อาทิตย์สาดส่อง..ผู้กล้าสามัญชนปรากฎ
Group Blog
 
All Blogs
 
นายกฯต้องรับผิดชอบในการแต่งตั้ง 'กสช.' ?

บทความพิเศษ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เป็นการดำเนินการตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการสรรหา โดยเป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการสรรหาจนได้รายชื่อ 14 คน เสนอให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือ 7 คน

บัดนี้ วุฒิสภา ได้ลงมติคัดเลือก กสช. 7 คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์

แต่ในการลงมติคัดเลือกของวุฒิสภา แม้คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบกระบวนการสรรหาฯ ได้ตรวจพบข้อบกพร่องผิดพลาดร้ายแรง กระทำผิดกฎหมาย ผิดหลักการในขั้นตอนการสรรหาฯ แต่วุฒิสภาก็ไม่นำพา ไม่ให้ความสำคัญ กลับใช้เสียงข้างมากลงมติเลือกไปอย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความไม่น่าเชื่อถือของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานฯ และเลขาฯ เป็นคนกลุ่มเดิมกับที่เคยถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนมติ ในขณะที่กรรมการสรรหาฯ ที่เคยต้องคำพิพากษาว่ามีผลประโยชน์ส่วนได้เสียกับผู้สมัครฯ ก็ยังคงอยู่ ส่วนกรรมการสรรหาฯ ที่เป็นผู้แทนสมาคมวิชาชีพ ก็ปรากฏว่า เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการกิจการวิทยุโทรทัศน์เป็นผู้ที่จะต้องถูกกำกับดูแลและตรวจสอบโดย กสช. แต่กลับได้มาเป็นผู้สรรหา กสช. จึงมีปัญหาความขัดแย้งในหลักการ ไม่น่าจะได้มาซึ่ง กสช. ที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการสรรหาโดยจงใจไม่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ดำเนินการคัดเลือกบุคคลให้ได้ผู้มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้ครอบคลุมครบถ้วน ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แต่ใช้วิธีเลือกให้ได้คนตามที่ตนเองต้องการ แล้วค่อยระบุความถนัดเอาเองในภายหลัง โดยไม่ให้ผู้สมัครฯ ระบุสาขาความถนัดของตนเป็นหนังสือมาตั้งแต่แรก

ยิ่งกว่านั้น ยังมีปัญหาการมีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างกรรมการสรรหาฯ กับผู้สมัครฯ อย่างน้อย 2 คู่ อันถือได้ว่าเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครขัดต่อหลักความเป็นกลางตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทำให้กระบวนการสรรหามิชอบ

อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ วุฒิสภาได้ลงมติเลือก กสช. ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไป บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกโดยวุฒิสภาทั้ง 7 คน ก็จะไปลาออกจากงานเดิม เพื่อเตรียมตัวรับตำแหน่งใหม่ และจะประชุมเพื่อคัดเลือกประธาน กสช. แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ฉะนั้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ควรจะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ดังนี้

1) ใช่หรือไม่ว่า...

กสช. ไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายได้บัญญัติชื่อองค์กรและวิธีการสรรหาเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

แต่ ในกรณี กสช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ที่เกิดขึ้นโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ดำเนินการสรรหาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

2) ใช่หรือไม่ว่า...

เมื่อการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง กสช. เป็นการดำเนินการสรรหา ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ จัดให้มีการสรรหา และเป็นผู้รับผิดชอบ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

กระบวนการสรรหา กสช. จึงเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหาร อันแยกจากฝ่ายนิติบัญญัติ กระทำการทางปกครอง โดยขอให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือก เพราะคาดหวังว่าวุฒิสภาจะเลือกอย่างมีวุฒิภาวะและเป็นอิสระ แต่ทั้งหมดนั้น อยู่ภายใต้อำนาจรักษาการตาม พ.ร.บ. ของนายกรัฐมนตรี การลงมติคัดเลือกของวุฒิสภาจึงเป็นการใช้อำนาจดำเนินการทางปกครองตามกระบวนการของฝ่ายบริหาร

3) เป็นที่แน่ชัดว่า...

เมื่อวุฒิสภาได้เข้าไปทำกิจการทางปกครอง โดยดำเนินการพิจารณาในเรื่องนี้ วุฒิสภาได้ละเลยต่อข้อพกพร่องผิดร้ายแรง เพราะเมื่อทราบว่ากระบวนการสรรหาผิดกฎหมายตามมาตรา 10(1) ผิดหลักการ ไม่โปร่งใส และมีปัญหาการมีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจระหว่างกรรมการสรรหากับผู้สมัครซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงทางปกครอง ประธานวุฒิสภาได้รับทราบจากรายงานของกรรมาธิการและองค์กรภาคประชาสังคมแล้ว ก็ไม่สมควรบรรจุเข้าสู่วาระการคัดเลือก แต่กลับใช้ดุลยพินิจปล่อยผ่าน ใช้มติเสียงข้างมากยืนยันที่จะลงมติเลือก เป็นการพยายามฟอกกระบวนการสรรหาที่ไม่ถูกต้องด้วยมติของวุฒิสภา จึงเป็นการดำเนินการปกครองที่บกพร่อง ผิดพลาดร้ายแรง

4) ใช่หรือไม่ว่า...

การลงมติคัดเลือก กสช. ของวุฒิสภาในครั้งนี้ ต่างกับการลงมติคัดเลือกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.) เพราะเป็นกระบวนการของฝ่ายบริหาร เป็นการดำเนินการทางปกครองภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เสมือนว่าวุฒิสภาเข้าไปช่วยงานของฝ่ายบริหารใช้อำนาจทางการปกครอง

ดังนั้น นอกจากคดีที่มีผู้ฟ้องร้องคณะกรรมการสรรหาฯ ต่อศาลปกครองแล้ว ก็อาจจะมีผู้ฟ้องร้องสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภาและวุฒิสภา ในฐานที่ได้ดำเนินการให้มีการสรรหาอันขัดต่อกฎหมายและวิธีพิจารณาทางการปกครอง

ยิ่งกว่านั้น ยังอาจจะฟ้องร้องเอาผิดทางอาญา ในฐานเป็นเจ้าพนักงานประพฤติมิชอบ จงใจใช้อำนาจโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เรื่องนี้ อาจจะยืดเยื้อ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งจะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ไม่ยอมเรียนรู้จากความผิดพลาดในกรณีผู้ว่าการ สตง. ของประธานวุฒิสภา

รู้ทั้งรู้ว่า กระบวนการสรรหา กสช. มีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ผิดหลักการ ผิดกฎหมาย มีปัญหาผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสีย แล้วนายกรัฐมนตรียังจะนำรายชื่อบุคคลที่มาจากกระบวนการสรรหาและคัดเลือกอันมิชอบดังกล่าว กราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง อีกหรือ???

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจที่จะละเว้น ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่?

ความหวังต่อ กสช. ชุดแรก

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ บุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาทั้ง 7 คน ก็สมควรที่จะได้รับกำลังใจ ให้เตรียมงาน วางระบบทำงานเพื่อให้สามารถลบคำปรามาสของสังคม ดังต่อไปนี้

1.ไม่จัดสรรคลื่นความถี่สนองตอบกลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้เป็นฐานในการช่วยเหลือวิ่งเต้น ไม่ว่าจะเป็นคนบางคนในกองทัพหรือธุรกิจ เพื่อแสดงความเป็นอิสระ และถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และยังหวังว่า กสช. จะเห็นความสำคัญของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยศึกษาเรียนรู้จากวิทยุชุมชนที่แท้จริง ซึ่งไม่มีโฆษณา

2.เร่งพิจารณาออกข้อกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาต การกำกับดูแล โครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการ หลักเกณฑ์และวิธีการในการเชื่อมต่อโครงข่ายในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กับโทรคมนาคม โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ใดๆ แต่กระทำอย่างตรงไปตรงมา

3.เพิ่มสัดส่วนของสื่อสาระในวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาไพร์มไทม์ หรือบางสถานีก็จัดให้เป็นสถานีที่นำเสนอรายการสาระทั้งหมด อันจะเป็นการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมให้เกิดปัญญา

หวังว่า กสช.ชุดแรก จะเป็นชุดประวัติศาสตร์ ทำหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต เพื่อปฏิรูปสื่อให้สำเร็จจงได้



Create Date : 03 ตุลาคม 2548
Last Update : 3 ตุลาคม 2548 23:46:02 น. 0 comments
Counter : 387 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sunzolo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add sunzolo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.