คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ.๑๐๗ (ตอนที่ ๑)

จดหมายเหตุ
พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ.๑๐๗ แล ๑๐๘
-----------------------
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้พิมพ์พระราชทานในการบำเพ็ญพระราชกุศล
เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯกรมหลวงนครราชสีมา
เสด็จทิวงคตมาถึงสัตตมวาร
ณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗
------------------------

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร




อธิบาย


ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองในแหลมมลายูครั้งแรกเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ คราวนั้นเสด็จไปประพาสอินเดีย ขากลับเสด็จแวะเมืองภูเก็ต เมืองพังงา แล้วเสด็จมาขึ้นบกที่เมืองไทรบุรี เสด็จโดยทางสถลมารค ข้ามแหลมมลายูมาลงเรือพระที่นั่งที่เมืองสงขลา กลับมากรุงเทพฯ แต่นั้นเสด็จประพาสแต่ทางหัวเมืองชายทเลฝั่งตวันออกแลหัวเมืองทางฝ่ายเหนือ แต่มิได้มีโอกาสเสด็จลงไปประพาสถึงหัวเมืองทางแหลมมลายูจน พ.ศ. ๒๔๓๑ จึงได้เสด็จประพาสอีกครั้ง ๑ มีรายการดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ตอนต้นในสมุดเล่มนี้ แต่นั้นก็โปรดเสด็จประพาสหัวเมืองทางแหลมมลายูเนืองๆ ได้เสด็จอีกหลายคราว รายการเสด็จประพาสครั้งหลังๆมา บางคราวมีปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสที่อื่น เช่นเสด็จประพาสชวา ได้พิมพ์แล้ว จดหมายเหตุซึ่งคัดมาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้เฉพาะแต่รายการเสด็จประพาสยังมิเคยได้รวบรวมพิมพ์ในที่อื่น กรมพระสมมติอมรพันธุ์ทรงพระนิพนธ์โดยมาก
ดำรงราชานุภาพ
---------------------------------------------

จดหมายเหตุ
พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. ๑๐๗
-------------------------



การเสด็จประพาสคราวนี้ เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ เสด็จไปประทับแรมอยู่ที่เกาะสีชัง ๑๖ วัน ด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถแต่ยังเสด็จดำรงพระยศเปนพระนางเจ้าพระวรราชเทวีทรงพระประชวร ครั้นอาการพระประชวรคลายแล้วจึ่งได้เสด็จไปประพาสหัวเมืองชายทเลปักษ์ใต้ โดยระยะทางที่กล่าวต่อไปนี้
@ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ เวลา ๒ ยาม เสด็จพระราชดำเนิรลงเรืออุบลบุรพทิศ เปนเรือพระที่นั่ง เรือเวสาตรีเปนเรือพระที่นั่งรอง ที่เกาะสีชัง เพราะเวลาหัวค่ำลมจัดนักได้ใช้จักรออกเรือไปเวลา ๗ ทุ่ม ฝนตกมีคลื่นบ้าง ฯ
@ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง ๔๐ นาฑี ทอดหน้าเมืองปราณบุรี น้ำ ๓ วาห่างฝั่ง ๔๐ เส้นเศษ เวลาเที่ยงเสด็จพระราชดำเนิรลงประทับเรือกรรเชียง แล่นขึ้นไปจนพ้นหมู่บ้านปากน้ำ แล้วเสด็จกลับมาขึ้นทอดพระเนตรที่ตึกหลวง เวลานั้น ฝนตกพรำไปเนืองๆ เวลาบ่าย ๓ โมงเสด็จกลับลงเรือเวลาบ่าย ๔ โมง ออกเรือกระบวรจากเมืองปราณบุรี ฯ
@ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง หยุดเรือพระที่นั่งทอดสมอที่เมืองชุมพร น้ำ ๑๐ ศอกห่างฝั่ง ๖๐ เส้นเศษ เวลา ๕ โมงเศษเสด็จโดยเรือเล็กขึ้นไปตามลำน้ำ แล้วเสด็จกลับลงมาขึ้นที่ตึกหลวง ตึกทั้งสองแห่งอยู่ข้างชำรุดซุดโซมมาก ที่เมืองปราณบุรีชำรุดด้วยทำไม่แน่นหนาเอง แต่ที่เมืองชุมพรนี้ชำรุดด้วยเก่าแลไม่ได้ซ่อมแซม แล้วเสด็จพระราชดำเนิรไปข้างหลังตึกจนถึงเขามัทรี และเสด็จประพาสไปตามหมู่บ้านราษฎร เวลาบ่ายโมงครึ่งเสด็จกลับลงเรือฝนตกมากไม่มีเวลาหยุดจนค่ำ ใช้จักรเรือออกจากเมืองชุมพรเวลา ๒ ยาม ฯ
@ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ ทอดที่เกาะพงันด้านตวันออก เวลา ๕ โมงเสด็จขึ้นบกไปที่ลำธารน้ำตก บ่าย ๒ โมงครึ่งเสด็จกลับลงเรือ บ่าย ๓ โมงออกเรือ แต่ลมตวันตกเฉียงเหนือพัดกล้าฝนตกบ้าง ทอดเรือที่หว่างเกาะสมุยกับเกาะพงันไม่ได้ จึงต้องไปทอดเรือพระที่นั่งที่อ่าวระเวนหรือระแวงริมเกาะสมุย ได้ทอดสมอเวลา ๕ โมงครึ่ง พอฝนหายเสด็จขึ้นบก เสด็จพระราชดำเนิรไปที่สวนจีนแห่งหนึ่ง เสด็จกลับเรือพระที่นั่งเกือบทุ่มหนึ่ง ที่อ่าวนี้ทอดได้ชิดฝั่งห่างประมาณ ๔ เส้น ฯ
-------------------------------------------------------------------------------------
๑ ตึกนี้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ที่สมุหพระกลาโหม ให้สร้างสำหรับเปนที่พักข้าหลวง มีที่ปากน้ำเมืองเพ็ชรบุรี (ทำค้าง) แห่ง ๑ เมืองปราณแห่ง ๑ เมืองชุมพรแห่ง ๑ เมืองสงขลาแห่ง ๑
๒ ธารน้ำตกแห่งนี้ มีปรากฏในแผนที่บอกแต่ว่ามีน้ำจืด ครั้นเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นเปนลำธารใหญ่เปนที่สนุกสบาย จึงพระราชทานนามว่า “ธารเสด็จ” เปนที่โปรดเสด็จประพาสต่อมาจนตลอดรัชกาล



@ วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ เลื่อนเรือพระที่นั่งจากอ่าวระแวงมาทอดที่อ่าวหน้าค่ายเกาะสมุยเสด็จขึ้นบก ทรงพระราชดำเนิรไปในสวนกิมยี่ถือ แล้วเสด็จไปวัดขาม ออกจากวัดขามข้ามทุ่งไปทางประมาณ ๒๐ เส้นถึงวัดมะเรศ ซึ่งมีชื่อตั้งเรียกว่าวัดคงคาคิรี ทอดพระเนตรของสำคัญต่างๆ ซึ่งเปนของขรัวพุดสอนทำไว้แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ข้ามทุ่งไปอีกทุ่งหนึ่งทางประมาณ ๔๐ เส้นถึงเขาเล่ มีวัดเปนวัดสร้างขึ้นใหม่ มีพระบาท ๔ รอยจำลองอยู่ที่ไหล่เขา บนศิลาก้อนใหญ่ๆ สูงแต่พื้นดินถึงที่พระบาทจำลองประมาณ ๒๑ วา เสด็จกลับจากเขานั้นทรงพระราชดำเนิรเลียบมาตามชายไม้ จนถึงคลองแห้งข้ามคลองขึ้นถนน ซึ่งพระยานครศรีธรรมราชทำไว้ มาออกทเลทางสวนพระยานครศรีธรรมราช ประทับเสวยกลางวัน แล้วทรงพระราชดำเนิรเลียบหาดมาลงเรือพระที่นั่งที่เดิม ได้ออกเรือกระบวรเสด็จพระราชดำเนิรเวลาบ่าย ๔ โมง ฯ
@ วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง ๒๕ นาฑี ถึงปากน้ำเมืองสงขลา ทอดเรือพระที่นั่งหลังเกาะหนูห่างฝั่ง ๖๐ เส้นเศษ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยเมืองสงขลา ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในเรือพระที่นั่ง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าพระยาวิเชียรคิรี ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ป่วยเป็นฝีอคเนสันมาแต่เมืองแขก กลับมาถึงเมืองสงขลาได้ ๔ วัน ถึงวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ถึงอนิจกรรมเวลาบ่ายโมง ๑ เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นบกประทับแรมที่ค่ายหลวงที่แหลมทรายเมืองสงขลา เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เสด็จโดยทางชลมารค ไปขึ้นท่าหน้าจวนเมืองสงขลา ทอดพระเนตรจวนเจ้าเมืองเก่าแลบ้านพระยาสงขลาที่ถึงแก่กรรม แล้วทรงพระราชดำเนิรตามตลาดเลี้ยวตามถนนบ้านขาม แลวัดมัชฌิมาวาส คือวัดกลาง ซึ่งเปนวัดสงฆ์ธรรมยุติกาแล้วกลับลงทางตลาด ไปประทับเรือพระที่นั่งหน้าจวนกลับที่พลับพลาแหลมทราย แรมอยู่คืนหนึ่ง ฯ
@ วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงครึ่งเสด็จไปเกาะยอในทเลสาบ ขึ้นที่วัดแหลมกระพ้อ ทอดพระเนตรโรงเผาโอ่งอ่าง แล้วทรงพระราชดำเนิรตามถนนข้ามทุ่งไปที่สวนตามเชิงเขา ทางประมาณ ๔๐ เส้น แล้วเสด็จกลับมาที่พลับพลา ทรงพระราชดำริห์ว่าเมืองสงขลาเปนเมืองใหญ่ ได้บังคับบัญชาเมืองแขกหลายเมือง ไม่มีตัวผู้รักษาเมือง ผู้ช่วยเปนแต่หลวงมีบันดาศักดิ์น้อยไม่สมควรจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งหลวงวิเศษภักดี เปนพระยาสุนทรานุรักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการ ให้เปนผู้รักษาราชการบ้านเมือง ในเวลาที่ไม่มีตัวผู้สำเร็จราชการ โปรดเกล้าฯ ให้นายพ่วงมหาดเล็ก บุตรพระยาวิเชียรคิรีที่ถึงแก่กรรมเปนหลวงอุดมภักดี โปรดเกล้าฯให้นายผันมหาดเล็ก บุตรพระยาอนุรักษ์ภูเบศร์เปนหลวงบริรักษ์ภูเบนทร์ ผู้ช่วยราชการทั้งสองคน ประทับแรมอยู่ที่เมืองสงขลาอีกคืนหนึ่ง ฯ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
๑ หลวงวิเศษภักดี ชม ณสงขลา เปนหลานเจ้าพระยาสงขลา เม่น ภายหลังได้เปนพระยาวิเชียรคิรี ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา
๒ พระยาสงขลา ชุ่ม ณสงขลา บุตรเจ้าพระยาสงขลา สังข์
๓ คือเมืองตรังกานู กับเมืองทั้ง ๗ ซึ่งรวมเปนมณฑลปัตตานีบัดนี้
๔ หลวงอุดมภักดี พ่วง ณสงขลา เดี๋ยวนี้เปนพระยาเพชราภิบาล พระยาหนองจิก



@ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน ทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์จะสร้างค้างอยู่ เวลาบ่ายพวกแขกซึ่งคุมเครื่องราชบรรณาการมาคอยอยู่ที่เมืองสงขลา คือพระพิพิธภักดี แลตนกูหมัดเมืองตานี พระไพรีพ่ายฤทธิ์ กับน้องพระยายะลา นายทัด ผู้ว่าที่เจ้าเมืองหนองจิก พระดำรงเทวฤทธิ์ ผู้ว่าราชการเมืองเทพา พระมหานุภาพ ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ ได้เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จไปขึ้นที่หาดหัวเขาแดง ทอดพระเนตรมรหุ่มที่ฝังศพแขกโบราณ แล้วเสด็จมาประทับเรือพระที่นั่งได้ใช้จักรจากเมืองสงขลาเกือบทุ่ม ๑ ฯ
@ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้าสามเสี้ยว ได้ทอดสมอเรือหน้าเมืองกลันตัน น้ำ ๓ วา ห่างฝั่ง ๒๐ เส้นเศษ พระยาเดชานุชิต พระยากลันตัน พระโยธีประดิยุทธ รายามุดา พระรัษฎาธิบดีบุตร ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในเรือพระที่นั่งเวสาตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาสุราภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ แก่พระยาเดชานุชิต แลพระยากลันตัน มัณฑนาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ แก่รายามุดา และพระยารัษฎาธิบดีบุตร ในเวลาเย็นวันนี้เสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารคไปทอดพระเนตรที่บ้านปากน้ำเมืองกลันตัน แล้วเสด็จกลับมาแรมในเรือพระที่นั่ง เมืองกลันตันก็ได้จัดการตั้งกองล้อมวง คอยระวังพิทักษ์รักษาราชการอยู่ที่ปากน้ำ เสียงตีฆ้องขานกันไปตลอดคืนยังรุ่ง เหมือนอย่างธรรมเนียมหัวเมืองชั้นใน ที่ได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนิรฉนั้น ฯ
@ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ เวลา ๓ โมงเช้า พระยากลันตัน รายามุดา พระรัษฎาธิบดีบุตร คุมเรือคนพายเต็มลำประมาณ ๓๐ ลำ เรือเสาเรือใบประมาณ ๑๐ ลำ คนประมาณพันหนึ่งลงมารับเสด็จขึ้นเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเรือพระที่นั่งโบตสิบสองกรรเชียง พวกเรือแขกตามขึ้นไป ตีฆ้องโห่แลขานยาวเกรียวกราวเปนการเอิกเกริกมาก ขึ้นไปตลอดตามลำน้ำถึงฉนวนน้ำ เวลาเกือบบ่ายโมงหนึ่ง พระยาเดชานุชิต แลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย ลงมาคอยรับเสด็จอยู่ที่ท่าน้ำพร้อมกัน เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปพักที่พลับพลาซึ่งปลูกใหม่ในเวลากลางคืน พลับพลา ๔ ห้องเฉลียงรอบ กั้นเปนข้างหน้าข้างใน ดาดปะรำออกไปกว้างโดยรอบ ข้างในกั้นฝากว้างขวาง หลังคาใช้กระแชงเตยทั้งสิ้น ดาดหลังคามีเพดานผ้าขาวแลม่านเรียบร้อยพอสมควรแก่เวลาที่ทำ เสด็จประทับรับสั่งพระราชปฏิสัณฐารเจ้าเมืองกรมการบุตรหลานทั่วกันจนเวลาบ่าย ๒ โมง พวกพระยาเดชานุชิต แลพระยากลันตันเข้าไปจัดเตรียมการรับเสด็จในบ้าน ให้รายามุดาแลผู้ช่วยอยู่ประจำที่พลับพลา เวลาบ่าย ๓ โมงจึงเสด็จพระราชดำเนิรเข้าไปในบ้านพระยากลันตัน ห่างพลับพลาประมาณสามสิบวา พระยาเดชานุชิต พระยากลันตันพร้อมกันคอยอยู่ที่ประตูชั้นนอก เสด็จพระราชดำเนิรเข้าไปประทับที่หอนั่ง เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิรทางบกนี้ พระยาเดชานุชิต พระยากลันตันได้จัดแขกถือหอกซัดแห่เสด็จเปนกระบวรหน้า ๕๐ คู่ ๑๐๐ คน แต่สมเด็จพระนางเจ้า แลกระบวรพระประเทียบนั้น เสด็จเข้าไปข้างในทีเดียว ภรรยาแลบุตรพระยากลันตันมาคอยรับเสด็จอยู่ประตูหอนั่ง แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณา อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนิรเข้าไปข้างใน จัดที่รับที่หอกลาง มีเบาะพับอย่างยาวๆ เหมือนที่นอนปูลาดด้วยเข้มขาบอัดตลัด มีหมอนต่างๆตั้งอย่างแขก มีขวดน้ำถ้วยแก้วแลสำรับของเลี้ยงตั้งเรียงรายไปดูงามเหมือนอย่างธรรมเนียมโบราณ ที่จัดการรับแขกอย่างไทยกันแต่ก่อนที่กรุงเทพฯ ในที่นั้นบุตรภรรยาใหญ่น้อย บ่าวไพร่นั่งแวดล้อมอยู่โดยรอบกว่าสามร้อยคน การต้อนรับของผู้หญิงในเมืองกลันตันเปนอย่างดีหาที่ไหนสู้ไม่ได้ สนิทสนมเปนฉันข้ากับเจ้าเหมือนแม่เรือนที่ช่างต้อนรับผู้ใหญ่อย่างดี ตัวพระยาเดชานุชิต แลพระยากลันตันเองเปนผู้รินน้ำแลยกเครื่องเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ภรรยาน้อยๆเปนผู้ตั้งเครื่อง ภรรยาใหญ่ซึ่งเปนมารดาพระยากลันตันเปนผู้เข้ามาจัดสรรเครื่องตั้งแต่งให้เสวย บุตรสาวซึ่งเปนภรรยาพระยาตานีมานั่งถวายอยู่งาร รินน้ำร้อนน้ำชาทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องคาวหวานในเมืองกลันตันนี้ จัดตามแบบไทยอย่างโบราณแปลกกว่าสำรับอย่างไทยทุกวันนี้เปนอันมาก คือในสำรับตั้งจานเชิงซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น โต๊ะเงินย่อมๆซึ่งเปนอย่างโต๊ะเคียงก็มีจานเรียงซ้อนๆกันขึ้นไปโต๊ะหนึ่งถึง ๔๐ จาน มีขนมต่างๆซ้อนกันถึง ๔๐ อย่าง ของคาวก็ซ้อนเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ใช้โต๊ะทองเหลืองอย่างแขกฅอคอดๆทั้งสิ้น สำรับที่เลี้ยงนั้นหามากหลายร้อยสำรับ ตั้งดาษดื่นเต็มไป เมื่อมอบการให้ผู้หญิงดูแลเลี้ยงข้างในแล้ว พวกผู้ชายออกไปเลี้ยงเจ้านายแลข้าราชการข้างหน้า ตั้งแต่เจ้าเมืองลงไปตลอดจนศรีตวันกรมการแสดงความเคารพนบนอบโดยความสวามิภักดิ์ซื่อสัตย์สุจริต แลเข้าเลี้ยงดูเองเหมือนอย่างรับรองผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันอย่างสนิท ครั้นเสวยเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตรตลาดจนบ่าย ๕ โมงครึ่งจึงเสด็จกลับเรือ พระยาเดชานุชิต พระยากลันตัน แลรายามุดา ผู้ช่วย ตามลงมาส่งเสด็จ แลพเอิญถูกเวลาคลื่นจัดเรือแขกออกไม่ได้ต้องรออยู่ที่หาดปากอ่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เชิญสิ่งของบำเหน็จขึ้นไปพระราชทาน พระยาเดชานุชิต พระยากลันตัน รายามุดา แลพระรัษฎา ทั้ง ๔ คน เรือพระที่นั่งทอดรอข้าราชการตามเสด็จที่ไปเรือแขกไปติดคลื่นอยู่ กว่าจะลงมาพร้อมกันได้หมดเวลา ๕ ทุ่ม จึงได้ออกเรือกระบวรเสด็จจากปากน้ำเมืองกลันตัน ฯ
------------------------------------------------------------------------------------------------
๑ พระเจดีย์องค์นี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง
๒ นายทัด ณสงขลา เปนบุตรเจ้าพระยาสงขลา สังข์ แล้วได้เปนพระยาหนองจิก
๓ เสด็จเมืองกลันตัน เมืองตรังกานูครั้งนี้ เปนครั้งแรกที่ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จไปถึง เปนเหตุให้ทรงคุ้นเคยสนิทสนมมาแต่ครั้งนี้ ต่อมาก็ได้เสด็จอีกหลายคราว





Create Date : 14 ตุลาคม 2550
Last Update : 14 ตุลาคม 2550 19:11:31 น. 0 comments
Counter : 668 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]