รวบรวมเนื้อหาธรรมะดีๆ รูปภาพสวยๆ

พระพุทธลีลา ธรรมะเพื่อประชาชน

ผู้คนส่วนใหญ่มักวัดความสำเร็จกันที่เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ มีความสำเร็จทางการศึกษา มีชีวิตครอบครัวที่ อบอุ่น มีหน้าที่การงานที่มั่นคง เมื่อต่างคิดกันเช่นนี้ จึงทุ่มเทขวนขวายเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มา ซึ่งส่วนมากมักจะพบกับความไม่สมหวังมากกว่าความสมหวัง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้สิ่งเหล่านี้ครบถ้วนบริบูรณ์ แต่ แม้กระนั้นก็ได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในชีวิตเพียงครึ่งเดียว ยังไม่ใช่ความสำเร็จทั้งหมด เพราะจุดแห่งความสุข และความสำเร็จอันสูงสุดในชีวิตคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร เป็นสิ่งที่มนุษย์น้อยคนนัก ที่จะได้รู้แจ้งไปตามความเป็นจริง ต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จ อุบัติขึ้นในโลก ทำให้เรารู้ว่า ความสุขและความสำเร็จที่แท้จริงนั้น เกิดจากการฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์ หยุดนิ่งไปจนถึงจุดที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย จึงจะเป็นเครื่องวัดว่า ได้บรรลุความสำเร็จอันสูงสุดแล้ว

มีถ้อยคำสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ปรากฏอยู่ใน อวัสสุตสูตร ว่า

“พระ ผู้เป็นนาถะของโลก ทรงสมบูรณ์ด้วยจรณะ ไม่ก้าวพระบาทยาวในที่ไกลมาก ไม่ก้าวพระบาทถี่ในที่ใกล้มาก เสด็จดำเนินไม่เสียดสีพระชานุ และข้อพระบาททั้งสอง เสด็จดำเนินไม่เร็วนักไม่ช้านัก ขณะเสด็จดำเนินก็มีสมาธิ พระหฤทัยตั้งมั่น ไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน หรือลงเบื้องต่ำ ทอดพระเนตรเพียงชั่วแอก มีพระอาการเยื้องกรายคล้ายพญาช้าง ทรงทำโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง ทรงงดงามดุจดวงจันทราในยามรัตติกาล”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเอกบุรุษ และเป็นอัจฉริยมนุษย์ เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์หลายอย่าง ทรงสมบูรณ์ด้วยจรณะ คือ ความประพฤติของพระพุทธองค์หาที่ติมิได้ ไม่มีใครเทียบเทียมพระองค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความบริสุทธิ์ สติปัญญา และมหากรุณา อีกทั้งอานุภาพของพระพุทธเจ้าก็มีมากมายไม่มีประมาณ เพราะพระพุทธองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ สมบูรณ์พร้อมทั้งวิชชาและจรณะ จะหาสรรพสัตว์ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม หรืออรูปพรหม ผู้ประเสริฐกว่าหรือเสมอเหมือนพระพุทธองค์ก็ไม่มี ดังนั้น การส่งใจไปถึงพระองค์จึงเป็นการน้อมใจไปในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด จะทำให้เราได้เข้าถึงความประเสริฐ และหลุดพ้นตามพระองค์ไปด้วย

ครั้งนี้ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธลีลาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา ของเรามาเล่าให้ได้ศึกษากัน เพื่อเป็นเครื่องประเทืองความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยเรื่องพื้นฐาน เช่น การเยื้องกรายหรือเสด็จดำเนินไปตามสถานที่ต่างๆ ของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงมีความสงบ เสงี่ยม สง่างาม และยิ่งใหญ่ ทรงนำความสุขสดชื่นให้แก่ผู้ได้พบเห็น เป็นทัสสนานุตริยะ

ตามปกติ เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าไปสู่มหาสมาคม เพื่อแนะนำเหล่าเวไนยสัตว์ให้ได้ดื่มรสพระธรรม พระองค์จะทรงจัดแจงผ้า ๒ ชั้น ที่ทรงย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด มีสีเหมือนดอกทองหลางแดง เหมือนตัดดอกปทุมด้วยกรรไกร ทรงนุ่งห่มเป็นปริมณฑล ทรงคาดประคดเอวมีรัศมีดังสายฟ้า เหมือนนำเมฆแดงปิดพระจันทร์เพ็ญซึ่งกำลังโคจรอยู่ เหมือนรดน้ำครั่งแก่จัดลงเหนือยอดภูเขาทอง เหมือนวงยอดเขาจิตตกูฎด้วยสายฟ้า ทรงห่มผ้าบังสุกุลอันประเสริฐ มีสีแดงเหมือนใบอ่อนของต้นไทร เสด็จออกจากประตูพระคันธกุฎี ดุจสีหะออกจากถํ้าทอง และเหมือนพระจันทร์ออกจากยอดเขาด้านทิศบูรพา

ครั้นเสด็จออกแล้ว ทรงประทับยืนอยู่ที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จากนั้น รัศมีได้แผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธองค์ เหมือนกลุ่มสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ ทำให้ต้นไม้ในอารามเป็นประหนึ่งว่า ใบ ดอก ผล และคาคบ มีสีเหลืองแก่ที่รดด้วยสายน้ำทอง ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ถือบาตรและจีวร แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า เหล่าภิกษุผู้ยืนแวดล้อมเหล่านั้นต่างเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร มีวัตร อดทนต่อถ้อยคำของผู้เตือนตน มีปกติติเตียนบาป ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ผู้มีเสขิยวัตรที่งดงาม จึงทรงรุ่งเรืองสว่างไสวยิ่งนัก เหมือนแท่งทองที่ใส่ในผ้ากัมพลแดง เหมือนเรือทองที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มปทุมแดง และเหมือนปราสาททองที่วงด้วยไพรทีแก้วประพาฬ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เสด็จดำเนินไปด้วยพุทธลีลาที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ด้วยพระอาการที่สง่างามเหมือนเกสรดอกไม้ที่ใบล้อมไว้ เหมือนดอกกรรณิการ์ที่เกสรล้อมไว้ เหมือนพญาช้างฉัททันต์ที่มีช้างแปดพันห้อมล้อม เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐ์ มีหงส์เก้าแสนห้อมล้อม เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิที่มีกองทัพห้อมล้อม เหมือนท้าวสักกเทวราชที่หมู่ทวยเทพห้อมล้อม เหมือนหาริตมหาพรหมที่หมู่พรหมห้อมล้อม เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญที่หมู่ดาวแวดล้อมฉะนั้น

จากนั้น รัศมีมีวรรณะดังทองคำ ก็พวยพุ่งออกจากพระวรกายส่วนเบื้องหน้าของพระพุทธองค์ จรดเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก พระรัศมีพวยพุ่งออกจากพระวรกายเบื้องหลัง จากพระหัตถ์ขวา จากพระหัตถ์ซ้าย จรดเนื้อที่ ๘๐ ศอก รัศมีมีสีดังคอนกยูง พวยพุ่งออกจากเกลียวพระเกศาทั้งหมด ตั้งแต่ปลายพระเกศาเบื้องบนจรดที่ประมาณ ๘๐ ศอกในท้องฟ้า รัศมีมีวรรณะดังแก้วประพาฬ พวยพุ่งออกจากพื้นพระบาทเบื้องล่างจดแผ่นดินทึบเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก

พระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ประภัสสร โชติช่วงสว่างไสว ไหวไปมาอยู่ตลอดเนื้อที่ ๘๐ ศอก โดยรอบ แล่นแปลบปลาบไปมาเหมือนเปลวไฟ ที่แลบออกจากประทีปด้ามทองคำพุ่งไปสู่อากาศ และเหมือนสายฟ้าที่แลบออกจากมหาเมฆที่ตั้งขึ้นทั้ง ๔ ทวีป พุทธรัศมีนั้น สว่างไสวไปทั่วสารทิศ ประหนึ่งว่าโปรยด้วยดอกจำปาทอง เหมือนรดด้วยสายน้ำทองที่ไหลออกจากหม้อทองคำ เหมือนวงไว้ด้วยแผ่นผ้าทองคำที่คลี่ออก พระสรีระที่มีพระรัศมีซึ่งประกอบด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และรุ่งเรืองด้วยพระวรลักษณะ ๓๒ ประการ ทรงรุ่งโรจน์เหมือนท้องฟ้ามีหมู่ดาวระยิบระยับ เหมือนป่าดอกปทุมที่บานแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพระสรีระนั้น ประดับด้วยบารมี ๓๐ทัศครบถ้วน ที่ทรงบำเพ็ญมาแล้วโดยชอบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยพระอังคาพยพทุกส่วน ทรงยกพระบาทเบื้องขวาเป็นก้าวแรก พื้นพระบาทเบื้องล่างซึ่งเสด็จดำเนินไป ก็อ่อนนุ่มสัมผัสภาคพื้นที่เรียบ ละอองธุลีก็ไม่จับติด ที่ลุ่มก็ดอนขึ้น และที่ดอนก็เรียบ ทั้งที่แผ่นดินหาจิตใจมิได้ แผ่นหิน ก้อนกรวด ตอ และหนามทั้งหมดก็ราบเรียบด้วยพุทธานุภาพ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยจรณะ ไม่ก้าวพระบาทยาวในที่ไกลมาก ไม่ก้าวพระบาทถี่ในที่ใกล้มาก เสด็จดำเนินไม่เสียดสีพระชานุ และข้อพระบาททั้งสอง เสด็จดำเนินไม่เร็วนักไม่ช้านัก ขณะเสด็จดำเนินก็มีสมาธิ พระหฤทัยตั้งมั่นไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน หรือลงเบื้องต่ำ ทอดพระเนตรเพียงชั่วแอก มีพระอาการเยื้องกรายคล้ายพญาช้างที่สงบสำรวม

นี่คือความน่าศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธองค์ ในส่วนที่เป็นจรณะความประพฤติ ซึ่งนำมาพรรณนาได้พอสังเขป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระคุณหาประมาณมิได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยกันเอง ก็ยังไม่อาจพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้าได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้น จึงได้แต่นำมาเล่าย่อๆ เพื่อก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ ยังใจของทุกท่านให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพื่อจะได้เจริญพุทธานุสติกัน เราทั้งหลายเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ต้องฝึกฝนอบรมตนตามแบบอย่างของพระองค์ทั้งหยาบ และละเอียด คือ ทั้งจรณะความประพฤติต่างๆ และวิชชาความรู้แจ้งซึ่งเป็นของละเอียด ให้หมั่นฝึกฝนกันไปเรื่อยๆ ต่อเมื่อบุญบารมีของเราเต็มเปี่ยม เราจะได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายกันทุกคน

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก.อวัสสุตสูตร เล่ม ๒๘ หน้า ๔๓๒




Create Date : 01 ธันวาคม 2553
Last Update : 1 ธันวาคม 2553 21:41:22 น. 1 comments
Counter : 557 Pageviews.  

 
สาธุเจ้าค่ะ พุทธลีลาบทนี้..มีธรรมงามดีนักแล


โดย: น้อมเศียรเกล้า วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:22:41:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เจ้าหญิงใจดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เจ้าหญิงใจดี's blog to your web]