We Think...We Question...We Challenge...We Act
Group Blog
 
All Blogs
 

การวางแผนจำหน่าย

การวางแผนจำหน่าย : กิจกรรมสำคัญในการจัดการผู้ป่วย

การวางแผนจำหน่าย หรือการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการพยาบาลมาช้านาน โดยแต่เดิมนั้นส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเรื่องการให้ความรู้ในการดูแลตนเอง หรือที่เรียกว่าการสอนสุขศึกษา (Health education) และเป็นบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรค 3 ไว้ว่า
“การประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่การพยาบาลต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยการกระทำต่อไปนี้
(1) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษา และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
(2) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อม เพื่อการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรค การลุกลามของโรคและการฟื้นฟูสภาพ
(3) การกระทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรค
(4) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค
ทั้งนี้โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาลในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล
ในบริบทของสังคมปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ ครอบคลุมไปถึง “การดูแลสุขภาวะ” ของประชาชน ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย และยังรวมไปถึง สุขภาวะของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เป้าหมายของการให้บริการสุขภาพในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากการเป็นโรค หรือสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการวางแผนจำหน่าย ในปัจจุบันจึงไม่เพียงเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ป่วยก่อนกลับบ้านเท่านั้น แต่ยังมีความหมายครอบคลุมถึง “การดูแลต่อเนื่อง” (Continuing Care) นับตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา การฟื้นฟู ในทุกระยะของภาวะสุขภาพของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่มีภาวะความเจ็บป่วยรุนแรงที่เข้าเริ่มการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มมีภาวะความเจ็บป่วย จนกระทั่งฟื้นหายจากโรคได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และสามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการกลับเข้ารักษาซ้ำใน
โรงพยาบาล ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้โดยรวม
แต่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีการวางแผนร่วมกันของทีมสุขภาพ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้รับบริการในการดูแลตนเอง และสามารถใช้แหล่งประโยชน์ในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในมาตรฐานโรงพยาบาลคุณภาพฉบับกาญจนาภิเษก (พ.ศ. 2539) ของสำนักพัฒนาและรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) บทที่ 20 การเตรียมจำหน่ายและการดูแลต่อเนื่อง (GEN.8.7) กำหนดมาตรฐานว่า “มีกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวได้โดยเร็วที่สุด” และฉบับปรับปรุงคือ (ร่าง) มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับฉลองสิริราชย์สมบัติ ครบ 60 ปี (พ.ศ.2548) กำหนดมาตรฐานการดูแลต่อเนื่องไว้ในตอนที่ III กระบวนการดูแล ข้อ 3.2 การวางแผนจำหน่าย กำหนดมาตรฐานว่า “มีการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากจำหน่ายจากโรงพยาบาล ดังนี้

(1) มีการกำหนดแนวทาง ข้อบ่งชี้ และโรคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับการวางแผนจำหน่าย
(2) มีการพิจารณาความจำเป็นในการวางแผนจำหน่ายสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นไปได้
(3) แพทย์ พยาบาล และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ป่วยและครอบครัว มีส่วนร่วมในการวางแผนจำหน่าย
(4) มีการประเมินและระบุปัญหา/ความต้องการของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นหลังจำหน่าย ครอบคลุมทั้งด้านการดูแลสุขภาพที่เป็นองค์รวม รวมทั้งการช่วยเหลือทางสังคม และประเมินซ้ำเป็นระยะในช่วงที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาล
(5) มีการปฏิบัติตามแผนจำหน่ายในลักษณะที่เชื่อมโยงกับแผนการดูแลระหว่างอยู่โรงพยาบาล ตามหลักการเสริมพลัง เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีศักยภาพและความมั่นใจในการจัดการดูแลสุขภาพของตนเอง
(6) มีการประเมินผลและปรับปรุงกระบวนการวางแผนจำหน่าย โดยใช้ข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยและข้อมูลสะท้อนกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรฐานการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและครอบครัวไว้ใน ข้อ 5 การให้ข้อมูลและเสริมสร้างพลังแก่ผู้ป่วย/ครอบครัว ว่า “ทีมผู้ให้บริการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพแก่ผู้ป่วยและครอบครัว จัดกิจกรรมตามแผนเพื่อเสริมพลังผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ และเชื่อมโยงการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าในทุกขั้นตอนของการดูแล ดังนี้
(1) ทีมผู้ให้บริการ ประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนและกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมิน ครอบคลุมปัญหา/ความต้องการของผู้ป่วย, ศักยภาพ, ภาวะทางด้านอารมณ์ จิตใจ, ความพร้อมในการเรียนรู้และดูแลตนเอง
(2) ทีมผู้ให้บริการให้ข้อมูลที่จำเป็นและช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้สำหรับการดูแลตนเอง และการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแก่ผู้ป่วยและครอบครัว อย่างเหมาะสมกับปัญหา, เวลา, ผู้รับข้อมูล มีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจง่าย มีการประเมินการรับรู้ ความเข้าใจและความสามารถในการนำข้อมูลที่ได้รับไปปฏิบัติ
(3) ทีมผู้ให้บริการให้ความช่วยเหลือทางด้านอารมณ์จิตใจ และคำปรึกษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยและครอบครัว
(4) ทีมผู้ให้บริการและผู้ป่วย/ครอบครัว ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งติดตามปัญหาอุปสรรคในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง
(5) ทีมให้บริการจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วย/ครอบครัว และสร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วย/ครอบครัว สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
(6) ทีมผู้ให้บริการประเมินและปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้และการเสริมพลังผู้ป่วย/ครอบครัว
และ ข้อ 6 การดูแลต่อเนื่อง กำหนดมาตรฐานว่า “ทีมผู้ให้บริการสร้างความร่วมมือและประสานงานเพื่อให้มีการติดตามและดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่ให้ผลดี ดังนี้
(1) มีระบบนัดหมายผู้ป่วยกลับมารับการรักษาต่อ เมื่อมีข้อบ่งชี้ มีระบบช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลตามความเหมาะสม
(2) องค์กรสร้างความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยบริการสุขภาพและองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการติดตามดูแลผู้ป่วย และบูรณาการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เข้าในกระบวนการดูแลผู้ป่วย
(3) มีการสื่อสารข้อมูลของผู้ป่วยให้แก่หน่วยบริการที่เกี่ยวข้องในการดูแลต่อเนื่องทั้งภายในองค์กรและกับองค์กรภายนอก โดยคำนึงถึงการรักษาสิทธิผู้ป่วย
(4) มีการทบทวนเวชระเบียนเพื่อประเมินความเพียงพอของข้อมูลสำหรับการดูแลต่อเนื่อง
(5) มีการติดตามผลการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการของผู้ป่วยได้รับการตอบสนอง และนำผลการติดตามมาใช้ปรับปรุง/วางแผน บริการในอนาคต
จากข้อกำหนดมาตรฐานดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการบูรณาการ แนวคิด หลักการ และการนำสู่การปฏิบัติโดยมีการควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ กล่าวโดยสรุป การวางแผนจำหน่าย เป็นกระบวนการส่งเสริมการดูแลที่ต่อเนื่องแก่ผู้ป่วย จากสถานที่หรือสถานบริการ จากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งในทางที่ดีขึ้น โดยการสนับสนุนด้านจิตใจ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล การให้คำปรึกษา การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง และการอำนวยความสะดวกในการย้ายหรือส่งต่อผู้ป่วย (Armitage, 1998)
ขั้นตอนกระบวนการของการวางแผนจำหน่าย ประกอบด้วย
1) การประเมินความต้องการการดูแลต่อเนื่องของผู้ป่วย
2) การวางเป้าหมายร่วมกันของทีมสุขภาพและผู้ป่วย
3) การวางแผนจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้การดูแลรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4) การปฏิบัติตามแผนภายในกำหนดเวลาและมีการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพทั้งในสถานบริการและใช้แหล่งประโยชน์ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
5) การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการวางแผนจำหน่าย
ผลลัพธ์ของการวางแผนจำหน่าย/การดูแลต่อเนื่อง ได้แก่
1) ลดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาล ลดอัตราครองเตียง
2) ลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลโดยไม่ได้วางแผน
3) ผู้ป่วยและครอบครัวพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ
4) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยภายหลังจำหน่าย
5) ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
6) การใช้ทรัพยากรและแหล่งประโยชน์ในชุมชนคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม
7) บุคลากรมีโอกาสพัฒนาการปฏิบัติงาน การประสานงาน การทำงานเป็นทีม และการสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพของประชาชน

ส่งท้าย
การวางแผนจำหน่าย เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ของทีมสหสาขา การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้บริหาร ความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรในทีม การสื่อสารประสานงานและการบริหารจัดการที่ดี จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าส่วนใหญ่ใช้ระบบการจัดการดูแลผู้ป่วย(Care/Case management) และแผนการจัดการดูแลผู้ป่วย (Care map/Clinical pathway) เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานการสื่อสาร และประสานงานในทีม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

เอกสารประกอบ
มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล ฉบับฉลองสิริราชย์สมบัติ 60 ปี, สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
กระทรวงสาธารณสุข.




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 23:51:05 น.
Counter : 8232 Pageviews.  

NCM : Clinical pathway

แผนการจัดการดูแลผู้ป่วย (Care map/Clinical pathway)

เครื่องมือสำคัญที่ผู้จัดการผู้ป่วยใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแผนการดูแลผู้ป่วยกับทีมสหสาขา คือแผนการจัดการดูแล (Care Map, Care path, หรือ Clinical pathway ) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยให้การดูแลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ ควบคุมคุณภาพการดูแลให้มีมาตรฐาน และควบคุมค่าใช้จ่าย ในกรอบเวลาที่กำหนดในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวหรือผู้ดูแลได้รับรู้และมีส่วนร่วมในแผนการดูแลรักษา และสามารถเตรียมความพร้อมและศักยภาพในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของแผนการจัดการดูแลผู้ป่วย
(1) เป็นแนวทางในการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพ เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการดูแล ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด
(2) ทำให้มีการประสานงานที่ดีเพื่อการดูแลรักษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวแบบองค์รวม
(3) เป็นแผนการดูแลล่วงหน้าที่วางไว้ตลอดการดูแลรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องสม่ำเสมอ
(4) ใช้เป็นแนวทางในการให้ข้อมูลผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกันในทีม ส่งผลต่อความพึงพอใจ
(5) ทำให้การวางแผนจำหน่ายรวมทั้งการเสริมพลังในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเป็นระบบมากขึ้น
(6) ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้อยู่ในกรอบที่กำหนด
(7) ใช้เพื่อควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน และพัฒนาคุณภาพการบริการ

ลักษณะสำคัญของแผนการดูแล
ปัจจุบันในร่างมาตรฐาน Hospital Accreditation ปี 2549 กำหนดประเด็นสำคัญในการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วย คือ “องค์กรสร้างหลักประกันว่าทีมผู้ให้บริการจัดทำแผนการดูแลผู้ป่วยที่มีการประสานกันอย่างดีและมีเป้าหมายที่ชัดเจน สอดคล้องกับปัญหา/ความต้องการด้านสุขภาพของผู้ป่วย มี criteria 7 ข้อ” ซึ่งในข้อ Criteria4 กำหนดว่า แผนการดูแลผู้ป่วยประกอบด้วย
(1) เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ (2) บริการที่จะจัดให้ (3) กลยุทธ์การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย
(4) กรอบเวลาที่จะปฏิบัติ (5) ทรัพยากรที่จะใช้ และ (6) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ”
ส่วนในข้อ “Criteria 5 กำหนดว่า มีการนำหลักฐานวิชาการหรือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการดูแลผู้ป่วย”

ขั้นตอนในการทำ Clinical pathway
(1) เลือกกลุ่มเป้าหมาย (วิเคราะห์โรคหรือหัตถการที่สำคัญ)
(2) จัดตั้งทีมสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมทีมสหสาขาร่วมกันทำ Clinical pathway (ค้นหา evidence base practice/knowledge ที่เกี่ยวข้อง)
(3) กำหนดจำนวนวันนอนร.พ.(Length Of Stay : LOS)
(4) เขียนแผน ทดสอบแผน (Pilot study)
(5) ปรับปรุงและนำมาใช้

Clinical Pathway ที่ดีควรมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น
(1) เป็น Multidisciplinary care plan เป็นแผนของทีมดูแลทั้งหมด -> ไม่ใช่สำหรับ แพทย์ พยาบาลหรือวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง
(2) มี LOS เพื่อตั้งเป้าหมายให้ไปสู่มาตรฐานวันนอนที่เหมาะสม
(3) มี Expected outcome เพื่อสื่อสารให้ทีมเข้าใจความคาดหวัง ตั้งเป้าหมายในการรักษา
(4) มี Discharge plan เพื่อการจำหน่ายหรือส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

เนื้อหาที่นำมาเขียนแผน
(1) ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา
(2) การตรวจร่างกายที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ การส่งปรึกษาต่างๆ
(3) การส่งตรวจต่างๆ
(4) รายการยาต่างๆ
(5) ชนิดอาหาร
(6) กิจกรรมที่ผู้ป่วยปฏิบัติได้ รวมทั้งกายภาพบำบัด
(7) ความรู้ที่จะให้แก่ผู้ป่วย
(8) การวางแผนจำหน่ายหรือส่งไปหน่วยงานอื่น

ส่งท้าย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาความเจ็บป่วย เรื้อรัง ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพ มีแนวทางปฏิบัติที่มีมาตรฐาน และมีเป้าหมายร่วมกันทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ จะช่วยให้การรักษาพยาบาล รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด

เอกสารประกอบ
Case Management Society of America, Standards of Practice for Case Management, Revised 2002©
The Case Management Society of Australia, National Standards of Practice for Case Management, 2004




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 23:32:44 น.
Counter : 7529 Pageviews.  

Advocacy : บทบาทสำคัญของNCM




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 16:16:26 น.
Counter : 4473 Pageviews.  

NCM: การนำมาใช้ในประเทศไทย

กลุ่มผู้ป่วยที่ควรใช้ CM?
สถานบริการประเภทใด?
ที่ไหนนำมาใช้แล้วบ้าง?




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 16:20:13 น.
Counter : 612 Pageviews.  

NCM : แนวคิด-หลักการ

การจัดการดูแลผู้ป่วย (Care/Case management)
นิยามศัพท์
คำว่า Care management และ Case management ในเอกสารวิชาการ งานวิจัย หรือการนำไปใช้ในสถานบริการโดยทั่วไป เป็นคำที่มักใช้แทนกันได้ โดยมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน
Care management : is the coordination of care in order to reduce fragmentation and unnecessary use of services, prevent avoidable conditions, and promote independence and self-care. Alternatively called advanced care management (ACM), targeted case management (TCM), high-cost or high-risk case management, care coordination, disease management, and other terms, care management programs manifest themselves in a wide variety of ways. (ที่มา : Stretching State Health Care Dollars: Targeted Care Management to Enhance Cost-Effectiveness, Sharon Silow-Carroll, M.B.A., M.S.W., and Tanya Alteras, M.P.P., The Commonwealth Fund, October 2004)
Case management : is a collaborative process of assessment, planning, facilitation and advocacy for options and services to meet an individual’s health needs through communication and the resources available to promote quality, cost-effective outcomes.(ที่มา : The Case Management Society of America, The Standards of Practice for Case Management, revised 2002)

Nursing case management : is a system of healthcare delivery designed to facilitate achievement of expected patient outcomes within an appropriate length of stay, with goals of quality care, decreased fragmentation, enhanced quality of life, the efficient use of resources, and cost containment ( ที่มา : ANA, 1991)

คุณลักษณะสำคัญของระบบ Case Management

ในปี คศ. 2002 The Case Management Society of America ได้มีการประชุมกำหนดมาตรฐานการปฎิบัติของการจัดการดูแลผู้ป่วย (The Standards of Practice for Case Management) โดยมีกรอบแนวคิดดังรูปต่อไปนี้

โดยได้สรุปการจัดการดูแลผู้ป่วย (Case Management) ว่าหมายถึง “กระบวนการความร่วมมือในการประเมิน วางแผน จัดการ และให้คำปรึกษา ในการเลือกหนทางรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามความต้องการที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการสื่อสาร และการจัดการทรัพยากรที่ดี” (CMSA,2002)

ลักษณะสำคัญของผู้จัดการการดูแล (Case Manager)
มีหน้าที่ประสานงานระหว่าง ผู้ป่วย ผู้ให้บริการ ผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ชุมชนและสังคม เพื่อให้การบริการที่ผู้ป่วยได้รับมีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่า ภายใต้ระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้โดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง

กระบวนการจัดการดูแล มีองค์ประกอบ คือ
1) Assessment การประเมินความต้องการของผู้ป่วยที่ครอบคลุมทุกด้าน แบบองค์รวม
2) Planning การวางแผนการดูแลที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม คุ้มค่าโดยความร่วมมือของทีม สหสาขา รวมทั้งผู้ป่วยและญาติเพื่อให้ผู้ป่วยมีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้นโดยเร็วที่สุดและภายในกรอบเวลาที่กำหนด
3) Facilitation การติดตามกำกับ ประสานงาน และสนับสนุนให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แก้ไขปรับปรุงความแปรปรวนที่เกิดขึ้น(variances) โดยใช้เครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพต่างๆ รวมทั้งการพิทักษ์สิทธิและเป็นผู้ประสานประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
4) Advocacy การประเมินผลการปฏิบัติทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยกำหนดตัวชี้วัดให้เหมาะสม และติดตามการบรรลุเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มเป้าหมาย ที่ควรนำระบบ Case management มาช่วยจัดการดูแลให้มีประสิทธิภาพได้แก่
(1) กลุ่มที่มีแนวการรักษาที่หลากหลาย ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน
(2) กลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง
(3) กลุ่มโรคเรื้อรังที่กลับมา Admit บ่อยครั้ง
(4) กลุ่มที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคม
(5) กลุ่มที่นอนรักษาตัวในร.พ.นาน
ผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้ มักเป็นผู้ที่มีปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งภาวะความเจ็บป่วย เศรษฐกิจ สังคม ใช้ทรัพยากรสุขภาพจำนวนมาก และผู้ให้บริการหลากหลายสาขาวิชาชีพมาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่จะประสานบริการทั้งหลายทั้งปวง จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดี ซึ่งนอกจากบุคลากรผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการผู้ป่วยจำเป็นต้องมีทักษะความสามารถในด้านคลีนิกแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ การเจรจาต่อรอง การติดต่อประสาน การตัดสินแก้ปัญหา และอื่นๆ แล้วแต่หน่วยงาน

ผลลัพธ์ของการจัดการดูแลผู้ป่วย (Case Management)
• ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
• ลดอัตราการกลับมารักษาซ้ำ
• ลดจำนวนวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
• ควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
• มีการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
• ความพึงพอใจของผู้ป่วยและครอบครัว
• เพิ่มคุณภาพการดูแลอย่างต่อเนื่อง
• การพัฒนาศักยภาพผู้จัดการผู้ป่วย
• การพัฒนาความร่วมมือ และการทำงานเป็นทีม




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 23:27:37 น.
Counter : 4955 Pageviews.  


ThaiNCM2007
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ข้อความหรือบทความหรือเอกสารทางวิชาการที่นำมาลงในที่นี้ เขียนจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ รวมทั้งการอ่านตำรา วารสารและเรียนรู้จากสื่อต่างๆ บางรายการเป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ได้นำมารวบรวมไว้ ณ ที่นี้

เพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจ ในเรื่องเดียวกัน
Friends' blogs
[Add ThaiNCM2007's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.