Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 

สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่ห้า (จบ)

พิรัส จันทรเวคิน

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม ปี 1864 สถานการณ์ของฝ่ายใต้เริ่มเข้าขั้นวิกฤติหนักขึ้น เมื่อนายพลวิลเลียม ติคัมเช่ เชอร์แมน ผู้ซึ่งเป็นมือขวาของนายพลแกรนท์ ผู้บัญชาการทหารทั่วไปของกองทัพฝ่ายยูเนี่ยน นำทัพกว่าหนึ่งแสนนายเข้าตีเมืองแอตแลนต้า ในมลรัฐจอร์เจีย โดยมีจุดประสงค์ที่จะเคลื่อนพลไปยังเมืองซะวันนาที่ริมฝั่งแอตแลนติก เพื่อตัดแบ่งประเทศของฝ่ายใต้ออกเป็นสองส่วน และในการเดินทัพครั้งนี้ เชอร์แมนได้ใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ในการรบ โดยการเข้ายึดและเผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่เว้นแม้แต่ทรัพย์สินของพลเรือน ทั้งนี้ก็เพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของแนวหลังฝ่ายใต้ การกระทำของเชอร์แมนได้สร้างความเจ็บแค้นใจเป็นล้นพ้นให้กับมวลชนฝ่ายใต้ แม้จนกระทั่งในปัจจุบันที่กาลเวลาได้ล่วงเลยไปถึงกว่าหนึ่งร้อยปี แต่ก็ยังมีทายาทของผู้เคราะห์ร้ายอีกนับหมื่นที่ไม่เคยให้อภัยกับการกระทำอันป่าเถื่อนโหดร้ายในครั้งนี้ของเชอร์แมน

แอตแลนต้าถูกยึดได้ในวันที่ 2 กันยายน หลังจากที่ยึดครองอยู่นานสองเดือน เชอร์แมนจึงได้สั่งให้เผาเมืองทิ้งในวันที่ 15 พฤศจิกายน ก่อนเคลื่อนพลจำนวน 62,000 นายออกเดินทัพตัดผ่านจอร์เจียเพื่อไปยังชายฝั่งแอตแลนติก ทิ้งเศษซากปรักหักพังของแอตแลนต้า เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นลำดับสองของฝ่ายใต้เอาไว้ที่เบื้องหลัง กองทัพของเชอร์แมนได้สร้างความพินาศย่อยยับไปตามตลอดเส้นทางของการเดินทัพเป็นระยะทางกว่า 300 ไมล์ ด้วยการปล้นสะดมภ์และเผาทำลาย ไม่มีสิ่งใดเหลือรอดจากเงื้อมมือของนายพลที่โหดร้ายผู้นี้ไปได้ ทั้งบ้านช่องเรือกสวนไร่นาตลอดจนบรรดาฝูงปศุสัตว์ ยกเว้นก็แต่ปล่องไฟของเศษซากอาคารที่กลายเป็นเถ้าถ่านเท่านั้น พลเมืองของฝ่ายใต้นับแสนๆคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว กลายเป็นคนไร้ถิ่นฐานไปในดินแดนบ้านเกิดของตนเอง

ข่าวคราวการเดินทัพของเชอร์แมนได้ห่างหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ทางฝั่งเหนือไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง อันเนื่องมาจากการปิดข่าวและความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารสมัยนั้น จนกระทั่งเมื่อกองทัพของเขาเดินทางมาถึงเมืองซะวันนาที่ริมฝั่งแอตแลนติก เชอร์แมนจึงได้โทรเลขแจ้งไปยังประธานาธิบดีลินคอนน์ เพื่อรายงานให้ทราบถึงความสำเร็จของยุทธการครั้งนี้ และอีกทั้งเพื่อเป็นการส่งมอบเมืองที่เพิ่งยึดมาได้ให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาส ปี 1864 แก่ท่านประธานาธิบดี ยุทธวิธีการทำลายล้างแบบ Scorched Earth ของเชอร์แมนนั้นแม้จะมิใช่ของใหม่ แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกที่มีการนำมาใช้บนผืนแผ่นดินอเมริกา และทำให้ชื่อเสียงของเชอร์แมนต้องมัวหมองและได้รับการสาปแช่งจากผู้คนทางตอนใต้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน



ถัดขึ้นไปทางตอนเหนือ กองทัพแห่งโปรโตแมคของแกรนท์จำนวนกว่า 125,000 นายได้ทำการปิดล้อมกองทัพแห่งเวอร์จิเนียเหนือของลีจำนวน 35,000 นายเป็นเวลากว่าเก้าเดือนในสงครามสนามเพลาะที่เมืองปีเตอร์เบิร์กในมลรัฐเวอร์จิเนีย ลีพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะยันการรุกคืบของแกรนท์ เพราะหากว่ากองทัพของเขาต้องล่าถอย นั่นก็หมายความว่าหนทางได้เปิดกว้างสำหรับกองทัพฝ่ายยูเนี่ยนในการเข้ายึดริชมอนด์ เมืองหลวงของฝ่ายใต้ ทว่าสถานการณ์ของลีกำลังคับขันขึ้นทุกขณะ อันเนื่องมาจากการขาดเสบียงและการขาดขวัญกำลังใจในการสู้รบของทหารในบังคับบัญชา ทหารของเขากว่าหกสิบเปอร์เซนต์ได้พากันละทิ้งอาวุธและหนีทัพเพื่อกลับไปยังบ้านเกิด ลีตระหนักดีว่ามีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่สามารถจะทำให้สงครามดำเนินต่อไป นั่นก็คือจะต้องรักษากำลังทหารเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ตัดสินใจถอนทัพเพื่อถอยไปรวมพลกับกองทัพแห่งเทนเนสซีของนายพลโจเซฟ อี จอห์นสตัน ที่รัฐนอร์ธคาร์โลไลนา โดยยอมทิ้งริชมอนด์ให้กับพวกแยงกี้

ข่าวการถอนทัพของลีสร้างความตกตะลึงให้กับเจฟเฟอร์สัน เดวิสและชาวเมืองริชมอนด์เป็นล้นพ้น ประธานาธิบดีเดวิสถึงกับหน้าถอดสีเมื่อได้รับจดหมายแจ้งข่าวจากลีในระหว่างที่กำลังทำพิธีอยู่ในโบส์ถวันอาทิตย์ ทันทีที่ได้รับทราบ เขารีบเดินทางออกจากโบส์ถกลับไปยังทำเนียบรัฐบาล และสั่งให้รีบทำการเก็บข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดเพื่อเคลื่อนย้ายคณะรัฐบาลไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ ได้เกิดความแตกตื่นโกลาหลไปทั่วทั้งเมืองเมื่อเจฟ เดวิสกับคณะรัฐมนตรีของเขาออกเดินทางโดยขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายออกจากริชมอนด์ในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ปี 1865 ทิ้งให้ชาวเมืองทั้งหมดต้องอยู่รอรับชะตากรรมที่กำลังจะมาถึงจากพวกแยงกี้



กองทัพของลีถูกไล่ล่าจนถอยไปจนมุมที่เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนียที่มีชื่อว่า “อโพเมติค” เมื่อนายพลลีเห็นทหารในบังคับบัญชาของตนขาดขวัญกำลังใจในการสู้รบและหมดเรี่ยวแรงที่จะเดินทัพต่อ เขาจึงพิจารณาถึงทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเหล่าทหารหาญที่ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา นั่นก็คือการยอมจำนนต่อนายพลแกรนท์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาชีวิตทหารเอาไว้ เพราะสำหรับแม่ทัพที่เจนศึกอย่างลีแล้ว สงครามได้พ่ายแพ้ไปเป็นที่เรียบร้อยเบ็ดเสร็จแล้ว จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่จะต้องมาสู้รบกันอีกให้เป็นการสิ้นเปลืองชีวิตผู้คน ได้มีการติดต่อประสานงานกันระหว่างกองบัญชาการของทั้งสองฝ่าย จนในที่สุดก็ได้มีการกำหนดวันเวลาและสถานที่สำหรับการเจรจายอมจำนน สถานที่ก็คือบ้านนาสุดหรูของนายหน้าค้าน้ำตาลชาวใต้ผู้หนึ่งนามว่าวิลเมอร์ แมคคลีน ส่วนกำหนดการก็คือวันที่อาทิตย์ที่ 9 เมษายน ปี 1865 ซึ่งเป็นวันปาล์ม ซันเดย์ หนึ่งอาทิตย์ก่อนถึงเทศกาลอีสเตอร์

9 เมษายน 1865 เวลาเที่ยงวัน นายพลลีในชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศควบม้าอย่างสง่าผ่าเผยมาถึงสนามหน้าบ้านของมิสเตอร์แมคคลีน แล้วจากนั้นก็เข้าไปนั่งรอแกรนท์ภายในห้องรับแขก หลังจากนั้นไม่นานนายพลแกรนท์ในชุดสนามเปื้อนโคลนพร้อมด้วยเหล่าคณะเสนาธิการก็ได้เดินทางมาถึง และติดตามลีเข้าไปในบ้านพัก ทั้งสองนายพลจับมือทักทายกันอย่างสุภาพ แกรนท์พยายามสร้างบรรยากาศของความเป็นกันเองด้วยการรื้อฟื้นความหลังสมัยสงครามเม็กซิกันที่ตนยังคงเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อย โดยหวังว่าลีจะสามารถจดจำเขาได้ แต่ลีในฐานะนายทหารที่มีอาวุโสสูงที่สุดในกองทัพและมีลูกน้องมากมายกลับนึกไม่ออกว่าได้เคยพบกับแกรนท์ที่ไหนมาก่อน ลีเป็นฝ่ายเริ่มเข้าประเด็นโดยถามแกรนท์ถึงเงื่อนไขของฝ่ายรัฐบาลกลางสำหรับการยอมจำนนในครั้งนี้ แกรนท์จึงได้อธิบายให้ฟังถึงเงื่อนไขต่างๆ นั่นก็คือให้ทหารฝ่ายใต้ทั้งหมดยอมวางอาวุธโดยจะได้รับการอภัยโทษจากทางรัฐบาลกลาง และสามารถเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนได้ โดยมีการภาคทัณฑ์ไว้ว่าจะต้องไม่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลกลางอีก เมื่อรับฟังจบลีจึงได้ขอสนธิสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากแกรนท์ ท่ามกลางความตกตะลึงเล็กๆของลี แกรนท์ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพฝ่ายยูเนี่ยนที่คุมทหารนับจำนวนเป็นล้าน หยิบเอากระดาษเปล่าออกมาหนึ่งแผ่นและทำการร่างสัญญาสดๆด้วยดินสอที่พกติดตัวมาในกระเป๋าเสื้อ จากนั้นจึงยื่นให้ลีอ่านและลงนาม และเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งลีและแกรนท์ก็เดินออกมาจากตัวบ้านด้วยกัน ท่ามกลางสายตานับพันคู่ของบรรดาเหล่าทหารฝ่ายยูเนี่ยนที่จับจ้องมองดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ หลังจากที่ลีควบม้าออกไป ทหารพวกนั้นก็ได้เริ่มทำการโห่ร้องแสดงความยินดีกันเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จนแกรนท์ต้องปรามออกมาว่า “ตอนนี้ฝ่ายใต้ได้กลับมาเป็นเพื่อนร่วมชาติของพวกเราเหมือนเดิมแล้ว เพราะฉนั้นเราจึงไม่สมควรแสดงความยินดีในความพ่ายแพ้และชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติ” ทหารเหล่านั้นจึงได้เงียบเสียงลง



และแล้วในที่สุดสงครามที่กินเวลายาวนานกว่าห้าปีและมีการนองเลือดมากที่สุดบนผืนแผ่นดินอเมริกาก็มีอันยุติลง ผลของสงครามทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายรวมแล้วกว่า 600,000 คน หรือคิดเป็นสองเปอร์เซนต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทรัพย์สินบ้านเรือนตลอดจนเรือกสวนไร่นารวมทั้งฝูงปศุสัตว์เสียหายเหลือที่จะคณานับ และที่น่าเจ็บปวดใจที่สุดก็คือพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหายจะต้องหันมาจับอาวุธเข่นฆ่าประหัตประหารกันเอง เพียงเพราะว่ามีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ทว่าบทเรียนจากสงครามก็ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง มิได้อยู่ได้ด้วยการหลอกตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์เหมือนเช่นเมื่อครั้งในอดีต แต่ทว่าได้กลับกลายเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างแท้จริง อันเป็นที่ถวิลหาของบุคคลผู้มีใจรักในเสรีภาพทั่วโลก ซึ่งได้เดินทางหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินแห่งเสรีภาพผืนนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกาสามารถเติบใหญ่ขึ้นเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งมั่นคงและมั่งคั่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ก็เพราะผลพวงของสงครามกลางเมืองครั้งนี้นั่นเอง

น่าเสียดายที่ท่านประธานาธิบดีลินคอนน์ผู้เป็นที่รักของมหาชน มิได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อชื่นชมกับความสำเร็จของตน เพราะท่านได้ถูกลอบสังหารในระหว่างที่กำลังชมละครเวทีในคืนวันที่ 14 เมษายน ปี 1865 ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูรของปวงชนผู้มีใจรักในเสรีภาพทั่วประเทศ และด้วยสำนึกในบุญคุณของท่านที่มีต่อประเทศ ผู้คนในยุคหลังจึงได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานลินคอนน์หรือ Lincoln Memorial ขึ้นในปี 1922 อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโปรโตแมคในกรุงวอชิงตันดีซี รูปแบบสถาปัตย์กรรมกรีกอันงดงามของตัวอาคารและอนุสาวรีย์หินอ่อนของท่านประธานาธิบดีในท่านั่งที่กำลังมองลงมาด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมแต่สายตากลับเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับนครหลวงแห่งเสรีภาพแห่งนี้



IN THIS TEMPLE
AS IN THE HEARTS OF THE PEOPLE
FOR WHOM HE SAVED THE UNION
THE MEMORY OF ABRAHAM LINCOLN
IS ENSHRINED FOREVER

<จบบริบรูณ์>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 23 มกราคม 2553    
Last Update : 3 มีนาคม 2553 12:59:20 น.
Counter : 3819 Pageviews.  

สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่สี่

พิรัส จันทรเวคิน

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


จุดเปลี่ยนของสงครามมาถึงในสมรภูมิรบที่กินเวลาสามวันในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐเพนซิลวาเนียที่มีชื่อว่าเก็ตตี้เบิรกก์ ด้วยความเป็นนักยุทธศาสตร์ชั้นเลิศ นายพลลีตระหนักดีว่าหนทางเดียวที่จะมีชัยเหนือฝ่ายรัฐบาลกลางได้ก็คือ การเปิดเกมส์รุกขึ้นไปทางเหนือและทำการบดขยี้ทหารฝ่ายแยงกี้ให้ย่อยยับในพื้นที่ของตนเอง จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามในวอชิงตัน ซึ่งจะบีบให้รัฐบาลลินคอนน์ต้องขอเจรจาสงบศึก

ด้วยเหตุนี้ในเดือนพฤษภาคม 1863 ลีจึงสั่งให้เคลื่อนกำลังพลจำนวนเจ็ดหมื่นกว่านายจากกองทัพแห่งเวอร์จิเนียเหนือรุกเข้าไปในเขตพื้นที่รัฐเพนซิลวาเนีย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองแฮริสเบิรกก์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางรถไฟและคลังสัมภาระของฝ่ายเหนือ และเมื่อถึงปลายปลายเดือนมิถุนายน กองทหารของลีก็ได้รุกไล่กองกำลังรัฐบาลกลางที่กำลังถอยร่นมายังเมืองเกษตรกรรมเล็กๆแห่งหนึ่งที่มิได้มีความสลักสำคัญอะไรที่มีชื่อเรียกว่า "เก็ตตี้สเบิรกก์" ทว่าสิ่งหนึ่งที่ลีไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือ ฝ่ายรัฐบาลกลางมีกำลังทหารจำนวนอีกกว่าเก้าหมื่นนายจากกองทัพแห่งโปรโตแมคภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลจอร์จ กอร์ดอน มีดด์ อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง กองทหารม้าของนายพลเจปป์ สจ๊วตต์ ที่ลีส่งออกไปสอดแนมล่วงหน้าพลาดที่จะระบุตำแหน่งของฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุนี้นายพลลีจึงจำต้องบัญชาการรบในสภาพที่เปรียบเสมือนกับคนตาบอด เป็นเหตุให้เขาประเมินกำลังของอีกฝ่ายต่ำเกินไป นับเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญและนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของสงคราม



1 กรกฏาคม 1863 เมื่อการรบเริ่มขึ้นฝ่ายเหนือมีกำลังทหารสามพันนายประจำอยู่ที่เก็ตตี้เบิรกก์ภายใต้การบังคับบัญชาของพลจัตวาจอห์น บัลฟอร์ต เมื่อกองกำลังที่เหนือกว่าของลีเข้าโจมตีในวันแรกของการรบ บัลฟอร์ตตระหนักดีว่าไม่มีปัญญาจะรับมือได้แน่ เขาจึงสั่งให้ถอนกำลังไปตั้งรับในที่สูงตามแนวสันเนินที่มีชื่อเรียกว่า Cemetery Hill ทางด้านทิศใต้ของเมือง ทหารฝ่ายเหนือจึงถอยร่นไปยังแนวตั้งรับดังกล่าวและจัดเตรียมพื้นที่สำหรับรอรับการโจมตีจากฝ่ายใต้ แนวตั้งรับของฝ่ายเหนือค่อยๆแผ่ขยายออกไปตามแนวสันเนินและวางตัวเป็นรูปตะขอเบ็ดตกปลา

ในวันที่สองของการรบ กองกำลังของฝ่ายใต้พยายามเข้าตีโอบปีกตามแนวตั้งรับของฝ่ายเหนืออยู่หลายครั้งด้วยกัน แต่ก็ถูกยันกลับไปได้ทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะทหารฝ่ายเหนืออยู่ในชัยภูมิที่มีเปรียบกว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงและมีที่กำบังอย่างดีในขณะที่ฝ่ายใต้จำเป็นต้องเข้าตีขึ้นเนินซึ่งผิดหลักของยุทธวิธีการรบ เมื่อเวลาผ่านไปกองกำลังฝ่ายเหนือจากบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ทยอยเข้ามาเสริมกำลัง ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้นายพลเจมส์ ลองสตรีท หนึ่งในผู้บัญชาการระดับสูงของลีตระหนักถึงหายนะที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า และแนะนำให้ลีล้มเลิกแผนปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยให้เปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเข้าตีกรุงวอชิงตันที่อยู่ห่างไปทางใต้ 85 ไมล์แทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการล่อให้กองทหารของฝ่ายเหนือถอนตัวออกมาจากแนวตั้งรับอันแข็งแกร่งดังกล่าวเพื่อมาป้องกันเมืองหลวงของฝ่ายตน แต่ด้วยความมีทิฐิ ลีจึงได้ตอบกลับไปว่า “จะให้ไปได้ยังไง ก็ในเมื่อข้าศึกอยู่ตรงหน้านี่แล้วนี่ท่านนายพล”



เข้าวันที่สามของการรบ สถานการณ์ของกองทัพฝ่ายใต้เริ่มวิกฤตหนักขึ้น ความพยายามเข้าตีโอบปีกทั้งสองข้างของการรบเมื่อวันก่อนประสพกับความล้มเหลว กองทหารม้าของเจปป์ สจ๊วตต์ ที่ลีส่งออกไปโจมตีตลบหลังแนวข้าศึกก็ถูกสกัดโดยกองทหารม้าฝ่ายยูเนี่ยนที่นำโดยนายพลหนุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง "จอร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์" แต่ลีก็ยังคงยืนกรานที่จะเข้าตีโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเจมส์ ลองสตรีท เนื่องจากการเข้าตีทางด้านปีกทั้งสองข้างไม่ประสพผลสำเร็จ ลีจึงมีความเชื่อมั่นว่านายพลมีดด์จะต้องสั่งให้เสริมกำลังในบริเวณดังกล่าว ดังนั้นจุดที่อ่อนที่สุดของแนวรบฝ่ายยูเนี่ยนจึงน่าที่จะอยู่ที่ตรงกลาง ดังนั้นเขาจึงออกคำสั่งให้ทำการเข้าตีตรงจุดนั้นโดยทันที โดยใช้กำลังจากกองทัพน้อยของลองสตรีท สนธิกำลังจากสามกองพลรวมเป็นจำนวนกำลังพลทั้งสิ้น 13,000 นาย และผู้ที่ถูกคัดเลือกโดยลีให้นำการเข้าตีในครั้งนี้ก็คือนายพลจอร์จ พิคเก็ตต์ ผู้ซึ่งยังไม่เคยมีประสพการณ์จริงในการบัญชาการรบระดับกองพลมาก่อน แต่เหตุผลที่ถูกเลือกก็เพราะว่ากองพลของพิคเก็ตต์ยังไม่เคยผ่านการปะทะ จึงยังสดใหม่เมื่อเทียบกับหน่วยอื่นๆของลี จุดที่จะเข้าตีนั้นเป็นแนวตั้งรับของฝ่ายเหนือตามแนวสันเนินที่มีชื่อเรียกว่า Cemetery Ridge แนวดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของนายพลวินฟิลด์ สก๊อตต์ แฮนค๊อก ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นสโตนวอลล์ แจ๊คสันของฝ่ายเหนือ และเมื่อเลยแนวนี้ออกไปไม่ไกลก็คือกองบัญชาการภาคสนามของนายพลมีดด์ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพแห่งโปรโตแมคนั่นเอง

สำหรับกับเจมส์ ลองสตรีทแล้ว การที่ต้องเคลื่อนพลด้วยเท้าไปในพื้นที่เปิดโล่งเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ครึ่ง เพื่อเข้าตีแนวรับข้าศึกซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงและมีที่กำบังอย่างดีเปรียบเสมือนกับการฆ่าตัวตายชัดๆ ก่อนการเข้าตีลองสตรีทได้พยายามทัดทานลีเป็นครั้งสุดท้าย แต่ลียังคงยืนยันคำเดิมเพราะมีความมั่นใจว่า การระดมยิงปืนใหญ่ทุกกระบอกลงไปในพื้นที่เล็กๆดังกล่าวจะสามารถทำให้แนวตั้งรับของข้าศึกเกิดการระส่ำระส่าย และเปิดโอกาสให้กำลังทหารของฝ่ายตนสามารถเคลื่อนเข้าประชิดได้โดยได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ดังนั้นสำหรับลีแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่การเข้าตีในครั้งนี้จะประสพผลสำเร็จและผ่ากลางแนวรับของฝ่ายยูเนี่ยนออกเป็นสองส่วน ซึ่งจะทำให้ฝ่ายใต้สามารถกำชัยชนะได้ในที่สุด ท้ายที่สุดลีได้กล่าวกับลองสตรีทว่า “เชื่อผมเถอะท่านนายพล ยังไงเราก็ชนะแน่” ด้วยเหตุนี้ลองสตรีทจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และสำหรับกับกองทหารของฝ่ายใต้แล้ว นายพลลีเปรียบเสมือนกับเทพเจ้าแห่งสงครามผู้มีสายตาอันกว้างไกลและไม่เคยปราชัยให้กับใครในสนามรบ ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าที่จะตั้งคำถามกับเขาเหมือนเช่นมือขวาของเขาเองอย่างนายพลลองสตรีท



และเมื่อถึงเวลาบ่ายโมง ปืนใหญ่ของฝ่ายสมาพัน์ธ์รัฐฯจำนวนกว่า 150 กระบอกก็ได้เริ่มเปิดฉากยิงถล่มแนวตั้งรับของฝ่ายยูเนี่ยนที่ Cemetery Ridge อย่างขนานหนัก ซึ่งเมื่อมองจากสายตาของทหารราบฝ่ายใต้หนึ่งหมื่นสามพันนายที่หลังแนวเข้าตีแล้ว นับเป็นฉากอันยิ่งใหญ่อลังการ์และสร้างขวัญกำลังใจให้อย่างมาก ทว่าน่าเสียดายที่ทั้งหมดนั้นกลับเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา ปืนใหญ่ของฝ่ายใต้มีข้อผิดพลาดในการกำหนดระยะยิง กระสุนส่วนมากได้พุ่งข้ามหัวกองทหารฝ่ายยูเนี่ยนและไปตกลงที่หลังแนว นอกจากนี้ฝุ่นควันของการระเบิดยังบดบังสายตาของผู้ชี้เป้า ทำให้ไม่มีการแก้ไขในเรื่องของพิกัดการยิง ปืนใหญ่ของฝ่ายเหนือเริ่มทำการยิงตอบโต้ แต่ก็เป็นการระดมยิงในลักษณะที่สงวนกระสุนเอาไว้สำหรับการเข้าชาร์จของฝ่ายใต้ที่จะตามมา แต่กลับทำให้นายทหารปืนใหญ่ของลีเข้าใจผิดว่าสามารถทำลายปืนใหญ่ของฝ่ายข้าศึกได้ ทั้งที่ความจริงแล้วกองปืนใหญ่ของฝ่ายเหนือแทบจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆเลย ซึ่งเมื่อรวมข้อผิดพลาดทั้งสามประการนี้เข้าด้วยกัน นั่นก็หมายถึงหายนะที่กำลังรอนายพลจอร์จ พิคเก็ตต์และทหารหนึ่งหมื่นสามพันนายภายใต้การนำของเขา

ปืนใหญ่ของฝ่ายใต้ระดมยิงถล่มแนวตั้งรับของฝ่ายเหนือเป็นเวลาร่วมๆสองชั่วโมง เมื่อสิ้นเสียงปืน จอร์จ พิคเก็ตต์เดินไปที่เบื้องหน้าลองสตรีทเพื่อขอคำอนุมัติให้ทำการเข้าตี ทหารเก่าอย่างลองสตรีทรู้ดีอยู่เต็มอกว่าหายนะกำลังรออยู่เบื้องหน้า แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะเป็นคำสั่งจากนายพลลี เขาไม่กล้าที่จะสบตากับพิคเก็ตต์ จึงได้แต่เพียงพยักหน้าแล้วโบกมือให้เป็นเชิงยินยอมด้วยสีหน้าที่เรียบเฉยไร้ความรู้สึก หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา พิคเก็ตต์ควบม้ามาที่หน้าแถวของกองทหารฝ่ายใต้ที่ส่วนใหญ่อยู่ในชุดลูกชาวนา ชูดาบขึ้นเหนือศรีษะแล้วตะโกนออกคำสั่งเสียงดัง “ทุกคนเข้าประจำที่ และขอให้จงอย่าได้ลืมวันนี้ว่าพวกเราทุกคนมาจากเวอร์จิเนีย” เสียงตะโกนตอบว่า “เวอร์จิเนีย” จากกองทหารนับหมื่นดังกระหึ่มกึกก้องไปทั่วทั้งสนามรบ ท่ามกลางเสียงปลุกใจของกลองศึก ทหารฝ่ายใต้เริ่มเคลื่อนทัพโดยเดินเรียงเป็นแถวหน้ากระดานเข้าหาแนวตั้งรับของข้าศึกที่อยู่ห่างออกไปเบื้องหน้า ผ่านแถวของกองทหารปืนใหญ่ฝ่ายตนที่ทุกคนต่างก็ถอดหมวกออกมาโบกไปมาเพื่อให้กำลังใจกับเพื่อนร่วมรบ โชคชะตาของการศึกครั้งนี้และอนาคตของฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯกำลังจะถูกตัดสินในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว



กองทหารปืนใหญ่ฝ่ายเหนือเฝ้ารอจนทหารฝ่ายใต้เคลื่อนเข้ามาในระยะยิงแล้วจึงได้เปิดฉากยิงถล่ม ปืนใหญ่นับร้อยกระบอกระดมยิงห่ากระสุนเข้าใส่แถวทหารของฝ่ายใต้ กระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดหนี่งนัดต่อจำนวนชีวิตของทหารสิบนาย แต่ทหารฝ่ายใต้ก็ยังคงรักษาวินัยเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ทหารที่อยู่แถวหลังแทรกเข้ามาแทนที่ผู้ที่อยู่แถวหน้าที่ถูกยิงล้มลง บรรดาเหล่านายทหารต่างก็ชักดาบออกกวัดแกว่งและตะโกนให้กำลังใจกับลูกน้องของตน แนวรบของทั้งสองฝ่ายเคลื่อนเข้าประชิดกันทุกขณะ จากระยะทางเริ่มแรกหนึ่งไมล์ครึ่งเหลือเพียงแค่ระยะทางไม่กี่ร้อยฟุต และเมื่อเข้าระยะยิงของปืนเล็กยาว ทหารราบฝ่ายเหนือที่นับพันที่หมอบซุ่มอยู่หลังซากแนวกำแพงหินจึงเปิดฉากยิงเข้าใส่ด้วยอาวุธปืนไรเฟิลประจำกาย กระสุนจากปากกระบอกปืนไรเฟิลนับพันที่ยิงออกโดยพร้อมเพรียงกันพุ่งเข้าฉีกร่างของทหารฝ่ายใต้ล้มลงราวกับว่าเป็นใบไม้ร่วง ทหารฝ่ายใต้เริ่มทำการยิงตอบโต้และเคลื่อนที่เข้าชาร์จด้วยดาบปลายปืนโดยทันที แต่ด้วยจำนวนที่เหลือน้อยกว่าและชัยภูมิที่เสียเปรียบ จึงถูกบดขยี้อย่างง่ายดายจนในที่สุดก็ต้องถอยร่นแตกกลับมา จากจำนวนทหารหนึ่งหมื่นสามพันนายเมื่อตอนก่อนเข้าตี เหลือรอดกลับมาได้เพียงแค่ไม่ถึงเจ็ดพันนาย นายพลลีถึงกับต้องตกตะลึงจนปากอ้าตาค้างกับหายนะที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า ปากก็ได้แต่พึมพัมว่า “ทั้งหมดเป็นความผิดผมเอง” ลีเกรงว่าฝ่ายเหนือจะฉวยโอกาสนี้รุกกลับ ดังนั้นเมื่อเขาเห็นนายพลพิคเก็ตต์กระเซอะกระเซิงกลับมาจากสนามรบ จึงออกคำสั่งให้พิคเก็ตต์เรียกระดมพลเพื่อจัดเตรียมแนวตั้งรับ ด้วยความเจ็บแค้นพิคเก็ตต์จึงตอบกลับไปว่า “นายพลลี ผมไม่มีกองพลเหลืออยู่อีกแล้ว” หลายสิบปีหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นพิคเก็ตต์ไม่เคยให้อภัยลีเลย ปากก็ยังคงยืนยันคำเดิม “ลีได้สังหารหมู่ทหารของผม”

ทหารฝ่ายเหนือเองก็บอบช้ำจากการรบทั้งสามวันเกินกว่าที่จะทำการรุกกลับ นายพลลีคาดการณ์ถูกที่ว่าบริเวณแนวตั้งรับที่ตรงกลางเป็นจุดที่อ่อนที่สุดของข้าศึก แต่เขาประเมินศักยภาพทหารของทหารฝ่ายตนเองสูงจนเกินไป และเพิกเฉยต่อคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ของลูกน้องที่กรำศึกอย่างโชกโชนมาด้วยกันอย่างเจมส์ ลองสตรีท การเข้าชาร์จในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Pickett’s Charge แม้ว่าตัวพิคเก็ตต์เองจะไม่ค่อยเต็มใจให้เอาชื่อของเขาไปใช้นักก็ตาม เช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันชาติ ทั้งสองฝ่ายต่างพักรบพื่อเยียวยาบาดแผล และในเช้าวันถัดมาลีก็สั่งเคลื่อนทัพข้ามแม่น้ำโปรโตแมคกลับไปยังรัฐเวอร์จิเนีย เป็นอันสิ้นสุดการรบที่เก็ตตี้เบิรกก์ สมรภูมิรบที่นองเลือดที่สุดบนผืนแผ่นดินอเมริกา โดยมียอดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตทั้งสิ้น 53,000 นาย และเมื่อกลับถึงริชมอนด์แล้ว ด้วยความสำนึกผิดลีจึงได้ยื่นใบลาออกต่อเจฟเฟอร์สัน เดวิส แต่ใบลาออกของเขาถูกระงับ ลียังคงเป็นผู้นำทางทหารของฝ่ายใต้อยู่ต่อไปและสงครามก็ยังคงดำเนินต่อไปอีกประมาณสองปี แต่ทว่าฝ่ายใต้ได้สูญเสียโอกาสในการรุกไปแล้ว สิ่งที่กำลังรอคอยอยู่เบื้องหน้ามีแต่ความมืดมนของความพ่ายแพ้และการสูญเสีย



<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2552    
Last Update : 2 มีนาคม 2553 14:24:45 น.
Counter : 3967 Pageviews.  

สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่สาม

พิรัส จันทรเวคิน

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


สงครามดำเนินไปเป็นเวลากว่าสองปี ต่างฝ่ายต่างก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะในสมรภูมิในที่ต่างๆ สาเหตุที่ฝ่ายใต้สามารถยืนหยัดอยู่ได้แม้ว่าจะเป็นรองในเกือบทุกๆด้าน ก็เพราะได้ผู้นำทางทหารฝีมือเลิศอย่างโรเบริต์ อี ลี ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลางต้องเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารคนแล้วคนเล่า ก็ยังไม่สามารถจะหาคนที่มีฝีมือมาทัดเทียมกับนายพลลีได้ ด้วยเหตุนี้สงครามจึงดำเนินต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและผลลัพท์จะเป็นอย่างไร ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่รบกวนจิตใจประธานาธิบดีลินคอนน์อยู่ตลอดเวลาก็คือการแทรกแซงจากมหาอำนาจในยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดล้อมทางทะเลที่ฝ่ายรัฐบาลกลางกระทำต่อฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ ทำให้สูญเสียผลประโยชน์ทางการค้าไปเป็นจำนวนมหาศาล และมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยครั้งเมื่อเรือของอีกฝ่ายพยายามฝ่าวงล้อมเข้าไปทำการค้ากับเมืองท่าของฝ่ายใต้

ด้วยเหตุนี้ท่านประธานาธิบดีจึงจำต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายของสงคราม คือจากเดิมที่เป็นการสู้รบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของชาติ เป็นสงครามเพื่อให้อิสระภาพกับแรงงานทาสผิวดำจำนวนเกือบสี่ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้นจึงมีคำประกาศเลิกทาสหรือ Emancipation Proclamation ออกมาโดยทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี 1862 คำประกาศดังกล่าวนับว่าเป็นนโยบายอันชาญฉลาดของลินคอนน์ เพราะสามารถแก้ปัญหาการถูกแทรกแซงจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสได้เป็นปลิดทิ้ง เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ได้มีการเลิกทาสไปก่อนหน้าแล้ว หากจะฉวยโอกาสนี้เข้ามาแทรกแซงโดยเข้าข้างฝ่ายใต้ก็เท่ากับว่าสนับสนุนการคงอยู่ของระบบทาส ซึ่งเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับเป้าหมายของการต่อสู้ on moral grounds นั่นก็คือเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของมนุษย์



กลางดึกของคืนหนึ่งในห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตันดีซี กวีสาวนามจูเลีย วาร์ด ฮาวว์ ตื่นจากความฝันและจับปากกาขึ้นมาบรรจงแต่งบทกวีท่ามกลางความมืดของยามค่ำคืน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันอันสวยสดงดงามของเธอ ต่อมาเธอได้ขายบทกวีดังกล่าวให้กับนิตยสารดิแอตแลนติกมันท์ลี่ในราคาสี่ดอลลาร์ บทกวีของเธอได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1862 และต่อมาได้ถูกนำมาปรับใช้กับท่วงทำนองที่แต่งขึ้นเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เกิดเป็นบทเพลงที่มีความโด่งดังและเป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือบทเพลงที่มีชื่อว่า Battle Hymn of the Republic ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นเพลงชาติของฝ่ายรัฐบาลกลาง เพราะสอดคล้องกับหลักการการต่อสู้ on moral grounds ของท่านประธานาธิบดีลินคอนน์



<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2552    
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 12:08:11 น.
Counter : 2985 Pageviews.  

สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่สอง

พิรัส จันทรเวคิน

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


จากความเหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง ฝ่ายรัฐบาลกลางมีความมั่นใจว่าจะสามารถพิชิตชัยได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และเพื่อเป็นการลบล้างความอัปยศที่ฟอร์ตซัมเตอร์ ประธานาธิบดีลินคอนน์จึงสั่งให้เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีกรุงริชมอนด์เมืองหลวงของฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ กองทัพของรัฐบาลกลางจำนวน 37,000 นายเคลื่อนพลมาถึงเมืองโมนาซิส รัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 16 กรกฏาคม 1861 ท่ามกลางเหล่าชนชั้นสูงนับพันที่หลั่งไหลมาจากกรุงวอร์ชิงตันเพื่อมาชมการสู้รบราวกับมีงานเทศกาล

ฝ่ายใต้ทราบล่วงหน้าถึงการเคลื่อนพลของฝ่ายเหนือและได้จัดกำลังทหารจำนวน 22,000 นายไว้เพื่อรอรับมือ อย่างไรก็ตามด้วยความเหนือกว่าทางด้านจำนวน กองกำลังฝ่ายเหนือสามารถรุกคืบได้ในยกแรก ในขณะที่ฝ่ายใต้ต้องถอยร่นท่ามกลางการโจมตีอย่างหนัก แต่ทว่ากองพลน้อยจากรัฐเวอร์จิเนียภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลโทมัส เจ แจ๊คสัน กลับปักหลักสู้อย่างมั่นคง บรรดาทหารฝ่ายใต้ที่กำลังถอยร่นอยู่นั้นต่างชี้มือไปยังนายทหารหนุ่มบนหลังม้าผู้หนึ่งที่กำลังบัญชาการรบอย่างไม่เกรงกลัวห่ากระสุน แล้วพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดูท่านนายพลแจ๊คสันซิ ท่านยืนหยัดอยู่ได้ยังกะกำแพงหิน” และนี่จึงเป็นที่มาของฉายานาม สโตนวอลล์ แจ๊คสัน สำหรับนายทหารผู้หาญกล้าคนนี้

ความเด็ดเดี่ยวของแจ๊คสันถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรบ ทหารฝ่ายใต้มีแรงใจฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง และเมื่อได้รับกำลังเสริมทางรถไฟก็สามารถตีโต้จนกองทัพฝ่ายเหนือแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทำเอาเหล่าชนชั้นสูงที่มาชุมนุมต้องแตกตื่นหนีตายกันอย่างโกลาหล การรบในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนามสมรภูมิแห่งบูลรันครั้งที่หนึ่งหรือ First Battle of Bull Run



ทันทีที่เวอร์จิเนียประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ รัฐบาลกลางได้สั่งเคลื่อนย้ายกองเรือทั้งหมดออกจากฐานทัพเรือนอร์ฟอล์คที่เมืองท่าปอร์ตสมัธ เพื่อมิให้ตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่ามีเรือจักรไอน้ำอยู่ลำหนึ่งที่กำลังจอดซ่อมอยู่ในอู่แห้งและเหลือรอดจากการถูกทำลายมาได้ นั่นคือยูเอสเอส เมอร์ริแมค และเพื่อเป็นการตอบโต้การปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายรัฐบาลกลาง ฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเรือรบที่ทรงอานุภาพเหนือกว่าเรือรบทุกลำของรัฐบาลกลาง ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเรือเมอร์ริแมคมาดัดแปลง โดยการเสริมแผ่นเกราะเหล็กเพิ่มทับตัวเรือเดิมที่เป็นไม้และติดปืนใหญ่ขนาดหนักจำนวนหลายกระบอกลงไป เกิดเป็นเรือรบลำใหม่ที่มีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดขึ้นมา โดยได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย

ทันทีที่ทราบข่าวการสร้างเรือรบรุ่นใหม่ของฝ่ายใต้ ทางรัฐบาลกลางก็มิได้นิ่งนอนใจ ด้วยเหตุนี้จึงว่าจ้างให้จอห์น อีริคสัน นักประดิษฐ์ชาวสวีดิช ดำเนินการออกแบบเรือรบรุ่นใหม่ของฝ่ายตนขึ้น แนวคิดของอีริคสันนั้นจัดได้ว่าล้ำสมัยมาก คือแทนที่จะเป็นการติดปืนใหญ่ขนาดเล็กจำนวนหลายๆกระบอกในตำแหน่งการยิงที่ตายตัว อีริคสันกลับออกแบบให้ลดจำนวนปืนลง แต่ขยายขนาดปากลำกล้องขึ้นและติดลงบนตัวป้อมที่สามารถหมุนไปมาได้ จึงได้ออกมาเป็นเรือรบที่แปลกประหลาดไม่แพ้กัน โดยได้รับการตั้งชื่อว่า ยูเอสเอส มอนิเตอร์



รุ่งเช้าของวันที่ 8 มีนาคม 1862 ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย แล่นขึ้นมาตามลำน้ำยังสถานที่ซึ่งมีชื่อเรียกว่าแฮมป์ตัน โรด นอกอ่าวเชสตันพีค รัฐเวอร์จิเนีย ที่ซึ่งกองเรือรบของฝ่ายรัฐบาลกลางจำนวนห้าลำกำลังจอดทอดสมออยู่ โดยไม่รอช้าเวอร์จิเนียรีบแล่นตรงเข้าไปหา และเปิดฉากโจมตีก่อนทันที ด้วยความตกตะลึงกับเรือประหลาดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เรือรบของรัฐบาลกลางจึงเปิดฉากยิงสกัด แต่ทว่าลูกกระสุนปืนใหญ่กลับกระเด็นกระดอนออกจากแผ่นเกราะที่เป็นเหล็กหนาของเวอร์จิเนีย เหมือนกับแรดที่ไม่เกรงกลัวกับห่ากระสุน เวอร์จิเนียแล่นตรงรี่ด้วยความเร็วสูงสุดและพุ่งเข้าชนยูเอสเอส คัมเบอร์แลนด์ จนลำเรือขาดเป็นสองท่อนและจมลงในทันที จากนั้นจึงหันมาเล่นงานยูเอสเอส คองเกรส ด้วยการยิงถล่มจนไฟลุกท่วมและจมลงในอีกหลายชั่วโมงต่อมา หลังจากที่เรือคองเกรสหมดสภาพและต้องออกจากการรบ เวอร์จิเนียจึงหันมาเล่นงานเป้าหมายถัดไปคือ ยูเอสเอส มินิโซต้า และไล่ต้อนจนเรือรบฝ่ายตรงข้ามแล่นไปเกยตื้นและกำลังจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะ

ก่อนที่เวอร์จิเนียจะเผด็จศึกต่อเพื่อกวาดล้างกองเรือรบของฝ่ายตรงข้ามให้หมดและเปิดเส้นทางการเดินเรือ ก็ย่างเข้าเวลาโพล้เพล้พอดี จึงจำเป็นต้องถอนตัวจากการรบ ทิ้งให้ทหารเรือของอีกฝ่ายต้องตื่นตะลึงกับความพ่ายแพ้แบบหมดรูป ทว่าโชคของฝ่ายรัฐบาลกลางยังไม่นับว่าเลวร้ายจนเกินไปนัก เมื่อเรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายตน ยูเอสเอส มอนิเตอร์ เดินทางมาถึงยังที่เกิดเหตุพอดี และในรุ่งเช้าของวันถัดมายุทธนาวีที่แปลกประหลาดที่สุดก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเวอร์จิเนียต้องมาเผชิญหน้ากับคู่ปรับที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันอย่างมอนิเตอร์ เรือทั้งสองลำเข้าแลกหมัดกันในระยะประชิดเป็นเวลาสามชั่วโมง หมดลูกกระสุนไปเป็นร้อยๆนัด แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดทำอะไรอีกฝ่ายหนึ่งได้เนื่องจากกระสุนที่เตรียมมาไม่สามารถเจาะทะลุแผ่นเกราะที่เป็นเหล็กหนาเข้าไปได้ ในที่สุดเวอร์จิเนียก็ถอนตัวกลับไปยังที่ตั้งเดิมของตนที่นอร์ฟอล์ค ยุทธนาวีในครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม Battle of Hampton Roads และถือว่าเป็นจุดกำเนิดของเรือรบรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนสมดุลย์ทางนาวี และส่งผลให้เกิดการแข่งขันครั้งใหม่ของบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก นั่นก็คือเรือรบหุ้มเกราะหรือ Ironclads หมดยุคแล้วสำหรับเรือลำตัวไม้ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงลมจากใบเรือ ยุคต่อไปคือยุคของเรือรบที่หุ้มด้วยแผ่นเกราะที่ทำจากเหล็กหนาและขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำอย่างเวอร์จิเนียและมอนิเตอร์เท่านั้น



<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 24 กันยายน 2552    
Last Update : 13 สิงหาคม 2553 18:15:52 น.
Counter : 3191 Pageviews.  

สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่หนึ่ง

พิรัส จันทรเวคิน

ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


สงครามกลางเมืองอเมริกา (1861-1865) มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่างพวกหัวก้าวหน้าทางเหนือกับพวกอนุรักษ์นิยมทางใต้ ฝ่ายแรกหรือที่เรียกว่าพวก Abolitionist ต้องการที่จะให้อิสระกับแรงงานทาสผิวดำทั้งหมด ตามแนวคิดที่ว่าสหรัฐอเมริกาควรจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันดังที่เขียนไว้คำประกาศอิสระภาพจากอังกฤษ ด้วยเหตุนี้การคงไว้ซึ่งระบบทาสจึงเป็นเสมือนหนึ่งตราบาปที่ติดตัวของของประเทศ เพราะขัดกับหลักการที่ได้ประกาศเอาไว้แต่แรก ในขณะที่ฝ่ายหลังต้องการที่จะคงไว้ซึ่งระบบทาสเพื่อใช้แรงงานในไร่ฝ้ายซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค รัฐบาลกลางไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะมาก้าวก่ายกิจการภายในของตน

ทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมาถึงจุดแตกหักเมื่ออับบราฮัมม์ ลินคอนน์ ทนายความบ้านนอกวัย 52 ปีจากรัฐอิลินอยย์และผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรครีพับลิกัน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1860 แม้ว่าแนวคิดของลินคอนน์นั้นค่อนข้างจะเป็นสายกลาง คือมิใช่ยกเลิกระบบทาสติดที่ดินทั้งหมด แต่เป็นการยับยั้งการขยายตัวของระบบทาสจากจำนวนมลรัฐที่มีทาสอยู่ก่อนแล้ว นั่นก็คือการคงไว้ซึ่งข้อตกลงเดิมปี 1820 ที่เรียกกันว่าข้อตกลงมิสซูรี่หรือ Missouri Compromise ที่ว่าด้วยเรื่องการกำหนดขอบเขตพื้นที่การมีทาส แต่กระนั้นก็ตามบรรดาเจ้าของที่ดินฝ่ายใต้ก็ยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้รัฐเซาท์คาโรไลนาตามมาด้วยมลรัฐทางตอนใต้อีกหกแห่งจึงประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง และจัดตั้งประเทศของตนเองขึ้นในนามของสมาพันธ์รัฐฯหรือ Confederate States of America เมื่อเดือนมีนาคม 1861 มีเมืองหลวงอยู่ที่ริชมอนด์ ในรัฐเวอร์จิเนีย และมีอดีตรัฐมนตรีสงคราม เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดี



รัฐบาลลินคอนน์ปฏิเสธการยอมรับและประกาศทันทีว่าฝ่ายใต้เป็นขบถ ในขณะที่ฝ่ายใต้เองก็อ้างว่าพวกตนมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการแยกประเทศ ทั้งนี้พราะเมื่อมีการก่อตั้งประเทศใหม่ๆก็มาร่วมด้วยความสมัครใจ ดังนั้นเมื่อไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกัน ก็สมควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการแยกตัวได้เช่นกัน สหรัฐอเมริกาในยุคนั้นจิตสำนึกในความเป็นรัฐชาติมาทีหลังจิตสำนึกที่มีต่อบ้านเกิด ดังจะเห็นได้จากเมื่อตอนที่วีรบรุษในตำนานอย่าง โรเบิรตต์ อี ลี ได้รับการเสนอตำแหน่งผู้บัญชาการทหารจากรัฐบาลกลาง หลังจากที่ใช้เวลาคิดเพียงหนึ่งคืน นายพลลีได้ตอบปฏิเสธและยื่นใบลาออกจากราชการ เพื่อกลับไปรับใช้บ้านเกิดที่เวอร์จิเนียซึ่งได้ประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ

ฝ่ายใต้ได้จัดตั้งกองทัพอันเกรียงไกรขึ้นมาคือกองทัพแห่งเวอร์จิเนียเหนือหรือ Army of Northern Virginia ภายใต้การบังคับบัญชาของลี ในขณะที่ฝ่ายเหนือมีกองทัพแห่งโปรโตแมคหรือ Army of the Potomac เป็นกองกำลังหลัก การรบเริ่มขึ้นด้วยการที่ฝ่ายใต้เปิดฉากโจมตีฟอร์ตซัมเตอร์ของฝ่ายรัฐบาลกลางที่ตั้งอยู่ที่เมืองชารล์ตัน รัฐเซาท์คาโรไลนาในวันที่ 12 เมษายน 1861 การกระทำอย่างอุกอาจในครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นให้กับมวลชนฝั่งเหนือ ประธานาธิบดีลินคอนน์สั่งเรียกระดมพลจำนวน 75,000 นายภายในระยะเวลาสามเดือน การระดมพลดังกล่าวส่งผลให้มลรัฐทางใต้อีกสี่แห่งไม่พอใจและประกาศแยกตัวเป็นอิสระ โดยรัฐสุดท้ายที่ประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯได้แก่เวอร์จิเนีย บ้านเกิดของนายพลลี โดยรวมแล้วฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯมีจำนวนมลรัฐทั้งสิ้นสิบเอ็ดแห่ง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลางมีจำนวนมลรัฐทั้งสิ้นยี่สิบสามแห่งเมื่อตอนเริ่มสงคราม



เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลทางด้านสถิติ จะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลกลางมีความเป็นต่อฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯอยู่มากโข ทั้งในด้านของจำนวนประชากรที่มีมากกว่าคือที่ยี่สิบสองล้านคนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเก้าล้านคนของฝ่ายใต้ และกำลังทหารสองล้านนายเทียบกับหนึ่งล้านนายของฝ่ายใต้ นอกจากนี้ยังมีความเหนือกว่าทางด้านแสนยานุภาพทางทะเลที่สามารถปิดล้อมฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯได้ตลอดช่วงเวลาของสงคราม ในส่วนของกำลังการผลิตนั้นฝ่ายเหนือมีความเหนือกว่าฝ่ายใต้อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมในขณะที่ฝ่ายใต้ยังต้องพึ่งพาภาคกสิกรรมเป็นหลัก แต่ทว่ามีอยู่สองสิ่งที่ฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯมีในช่วงต้นของสงคราม แต่ฝ่ายรัฐบาลกลางไม่มี นั่นก็คือแม่ทัพฝีมือเลิศอย่าง โรเบิรตต์ อี ลี และ สโตนวอลล์ แจ๊คสัน ผู้ซึ่งกลายเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน บวกกับจิตวิญญาณนักสู้หรือ Fighting Spirit ทั้งสองสิ่งนี้ส่งผลให้ฝ่ายใต้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ตลอดห้วงของสงครามและเกือบที่จะได้รับชัยชนะอยู่หลายครั้งด้วยกัน



<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 22 กันยายน 2552    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2553 19:40:58 น.
Counter : 6654 Pageviews.  


piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.