สุภารัตถะ บล็อก
Group Blog
 
All Blogs
 

แคนโต้..กวีสามบรรทัด

. . . l e t y o u r m i n d s p e a k . . .

....ในขณะที่ไฮกุ บทกวี 17 คำ พูดถึงสัจธรรมเป็นส่วนใหญ่ แคนโต้.. กลับไม่มีกฎเกณฑ์บังคับอะไรมากมาย จะพูดถึงเรื่องอะไรก็ตามใจฉัน ... เป็นบทกวีสามบรรทัด ที่มีพลังความหนักแน่น ลึกซึ้ง พลิ้วไหว ไปตามอารมณ์ผู้แต่งมากพอดู...

ประวัติแคนโต้ นำมาจาก thaicanto.com

แคนโต้ เป็นบทกวีไทยร่วมสมัย เกิดขึ้นโดยคนไทย
มีลักษณะเป็นลูกผสมระหว่างตะวันออกและตะวันตก
รูปแบบคล้ายกวีไฮกุของญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ตรงที่ไฮกุจะเน้นไปทางการแสวงหาความหลุดพ้น
แต่แคนโต้นั้นเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

ในประเทศไทยมีผู้เขียนบทกวี 3 บรรทัดอยู่บ้างประปราย แต่คนที่นิยาม การรวมกลุ่มของบทกวี 3 บรรทัด
ที่มีความยาวต่อเนื่อง 400 บทขึ้นไปว่า 'แคนโต้' นั้น คือ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์ ได้ตีพิมพ์บทกวีแคนโต้หมายเลขหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2515
และแคนโต้หมายเลขสองในปี พ.ศ. 2543
ต่อมาได้คัดเลือกกลุ่มห้าแคนโต้กลุ่มที่หนึ่ง ในปี พ.ศ. 2546
และห้าแคนโต้กลุ่มที่สอง ในปี พ.ศ. 2548
.....................

กลุ่มห้าแคนโต้กลุ่มที่สาม คงจะไม่เกิดขึ้นที่บล๊อกแก๊งส์นี่หรอกนะ
แต่อาจมีกลุ่มจับฉ่ายแคนโต้เกิดขึ้นที่นี่ได้...ลองมาเขียนกันเล่นๆ ไหม??

หรือจะไปเขียนเล่นที่เว็บไทยแคนโต้ก็ได้ //www.thaicanto.com/read/stage.php

ตัวอย่าง จากเว็บไทยแคนโต้

"ตอนนี้ยังไม่อยากมีใคร"
ฉันขอถามหน่อยได้ไหม
ตอนเธอจะไปทำไมพูดง่ายแค่นี้เอง
โดย : หัวใจที่ถูกลืม | 26/10/2005 - 00:04:48

เช้าทำงานแล้วกลับบ้าน
เย็นกลับบ้านแล้วหลับ
เช้าทำงานแล้วกลับบ้าน....
โดย : hd neng | 25/10/2005 - 22:17:55




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 17:50:28 น.
Counter : 3298 Pageviews.  

สัมผัสความรัก



คุณเคยตกหลุมรักใครหรือเปล่า
จำอารมณ์นั้นได้อยู่ใช่ไหม
ถึงความอ่อนโยนของใจตัวเอง
ที่เป็นห่วงหา อาวรณ์ ต่อผู้อื่นไม่รู้จบสิ้น
มีความปรารถนาดี แต่ไม่ได้ต้องการครอบครอง

แต่หลังจากนั้นล่ะ
คุณเรียกความเห็นแก่ตัวว่าเป็นความรักหรือเปล่า
เรียกร้องที่จะให้ใครๆ เป็นดังใจ โกรธเคือง เป็นทุกข์
ผูกมัด หวาดระแวง และไม่เคยเป็นอิสระอีกเลย
คุณเพียงสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก
และอ้างกับใครต่อใครว่าคุณรักเขา

ลองคิดถึงมันดีๆ อีกครั้ง ว่าความรักนั้นเป็นอย่างไร
ความรักที่แท้เป็นอย่างไร


สุภารัตถะ



.....................................................


เคย...ผมเคยตกหลุมรัก......
แต่เป็นอยู่สักพักก็จะหาย
อาจด้วยเหตุผลอีกมากมาย
ให้อาการทุรนทุรายต้องทุเลา

เคย...ผมเคยแอบหลงรัก
เป็นเอาหนักอยู่พักใหญ่ไล่ตามเขา
แอบคิดถึงแอบฝันมิบรรเทา
จนสุดท้ายได้ความเศร้าเข้าตักเตือน

ว่า...ความจริงก็คือความจริง
ทุกทุกสิ่งวิถีโลกล้วนขับเคลื่อน
ตกหลุมรักแอบหลงใครใจย่อมเยือน
จนเปรียบเหมือนกระส่องเพ่งมองตน

ใช่...ผมเคยมีความรัก
จนวันนี้ได้ประจักษ์ทางเริ่มต้น
รักที่แท้คือเทใจให้ผู้คน
ด้วยเหตุผลซึ่งสมองกลั่นกรองแล้ว


กอนกูย




 

Create Date : 06 กันยายน 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 17:55:06 น.
Counter : 990 Pageviews.  

คงคลี่ที่วงคลื่น





คงคลี่ที่วงคลื่น / "กอนกูย"
(โอกาสต้อนรับรอยเหี่ยวย่นอีกหนึ่งรอบ)
๒๕ ส.ค.๒๕๔๘


..................


จากนิดน้อยทยอยเคลื่อนแล้วเลือนหาย
แผ่วงกว้างถ่างขยายพราวพรายผิว
ระริกเรื่อยเอื่อยซ้อนสะท้อนทิว
ระลอกลมพรมพริ้วเกิดริ้วพา

เพียงหนึ่งหยดเม็ดฝนหล่นกระทบ
ผืนสงบก็เผยวงอยู่ตรงหน้า
สะกดนิ่งเนิ่นแน่วผ่านแววตา
ตระหนักค่าคลื่นคลี่มีพลัง

คือพลังจากจุดสู่จุดหนึ่ง
โลกผลัก-ดึง สมดุลหมุนความหวัง
เหมือนชีวิตย่างย่ำเพียงลำพัง
ก้าวไปสู่อีกฝั่งอย่างง่ายงาม

ห้วงวงน้อยค่อยค่อยกว้าง-หนทางคลื่น
คล้ายวัน คืน เดือน ปี คลี่คำถาม
จากคลื่นเก่าเล่าคลื่นใหม่ให้นิยาม
เพื่อติดตามวงวิถีชีวิตตน









 

Create Date : 26 สิงหาคม 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 18:27:52 น.
Counter : 1032 Pageviews.  

บทกวีแห่งสัจจะ

น้อมเชิญบทกวีนี้มาด้วยความนบนอบ..

*

ซิททุ กฤษณะมูรติ ผู้รจนา
มาแซ' ซุน สิปฺโป ผู้แปล


ณ ที่ใดก็ตามที่ฉันเพ่งมอง
พระองค์อยู่ที่นั่น
อิ่มเอิบด้วยรังษีของพระองค์
พวยพุ่งด้วยปิติของพระองค์
ฉันโหยไห้..ให้มหาชน
ผู้มองไม่เห็นค่าของพระองค์
ทำเช่นนั้น ฉันจึงแสดงให้เขาเห็น
ความรุ่งโรจน์เรืองรองของพระองค์
……………………………

ฉันไม่รู้สึกถึงภาวะของกาย
แขนขาไร้การขยับเขยื้อน
ผ่อนคลายเป็นสุขศันติ
ดวงใจเต็มไปด้วยความหรรษาอันยิ่งใหญ่
ล้ำ ลึก สุด หยั่ง
จิตเป็นสมาธิ สงบเย็น และรวมเป็นหนึ่ง
โลกไม่ยั่งยืนได้อันตรธานหายไป
ฉันเปี่ยมล้นด้วยพลกำลัง
……………………………

พระผู้ทรงพลานุภาพ
นั่งนิงไม่ไหวติง มองดูฉัน
ฉันเพ่งมองและค้อมศีรษะลง
ร่างกายของฉันโน้มน้อมลงไปเอง

การมองของพระองค์ครั้งนี้
บอกถึงความก้าวหน้าของโลก
บอกระยะทางกว้างไกลระหว่างโลก
กับความยิ่งใหญ่ของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย
ว่าโลกเข้าใจน้อยเพียงใด
และพระองค์ได้ให้มากมายเพียงไร
พระองค์ขึ้นไปสูงเพียงใด
หลีกพ้นจากการเกิดและตาย
จากความโหดเหี้ยม
และกงล้อพันธนาการของมัน

เมื่อทรงบรรลุการหยั่งรู้
พระองค์ให้สัจจะแก่โลก
ดังมวลบุปผาให้กลิ่นหอม

เมื่อฉันเพ่งมอง
พระบาทอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งครั้งหนึ่ง
เคยเหยียบย่ำฝุ่นละอองอันเปี่ยมสุขของอินเดีย
ดวงใจฉันรินหลั่งความภักดี
ฉันดื่มด่ำไปกับความสุข
ที่ไร้ขอบเขตและสุดที่จะหยั่งนั้น
อย่างเสรีและปราศจากความพยายามใดๆ
ด้วยความง่ายและประหลาดยิ่ง
ดวงจิตของฉันเข้าถึงความสัจจริง
ที่พระองค์แสวงหาและบรรลุ
ฉันดื่มด่ำกับความสุขนั้น
ดวงวิญญาณของฉันไขว่คว้าความเรียบง่าย
อันไม่สิ้นสุดแห่งสัจจะ
ฉันดื่มด่ำไปกับความสุขนั้น..




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 18:06:33 น.
Counter : 963 Pageviews.  

...คำแม่...


คำแม่ / กอนกูย

ในครั้งหนึ่งเศร้าซมตรมแดดิ้น
โดยฤดี-ชีวินแทบสลาย
พื้นกระดานเขรอะแฉะน้ำมูกน้ำลาย
น้ำตาหลั่งเป็นสายไหลเนิ่นนอง

หนหนึ่งนั้นรักล่มจมกองพิษ
ทางชีวิตยับย่นสุดหม่นหมอง
เรื่อยรำพัน ฟูมฟาย หัวเราะ ร้อง
ในอ้อมแขนประคับประคองผู้ข้างเคียง

คืออ้อมอุ่นของแม่ที่แลเห็น
ว่าลูกปวด ลูกเป็น ลูกเจ็บเดี้ยง
ลูกทุรน ทนทุกข์หนัก เพราะรักเอียง
จึงเอ่ยเสียงอุ่นมอบปลอบดวงใจ

ว่า "อีกหญิงทั่วหล้าหลายนารี
ล้วนยังมีอยู่มากใช่ยากไร้
ว่าผู้หญิงที่รักเราเขาห่วงใย
เขาคงไม่เหินห่างคิดร้างลา"

ทุกคำแม่ประหนึ่งแท้ยาวิเศษ
ลบล้างรอยทุเรศโลกบอดบ้า
ให้เจ็บกลืนฝืนกลั้นนั้นสร่างซา
สร้างเรี่ยวแรงให้สองขามีพลัง

มาเป็นลูกของแม่ที่แพ้รัก
แต่มิพ่ายจนเสียหลักสิ้นความหวัง
มาเป็นลูกที่เข้มแข็งแกร่งอีกครั้ง
ได้นอน-นั่ง ยิ้มข้างแม่...ตลอดกาล




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2548    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2551 17:59:06 น.
Counter : 960 Pageviews.  

1  2  3  4  

suparatta
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร..
..ท่านนาคารชุนะ..
วิภาษวิธี..เกริ่นนำ..ตอนจบ..

๐ สมุดเยี่ยมและบ่นได้..
**ทางลัด**
๐ สารบัญทักทาย(ทั้งหมด)
๐ ชวนคุย&ฟังเพลงปี48(ทั้งหมด)
๐ นอนดูจันทร์..(ส่วนตัว)

**log in หน่อยน่า..



Google.co.th
Friends' blogs
[Add suparatta's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.