|
My Gig Gear Part 1: Digitech Crossroads
ที่กำัลังจะพูดถึงเป็นตัวแรกก็คือเอ็ฟเฟ็กต์กีตาร์จาก Digitech ที่ชื่อว่า Crossroads ครับ
เป็นหนึ่งในซีรีส์ Artist ของดิจิเทคครับ นับถึงตอนนี้ออกมา 4 รุ่นแล้ว คือ Jimi Hendrix Experience, Crossroads, Scott Ian Black-13 และ The Weapon ตัว Crossroads นี่ผมได้มาเล่นประมาณห้าหกเดือนแล้วล่ะครับ ก็ได้แต่ต่อแอ็มป็เล่นแจมกับเอริค แคล็ปตันอยู่ที่บ้านคนเดียว เพิ่งได้เอามาเล่นกับวงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง
Digitech Crossroads เป็นกีตาร์เอ็ฟเฟ็กต์ที่จำลองเอาเสียงกีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเอริค แคล็ปตัน 7 แบบมาใส่ไว้ในเอ็ฟเฟ็กต์ตัวเดียว เรียกได้ว่า เอากีตาร์โปเกอะไรมาเสียบ ดีดออกมาบึ้มเดียวนี่เป็นเอริค แคล็ปตันเลย (อย่างน้อยก็เฉพาะเสียงกีตาร์)
เจ็ดเสียงที่ว่านี่ก็มีเสียงจากเพลงต่างๆเหล่านี้ครับ Sunshine of Your Love Badge Lay Down Sally Reptile Crossroads Layla Layla (Acoustic) Reptile
ก็เป็นเรื่องของ digital signal processing ล้วนๆเลยครับ ใช้เทคโนโลยีจำลองเสียงกีตาร์-เอ็ฟเฟ็กต์-แอมป์ที่เอริค แคล็ปตันใช้ (และเคยใช้)--ดิจิเทคเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Production Modelling โดยทั้งหมดนี่ ดิจิเทคบอกว่า ได้ปรึกษากับเอริค แคล็ปตันและลี ดิคสัน (Lee Dickson) ซึ่งเป็นช่างกีตาร์ประจำตัวอย่างใกล้ชิด
ผลออกมา...เสียงเหมือนที่เอริค แคล็ปตันเล่นเด๊ะๆเลยล่ะครับ แม้กระทั่งเสียงน้อยส์ที่ออกมาจากแอมป์ก็จำลองมาด้วย (ซึ่งผมว่าค่อนข้างน่ารำคาญถ้าเล่นอยู่คนเดียว หรือซ้อมโดยใช้หูฟังต่อกะแอมป์ แต่ถ้าเล่นกับวงก็โอเคครับ เสียงเบสเสียงกลองและอื่นๆกลบหมด) นี่ว่าจะเอา Noise Suppressor มาลองใช้ดู
ที่ชอบที่สุดในบรรดาโมเดลเสียงทั้งเจ็ดแบบนี้ เห็นจะเป็น Layla ครับ และก็เป็นโมเดลที่มีเสียงฮัมออกมารบกวนมากที่สุดเหมือนกัน รองลงมาเห็นจะเป็น Sunshine of Your Love และ Badge (อันหลังนี่จำลองเอาเสียงลำโพงโรตารีมาด้วยเลย)
ที่ไม่ชอบที่สุดเห็นจะเป็น Layla (Acoustic) ซึ่งผมว่า เสียงมันไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนเสียงที่ได้จากกีตาร์โปร่งเท่าไหร่ (แต่ถ้าไปเปิดฟังนี้จากอัลบั้ม Unplugged จะเห็นว่าค่อนข้างเหมือนทีเดียว ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกันผมถึงไม่ค่อยชอบเสียงนี้จากเอฟเฟ็กต์ตัวนี้เท่าไหร่ ใช้กีตาร์โปร่งธรรมดาๆยังจะเพราะกว่า)
การใช้งาน...จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าไม่สะดวกก็ไม่สะดวกครับ ที่ว่าง่ายก็คือ มันมีปุ่มหมุนแค่สี่ปุ่ม คือเป็น Volume ซะปุ่มนึง Tone Control สองปุ่ม และปุ่มเลือกโมเดลอีกปุ่มนึง แล้วก็เป็นสวิทช์เท้าสำหรับปิด-เปิดเอ็ฟเฟ็กต์ เท่านั้นเอง ที่ว่ามันไม่สะดวกก็คือ เวลาจะเปลี่ยนเสียงเอ็ฟเฟ็กต์ทีก็ต้องก้มลงมาหมุนปุ่มทีนึง เปลี่ยนเสียงกลางเพลงโดยใช้เท้าเหย๊ยบไม่ได้ (ผมว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคงจะเป็นสตูดิโอมากกว่า)
เอ็ฟเฟ็กต์ตัวนี้ใช้ได้ทั้งอะแด๊ปเตอร์ 9 โวลต์ หรือถ่านอัลคาไลน์ 9 โวลต์ครับ แต่ถ้าใครจะหามาเล่นแนะนำว่าใช้อะแด๊ปเตอร์จะดีกว่า เพราะค่อนข้างเปลืองถ่านพอสมควร เพราะมันมีวงจร DSP อยู่ข้างใน
โดยรวมผมชอบเอ็ฟเฟ็กต์ตัวนี้ค่อนข้างมากครับ หลังจากได้ตัวนี้มา มัลติเอ็ฟเฟ็กต์ที่มีอยู่นั่นก็แทบไม่ได้ใช้เลย (เอามาใช้กับกีตาร์โปร่งแทน ใช้แค่เป็นรีเวอร์บเท่านั้นเอง)
เดี๋ยวอาทิตย์หน้าคงได้ Noise Suppressor มาลองใช้ดู ถ้ามันช่วยได้เยอะผมคงดีใจน่าดู 
Create Date : 23 พฤศจิกายน 2548 | | |
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2548 19:34:16 น. |
Counter : 590 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
Crossroads: จุดเริ่มต้นดนตรีบลูส์
ครับ ดนตรีบลูส์ของผมเริ่มจาก Crossroads
Crossroads เป็นชื่อหนังเรื่องนึงที่ผมได้ดูเมื่อนานมากแล้ว (คนละอันกับที่บริทนีย์ สเปียร์สและอื่นๆแสดง) นำแสดงโดยไอ้หนุ่มคาราเต้คิด ราล์ฟ มัคชิโอ ...และสตีฟ วาย (ตอนนั้นยังไม่รู้จักสตีฟ วายครับ)
เนื้อเรื่องก็เกี่ยวกับการค้นหาเพลงที่สามสิบของโรเบิร์ต จอห์นสัน ตำนานแห่งนักดนตรีบลูส์ในยุคต้นๆของคริสตศตวรรษที่ยี่สิบ (โรเบิร์ต จอห์นสันบันทึกผลงานเพลงไว้ยี่สิบเก้าเพลง) ของหนุ่มนักกีตาร์คลาสสิคผิวขาว--แสดงโดยราล์ฟ มัคชิโอที่เกิดอาการเบื่อเพลงคลาสสิค และหลงไหลในดนตรีบลูส์
Crossroads ในหนังเรื่องนี้หมายถึงสี่แยกเล็กๆแห่งหนึ่งในมิสซิสซิปปี้ ที่เชื่อกันว่าโรเบิร์ต จอห์นสันได้มาพบกับตัวแทนแห่งซาตาน และได้ขายวิญญาณให้กับซาตานไปเพื่อแลกกับความความเป็นเลิศทางดนตรี (หมายเหตุ: โรเบิร์ต จอห์นสันเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มาก...สามสิบต้นๆมั้ง ผมเดาเอา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะได้ขายวิญญาณให้ซาตานไปแล้ว พอประสบความสำเร็จแล้วจึงต้องให้วิญญาณกับซาตานไป ประมาณนั้นครับ) ซึ่งในหนัง Crossroads นี่ พระเอกราล์์ฟ มัคชิโอก็เดินทางมาตามหาเพลงที่หายไป จนมาถึงสี่แยกที่ว่านี่เหมือนกัน
จนถึงฉากสุดท้ายที่ต้องไปดวลกีตาร์กับนักกีตาร์เจ้าถิ่น? ซึ่งเป็นฝ่ายซาตาน (สตีฟ วาย) ถ้าใครอยากฟัง Ry Cooder ดวลกีตาร์กับ Steve Vai ฉากนี้พลาดไม่ได้ครับ ถือว่าสุดยอดเหมือนกัน (Ry Cooder คือนักดนตรีตัวจริงที่เล่นสไลด์กีตาร์ในฉากนี้)
อ้าว แล้วผมไปเกี่่ยวอะไรกะเค้าล่ะเนี่ย เออ
ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกก็ประมาณตอนอายุสิบห้าได้มั้ง คุณพ่อผมซึ่งเป็นนักดนตรี กลับมาถึงบ้านตอนตีสอง (แกกลับบ้านเวลานั้นเป็นประจำครับ ก็ร้านปิดก็กลับบ้านนั่นล่ะ) ก็ปลุกผมขึ้นมานั่งดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้รู้จักกับเพลงบลูส์ล่ะครับ จนถึงตอนนี้ก็แทบไม่ได้ฟังเพลงอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากบลูส์
จบละครับ

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2548 | | |
Last Update : 22 ตุลาคม 2549 23:18:07 น. |
Counter : 2203 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
Back Home: Eric Clapton
ผมได้อัลบั้มล่าสุดของเอริค แคล็ปคันนี้เมื่อราวๆปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ...ก็ตั้งหน้าตั้งตารอมาพอสมควรครับ ตั้งแต่ได้ทราบข่าวว่าจะน้าเอริคแกจะออกอัลบั้มใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม ชุดนี้เรียกได้ว่าเป็นงานเพลงของแกเองชุดแรกในรอบหลายๆปีเลยทีเดียว (งานสองชุดก่อนหน้านี้ คือ Me and Mr Johnson และ Sessions for Robert J เอริค แคล็ปตันเอาเพลงของตำนานบลูส์ โรเบิร์ต จอห์นสันมา cover ...เอาไว้วันหลังผมจะเขียนเรื่องของโรเบิร์ต จอห์นสันคนนี้บ้าง เท่าที่ความรู้จะอำนวยนะครับ)
ร่ายชื่อนักดนตรีกันก่อนดีกว่า อ่านชื่อแล้วหลายๆคนคงร้องอ๋อ และอีกหลายๆชื่อผมก็เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกเหมือนกัน
เริ่มจากกีตาร์มือสอง ซึ่งมีสองคนครับ คนแรกเลยก็คือ มือกีตาร์คู่บุญของแคล็ปตันแก แอนดี้ แฟร์เวเธอร์-โลว (Andy Fairweather Low) คนนี้นี่เล่นดนตรีกับเอริค แคล็ปตันมานานมากครับ นานจนแกติดสำเนียงเอริค แคล็ปตันไปเลย บางทีก็ฟังแทบไม่ออกว่าใครเล่นกันแน่
ส่วนกีตาร์มือสองอีกคนนึงก็คือ ดอยล์ บรามฮอลล์ ที่สอง (Doyle Bramhall II) คนนี้เป็นนักกีตาร์ถนัดซ้ายครับ แต่เป็นอีซ้ายที่ไม่ค่อยเหมือนใคร คือเอาสาย 1 ไว้ข้างบน เรียงลงมาเรื่อยจนถึงสาย 6 อยู่ข้างล่างของคอกีตาร์ (ผมพูดให้มันยากไปอย่างนั้นเองละ พูดให้ง่ายๆก็คือ ตั้งเรียงสายแบบกีตาร์ถนัดขวาทั่วไป คือสายหกอยู่ข้างบน เรียงลงมาถึงสายหนึ่งข้างล่าง แล้วก็พลิกกีตาร์ไปอีกด้านนึง เท่านั้นเอง ซึ่งต่างจากนักกีตาร์ถนัดซ้ายๆทั่วๆไปที่พลิกกีตาร์ไปเล่นข้างซ้ายเหมือนกัน แต่เรียงสายกีตาร์ตามปรกติ คือสายหกอยู่บน สายหนึ่งอยู่ล่าง)
ตาดอยล์ บรามฮอลล์คนี้ ผมเห็นครั้งแรกก็ในคอนเสิร์ต Crossroads Guitar Festival 2004 ครับ (ดีวีดีล่ะครับ ไม่มีปัญญาไปดูเอง) หลังจากนั้นแกก็ได้เข้ามาทำเพลงกับเอริค แคล็ปตันอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งใน Sessions for Robert J ด้วย
มือกลองในชุดนี้ก็สองคนเหมือนกันครับ คนแรกก็ นี่เลยครับ สตีฟ แกดด์ (Steve Gadd) มือกลองวัยหกสิบที่ผมเพิ่งเห็นเข้ามาเล่นดนตรีกับแคล็ปตันก็ในทัวร์คอนเสิร์ต One More Car One More Rider เมื่อช่วงปี 2001 นี่เองครับ ฝีมือนั่นไม่ต้องพูดถึง (ผมว่าผมชอบสตีฟ แกดด์มากกว่าเดฟ เว็คเคิล (Dave Weckl) อีกนะ
ส่วนมือกลองอีกคนคือ อับราฮัม ลาบอเรียล จูเนียร์ (Abraham Laboriel Jr) ...คนนี้ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อครับ ขอข้ามไปก่อน
มือเบส ก็แน่นอนครับ ณัฐธัญ บูรพา เจ้าเก่า (Nathan East) เล่นดนตรีกับเอริค แคล็ปตันมามากกว่ายี่สิบปีแล้ว (แกว่างั้น) มีวงของตัวเองคือ Four Play คนนี้เคยมาแสดงในงานเทศกาลแจ๊สที่เมืองไทยด้วยถ้าผมจำไม่ผิด
บิลลี เพรสตัน (Billy Preston) ก็ยังมาเล่นคีย์บอร์ด เปียโน และแฮมมอนด์ออร์แกนให้เหมือนเดิมครับ (พูดถึงคำว่าคีย์บอร์ด ทำให้นึกถึงคำว่า เครื่องดนตรีประเภทลิ่มนิ้ว ในหนังสือเรียนดนตรีศึกษาสมัยมัธยม)
นักดนตรีรับเชิญ เอาเฉพาะที่น่าจะเคยได้ยินชื่อกันก็ โรเบิร์ต แรนดอล์ฟ (Robert Randolph). จอห์น เมเยอร์ (John Mayer), สตีฟ วินวู้ด (Steve Winwood) และ วินซ์ จิลล์ (Vince Gill)
เอาเป็นว่า รายชื่อนักดนตรีในอัลบั้มนี้ ผมจบแค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะครับ
10.11.2548 ฮ่า...กลับมาหัดเขียนต่อนะครับ
ถ้าใครติดตามงานของเอริค แคล็ปตันชุดหลังๆ ตั้งแต่อัลบั้ม "จิ้งเลื้อย" (Reptile) ในปี 2544 น่าจะพอสังเกตว่า โทนของดนตรีนั้นใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชุด "กลับบ้าน" นี่ก็เช่นกันครับ แนวดนตรีโดยรวมจะค่อนข้างสดใส (เมื่อเทียบกับงานชุดเก่าๆ) แต่ยังคงไว้ซึ่ง Eric Clapton's Sound (นี่ผมเรียกเอง เพราะไม่รู้จะอธิบายยังไง ฮ่ะ ฮ่ะ) โดยโทนหลักของอัลบั้มก็คือ หลังจากไปตระเวณตะลอนๆหัวหกก้นขวิดมาครึ่งค่อนชีวิต อย่างน้อยก็ยังมีบ้านให้กลับ มีลูกมีเมียรออยู่ที่บ้าน ก็จะได้พักกายพักใจหายเหนื่อยบ้าง อะไรประมาณนั้นครับ (แต่โทนหลักที่ผมว่านี่ ไม่ได้หมายถึงเนื้อหาในเพลงนะครับ เพราะเพลงที่มีความหมายกระเดียดไปทางนี้จริงๆ ก็เห็นจะมีสองเพลง คือเพลงแรก So Tired และเพลงสุดท้าย (เพลงที่ 12) คือ Back Home
แนวเพลงในชุดนี้ก็ผสมๆกันหลายๆแนวเหมือนกัน ตั้งแต่ Pop rock ใสๆ (เจือดิสทอร์ชันนิดหน่อย) เช่น So Tired, I'm Going Left, One Track Mind และ Love Comes To Everyone--เพลงนี้แต่งโดย จอร์จ แฮร์ริสัน--หรือแนวเร็กเก้อย่าง Revolution ที่เห็นออกไปทางบลูส์ก็คือ Lost And Found เพลงเดียว (แต่ถึงจะยังไง ทุกเพลงก็ยังมีกลิ่นบลูส์แบบเอริค แคล็ปตันเจือปนแทรกซึมอยู่ทั่วอยู่ดี)
งานนี้ใครที่เป็นแฟนแคล็ปตันแบบหัวชนฝาอาจจะบอกว่า ไม่ค่อยชอบชุดนี้เท่าไหร่ ชอบแบบ Sunshine of Your Love หรือ White Room หรืออะไรยุคนั้นมากกว่า ก็...ขอบอกว่า เรื่องมันก็สามสิบปีมาแล้วนะครับ จะให้น้าแกเล่นอย่างที่เคยเล่นก็เห็นจะกระไรอยู่ ความคิดความอ่านคนเรามันก็เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ ตามกาลเวลาล่ะครับ (แต่ผมก็ชอบเพลงของ Cream เหมือนกันนะ ชอบหมดแหละนะจริงๆแล้ว) อ้อ...เผื่อใครยังไม่ทราบข่าว... ดีวีดีคอนเสิร์ต Cream Reunion 2005 ออกวางขายได้เกือบเดือนแล้วนะครับ งานนี้แฟน Cream พลาดไม่ได้
...ขอจบเอามันดื้อๆอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ คิดอะไรไม่ค่อยออกแล้วล่ะ
ปล. ลองฟังตัวอย่างเพลงได้ที่นี่ครับ //ericclapton.com
Create Date : 08 พฤศจิกายน 2548 | | |
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2548 18:55:08 น. |
Counter : 662 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|