อาทิตย์สาดส่อง..ผู้กล้าสามัญชนปรากฎ
Group Blog
 
All Blogs
 

74 ปี 24 มิถุนา

ประวัติศาสตร์การเมืองของไทย 24 มิถุนายน 2475 มีความน่าสนใจยิ่งในการศึกษาความเป็นมาของอำนาจการเมือง โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังก้ำกึ่งการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปทางการเมือง

บันทึกประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ดังที่เราได้ร่ำเรียนกันมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ราษฎร มีสิทธิมีเสียงในการที่จะเลือกผู้ที่จะมาปกครองตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ ทั้งหลาย

ทว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นได้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง เกิดการแย่งชิงอำนาจของบรรดา"ชนชั้นปกครองดั้งเดิม"ผู้สูญเสียอำนาจ ผ่านทั้งทางช่องทางตรงทางการเมืองและทางอ้อมโดย"เสาค้ำอำนาจ"นั่นคือกำลังทหาร ตำรวจ เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร กบฎ หลายต่อหลายครั้งของหลายคณะผู้ก่อการ

ควรทราบว่า คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะนั้น ล้วนประกอบไปด้วยผู้ที่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนายพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม นายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ฯลฯ ซึ่งแน่นอนหากกระทำการไม่สำเร็จย่อมมีสิทธิ์คอขาดได้เช่นกัน

ทั้งหมดเป็นนักเรียนไทยในต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ มีการรวมตัวกันครั้งแรก พ.ศ. 2461 ใช้ระยะเวลาฟักตัวถึง พ.ศ.2469 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สมเด็จพระอนุชา พระบาทสมาเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งเสด็จสวรรคต พ.ศ.2468

ทั้งหมดประชุมหารือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกที่สุดเมื่อ 5 ก.พ.2465 ที่บ้านพักของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ถนนเดอซอมเมอรา ฝรั่งเศส โดยวันนั้นมีมติเป็นหลักการ 3 ข้อ

เบื้องหลังเหตุการณ์ขณะนั้นบางเสี้ยวส่วน "สุพจน์ ด่านตระกูล" เคยกล่าวปาฐกถาเนื่องในวันชาติ 24 มิถุนายน 2540 ว่า พระปกเกล้าฯ ทรงเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฝรั่งว่า ในเรื่องที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นทรงเคยปรึกษากับ ฟรานซีส บี แซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี เมื่อปี พ.ศ. 2469 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2475 จึงรับสั่งให้"พระยาศรีวิสารวาจา"ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนต์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถวาย และกำหนดกันว่าจะพระราชทานในวันจักรี ที่ 6 เมษายน 2475

โดยร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารวาจาและสตีเวนส์ที่ว่า มีรูปแบบและที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ

1. ฝ่ายบริหาร ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระมหากษัตริย์ ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรี แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยพระองค์เองตามพระราชอัธยาศัย
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง จะทำหน้าที่บริหารโดยมีกำหนดวาระ แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งใหม่ หรือพระมหากษัตริย์จะทรงให้ออกเมื่อใดก็ได้

2. ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 50 คน อย่างมาก 75 คน กึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระราชอัธยาศัย กึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี อ่านออก เขียนได้ และเป็นผู้เสียภาษีในจำนวนที่แน่นอน
สมาชิกอยู่ในวาระคราวละ 4 ปี หรือ 5 ปี แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภา รวมทั้งพระราชอำนาจที่จะทรงทำสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านสภา และในกรณีที่สภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วรัฐบาลจะต้องลาออก แต่พระมหากษัตริย์จะทรงรับใบการลาออกหรือให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม"อภิรัฐมนตรี"ส่วนข้างมากและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งพระยาศรีวิสารวาจาและนายสตีเวนส์ ผู้ร่างถวาย มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนั้น วันที่ 6 เมษายน 2475 จึงผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดังนั้น"คณะราษฎร์"จึงเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้มีการตั้งรัฐบาลชุดแรกโดยมีพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรีชุดแรก20 คน พร้อมด้วยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

ควรทราบว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ตามต้องการของ"คณะราษฎร์"และต่อมาได้ทรงสละพระราชสมบัติ ด้วยเหตุผล ที่สรุปความตอนหนึ่งในจดหมายสละราชสมบัติ ที่ทรงเขียนที่บ้านโนล,แครนลี่ ประเทศอังกฤษ โดยมีมาถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ความสำคัญตอนหนึ่งคือ

"ข้าพเจ้าเห็นว่า คณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรม ตามเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้น ในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยออำนาจทั้งหมดของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียอันแท้จริงของประชาราษฎร์

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวงซึ่งเป็นของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอู่ในฐานะเป็นกษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าขอสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันติวงศ์..." ประชาธิป ป.ร. 2 มีนาคม พ.ศ.2477

คณะราษฎร์จึงเข้าบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งหลังจาก รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นทรงสิบสันตติวงศ์ต่อไปเป็นรัชกาลที่ 8 และโดยทรงพระเยาว์อยู่ สภาพได้ลงมติตั้งคณธผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทัตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช

ตามบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้เขียนไว้ว่า หลังรับอำนาจจากคณะราษฎร์บริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย์ได้ไม่ทันไร พระยามโนปกรณ์ฯซึ่งมีภรรยาเป็นนาง
สนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้คิดหักล้างล้มระบบประชาธิปไตยที่พึ่งเกิดขึ้นไม่กี่เดือนคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

โดยหลังจากนั้น ได้มีการ"สั่งปิดสภาผู้แทนราษฎร"เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2476 หลังจากที่พึ่งเปิดสภาไปเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2475 ทั้งยังมีการให้"งดใช้รัฐธรรมนูญ"บางมาตรา และบีบให้ "พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร์ หลุดพ้นจากอำนาจผู้บัญชาการทหารบกเพื่อตั้ง "พ.อ.พระยาทรงสุรเดช"ขึ้นแทน ขณะเดียวกันก็ยังได้หลอกล่อให้"หลวงประดิษฐ์มนูธรรม"(ปรีดี พนมยงค์)ร่างโครงการเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งเป็นแนวทาง"สังคมนิยม" โดยต่อมา พระยามโนปกรณ์ฯสร้างพระราชวิจารณ์ให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระนามระบุว่าเป็นโครงร่างเศรษฐกิจของ"คอมมิวนิสต์" ซึ่งขณะนั้นมีการปลุกข่าวอย่างหนักทาง หนังสือพิมพ์ว่า มีการชักจูงประเทศไปสู่"ลัทธิมหาประลัย" "นายปรีดี"จึงถูกเนรเทศไปฝรั่งเศสในเวลาต่อมา ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ยังถูก พระยามโนปกรณ์ใช้ประกาศ"ปิดสภา"(ยุบสภา)ผู้แทนฯซึ่งเป็นการกระทำที่เสมือนหนึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญ ด้วยด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานขบถ

กระนั้นการดังกล่าวของพระยามโนปกรณ์ ไม่สำเร็จไปทั้งหมด เพราะหลังจากนั้นได้ถูก "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" หรือ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม(ยศขณะนั้น) นำกำลังเข้าปฏิวัติยึดอำนาจ ซึ่งต่อมา หลังจากนั้น"พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม"มีบทบาทอย่างมากในการกวาดล้างทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในสมัยของรัฐบาล"พระยาพหล" เป็นนายกฯ เขาเป็นรมต.กลาโหม ซึ่งมีบทบาทในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เพื่อคุ้มครองรัฐบาลประชาธิปไตย จาก"ฝ่าย"หัวเก่า"ที่มุ่งยึดอำนาจ"คืนสู่ระบอบสมบูรณายาสิทธิราชอย่างเดิมด้วยความจงรักภักดี
ในพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการปราบ"กบฎบวรเดช"เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2476 ปราบ"กบฎนายสิบ"โดยวิธี"จับตาย"ในปี 2478

นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้กลับสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎรรวมเวลา 14 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2476 ถึงปี พ.ศ. 2489 ก็ได้มอบคืนอำนาจนั้นให้แก่ราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใด ๆ ก็ได้

แต่ในที่สุดก็ได้มีการ"รัฐประหาร"เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย"จอมพลผิน ชุณหะวัณ"(บิดา พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) เกิดขึ้น ซึ่งนับแต่นั้นมา"คณะราษฎร"ก็ถูกบังคับให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และการถือครองอำนาจรัฐก็ตกแก่คณะรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัณ คณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร คณะปฏิรูปฯ ของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และคณะอื่น ๆ อีกหลายคณะมีการฆ่ากันเองของคนไทยด้วยกัน มีการเสียเลือดเสียเนื้อจากหลายเหตุการณ์การช่วงชิงอำนาจไปหลายชีวิต จนมาถึงคณะ รสช.ของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่ยึดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล"พล.อ.ชาติชาย" ในปี พ.ศ. 2534

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่"คณะราษฎร"ถือครองอำนาจรัฐนั้นมีเพียง 14 ปี จากทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 74 ปี ส่วนที่เหลืออีก 60 ปี ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของ"กลุ่มอำนาจอื่นๆ"ไม่ว่าจะเป็นจากทหารหรือพลเรือนที่มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบี้ยวมาโดยตลอด

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของสภาพการความเป็นไปทางการเมือง"อำนาจ"ที่หากหยั่งรากเข้าไปศึกษาในรายละเอียดยังมีกลไกแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้ง"ทางเปิด"และ"ทางลับ"ตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่ผ่านมาโดยหลายคนอาจไม่รู้ตัวหรือหลายคนอาจทราบดีแต่"น้ำท่วมปาก"พูดไม่ได้ ขณะ ที่ประเทศไทยมีการสลับผลัดเปลี่ยนของ"อำนาจ"จากทั้งพลเรือน ทหาร ดังนั้นไม่แปลกที่ "ตัวละคร"หลายตัว ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในสถานการณ์การเมือง ณ ปัจจุบัน ไม่ว่า"กลุ่มทุนเก่า"หรือ"กลุ่มทุนใหม่"ต่างทราบถึงประวัติศาสตร์เหล่านี้ดี จะพยายามหาช่องทางการต่อสู้เพื่อช่วงชิงทั้งเพื่อยึดคืนหรือรักษาที่มั่น"อำนาจ"ของฝ่ายตน

ถึงกระนั้นก็ตามที บางคราในสุดทั้งสองฝ่ายที่กำลังห้ำหั่นทำสงครามกันควรทราบว่าสิ่งเหล่านี้"ไม่ยั่งยืน"และมักเป็นกงเกวียนกงกรรมกับผู้เกี่ยวข้อง เสมอ ขณะเดียวกันด้วยโลกาภิวัฒน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสาร มีความรู้มากขึ้น บางฝ่ายเองก็ต้องยอมรับว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับสภาพความเป็นจริงของโลกด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญอันต้องสำเหนียกในที่สุดสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายที่กำลัง"สัปยุทธ์"กัน ณ พ.ศ.ปัจจุบัน คือ จะทำอะไรก็ให้คิดถึงประเทศชาติประชาชน สำคัญที่สุดวิธีการที่กระทำ หรือระหว่างรายทางของ"อำนาจ" อย่าให้คนไทยต้องมาทะเลาะเข่นฆ่าหรือเสียเลือดเสียเนื้อด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันอีกเลย ...!!!




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2549    
Last Update : 24 มิถุนายน 2549 15:36:35 น.
Counter : 653 Pageviews.  

ชัยชนะบนความแพ้พ่ายของประเทศ?

หาใช่ว่าจะเข้าข้างรัฐบาล"ทักษิณ"ไม่ทว่ากับสถานการณ์ที่อุบัติขึ้นรอบด้านอันเป็นภัยที่เห็นและประสบอยู่ตรงหน้าทุกเมื่อเชื่อวัน..

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากข้อสรุปโดยทาง "ยุทธิวิธี" ทางด้านกฎหมาย ที่ถูกนำมาใช้ "ห้ำหั่น" กันผ่านกระบวนการของศาล ออกมาให้ทางที่ฝฝ่ายที่ต้องการจัดการกับ "ทักษิณ" ให้พ้นจากการเมืองไทย บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ถัดจากนั้นต่อไปจะเป็นอย่างไรต่อไป

สถานะของ กกต.คงต้องเป็นไปตามสภาพ หากมีคำตัดสินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ซึ่งก็คงต้องรอดูกัน

สถานะของพรรคไทยรักไทย จาก "หลักฐาน" ภาพถ่ายวงจรปิด ที่กระทรวงกลาโหม ที่ว่ากันว่ามัดตัว "พล.อ.ธรรมรักษ์" จากข้อกล่าวหา "พรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก" นั้นจะต้อง "ยุบพรรค" หรือไม่ แล้วถ้ายุบแล้วจะเกิดผลอย่างไรเลยหรือไม่กับการเมืองและรัฐบาลเวลานี้

สถานะของ "พรรคประชาธิปัตย์" ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และดำเนินไปสู่ข้อหาที่ร้ายแรงถึงขั้นต้อง "ยุบพรรค" เช่นกัน จะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่สำคัญด้วยสถานะการแย่งชิงอำนาจระหว่าง "ทุนจารีต" และ "ทุนใหม่" ทั้งสองฝ่ายคงไม่ยอมจบลงง่ายๆด้วยเหตุนี้เป็นแน่ ฝ่ายที่ถูกกระทำ ซึ่งทราบดีว่ามีกระบวนการทั้ง "ในระบบ" และ "นอกระบบ" อยู่เบื้องหลังคงไม่ยอมง่ายๆแน่

และอะไรจะเกิดขึ้น หากว่าต่างฝ่ายต้างมี "เสาค้ำอำนาจ" รวมถึง "มวลชน" อยู่ในมือไม่แตกต่างกัน

ยิ่งหันมาดูปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ และปัยหารอบบ้านทั้งที่เกิดจากปัจจัยแห่งมนุษย์ด้วยกันเองและจากภัยธรรมชาติ ที่ดูท่าจะวิปริตรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน อันมีผลกระทบถึงกันมากขึ้นแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าหาก "ภายใน" ประเทศของเรายังทำอะไรไม่ได้นอกจากมานั่งระวังระแวงกันเองว่าจะทำร้ายทำลายให้ดับดิ้นกันไปข้างหนึ่ง โดยทุกคนยังหาคำตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่า "ชนะแล้วยังไง"

สถานการณ์เมื่อถึงเวลานั้น ก็คงไม่ต่างไปจากบันทึกประวัติศาสตร์ ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า

จะมีประโยชน์อันใด กับ"ชัยชนะบนความพ่ายแพ้"ย่อยยับอัปราของแผ่นดินไทย.





 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 31 พฤษภาคม 2549 21:46:47 น.
Counter : 406 Pageviews.  

สถานการณ์เปลี่ยน?

สถานการณ์บางอย่างทางการเมือง วันนี้ได้พลิกผันไปจากเดิม จากเท่าที่ประมวลความเคลื่อนไหวทั้งที่เห็นอยู่จะจะตรงหน้า และทั้งที่ไม่เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไป

ร่องรอยความ "ขัดแย้ง" ระหว่าง ชนชั้นนำ 2 กลุ่มที่ลงมาเล่นในกระดานหมากรุกทางการเมืองอย่างเห็นหน้าค่าตากันชัดๆในระยะที่ผ่านมาในห้วง 1 เดือนที่เกิดสูญญากาศ "อำนาจ" การเมือง "พ.ต.ท.ทักษิณ" ประกาศ "เว้นวรรค" และ ขอลาพักร้อนยาว มีอะไรบางอย่างที่เป็น "ปัจจัย" ให้สถานการณ์อาจจะพลิกผันไปจาก จุดหมายเดิม

จวบจนวานนี้(23พ.ค.49) "พ.ต.ท.ทักษิณ" กลับมานั่ง "บัญชาการ" ที่หัวโต๊ะคณะรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะปรากฎภาพคล้าย "จัดตั้ง" ต้อนรับ "นายกฯ" คนนี้ด้วย "ปัญหา" ที่รอคอยในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และสถานการณ์ 3 จว.ชายแดนใต้ ที่สั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนทั้งประเทศ กรณี "ครูจูหลิน" ถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณจาก ขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่..มิพักรวมถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติน้ำท่วมโคลนถล่มคร่าชีวิตผู้คนมากมายนับร้อยคน ความเสียหายหลายแสนครัวเรือน ใน 5จังหวัดภาคเหนือ

การนั่งบัญชาการ "หัวโต๊ะ" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ย่อมหมายถึงการหวนกลับคืนสู่การกุมสภาพ "อำนาจรัฐ" อันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนดังเดิม จาก 1 เดือนเศษก่อนหน้านี้แม้จะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ แต่ก็เป็นการรักษาการที่ยาวนาน(เพราะยังไม่ทราบกำหนดแน่นอนของการเลือกตั้ง)

ความเปลี่ยนแปลงนี้ ย่อมหมายถึง "บทบาท" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในทางการเมือง ที่ลอยตัวออกไปอยู่ "วงนอก" เมื่อเดือนก่อน ได้เปลี่ยนกลับเข้ามาสู่ "วงใน" ที่จะมีผลทางการเมืองแล้ว

แม้ว่าใครจะต่อว่าการตัดสินใจกลับมาครั้งนี้ว่าเป็นการ "ตะบัดสัตย์" อย่างไร แต่ด้วยเหตุแห่งปัจจัยในปัจจุบัน กับ "ความจริง" ตรงหน้า กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ แทบจะไม่มีเหตุผลที่ใครจะมาก่อม็อบไล่ "ทักษิณ" ในระยะนี้ได้ แม้ว่า "กลุ่มพันธมิตร" จะยืนยันว่าหลังงาน "ฉลองครองราชย์60ปี" ผ่านพ้นไปจึงจะมีการกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหว ขับไล่ "นายกทักษิณ" อีกครั้งก็ตาม

พลังของหลายฝ่ายที่โหมทั้งความคิด และ กำลังกายการขับเคลื่อน เกือบแทบจะหมดก๊อกในหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าหนนี้ยังไม่มีใครแน่ใจได้ว่าจะสามารถก่อตัวขึ้น
รูปได้สำเร็จหรือไม่ แม้ว่า "สนธิ ลิ้มทองกุล" จะใช้น้ำเลี้ยงกระแสมวลชนด้วย "รายการเมืองไทยรายสัปดาห์" ของเขาไว้อย่างต่อเนื่องก็ตาม

สถานการณ์ที่ว่า จึงทำให้ "พันธมิตร" อยู่ในสภาพวิตกกังวลต่อการกลับมาคุมอำนาจรัฐ ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ยิ่ง เพราะสถานการณ์ที่แผ่วลงไป จาก "ปลายหอก" ที่เบนไปที่ "4เสือกกต." ในระยะ 1 เดือนเศษที่ผ่านมาระหว่างการ "เว้นวรรค" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่พยายามไม่ปะทะกับกระแสความขัดแย้งใดโดยไม่จำเป็น

หลายคนใน "พันธมิตร" กังวลใจอย่างจริงจังกับกระแสข่าวที่ไม่ดีนักอันเกี่ยวกับ "สถานภาพ" และความเป็นไปของพวกเขา ที่หมิ่นเหม่ ต่อรัฐบาลรักษาการที่มีนายกชื่อ "ทักษิณ" กลับมานั่งหัวโต๊ะ และมี "บทบาท" อย่างยิ่งในทุกองคพายพ "อำนาจ" ...ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่า"พันธมิตร"จะมีวิธีการพลิกกระแสกลับอย่างไรทางการเมืองหลังงานพระราชพิธีผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะกับ "ธง" เดิมที่ตั้งไว้ คือ "ท๊าก ก ษิน ออกไป"

กระนั้น ในความเป็นจริงตรงหน้าก่อนจะถึงนาทีนี้ "พันธมิตร" หลายคนก็ได้รับแรงเสียดทานในระหว่างการ "พักรบ" หลังศึกใหญ่ผ่านพ้นไปอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นจาก
ผลพวงจากคดีความจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากเวทีปราศรัย หรือ ผลพวงที่เกิดขึ้นใน "ทางลับ" ผ่านกลไกอำนาจรัฐที่เข้าไปตรวจสอบองค์กรหรือแม้แต่ที่มาของเสบียงกรังของ "พันธมิตร"

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่บอกว่า "เปลี่ยนไปแล้ว" จากเดิม หาใช่จำเพาะกับการกลับคืนสู่อำนาจ(ชั่วคราว)ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และความเป็นไปต่อไปของ "พันธมิตร" อย่างเดียวไม่ หากแต่หมายไปถึง "ความพลิกผัน" กลับข้างของ บรรดา "หมาก" ในระดับ "ขุน"-"โคน"-"ม้า"-"เรือ" ที่ปรากฎตัวบนกระดาน หลายๆคน กับ "ข้อมูลใหม่" ที่ได้รับ อันเกี่ยวข้องกับ "สถานะอำนาจ" และความเป็นไปของประเทศ

แน่นอนว่า หลังการเข้าเฝ้าของ"ทักษิณ" และการได้รับการเรียกร้องจากหลายฝ่ายทางการเมืองแม้แต่ "บรรหาร ศิลปอาชา" ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่บ้างกับ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้

เป็นสถานการณ์ที่ "จำเป็นต้องจับมือกันชั่วคราว" ของขั้วอำนาจที่เคยเป็น "ปฏิปักษ์" ต่อกัน เมื่อหนึ่งในขั้วอำนาจพบว่า มีขบวนการแทรกแซงอันสำคัญเกิดขึ้นในระหว่างบรรทัด "ความขัดแย้ง" อันจะเกิดผลกระทบกระเทือนร้ายแรงกว่าที่คิดสำหรับชาติบ้านเมือง



ขั้วอำนาจฝ่ายหนึ่งที่ว่าคือ "ฝ่ายทุนจารีต" ที่พึ่งพบว่า "เครื่องมือ" ที่เคยใช้ได้ในสมัยเหตุการณ์ 30 กว่าปีที่แล้ว ไม่เหมือนเดิม ส่วนหนึ่งเพราะกาลเวลา และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปที่ทำให้ "เครื่องมือ" เหล่านี้ มีกระบวนคิดที่ลึกซึ้ง และมุ่งหมายในการ "ปลดแอก" บางสิ่งบางอย่างในสังคมการเมืองยุคเสรีประชาธิปไตยนี้โดยนำแนวทางที่ทุกคนในประเทศนี้เคยรับไม่ได้กันมาก่อนนั้นคือแนวทางของ "คอมมิวนิสต์"

มีการยืนยันในข่าวนี้จากหน่วยงานความมั่นคงที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในแนวทางนี้ ซึ่งถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าว "ปฏิญญาฟินแลนด์" ออกมาเพื่อ "ตัดกระแส-ดักทาง" ก่อความสับสนระแวง โดยมีการรายงานการเคลื่อนไหวในห้วง 12 ปีที่ผ่านมาของ"กลุ่มหลัก"ที่มีแนวคิดนี้และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ทั้งยังอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรฯในการขับไล่"ทักษิณ"ไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องบ้างแล้ว
สถานการณ์ความเป็นไปที่ว่านี้ หากสังเกตดีๆจะพบว่า อารมณ์บางอย่างที่เคยดุดันของ "หมาก" บางตัว ได้เปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ "สัญญาน" ที่ถูกส่งออกมาจาก "ขั้วอำนาจ" บางขั้วอำนาจก็เป็นได้



ดอกผลความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนใน "กลุ่มพันธมิตร" จึงรู้สึกตึงเครียด ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปยิ่ง !!!




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2549 11:45:14 น.
Counter : 389 Pageviews.  

ปฎิญญาฟินแลนด์

วี่แววของสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นไปเป็นอยู่ ปรากฎร่องรอยความขัดแย้งที่ชัดเจนมากถึงมากที่สุดสำหรับกลุ่มชนชั้นนำทางสังคม 2 ฝ่าย อันอาจถือเป็นอีกครั้งของปรากฎการณ์ "หัวเลี้ยวหัวต่อ"ของบ้านเมือง ว่าจะไปทางไหน อย่างไร ในสถานการณ์ถัดจากนี้ กับภาวะของโลกที่เร่งรอบหมุนในทุกเมื่อเชื่อวัน

"ปฏิวัติ"-"ปฏิรูป" หรือ "ขัดขวาง-ต่อต้าน" สิ่งเหล่านี้กำลังมีผู้คิดและดำเนินอยู่

สถานการณ์ ที่เป็นอยู่ ประชาชน เริ่มได้ยิน ได้เห็นและได้เข้าใจมากขึ้นกับสถานะ บทบาท ที่มาที่ไป ของกลุ่มชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มทุนเก่า-ศักดินา" หรือ "ขุนนาง" "กลุ่มทุนใหม่" ที่ปรากฎตัวปะทะกันเป็น"คู่ความขัดแย้งหลัก"อย่างชัดเจนในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยฝ่ายแรกมี "บทบาท" ชัดเจนในสังคมการเมืองไทย มานานแสนนาน ขณะที่ฝ่ายหลังพึ่งเข้ามามี"บทบาท"ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา

การปะทะกันของ "คู่ความขัดแย้งหลัก" ทำให้เราเห็นปรากฎการณ์ที่บีบรัด "พ.ต.ท.ทักษิณ" พรรคไทยรักไทย - กกต. หรือแม้กระทั่ง พรรคประชาธิปัตย์ ผ่าน ปรากฎการณ์ "ประชาชน"

ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมาถัดเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (4ม.ค.2547)ที่ต่อเนื่องมาตลอดปี 2548 มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขับไล่ "นายกทักษิณ" จนกระทั่งต้องยอม "เว้นวรรค" มีการขัดขวางการเลือกตั้ง ด้วยการ "บอยคอต" การเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์-ชาติไทย-มหาชน มีการ "โนโหวต" ของประชาชน กระทั่งมีการเบนเป้าขับไล่ "4กกต." ด้วยเหตุเพราะจัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมอิงแอบอำนาจการเมืองรัฐบาล

สถานการณ์เหล่านี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าจะหาข้อยุติได้หรือไม่อย่างไร เช่นเดียวกับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลากยาวมาจนบัดนี้

วันก่อน(19พ.ค.2549)มีการเปิดเผยเบื้องหลัง ความเป็นมาของพรรคไทยรักไทย และ"นายกทักษิณ"พร้อมคณะ ผ่านการนำเสนอ "แผนฟินแลนด์42" โดย "โสภณ สุภาพงศ์" รก.สว.กทม. ที่ระบุว่า ผลประโยชน์ใน ปตท.มี กลุ่มทุนการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มทุนสิงคโปร์ได้ประโยชน์

มีการเปิดข้อมูล ว่า "คณะผู้ก่อการตั้งพรรคไทยรักไทย" ในปี 2542 ประกอบด้วย นักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ และอดีตสหาย เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางไปประชุมที่ประเทศฟินแลนด์ มีการวิเคราะห์สังคมไทย วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีพรรคใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ว่า ถูกอ้าง ว่า มี 5 ข้อ คือ 1.ยุทธการมวลชน 2.ระบบพรรคเดียว 3.ระบบทุนนิยม 4.สถาบันสูงสุด 5.ปฏิรูประบบราชการ

"เนชั่นสุดสัปดาห์" (ฉบับที่ 729 วันที่ วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 )ที่ลงเรื่องราวนี้ ได้ ขยายความความยุทธศาสตร์ที่ว่า เปรียบเทียบทิศทางเป้าหมายแห่ง "อำนาจ" ของ "ทักษิณ" ผ่านหนังสือ 'นาทีที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์' ของ "สุรเธียร จักรธรานนท์" อดีตขุนพลทางธุรกิจของ "ทักษิณ" ที่เล่าถึงการก่อเกิดของพรรคไทยรักไทยว่า เริ่มต้นจากการสร้างนโยบายโดยทำพรรคการเมืองให้เป็นตลาดนโยบาย รับข้อเสนอนโยบายจากกลุ่มชนทุกชั้นแล้ว แปลงให้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อเสนอต่อประชาชนทั่วไป แทนที่จะใช้วิถี "ขุนนาง" ที่ล้มเหลวในอดีต โดยผูกขาดการสร้างนโยบายจากข้าราชการ และนักคิดนักวิชาการที่อหังการเพียงไม่กี่คน ที่ชีวิตส่วนใหญ่เหินห่างจากการผลิตและชีวิตสังคมที่เป็นจริง

และ "สุรเธียร" ได้สรุปการเมืองไทย หลังชัยชนะคดี "ซุกหุ้น" ว่า เป็นครั้งแรกสุดที่กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้เข้ายึดอำนาจรัฐโดยตรง แทนที่จะเล่นการเมืองโดยแอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยผ่านนักการเมืองนายหน้าดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

โดยกลุ่มทุนใหม่นี้ได้แย่งยึดอำนาจในการกำหนดนโยบายแห่งรัฐจาก"กลุ่มทุนขุนนาง" ที่เป็นข้าราชการและกลุ่มเทคโนแครตดั้งเดิมที่ได้ยึดบทบาทนี้มายาวนาน ความล้มเหลวในการกำหนดนโยบายจนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และการแก้ปัญหาที่ตามมาในช่วงสองสามปีแรก ทำให้ "กลุ่มขุนนาง" ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายแห่งรัฐเดิม ไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป อำนาจรัฐที่เพิ่งตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนใหม่ ในช่วงแรกยังไม่มั่นคงเพียงพอ จึงมักจะถูกต่อต้านและท้ายทายตลอด

การเมืองไทยยังได้เริ่มต้นพัฒนาเข้าสู่ระบบสองพรรคการเมืองใหญ่ที่เผชิญหน้ากันโดยตรง โดยไม่เหลือทางเลือกสำหรับ "พรรคที่สาม" ไว้ให้ การต่อสู้ของสองพรรคการเมืองใหญ่ เนื้อแท้แล้วคือการต่อสู้ของ "กลุ่มทุนสองพวก" ซึ่งต่างพยายามใช้นโยบายดึง "ประชาชน" เป็นพวกและอาศัย "องค์กรอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญใหม่เป็น "เครื่องมือ"

"สุรเธียร" ยัง เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทุนนิยมไทยว่า แม้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยส่วนใหญ่เดินเข้าสู่ระบบทุนนิยมแล้ว แต่โครงสร้างทางอำนาจรัฐ โดยเฉพาะระบบราชการและระบบการเมืองส่วนใหญ่ ยังเป็นโครงสร้างของนายทุนกับขุนนาง หมายความว่า ในความคิดของคนอยู่ในระบบราชการ หรือเป็นกลไกรัฐ..

"แถมโครงสร้างแบบขุนนางยังมองนายทุนด้วยสายตาที่แปลกออกไป ผมจึงไม่แปลกในคำวินิจฉัย (คดีซุกหุ้น) ของท่านประเสริฐ นาสกุล (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ท่านคือตัวแทนของขุนนางเก่าที่ยังมีคำถามกับนายทุนทั้งระบบ ซึ่งกลุ่มขุนนางมักมองว่า นายทุนเป็นเชื้อของความเลวร้าย"

"เราคงต้องใช้เวลาเปลี่ยนทัศนคติแบบนี้ ยิ่งกับโครงสร้างรัฐ ยิ่งเป็นเรื่องเปลี่ยนยาก หากทำได้คงเป็นจุดเปลี่ยนหน้าใหญ่ของประวัติศาสตร์"

ทั้งนี้ "สุรเธียร" คาดการณ์ไว้ว่า พัฒนาการของการเมืองไทย ทิศทางหนึ่งมุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสองพรรคที่มั่นคงดังประเทศในแถบตะวันตกที่พัฒนาแล้ว อีกทิศทางหนึ่งเป็นการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบ "ชี้นำ" ซึ่งมีพรรคการเมืองเดี่ยวที่เข้มแข็งดังประเทศในแถบเอเซียที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ และทางสุดท้ายการเมืองไทยอาจเกิดการพลิกผันและถอยหลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ โดยไม่สามารถผ่านด่านทดสอบในจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอยู่อีกถึงสามจุดใหญ่ในวันข้างหน้า

"เนชั่น" สรุปว่าวิธีคิดของ "สุรเธียร" ไม่ต่างจากมิตรสหายในไทยรักไทย รวมถึงที่ปรึกษาใหญ่อย่างพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ไม่ต่างจากเนื้อหาใน 'ปฏิญญาฟินแลนด์'

ก่อนจะสรุปทิ้งท้ายด้วยคำพูดแสดงความเป็นห่วงเป็นใยการเมืองไทยของ "สุรเธียร" ว่า "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จะก้าวสู่การเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มขุนนาง และประชาชน ซึ่งไม่แน่นักว่าอาจจะนำไปสู่สงครามและความรุนแรงอีกครั้ง"

สงครามเต็มรูปแบบการความขัดแย้งทางการเมืองไทย ที่เริ่มอีกครั้งหลัง "คดีซุกหุ้น" ถูกตัดสิน โดยราวๆต้นปี 2547 "ไฟใต้" ที่ถูกจุดจนลุกลามไปทั่วประเทศ ถึงกรุงเทพทำเนียบรัฐบาล กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา พันธมิตร คาราวานคนจน ฯลฯ น่าจะเดินทางมาถึงจุดสำคัญใน 3 เส้นทางดังที่"สุรเธียร"ว่าไว้แล้ว

ข้างต้น ในองค์ประกอบแห่ง "ตัวละคร" ที่โลดแล่นใน ระบอบการเมืองการปกครองไทย ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ "ประชาชน" อย่างเราๆ พึงทราบและติดตามอย่างพิเคราะห์ยิ่ง ในปรากฎการณ์ และ บรรดา "ข้อมูล" ข้อกล่าวหา การกระทำ และปฏิบัติต่อกฎบัตรกฎหมาย ความถูกต้องเป็นธรรมแห่งสังคม หรือแม้กระทั่ง "วาทกรรม" ต่างๆที่เกิดขึ้น

เพราะถึงที่สุด พลังแห่ง "ประชาชน" คือผู้ตัดสินใจสำคัญ ว่าจะเลือกถอยหลัง หรือเดินหน้า กันอย่างไรต่อไป !!!??

//www.innnews.co.th/rose.php?nid=3296





 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 22 พฤษภาคม 2549 11:19:27 น.
Counter : 677 Pageviews.  

ระวังสถานการณ์ไม่พึงประสงค์

กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเวลานี้ แม้ กกต.เองจะปลดสลักล็อคเงื่อนไขการสังกัดพรรค 90 วัน เพื่อผ่อนคลายท่าทีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่กระแสกดดันให้ 4 กกต.ลาออก ก็ยังคงดำเนินต่อไปจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ"ฝ่ายตรงข้าม"พ.ต.ท.ทักษิณ"และพรรคไทยรักไทย


มีสิ่งเคลือบแฝงบางประการที่ได้รับรู้มา เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ อาจจะจริงเท็จประการใด คงต้องอาศัยเวลา การกระทำ และผลของมัน เป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป..

ว่ากันว่า ในขณะทั้ง "3ศาล" และ "ฝ่ายพันธมิตร-องค์กรนักศึกษา" รวมถึง พรรคประชาธิปัตย์ และ ฝ่ายค้านพรรคอื่น รวมถึงเหล่าบรรดาอดีต สว.พยายามกดดันไปยัง กกต.

วันสองวันนี้ ได้มีแรงกดดันจาก "บุคคลระดับสูง" มายัง กรรมการ กกต.หลายท่าน กระทั่งในวันนี้(15พ.ค.)เกิดกระแสข่าวหนาหูว่า "พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ" กรรมการ กกต. ตัดสินใจลาออกแล้ว แถมด้วยข่าว "ปริญญา นาคฉัตรี" ก็จะลาออกด้วย

ส่วน "พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ" ประธาน กกต. นั้น ดูเหมือนว่าจะยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่ที่เค้ามั่นใจและยืนยันเสมอ ว่าดีแล้ว สมบูรณ์แล้วไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ต่อไป

ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าตนเองได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็น "ฝ่ายไล่" และ "ฝ่ายที่ถูกไล่" รวมถึงบรรดา "หน้าม้า" กองเชียร์ของทั้ง 2 ฝ่าย เว้นแต่พวกที่ได้รับการ "จัดตั้ง" มากระทำการเพื่อเป็นกลเกมการเมือง

สถานการณ์ชิงไหวชิงพริบ ห้ำหั่นกันทางการเมืองเวลานี้ กำลังจะถึง "ขีดจำกัด" ในไม่ช้านี้

ความผิดปกติบางอย่าง ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ "กดดัน" 4กกต.ให้ลาออก มีความคล้ายในสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ที่ทุกคนมุ่งที่ "จุดหมาย" ผลสัมฤทธิ์ โดยไม่สนวิธีการ จนเกิดตำนาน "มาตรา7" ต่อท้ายขื่อ ขึ้นมาประทับตราตรึง หลายๆ "ตัวละคร"

บัดนี้แม้ว่าผ่านพ้นจากจุดนั้นมาแล้วด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ได้เกิดความน่าเป็นห่วงที่ พลังกดดัน บนเงื่อนไขความถูกต้องชอบธรรม และเงื่อนไขทางสังคม กับกลไกแห่ง "อำนาจ"

อำนาจ ของ สถาบันตุลาการ ที่มีการยึดโยงเกี่ยวกันทางกฎหมายผ่าน "รัฐธรรมนูญ" กำลังถูก "จับต้อง" จากฝ่ายการเมือง เหมือนดังที่ "ฝ่ายตุลาการ" เข้าไปข้องเกี่ยวจัดการกับ "ฝ่ายการเมือง" จะด้วยรูปแบบความเห็น มติของ "องค์กร" หรือ "บุคคล" ก็ตาม

เริ่มมีเสียงพึมพำอย่างเป็นห่วง ถึงการ "จับต้อง" ที่ว่านั้น

เริ่มมีเสียงแห่งความเป็นห่วงถึง สถานการณ์ถัดไป และผลของมันที่อาจจะหาข้อยุติหรือหาจุดพึ่งพาได้ยากยิ่งเมื่อถึงวันนั้น โดยเฉพาะ ท่าที ของ "คู่ความขัดแย้ง" ที่แท้จริง ที่อยู่เหนือไปจากภาพที่คนทั่วไปเห็น

หลายคนบอกว่าการเอ่ยเอื้อนจะขอเป็น "เสือ" ดีกว่าเป็น "หมา" ของ "ทักษิณ" นั้นมีนัยยะของการ "สู้" ..

ทว่าจะเป็นการสู้กับใครอย่างไร มีเพียง "ทักษิณ-พจมาน" และผู้แวดล้อมใกล้ชิด เท่านั้นที่เข้าใจ

เฉกเช่นกัน กับสัญญานที่ถ่ายทอดจาก "วาสนา" ก่อนหน้านี้ ว่าเขาไม่ใช่ "หมาข้างถนน" ที่ใครจะมาทำอะไรก็ได้

นั่นคือ "ตัวตน" ของ "ทักษิณ-วาสนา" ในเวลา และสถานการณ์เหล่านี้ ที่เขาย่อมรู้ด้วยใจว่าบางครั้ง "ความลับ" อันแสนอึดอัด ที่อยู่ในใจกับเรื่องราวที่ประเดประดังเข้าใส่ จนจุกเสียดไม่สามารถพูดออกมาได้ว่า เพราะอะไร ทำไม และใคร นั้น บางครั้งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง สำหรับ "ทักษิณ" มันอาจถูกเปิด หรือสำหรับ "วาสนา" มันอาจถูกบันทึกไว้เพื่อรอการเปิดหลังจากเขาไม่อยู่แล้ว ดังที่เขาประกาศไว้ก็ได้

สัญญานการประกาศสู้ที่ว่า มีนัยยะที่น่าห่วงไปถึงสถานการณ์ถัดไปอันเป็นวังวนเช่นอดีตแห่งผลหลังเหตุการณ์ "แย่งชิงอำนาจ" ในทุกยุคทุกสมัย

"ความน่ากลัว" ที่จินตนาการสู่อนาคต อันนอกเหนือไปจากสถานการณ์ "เสาค้ำอำนาจ" จะเลือกที่จะอยู่ข้างใด ในการรบ และเกิดการปะทะจนเลือดนองระหว่าง "ขั้วอำนาจ" อันเนื่องมาจากความขัดแย้งของ "ชนชั้นปกครอง" แล้ว คือ ถัดจากนั้นจะยุติได้อย่างไร และบ้านเมืองจะมีจุดยึดเหนี่ยวในการจัดการปัญหาโดย "ยุติธรรม" ได้หรือไม่

คนที่รู้ว่าในเรื่องราวที่กำลังดำเนินไปสู่ "สถานการณ์ไม่พึงประสงค์" จะเป็นอย่างไร และมีผลลงเอยแบบไหน ซึ่งควรที่เขาจะต้องรับผิดชอบถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่มีเพียงแค่ "ทักษิณ-วาสนา" !!!




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 16 พฤษภาคม 2549 14:00:09 น.
Counter : 319 Pageviews.  

1  2  3  

sunzolo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add sunzolo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.