นกน้อย พลัดถิ่น
Group Blog
 
All Blogs
 

“ชิคุนกุนยา” ไวรัสสายพันธ์ใหม่แพร่จากยุงลาย


ระบาดอีกแล้ว!!! โรคที่มาพร้อมกับยุง.... เมื่อบอกอย่างนี้หลายคนคงนึกถึงโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ไข้มาเลเรีย ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค แต่ที่น่าตกใจเพราะตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้นแต่กลับมีโรคที่มีชื่อแปลกๆ ว่า “ชิคุนกุยา” มาทำความรำคาญและแพร่ระบาดหนักอยู่ในภาคใต้ของประเทศเราอยู่



สถานการณ์ล่าสุด!!! หลังจากพบผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสชิคุกุนยา ใน 2 จังหวัดภาคใต้ คือจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เร่งส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่และเฝ้าระวังโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางยุติการแพร่ระบาดของโรคนี้



... เชื่อได้เลยว่าหลายคนยังคงไม่คุ้นหูกับโรคชิคุนกุนยา ไม่รู้ว่ามันเป็นโรคอะไร???? บ้างก็แตกตื่นคิดว่าเป็นโรคสายพันธ์ใหม่ แต่จริงๆ แล้วโรคนี้มีมานานแล้ว โดยถิ่นกำเนิดแรกของมันอยู่ที่ทวีปอาฟริกา และแพร่ระบาดไปหลายประเทศๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็รวมประเทศไทยของเราด้วย ซึ่งตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย



น.พ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาบอกถึงโรคดังกล่าวว่า “ชิคุนกุนยา” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่คืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ (migratory polyarthritis) อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออก (petichiae) บริเวณผิวหนังได้



สาเหตุการติดต่อ!! โรคนี้ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัดทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้



ระยะการฟักตัว!!! โดยทั่วไปจะมีการฟักตัวประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อคือระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก สำหรับอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว



แม้อาการนำของโรคชิคุนกุนยา จะคล้ายโรคไข้เลือดออกหรือหัดเยอรมัน แต่ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หรือเลือดออกมาก โรคชิคุนกุนยาพบมากในฤดูฝน และทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่มักพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี



ดูแล้วเหมือนมันอาจจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนโรคไข้เลือดออกสักเท่าไหร่ แต่ถึงแม้มันจะไม่สามารถคร่าชีวิตคนเราไปได้ แต่เราก็ควรที่จะระมัดระวังเอาไว้ โดยเฉพาะลูกเด็กเล็กแดงที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ง่าย อีกทั้งช่วงนี้ฝนตกบ่อยทำให้มีน้ำขัง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคอีกด้วย



ส่วนวิธีป้องกันนั้น!!! ถึงแม้ทุกวันนี้ยังไม่ยาหรือวัคซีนตัวใดที่ใช้รักษาได้โดยตรงทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ถ้ามีไข้สูง ก็ให้ยาลดไข้ หรือลดอาการปวดข้อ และพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถบรรเทาอาการไปได้ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ต้องหมั่นตรวจดูที่เก็บกักน้ำ ไม่ว่าจะเป็น บ่อ กะละมัง เพราะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่ จึงจำเป็นต้องมีฝาปิด ที่ใดที่จำเป็นต้องมีน้ำขังอยู่ก็ให้ใส่ทรายอะเบทลงไปเพื่อป้องกันการวางไข่ และควรเลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะปลาจะกินลูกน้ำเป็นอาหาร



แต่นอกเหนือจากการป้องกันการแพร่พันธ์ของยุงแล้ว ตัวเราเองก็ต้องป้องกันตัวเราไม่ให้ถูกยุงกัดด้วย ควรติดมุ้งลวดในบ้าน หรือทายากันยุงขณะทำงานและออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดตอนกลางวัน และที่สำคัญต้องเฝ้าสังเกตคนในบ้านว่ามีไข้และอาการคล้ายกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีก็ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน



ถึงแม้ว่าวันนี้ โรคชิคุนกุนยาจะเป็นโรคใหม่ที่มีชื่อไม่คุ้นหูนัก แต่หากปล่อยให้แพร่ระบาดไปสู่วงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้ ... วันนี้เพียงป้องกันยุงลาย นอกจากจะป้องกันไข้เลือดออกแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้ด้วยนะค่ะ













เรื่องโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content //www.thaihealth.or.th




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2552    
Last Update : 25 มิถุนายน 2552 14:40:19 น.
Counter : 545 Pageviews.  

โรคฝีในตับ



โรคฝีในตับ คือ ภาวะที่ตับเป็นฝีมีหนองภายในอาจเป็นฝีเพียงฝีเดียวหรือหลายฝีก็ได้ ซึ่งพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 6-7 เท่า ในกลุ่มอายุ30-50 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้ออะมีบา Antamoeba histolytica

โรคนี้เกิดจากเชื้อบัคเตรีชนิดที่ทำให้เกิดหนองเช่น สเต็พโตค็อกไซ สตาฟิโลค็อกไซ และอีโคไล(E. coli) ส่วนโรคฝีในตับในประเทศไทยที่ไม่เกิดจาก เชื้อบัคเตรี มีสาเหตุสำคัญมากสาเหตุหนึ่งจากเชื้อบิด อะมีบิก

ไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นใส้ อาเจียน ปวดเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านขวา อาจมีอาการปวดร้าวมาที่หัวไหลขวา อาการปวดจะรุนแรง มาก ถ้าแตะถูก หรือขยับเขยื้อนจะรู้สึกเจ็บมาก บางคนอาจไอเป็นหนองสีกะปิ หรือหายใจหอบ
คือ ตับโต ทำให้เจ็บบริเวณ ชายโครงขวาและยอดอก นอกจากนี้ยังอาการทั่วๆ ไป เช่น เป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผู้ป่วยจากเชื้อบิดอะมีบิกในตับอาจจะมีประวัติเป็นบิดมาก่อนหรือไม่ก็ได้ การทดสอบหน้าที่ของตับจะพบความผิดปกตินี้

ไข้สูง ตับโต เวลาเคาะ หรือกดจะมีอาการแสดงการเจ็บปวดโดยรอบ และจะพบจุดที่กดเจ็บมากที่สุดอยู่จุดหนึ่ง ถ้าฝีแตกเข้าไปในช่องปอดจะมีการหายใจหอบ อาจเคาะได้ เสียงทับบริเวณชายปอดด้านล่างขวา และเสียงหายใจจะเบาลง (decreased breath sound)

๑. เจาะหนองออกให้มากที่สุด จะทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น
๒. ให้ยา การให้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ เช่น ถ้าเป็นเชื้อบิดอะมีบิก มียาที่ใช้ได้หลายชนิด เช่น เมโทรนิดาโซล (metronidazole) เอมีทีน (eme-tine) คลอโรควิน (chloroquine) ถ้าเป็นเชื้อบัคเตรีให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อนั้น เป็นต้น
๓. การรักษาอื่นๆ เป็นการรักษาทั่วไป เช่นให้ยาแก้ปวด แก้ไข้ กินอาหารที่ดี และแก้ไขภาวะขาดน้ำ เป็นต้น




การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าฝีหนองนั้นเกิดจากเชื้อชนิดใด แพทย์มักเจาะดูดฝีเอาหนองออกมาตรวจ: โดยเจาะประมาณ 5-10 ซีซี และดูดหนองที่เหลือออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแต่ละครั้ง ถ้าโพรงฝีไม่ใหญ่มาก อาจตอบสนองต่อการรักษาดีหลังการเจาะดูดหนอง เพียงครั้งเดียว ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม แต่ในรายที่โพรงฝีมีขนาดใหญ่มากอาจต้องทำการเจาะดูดหนองซ้ำอีกหลายครั้งห่างกันครั้งละ ประมาณ 3-5 วัน วิธีนี้ จะช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้




การรักษาจำเพาะฝีหนองชนิดแบคทีเรีย: จำเป็นต้องทราบ เชื้อแบคทีเรียต้นเหตุให้แน่ชัดและรวดเร็ว แล้วให้การรักษาทันที ถ้าชักช้าผู้ป่วยมักเสียชีวิต แพทย์จะเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมครอบคลุมเชื้อ ที่เป็นสาเหตุของโรคตามร่องรอยต้นเหตุของการติดเชื้อและปรับเปลี่ยนยาภายหลังตามผลการเพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะได้ภายใน 24-72 ชั่วโมง




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2552    
Last Update : 25 มิถุนายน 2552 14:24:14 น.
Counter : 23591 Pageviews.  

มะเร็งหลอดอาหาร

มะเร็งหลอดอาหาร

เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 55-65 ปี โรคเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง


 อายุ ยิ่งมีอายุมากกว่า 60ปีขึ้นไป ก็มักจะเป็นความเสี่ยง
 เพศ มะเร็งหลอดอาหารมักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
 การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากที่จะเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
 การดื่มเหล้า เป็นระยะเวลาที่นาน ก็เป็นความเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหารเช่นกัน
 กรดไหลย้อน เกิดขึ้นจากหลอดอาหารส่วนล่างมีการระคายเคืองต่อกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดความเสียหายเป็นระยะเวลานานๆ เรื้อรังจนทำให้เกิดกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารขึ้น
 คนที่เคยเป็นมะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอ ก็จะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารเช่นกัน


ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งหลอดอาหารแต่จะเป็นอาการคล้ายคลึงกับโรคทั่วๆไปของหลอดอาหารที่พบบ่อย ได้แก่
 กลืนอาหารไม่สะดวก รู้สึกติด หรือสำลัก
 อาจมีเสลดปนเลือด
 ไอ สำลัก ขณะรับประทาน
 อาจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้
 ผอมลงเพราะรับประทานไม่ได้หรือได้น้อย ดังนั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ

ระยะที่ 1  ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กยังอยู่เฉพาะในตัวหลอดอาหารยังไม่ลุกลาม
ระยะที่ 2  ก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้นลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ 3  มะเร็งลุกลามทะลุเนื้อเยื่อต่างๆ ของหลอดอาหารและมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
ระยะที่ 4  มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปหรือกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น


ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปัจจัยต่างๆ หลายอย่างที่สำคัญได้แก่
 ระยะของโรคระยะที่สูงขึ้น โรคจะรุนแรงมากขึ้น
 สภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าแข็งแรงผลการรักษาจะดีกว่า
 โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้
 อายุ ในคนสูงอายุ มักจะทนการรักษาได้ไม่ดี


การรักษามะเร็งหลอดอาหารมีวิธีการหลัก 3 วิธีคือ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด
 การผ่าตัด จะเป็นวิธีการรักษาในมะเร็งระยะต้นๆ และเป็นมะเร็งหลอดอาหารในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้ โดยผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป แต่ในโรคระยะลุกลามจนผู้ป่วยรับประทานทางปากไม่ได้
 รังสีรักษา โดยทั่วไปมักเป็นการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว หรือฉายรังสีร่วมกับเคมี การฉายรังสีก็เช่นเดียวกันกับการผ่าตัด จะมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือใช้รักษาเพื่อควบคุมโรค ซึ่งจะใช้รักษาผู้ป่วยระยะลุกลามไม่มากและมี สุขภาพแข็งแรงและการรักษาแบบประคับประคองที่จะใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็น มากแล้วหรือสุขภาพไม่แข็งแรง
 เคมีบำบัด จะเช่นเดียวกัน มักใช้รักษาร่วมกับรังสีหรือร่วมกับรังสีและการผ่าตัด


ภายหลังให้การรักษาครบแล้ว แพทย์มักนัดตรวจรักษาเพื่อติดตาม ผลการรักษาโดยใน 1-2 ปีหลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ปีที่ 3-5 หลังการรักษา อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 5 ไปแล้วอาจนัดตรวจ ทุก 6-12 เดือน ในการมาตรวจรักษาแต่ละครั้ง ควรพาญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรง และควรนำยาและผลการตรวจต่างๆ ถ้ามีการตรวจรักษาจากแพทย์ท่านอื่นมาให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีการรักษาได้อย่างเหมาะสม

สำหรับ : ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอัตราเสี่ยง




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2552 13:12:06 น.
Counter : 558 Pageviews.  

โรคท้องผูก

<

b>โรคท้องผูก
ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป มักเกิดจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย และขาดการออกกำลังกาย ถ้ามีอาการท้องผูกเป็นประจำ อาจบ่งชี้ว่าจะมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับสุขภาพในระยะยาวได้ ถ้าลำไส้ใหญ่ทำงานเป็นปกติ จะช่วยให้ขับถ่ายดี และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้

มักเข้าใจผิดกันว่าคนเราควรถ่ายทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ถ่ายถือว่าท้องผูก แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน บางคนอาจถ่ายวันละมากกว่า 1 ครั้ง หรือบางคนอาจถ่าย 3 วันครั้งก็ยังถือว่าลำไส้ทำงานปกติ

ท้องผูกมีลักษณะอาการ 2 แบบ คือ ท้องผูกแบบอ่อนแรง จะทำให้ลำไส้ไม่มีแรงบีบตัว เกิดจากการกินอาหารที่มีกากใยน้อย และดื่มน้ำน้อยหรืออาจเกิดจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ ส่วนท้องผูกแบบหดเกร็ง ลำไส้ใหญ่จะบีบตัวไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขับถ่ายผิดปกติ อาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ หรือระบบประสาท สูบบุหรี่จัด หรือกินอาหารที่ทำให้ลำไส้ใหญ่ระคายเคือง หรืออุดตัน

การกินอาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว หรือมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืช) ต่ำ และมีผักผลไม้น้อยจะทำให้ร่างกายได้รับใยอาหารไม่เพียงพอ

ใยอาหารและอาหารจำพวกแป้งบางอย่างจะถูกย่อยสลายกลายเป็นกากในลำไส้ใหญ่ กากนี้จะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ขับอาหารที่ย่อยแล้วออกไปจากทางเดินอาหาร เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ หรือผลไม้แห้ง เช่น ลูกพรุน จะมีสารประกอบบางอย่างที่ช่วยในการขับถ่ายได้


ถ้ากินอาหารที่มีกากในน้อยและดื่มน้ำน้อย สารอาหารที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่จะมีลักษณะแห้งแข็ง เนื่องจากน้ำในกากอาหารจะถูกดูดออกไป ทำให้ขับออกลำบาก ความดันภายในลำไส้ก็เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ยิ่งมีกากอาหารค้างอยู่ในลำไส้นานเท่าไร กากอาหารนั้นจะยิ่งแข็ง เพราะน้ำถูกดูดออกไปจนหมด ทำให้ขับถ่ายลำบากยิ่งขึ้น
การออกกำลังกายอยู่เสมอจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ การทำกิจกรรมที่ต้องนั่งนาน ๆ อาจทำให้ท้องผูกได้ ท้องผูกยังเกิดจากการกลั้นอุจจาระจนติดเป็นนิสัย การใช้ยาระบายเป็นประจำ หรือติดต่อกันนาน ๆ อาจมีผลทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ ดังนั้นควรใช้ยาระบายเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น


คนที่ท้องผูกง่าย มักพบว่ากินอาหารที่มีกากในน้อย เช่น อาหารจำพวกแป้งขัดขาว และไม่ค่อยได้กินผักหรือผลไม้สด ใยอาหารนั้นมี 2 ชนิด คือชนิดที่ละลายในน้ำ จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาล และโคเลสเตอรอลในเลือด และชนิดที่ไม่ละลายในน้ำจะช่วยป้องกันท้องผูกโดยเป็นตัวเพิ่มกากอาหารในลำไส้
วิธีป้องกันท้องผูกที่ดีที่สุดเราควรกินอาหารที่มีใยทั้ง 2 ชนิดนี้ตามธรรมชาติให้มาก และหลากหลาย สำหรับผู้เริ่มต้น ก่อนอื่นให้พยายามดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร (8-10 แก้ว) และหันมากินข้าวที่ขัดสีน้อยอย่างข้างกล้องแทนข้าวขัดขาว แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณข้าวกล้องให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะคุ้นกับการกินข้าวกล้องอย่างเดียว

ในตอนแรก ๆ อาจรู้สึกไม่สบายท้อง มีลมในท้องหรือท้องอืดมาก ส่วนขนมปังก็เลือกชนิดที่ทำจากแป้งไม่ขัดสีหรือขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว หรืออาจกินสลับกันไปมา
นอกจากนี้ยังอาจเติมรำข้าวสำเร็จรูป 2 ช้อนชาลงในโยเกิร์ต มูสลี่ หรือธัญพืชพร้อมบริโภค สำหรับเป็นอาหารมื้อเช้าทุกวันติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วเพิ่มรำข้าวเป็น 3 ช้อนชาในสัปดาห์ต่อมา ทั้งนี้ควรกินผลไม้สดให้ได้วันละ 4-5 ส่วน (ผลไม้ 1 ส่วน เช่น กล้วยน้ำว้า 1 ลูก หรือมะละกอ 10 คำ) และผักต่าง ๆ อีกประมาณ 4-6 ทัพพี
• ผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก เช่น ฝรั่ง รวมทั้งผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพื่อให้ได้ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ
• ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร

ให้ความรู้บุคคลทั่วไป




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2552    
Last Update : 20 มิถุนายน 2552 14:29:05 น.
Counter : 499 Pageviews.  

ท้องลม...ท้องหลอก

ท้องลม...ท้องหลอก

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงอย่างสมปรารถนาทุกครั้งไป คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่การตั้งครรภ์ไม่สมปรารถนาและจบลงเร็วเกินไปแบบไม่ทันตั้งตัวก็มี คุณแม่บางคนคิดว่าตัวเองตั้งครรภ์ พอไปหาหมอตรวจเข้าจริงๆ พบว่าไม่ตั้งครรภ์ก็มี เหตุการณ์เหล่านี้พบได้บ่อยเหมือนกัน ลองมาดูกันหน่อยไหมครับว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ท้องลม
คุณผู้หญิงบางคนเมื่อประจำเดือนขาดหายไปอาจจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจสงสัยว่าน่าจะท้องอย่างที่หวัง ยิ่งเมื่อไปซื้อเครื่องทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะแล้วพบว่าท้องจริงก็ยิ่งดีใจมากขึ้น แต่เมื่อไปหาคุณหมอเพื่อฝากครรภ์ ภายหลังการตรวจคุณหมอกลับแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์จริง แต่ไม่มีตัวเด็ก หรือที่เรียกกันว่ามี ภาวะไข่ฝ่อ (Blighted ovum) คุณผู้หญิงอาจรู้สึกสับสน งุนงง ว่ามันคืออะไรกัน เกิดได้อย่างไร และจะต้องรักษาอย่างไร
ภาวะไข่ฝ่อ (blighted ovum) หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ท้องลม จัดเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ชนิดหนึ่งซึ่งทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด
ตามปกติภายหลังที่ไข่กับอสุจิมีการผสมกันแล้ว ก็จะมีพัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นทารก รก ถุงน้ำคร่ำ และเมื่อครบ 280 วัน ทารกก็จะคลอดออกมา คนบางคนไม่เป็นเช่นนั้น บางคนท้องแค่ 2-3 เดือน เด็กก็ไม่ยอมอยู่แล้ว และจะหลุดออกมาก่อนเวลาอันควร เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การแท้ง ที่แปลกกว่านี้ก็คือ คนบางคนภายหลังไข่กับอสุจิมีการผสมกันแล้วก็จะมีพัฒนาการต่อไปแต่แปลกที่ส่วนที่เป็นรกและถุงน้ำเจริญต่อไปได้ แต่ส่วนเป็นทารกกลับไม่ยอมเจริญเติบโตต่อ บางคนก็ไม่มีตัวเด็กให้เห็นเลย ในขณะที่บางคนเห็นตัวเด็ก แต่ถ้าตรวจซ้ำจะเห็นตัวเด็กเล็กลงและเสียชีวิตค้างในถุงน้ำคร่ำ ภาวะที่ไม่เห็นตัวเด็กเลย เราเรียกว่า ภาวะไข่ฝ่อหรือท้องลม คุณแม่ที่มีภาวะนี้ส่วนมากจะมีเลือดออกและแท้งออกมาในที่สุด แต่บางคนก็ค้างอยู่นานถ้าไม่ตรวจก็อาจจะไม่รู้
ที่มา...ท้องลม
การที่ไข่ภายหลังการผสมไม่เจริญเติบโตต่อ ก็เหมือนกับไข่เป็ดไข่ไก่ที่ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวนั่นเอง สาเหตุที่พบบ่อยคือ ไข่หรืออสุจิที่มาผสมกันไม่แข็งแรงพอ หรือมีคุณภาพไม่ดีพอทำให้ไม่สามารถพัฒนาการต่อไปได้ สาเหตุของความไม่แข็งแรงหรือคุณภาพที่ไม่ดีของไข่หรืออสุจิมีมากมายจาระไนไม่หมด อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานหนัก เครียด รับประทานอาหารไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีโรคบางชนิดที่ยังไม่ได้รับการตรวจอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติของไข่หรืออสุจิก็เป็นได้
การจะสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไรแน่ บางครั้งก็บอกยาก เพราะสาเหตุบางอย่างก็ยังไม่รู้จะตรวจอย่าง เช่น ทำงานหนักแค่ไหนถึงจะเกิดปัญหานี้ การตรวจลักษณะทางกรรมพันธุ์ของไข่กับอสุจิก็ทำยากมากมาก ส่วนมากเราจึงใช้การคาดคะเนกันเป็นส่วนมากว่าถ้ามีปัจจัยใดที่คิดว่าอาจเป็นสาเหตุได้ ก็ควรจะรักษาหรือแก้ไขเสีย

วิธีการรักษา
การรักษาภาวะไข่ฝ่อทำง่ายมาก แค่ขูดมดลูกเอาถุงน้ำคร่ำที่ผิดปกตินี้ออกให้หมดก็จบแล้ว
หลายคนคงอยากถามว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ซ้ำได้ไหม คำตอบก็คือยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาอะไรที่ชัดเจนในการที่จะป้องกันภาวะอันนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลรักษาตัวเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่ดี ได้สัดส่วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสม ไม่ทำงานหักโหมเกินไปและพักผ่อนให้เพียงพอ แคนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ท้องหลอก
คุณผู้หญิงบางคนอาจมาพบคุณหมอที่โรงพยาบาลเนื่องจากประจำเดือนขาดหายไป ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจรู้สึกเหมือนมีลูกดิ้นๆ อยู่ในท้อง และรู้สึกว่าท้องโตขึ้น ปัสสาวะบ่อยด้วย บางรายอาจให้ข้อมูลด้วยว่าแต่งงานมานานอยากมีลูกแต่ไม่มีซักที จากอาการที่เล่าข้างต้นค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองน่าจะตั้งครรภ์
แต่เมื่อไปพบคุณหมอตรวจร่างกาย คุณหมอกลับแจ้งว่าท้องไม่โต คลำมดลูกไม่ได้ ฟังที่ท้องได้ยินแต่เสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ และเมื่อตรวจอัลตร้าซาวนด์ก็พบแต่มดลูกซึ่งไม่มีลักษณะของการตั้งครรภ์ให้เห็นแต่อย่างใด หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ทั้งๆที่อาการและอาการแสดงบ่งบอกว่าน่าจะท้องแล้ว
อาการที่คุณผู้หญิงรู้สึกว่าเหมือนตัวเองตั้งครรภ์ ทั้งที่ความจริงไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นนั้น เราเรียกว่า “ท้องหลอก” หรือทางการแพทย์เรียกว่า spurious pregnancy หรือ pseudocyesis ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง
ผู้ป่วยส่วนมากจะมาเล่าอาการให้คุณหมอมากมายซึ่งแต่ละอาการฟังแล้วน่าจะเกิดจากการตั้งครรภ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย คัดตึงเต้านม ประจำเดือนขาด บางคนรู้สึกว่ามีลูกดิ้นในท้อง หรือบางคนอาจคลำได้ก้อนในท้องซึ่งคิดว่าเป็นมดลูกได้ด้วยซ้ำไป
ที่มา...ท้องหลอก
สาเหตุของท้องหลอก หรือไม่มีการตั้งครรภ์จริง เกิดจากสภาพทางจิตใจเป็นหลัก ผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะเครียดเพราะอยากมีลูกแต่ไม่มีซักที รักษามาก็ทั้งบ่อยทั้งนาน หมดเงินทองไปก็ตั้งมากแต่ก็ยังไม่ท้อง ความเครียดที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ พอถูกกระตุ้น รังไข่ก็จะสร้างฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งไปกระตุ้นมดลูกทำให้ผนังมดลูกหนาตัวและไม่มีประจำ เดือน ผู้หญิงกลุ่มนี้อยากท้องอยู่แล้ว พอไม่มีประจำเดือนก็อุปาทานว่าตัวเองตั้งครรภ์ เลยกินอาหารบำรุงใหญ่ เลยทำให้อ้วนหรืออ้วนมากเกินไปด้วยซ้ำ เจ้าความอ้วนที่เกิดขึ้นก็จะทำให้มีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น ไขมันที่ว่าสามารถสร้างฮอร์โมนไปทำให้ไม่มีประจำเดือนได้เช่นกัน เมื่อเมื่อหมอตรวจมดลูกโดยเฉพาะเมื่อตรวจด้วยอัลตราซาวนก็จะไม่พบการตั้งครรภ์แต่อย่างใด สำหรับอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย รู้สึกว่ามีลูกดิ้นในท้อง หรือบางคนอาจคลำได้ก้อนในท้องซึ่งคิดว่าเป็นมดลูกล้วนแต่เป็นอุปาทานทั้งสิ้น
การรู้สึกเหมือนเด็กดิ้นเกิดจากการบีบตัวของลำไส้ การปัสสาวะบ่อยเป็นเรื่องของจิตใจที่แล้วแต่ใครจะวิตกกังวลเรื่องการถ่ายปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน ส่วนรายที่คิดว่าคลำมดลูกได้ ส่วนมากเกืดจากผนังหน้าท้องที่หนามาก หรือท้องอืดมากจากลมในลำไส้
อย่างไรก็ตามก่อนจะสรุปว่า ท้องหลอกเกิดจากภาวะจิตใจ คุณหมอก็อาจจะต้องตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดเสียก่อน เพราะมีโรคหรือความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหรืออาการแสดงให้เห็นคล้ายๆกับการตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน เช่นโรคของต่อมใต้สมองที่มีการสร้างฮอร์โมนบางชนิดมากเกินไป แต่พวกนี้มักมีน้ำนมไหลร่วมด้วย บางคนอาจจะมีอาการเพราะรับประทานยารักษาโรคบางอย่างเช่นยากันชัก หรือยานอนหลับบางชนิด

วิธีการรักษา
จริงๆ แล้วผู้ป่วยพวกนี้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอะไร เพียงแค่ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ และให้การดูแลรักษาทางจิตใจ พบว่าส่วนมากแค่นี้ก็แก้ไขปัญหาได้แล้วโดยไม่ต้องให้ยา ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีความเครียดและวิตกกังวลมาก ก็อาจต้องให้ยาคลายความวิตกกังวล
แม้ว่าโอกาสเจอะเจอผู้ป่วยประเภทนี้อยู่เพียงประปรายแต่ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นคนที่คาดหวังสูงและตั้งใจมากอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อรู้ความจริงก็จะเกิดความผิดหวังที่รุนแรง ทำให้อาจเกิดการฟ้องร้องได้เหมือนกันว่าหมอตรวจผิดตรวจพลาดหรือเปล่า

สุดท้าย
ผมอยากฝากไว้ว่า สภาพร่างกายที่สดชื่น สมบูรณ์แข็งแรง เป็นสิ่งสำคัญประการแรกๆที่จะทำให้คุณแม่มีการตั้งครรภ์ที่ดี ดำเนินการตั้งครรภ์อย่างปกติ และลงเอยด้วยการคลอดที่ปลอดภัยการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองไม่ให้เครียดจนเกินไป ก็จะทำให้มีการตั้งครรภ์ที่ดี ไม่มีภาวะท้องลมท้องหลอกเกิดขึ้น ขอให้คุณแม่โชคดีมีลูกเจริญเติบโตแข็งแรงสมความปรารถนานะครับ



ข้อความที่ไม่เคยลบ (4.00 min) by มัดหมี่





 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2551 12:50:21 น.
Counter : 626 Pageviews.  


snow2531
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีค่ะ...........

ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะค่ะ...........

อยากให้ปรับปรุงส่วนไหนก็สามารถเม้นได้นะค่ะ........

ขอบคุณนะค่ะที่พี่ๆเพื่อนๆน้องๆที่สะระเวลาเข้ามาทักทายกันนะค่ะ..........
ยังไงก็อย่าลืมกันไปนะค่ะ...........
Friends' blogs
[Add snow2531's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.