รวบรวมเนื้อหาธรรมะดีๆ รูปภาพสวยๆ

วัดพระธรรมกายมีแม่ครัวประจำหรือไม่แล้วต้องจ้างเขาหรือเปล่า ?

โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC

คำถาม: แม่ครัวประจำวัดพระธรรมกายนี้มีหรือไม่ จ้างเขาหรือเปล่า?

คำตอบ: มี เพราะอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ กองทัพเดินด้วยท้อง ไม่ว่ากองทัพทางโลก หรือกองทัพทางธรรม วัดพระธรรมกายมีพระภิกษุ มีสามเณร มีอุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งคนมาปฏิบัติธรรมมากมาย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีแม่ครัว
        ถ้าถามว่าจ้างหรือเปล่า ตอบว่าไม่ได้จ้าง เขาอาสาสมัครมาช่วยงานครัว แต่ว่าเมื่อเขามาอยู่ในวัด เราก็ต้องจัดที่ให้เขานอน เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีหมอของสถานพยาบาล ซึ่งอยู่ในวัด รักษาให้ ค่าตอบแทนมีให้ เราไม่อยากเรียกว่าเป็นค่าจ้าง แต่เราเรียกกันว่าเป็นค่าสวัสดิการ
แม่ครัวประจำวัดพระธรรมกาย
แม่ครัวประจำวัดพระธรรมกาย
        ส่วนมากเราก็ให้เป็นเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเขาเท่าที่จำเป็น ไม่มากเหมือนค่าจ้าง ถ้าเป็นผู้ที่มีฐานะดี เขาก็ไม่ขอรับ ผู้ที่ฐานะไม่ดี จำได้คร่าวๆ ว่าเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท อยู่ในย่านกรุงเทพฯ ค่าสวัสดิการแค่นี้พอไหม
        จริงๆ แล้วถ้าจะเอาสุขสบายอย่างชาวบ้าน ก็ไม่พอแน่ๆ แต่ว่านี่มาอยู่กันอย่างชนิดว่ามาเอาบุญ เขาต้องตื่นกันมาตั้งแต่ตี 3 ตี 4 กว่าจะกลับเข้านอนก็ 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม ถ้าจะพูดว่าเป็นค่าจ้างก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะเขาทำให้เกินกว่าจะเรียกว่าค่าจ้าง

คำถาม: ถ้าท่านเป็นพระสังฆาธิการ ท่านจะแก้ปัญหาพระที่ไม่ถูกกันอย่างไรครับ?

คำตอบ: พระแตกความสามัคคีก็ด้วย 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
1. ศีลไม่เสมอกัน หรือวินัยไม่เสมอกัน รูปหนึ่งตั้งใจรักษาศีล อีกรูปหนึ่งไม่ตั้งใจรักษาศีล
2. ทิฏฐิไม่เสมอกัน หรือความเห็นไม่ตรงกัน เช่น รูปหนึ่งตั้งใจเรียน ตั้งใจนั่งสมาธิ(Meditation)เพื่อตอบแทนคุณญาติโยมที่มาตักบาตรให้ อีกรูปหนึ่งตั้งใจเป็นหมอดู ตั้งใจให้หวยเป็นการตอบแทน นี่ต่างกันไม่เสมอกันถึง 2 อย่างแบบนี้ไปกันไม่ได้หรอก
        ขนาดศีลเสมอกัน แต่ทิฏฐิต่างกันยังอยู่ด้วยกันไม่ค่อยจะได้ พระนักเทศน์กับพระนักภาวนาอยู่กุฏิใกล้เคียงกันยังกระทบกระทั่งกัน พระนักภาวนาพอเช้ามืดตีสามตีสี่ท่านลุกขึ้นมานั่งภาวนา ต้องการความเงียบ ท่านว่าถูกต้องตามกิจวัตร พระอีกรูปท่านเป็นพระนักเทศน์ ท่านก็ตื่นมาตีสามตีสี่เหมือนกันมาซ้อมเทศน์ ท่านต้องซ้อมเสียง ท่านก็ว่าของท่านไป เสียงแจ้วๆ ท่านว่าเป็นกิจวัตรพระเหมือนกัน ดังนั้นอยู่กุฏิติดกันไม่ได้ ต้องขยับกุฏิให้ท่านใหม่ ถ้าทำได้ ท่านก็เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาทั้งคู่ ศีลเสมอกัน แต่ทิฏฐิไม่เสมอกัน ยังต้องเปลี่ยนที่พักให้ใหม่
        ประเด็นที่พระเณรไม่ถูกกันก็ด้วยเหตุ 2 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่เจ้าอาวาสต้องไปจัดการแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไปเรื่องทิฏฐิจะปรับให้เสมอกันทำอย่างไร ก็ต้องอบรมกันไปเป็นคู่เป็นกลุ่ม คู่ไหนธาตุในตัวไม่ค่อยจะลงกันนัก แต่ก็เป็นพระดีทั้งคู่ รูปหนึ่งชอบเทศน์ รูปหนึ่งชอบก่อสร้างก็ปรับที่อยู่อาศัยของท่าน ให้พอดีๆ กับงาน อยู่รูปละส่วนกัน
ทำอย่างไรให้พระทุกรูปมีความสามัคคีกัน
ทำอย่างไรให้พระทุกรูปมีความสามัคคีกัน
        แล้วทำอย่างไรล่ะทุกรูปจึงจะสามัคคีกัน ก็ทำง่ายๆ เวลาหลังทำวัตรสวดมนต์อย่าเพิ่งให้รีบลุก ตั้งเป็นกฎของวัดไปเลยว่าให้ทำภาวนาต่อไปสัก 15 ถึง 20 นาที หรือครึ่งชั่วโมงก่อน แล้วต่อจากนั้นใครจะทำอะไรก็ไปทำ ถ้าทำได้อย่างนี้ละก็ แต่ละรูปใจจะผ่องใสขึ้นมาก พอใจใสก็จะเห็นคุณค่าเห็นความดีของผู้อื่น แล้วทิฏฐิจะปรับเข้าหากันเองโดยอัตโนมัติ
        ส่วนเรื่องวินัยเรื่องศีลไม่เสมอกัน ก็เป็นเรื่องที่เจ้าอาวาสต้องอบรมพระลูกวัดบ่อยๆ พอเลิกภาวนาก็อบรมกันไป อย่างนั้นอย่างนี้ อบรมเรื่องวินัย ถ้าจะให้ดี ฉันเช้าเสร็จก็อบรมกันเลย แล้วจำไว้เถิดเรื่องที่ทำให้พระแตกแยกกันมากที่สุดคือ ลาภสักการะต่างๆ เช่นได้มาไม่เท่ากันบ้าง ได้รับนิมนต์ ไม่ได้รับนิมนต์บ้าง อะไรอย่างนี้ ก็ขอให้แบ่งสรรปันส่วนกันให้ดี
        สมัยหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ท่านบริหารวัด ท่านตั้งเป็นกฎเลยว่าของที่ญาติโยมถวายพระมาจากงานโน้นงานนี้ ให้ตั้งเป็นกองกลาง แล้วก็แบ่งแจกจ่ายกันไป ตามที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
        พระที่วัดพระธรรมกายก็เหมือนกัน ของทุกอย่างได้มาแล้วก็เอาไว้กองกลาง ไตรจีวรไว้กองกลาง ทุกอย่างไว้กองกลางทั้งหมด เมื่อถึงคราวจำเป็นให้หยิบนำมาใช้ให้น้อยที่สุด อย่างเมื่อกฐินที่ผ่านมานี้ได้ผ้าไตรมา 10,000 ไตร แต่ละรูปก็เอาไปรูปละไตร เอาไปเปลี่ยนของเก่า ที่เหลืออีก 9,000 กว่าก็นิมนต์พระในรัศมี 100 กิโลเมตร รอบวัดบ้าง หรือบางทีก็มาจากที่ไกลๆ นิมนต์ท่านมาเดือนละ 1,000 รูป พอท่านฉันเสร็จก็ถวายท่านรูปละไตร หรือวันมาฆบูชาแต่ละปีก็นิมนต์พระทั่วประเทศมาอยู่ธุดงค์ด้วยกัน ก็มีเหลือมาถวายหลวงพ่อหลวงพี่อีกรูปละไตรก็ทำมาอย่างนี้ เราอบรมกันว่าของส่วนกลาง เราจะเอาส่วนที่น้อยที่สุด ทำอย่างนี้ก็ลอยตัว พระไม่ทะเลาะกันหรอกครับ
        บางวัดไม่ทำอย่างนี้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้รับมาตั้งมาก แต่ไม่เคยแบ่งให้ลูกวัดเลย บางทีเก็บไว้นานเข้าๆ เก็บไว้ห้าปีสิบปีพอแก้ออกมาก็กรอบผุหมด ใช้ไม่ได้ นี่เท่ากับทำลายสมบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะเรามาปรับเรื่องทิฏฐิ กับเรื่องศีลหรือวินัยของพระ แล้ววินัยจะบอกเราเองว่า ลาภสักการะ จะแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไร พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว ตัดสินแบบนี้เปรี้ยงเดียวแล้วจบ เลิกทะเลาะกันเลย



Create Date : 13 พฤษภาคม 2555
Last Update : 13 พฤษภาคม 2555 7:19:06 น. 0 comments
Counter : 930 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เจ้าหญิงใจดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เจ้าหญิงใจดี's blog to your web]