Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๖)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


หลักธรรมาภิบาลฝรั่งนั้นให้ความสำคัญ กับ กระบวนการบริหาร

แต่พุทธธรรมาภิบาลให้ความสำคัญกับทั้งเป้าหมาย (goal)

กระบวนการ (process) และจิตใจหรือทัศนคติ ของผู้บริหาร-ผู้ปกครองด้วย!

ตอนที่แล้วผมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าพระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับเป้าหมาย

ของการเผยแผ่พระศาสนาแก่ พระสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป

ว่าเข้าไปเพื่อ “ประโยชน์” (หิตายะ) และ “สุข” (สุขายะ) ของชนหมู่มาก

ไม่ใช่เพื่อตัวพระพุทธองค์หรือพระศาสนาเลย

เป้าหมายนี้ก็มาสะท้อนในพระปฐมบรมราชโองการ

ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ว่า

“เราจะครองแผ่นดิน โดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม”

คำว่า “โดยธรรม” นั้น เป็นทั้ง กระบวนการ และ พระราชธรรมจรรยา

(หรือถ้าจะว่าโดยศัพท์สามัญก็คือจิตใจ หรือ ทัศนคตินั่นเอง)

เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าพุทธธรรมาภิบาลนั้น

ให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารและจิตใจ

หรือทัศนคติของผู้บริหารไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับกระบวนการบริหาร “โดยธรรม” นั้นประกอบด้วยหลักสำคัญดังนี้ คือ


๑. การบริหารแบบปรึกษาหารือ หรือถ้าจะใช้ภาษาธรรมาภิบาล

ฝรั่งก็บอกว่าการบริหารโดยการมีส่วนร่วม (participation)

หลักที่ต้องปรึกษาคนดีของธรรมาภิบาลพุทธนี้ คือหลัก “ปริปุจฉา”

คือไต่ถามโดยรอบ โดยเฉพาะกับคนดีหรือผู้ประพฤติธรรม

ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ หลักของจักรวรรดิวัตรความจริงหลักจักรวรรดิวัตรพูดถึง

“สมณพราหมณ์ปริปุจฉา” แล้วอธิบายว่าเป็นการแสวงธรรมและปัญญา

ด้วยการสนทนากับสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม

เพื่อรู้ว่าอะไรคืออกุศลกรรมจะได้ละเว้น หรือกุศลกรรมจะได้ประพฤติ ให้มาก

ดังที่พระเจ้าทัลหเนมิได้สรุปไว้ว่า “....พ่อได้ฟังคำสอนของสมณพราหมณ์

เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศลพึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย

สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติ....” ซึ่งก็ไม่ผิด

แต่การจะตีความหลักการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่ว่า

ให้ผู้ปกครองไปสอบถามเรื่องดี-ชั่ว กับนักบวชก็คงจะแคบเกินไป

เพราะการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่จะให้เหมือนสมัยพุทธกาลคงไม่ได้

และปัญหาก็ซับซ้อนขึ้นมาก ดังนั้น การอธิบายความโดยปรับบริบท

ให้เข้ากับสภาพโลกสมัยใหม่จึงจำเป็นมาก

มิฉะนั้น หลักพุทธธรรมก็อาจเป็นเพียงหลักศาสนา

ที่ไม่อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตสมัยใหม่

ความข้อนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขา

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชวิจารณ์เทียบพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานกับมหายาน

และเรื่องสร้างพระบาทหลวงว่า

“ฉันมีความเห็น......ว่า หินยานก็ดี มหายานก็ดี

ที่จะเหลือแก่นเดิมนั้นน้อย ผู้ที่แต่งขึ้นก็แต่งไปตามความเข้าใจของตัว

และตามกาลสมัยและชั่วชั้นอายุคน....จะมี ปรินสิเปอล

คือ ข้อที่ตั้งของสาสนายังคงอยู่เท่านั้น” และทรงมีพระราชหัตถเลขา

ว่าด้วยพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ

ถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ความว่า

“สาสนาไหน ๆ ก็เก่าเกินไปทุกอย่าง ที่จะเอามาลงกับประจุบันไม่ได้

เว้นไว้แต่จะตั้งขึ้นใหม่ให้อัปตูเดท แต่เราตั้งศาสนาไม่ได้

เราจึงควรวางแผนทางดำเนินให้ความสมัย แทนศาสนาที่ อัปตูเดท

จะไปเอาเรื่องที่ ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้วมาเถียงกัน ป่วยการเวลาเปล่า ๆ”

ถ้าถือตามนี้ก็แปลว่า เราจะต้องพิจารณาพุทธธรรมาภิบาล

ให้ “อัปตูเดท” (up to date) คือให้เข้ากับภาวการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ด้วย

ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรง “revisit” ทศบารมีใหม่

โดยไม่ทรงเน้นชาติสุดท้าย คือ “เวสสันดรชาดก”

ซึ่งเน้นเรื่อง “การให้” (ทาน) และ “การรับ”

แต่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “มหาชนก” ซึ่งเน้นเรื่อง

“ความเพียรและการพึ่งพาตนเอง” แทนเมื่อเป็นเช่นนี้

หลักสมณพราหมณ์ปริปุจฉาจึงต้องเข้าใจกว้าง

คือ ปรึกษาหารือและรับฟังคนดี ซึ่งรวมถึงนักบวชทั้งหลายด้วย

และการรับฟังนั้นก็ต้องให้ถูกเรื่อง เช่น ถ้าจะรับฟังเรื่องศาสนา

เรื่องศีลธรรมก็พึงรับฟังจากสมณพราหมณ์ แต่ถ้าจะรับฟังเรื่องเศรษฐกิจ

ก็คงต้องรับฟังจากผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้าน และรับฟังไม่ได้แปลว่า

“เชื่อฟัง” ก็หมายความว่า ผู้ปกครองที่ดี ต้องมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง

คือ มีสัมมาทิฐิที่จะเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกด้วย


๒. การสื่อสารที่ดีและอ่อนหวาน (communication skill)

เป็นลักษณะสำคัญที่คู่กับกระบวนการบริหารแบบปรึกษาหารือ

หลักธรรมาภิบาลพุทธข้อนี้ เน้นตรงการสื่อสารด้วยวาจา

ประกอบด้วยหลักหลายหลัก อาทิ วาจาเปยยะ

อันอยู่ใน ราชสังคหวัตถุ อันหมายถึง การรู้จักพูดจาปราศรัย

ให้เกิดความเข้าใจอันดี เกิดความสามัคคี มีวาจาไพเราะพุทธธรรมาภิบาล

เน้นกระบวนการสื่อสารก็เพราะวจีกรรม คือ การกระทำด้วยวาจานั้น

มีผลมหาศาลจะสร้างหรือทำลายอะไรก็ได้

จะก่อให้เกิดสงครามหรือสร้างความสงบก็ได้ นโยบายใดจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ก็อยู่ที่การสื่อสารนี้แหละ บางทีสิ่งที่จะทำ มีประโยชน์มาก

แต่สื่อสารไม่ดี ไม่รอบด้าน อาจถูกต่อต้านจนต้องล้มเลิกไป

สุภาษิตไทยจึงเน้นว่า

“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา”

แล้วถ้าดูเรื่องการสื่อสารพุทธธรรมาภิบาล

ก็เน้นหลัก วจีสุจริต และ วาจาสุภาษิต ๒ ประการ

คือ ด้านละเว้น จะต้อง ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ

ไม่พูดเพ้อเจ้อ ด้านต้องทำ คือ ต้องพูดความจริง ต้องพูดสุภาพ

ต้องพูดแล้วก่อประโยชน์ ต้องพูดด้วยจิตเมตตา และต้องพูดถูกกาลเทศะ

นี่เรียกว่า “สัมมาวาจา” ตามหลักมรรคแปด

ฉะนั้น ผู้นำจึงต้องมีกระบวนการสื่อสารที่ดีตลอดเวลา

จึงจะประสบความสำเร็จในการบริหารและปกครอง

และความขัดแย้งแตกแยกก็จะไม่มีขึ้นในสังคม

ท่านผู้อ่านลองนึกดูว่า ที่บ้านเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่ายอยู่ในเวลานี้

เกิดเพราะมิจฉาวาจาใช่หรือไม่ ?

การปรองดองที่เรียกร้องกันในวันนี้ คงต้องเริ่มที่พุทธธรรมาภิบาลข้อนี้ก่อนครับ

ถ้ายังด่ากันปาว ๆ กล่าวหากันโครม ๆ

ลองนึกดูเถิดครับว่า ปรองดองจะเกิดได้หรือไม่?.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธ ที่ 28 กันยายน 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=166030



Create Date : 04 ตุลาคม 2554
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:24:05 น. 0 comments
Counter : 935 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.