We Think...We Question...We Challenge...We Act
Group Blog
 
All Blogs
 
การวางแผนจำหน่าย

การวางแผนจำหน่าย : กิจกรรมสำคัญในการจัดการผู้ป่วย

การวางแผนจำหน่าย หรือการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการพยาบาลมาช้านาน โดยแต่เดิมนั้นส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเรื่องการให้ความรู้ในการดูแลตนเอง หรือที่เรียกว่าการสอนสุขศึกษา (Health education) และเป็นบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรค 3 ไว้ว่า
“การประกอบวิชาชีพการพยาบาล” หมายความว่าการปฏิบัติหน้าที่การพยาบาลต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยการกระทำต่อไปนี้
(1) การสอน การแนะนำ การให้คำปรึกษา และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
(2) การกระทำต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อม เพื่อการแก้ปัญหาความเจ็บป่วย การบรรเทาอาการของโรค การลุกลามของโรคและการฟื้นฟูสภาพ
(3) การกระทำตามวิธีที่กำหนดไว้ในการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรค
(4) ช่วยเหลือแพทย์กระทำการรักษาโรค
ทั้งนี้โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และศิลปะการพยาบาลในการประเมินสภาพการวินิจฉัยปัญหา การวางแผน การปฏิบัติ และการประเมินผล
ในบริบทของสังคมปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ ครอบคลุมไปถึง “การดูแลสุขภาวะ” ของประชาชน ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งตาย และยังรวมไปถึง สุขภาวะของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เป้าหมายของการให้บริการสุขภาพในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากการเป็นโรค หรือสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการวางแผนจำหน่าย ในปัจจุบันจึงไม่เพียงเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ป่วยก่อนกลับบ้านเท่านั้น แต่ยังมีความหมายครอบคลุมถึง “การดูแลต่อเนื่อง” (Continuing Care) นับตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา การฟื้นฟู ในทุกระยะของภาวะสุขภาพของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่มีภาวะความเจ็บป่วยรุนแรงที่เข้าเริ่มการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มมีภาวะความเจ็บป่วย จนกระทั่งฟื้นหายจากโรคได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และสามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการกลับเข้ารักษาซ้ำใน
โรงพยาบาล ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้โดยรวม
แต่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีการวางแผนร่วมกันของทีมสุขภาพ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้รับบริการในการดูแลตนเอง และสามารถใช้แหล่งประโยชน์ในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในมาตรฐานโรงพยาบาลคุณภาพฉบับกาญจนาภิเษก (พ.ศ. 2539) ของสำนักพัฒนาและรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) บทที่ 20 การเตรียมจำหน่ายและการดูแลต่อเนื่อง (GEN.8.7) กำหนดมาตรฐานว่า “มีกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวได้โดยเร็วที่สุด” และฉบับปรับปรุงคือ (ร่าง) มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ ฉบับฉลองสิริราชย์สมบัติ ครบ 60 ปี (พ.ศ.2548) กำหนดมาตรฐานการดูแลต่อเนื่องไว้ในตอนที่ III กระบวนการดูแล ข้อ 3.2 การวางแผนจำหน่าย กำหนดมาตรฐานว่า “มีการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการหลังจากจำหน่ายจากโรงพยาบาล ดังนี้

(1) มีการกำหนดแนวทาง ข้อบ่งชี้ และโรคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสำหรับการวางแผนจำหน่าย
(2) มีการพิจารณาความจำเป็นในการวางแผนจำหน่ายสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งแต่เริ่มแรกที่เป็นไปได้
(3) แพทย์ พยาบาล และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ป่วยและครอบครัว มีส่วนร่วมในการวางแผนจำหน่าย
(4) มีการประเมินและระบุปัญหา/ความต้องการของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นหลังจำหน่าย ครอบคลุมทั้งด้านการดูแลสุขภาพที่เป็นองค์รวม รวมทั้งการช่วยเหลือทางสังคม และประเมินซ้ำเป็นระยะในช่วงที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาล
(5) มีการปฏิบัติตามแผนจำหน่ายในลักษณะที่เชื่อมโยงกับแผนการดูแลระหว่างอยู่โรงพยาบาล ตามหลักการเสริมพลัง เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีศักยภาพและความมั่นใจในการจัดการดูแลสุขภาพของตนเอง
(6) มีการประเมินผลและปรับปรุงกระบวนการวางแผนจำหน่าย โดยใช้ข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยและข้อมูลสะท้อนกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรฐานการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและครอบครัวไว้ใน ข้อ 5 การให้ข้อมูลและเสริมสร้างพลังแก่ผู้ป่วย/ครอบครัว ว่า “ทีมผู้ให้บริการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพแก่ผู้ป่วยและครอบครัว จัดกิจกรรมตามแผนเพื่อเสริมพลังผู้ป่วยและครอบครัวให้สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ และเชื่อมโยงการสร้างเสริมสุขภาพ เข้าในทุกขั้นตอนของการดูแล ดังนี้
(1) ทีมผู้ให้บริการ ประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนและกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมิน ครอบคลุมปัญหา/ความต้องการของผู้ป่วย, ศักยภาพ, ภาวะทางด้านอารมณ์ จิตใจ, ความพร้อมในการเรียนรู้และดูแลตนเอง
(2) ทีมผู้ให้บริการให้ข้อมูลที่จำเป็นและช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้สำหรับการดูแลตนเอง และการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแก่ผู้ป่วยและครอบครัว อย่างเหมาะสมกับปัญหา, เวลา, ผู้รับข้อมูล มีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจง่าย มีการประเมินการรับรู้ ความเข้าใจและความสามารถในการนำข้อมูลที่ได้รับไปปฏิบัติ
(3) ทีมผู้ให้บริการให้ความช่วยเหลือทางด้านอารมณ์จิตใจ และคำปรึกษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยและครอบครัว
(4) ทีมผู้ให้บริการและผู้ป่วย/ครอบครัว ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งติดตามปัญหาอุปสรรคในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง
(5) ทีมให้บริการจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วย/ครอบครัว และสร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วย/ครอบครัว สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
(6) ทีมผู้ให้บริการประเมินและปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้และการเสริมพลังผู้ป่วย/ครอบครัว
และ ข้อ 6 การดูแลต่อเนื่อง กำหนดมาตรฐานว่า “ทีมผู้ให้บริการสร้างความร่วมมือและประสานงานเพื่อให้มีการติดตามและดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่ให้ผลดี ดังนี้
(1) มีระบบนัดหมายผู้ป่วยกลับมารับการรักษาต่อ เมื่อมีข้อบ่งชี้ มีระบบช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลตามความเหมาะสม
(2) องค์กรสร้างความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยบริการสุขภาพและองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการติดตามดูแลผู้ป่วย และบูรณาการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เข้าในกระบวนการดูแลผู้ป่วย
(3) มีการสื่อสารข้อมูลของผู้ป่วยให้แก่หน่วยบริการที่เกี่ยวข้องในการดูแลต่อเนื่องทั้งภายในองค์กรและกับองค์กรภายนอก โดยคำนึงถึงการรักษาสิทธิผู้ป่วย
(4) มีการทบทวนเวชระเบียนเพื่อประเมินความเพียงพอของข้อมูลสำหรับการดูแลต่อเนื่อง
(5) มีการติดตามผลการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการของผู้ป่วยได้รับการตอบสนอง และนำผลการติดตามมาใช้ปรับปรุง/วางแผน บริการในอนาคต
จากข้อกำหนดมาตรฐานดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการบูรณาการ แนวคิด หลักการ และการนำสู่การปฏิบัติโดยมีการควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้รับบริการ กล่าวโดยสรุป การวางแผนจำหน่าย เป็นกระบวนการส่งเสริมการดูแลที่ต่อเนื่องแก่ผู้ป่วย จากสถานที่หรือสถานบริการ จากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งในทางที่ดีขึ้น โดยการสนับสนุนด้านจิตใจ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแล การให้คำปรึกษา การจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง และการอำนวยความสะดวกในการย้ายหรือส่งต่อผู้ป่วย (Armitage, 1998)
ขั้นตอนกระบวนการของการวางแผนจำหน่าย ประกอบด้วย
1) การประเมินความต้องการการดูแลต่อเนื่องของผู้ป่วย
2) การวางเป้าหมายร่วมกันของทีมสุขภาพและผู้ป่วย
3) การวางแผนจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้การดูแลรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4) การปฏิบัติตามแผนภายในกำหนดเวลาและมีการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพทั้งในสถานบริการและใช้แหล่งประโยชน์ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
5) การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการวางแผนจำหน่าย
ผลลัพธ์ของการวางแผนจำหน่าย/การดูแลต่อเนื่อง ได้แก่
1) ลดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาล ลดอัตราครองเตียง
2) ลดอัตราการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลโดยไม่ได้วางแผน
3) ผู้ป่วยและครอบครัวพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ
4) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยภายหลังจำหน่าย
5) ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
6) การใช้ทรัพยากรและแหล่งประโยชน์ในชุมชนคุ้มค่า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม
7) บุคลากรมีโอกาสพัฒนาการปฏิบัติงาน การประสานงาน การทำงานเป็นทีม และการสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพของประชาชน

ส่งท้าย
การวางแผนจำหน่าย เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ของทีมสหสาขา การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนเชิงนโยบายจากผู้บริหาร ความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรในทีม การสื่อสารประสานงานและการบริหารจัดการที่ดี จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าส่วนใหญ่ใช้ระบบการจัดการดูแลผู้ป่วย(Care/Case management) และแผนการจัดการดูแลผู้ป่วย (Care map/Clinical pathway) เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานการสื่อสาร และประสานงานในทีม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

เอกสารประกอบ
มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล ฉบับฉลองสิริราชย์สมบัติ 60 ปี, สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
กระทรวงสาธารณสุข.



Create Date : 29 กรกฎาคม 2550
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 23:51:05 น. 1 comments
Counter : 8231 Pageviews.

 



.....แวะมาทักทายและยินดีที่ได้รู้จัก.....

.....Have A Nice Day นะครับ.....


โดย: doctorbird วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:19:29:10 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ThaiNCM2007
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ข้อความหรือบทความหรือเอกสารทางวิชาการที่นำมาลงในที่นี้ เขียนจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ รวมทั้งการอ่านตำรา วารสารและเรียนรู้จากสื่อต่างๆ บางรายการเป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ได้นำมารวบรวมไว้ ณ ที่นี้

เพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจ ในเรื่องเดียวกัน
Friends' blogs
[Add ThaiNCM2007's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.