กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
เมื่อกล่าวถึงเรื่องกรรมฐานแล้ว มักเป็นที่เข้าใจว่า ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเข้าวัดอาราม สำนักสงฆ์หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมต่างๆที่มีการฝึกฝนอบรมการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา และมักได้ยินได้ฟังจนคุ้นหูจากนักปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาทั้งหลายที่ได้ผ่านการอบรมมา ปฏิบัติมาแล้วว่า ได้องค์กรรมฐานภาวนามาบ้าง ได้ไปเข้ากรรมฐานมาบ้าง ได้ฐานที่ตั้งมาแล้วบ้าง ฯลฯ
มีความเข้าใจกันไปตามมติของตนเอง หรือจากนักปริยัติที่ยึดถือตามตำราว่า การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นพวกฝ่ายสมถะกรรมฐานหรือกรรมฐานหินทับหญ้า เอาแต่ติดสุขสงบสบายอยู่แต่ในกรรมฐานนั้น ไม่ทำให้เกิดปัญญาใดๆขึ้นมาได้เลย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ที่เป็นการคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในทางพระพุทธศาสนา คำว่า "กรรมฐาน" นั้น ประกอบไปด้วยคำว่า "กรรม" บวกกับคำว่า "ฐาน" ซึ่งแปลได้ว่า "ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต" ทำไมถึงต้องมีฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตด้วยล่ะ??? เพราะกาย วาจาของเรานั้น ล้วนมีการเคลื่อนไหวกระทำการใดๆออกไปตามเรื่องราวต่างๆ ภายใต้การบังคับบัญชาของจิตใจ หรือ ตกอยู่ในอำนาจของจิตใจที่ครอบครองกายกรรม วจีกรรมนี้อยู่ กรรมฐานจึงเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ ที่ทำให้เป็นไป ทำให้เกิดขึ้น มีขึ้น นั่นเอง ในทางโลกนั้น ก็มีกรรมฐานด้วยเช่นกัน แต่กรรมฐานหรือฐานที่ตั้งการงานทางจิตในโลก ล้วนเป็นเรื่องราวความรู้สึกนึกคิด ที่เกิดขึ้นจากการทำงานทั้งหลาย หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการงานทางจิตที่ตนเองได้หมายเอาไว้ และกระทำลงไปด้วยความตั้งใจ เพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งแห่งการงานนั้น และเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามเนื้องาน เหตุการณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผ่านเข้ามาในขณะนั้นๆ ซึ่งกรรมฐานเหล่านี้ไม่สามารถใช้สอยประโยชน์ หรือก่อให้เกิดสติปัฏฐานขึ้นมาได้เลย เนื่องจากเป็นฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เกิดขึ้น ณ.ภายนอก หรือเป็นเพียงธรรมารมณ์ที่ได้หมายเอาไว้ และเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ หรือระยะเวลาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ซึ่งในบางครั้ง อาจประกอบด้วยวัตถุกาม หรือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาได้ ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่มักต้องคลุกคลีอยู่กับ กิเลส กรรม วิบากของตนเอง ที่เกิดขึ้นได้เสมอๆเป็นธรรมดา ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตดังกล่าว ไม่สามารถก่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้เลย และยังเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดกิเลสกามและอกุศลธรรมขึ้นมาที่จิตได้อีกด้วย จึงได้ปรากฏมีพวกนักบวช หรือพวกที่เบื่อหน่ายในทางโลก ที่ประสงค์จะออกจากกาม และอกุศลธรรม หรือ กิเลส กรรม วิบากทั้งหลาย ได้ออกบวช ถือบวช ปลีกวิเวก ทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ เพื่อค้นหาอุบายธรรม ออกปฏิบัติค้นหารูปแบบต่างๆนานาๆ มาปฏิบัติ เพื่อหาวิธีขจัดปัดเป่ากิเลสกามและอกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดไปจากจิต ได้เกิดมีเจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมายในโลก มีด้วยกันหลายลัทธิ หลายความเชื่อด้วยกัน เจ้าลัทธิทั้งหลายล้วนมีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ว่าตนสามารถค้นพบหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ จากกาม และอกุศลธรรมได้ และประกาศตนเป็นเจ้าลัทธิต่างๆ ที่ได้บรรลุคุณธรรมอันเลิศแล้ว ส่วนพระพุทธองค์ได้ทรงศึกษาลัทธิต่างๆ เหล่านี้มาแล้ว และรู้ได้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อทั้งหมดของเจ้าลัทธิทั้งหลายนั้น ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นจากทุกข์ที่แท้จริงเลย ดังมีพระพุทธพจน์ในจูฬทุกขักขันธสูตรว่า "เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม มิได้ก่อน" เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้(ตรัสว่ารู้) แล้ว ทรงตรัสว่า "เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น(สัมมาสมาธิ) เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม" พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งหลักการปฏิบัติธรรมของเจ้าลัทธิทั้งหลาย ออกเป็นทางที่สุด ๒ ส่วน ที่ภิกษุไม่ควรเข้าใกล้ หรือไม่ควรเสพนั่นเอง คือ อัตตกิลมถานุโยค ๑ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ ได้ทรงบัญญัติขยายความไว้ดังนี้ อัตตกิลมถานุโยค เป็นการประกอบความเหน็ดเหนื่อยเปล่าด้วยตนเอง ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของปุถุชนคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงแสดงผลของการเสพธรรมทั้ง ๒ ส่วนนี้ และได้ทรงกล่าวไว้กว้างๆ พอให้เห็นโทษภัยของการเสพทาง ๒ ส่วนนั้น ส่วนกามสุขในส่วนที่ละเอียดลึกซึ้งระดับฌาน ที่เกิดจากรูปฌาน-อรูปฌานที่เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘ นั้น ก็จัดอยู่ในส่วนของ "กามสุขัลลิกานุโยค" ซึ่งเป็นกามสุขในส่วนที่ละเอียดมาก ผู้ปฏิบัติได้ล้วนเป็นพวกที่มีกิเลสเบาบาง เป็นโลกียปัญญาชั้นสูง อย่างพวกพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้มีปรารภไว้ ในตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ และเล็งเห็นด้วยพระญาณของพระองค์ว่า อาจารย์ทั้งสอง(ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส) ได้อรูปฌาน ๗ และ ๘ นั้น เป็นผู้มีกิเลสเบาบางอย่างมาก เพียงแค่ฟังธรรมก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยไว ชักนำให้เข้าสู่ทางสายกลางหรืออริยมรรคได้โดยง่าย น่าเสียดายที่ท่านจากโลกนี้ไปเสียแล้ว เพราะท่านเหล่านั้น ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมทางจิตมาอย่างช่ำชองโชกโชน และชำนาญแล้วเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง ฌานโลกีย์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก รูปฌาน-อรูปฌาน เป็นการไปนำเอาอารมณ์ภายนอกกาย ที่เป็นรูปซึ่งปราศจากกามมาเป็นองค์ (อารมณ์) แห่งการภาวนา หรือเป็นฐานที่ตั้งของสติ ไม่จัดเป็นสัมมาสติในมหาสติปัฏฐาน๔ เพราะอารมณ์ที่ว่านี้ เมื่อยิ่งฝึกฝนจนช่ำชองชำนาญคล่องแคล่ว จิตก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ด้วยความยินดีในอารมณ์นั้นๆอย่างเหนียวแน่น แนบแน่นมากยิ่งๆขึ้น ที่เรียกว่า "ฌานสมาบัติ" ยังถูกอารมณ์ที่ละเอียดเหล่านี้ คอยปรุงแต่งครอบงำจิต ให้เกิดความหวั่นไหวอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะยังให้มีความรู้สึกกังวลลึกๆ เกิดขึ้นที่จิตของตนอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าอารมณ์ฌานเหล่านั้น จะหายไป หรือจืดจางไปจากจิตของตนนั่นเอง เรียกว่า ยังเป็นทุกข์อยู่ ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ไปได้ เพราะปล่อยวางอารมณ์ฌานที่ละเอียดไม่เป็นนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากกรรมฐานที่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ในสัมมาสมาธิอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการสร้างฐานที่ตั้งของสติ จากมหาสติปัฏฐาน ๔ อันมี กาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นอารมณ์ธรรม ณ.ภายใน ล้วนเป็นฐานที่ตั้งของสติ อันเกิดจากภายในกาย หรือที่เรียกว่าพิจารณากายในกายนั่นเอง ทำให้เห็นพระไตรลักษณ์ในองค์ธรรมเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน โดยต้องเริ่มที่อานาปานสติ หรือคำภาวนาต่างๆ ที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสงฆคุณ เป็นสำคัญ เพราะองค์ธรรมเหล่านี้ ล้วนจัดอยู่ในกายสังขาร (กายในกาย) ทั้งสิ้น และต้องเริ่มจากฐานกายเท่านั้น ที่จะทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างแน่นหนาในพระสูตร เมื่อได้ฐานที่ตั้งของสติแล้ว ย่อมเชื่อมโยงถึงฐานอื่นๆที่เหลือได้เองโดยอัตโนมัติ เรียกว่า สติปัฏฐานบริบูรณ์ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในท้ายมหาสติปัฏฐาน ๔ ทุกบรรพะว่า "สักแต่ว่าเป็นที่ระลึกรู้ สักแต่เป็นว่าที่อาศัยเท่านั้น" เมื่อสิ่งที่เป็นเพียง "สักแต่ว่า" ก็แสดงว่ากรรมฐานนั้นมีไว้ให้ใช้สอยเท่านั้น ไม่ใช่มีไว้ให้ยินดี หรือไม่ใช่มีไว้ให้ยึดถือเอาเป็นของๆตน เมื่อเป็นสิ่งที่สักแต่ว่า เมื่อหมดงาน ก็หมดกิจ กิจอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว จิตจึงรู้จักการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆทั้งหลายลงได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อใช้เป็น และรู้จักการใช้ได้อย่างคล่องแคล่วดีแล้ว ก็จะรู้เองเห็นเองโดยปราศจากข้อลังเลสงสัยใดๆอีกต่อไป ว่าเพราะอะไรจึง "สักแต่ว่า".... บทส่งท้าย บทความนี้อ้างอิงพระพุทธพจน์ ที่มาจากพระพุทธประวัติและพระสูตรบางส่วน ที่ต้องอ้างอิงเพราะเห็นว่า มีความเข้าใจผิดๆอย่างมากเกี่ยวกับฌานสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าสมณะโคดมจะอุบัติขึ้นมาก่อนเสียอีก แต่ไปเข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับฌานในสัมมาสมาธิที่เป็นหนึ่งในอริยมรรค นั่นมันคนละเรื่องกันเลย ฌานที่เกิดจากสมาบัติ ๘ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปแล้วโดยสิ้นเชิงแล้วก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ว่า ไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นเพียงโลกียปัญญา และได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นอีกทีในตอนประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า "อันธรรมที่เราได้ตรัสรู้ด้วยตนเองมานั้น เป็นธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนเลย" ก็เป็นที่ยืนยันแน่นอนแล้วว่าฌานสมาบัติ ๘ เป็นสมาธิที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนา ดังนี้ "เมื่อภิกษุมีความเพียรเป็นเครื่องตื่น มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น เบิกบานผ่องใส เห็นแจ้งในกุศลธรรมทั้งหลายสมควรแก่กาลในการประกอบกรรมฐานนั้นเนืองๆ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ความเป็นพระอนาคามี ฯ" เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต พระพุทธศาสนาสอนเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น
รูป จิต เจตสิก นิพพพานเป็นไฉน???
รูป มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูป (พระพุทธพจน์) นั่นคือ รูป เกิดจากมหาภูตรูป ๔ แบ่งเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ ๑.รูปที่เกิดจากมหาภูตรูป ๔ ที่ไม่มีจิตครอง เรียกว่า อนุปาทินกสังขาร เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ ใบหญ้า ฯลฯ ๒.รูปที่เกิดจากมหาภูตรูป ๔ ที่มีจิตเข้าไปยึดครอง เรียกว่า อุปาทินกสังขาร ได้แก่ มนุษย์และสัตว์(ผู้ข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย ฯลฯ รูปทั้งหลายดังกล่าวเหล่านี้ ล้วนเป็นอารมณ์ของจิต แต่จะเป็นอารมณ์ที่จิตของตนได้นั้น ก็ต่อเมื่อจิตของตนได้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ด้วยมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตดวงนั้นอยู่ก่อนหน้า ถ้าจิตของตนหมดความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว รูปนั้นๆย่อมไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนั้น(ของตน) อีกต่อไป อารมณ์(รูป) ก็ยังเป็นอารมณ์(รูป) แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนั้น(ของตน) ที่ไม่ได้เข้าไป ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้น เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทานดับไปจากจิตของตน เมื่อจิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป(อารมณ์) ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ตามมา ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถือ ก็ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ตามมา (คือจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ คือความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ได้) อารมณ์(รูป) ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์ จัดแบ่งเป็น ๒ ชั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส จัดเป็นอารมณ์ชั้นนอก ธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ จัดเป็นอารมณ์ชั้นใน จิตอาศัยอยู่ในรูปร่างกายมนุษย์ หรือที่เรียกว่า รูปขันธ์ รูปขันธ์มีทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับให้จิตใช้รับอารมณ์ชั้นนอก รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส (ตา+รูป หู+เสียง จมูก+กลิ่น ลิ้น+รส กาย+กายสัมผัส) ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ตามมา คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเกิดอารมณ์ชั้นใน (ธัมมารมณ์) จากอดีตอารมณ์ คือ สัญญา ความจำได้หมายรู้ ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นกัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นที่จิตตลอดเวลาทีละอารมณ์ ตลอดชีวิต เราเรียกอารมณ์เหล่านั้นว่าอุปาทานขันธ์ ล้วนเป็นทุกข์ ดังมีพระบาลีกล่าวไว้ดังนี้ ปจฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกขา แปลว่า การยึดมั่นถือมั่นอุปาทานขันธ์ ๕ ล้วนเป็นทุกข์ "อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปทานาขันธ์คือวิญญาณ" (พระสูตร) สรุป ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ (รูป) และนามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกิดขึ้นที่จิตและดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน หรือก็คือ อาการของจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปนั่นเอง หาใช่จิตเกิดดับไม่ จิต นิยามของจิตจากพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบทมีดังนี้ "วิสงฺขารคตํ จิตตํ ตณฺหานํ ขยมชฺคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่งบรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" (พระพุทธอุทาน) จิต คือ ผู้รู้อารมณ์ คือ ธาตุรู้ คือ วิญญาณธาตุ (ไม่ใช่วิญญาณขันธ์) อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เกิดจากธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) จิตในพระพุทธพจน์แบ่งไว้ดังนี้ โลกียจิต ๑ โลกุตตรจิต ๑ โลกียจิตนั้น เป็นจิตที่ติดข้องในโลกคืออารมณ์(รูป) เพราะมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำจิต ล้วนเป็นจิตที่ยังยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆบรรดามีในโลก(อารมณ์) มาเป็นของๆตน ย่อมเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ตลอดกาลนาน เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงยังไม่หลุดพ้นไปได้ แบ่งออกเป็นชั้นๆ เช่น พรหม เทวดา คน สัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ ส่วนโลกุตตรจิตนั้น เป็นจิตของพระอริยเจ้าชั้นต่างๆ แบ่งเป็นมรรค ๔ ผล ๔ เป็นการแบ่งตามภูมิธรรมของโลกุตตรจิตในแต่ละชั้น ตามกำลังการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปจากจิตได้ หรือจิตที่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั่นเอง เป็นจิตที่สามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัณหามานะและทิฏฐิในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้เป็นชั้นๆตามกำลังของจิตในแต่ละชั้น ส่วนโลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์นั้น เป็นชั้นจิตที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายได้อย่างหมดจดหมดสิ้น หรือที่เรียกว่า สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว บรรลุพระนิพพาน ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ ตามที่ได้ยกมาข้างต้นว่า "จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง(วิสังขาร) บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ใน กาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำเมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี" (พระพุทธพจน์) จากพระสูตรก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่า เมื่อละอวิชชาได้ย่อมต้องละตัณหา ละอุปาทานได้ด้วยเช่นกัน การสำรอกอวิชชา(เจตสิก) ออกไปจากจิตได้ จิตย่อมอิสระ และสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว เช่นกันในขณะนั้น พระนิพพาน ไม่ใช่จิต แต่เป็นคุณลักษณะของจิตที่พ้นวิเศษแล้ว จึงเนื่องด้วยจิตเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เราต้องมาพิจารณาคำว่า "เจตสิก" คืออะไร? เจตสิก 1. ลักษณะของเจตสิกคือ มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น 2. กิจการงานของเจตสิกคือ เกิดร่วมกับจิต 3. ผลงานของเจตสิกคือ รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต 4. เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดขึ้นของจิต จากนิยามของเจตสิก ทำให้เรารู้ว่า เจตสิกเป็นสิ่งที่มาปรุงแต่งจิต เกิดขึ้นมาในภายหลังจิต เมื่อไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้เช่นกัน แสดงว่า เจตสิกนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องอาศัยจิตเกิด ทำงานร่วมกับจิต รับอารมณ์เช่นเดียวกับจิต เกิดขึ้นได้เพราะมีจิต เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้จิตเสียคุณภาพไป ส่วนโลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นจิตที่ได้รับความบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยดีแล้วจากเครื่องเศร้าหมองหรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย ย่อมบรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา เมื่อเป็นแบบนี้แล้วยังจะให้โลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์มีเจตสิกเป็นเครื่องประกอบอีกจิตหรือ? เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว "เจตสิกธรรม" น่าจะเป็นตัวอวิชชาที่มาเกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะคุณสมบัติของอวิชชา ซึ่งตรงกับนิยามของคำว่าเจตสิกที่ยกมา อวิชชาต้องอาศัยจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่เองลอยๆไม่ได้ จิตที่มีอวิชชาครอบงำย่อมมีการงานและรับรู้อารมณ์ร่วมกับจิต ถ้าไม่มีจิตย่อมต้องไม่มีอวิชชาเช่นกัน เมื่อจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยดีแล้วจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว ย่อมกลายเป็น ธรรมธาตุ หรือที่เรียกว่า อมตะธาตุ อมตะธรรม ที่ได้รับความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมาเจือปนได้อีกต่อไปแล้ว ย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดหรือดับตายหายสูญไปไหน เพียงแต่คงสภาพบริสุทธิ์ที่สูญสิ้นไปจาก แม้กามสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะเท่านั้นเอง ดังพระพุทธพจน์ที่มีมาดังนี้ เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณฯลฯ เมื่อเรานั้น รู้เห็นอย่างนั้น จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า พ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (พระพุทธพจน์) เมื่อพูดถึงความบริสุทธิ์ เราทุกคนย่อมรู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งนั้นๆต้องเป็นเอกเทศได้รับความบริสุทธิ์หมดจด ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอื่นแม้แต่เพียงเล็กน้อย เข้ามาเจือปน ให้เสียคุณภาพของความบริสุทธิ์ไป เราจึงเรียกได้ว่า "บริสุทธิ์" ถ้ายังมีสิ่งอื่นแปลกปลอมเข้ามาเจือปนแม้เพียงเล็กน้อย เราก็ไม่อาจเรียกสิ่งนั้นๆ ว่า "บริสุทธิ์" พระบาลีในพระพุทธพจน์ก็ชี้ชัดไว้ว่า "เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส" เมื่อจิตที่เป็นธาตุรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้เป็นสมาธิได้รับความบริสุทธิ์ ย่อมเป็นการชี้ชัดว่า จิตที่เป็นธาตุรู้นั้น รู้สักแต่ว่ารู้ บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน คือไม่มีอารมณ์กิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายเข้ามาเจือปน ให้จิตเสียคุณภาพไป คือ รู้สักแต่ว่ารู้ จิตเป็นวิสังขาร สิ้นการปรุงแต่ง ไม่ผสมปนเปกับอารมณ์กิเลสหรืออุปกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสั่งสอนแต่เรื่อง "จิตกับอารมณ์" เท่านั้น เป็นปรมัติ สูงสุดแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจาก "จิตกับอารมณ์" นี้อีกเลย และทรงสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ ตามหลักอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นหลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ เพื่อถึงที่สุดทุกข์ หรือ "พระนิพพาน" นั่นเอง เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว
คำถาม :- "ทำไมถึงชอบพูดว่า
การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว" คำตอบ :- การรู้จักเรื่องจิตผิดๆ ย่อมทำให้การเรียนรู้ และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เช่นเดียวกับบุคคลที่ติดกระดุมเสื้อผิดเม็ดแรก เม็ดต่อๆไปก็จะติดผิดตามไปด้วยตลอดแนว การเปรียบเทียบแบบนี้จะทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงเหตุแห่งความเข้าใจผิดๆนั้น แต่กลับเข้าใจเอาเองแบบผิดๆว่า สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว เพราะสามารถติดกระดุมได้ตลอดแนวเช่นกัน แต่เป็นแถวเป็นแนวที่ผิดรูปไปไม่ลงตัวกันพอดีเท่านั้น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย เนื่องจากตนเองนั้นใส่เสื้อตัวนั้นอยู่ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ตนเองทำลงไป แต่ก็ไม่ถึงกับไม่รู้เลย เพียงแต่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำ ต้องให้บุคคลอื่นที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว ชี้ให้เห็นตามความเป็นจริง เนื่องจากบุคคลที่เคยผ่านมาแล้วนั้น ย่อมมีวิธีการที่ติดกระดุมเม็ดแรกไม่ให้ผิดพลาดได้เลย โดยมีพระพุทธพจน์เป็นกระจกคอยส่องให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในการติดกระดุมเม็ดแรก เราควรต้องคอยเอาพระพุทธพจน์มาเทียบเคียง กับผลของการปฏิบัติที่ผ่านๆมา ว่าเราหลงทางอยู่หรือไม่ การเริ่มต้นนั้นสำคัญมากๆ เมื่อเริ่มต้นผิดก็จะทำให้ผิดตลอดแนวได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องจิต ซึ่งเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนาของ "เรา พวกเราชาวพุทธพึงต้องศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจอย่างถูกตรง ตามพระพุทธพจน์ จึงจะทำให้การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นอย่างถูกต้อง ในโอวาทปาติโมกข์นั้น พระพุทธองค์ท่านทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า ให้เราชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก เพื่ออะไร? เพื่อให้จิตหลุดพ้นหรือจิตพ้นวิเศษจากอารมณ์ต่างๆ(อุปกิเลสทั้งหลายทั้งดีทั้งชั่ว) เมื่อมีความเข้าใจผิดๆว่าจิตเป็นของเหลวไหลเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยไม่ได้แล้วเลยนั้น เราจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองไปเพื่ออะไร? เราจะชำระได้ละหรือ ในเมื่อจิตเกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตเป็นของเหลวไหล เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จะชำระจิตไปทำไม? ถ้าจิตเป็นของแบบที่ว่ามานั้นแล้ว เราควรปล่อยจิตทิ้งไปหรือทำลายทิ้งไปเสียให้สิ้นไม่ดีกว่าหรือ? ต้องไปชำระให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่ออะไร? เพราะว่า เมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด(เป็นธรรมธาตุ)ได้แล้ว จิตก็ยังเป็นของเหลวไหล เกิดดับ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้อยู่ดี ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระพุทธองค์คงไม่สอนให้เรามัวเสียเวลา กับการชำระของที่เกิดๆดับๆ เหลวไหลเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ก่อนอื่น เราชาวพุทธต้องมารู้จักจิตที่แท้จริงเสียก่อน คำว่า จิต คือธาตุรู้ เมื่อเป็นธาตุรู้ จะต้องทรงไว้ซึ่งความรู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ ถ้าตัวมันเองเกิดๆดับๆ จิตต้องเป็นสภาพธรรมที่รู้บ้างไม่รู้บ้างสิ จะมาเรียกว่าธาตุรู้ไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ต้องเรียกว่าธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้างจึงจะถูกต้อง เมื่อเป็นธาตุรู้ย่อมไม่กลับกลายเป็นธาตุอื่นไปได้ ย่อมต้องเป็นธาตุรู้อยู่ต่อไปตลอดเวลาวันยังค่ำ เพียงแต่มีการรู้ถูก(รู้เห็นตามความเป็นจริง)หรือรู้ผิดจากความเป็นจริงเท่านั้น ถ้ารู้ถูกก็เกิดวิชชาขึ้นที่จิต จิตมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต ส่วนที่จิตรู้ผิดนั้น เพราะจิตรู้ผิดไปจากความเป็นจริงถูกอวิชชาครอบงำมานานแล้ว แม้ผู้มีปัญญายังไม่รู้เลยว่า จิตถูกอวิชชาครอบงำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จิตที่เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น ภพมนุษย์นั้น เพราะ กิเลส กรรม วิบาก ที่นอนเนื่องอยู่ที่จิต เป็นตัวเหตุที่ผลักดันให้เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เพื่อมาชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ในสิ่งที่ตนเองได้เคยก่อไว้ ไม่ใช่มาชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของใครผู้หนึ่งผู้ใดที่เคยก่อไว้เลย เป็นการชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของตนเองแท้ๆนั่นเทียวที่ได้เคยก่อไว้ การชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของใครของเค้า จิตเรา กิเลส กรรม วิบาก ก็เป็นของเราที่เคยก่อไว้ จะเป็นของคนอื่นใดที่เคยก่อไว้เป็นไปไม่ได้เลย และรับชดใช้ กิเลส กรรม วิบากให้แทนกันก็ไม่ได้เช่นกัน ดั่งพระพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า ใครที่ทำกรรมดีกรรมชั่วเช่นใด ย่อมได้รับผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วเช่นนั้น ฉะนั้น จิตจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างมากที่พวกเราชาวพุทธต้องฝึกฝนอบรม ให้จิตเกิดความชำนิชำนาญในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว(สติปัญญา) ไม่ใช่ใช้เพียงแค่สัญญาที่ตนเองเข้าใจผิดๆคิดว่าเป็นปัญญา นึกว่าปล่อยวางได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ในจิตใจของตนเองยังคุกรุ่นอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น และเก็บกักอารมณ์เหล่านั้นไว้เป็นธรรมารมณ์ต่อไป พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อีกตลอดเวลา เมื่อมีเหตุปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างพร้อมมูล เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรต้องฝึกฝนอบรมจิตของเรา ให้รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์(อุปกิเลส)ทั้งหลาย ไม่ใช่เที่ยวไปอบรมจิตของใคร(คนอื่น)ไม่ได้หรอก ต้องเป็นจิตของใครของมันที่ต้องอบรมจิตตนเอง เราต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราหรือของใครของมันให้เกิดสติปัญญา(การปล่อยวางอารมณ์)ให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปกิเลสต่างๆทั้งหลายได้แล้ว จนจิตกลายเป็นธรรมธาตุแล้ว จิตจะกลับมายึดถือตนเองเพื่ออะไรอีก? ในเมื่อตนเอง(จิต)รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว โดยหลักการแล้ว เราต้องมารู้จักสักกายทิฐิ(ความรู้เห็นเรื่องกาย)ที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร? มีมาในพระพุทธพจน์เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง เพื่อให้มารู้จักกายในกาย(จิต) เมื่อรู้จักกายในกาย(จิต) ย่อมรู้จักเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมแบบต่อเนื่องได้ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมรู้จักจิตที่แท้จริง เมื่อรู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ผู้ปฏิบัติ(เรา)จะตั้งจิตที่มีสติไว้ฐานไหนอย่างต่อเนื่องก็ได้เช่นกัน ส่วนใครที่บอกว่า เริ่มต้นจากฐานไหนก็ได้ทั้งนั้น เป็นการกล่าวแบบไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง เพราะยังไม่เคยรู้จักจิตที่แท้จริง(กายในกาย)เลย ยังเข้าใจแบบผิดๆว่าจิตบังคับไม่ได้ ถ้าจิตบังคับบัญชาไม่ได้ เราจะมาฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นไปอย่างใจหวังไปเพื่ออะไร? มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ แสดงว่าจิตไม่ใช้ตัวทุกข์ และต้องฝึกฝนบังคับบัญชาได้ จึงนำสุขมาให้ได้ ตัวอย่างคนที่เคยทำผิดคิดมิชอบมาก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องได้กลับตัวกลับใจกันเลยสิ เพราะยังเข้าใจแบบผิดๆว่าจิตของตนเองนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาให้กลับตัวกลับใจได้....เอวัง เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต ฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมเลยได้มั๊ย ?
คำถาม :- 1. เอ แล้วพวกที่สมัยพุทธกาล ท่านฟังธรรมแล้วบรรลุๆ กัน
นี่หมายความว่าไงกันอะครับ คำตอบ :- ท่านครับ ในสมัยพุทธกาล เป็นสมัยจิตนิยม มีการปฏิบัติสมาธิกันตั้งแต่เล็กแต่น้อย เพียงแต่ สมาธิที่ปฏิบัติกันนั้น ไม่ใช่สัมมาสมาธิ(ปล่อยวางอารมณ์) ยังยึดอารมณ์ละเอียดอยู่ พอมาฟังธรรมของพระพุทธองค์ ก็เลย get ว่า ต้องปล่อยวางออกไปให้หมด อย่างท่านพาหิยะเป็นตัวอย่าง ท่านก็ปฏิบัติสมาธิมา แต่ติดอารมณ์ละเอียด พอฟังพระพุทธองค์ว่า รู้สักว่ารู้ เห็นสักว่าเห็น เท่านั้น get เลยว่าที่แท้ที่ผ่านมา ท่านยังยึดอารมณ์อยู่นั่นเอง เมื่อปล่อยวางทั้งหมด (รูป อรูป สุข ทุกข์) ก็สำเร็จ อย่างที่บอก องค์มรรค ๘ ต้องสมังคี ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำงานร่วมกัน กลมเกลียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จิตจึงจะพ้นทุกข์ได้ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ครับ คำถาม :- 2. งั้นมีอะไรที่จะรับประกันล่ะครับ ว่า ชาติหน้า จะได้เกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา และมีศรัทธาในการปฏิบัติเหมือนชาตินี้อะครับ คำตอบ :- ต้องรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ และปฏิบัติสัมมาสมาธิครับ เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต การภาวนาแบบสุกขวิปัสสโก คือทำฌานให้แห้งแล้ง หรือ?
คำถามจากสมาชิกท่านหนึ่งทางหลังไมค์
ขอโทษด้วยนะครับ ส่งมาเยอะเหลือเกิน มีอีกประเด็นนึงที่ใช้พูดกันมากครับ ประเด็นตรงนี้ น่าวิเคราะห์ครับ คำถาม :- มีการบอกว่า การทำแบบนี้ เป็นการภาวนาแบบ สุกขวิปัสสโก คือ ทำฌานให้แห้งแล้ง แล้วก็มีการบอกว่า ยุคนี้ สังคมแบบนี้ ทำฌาน ได้น้อยเต็มที (ซึ่งผมเอง ก็เชื่ออย่างนั้น เพราะตัวเอง แค่จิตรวม ยังเข้าไม่ถึงเลย) ตรงนี้ อาจจะต้องมีการอธิบายครับ ว่า การปฏิบัติแบบสุกขวิปัสสโก แท้จริงแล้วเป็นเช่นไรครับ คำตอบ :- การปฏิบัติแบบสุกขวิปัสสโก คือ แบบสายพุทโธ นั่นแหละครับ เน้นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิต จนจิตสงบถึงขีดสุด จิตแยกออกจากอารมณ์ ไม่สนใจที่จะไปเห็นผี เห็นนรก เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ ไม่สนใจเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ สุกขวิปัสสโก ไม่ใช่ทำฌานให้แห้งแล้ง จริงๆแล้วทำไม่ใช่ง่ายเลย เพราะจิตต้องปล่อยวางอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบจิตออกไปให้ได้หมดทุกอารมณ์ ซึ่งเป็นการสวนทางกับธรรมชาติของจิต ที่มีปกติตกไปในอารมณ์และปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ซึ่งจิตจะแยกออกจากอารมณ์ จนอยู่กันคนละส่วนได้นี้ ต้องระดับฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิเท่านั้น และต้องฝึกฝนจนเป็นวสี ชนิดที่น้อมจิตปุ๊บก็เข้าฌาน ๔ ได้ปั๊บ ธรรมภูต ★ ★ ★ คำถามหลังไมค์ (ต่อ) คำถาม :- อ่า อ่านแล้วชวนหมดกำลังใจครับ จะพ้นทุกข์ได้ ต้องเข้าฌาน 4 ให้ได้ งั้นเหรอครับ? คำตอบ :- ครับ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจครับ ความเพียรมีผล ความพยายามมีผลครับ ชาตินี้อาจไม่ทัน ชาติหน้าก็ยังดี ต้องปฏิบัติสม่ำเสมอไปครับ เป็นการสะสมบารมี เหมือนน้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน ธรรมภูต ★ ★ ★ คำถามหลังไมค์ (ต่อ) คำถาม :- อืม รบกวนพี่ช่วยอธิบาย สัมมาสมาธิ ว่า ต่างจากที่พี่บอกว่า เป็นสมาธินอกตัว สงบอย่างเดียว ได้ไหมครับ คำตอบ :- ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การปฏิบัติสมาธินั้น มีมาก่อนพุทธกาล และพระพุทธองค์ก็เคยทรงศึกษามาเช่นกัน ที่สำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส ...อากิญจัญญายตนะ (ฌาน ๗) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌาน ๘)... พระองค์ทรงตระหนักได้ว่า ฌานเหล่านั้นเป็นไปเพื่อความสงบ ทำให้กิเลสเบาบาง แต่ไม่เป็นไปเพื่อตัดกิเลส เพื่อความพ้นทุกข์ เพราะจิตยังยึดอารมณ์ละเอียดนั้นอยู่อย่างเหนียวแน่น และเกรงว่าอารมณ์นั้นๆจะจืดจางหายไป ทรงพบว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิ ฌาน ๔ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน เป็นวิธีที่ทำให้จิตสงบถึงขีดสุด จิตไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆเลย จิตปล่อยวางอารมณ์ทั้งสุข ทั้งทุกข์ จิตเป็นอิสระไม่เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ใดๆ สัมมาสมาธิ ทำให้เกิด ปัญญาญาณ (ญาณรู้อริยสัจ ๔) เพราะจิตจะเห็นคู่เทียบ ๒ ฝั่ง คือ จิตที่กระสับกระส่ายหวั่นไหวเมื่อเจือกับอารมณ์ กับ จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่มีอารมณ์เจือ จิตเมื่อออกจากฐานที่ตั้งสติ หรือที่เรียกว่าจิตส่งออกไปรับรู้เรื่องราว(อารมณ์) จะกระสับกระส่ายหวั่นไหวไปตามอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ขึ้น...ทุกข์ การที่จิตส่งออกจากฐานที่ตั้งสติ หรือออกไปรับรู้เรื่องราว(อารมณ์) ทุกข์ไม่เกิดขึ้นเป็นไม่มี นั่นแลคือเหตุแห่งทุกข์...สมุทัย จิต เมื่อปล่อยวาง-ไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆเลย ไม่ทุกข์...นิโรธ การดึงจิตกลับมาอยู่ที่ฐาน(สัมมาสติ) คอยประคองไม่ให้จิตแลบออก(สัมมาวายามะ) ทำให้จิตสงบตั้งมั่น(สัมมาสมาธิ) เป็นสมาธิ เป็นวิธีที่จะทำให้จิตปล่อยวาง-ไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆ (สัมมาทิฐิ-สัมมาสังกัปปะ) ซึ่งจะทำได้ต้องมีศีลกำกับด้วย(สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) ...มรรค ธรรมภูต ★ ★ ★ คำถามหลังไมค์ (ต่อ) คำถาม :- เอ่อ แล้วแบบนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า 7 วัน 7 เดือน 7 ปี งี้ก็ไม่ถูกดิครับ ผมต้องรอถึงชาติถัดๆไปเชียวหรือครับนี่ ? คำตอบ :- ท่านครับ ถ้ายังไม่ได้ฌาน ๔ และยังทำให้เป็นวสีไม่ได้ อย่าไปพูดถึง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เลยครับ ยังไม่ได้สัมมาสมาธิฌาน ๔ มรรคยังไม่สมังคี ครับ มรรคจะสมังคีครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน นั่นหมายความว่า ต้องเข้าออกฌาน ๔ จนชำนาญ จากนั้นปฏิบัติต่อไป ค่อยๆถอดถอนกิเลส...ฯลฯ... จากนี้ไปครับถึงจะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี... เจริญในธรรมทุกๆท่าน ธรรมภูต
|
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog |
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |