Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 
สยามในอดีต ตอนที่หนึ่ง

พิรัส จันทรเวคิน

เนื้อหาของบทความนี้นำมาจากบทความเรื่อง "King Mongkut of Siam" ที่เขียนโดย Robert Bruce และลงพิมพ์ในวารสาร History Today ฉบับเดือนตุลาคม 1968 ซึ่งเป็นการนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของสยามในสายตาของนักประวัติศาสตร์ตะวันตก

ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบปีที่แล้ว สยามประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงกับการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจตะวันตก ประเทศกำลังถูกคุกคามจากภัยรอบด้าน ด้วยเนื่องจากว่าทางด้านทิศตะวันตกศัตรูคู่อาฆาตมาช้านานอย่างพม่า ก็ได้ถูกพิชิตและยึดครองโดยพวกอังกฤษ ส่วนทางด้านทิศตะวันออกฝรั่งเศสเองก็กำลังแผ่ขยายอธิพลของตนเข้ามายังแว่นแคว้นอินโดจีน และในขณะเดียวกันทางด้านทิศใต้สิงห์โตจากบริเตนใหญ่ก็กำลังรุกคืบเข้ามาในคาบสมุทรมลายา โลกกำลังอยู่ในยุคทองของการล่าอณานิคม กระทั่งมหาอำนาจในภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่มาช้านานอย่างจีนเอง ก็ยังต้องปราชัยให้กับกองกำลังขนาดเล็กที่ติดอาวุธอันทันสมัยของพวกตะวันตกในสงครามฝิ่นครั้งแรก จนต้องสูญเสียพื้นที่บางส่วนของประเทศไป หากสยามไม่ปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกแล้ว ก็มีหวังคงไม่แคล้วปากเหยี่ยวปากกาครั้งนี้ไปได้เป็นแน่แท้

นับว่าเป็นโชคดีที่สยามมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีวิสัยทรรศน์อันกว้างไกลอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่ชาวตะวันตกเรียกกันจนติดปาก King Mongkut ด้วยแนวคิดที่เปิดกว้างตลอดจนถึงพระอัจฉริยะภาพทางการทูตอันหาตัวจับยากของพระองค์ ราชอณาจักรสยามจึงสามารถประคองตนให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองในครั้งนี้ไปได้ และได้กลายมาเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงพระราชกรณียกิจในด้านการต่างประเทศของพระองค์แล้ว ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะได้แก่การลงนามในสัญญาทางการค้าและพันธไมตรีกับราชอณาจักรอังกฤษหรือบริเตนใหญ่ ที่เรียกกันว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” เมื่อวันที่ 18 เมษายน ปี 1855 ถือได้ว่าเป็นการเปิดประเทศเป็นครั้งแรกหลังจากการล่มสลายของราชอณาจักรอยุธยา ซึ่งเมื่อมองอีกนัยนะหนึ่งก็เท่ากับว่าราชอณาจักรบริเตนใหญ่ให้การรับรองในความเป็นเอกราชของสยามนั่นเอง



การเปิดประเทศของสยามแตกต่างจากการเปิดประเทศของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งในรายแรกเกิดจากความปราชัยในสนามรบ และในรายหลังเกิดจากการคุกคามด้วยกำลังทางเรือที่เหนือกว่า หากทว่าสยามสมัครใจที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติตะวันตกโดยปราศจากการสู้รบหรือการข่มขู่คุกคามใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของล้นเกล้ารัชกาลที่สี่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงประเด็นนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตข้างหน้าของประเทศ ทั้งนี้เพราะหลังจากเปิดสัมพันธ์ไมตรีกับอังกฤษได้ไม่นาน ก็ได้มีการลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสตลอดจนบรรดาชาติอื่นๆในยุโรป ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวสยามได้ยกเลิกระบบผูกขาดทางการค้าที่มีอยู่มาช้านาน และเปิดรับนโยบายการค้าเสรี มีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในอัตราที่แน่นอน เป็นผลให้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับเทคโนโลยี่และระบบการจัดการตลอดจนแนวคิดสมัยใหม่จากตะวันตก เพื่อนำมาใช้ในการปฏิรูประเทศให้ทันสมัยตามแบบอย่างของชาติที่เจริญแล้ว

เป็นระยะเวลากว่าศตวรรษครึ่งมาแล้วหลังจากคณะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่นำพระราชสาสน์เดินทางมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีในปี 1689 ที่ราชอณาจักรสยามแทบมิได้มีการติดต่อกับชาติใดๆในซีกโลกตะวันตกเลย แต่กลับมุ่งความสนใจของตนไปที่การทำศึกสงครามกับพม่า ซึ่งต่อมาพม่าก็ได้เข้ายึดและเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาลงในปี 1767 ต่อมาเมื่อมีการสถาปนาราชวงศ์ใหม่โดยย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่บางกอกเมื่อปี 1782 พวกอังกฤษในนามของบริษัทอีสต์อินเดียคัมปานีก็กำลังสร้างฐานอำนาจของตนในอินเดีย การค้าขายใบชากับจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและทำกำไรอย่างงดงามให้กับบริษัท ส่วนทางด้านทิศใต้ในคาบสมุทรมลายานั้น กัปตันฟรานซิส ไลท์ ก็ประสพความสำเร็จในการทำสัญญาเช่าเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ (กลันตัน) เพื่อใช้เป็นเมืองท่าสำคัญทางการค้า เคดาห์ในห้วงเวลานั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในเขตอธิพลของสยาม หากทว่ารัชกาลที่หนึ่งทรงกำลังยุ่งอยู่กับการสร้างนครหลวงแห่งใหม่ เกินกว่าที่จะมาสนพระทัยกับการแผ่ขยายอธิพลของอังกฤษเข้ามาในมลายู ด้วยเหตุนี้สยามจึงถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าสยามอยู่ในเส้นทางการค้าและการเดินเรือ หากแต่เป็นเพราะรัฐเคดาห์และรัฐอื่นๆในมลายาต่างหาก



ต่อมาในปี 1818 หลังจากได้วางฐานไว้เป็นที่มั่นคงแล้ว ราชวงศ์ใหม่แห่งสยามจึงได้หันเหความสนใจมายังคาบสมุทรมลายู สยามได้บีบบังคับให้รัฐเคดาห์ในฐานะที่เป็นเมืองขึ้น เข้าทำการโจมตีเปรัคซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้าน และเพื่อสนับสนุนการรบ กองทัพจากสยามจึงได้เคลื่อนพลเข้ายึดครองเคดาห์ เป็นผลให้สุลต่านแห่งเคดาห์ต้องหนีไปตั้งหลักยังเกาะปีนัง การกระทำดังกล่าวของสยามสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งให้กับเหล่าพ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทอีสต์อินเดียที่เมืองกัลกัตตา แต่ทว่าคณะผู้บริหารของบริษัทได้มีคำสั่งออกมาว่าให้หลีกเลี่ยงการทำสงครามกับสยาม เพราะว่าจะส่งผลเสียหายให้กับตัวบริษัท รวมถึงแผนการณ์แผ่ขยายอธิพลของอังกฤษเข้ามายังภูมิภาคแห่งนี้ แต่ให้หันไปดำเนินนโยบายประนีประนอมแทน ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าอังกฤษในช่วงเวลานั้นกำลังทำการรบติดพันอยู่กับพม่า ดังนั้นจึงต้องการแรงสนับสนุนจากสยาม ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งใดๆกับทางราชสำนักสยามจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์และควรหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด

จุดมุ่งหมายของบริษัทอีสต์อินเดียในเวลานั้นนอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับราชสำนักสยามแล้ว ก็คือการเร่งปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้ากับสยามให้เป็นระบบและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้เอง สแตมฟอร์ด ราล์ฟเฟิล ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงค์โปร์ ได้บรรยายเอาไว้ด้วยความคับแค้นใจว่า "สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปขายได้ถูกนำไปกำนัลให้กับบรรดาเหล่าเจ้านายชั้นสูง มีเพียงส่วนที่เหลือจากการคัดแยกแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไปได้ การทำการค้าในลักษณะเช่นนี้มีแต่จะสร้างความขาดทุนให้กับบริษัท" ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยาสถานการณ์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียจึงได้ส่งมิสเตอร์ จอห์น ครอฟอร์ด (จอน การะฟัด) ให้เดินทางเข้ามายังบางกอกในปี 1822 เพื่อเปิดการเจรจา ครอฟอร์ดได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่สองและใช้เวลาอยู่ในบางกอกประมาณสี่เดือน แต่ทว่าการเจรจากับราชสำนักสยามก็กลับมิได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งในเรื่องของการค้าและการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ตลอดจนถึงเรื่องการขอยกเว้นบทลงโทษตามกฏหมายไทยซึ่งดูป่าเถื่อนโหดร้ายในสายตาของโลกตะวันตกให้กับคนที่ถือสัญชาติอังกฤษที่กระทำความผิดภายในราชอณาจักร



ต่อมาอีกสี่ปีให้หลังในปี 1826 บริษัทอีสต์อินเดียได้มีความพยายามอีกครั้งด้วยการส่งกัปตัน เฮนรี่ เบอร์นีย์ (หันตรีบารนี) เดินทางเข้ามาเปิดการเจรจารอบใหม่กับราชสำนักสยาม ซึ่งในภารกิจครั้งนี้สภาพการณ์โดยรอบได้ผิดแผกไปจากเดิม จักรวรรดิ์อังกฤษได้รับชัยชนะในการทำศึกกับพม่า และสยามมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม เบอร์นีย์ใช้เวลาในการเจรจาอยู่เก้าเดือนจนสามารถบรรลุข้อตกลงกับราชอณาจักรสยามได้ในระดับหนึ่ง แต่ทว่าปัญหาสำคัญยังคงอยู่ นั่นก็คือประเด็นเรื่องรัฐเคดาห์ซึ่งสยามได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าจะต้องอยู่ภายใต้อาณัติของตนต่อไป กับประเด็นเรื่องการให้สิทธิ์สภาพนอกอณาเขตแก่พลเมืองอังกฤษ ซึ่งสยามได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน นอกจากนี้แล้วเบอร์นีย์ยังล้มเหลวในการขออณุญาตก่อตั้งสถานกงศุลอังกฤษในบางกอกอีกด้วย อย่างไรก็ตามการเจรจาครั้งนี้สามารถถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย


Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 14:21:50 น. 1 comments
Counter : 2802 Pageviews.

 
คลิปวิดีโอการเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับราชอณาจักรสยามของเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1855 เซอร์จอห์นเดินทางมากับเรือรบหลวงแรทเลอร์ (HMS Rattler) ล่องเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยได้ทำข้อตกลงล่วงหน้ากับสยามไว้แล้วว่า จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนในนครหลวงทราบเป็นการล่วงหน้าหนึ่งวัน ก่อนการทำพิธียิงสลุตโดยปืนใหญ่ประจำเรือทั้งสิบสองกระบอก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและความแตกตื่นตกใจ - เครดิตจากภาพยนตร์เรื่อง "ทวิภพ"



โดย: piras วันที่: 29 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:56:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.