James Norrington รักคือการเสียสละ
James Norrington
รักคือการเสียสละ

หลังจากที่จิตตกกระสับกระส่ายอยู่พักหนึ่งเพราะได้ย้อนกลับไปดู The Pirates of The Caribbean 3 ภาคแรกติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบแล้วเกิดความรู้สึกว่าทำไมโลก (ของโจรสลัด) ถึงได้ร้ายกับ ผบ.เจมส์ นอริงตั้น ได้เสียขนาดนั้น (ก็เพราะมันคือโลกของโจรสลัด ไม่ใช่โลกของราชนาวี) จึงได้ตามหาฟิคชั่นในเว็บบอร์ดต่างๆ และท้ายที่สุดก็พบกับฟิคชั่นที่โดยส่วนตัวคิดว่าดีมากๆ ทั้งเนื้อเรื่อง สำนวนภาษา และองประกอบต่างๆ

ฟิคนี้ ผู้เขียนเป็นคนอเมริกัน เขียนไว้ในเว็บบอร์ด Fanfiction.net จำนวน 24 ตอนจบสมบูรณ์เมื่อปี 2007 ชื่อเรื่องว่า What Dreams May Come น่าจะยืมมาจากหนังอีกเรื่อง แต่ก็ลงตัว เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากหลังจากที่นอริงตั้น จับ อลิซาเบธ และลูกเรือสำเภาจีนได้ใน At the World’s End ต่อไปยังการตัดสินใจที่จะช่วยฝ่ายอลิซาเบธ ซึ่งนำไปสู่ความตายของตนเองในที่สุด
ในส่วนของฟิคชั่น หลังจากที่นอริงตั้นตายแล้วก็ลอยเรือเล็กอยู่ในมหสมุทรเพื่อรอให้เรือใหญ่มารับไปส่งที่ล็อกเกอร์ของเดวี่ โจนส์ อย่างที่เราได้เห็นในตอนต้นเรื่อง ในส่วนนี้ นอริงตั้นได้พบบุคคลต่างๆที่ตายไปแล้วหลายๆคน ซึ่งผู้เขียนฟิคชั่นบรรยายได้ดีมาก และเมื่อถูกรับมาไว้ที่ล็อคเกอร์ของ เดวี่ โจนส์ (ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูก หลังภาค 3 ต้องบอกว่าเป็นล็อคเกอร์ ของ วิล เทอร์เนอร์) ก็ได้รับการช่วยเหลือจาก คาลิปโซ ซึ่งผู้เขียนบรรยายไว้ว่าไม่ใช่จากความเห็นใจ แต่เพราะนอริงตั้นช่วยอลิซาเบธไว้ แล้วอลิซาเบธมาช่วยปลดปล่อยคาลิปโซอีกทอดหนึ่ง จึงต้องการตอบแทนด้วยการอนุญาตให้นอริงตั้นสามารถพบอลิซาเบธได้ในฝันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ต่อ 1 ปี แต่ระหว่างที่ไม่ได้พบกันนั้นนอริงตั้นต้องใช้ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายอยู่ในล็อคเกอร์ (อย่างที่เราเห็นแจ็ค สแปโรว์ในต้นเรื่อง) อยู่ในเรือที่จอดอยู่บนทะเลทรายเวิ้งว้างเพียงคนเดียว ไม่มีอะไรทำ ไม่หิว หลับไม่ได้ ได้แต่ดูแผนที่บนเรือฆ่าเวลาไปวันๆ สิ่งที่ดีในส่วนกลางเรื่องนี้คือ ผู้เขียนฟิคชั่น ได้สอดแทรกภูมิหลัง และ เล่าเหตุการณ์ต่างๆในหนังทั้งสามภาคผ่านมุมมองของนอริงตั้น และ ฉากการพบกันในฝันระหว่างอลิซาเบธ และ นอริงตั้น นั้นเป็นอะไรที่กินใจมากสำหรับคนรักนอริงตั้น แต่สิ่งที่รู้สึกว่ายังอ่อนคือลักษณะของการพบในฝันที่โดยส่วนตัวจินตนาการไว้แตกต่างออกไป ผู้เขียนฟิคชั่นเขียนให้นอริงตั้นบอกอลิซาเบธตรงๆว่าคาลิปโซอนุญาตให้เขามาเข้าฝัน แล้วก็พูดคุยกันปกติเป็นเรื่องเป็นราว โดยทีอลิซาเบธรู้ตัวและจำได้ ซึ่งต่างจากจินตนาการส่วนตัวว่ามาหาได้แค่บางส่วน ไม่ปะติดปะต่อ เป็นอารมณ์เซอร์เรียลลิสม์ แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าประทับใจ โดยเฉพาะฉากที่อลิซาเบธ และ นอริงตั้นนั่งคุยกันบนกำแพงป้อมปราการริมทะเล พูดถึงเรื่องจากภาคแรก ถ้าหากว่าอลิซาเบธตกลงรับคำขอแต่งงาน และ ไม่ได้ตกลงไปในทะเลชีวิตจะเป็นอย่างไร (เรื่องมันก็คงจบตรงนั้น คนทำหนังคงไม่ต้องทำมาหากินอะไร) เรื่องดำเนินมาจนถึงปีที่ 10 ซึ่งวิลจะกลับมาหาอลิซาเบธได้เป็นครั้งแรก แต่คาลิปโซก็ให้โอกาสนอริงตั้นไปหาอลิซาเบธได้เช่นกัน

ด้วยความที่ผู้เขียนฟิคชั่นเขียนเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกเห็นใจต่อตัวละครที่พยายามจะทำดีมาตลอดเรื่อง แต่ก็ไม่เคยได้ดี (นอริงตั้นเป็นคนดีที่อยู่ผิดที่ เป็นพระเอกนิยายของเจน ออสเต็น ที่หลุดมาอยู่ในโลกของโจรสลัด ทำอะไรก็เลยผิดไปหมด) ทำให้ฟิคชั่นมีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ทั้งนี้ต้องยกย่องภูมิรู้ของผู้เขียนฟิคชั่นในหลายๆด้าน ทั้งความเข้าใจที่ดีต่อตัวภาพยนต์ และ ความเข้าใจในรายละเอียดทางวัฒนธรรมของศตวรษที่ 18 ทำให้ทุกอย่างออกมาสมจริง สามารถทำห้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนได้ชมภาพยนต์ภาคต่อของ The Pirates of the Caribbean ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่นอริงตั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องชมคือการถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครออกมาได้แบบครบถ้วน ทั้งตัวแจ็ค สแปโรว์ที่สร้างรอยยิ้มให้ได้เสมอ ความทรงพลังของคาลิปโซ และที่แน่นอนที่สุดคือบุคลิกแบบผสมของนอริงตั้น ที่มีทั้งความสุขุม จริงจัง มีศักดิศรีี เป็นสุภาพบรุษ และ ขี้อายในบางครั้ง ซึ่งอาจจะดูเอาท์ ในสายตาของวัยรุ่น แต่เป็นผู้ชายที่จัดว่ามีเสนห์ และหายากยิ่งในสังคมปัจจุบัน

ณ ที่นี้ขออนุญาตไม่สปอยล์บทสรุปของเรื่อง (แต่ถ้ามีผู้สนใจซึ่งไม่สันทัดภาษาอังกฤษต้องการทราบ ก็จะเล่าในภายหลัง) แต่โดยส่วนตัวคิดว่าจบได้ดีมากๆ ไม่ได้จบอย่างสุขสม แต่ก็จบแบบมีความสุข จบอย่างที่มันควรจะจบ และค่อนข้างเป็นธรรมต่อนอริงตั้น เรียกว่าเป็นสุขปนศร้า สุขที่ได้เสียสละ สุขที่ได้ทำให้คนที่รักมีความสุข อย่างที่เจมส์ นอริงตั้น ทำอยู่เสมอในแทบทุกฉากที่ปรากฏตัวในภาพยนต์ เพียงแต่ผู้ชมจะสังเกตเห็นหรือไม่เท่านั้น

ที่มา What Dreams May Come
เขียนโดย Ladybug21
//www.fanfiction.net/u/1319217/Ladybug21



Create Date : 13 สิงหาคม 2554
Last Update : 13 สิงหาคม 2554 10:23:25 น.
Counter : 951 Pageviews.

0 comment
Beau Brummell : The Charming Man 2006
หลังจากที่เลิกดูละครโทรทัศน์ไทยมาเป็นเวลาจวนจะสิบปี และเริ่มเบื่อหน่ายกับความโอเวอร์ + ลวงโลกของภาพยนต์ฮอลีวูด (รวมไปถึงขี้คร้านงอนง้อความขาดๆเกินๆของภาพยนต์เอเชีย) ก็ทำให้เริ่มเบนความสนใจไปที่ภาพยนต์ และ ซีรี่โทรทัศน์ทางยุโรปแทน ซึ่งก็มีถูกใจบ้าง ผิดหวังบ้าง แต่ที่ค่อนข้างผิดหวังน้อยที่สุดคิดว่าเป็นซีรี่จากบีบีซี ของหราชอาณาจักร (ความจริงซีรี่ของประเทศอื่นที่ดีๆก็มีเยอะ แต่ติดตรงที่ไม่่ค่อยมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ)

ซีรี่จากบีบีซีเรื่องล่าสุดที่เพิ่งดูจบหลัสอบข้อเขียนเทอมนี้คือเรื่อง Beau Brummell : The Charming Man ออกอากาศปี 2006 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติส่วนหนึ่งของบุคคลเจ้าของชื่อ ในประวัติศาสตร์อังกฤษ ชายคนนี้คือหนุ่มเจ้าสำอาง (Dandy) ที่เป็นผู้นำทางแฟชั่นในต้นศตวรรษที่ 19 และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ปฏิวัติแฟชั่นสุภาพบุรุษ ทั้งนี้ต้องขอท้าวความถึงแฟชั่นสุภาพบุรุษในสองศตวรรษก่อนหน้านั้น องประกอบหลักของเครื่องแต่งกายในระยะเวลาสองร้อยปีก่อนยุคของ Brummell คือสูทสามชิ้น (เสื้อนอก เสื้อกั๊ก และกางเกงขาสามส่วน) โดยนิยมใช้สีสันและลายผ้าที่หลากหลาย ประดับตกแต่งด้วยการปักเลื่อมลาย อีกทั้งยังมีความนิยมในการสวมวิกผม ผัดแป้ง แต่งหน้า ไม่น้อยไปกว่าสตรี โดยในภาษาอังกฤษมีศัพท์สแลงเรียกบุรุษสำรวยซึ่งมีลักษณะตามนี้ว่า Fop

Brummell เป็นบุคคลที่ต่อต้านฟ็อบอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เขาสร้างกระแสนิยมการสวมเสื้อผ้าสีเข้มเรียบๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง สง่าผ่าเผยของบุรุษ (ซึ่งเป็นต้นแบบของชุดสูท และ ชุดพิธีากรต่างๆของสุภาพบุรุษในยุคหลังๆ สืบมากระทั่งถึงปัจจุบัน) แฟชั่นของเขามีจุดเด่นในการผูกผ้าผูกคอ (Cravat) อย่างปราณีต ไม่สวมวิกผม ไม่ผัดหน้า สวมรองเท้าบู้ตยาว ขัดเงา และใส่กางเกงขายาวแทนขาสามส่วน รวมไปถึงการรักษาความสะอาดของร่างกาย

ในซีรี่นำเสนอความสัมพันธ์ซึ่งค่อนข้างกระเดียดไปในเชิงรักร่วมเพศของ Brummell กับ ปริ๊น รีเจนท์ หรือ จอร์จที่ 4 ในอนาคต ​(ในเรื่องอยู่ในตอนปลายรัชสมัย จอร์จที่ 3 ที่เสียสติ) ลอร์ดไบรอน และ โรบินสัน พ่อบ้านผู้ซื่อสัตย์ ในตอนต้นเรื่อง Brummell ได้รับการอุปถัมภ์จากปริ๊น รีเจนท์ เป็นอย่างดี แต่แล้วก็ต้องถึงจุดแตกหักเมื่อ Brummell ได้พบกับลอร์ดไบรอน กวีหนุ่มหน้ามน จนกลายเป็นรักสามเส้าชาวสีม่วงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความถังแตกของ Brummell กระทั่งต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และ แทบจะเอาชีวิตไม่รอด

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับซีรี่เรื่องนี้สำหรับผู้มีความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์คือ รายละเอียดด้านเครื่องแต่งการบุรุษ ซึ่งในซีรี่ทำให้ได้เห็นขั้นตอนการแต่งกายของผู้ชายในต้นศตวรรษที่ 19 โดยละเอียด ตั้งแต่ตัวเปลือยๆ จนใส่เต็มยศ (ดูภาพยนต์โซนยุโรปต้องทำใจ ซีรี่ทางโทรทัศน์ยังอยู่ในเรตเบาๆ เห็นมากที่สุดคือเปลือยเต็มตัวแบบหันหลัง แต่ถ้าเป็นหนังโรงแล้วมีทุกรูปแบบ ทั้งป่าโปร่ง ป่าดงดิบ อนาคอนด้า ช้างแมมม็อธ ออกหน้ากล้องแบบจะๆ ไม่มีเซ็นเซอร์ ในกรณีนี้ ถ้าเป็นของพระเอกนางเอกยังพอรับได้ เพราะส่วนใหญ่รักษารูปร่างดี แต่ถ้าเป็นตัวโกง ตัวประกอบอื่นๆแล้วถึงกับติดตานอนไม่หลับทีเดียว)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคอหนัง Y (นอกจากฉากเปลือยเต็มตัวแบบหันหลังดังกล่าวข้างต้น) คือการนำเสนอความสัมพันธ์ของ Brummell กับบุคคลต่างๆ ที่เอ่ยถึง ซึ่งทำออกมาได้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและน่าประทับใจพอสมควร แต่ในความเห็นส่วนตัว คิดว่ารักแท้ของ Brummell คือโรบินสัน พ่อบ้าน โดยจะเห็นได้จากฉากที่หลังจาก Brummell ถูกปริ๊นรีเจนท์ตัดความสัมพันธ์ และเริ่มถังแตก แต่โรบินสันก็ยังตั้งหน้าตั้งตาขัดรองเท้าให้ ทั้งๆที่ตัวไม่ได้ค่าจ้าง ซ้ำยังต้องมาพลอยโดนเจ้าหนี้เล่นงานไปด้วยเสียอีก

สิ่งทำให้ซีรี่เรื่องนี้พิเศษ เห็นจะเป็นการตีความ และนำเสนอ ซึ่งไม่ได้ทำออกมาตามแฟชั่นหนังพีเรียดในยุคนี้ ที่มักนำเสนออกมาด้วยแสงนวลๆ ภาพนุ่มๆ ดำเนินเรื่องเนิบๆ เพราะด้วยบุคลิกของ Brummell ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่า Dashing ซีรี่จึงถูกนำเสนอให้มีอารมณ์แบบร่วมสมัยอยู่ในตัว ทั้งด้วยดนตรีแนวร็อค และ ป็อบ ที่บรรเลงด้วยเครื่องสาย และ เปียโน ตลอดจนลักษณะของภาพ และ แอคติ้งที่ทำให้ดูเป็นเรียลลิตี้ ไม่ได้มีการปั้นแต่งอะไรมาก แสงแบบหม่นๆ และมุมกล้องที่คล้ายๆกับได้จากกล้องแฮนดี คาเมร่า กับการได้เห็นคนในเครื่องแต่งการย้อนยุค ในบรรยากาศย้อนยุค พูดคุยเรื่องตลกคะนอง เมาปลิ้น ไม่ได้วางท่าทางอะไรมาก เหมือนกับจะทำให้ผู้ชมได้เห็นบรรยากาศในยุโรปเมื่อ 200 ปีก่อน ในแง่ที่ค่อนข้างธรรมชาติ อย่างที่ไม่เคยมีในภาพยนต์เรื่องอื่นๆ

ในเรื่องมีปล่อยมุกเรื่อยๆ ซึ่งอาจะไม่ค่อยขำสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับซีรี่บีบีซี และ ไม่คุ้นเคยกับความเนือยและความปัญญาอ่อนของตลกอังกฤษ แต่ด้วยจังหวะของการปล่อยมุกที่มีอยู่ไม่กี่มุก แต่กลับมาในเวลาที่เหมาะสม (มุก จอร์จ กับจอร์จ, มุกนอนกับเพื่อนแม่, แม่นอนกับเพื่อน ฯลฯ) ก็จัดว่าฮาได้ตามสมควร

สรุปแล้วซีรี่เรื่องนี้ได้ทั้งความบันเทิง ความแปลกใหม่ และ สาระความรู้ แต่ที่ไม่ถูกใจเห็นจะเป็นตัวนักแสดง เพราะรู้สึกว่า Jame Purefoy ผู้รับบท Brummell นั้นแก่ และไม่ค่อยหล่อ (ผู้สร้างคงคัดมาเพราะหน้าเหมือน Brummell รูปที่ไม่หล่อ แต่ไม่เข้าใจว่ารูปที่หล่อก็มี ทำไมไม่เอามาคัด?) แต่ในเรื่องแอ็คติ้ง และ บั้นท้าย (ที่โชว์ในฉากเปลือยทั้งตัวแบบหันหลัง) ก็จัดว่าพอผ่าน

ลิงก์ของซีรี่
https://www.youtube.com/watch?v=_QunT9eL-3Q




ตัวอย่างของการเปลี่ยน Fop ให้เป็น Dandy



Create Date : 23 มิถุนายน 2554
Last Update : 23 มิถุนายน 2554 10:23:49 น.
Counter : 605 Pageviews.

2 comment
My Fair Lady 1964
เพราะว่าไม่เคยดูมายแฟร์ เลดี้ มาก่อนเลยทั้งเวอร์ชั่นบรอดเวย์ และภาพยนต์ ครั้งแรกที่ดูในเวอร์ชั่นภาพยนต์ปี 1964 เลยรู้สึกไม่ค่อยสนุกเพราะเข้าใจผิดว่า เฟรดดี้เป็นพระเอก และคอยดูอยู่ว่าเมื่อไรเฟรดดี้จะออกซะที ทำไมเป็นพระเอกแล้วบทมันน้อยจัง ก็จะไม่ให้คิดได้ยังไงกัน เพราะฉากแรกเปิดเรื่องขึ้นมานางเอกก็เดินชนกับหนุ่มหล่อคนหนึ่ง ซึ่งดูมาดแล้วพระเอกชัวร์ๆ ส่วนอีตาโปรเฟซเซอร์ ฮิกกิ้น นั้นออกมาฉากแรกนึกว่าจะเป็นตัวร้ายแบบ แสบๆ กวนๆ เพราะอายุดูต่างกับนางเอกมากจนไม่น่าจะคู่กันได้ แต่ที่ไหนได้ดูไปดูมา จนแทบจะจบเรื่องแล้วถึงได้เข้าใจว่าที่แท้แล้วอีตานี่เป็นพระเอกนี่หว่า



พอย้อนกลับมาดูรอบที่ 2 แล้วถึงได้ซาบซึ้ง และรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น่ารักมากๆ ถึงจะผิดหวังเล็กน้อยที่เฟรดดี้ไม่ได้เป็นพระเอก แต่เอไลซ่า กับ โปรเฟสเซอร์ฮิกกิ้นก็สมกันดี อารมณ์ของเรื่องออกจแนวเป็นรุ่นบุกเบิกของหนังเกาหลีสไตล์ ‘สาวน้อยวุ่นวาย กับคุณชายจอมโหด’ เปรี้ยวอมหวาน นางเอกซนๆ ไฮเปอร์หน่อยๆ กับพระเอกมาดมาก ที่ทะเลาะกันตลอดเวลาไม่เคยลงรอย



แม้ว่าจะไม่มีฉากหวานๆของโปรเฟสเซอร์ กับ เอไลซ่าเลย แต่ในความรู้สึกคือแค่คู่นี้อยู่ด้วยกันก็อมยิ้มได้แล้ว เพราะต้องมีเรื่องป่วนๆ แน่นอน ฉากที่น่ารักที่สุดในความเห็นของผู้เขียนคือตอนที่ โปรเฟสเซอร์ให้ เอไลซ่าพูดคำว่าCup of tea แต่ก็พูดไม่ได้สักที ส่วนเอไลซ่าก็มัวแต่จ้องขนมในมือโปรเฟสเซอร์ตาเป็นมัน



เพลงในเรื่องก็เพราะเกือบทุกเพลง ชอบเพลง Just You Wait ของนางเอกที่ดูซนๆ ไร้เดียงสา ยิ่งดูในหนังแล้วยิ่งน่ารัก ขำท่อนที่เธอนึกฝันกลางวันถึงพระราชา แล้วบอกพระราชาว่าสิ่งที่เธออยากได้คือ Henry Higgins Head (ที่ขำเพราะว่าสำเนียงค็อกนีย์ที่ออกเสียง H ไม่ได้) สิ่งที่แปลกสำหรับเพลงในเรื่องนี้คือเพลงร้องที่เพราะและหวานมากๆ ดันเป็นของเฟรดดี้ (On the Street Where You Live) ส่วนเพลงของโปรเฟสเซอร์ฮิกกิ้นส์ ที่เป็นพระเอกตัวจริงเสียงจริง มีลักษณะเหมือนกึ่งพูดกึ่งร้องแทบทุกเพลง เวลาจะลงจบท่อน ดนตรีทำท่าเหมือนจะจบแต่ก็ไม่จบจริง ตามสไตล์ของเพลงบรอดเวย์ทั่วไป แต่เมื่อเอามาเข้าคู่กับบุคลิกของ เฮนรี่ ฮิกกิ้นส์ แล้วลงตัวอย่างเหมาะเจาะ เพราะอีตาพระเอกคนนี้ เป็นพระเอกที่ไร้ความโรแมนติกโดยสิ้นเชิง เรียกว่าเป็นผู้ชายที่มีความเป็นผู้ชายมากไป โผงผาง ไม่อ่อนไหว ไม่แคร์ใคร ถึงกับประกาศว่าจะไม่ยอมให้ผู้หญิงคนไหนเข้ามาสร้างความวุ่นวายในชีวิตได้ เข้ากันกับเพลงที่ ไม่หวาน ไม่มีอารมณ์อ่อนไหว กึ่งพูดกึ่งร้องเป็นส่วนใหญ่ จนเพลง I've Grown Accustomed to Her Face ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายจริงๆถึงได้มีอารมณ์หวานๆ แทรกออกมาบ้าง เพราะความรัก และ ความคิดถึง เอไลซ่า แต่ถึงอย่างนั้นดนตรีก็ยังมีการสลับกลับไปกลับมาระหว่างความรู้สึกเหงาๆ เศร้าๆ กับบุคลิกที่แข็งๆทื่อๆ ของ โปรเฟสเซอร์ฮิกกิ้นส์ที่ไม่ยอมรับอารมณ์อ่อนไหวของตัวเอง



ได้ข่าวว่า My Fair Lady จะถูกนำมาสร้างใหม่ แสดงโดยฮิว แกรนท์ กับ เคียร่า ไนท์ลีย์ ก็แอบหวั่นใจไม่ได้ว่าหนังออกมาจะเป็นอย่างไร เพราะบุคลิกของฮิว แกรนท์นั้นมาแนวน่ารัก เปิ่นๆ ในขณะที่บุคลิกของ โปรเฟสเซอร์ ฮิกกิ้นส์ที่ เร็กซ์ แฮริสัน สร้างไว้นั้นออกจะเป็นจอมโหด หยิ่งๆ กวนๆ ส่วน เคียร่า นั้นดูคมๆ เป็นผู้หญิงเท่ ฉลาด มากกว่าจะดูแก่น แสนซน ได้แต่หวังว่าเวอร์ชั่นใหม่ที่จะฉายในปีหน้านี้จะทำได้ดีไม่แพ้กัน





พี่เพรดดี้ หล่อม๊าก



อีตาโปรเฟสเซอร์ น่าหมั่นใส้สุดๆ



นางเอกสวยจังเรย



Create Date : 01 กันยายน 2553
Last Update : 1 กันยายน 2553 10:42:09 น.
Counter : 1725 Pageviews.

4 comment
Sense and Sensibility BBC 2008
อันที่จริงแล้วผู้เขียนไม่มี่ความชื่นชอบผลงานของ เจน ออสเต็น เป็นพิเศษแต่อย่างใด โดยความเห็นส่วนตัวออกจะเห็นว่าน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำไป เพราะบุคลิกที่ค่อนข้างซ้ำซากของตัวละครในเรื่องหลายๆ และ เนื้อเรื่องกับความสัมพันธ์ของตัวละครที่ซับซ้อนจนเกินเหตุ ตลอดจนการเดินเรื่องและใช้ภาษาแบบเนิบนาบ ซึ่งไม่ใช่สไตลที่นิยม จนพาลหงุดหงิด แต่ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบที่ทำให้ผู้เขียนติดตามผลงานของเจน ออสเต็นอยู่เสมอเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์

ตอนแรกหลังจากที่ดู Sense and Sensibility เวอร์ชั่นปี 2008 ของ BBC ตัดสินใจว่าจะไม่เขียนในทันที เพราะอยากจะเขียนเปรียบเทียบกัน Sense and Sensibility เวอร์ชั่นปี 1995 ซึ่งนำแสดงโดย เคท วิลเลท, ฮิว แกรนท์, อลัน ริคแมน และ เอ็มม่า ท็อมป์สัน แต่พอได้ดูเวอร์ชั่นปี 1995 แล้วก็ต้องคิดใหม่ เพราะ หนังสองเวอร์ชั่นที่สร้างมาจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ Sense and Sensibility ผลงานของ เจน ออสเตน เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์นับครั้งไม่ถ้วน แม้ว่าทุกครั้งที่ถูกนำมาถ่ายทอดทั้งเนื้อเรื่อง หรือแม้กระทั่งบทพูด จะไม่ได้แตกต่างกัน แต่ในรายละเอียดของการนำเสนอนั้นย่อมต้องแตกต่างกันไปตามความนิยมของช่วงเวลาที่หนังออกฉาย จึงจะไม่ตัดสินว่าเวอร์ชั่นใดดีกว่า แต่จะขอเปรียบเทียบทั้งสองเวอร์ชั่นในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และกล่าวถึง S&S เวอร์ชั่นปี 1995 ไว้แต่เพียงว่าเป็นเวอร์ชั่นที่สุดยอดในช่วงเวลานั้น เช่นเดียวกันกับที่ S&S ปี 2008 เป็นสุดยอดในช่วงเวลานี้

Sense and Sensibility ปี 2008 ของ BBC นั้น คงเรียกได้ว่าเป็นหนังที่มีทั้งเชื้อชาติ และ สัญชาติอังกฤษ ครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่ สร้างจากเรื่องที่เกิดในประเทศอังกฤษ มีฉากเป็นประเทศอังกฤษ แล้วแสดงโดยนักแสดงอเมริกันล้วนๆ แล้วมีนักแสดงอังกฤษมาแจมแค่คนสองคน อย่างที่มักมีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป แต่ที่สำคัญคือเป็นหนังอังกฤษแท้ๆที่ดี สวย และไม่น่าเบื่อ ไม่แพ้หนังอเมริกัน ฮอลลีวูด

Sense and Sensibility นั้นนำเสนอเรื่องราวความรักสองคู่ของสองพี่น้องที่มีคความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เอลิเนอร์ พี่สาวคนโตนั้นเป็นคนที่มีเหตุผล มีความเป็นผู้ใหญ่สูง เรียกว่ามีความเป็นผู้นำที่แท้จริงของครอบครัวหญิงล้วนที่ประกอบด้วย แม่ และ น้องสาวอีก 2 คน ในยามที่ต้องตกระกำลำบาก ส่วน มารีอานน์ น้องสาวคนรองนั้นเป็นนักดนตรีที่มีอารมณ์ศิลปิลสูง ซึ่งทำให้เธอสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจนโดยไม่คิดที่จะปิดบัง

เอลิน่า ทั้งในเวอร์ชั่นปี 1995 และ 2008 มีความพ้องกันในจุดที่เมื่อเห็นในทีแรกทำให้คิดว่าเป็นนางเอกที่ไม่มีความสวยเลย ออกจะดูเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย เก็บอารมณ์ มีเหตุผล มีความเป็นผู้ใหญ่สูงเสียมากกว่า และยิ่งเมื่อมาจับคู่กันกับ เอ็ดเวิร์ด เฟอราส ยิ่งรู้สึกว่าไปกันไม่ได้ เพราะ เอ็ดเวิร์ด นั้นเป็นหนุ่มรูปหล่อ น่ารัก และ อ่อนโยน ซึ่งแดน สตีเวน ก็ทำได้ดี ไม่แพ้ ฮิว แกรนท์ เมื่อ 13 ปีก่อนหน้า และดูๆไปแล้ว แดน ที่มีใบหน้าน่ารักแบบเดียวกันกับฮิว แกรนท์ นั้นออกจะมีบุคลิกที่มีความเป็นคนจริงจัง เป็นผู้ใหญ่แฝงอยู่ภายใน เหมาะกับบทเสียด้วยซ้ำ เมื่อดูไปนานเข้าแล้วมันเป็นเรื่องประหลาดที่ผู้เขียนค่อยๆเห็น เอลิน่า ในเวอร์ชั่น 2008 สวยขึ้นทีละน้อย เรียกว่าหนังสมารถถ่ายทอดความดีจากภายในของตัวละคร ด้วยความเข้มแข็ง อ่อนโยน ออกมาได้อย่างแยบยล และทำให้เข้าใจในที่สุดถึงความสวยที่ เอ็ดเวิร์ด มองเห็นเมื่อต้นเรื่อง

ในด้านของ มารีอานน์ นั้น รู้สึกว่าในเวอร์ชั่น 2008 กินขาด ประการแรกคือการใช้นักแสดงที่สมกับอายุในเรื่องที่เป็นเด็กสาวอายุ 16 ย่าง 17 ทำให้เธอแสดงอารมณ์รุนแรงแบบวัยรุ่นออกมาได้ดูสมจริงกว่า เคธ วิลเลจ ที่แทบดูไม่ใช่เด็กสาวแรกรุ่น และดูไม่ออกว่าอายุต่างจากพี่สาวมาก เมื่อจับคู่กันกับ วิลาบี้ ที่รับบทโดย โดมินิค คูเปอร์ ซึ่งมีทั้งความหล่อ เซ็กซี่ เป็นทุนอยู่แล้ว ทำให้เขามีบุคลิกของวิลาบี้อยู่ในตัวโดยไม่ต้องทำอะไรมากเลย ทั้งที่รู้ว่า วิลาบี้นั้นไม่ใช่พระเอก แต่ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกัน ความร่าเริง มีเสนห์ ทำให้อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า วิลาบี้ และ มารีอานน์ ดูสมกัน จนพลอยรู้สึกเจ็บปวดไปกับ ผู้พัน แบรนดอน ด้วย

ส่วนผู้พัน แบรนดอน พระเอกแท้ๆนั้นทั้ง อลัน ริคแมน (ศาสตราจารย์ สเนป จากเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั่นเอง) และ เดวิด มอริสซีย์ นั้นถ่ายทอดบุคลิกชายที่มีอดีตขมขื่นจากความรักได้ดี แบรนดอนดูเป็นคนเย็นชา แต่ลึกๆแล้วอ่อนไหว และ ขี้อาย ในเรื่องนั้น แบรนดอน อายุ 35 ปี แต่หลงรัก มารีอานน์ ซึ่งอายุเพิ่งจะ 16 ย่าง 17 เขารู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยซึ่งเป็นหนุ่งในเหตุผลที่ทำให้ มารีอานน์ ไม่ยอมรับรัก

ส่วนตัวนั้นชอบ เดวิด มอริสซีย์ เป็นทุนอยู่แล้ว เขาเคยเล่นเป็นนายทหารเยอรมันในเรื่อง Captain Corelli’s Mandolin (หนังฮอลลีวูด ที่เอาคนอเมริกันมาเล่นเป็นคนอิตาเลียน เอาคนสเปนมาเล่นเป็นคนกรีก แล้วเอาคนอังกฤษมาเล่นเป็นคนเยอรมัน) ในเรื่องนั้นเขาได้บทเล็กๆบทหนึ่งที่มีบุคลิกเย็นชา แต่อบอุ่น และขี้อาย ซึ่งคาดว่าคงเป็นแนวถนัด หรือไม่ก็บุคลิกจริงของ เดวิด ซึ่งทำให้ผู้พัน แบรนดอน ดูน่ารัก และ มีเสนห์มากยิ่งขึ้น ในฉากที่ผู้พัน แบรนดอนมาพบมารีอานน์ที่บ้านนั้น เขาขี่ม้ามาคนเดียว ถือช่อดอกไม้กับโน้ตเพลงมาให้ แต่พอมาถึงบ้าน ทั้งครอบครัวกลับมานั่งพร้อมหน้ากันที่ห้องรับแขกตามมารยาท จนทำให้แบรนดอนเกิดเขิน ยื่นช่อดอกไม้ให้มิสซิส แดชวูด ก่อนที่จะส่งโน้ตเพลงให้ มารีอานน์ แบบลวกๆ ก่อนที่จะขอตัวกลับ อีกตอนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนหลงรักคือในตอนที่แบรนดอนอุ้ม มารีอานน์ ผ่าฝนกลับมาที่คฤหาสน์ เขาแสดงความรักเอ่อท้นออกมาผ่านความห่วงใย กระวนกระวายใจ ซึ่งพออุ้มมาวางบนที่นอนแล้ว ก็ลืมตัวจะปลดเสื้ออกให้ทันที ด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อมานึกได้ว่า มารีอานน์เป็นผู้หญิง ไม่ใช่ทหารในกองทัพ ก็ชะงักแบบเขินๆ แล้วทิ้งหน้าที่พยาบาลไว้ในความรับผิดชอบของเอลิน่าแทน

ตัวละครอีกตัวที่ชอบคือ มากาเร็ต น้องสาวคนเล็ก ที่น่ารักทั้งสองเวอร์ชั่น ในปี 1995 นั้นมากาเร็ตดูเป็นเด็กจริงๆ ขณะที่ปี 2008 ให้ความรู้สึกถึงเด็กหญิงที่กำลังจะโตเป็นสาว แต่ในเวอร์ชั่นหลังดูจะมีบทบาทมากกว่า ในแง่ที่เป็นคนพูดคำพูดคมๆ ซึ่งผู้ใหญ่หลีกเลี่ยงจะพูดออกมาแทนผู้ใหญ่ด้วยความที่เป็นเด็ก

บรรยากาศของหนังทำออกมาเงียบๆ เวิ้งๆ เหมือนหนังที่สร้างจากนิยายของเจน ออสเต็น เรื่องอื่นๆในยุคนี้ เพลงสไตล์โรแมนติก ตอนต้น บรรเลงด้วยเปียโน และ คลาริเน็ท ทำนองหวานเศร้า รับกับบรรยากาศของเรื่อง ตลอดจนทิวทัศน์ริมทะเล และ แนวสำนวนภาษาการบรรยายเรื่องแบบเนิบนาบ ของเจนออสเต็น ได้อย่างลงตัว ในด้านการเดินเรื่องที่ค่อนข้างเร็ว ตัดรายละเอียดปลีกย่อยออกไปไม่น้อย แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถรสแต่อย่างใด

Sense and Sensibility เวอร์ชั่นนี้ไม่เพียงแต่นำวรรณคดีอังกฤษชิ้นงามมาเล่าใหม่ แต่ยังสามารถกลั่นกรองอารมณ์ของเรื่องออกมาจากหนังสือ และ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม ตราตรึงใจ จัดว่าเป็นที่สุดของภาพยนต์จากการประพันธ์ของ เจน ออสเต็น ในยุคนี้เลยก็ว่าได้


เอ็ดเวิร์ด และ เอลิน่า


มารีอานน์ และ วิลาบี้



เคธ วิลเลจ และ อลัน ริคแมน ในปี 1995



ผู้พันแบรนดอน เวอร์ชั่นล่าสุด แสดงโดย เดวิด มอริสซี่

ชม Sense and sensibility แบบเต็มๆ
https://www.youtube.com/watch?v=izhHihTOxmc&feature=related



Create Date : 01 สิงหาคม 2553
Last Update : 1 สิงหาคม 2553 18:24:12 น.
Counter : 10774 Pageviews.

4 comment
ชีวประวัติ โจ๊กเกอร์ และ ฮาร์เลย์ ควิน (Joker & Harley)
แน่นอนว่าหลายคนที่ดู Batman เวอร์ชั่นล่าสุดที่นำแสดงโดยคริสเตียน เบล คงจะประทับใจในฝีมือการแสดงที่เหนือคำบรรยายของ ฮีธ เล็ธเจอร์ ในบทของโจ๊กเกอร์ และ ข้องใจในการตายปริศนาของผู้แสดง กระทั่งเกิดความสนใจในที่มาที่ไปอันลึกลับของตัวละครตัวนี้

อันที่จริงแล้วโจ๊กเกอร์ในเรื่อง Batman นั้นมีมากมายหลายเวอร์ชั่นและไม่มีชีวประวัติแน่ชัด เพราะแต่ละเวอร์ชั่นก็มีประวัติที่มาแตกต่างกันไป เช่น โจ๊กเกอร์ใน Batman เวอร์ชั่นล่าสุดนั้นมีภูมิหลังเป็นเด็กที่ถูกพ่อทารุณกระทั่งกลายเป็นฆาตกรโรคจิตในที่สุด ส่วนเวอร์ชั่นที่แจ็ค นิโคสัน เล่นไว้นั้น โจ๊กเกอร์เดิมชื่อ แจ็ค เนเปียร์ เป็นหนึ่งในแก๊งมาเฟีย แต่ถ้าหากอ้างอิงจากผลงานกึ่งชีวประวัติโจ๊กเกอร์ เรื่อง Batman :The killing joke ของ Brian Bolland นั้นเดิมโจ๊กเกอร์ก็เป็นผู้ชายธรรมดาๆคนหนึ่งที่เดิมเคยทำงานหาเลี้ยงภรรยาเป็นผู้ช่วยในห้องทดลอง และเปลี่ยนงานมาทำงานสายเอนเตอร์เทน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีใครขำมุขของเขา ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้เขาและภรรยาที่ท้องแก่ใกล้คลอดอยู่ในสภาพอัตคัต ต้องอาศัยอยู่ในห้องแบ่งเช่าโกโรโกโส แจ็คจึงตัดสินใจทำงานให้กับแก๊งมาเฟีย โดยหวังว่าจะเอาเงินมาจุนเจือครอบครัว

แก๊งมาเฟียให้แจ็คปลอมเป็นเรดฮูด เข้าบุกโรงงานยา แต่คืนก่อนปฏิบัติการแจ็คได้รับแจ้งว่า เจนนี่ ผู้เป็นภรรยาได้เสียชีวิตแล้วโดยอุบัติเหตุ แจ็คจึงไม่ต้องการที่จะปฏิบัติการต่อไป แต่ถูกแก๊งมาเฟียบังคับ ด้วยความเศร้า เหม่อลอย และ ไม่ทันระวัง ระหว่างบุกโรงงาน แจ๊คจึงพลัดตกลงไปในบ่อสารเคมี ทำให้ผิวกลายเป็นสีขาวเผือก ผมกลายเป็นสีเขียว และกลายเป็นบ้าในที่สุด

ชีวประวัติของโจ๊กเกอร์จาก Batman: The killing joke เล่มนี้เป็นต้นตำรับของโจ๊กเกอร์แทบทุกเวอร์ชั่นที่ถูกนำไปดัดแปลง แม้กระทั่งในเวอร์ชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ฮีธ เล็ธเจอร์ เพราะจากบทสัมภาษณ์ ฮีธ ก็ได้อ้างอิงว่าศึกษาบทจากหนังสือเล่มนี้ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่าหนังสือเล่มนี้อาจมีส่วนต่อการเสียชีวิตของ ฮีธ ด้วยเพราะเนื้อเรื่องภายในค่อนข้างกดดัน และ มีการนำเสนอที่ ชวนหดหู่ ประกอบกับบุคลิกโดยทั่วไปของโจ๊กเกอร์จากแหล่งอื่นๆ ก็ล้วนแต่ดำมืด วิปริต เมื่อฮีธ ศึกษาตัวลครนี้ลึกลงไป และยิ่งต้องซึมซับเอาความคิดจิตใจของตัวละครมา เพื่อที่จะถ่ายทอดออกมาโดยการแสดง ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เขารู้สึกหดหู่ กดดัน และรู้สึกถึงความดำมืดวิปริตโดยตรง จนเป็นสาเหตุของการตาย

Harley Quin
เมื่อกล่าวถึงโจ๊กเกอร์แล้ว อีกคนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ย่อมเป็น ฮาร์เลย์ ควิน ตัวตลกหญิงที่มาเป็นคู่กันกับโจ๊กเกอร์ ฮาร์เลย์ ควิน เองก็มีชีวประวัติคลุมเคลือ และ ถูกดัดแปลงหลายฉบับเช่นเดียวกันกับโจ๊กเกอร์ แต่หลักๆแล้ว เธอมีชื่อจริงว่า ฮาร์ลีน ควินเซล เป็นจิตแพทย์หญิงที่มีความสามารถด้านยิมนาสติก และสำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย ก่อนจะมาทำงานที่ Arkham Asylum ซึ่งโจ๊กเกอร์ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น ด้วยความทะเยอทะยาน ดร.ฮาร์ลีน ได้ทำวิจัยและพูดคุยกับโจ๊กเกอร์ตัวต่อตัว โดยไม่สนใจต่อคำเตือนของจิตแพทย์คนอื่นๆ ถึงความร้ายกาจของโจ๊กเกอร์ กระทั่งท้ายที่สุดจิตแพทย์สาว ก็หลงกล หลงคารม และ หลงรัก คนไข้โรคจิตของเธอจนถอนตัวไม่ขึ้น ถึงขนาดที่ยอมปล่อยโจ๊กเกอร์ออกจากสถานคุมขัง ในตอนท้ายของเรื่องนั้น หนังสือ 2 เล่มที่กล่าวถึงชีวประวัติของ ฮาร์เลย์ ควิน เขียนต่างกัน จากเรื่อง Mad Love นั้นจบแบบเกือบๆ แฮปปี้เอนดิ้ง คือ โจ๊กเกอร์หนีไปได้ แต่ถูกจับกลับมาอีกในสภาพสะบักสะบอม ดร.ฮาร์ลีน จึงได้ตัดสินใจพาโจ๊กเกอร์หนีออกไปอยู่กินด้วยกัน (อย่างมีความสุขหรือเปล่าก็ไม่รู้....) ส่วนหนังสือเรื่อง Harley Quin นั้น หลังจากที่ ดร.ฮาร์ลีน ปล่อยโจ๊กเกอร์ออกไป ตัวเองก็ถูกจับ และพบว่ามีสภาพจิตไม่ปกติ จึงถูกกักขังไว้โดยได้แต่หวังลมๆแล้งๆว่าวันหนึ่งสุดที่รักของเธอจะหวนกลับมาช่วยเธอออกไป กระทั่งวันหนึ่งเกิดแผ่นดินไหว เธอจึงหนีออกมาได้ และ กลับมาหาโจ๊กเกอร์สุดที่รักของเธอได้ในที่สุด

ฮาร์เลย์ ควินนั้นเป็นตัวละครที่ดูไปแล้วแทบจะตลกร้ายกว่าโจ๊กเกอร์เองเสียอีก ตั้งแต่ชีวประวัติของเธอที่เป็นจิตแพทย์ แต่กลับหลงรักคนไข้โรคจิต และ กลายเป็นฆาตกรโรคจิตไปเสียเอง บุคลิกของฮาร์เลย์ นำเสนอบุคลิกของผู้หญิงทั่วไปที่เวลาที่มีความรัก เธอรักโจ๊กเกอร์หัวปักหัวปำ และตามเขาไปทุกที่ ความรักของเธอรุนแรงทำให้บางครั้งก็แค้นโจ๊กเกอร์ถึงขนาดจะฆ่าให้ตาย แต่พอโจ๊กเกอร์หยอดคำหวานก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างโจ๊กเกอร์และฮาร์เลย์ นั้นค่อนข้างซับซ้อน ในทุกเวอร์ชั่น โจ๊กเกอร์มักจะพยายามทุกวิถีทางที่จะสลัดฮาร์เลย์ทิ้งไป ทั้งย้ายหนีโดยไม่บอก ผลักให้แบทแมนจับ ถึงขนาดวางแผนฆ่าก็มี แต่สุดท้ายฮาร์เลย์ ก็กลับมาได้ทุกครั้ง โจ๊กเกอร์มักปฏิบัติกับฮาร์เลย์แบบซาร์ดิสม์ มือถึง เท้าถึง จะดีกับฮาร์เลย์ก็เฉพาะเวลาที่หลอกใช้ มีผลประโยชน์ แต่ลึกๆแล้วในใจโจ๊กเกอร์ก็น่าจะรักฮาร์เลย์อยู่เช่นกัน เหมือนกับว่ารำคาญ แต่ก็ขาดไม่ได้ อ้างอิงจากหลายๆเวอร์ชั่น เช่น Harley Quin ในตอนที่โจ๊กเกอร์หลอก ฮาร์เลย์ เข้าไปในร็อกเกต โจ๊กเกอร์คิดว่าฮาร์เลย์จะต้องตายแน่นอนจึงทิ้งเทปวีดีโอไว้ในร็อกเกต เผยความในใจว่าตลอดเวลาที่ฮาร์เลย์ตามมาอยู่ด้วยทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวในใจ และโจ๊กเกอร์เกลียดความรู้สึกแบบนี้จึงต้องฆ่าเธอซะ

ความสัมพันธ์แบบบ้าๆ ของคนบ้าสองคน คล้ายกับจะสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักชายหญิงทั่วๆไปเวลาที่รักกันผู้หญิงมักจะยอมทุกอย่าง รักจริง แค้นจริง ส่วนผู้ชายนั้นรักอิสระ แต่จริงๆแล้วก็ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้



Create Date : 24 กรกฎาคม 2553
Last Update : 24 กรกฎาคม 2553 21:58:36 น.
Counter : 37749 Pageviews.

4 comment
1  2  

The Marriage Of Figaro
Location :
Queensland  Australia

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ศึกษาด้านดนตรีที่ Queensland Conservatorium
มีความสนใจพิเศษด้าน ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม และ ประวัติศาสตร์