รวบรวมเนื้อหาธรรมะดีๆ รูปภาพสวยๆ

นาลันทามหาวิหารและนวนาลันทามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยสร้างนักวิชาการเพื่อตอบสนองและช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคม แต่เมื่ออาจารย์ท่านหนึ่งไปขึ้นเวทีพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ตามเจตนารมย์ของมหาวิยาลัยหรือไม่ ในพระพุทธศาสนามีมหาวิทยาลัยที่เจริญรุ่งเรืองและล่มสลายไปแล้ว แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่คือมหาวิทยาลัยนวนาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย เราไปเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อศึกษาความเป็นมาและลืมความขัดแย้งของประชาชนในประเทศชั่วคราว

พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางเบื้องปัจฉิมทิศไปไม่นาน แสงเรื่อเรืองจากขอบฟ้ายังเป็นสีหม่นอมแดง เสียงแมลงกลางคืนเริ่มบรรเลงบทเพลงแห่งธรรมชาติ ท่ามกลางท้องทุ่งที่เงียบสงัด นาน ๆ จะมีชาวบ้านนั่งรถม้าผ่านมาสักคัน พวกเขาเพียงแต่เอ่ยทักแต่มิมีรถคันใดรับพวกเราไปด้วย ชาวบ้านบางกลุ่มเดินสวนทางมาแต่พอรู้ว่าพวกเราเป็นพระภิกษุก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เอ่ยทักตามธรรมเนียมแล้วก็เดินผ่านไป ในจำนวนนั้นถึงจะมีโจรอยู่ด้วย แต่คงไม่มีใครคิดจะปล้นจี้ เพราะสารรูปของเราห่มผ้าหม่นสีคล้ำบ่งบอกว่าเป็นภิกษุที่น่าจะจนแสนจนกระไรปานนั้น

ผู้เขียนกับท่านพระอาจารย์สมัย ประธานสงฆ์แห่งวัดป่าพุทธคยา จึงต้องเดินเท้าไปตามถนนจากสามแยกมุ่งสู่นาลันทามหาวิทยาลัย เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ด้วยความเพลิดเพลินตามบรรยกาศรอบๆตัว เพราะจุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่รู้ว่าคืนนี้จะนอนที่ไหน มหาวิทยาลัยหรือวัดไทยนาลันทา เพราะเราทั้งสองไม่รู้จักใครเลยในดินแดนอันเคยยิ่งใหญ่ในอดีตของพระพุทธศาสนาคือมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยแห่งแรกของพระพุทธศาสนา




คืนนั้นนับว่าโชคเข้าข้างเราเพราะได้พบกับพระนักศึกษาเขมร ที่พูดภาษาไทยได้ ท่านจึงนิมนต์เราทั้งสองไปยังห้องพักในมหาวิทยาลัยได้ดื่มน้ำชา ฉันกาแฟ พอหายเหนื่อย เสียงสวดมนต์จากห้องสวดมนต์ดึงกระหึ่ม ประสานสอดคล้องออกสำเนียงพม่าผสมศรีลังกา ฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงบสงัดอย่างประหลาด จากนั้นพระนักศึกษาชาวเขมรท่านนั้น(ผู้เขียนลืมชื่อท่าน) จึงได้พาไปยังวัดไทยนาลันทาซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยทางทิศตะวันออก อยู่กลางทุ่งมองเห็นนาข้าวเขียวขจี แสงเดือนสาดส่องต้องนาข้าวและน้ำในทุ่งนา เปล่งประกายระยิบระยับ เกิดความรู้สึกคิดถึงบ้านอย่างช่วยไม่ได้

ท่านพระมหาสุนทร ซึ่งเป็นพระภิกษุไทยรูปเดียวรับภาระทุกอย่างในวัดไทยนาลันทา เพราะขณะนั้นเจ้าอาวาสจริงๆเกิดป่วยต้องกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองไทย “เราปล่อยให้วัดว่าง ไม่มีพระอยู่ไม่ได้ ตามกฏหมายอินเดียถ้าสถานที่ของชาวต่างชาติไม่มีผู้ดูแลรักษาติดต่อกัน 2 ปี สถานที่แห่งนั้นต้องตกเป็นสมบัติของรัฐบาลอินเดียทันที ดังนั้นแม้จะอนาถาสักเพียงใด เราจะต้องรักษาวัดอันเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป” ท่านพระมหาสุนทรบอกเหตุผลว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่โดยไม่ยอมหนีไปไหน



ถ้าจะนับอายุมหาวิทยาลัยที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกแล้ว สำนักอคาเดมีของเพลโตน่าจะเป็น มหา
วิทยาลัยแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นในกรีกประมาณพุทธศตวรรษที่ 2(เพลโตเกิดเมื่อปีพุทธศักราช 116 หรือก่อน
คริสตศักราช 427 ปี เสียชีวิต 347) เพลโตนักปรัชญาชาวกรีกที่ได้ตั้งสำนักสอนปรัชญาอันเป็นผลมาจากโสเครตีสและอคาเดมีได้กลายเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในยคต่อมา

ในส่วนของดินแดนตะวันออกมหาวิทยาลัยนาลันทาอันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของพระพุทธศาสนาในอดีตน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชประมาณพุทธศตวรรษที่ 2 (พระเจ้าอโศก 227-)

พระเจ้าอโศกมหาราช ปรารภถึงสถานที่ประสูติและนิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า จึงให้สร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นสิ่งระลึก นาลันทาวิหารจึงได้เกิดขึ้น ตั้งแต่บัดนั้น แต่ยังมิได้มีรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัย เพียงแต่เป็นวัดหรือวิหาร โดยมีสถูปขนาดใหญ่เป็นที่บรรจุสารีริกธาตุของพระสารีบุตร นัยว่าในยุคแรกๆเริ่มมีการเรียนการสอนวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในส่วนที่พระสารีบุตรชำนาญนั่นคือพระสูตรและพระวินัย

นาลันทาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ (พ.ศ. 1149-1190)

นาลันทาวิหารได้กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียงเมื่อนาครชุนนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เดินทางมาพักอาศัยที่นาลันทา พราหมณ์ชื่อสุวิษณุได้สร้างวิหารขึ้นถึง 108 หลัง

ส่วนความสำคัญของนาลันทาเริ่มต้นขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ จากบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังระบุไว้ว่ามีกษัตริย์ถึง 6 พระองค์ให้การอุปถัมภ์พระอารามแห่งนี้ แต่ละพระองค์ได้สร้างวิหารขนาดใหญ่ขึ้นและทรงให้การอุปถัมภ์ภิกษุที่อาศัยอยู่ในแต่ละวิหาร

พอมาถึงสมัยราชวงศ์ปาละ นาลันทาก็ได้เจริญจนถึงระดับสูงสุด ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน

บันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังได้กล่าวถึงนาลันทาวิหารไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ “พระเจ้าศักราทิตย์ ได้สร้างอารามขึ้น ณ ที่นี้ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทิวงคตแล้วราชโอรสผู้สืบราสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพุทธคุปต์ ก็ได้สร้างอารามขึ้นอีกแห่งหนึ่งติดต่อกับทางด้านทิศใต้ สืบมาจนถึงพระโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้าตถาคตราชา ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านตะวันออก ครั้นเมื่อพระราชโอรสของพระราชาองค์นี้ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าพระเจ้าพาลาทิตย์ ก็ได้ทรงสร้างอารามขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังทรงทราบว่ามีพระอริยสงฆ์จากประเทศจีนมารับบิณฑบาต จึงบังเกิดความเลื่อมใสสละราชสมบัติออกทรงผนวช ราชโอรสพระนามว่าวชิรราชาขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอีกทางด้านทิศเหนือ

หลังจากนั้นยังมีกษัตริย์แห่งภาคกลางของอินเดีย ได้ทรงสร้างอารามขึ้นอย่างต่อเนื่องกับข้างนี้อีกหลายแห่ง ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์ จึงทรงมีส่วนร่วมสถาปนาต่อเนื่องสืบกันมา”

ในขณะที่หลวงจีนเหี้ยนจังพักอยู่ที่นาลันทานั้นได้รับการอุปัฏฐากเป็นอย่างดีจากบันทึกตอนหนึ่งว่า “ของถวายประจำวันมีชัมพีระ(ส้มชนิดหนึ่ง) 120 ผล หมาก 20 ผล กะวาน 20 ผล การบูร 1 ตำลึง ข้าวมหาสาลี 1 เซ็ง ข้าวชนิดนี้เม็ดใหญ่กว่าถั่วดำ เมื่อหุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม ไม่มีข้าวอื่นเสมอเหมือนและปลูกได้แต่ในแคว้นมคธแห่งเดียวไม่ปรากฎมีในแห่งอื่น ข้าวนี้เป็นของถวายพระราชาและผู้ทรงศีลชั้นสูง จึงได้ชื่อว่าเป็นข้าวถวาย




นอกจากของถวายเหล่านี้ยังมีน้ำมันเดือนละ 3 เต๊าและเครื่องบริโภคอื่นๆเช่นนม เนย ก็มีมีเพียงพอแก่ความต้องการประจำวัน กับยังจัดให้มีอุบาสก 1 คนพราหมณ์ 1 คน เป็นผู้รับใช้ และเมื่อจะไปที่แห่งใดๆ ก็ขึ้นหลังช้างที่มีกูปพร้อม” ผู้ที่ได้รับความเคารพในระดับนี้ในเวลานั้นมีเพียง 10 รูป ส่วนภิกษุรูปอื่นๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ตามอัตภาพในฐานะนักศึกษา

ภิกษุที่ศึกษาอยู่ที่นาลันทาวิหารนั้นมีทั้งอยู่ประจำและอาคันตุกะจากที่อื่นเป็นจำนวนนับหมื่น สถานที่เป็นที่พักของสงฆ์เป็นหอสูงจากบันทึกว่า “หอที่พำนักของสงฆ์ล้วนเป็นหอสูง 4 ชั้น ชายคาสูงตระหง่านเป็นนาคเลื้อย ขื่อโค้งเหมือนเส้นรุ้งมีเสารับสีแดงยอดและฐานเสามีลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม ซึ่งตรงกับกรอบหน้าต่างเครื่องประกอบหลังคาล้วนประดับประดาอย่างประณีต เมื่อแสงอาทิตย์ส่องต้องหลังคาแลระยับจับตางามยิ่งนัก”

ในด้านการศึกษาหลวงจีนเหี้ยนบันทึกไว้ว่า “สังฆารามในอินเดียมีมากหลายนับด้วยจำนวนพันและหมื่น แต่กล่าวเฉพาะความงามและสูงแล้ว จัดว่าอารามนี้เป็นเด่นยิ่งกว่าแห่งอื่นทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์ในอารามสงฆ์ในอารามรวมทั้งที่มาจากที่อื่นมีจำนวนนับหมื่น ล้วนศึกษาในลัทธิมหายาน แต่ลัทธินิกายต่างๆ ทั้ง 18 นิกายก็ได้ศึกษาควบคู่กันไปด้วย”

จำนวนนักศึกษาและอาจารย์ที่อยู่ในนาลันทาวิหาร เอ. โกส นักเขียนชาวอินเดียระบุไว้ใกล้เคียงกับหลวงจีนเหี้ยนจังคือ “นาลันทาเป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียในอดีตมีนักศึกษาจำนวน 9,500 รูป, อาจารย์ 1,510 รูป พักอาศัยอยู่ภายในวิหารในอารามเดียวกันนั่นเอง” (A. Ghosh,History of Nalanda, p.15)

จากสภาพปัจจุบันที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมนั้นต้องขอทำความเข้าใจคำว่า“วิหาร” “อาราม” และ “วัด” ให้ชัดเจนก่อน อารามหมายถึงสถานทั้งหมดที่เรียกว่าวัดเหมือนบ้านเรา ส่วนวิหารคล้ายๆกับคณะแต่คณะที่แยกปกครองภายในวัดหนึ่งๆ มีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหาร แต่ก็อยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าอารามหรือเจ้าอาวาสอีกทีหนึ่ง ส่วนวัดคืออารามหลายอารามมารวมกันเรียกว่าวัด ดังนั้นนาลันทาจึงน่าจะเรียกว่าวัดหนึ่ง แต่มีอารามเป็นร้อยอารามและมีวิหารเป็นพันแห่ง ผู้เขียนคิดถึงมหาวิทยาลัยในเมืองไทยซึ่งแบ่งเป็นคณะแต่ละคณะมีคณบดีเป็นหัวหน้า

ในคณะยังแบ่งเป็นภาควิชา ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีหลายคณะ แต่คณะก็ขึ้นตรงต่ออธิการบดี ถ้าจะเปรียบนาลันทาในอดีตแล้ว วิหารคือภาควิชา อารามคือคณะ ส่วนวัดคือมหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาเรียกว่าอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา การเปรียบเทียบนี้ผู้เขียนคิดเองจากหลักฐานตามที่ได้เห็นมา เท็จจริงประการใดโปรดพิจารณา

ในแต่ละวิหารจะมีกำแพงกั้นชัดเจน มีประตูใหญ่ทางเข้าหนึ่งประตู พอเดินเข้าไปสิ่งแรกที่เห็นคือบ่อน้ำขนาดใหญ่ 1 บ่ออยู่ตรงกลางวิหาร ล้อมรอบด้วยห้องพัก แต่ละห้องมีสองเตียง เตียงหนึ่งสำหรับนักศึกษารุ่นพี่ ส่วนอีกเตียงสำหรับนักศึกษารุ่นน้อง เป็นระบบของพี่สอนน้อง

ภายในวิหารหนึ่งๆจะมีห้องสวดมนตร์หรือห้องประชุมกลางขนาดใหญ่ 1 ห้อง วิหารจึงเป็นเพียงที่พักและที่ประชุมสำหรับภิกษุในแต่ละนิกาย ในวิหารหนึ่งจะมีเจ้าคณะหรือหัวหน้าวิหารเป็นผู้รับผิดชอบดูแลหมู่คณะ น่าจะอยู่ได้ประมาณ 100 รูปขึ้นไป เพราะหลวงจีนบอกว่าวิหารแต่ละแห่งสูง 4 ชั้น แต่ละชั้นมีที่พักหลายสิบห้องๆหนึ่งๆ อยู่สองรูป

วิหารแต่ละแห่งอยู่ติดกันเป็นแถวที่เหลือซากให้เห็นในปัจจุบันเรียงรายเป็นระเบียบยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีวิหารประมาณ 8 แห่งอยู่ติดกันรวมเรียกว่าหนึ่งอาราม ในแต่ละอารามก็จะมีหัวหน้าอารามอาจารย์เป็นผู้ดูแลอีกทีหนึ่ง อารามในอดีตที่นาลันทาจึงมีมาก แต่ก็อยู่ภายใต้การปกครองของอธิบดีสงฆ์แห่งนาลันทา ซึ่งเลือกมาจากหัวหน้าอารามต่างๆ นั่นเอง

จากหนังสือภารตวิทยากล่าวถึงระบบการบริหารมหาวิทยาลัยนาลันทาไว้ตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลามีคณะกรรมการดำเนินงานสองคณะคือคณะกรรมาธิการวิชาการมีหน้าที่จัดหลักสูตรและการศึกษา รับนักศึกษาเข้าออก มอบหมายหน้าที่ให้แก่อาจารย์ จัดการสอบไล่และดูแลห้องสมุด” และคณะกรรมาธิการบริหารงานมีหน้าที่ดูแลกิจการในด้านบริหารและการเงินทั่วไป รวมทั้งดูแลการก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร จัดการเรื่องอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น”(ภารตวิทยา หน้า 334)

บริเวณภายนอกวิหารพระภิกษุสามารถเดินศึกษาหาความรู้ได้ทั่ว “วัด” เพราะมีแหล่งความรู้อยู่ทั่วไปเช่นหอสมุดหอคัมภีร์กลาง หรือวิหารต่างๆ ที่อาจารย์หัวหน้าวิหารมีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ใครอยากศึกษาวิชาอะไรก็ต้องเข้าไปหาอาจารย์นั้นๆ จนมีความรู้ เมื่อสอบผ่านจากวิหารแล้ว ก็ต้องสอบให้ผ่านคณะกรรมการประจำอาราม แล้วจึงเข้าสอบที่วัดกลางเป็นอันจบกระบวนการในการศึกษา

ถ้าจะเทียบกับการศึกษาในปัจจุบันการสอบในระดับวิหารน่าจะเทียบได้กับปริญญาตรี ระดับอารามเป็นปริญญาโท และคณะกรรมประจำวัดจึงเป็นปริญญาเอก การศึกษาที่นาลันทาในอดีตจึงมิใช่เรื่องง่ายต้องมีความรู้จริงๆจึงจะผ่านการศึกษาขั้นสุดท้าย






ส่วนการจัดการศึกษาศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในสมัยปัจจุบัน ที่เรียกว่านวนาลันทาวิหาร อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยลันทาในอดีตไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่หน้ามหาวิทยาลัย การจัดรูปแบบอาศัยรูปแบบมาจากอดีต คือมีหอพักแยกเป็นสัดส่วน มีอาคารเรียนรวม มีวัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาทั้งหมดเป็นพระภิกษุและสามเณร มีพระนักศึกษาจากหลายประเทศเช่นพม่า ศรีลังกา เขมร ลาว ทิเบต มองโกเลีย ไทย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ รับพระนักศึกษาทั้งมหายานและเถรวาท ที่มากที่สุดคือพม่าและศรีลังกา

การเกิดขึ้นของนวนาลันทามหาวิทยาลัยต้องย้อนกลับไปในปีพุทธศักราช 2479 ที่พระภิกษุชาวอินเดียที่มีชื่อเสียง 3 รูปคือพระราหุล สันกฤตยยัน,พระภทันต์ อนันท์ เกาสัลยยัน และพระจักดิสห์ กัสหยปะ เป็นสหธัมมิกดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลายาวนาน

ครั้งหนึ่งเมื่อพบกันที่อัลลาฮาบาดในปีพุทธศักราช 2479 ได้กำหนดเป้าหมายในอนาคตเพื่อพระพุทธศาสนาของแต่ละท่านไว้ดังนี้ พระราหุล สันสกฤตยยันบอกปณิธาณไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพื่อเผยแผ่คำสอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ส่วนพระอนันต์ เกาสัลยยันมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ “ข้าพเจ้าจะเดินทางเพื่อแสดงธรรมและทำงานในการเผยแผ่ธรรมะทางหนังสือพิมพ์ โดยใช้ภาษาฮินดีเป็นสื่อ” ส่วนพระจักดิสห์ กัสหยปะ แสดงความตั้งใจไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะอุทิศชีวิตในด้านการศึกษา,วิจัย,การสอน และหาทางตั้งสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาขึ้นมาให้ได้” (D.C. Ahir,Biddhism in Modern India,p.100)

พระภิกษุชาวอินเดียทั้งสามรูปได้ดำเนินแผนงานตามที่วางไว้ ท่านราหุลเขียนหนังสือทางวิชาการออกมาเป็นจำนวนมาก พระจักดิสห์ กัสหยปะ(สำเนียงบาลีเป็นกัสสปะ) ได้สร้างมหาวิทยาลัยนวนาลันทาขึ้นที่บริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยนาลันทาเก่าในปีพุทธศักราช 2493 โดยได้รับบริจาคที่ดิน ณ บริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า ข้างทะเลสาบแห่งหนึ่ง โดยชาวมุสลิมเจ้าของที่ดินคนหนึ่งชื่อซามินเดอร์ นัยว่าเพื่อเป็นการไถ่บาปที่กษัตริย์มุสลิมในอดีตเคยเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทาจนเสียหายย่อยยับ โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสำคัญๆ 9 ประการคือ

1. เพื่อพัฒนานาลันทาในฐานะที่เคยเป็นวิหารเก่า (สถานที่อาจารย์และนักศึกษาอาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อการศึกษาและงานด้านวิชาการระดับสูง เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านภาษาและวรรณคดีบาลีตลอดจนพุทธวิทยาด้วยภาษาสันสกฤต,ธิเบต,จีน,มองโกเลีย,ญี่ปุ่นและภาษาเอเชียอื่นๆ

2. เพื่อรวบรวม(จัดตั้ง) ห้องสมุดสำหรับวรรณกรรมบาลี,สันสกฤตและภาษาอื่นๆ อันกอปรด้วยหนังสือและงานวิจัยสมัยใหม่ในภาษาบาลีและพุทธวิทยารวมทั้งแนวความคิดสมัยใหม่เพื่อสะดวกต่อการศึกษาและวิจัยเชิงเปรียบเทียบ

3. เพื่อเป็นที่พักสำหรับภิกษุและนักปราชญ์ ผู้ชำนาญ(เชี่ยวชาญ)ในการศึกษาในวัดตามประเพณีและทำให้คุ้นเคยกับวิธีการวิจัยและการศึกษาเปรียบเทียบสมัยใหม่

4. เพื่อร่วมมือกับสถาบันการวิจัยในทำนองเดียวกันในรัฐพิหาร และงานวิจัยที่ใกล้เคียงกันด้วยทัศนะที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน(ซึ่งกันและกัน)เพื่อหลีกเลี่ยงจากงานที่ซ้ำซ้อนกัน

5. เพื่อรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับ และฝึกฝนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยและการวิจัยในพุทธวิทยาด้วยภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาอื่น ที่จะให้เป็นที่รู้จักด้วยความลึกซึ้งและล้ำลึกในการศึกษาตามโบราณ

6. เพื่อส่งนักวิชาการและคณาจารย์ไปสู่ศูนย์กลางการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาอันเป็นที่ยอมรับในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ได้รับความรู้มาโดยตรงตามประเพณี และยังเป็นการฟื้นฟูสายธารวัฒนธรรมเก่าที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและประเทศเหล่านั้น

7. เพื่อเชิญชวนนักวิชาการพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงจากศิลปะแขนงต่างๆของโลก เพื่อมาเยี่ยมชมสถาบันตามโอกาส และเสนอให้สอนในวิชาที่ท่านเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญ

8. เพื่อรวบรวมงานวิจารณ์,งานแปลและพิมพ์งานด้านพระพุทธศาสนาจากภาษาบาลี,สันสกฤต,ธิเบต,จีน,ญี่ปุ่น,มองโกเลียและภาษาอื่นๆ

9. เพื่อรวบรวมเรียบเรียงและจัดพิมพ์ต้นฉบับและงานวิจัยในแง่มุมต่างๆของพุทธวิทยา (Dr. Nand Kishor Prasad,Nava Nalanda Mahavihara,p.57)

ด้านการสอน นวนาลันทามหาวิหารเมื่อเริ่มแรกก่อตั้งนั้นเป็นสถาบันเพื่อการวิจัย โดยเน้นหนักไปที่โปรแกรมการวิจัยและการพิมพ์เผยแผ่ แต่เมื่อรับนักศึกษาและนักวิชาการที่เหมาะสมกับการทำงานด้านการวิจัยแล้ว ในปัจจุบันจึงมีการเรียนการสอนทั้งประกาศนียบัตร,ปริญญาตรี,โท และเอก โดยเน้นหนักที่พุทธศาสนา,ภาษาบาลี,ปรัชญา,อินเดียศึกษาและเอเชียศึกษา

ปัจจุบัน(2544)มหาวิทยาลัยนาลันทามีพระนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ประมาณ 100 รูปเป็นพระภิกษุชาวศรีลังกา พม่า ไทย เขมร วันที่ผู้เขียนเดินทางไปเยี่ยมนวนาลันทานั้น พระนักศึกษาอยู่ในช่วงที่พระนักศึกษาเดินขบวนต่อต้านอาจารย์ท่านหนึ่ง สาเหตุมาจากการสอนที่มุ่งเน้นในการปฏิบัติมากเกินไป “วันๆไม่มีอะไร นอกจากให้นั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียว ทั้งๆที่ตัวเองเป็นสตรีแต่นั่งบนอาสนะสูงกว่าพระ นอกจากนั้นเธอยังเป็นฮินดูอีกด้วย นักศึกษาจึงต้องรวมตัวกันประท้วง” นักศึกษาเขมรท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟัง




การเดินขบวนประท้วงอาจารย์ของนักศึกษาอินเดียดูจะเป็นปรกติของประเทศนี้ นัยว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา เมื่อพระพม่าและพระศรีลังกาซึ่งเป็นนักเดินขบวนตัวยงมาพบกันที่มหาวิทยาลัยนวนาลันทา จึงไม่มีใครแปลกใจที่มีการเดินขบวนประท้วงเป็นประจำ “ผมมาเรียนหนังสือ ไม่ได้มาเดินขบวน” นักศึกษาเขมรรูปเดิมบอกผู้เขียนเบาๆ

นาลันทามหาวิหารในอดีตเคยเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และถือเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในพระพุทธศาสนา แม้ว่าระบบการเรียนการสอนจะจำกัดอยู่ในวงของคณะสงฆ์ แต่ก็ถือได้ว่ามีพระภิกษุจากนานาประเทศพยายามจะเข้าศึกษา บางรูปต้องสอบหลายปีจึงจะผ่าน

พระมหาสุนทรบรรยายบรรยากาศในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้นไว้อย่างน่าฟังว่า “ครั้งหนึ่งเมื่อหลวงจีนเหี้ยนจังเดินทางมาเพื่อเข้าศึกษา จะต้องผ่านการสอบขั้นแรกโดยผู้รักษาประตูได้นำบาตรใบหนึ่งใส่น้ำจนเต็มถือรออยู่ที่หน้าประตู

เมื่อหลวงจีนเดินทางมาถึงก็ได้หยิบเข็มอันหนึ่งที่ถือเป็นหนึ่งในบริขารแปดของพระภิกษุหย่อนลงในบาตร ทันใดนั้นผู้รักษาประตูก็ได้ประกาศผลสอบทันทีว่าท่านสอบผ่านแล้ว ภิกษุอื่นๆที่รอสอบต่างก็งงงวยไปตามๆกัน ผู้รักษาประตูซึ่งเป็นกรรมการสอบจึงอธิบายว่า มหวิทยาลัยนาลันทาคือมหาสมุทรแห่งความรู้เหมือนน้ำในบาตร เหี้ยนจังเหมือนเข็มที่พร้อมจะค้นหาความรู้ในมหาสมุทร ดังนั้นท่านจึงสอบผ่านด่านแรก” นี่เป็นเพียงการสอบเข้าขั้นแรก ต่อจากนั้นจะมีการสอบอีกหลายรอบจนกว่าจะจบหลักสูตร

มหาวิทยาลัยนาลันทาล่มสลายเพราะกองทัพมุสลิมบุกเข้าสังหารพระภิกษุที่ไม่มีอาวุธอะไรอยู่มในมือเลย นอกจากตำราและลูกประคำ พระมหาสุนทรยังพรรณาถึงสภาพที่ทหารเข่นฆ่าพระว่า “บริเวณด้านหน้าวิหารไปจนถึงเจดีย์พระสารีบุตร(ประมาณ 200 เมตร) มีศพพระภิกษุนอนตายเกลื่อนกลาด เลือดแดงฉานไหลนองปฐพี จากนั้นได้ลาดน้ำมันและจุดไฟเผา ทั่วทั้งอารามจึงมีไฟลุกไหม้ตลอดหนึ่งเดือนจึงสงบ”

ได้ฟังบรรยากาศและเห็นสถานที่ชัดเจนผู้เขียนก็ได้แต่สลดใจในชะตากรรม มนุษย์ผู้หลงในอำนาจย่อมสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะต้องเข่นฆ่าคนที่ไม่มีทางสู้มากมายสักเท่าใดก็ตาม ซากปรักหักพังต่างๆ ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ข้างมหาวิทยาลัย มีสิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่มีอะไรบุบสลายเลยคือหลวงพ่อพระเจ้าองค์ดำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เตละบาบา" หมายถึงหลวงพ่อน้ำมัน เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเป็นสมบัติของเอกชนเก็บรักษาไว้ภายนอกบริเวณมหาวิทยาลัย

นาลันทามหาวิหารในอดีตล่มสลายไปแล้ว เหลือเพียงซากปรักหักพังให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ส่วนนวนาลันทามหาวิทยาลัยอันเป็นมหาวิทยาแห่งใหม่ ดูจากจำนวนนักศึกษาแล้วก็น่าเป็นห่วงว่าจะดำรงสถานภาพอยู่ได้อีกนานเท่าใด และจะยิ่งใหญ่เหมือนนาลันทาในอดีตหรือไม่ ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเจ้าของผืนแผ่นดินบริเวณมหาวิทยาลัยก็คือคนมุสลิมที่ได้บริจาคแผ่นดินเพื่อให้สร้างมหาวิทยาลัยด้วยความรู้สึกสำนึกในความผิดของอดีตกษัตริย์มุสลิมในอดีต ขอให้นวนาลันทาจงเจริญก้าวหน้าต่อไปตราบนานเท่านานด้วยเถิด



พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
23/06/2551


Create Date : 15 เมษายน 2554
Last Update : 15 เมษายน 2554 10:30:21 น. 0 comments
Counter : 822 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เจ้าหญิงใจดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เจ้าหญิงใจดี's blog to your web]