แดจังกึม & ท่านหญิงอัตสึ ความเหมือนที่แตกต่าง
ได้กลับมาดูละครเรื่องเจ้าหญิงอัตสึอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันกับที่ดูเรื่องแดจังกึม ดูไปแล้วละครสองเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก เพราะต่างก็เป็นละครย้อนยุคที่กล่าวถึงชีวิตของผู้หญิงซึ่งมีตัวตนจริง ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์อีกด้วย

แม้จะมีความคล้ายคลึงในแง่ที่ต่างก็เป็นละครที่ดี มีสาระให้แง่คิด แต่การนำเสนอนั้นกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าแยกเปรียบเทียบกันทีละข้อนั้นจะเห็นว่า แดจังกึมชนะเจ้าหญิงอัตสึขาดลอยในด้านเนื้อเรื่อง ด้วยความยาวของเนื้องเรื่องที่ไล่เลี่ยกัน แดจังกึมมีเนื้อเรื่องที่สลับซับซ้อน สนุกสนานชวนติดตาม และง่ายต่อการเข้าใจ แม้จะอิงประวัติศาสตร์ แต่ก็อ้างอิงถึงเรื่องทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนน้อย เน้นหนักไปในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดภายในห้องเครื่อง ฝ่ายใน ซึ่งเกี่ยวพันกับตัวละครหลักๆ ทำให้กรอบของเรื่องแคบลง การเดินเรื่องง่าย ง่ายแก่การเข้าใจ ส่วนเจ้าหญิงอัตสึนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นละครสารคดีประวัติศาสตร์ เพราะ 80% ของเนื้องเรื่องนำเสนอประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ซับซ้อน ต้องใช้สมาธิในการชมสูง เพราะกรอบของเนื้องเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ ฐานันดรศักดิ์ ตำแหน่งความสำคัญซึ่งค่อนข้างชวนสับสน และแม้ว่าเนื้อเรื่องหลักจะเป็นชีวประวัติของท่านหญิงอัตสึ แต่เนื้อเรื่องก็มักกระโดข้ามไปมา ระหว่าสัตสุมะ เอโดะ เกียวโจ ไม่ได้รวมอยู่ที่ตัวท่านหญิงแต่เพียงจุดเดียว

ในองประกอบด้านภาพ ชุด และ ฉากนั้นต้องยกให้เรื่องเจ้าหญิงอัตสึ อย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะการถ่ายภาพ ตลอดจนองประกอบต่างๆของเรื่องแดจังกึมนั้นคงต้องบอกว่าแทบจะถอดแบบ ละครไต้หวัน หรือฮ่องกง ออกมาทุกอย่าง ผิดกันแค่เครื่องแต่งกาย วัฒนธรรม และ รายละเอียดปลีกย่อยนั้นเป็นเกาหลีเท่านั้น ส่วนแสงที่สว่างเสมอกัน และมุมกล้องตรงๆนั้นเป็นแบบเดียวกับในละครจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่เราคุ้นเคยกันดี เท่าที่ดูมานั้นมีฉากที่ดูแล้วสวยอยู่ฉากเดียว คือฉากที่ซอจังกึมเดินลุยน้ำทะเลเล่น แล้วหันมาพบกับมินจุงโฮซึ่งยืนอยู่บนโขดหินบนชายหาดโดยบังเอิญ โดยมีอาทิตย์อัสดงบนน้ำทะเลเป็นฉากหลัง สวย หวาน โรแมนติกตามสไตล์ถนัดของละครเกาหลี ในทางตรงกันข้าม เจ้าหญิงอัตสึ เป็นละครที่มีองประกอบทุกอย่างพิถีพิถัน ทั้งการใช้มุมกล้อง และ แสงที่ดูนวลตาไม่มืดไม่สว่างจนกระด้าง เสื้อผ้าและฉากก็สวยสมจริง แต่ตัวเรื่องมีตอนที่สนุกชวนติดตามจริงๆอยู่แค่ในระหว่างที่ท่านหญิงอัตสึแต่งงานกับโชกุนอิเอซะดะ กระทั่งเปลี่ยนเป็นสมัยของโชกุนอิเอโมชิเท่านั้น

ในเรื่องอขงตัวละคร แดจังกึมมีตัวลครที่มีความหลากหลายกว่า และ มีบุคลิกชัดเจน เช่น นางเอกที่มีความดีงาม พระเอกที่มีความเสียสละ ตัวร้ายที่มีความคดโกง ผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา และ เพื่อนที่ซื่อสัตย์ ส่วนเจ้าหญิงอัตสึนั้น จะเห็นว่าตัวละครมีบุคลิกอยู่กึ่งกลาง ไม่ดี และไม่ร้ายในทีเดียว ถ้าเป็นสีก็ไม่มีใครเป็นสีดำ หรือ สีขาว เรียกว่าเป็นสีเทาๆ ที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างอยู่ในตัว เพราะตัวละครทั้งหมดล้วนแต่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถตัดสินให้เป็นคนดี หรือ ผู้ร้ายได้ แม้กระทั่งตัวละครชายก็ยังยากที่จะตัดสินว่าระหว่าง นาโอโกโร่ ที่ดูมีความผูกพันลึกซึ้งกับท่านหญิงอัตสึมาตั้งแต่ต้นจนจบ กับ ท่านโชกุน อิเอซาดะ ผู้เป็นสามีของท่านหญิง ใครกันแน่ที่ควรเรียกว่าเป็นพระเอก

ในด้านบทบาทตัวละครและความสามารถของนักแสดง จากทั้งสองเรื่องมีเพียงบทเดียวที่โดดเด่นคือบทของโชกุนอิเอซาดะ จากเรื่องเจ้าหญิงอัตสึ ด้วยบุคลลิกที่ซับซ้อนชวนค้นหา และ ความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ของผู้แสดง (มาซาโตะ ซาคาอิ) ซึ่งสามารถแสดงสีหน้า ท่าทาง ตลอดจนการใช้เสียงได้อย่างเยี่ยมยอด ทำให้บทเล็กๆบทนี้มีชีวิตชีวา และ ติดอยู่ในใจของผู้ชมได้อย่างที่ไม่มีตัวละครตัวไหนจะสามารถเทียบได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมุมมองการนำเสนอที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ทั้งแดจังกึม และ เจ้าหญิงอัตสึ ก็ต่างเป็นละครที่ปลูกฝังคุณธรรม แดจังกึมให้แง่คิดในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ ส่วนเจ้าหญิงอัตสึนั้น สื่อให้เห็นถึงพลังแห่งความรักชาติ แผ่นดินเกิด ทั้งสองเรื่องจึงจัดว่าเป็นละครที่น่าจดจำ และควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง



Create Date : 24 กรกฎาคม 2553
Last Update : 24 กรกฎาคม 2553 20:23:53 น.
Counter : 2252 Pageviews.

3 comment
1  2  

The Marriage Of Figaro
Location :
Queensland  Australia

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ศึกษาด้านดนตรีที่ Queensland Conservatorium
มีความสนใจพิเศษด้าน ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม และ ประวัติศาสตร์