกเจ็บ ร่างกายของเรามันคงจะเกร็งมาก ทำใจให้สบายคือต้องการให้ผู้ปฏิบัติอย่าไปเกร็งกับมัน

โห พระอาจารย์ ตอนมันเจ็บนี่ ร่างกายมันก็เกร็งไปโดยสัญชาติญานโดยอัตโนมัติของมันเองนะ นู๋เมี่ยงใช่ว่าจะไปบังคับมันได้ที่ไหน (ตอนที่เจ็บมากๆ นู๋เมี่ยงถึงขนาดกำมือ จิกนิ้วเลยทีเดียวก็มี)

นู๋เมี่ยงไม่สามารถบังคับร่างกายของตัวเองได้เลย ตอนที่ขามันชา หมดความรู้สึก ขาเหมือนท่อนไม้ นู๋เมี่ยงไม่สามารถสั่งให้มันขยับเขยื้อนได้เลย หรือการที่นู๋เมี่ยงจะสั่งไม่ให้ตัวเองกดมือแน่นขณะเจ็บปวด (เพื่อบรรเทาความเจ็บ) ก็ทำไม่ได้ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง

สุดท้ายพระอาจารย์ก็บอกว่า นี่แหละมาถูกทางแล้ว ให้ฝึกปฏิบัติอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ฮือๆๆๆ แต่ตอนนี้แค่นึกก็สยองแล้วอ่ะ

เมื่อหมดคำถามแล้ว ก็กลับขึ้นไปฝึกปฏิบัติธรรมต่อ เอาวะตรู ... ทำได้เท่าไหน ก็เท่านั้นแหละ พระอาจารย์ท่านเพิ่งบอกเองนี่ว่าที่นู๋เมี่ยงรู้สึกเจ็บน่ะ มันแค่เด็กๆ อ๊ากกกก
......


16.00 น. ได้เวลาหยุดพัก วันนี้จะไม่มีมื้อเย็น (สมาทานศีล 8) ทางโรงครัวได้เตรียมน้ำปานะไว้ให้ นู๋เมี่ยงคิดว่าน่าจะทำมาจากเผือกบด เคี่ยวจนเป็นน้ำนะ

ออกไปเดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีควันรถ ดูต้นไม้ ดอกไม้ เผื่อร่างกายจะสดชื่น ลืมความปวดเมื่อยของร่างกายไปได้บ้าง



เห็นป้ายชี้เส้นทางไปพระอุโบสถกลางน้ำ สอบถามผู้ที่เดินอยู่แถวนั้น บอกว่าต้องเดินไปอีกไกลมากโน่นนนน คาดว่ารวมเวลาเดินไป-กลับและกราบพระ ชมพระอุโบสถแล้ว ไม่น่าจะกลับมาทันทำวัตรเย็นตอน 6 โมงแน่ เลยเดินเล่นวนเวียนอยู่ใกล้ๆ อาคารปฏิบัติธรรมนี่แหละ ปล่อยเวลา ค่อยๆ เดินชื่นชมดอกไม้ ใบหญ้า ไม่ต้องรีบเร่ง

กลับขึ้นไปยืดเส้นสายที่อาคารที่พักชั้น นอนเหยียดตัวสัก 20 นาที เผื่อจะช่วยให้หายเมื่อยบ้าง
......

18.00 น. สวดมนตร์ ทำวัตรเย็น พระอาจารย์บรรยายธรรม หัวใจของพระพุทธศาสนา 3 ประการคือ ไม่ทำความชั่ว ทำความดี และชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ การเจริญสติปัฏฐาน 4 หรือการเจริญวิปัสสนานี่เองเป็นการชำระจิตใจให้สะอาด



พระอาจารย์ได้กล่าวถึงบทสวด “ปฐมพุทธภาษิตคาถา” วัจนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณเป็นคาถาแรก ว่า “อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง” (อยู่ในหนังสือบทสวดมนตร์ที่ใช้สวดทำวัตร) แปลว่า “เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสาร อันเป็นอเนกชาติ” พระอาจารย์อธิบายว่า “ญาณ” ในที่นี่คือ “วิปัสสนาญาณ” นั่นเอง และการเจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นเส้นทางเดียวเท่านั้นอันจะพาให้ถึงความหลุดพ้น

เหมือนนู๋เมี่ยงเคยอ่านผ่านตามาก่อนนะ ใช่ละ ...ตอนขอสมาทานกัมมัฏฐานเมื่อเย็นวานนี่ไง (.... อยู่ในหนังสือบทสวดมนตร์) ท่อนที่ว่า “เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พุทธา เตสัญจะ สาวะกา เอกายะเนนะ มัคเคนะ สะติปัฏฐานะ สัญญินา” แปลว่า “พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยสาวก ย่อมดำเนินไปสู่พระนิพพานด้วยทางสายใด ทางสายนั้นเป็นทางสายเอก ซึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายรู้ทั่วถึงกันแล้วว่า ได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง 4”

ประมาณทุ่มครึ่งพระอาจารย์ท่านให้ฝึกปฏิบัติ กำหนดเดิน และนั่งสลับกันไป ใครใคร่อยากจะกำหนดเดิน 1 ชั่วโมงแล้วค่อยสลับมากำหนดนั่ง 1 ชั่วโมง (เท่ากับ 1 บัลลังก์) หรืออยากจะกำหนดเดิน ½ ชั่วโมง แล้วสลับกำหนดนั่ง ½ ชั่วโมง อย่างนี้ 2 รอบ (เท่ากับ 2 บัลลังก์) ก็ได้

นู๋เมี่ยงขอเลือกอย่างหลัง ..... ไอ้ตอนเดินจงกรมนี่จะเกิดอารมณ์เบื่อและง่วง (ชักช้า เนิบนาบ วนไปวนมา) แต่ครั้นมานั่งสมาธิจะเริ่มจากความง่วง ต่อจากนั้นจะเกิดอาการชาที่เท้า ไล่ลามขยายความเจ็บมาที่บริเวณเอ็นข้างตรงเข่าขวา และแผ่วงกว้างไปเรื่อยๆ จนปวดไปทั้งขา 2 ข้าง ไม่สามารถทนที่จะกำหนดอิริยาบถให้อยู่กับที่ได้ ต้องขยับขา นวดขาก่อนครบกำหนด ½ ชั่วโมง

2 ชั่วโมงที่แสนจะสุดบรรยาย เวลามันหยุดนิ่งช้าลงอย่าน่าอึดอัด ยังนึกแปลกใจว่าตอนช่วงละคร 2 ชั่วโมงทำไมเวลาช่วงนั้นมันถึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือโลกมันเหวี่ยงไม่เท่ากันรึเปล่าหว่า?

21.30 น. จบภาคการปฏิบัติ กราบลาพระ ได้เวลาพักผ่อน ร่างกายร้องโอดโอยไปทั้งตัวแล้ว อาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่น คืนนี้ นู๋เมี่ยงได้นอนตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง น่าจะนอนได้ดีกว่าคืนแรกนะ ..... ราตรีสวัสดิ์นู๋เมี่ยง Happy Birthday .....



บันทึก : อังคาร 29 มีนาคม 2554






Create Date : 15 เมษายน 2554
Last Update : 16 เมษายน 2554 0:25:55 น. 4 comments
Counter : 3088 Pageviews.

 
ดูเป็นเรื่องทรมานกายนะ แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับวิธีปฏิบัติของหมู่บ้านพลัม (ที่เราอ่าน)
เพียงแต่วิธีการสอน ทำให้ไม่รู้ว่าทรมานเท่านั้นเอง


โดย: นัทธ์ วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:16:50:03 น.  

 
คุณนัทธ์ .....
ไม่ว่าพระอาจารย์ หรือผู้ปฏิบัติทั้งหลายเห็นตรงกันว่า อย่ามัวรั้งรอเวลา เมื่อร่างกายเราเสื่อมลง โรคภัยรุมเร้า จะยิ่งปฏิบัติลำบาก

และเราก็เห็นแล้วว่าสภาพร่างกายของเราเสื่อมลงไปมากจริงๆ เกินกว่าที่เราคาดไว้เสียอีก อาจจะเกิดจากการกินอาหาร ดื่มน้ำอัดลม ออกกำลังกายน้อยลง ฯลฯ

เราเองตั้งใจไว้ว่าจะลองไปอีกสักครั้ง คราวนี้จะเป็นการ "ท้า" กะตัวเองว่าจะทำได้ขนาดไหน

ได้แค่ไหน แค่นั้น เพราะคงไม่ใช่มีครั้งนี้ หรือครั้งหน้าเท่านั้น เกมนี้นู๋เมี่ยงต้องเล่นกันอีกนานนน


โดย: นู๋เมี่ยง IP: 61.90.80.128 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:22:59:59 น.  

 
เอาใจช่วยจ้าาาา เราก็จะปฏิบัติตามแนวหมู่บ้านพลัมไปก่อน
เอาสติมาอยู่กับตัว ทุก 1 ชั่วโมง ด้วยเสียงระฆัง


โดย: นัทธ์ วันที่: 17 เมษายน 2554 เวลา:9:18:18 น.  

 
ว้าก ยักษ์ ยักษ์

หนังสือยักษ์ ว้ากว้าก


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 17 เมษายน 2554 เวลา:20:09:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com