Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
15 กุมภาพันธ์ 2565
 
All Blogs
 
ปราสาทนกหัสดีลิงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโอภาสวิหารกิจ

ปราสาทนกหัสดีลิงค์ ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโอภาสวิหารกิจ (บุญเลิศ อาสโภ)(คำฟู) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอสันทราย อดีตเจ้าอาวาสวัดสันคะยอม ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่


วิหารวัดสันคะยอม สร้างจากไม้สักทั้งหลัง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ทรงเสด็จเป็นประธานยกช่อฟ้า ช่อฟ้าและนาคสะดุ้งประดับด้วยกระจกสีสวยงาม หน้าบันโดดเด่นด้วยงานประดับกระจกสี และงานแกะสลักไม้ลวดลายพรรณพฤกษา ส่วนบนของหน้าบันมีพระปรมาภิไธยย่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี



วัดสันคะยอม ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่มากกว่า 200 ปี ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของพระครูโอภาสวิหารกิจ (เจ้าอาวาสวัดสันคะยอม ในสมัยนั้น) ได้ทำการพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนในทุกๆ ด้าน อาทิในด้านการอนุรักษ์ศิลปะ ได้มีการสร้างวิหารไม้สักทรงล้านนา เรือนไม้สักทั้งหลัง อุโบสถทรงไทยประยุกต์หอพระไตรปิฎกเรือนไทยโบราณ ศาลาการเปรียญแบบทรงไทยล้านนาโบราณ มีการจัดสร้างพระพุทธรูปที่เก่าแก่เป็นศิลปะแบบเชียงแสนที่ งดงามวิจิตร มีการอ้างในคัมภีร์ใบลานของวัดและแผ่นจารึกไว้เป็นหลักฐานมีนามว่า “หลวงพ่อพระศากยะมุนีสะหรีชัยมงคล” โดยมีการประดิษฐานไว้ในวิหารของวัดเป็น ที่สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต















ปราสาทนกหัสดีลิงค์
ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโอภาสวิหารกิจ (บุญเลิศ อาสโภ)(คำฟู)
อายุ 77 ปี พรรษา 55
อดีตรองเจ้าคณะอำเภอสันทราย อดีตเจ้าอาวาสวัดสันคะยอม
ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ณ เมรุชั่วคราวปราสาทนกหัสดีลิงค์ทิศใต้หลังวัดสันคะยอม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565
พิธีพระราชทานเพลิงศพ เวลา 15.00 น.
พิธีเผาจริง เวลา 20.00 น.

ปราสาทนกหัสดีลิงค์จัดสร้างถวายโดยสล่าท่านพระครูบาบุญหลวง แห่งวัดเกาะกลาง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่





























































ขออาราธนาส่งดวงวิญญาณของพระครูโอภาสวิหารกิจ (บุญเลิศ อาสโภ)(คำฟู)สู่ชั้นสวรรค์ชั้นวิมาน




มีโอกาสไปบันทึกภาพนกหัสดีลิงค์ แป๊บเดียวของวันเสาร์ที่ 12 กพ. 2565
ด้วยที่ว่าจะต้องเริ่มกลับมาตั้งการ์ดสูง ไม่ออกไปพบเจอะเจอผู้คนโดยไม่่จำเป็น
แต่งานนี้ก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะไปบันทึกภาพนกหัสดีลิงค์มารวบรวมเก็บไว้ที่ blog ดีหรือไม่ดี
สุดท้ายก็แวีบไป แบบรีบไปรีบกลับ เดินถ่ายภาพแป๊บเดียว ด้วยที่ว่าน่าจะเพิ่งเสร็จช่วงพิธีการไปก่อนหน้านี้ นกหัสดีลิงค์เลยอยู่นิ่งๆ ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ส่วนหัว ส่วนตา งวง และส่วนปีกแต่อย่างใด ภาพ set นี้เลยได้มาแต่ภาพนิ่ง
นำภาพและสื่อถึงการสร้างตัวปราสาทนกหัสดีลิงค์ที่มีความสวยงาม วิจิตรบรรจง งดงามมาก ๆ
ตัวปราสาท ตัวนกหัสดีลิงค์ และองค์ประกอบที่ถูกจัดเรียงร้อยเรื่องราวของป่าหิมพานต์ เขาพระสุเมรุ สระอโนดาด สัตว์ป่าน้อยใหญ่ ถูกบรรจงสร้าง รังสรรค์มาอย่างงดงาม

ข้อมูลนกหัสดีลิงค์ คัดลอกจากวิกิพีเดีย [https://th.wikipedia.org/wiki/นกหัสดีลิงค์]

นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะตัวส่วนใหญ่เป็นนก แต่มีงอยปากมีลักษณะเป็นงวงอย่างงวงช้าง นกหัสดีลิงค์มักถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมฌาปนกิจแสดงว่า ผู้ตายมีบุญบารมีมาก จึงอยู่บนหลังนกได้ โดยนกหัสดีลิงค์สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้[1] การทำเมรุนกหัสดีลิงค์ปรากฏหลักฐานในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง แต่ที่อุบลราชธานี มีประเพณีเฉพาะคือ ต้องเชิญนางเทียมเจ้านางสีดามาทำพิธีฆ่านกตามจารีตเดิม

นกหัสดีลิงค์ ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า หตฺถิลิงฺคสกุโณ มาจากคำสามคำสมาสกัน สามารถแยกเป็น หัตถี+ลิงค์+สกุโณ คำว่า หัตถี หมายถึง ผู้มีมืออันโดดเด่นขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ งวงของช้าง คำว่า ลิงค์ คือ การแสดงเพศ และคำว่า สกุโณ แปลว่านก ชาวล้านนานิยมเรียกย่อว่า นกหัส หรือ นกงางวง ออกสำเนียงลื้อยองเป็น งาโงง

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาค 2 ระบุว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์สี่ชนิด ดังนี้ ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3–5 เชือกรวมกัน

หนังสือไตรภูมิ บรรยายลักษณะของนกหัสดีลิงค์ว่า ลำตัวเป็นหงส์ หัวเป็นช้าง ทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก



นกหัสดีลิงค์ปรากฏในตำนานการสร้างนครหริภุญไชย ว่าฤๅษีทั้งสาม ซึ่งประกอบด้วย ควาสุเทพฤๅษี สุกทันตฤๅษี และอนุสิสฤๅษี ได้ช่วยกันวางรากฐานเมืองลำพูน ได้เรียกนกหัสดีลิงค์ ออกมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อบินไปคาบหอยสังข์จากห้วงมหาสมุทร เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองลำพูน เหล่าเหล่าฤๅษีใช้ไม้เท้าขีดเส้นเขตแดนเมืองตามขอบรูปร่างของหอยสังข์นั้น กลายมาเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่าและมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผังเมืองที่จะทำให้ผู้อาศัยมีความสมบูรณ์พูนสุข

ส่วนตำนานนกหัสดีลิงค์ ในวัฒนธรรมล้านช้าง ระบุในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์ถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง พระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง แต่เมื่อนกหัสดีลิงค์ได้เห็นพระศพจึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน พระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา แต่ก็ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด ธิดาแห่งพญาตักกะศิลา นามว่า สีดา จึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์ โดยใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์จนถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมพระศพ พระมหาเทวีรับสั่งให้ช่างทำเมรุคือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน








*** นำเนื้อความเกี่ยวกับนกหัสดีลิงค์มาให้อ่านกันท้าย blog ด้วยครับ
เคยได้คัดลอกมาแปะไว้ที่ blog เรื่องนกหัสดีลิงค์ไว้แล้วเช่นกันครับ
คัดลอกจาก //www.tumsrivichai.com

เมื่อพระสงฆ์มรณภาพ โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์มีเชื้อสายรามัญ หรือมอญ รวมทั้งพระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือ จะจัดศพอย่างสมเกียรติ คือทำ ปราสาท ใส่โลงศพ วางบนบุษบก ทำเป็นเรือนยอด และตั้งบนหลัง นกหัสดีลิงค์ ทำแม่เรือวางปราสาทสำหรับลากไปสู่สุสาน

ในวันทำศพ จะมีผู้คนมาร่วมงานกันมากมาย เพราะถือว่า เป็นบุญกุศลอย่างสำคัญ เช่น พิธีพระราชทานเพลิงศพ ครูบาผัด ผุสสิตธมโม หรือ พระครูพิศิษฏ์สังฆการ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑

พระครูสิริศีลสังวร หรือ ครูบาน้อย เตชปญฺโญ รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล บอกว่า คณะกรรมการวัดจัดสร้างเมรุพิเศษชั่วคราว ในลักษณะของปราสาท “นกหัสดีลิงค์” ความสูงกว่า ๓๐ เมตร

โครงสร้างของนกหัสดีลิงค์ทั้งหมด ยึดถือตามแบบโบราณ นับตั้งแต่สะพานเชื่อมไปยังปราสาท เพื่อใช้เคลื่อนย้ายโลงแก้ว ที่บรรจุสารีระ ทำด้วยไม้ไผ่แบบโบราณ โดยใช้วิธีการขัดสานเป็นรูปร่าง

ส่วนโครงสร้างทั้งหมด ทำจากโครงไม้ ตกแต่งด้วยกระดาษสี ทำลวดลายเป็นเกล็ด บริเวณส่วนหัวสามารถขยับเคลื่อนไหวไปมา ตากะพริบได้ บรรจุข้าวตอกไว้โปรย ในการทำพิธีเผาศพ เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวล้านนา

นอกจากนั้น บริเวณงวงยังยืดหดได้ ส่วนตาทั้ง ๒ ข้างมีลักษณะกลม สีแดง ขนตายาว งอน และกะพริบได้ตลอดเวลา

ส่วนปีกขยับขึ้นลง เหมือนจังหวะการบินของนก บริเวณส่วนหางมีลักษณะเหมือนหางหงส์ ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยสวยงาม เมื่อได้พบเห็น

บริเวณส่วนยอดของปราสาท จะมียอดปราสาท ฉัตร ๙ ชั้น ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับ ตามสมณศักดิ์ของพระเถระที่มรณภาพรูปนั้นๆ โดยเป็นไปตามความเชื่อโบราณของชาวล้านนา

โดย ๓ ชั้นแรก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั้นที่ ๕ หมายถึง พระเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกะกุสันโธ โกนาคะมะโน กัสสะโป โคตะโม อริยเมตเตยโย

ส่วนชั้นที่ ๗ หมายถึง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สังวิทา ปุกะยะปะ และ ชั้นที่ ๙ หมายถึง พระนวโลกุตรธรรม เจ้าเก้าประการ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และ นิพพาน ๑

ทั้งนี้รอบปราสาททั้ง ๔ ทิศ จะมีเพดานที่ทำจากเสาไม้ไผ่สูง และขึงด้วยผ้าสังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) ของครูบาผัด เปรียบแทนศีลของพระสงฆ์ ที่เรียกว่า "จตุปริสุทธศีล"

โดยเสาทั้ง ๔ ต้น เปรียบเป็นศีล ๔ ข้อ ได้แก่ ๑.ปาติโมกข์สังวร ๒.อินทรียสังวร ๓.อาชีวะปริสุทธศีล และ ๔.ปัจจัยสัจนิจศีล

สำหรับฟืนที่จะใช้ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพนั้น เลือกไม้มงคล ๗ ชนิด มาประกอบพิธี ตามหลักอภิธรรม ได้แก่ ๑.ไม้ดอกแก้ว ๒.ไม้ขนุน ๓.ไม้จำปา ๔.ไม้จำปี ๕.ไม้ตุ้มคำ (ไม้มงคลท้องถิ่น) ๖.ไม้จันทน์ และ ๗.ไม้กฤษณา ซึ่งไม้บางชนิดหายาก ในวันงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวล้านนาเชื่อว่า การร่วมงานศพพระสงฆ์เป็นสิริมงคล จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ทั้งกายและใจ

“การจัดพิธีศพ ถือเป็นการแสงความกตัญญูต่อบุพการีที่อยู่ในฐานะครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เป็นครั้งสุดท้าย จึงต้องการทำพิธีทุกอย่างให้ดีที่สุด ตามที่ลูกศิษย์จะสามารถดำเนินการให้ได้ การก่อสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์ครั้งนี้ อาตมาร่วมกับลูกศิษย์ และคณะกรรมการวัด มอบให้ช่างรุ่ง จันตาบุญ สล่า (ช่างฝีมือ) มือหนึ่งของชาวล้านนา ที่เคยฝากผลงานหอคำหลวงในงานมหกรรมพืชสวนโลก ให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงาม เป็นผู้บรรจงสร้างสรรค์ขึ้น ใช้เวลาดำเนินการกว่า ๓ เดือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า ๙ แสนบาท” ครูบาน้อย กล่าว

ตำนานล้านนา

นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถิลิงคะสะกุโณ เรียกตามภาษาของเราว่า นกหัสดีลิงค์

ตามประวัติศาสตร์ล้านนา ที่เล่าขานต่อกันมาว่า นกหัสดีลิงค์ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความพิเศษ คือ มีเพศเพียงดั่งช้าง เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ ๓-๕ เชือกรวมกัน ซึ่งเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตรา เจ้าเมืองผู้มีอำนาจบารมีสูง

ความเชื่อของชาวล้านนา แต่อดีตกาล นิยมสร้าง ปราสาทนกหัสดีลิงค์ เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือ รวมถึงพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพ เพื่อให้พิธีศพสง่างาม สมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่ชาติสรวงสวรรค์ชั้นพรหมโลก เทวโลก

แต่ในปัจจุบัน ปราสาทนกหัสดีลิงค์ นิยมใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น โดยรูปลักษณะของตัวนกหัสดีลิงค์นั้น มีรูปร่างโครงสร้างส่วนหัวและลำตัวทำจากโครงไม้ ตัดแต่งกระดาษเป็นลวดลาย ทำเป็นเกล็ด ส่วนหัวช้าง มีความพิเศษของการเคลื่อนไหวไปมาได้ โดยชิ้นส่วนคอและหัว ต้องเคลื่อนไหวหมุนไปมา ใบหูสามารถพับกระพือได้ ส่วนงวงทำจากผ้าเย็บเป็นทรงกระบอก เลียนแบบงวงช้าง มีเชือกร้อยอยู่ด้านในสำหรับดึง เคลื่อนไหวได้ ดวงตาต้องมีลักษณะกลมมน ขนตายาวสวย กะพริบได้ เหมือนมีชีวิตจริงๆ

ในอดีต เมื่อเจ้านายฝ่ายเหนือสิ้นชีพตักษัย การจัดประเพณีศพของเจ้านายสมัยนั้น จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ ด้วยการสร้างบุษบก สวมทับพระโกศ ตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ ฉุดลากด้วยช้าง และให้ชาวบ้านชาวเมืองเดินตามขบวนแห่ไปยังสุสาน ปัจจุบันพิธีศพนี้ นำมาใช้กับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ มีพงศาวดารโยนก ตอนหนึ่ง จุลศักราช ๙๔๐ ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ความว่า "นางพระญาวิสุทธิเทวี ต๋นนั่งเมืองนครพิงค์ ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ ทำเป๋นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลังนกหัสดินทร์ตั๋วใหญ่ แล้วฉุดลากไปด้วยแฮงจ๊างคชสาร จาวบ้าน จาวเมืองเดินตวยก้น เจาะก๋ำแปงเมืองออกไปตางต่งวัดโลกโมฬี และทำก๋าร
ถวายพระเพลิง ณ ตี้นั้น เผาตึงฮูปนกหัสฯ และวิมานบุษบกนั้นตวย"











ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่แวะมาชมภาพถ่ายที่ bloggang กันด้วยครับ


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2565 8:25:49 น. 10 comments
Counter : 1603 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี, คุณหอมกร, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณ**mp5**, คุณกะว่าก๋า, คุณnewyorknurse, คุณKavanich96


 
ภาพสวยจณะน้องเบิร์ด
แหล่มเลย
เจิม


โดย: อุ้มสี วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:6:03:04 น.  

 
ปราสาทนกหัสดีลิงก์สวยมากๆครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:6:39:06 น.  

 

วิหารวัดสันคะยอม สร้างใหม่ในยุคหลัง
ไม่นานมานี้..ศิลปะงดงามทีเดียว มองแยกความเก่า ใหม่ไม่ออกเลย


พระครูโอภาสวิหารกิจ จากภาพท่านมีบารมีและใจดีนัก



ปราสาทนกหัสดีลิงค์
ในงานพระราชทานเพลิงศพงดงามมาก
นับเป็นบุญตาที่นำมาฝากกันค่ะ

กรมศิลป์ หรือใคร ออกแบบและจัดทำคะ..
ปรบมือรัวๆ


โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:6:40:19 น.  

 
หัสดีลิงค์สัตว์ทิพย์หิมพานต์นี่
ตัวจริงของเขาน่าจะสวยกว่าในภาพ
นะคุณเบิร์ด ภาพวัดให้ความรู้สึกสงบใจมากจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:7:36:33 น.  

 
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:11:57:35 น.  

 
งานใหญ่มากๆเลยนะครับพี่เบิร์ด
นกหัสดีลิงค์สร้างสวยงามมากครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:14:08:39 น.  

 
ที่พักใหม่ๆในเชียงใหม่มีเยอะมากเลยนะครับพี่
แล้วกล้องรุ่นใหม่ๆก็มีโหมดถ่ายภาพดาว
ถ่ายออกมาอลังการมากจริงๆครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:14:09:29 น.  

 

ภาพสวยมากค่ะ

>>>
เรื่องวันวาเลนไทน์ที่บล็อก
เคยเห็นเมืองไทยเด็กๆ อินกันมากกเลย
ตัวเล็กๆ
(ไปแจกกันทั้งห้อง หรือ ข้ามห้องกันเลย "ความรัก"ในวัยนี้จึงมีแต่เพื่อน ๆ นักเรียนด้วยกันแบบจริงจังมาก)



โดย: newyorknurse วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:4:11:21 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับพี่



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:6:45:33 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:5:13:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ถปรร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ถปรร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.