สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง
![]() 🌷 สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง สมาธิ หรือ สมถะภาวนา นั้น คือ ความสงบตั้งมั่นแห่งจิตของตน เมื่อกล่าวถึงความสงบของจิต ย่อมมีปรากฏให้เห็นได้ในบุคคลทั่วๆ ไป เพียงมีความรู้สึกว่าตนเองสบายกาย สบายใจ หรือสักๆ แต่ว่ารู้เรื่องราวในขณะนั้น เราก็จัดได้ว่าจิตมีความสงบสบายในระดับที่รับได้ แต่ยังไม่สามารถจัดเป็นสมาธิหรือสมถะภาวนาได้ เนื่องจากจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นลงในความสงบนั้น ขณะที่จิตมีความรู้สึกสงบสบายอยู่นั้น จิตก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่สามารถถอดถอนจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถดึงจิตให้กลับเข้ามาสู่ความสงบดังเดิม ส่วนบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือ และน่าเชื่อถือของบุคคลทั่วๆไป เนื่องจากเป็นบุคคลที่จิตมีกำลังสติตั้งมั่นในระดับหนึ่งที่จะวิรัติ ข้อห้ามคือ "ศีล" อันเป็นธรรมที่งามในเบื้องต้น อันเป็นปรกติของมนุษย์ได้ ศีลของท่านไม่เป็นเพียงแค่ข้อห้ามเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านวิรัติ-งดเว้นได้แล้ว "สมาธิ" จึงถูกจัดให้เป็นธรรมอันมีความงดงามในท่ามกลาง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้" เพราะเมื่อจิตของตนเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังสติสามารถ "วิรัติ" ข้อห้าม ยังศีลให้ "บริสุทธิ์"ได้ ย่อมสามารถยับยั้งจิตของตนไม่ให้เข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เปรียบเสมือนแขกจรได้ "สมาธิ" เป็นองค์ธรรมที่เชื่อมต่อให้ ศีล สติ กับ ปัญญา เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ ในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่ง "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะมีองค์ธรรมที่แวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิ(ปัญญา)ย่อมเป็นประธาน" (พุทธพจน์) 🌷 "สัมมาสมาธิ" นั่นแหละจึงเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเพียรเพ่งภาวนา (ภาวนามยปัญญา)ไปจนกระทั่งจิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่สามารถตริตรองตามได้ กับสิ่งที่รู้เห็นที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงขอนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวรับรองไว้มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" จากพระบาลี ในสมาธิสูตรได้ขยายความ คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น นิโรธ ความดับทุกข์นั้น มรรค ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ สภาวะธรรมของสัมมาสมาธิฌานที่ ๔ ในอริยมรรค ๘ นั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยองค์ภาวนาที่เรียกว่า "อามีสสัญญา" อีกแล้ว เป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงานทางจิต พร้อมที่จะลด ละ เลิก และโน้มน้อมนำไปสู่สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (วิปัสสนา) เป็นเบื้องต้น มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เชื่อโดยขาดเหตุผลในการตริตรองตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบ สืบเนื่องจากมีการสอนให้ปฏิบัติโดยเดินเข้าไปสู่ปรมัตถธรรมเอา "วิปัสสนา" (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว ไม่ต้องไปใส่ใจและเสียเวลากับการสร้างฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เรียกว่า "กรรมฐาน" คือเพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ทำสมาธิ หรือที่เรียกว่า "สมถะ" ให้หลังขดหลังแข็ง หรือเพียรเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก โดยสอนแค่ให้มารู้จักวิปัสสนาตามตำราที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก็พอ คือให้สักๆ แต่รู้สึกว่า แล้วนำเอาสิ่งที่ถูกสักๆ แต่รู้สึกว่านั้น มาพิจารณาจนจดจำความรู้ที่รู้มานั้นได้ตกผลึกเป็นปัญญา (ถิรสัญญา) เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เอง เป็นความเข้าใจไปแบบง่ายๆ ว่า "สมาธิ" เกิดขึ้นได้เอง เป็นความเข้าใจแบบผิดฝาผิดตัวที่ไม่นำไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ได้เลย การสอนแบบนี้ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นการทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดั่งใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า "ข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ" องค์ธรรมของ "สัมมาสมาธิ" ใน "สติปัฏฐาน ๔" รับรองไว้ชัดเจนดังนี้ สมาธิฌานที่ ๔ "เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่" สภาวะจิตของตนในฌานที่ ๔ นี้ จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บุคคลที่จิตมีสภาวะธรรมเช่นนี้ ย่อมมีปัญญารู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนตามความเป็นจริง ส่วนบุคลที่ยังมีจิตอันอารมณ์เจือติดอยู่เป็นนิจนั้น ย่อมสับสนวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉกเช่นมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาจนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เมื่อสุดขอบของอารมณ์จึงจะสงบลงได้สักที พอเผลอไผลอีกก็วนลูปกลับไปเป็นเช่นเดิม เป็นวัฏฏะวนจนไม่มีที่สิ้นสุด ถ้า "สมาธิ" ไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเสียแล้ว ในอริยมรรคมีองค์ ๘ คงไม่จำเป็นต้องมีการระบุลงไปอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีกหลายๆ พระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนรับรองและเน้นย้ำถึงความสำคัญของ "สมาธิ" โดยตรงเฉพาะ "สัมมาสมาธิ" ที่มีองค์ประกอบมีปัจจัยแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ อันมีศีล และ ปัญญารวมประกอบอยู่ด้วย ในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ อันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลางอันเป็นทางอันเอก เป็นทางที่ไม่เข้าใกล้ทางสุดโต่งสองฝั่ง อันมี "ติดสุข" ๑ "ปรารถนาทุกข์" ๑ คำว่า "ไม่เข้าใกล้" ความหมายน่าจะชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า เข้าไปได้ แต่ต้องไม่ใกล้จนเกินไป ดังนี้ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต ปัจฉิมโอวาท
![]() ปัจฉิมโอวาท พระพุทธองค์ได้ทรงห่วงใยตรัสสั่งเสียไว้ในวันที่ปรินิพพาน อันเป็นอนุสาสนีย์ครั้งสุดท้าย ที่มีสาระสำคัญอย่างยิ่ง ได้ให้ไว้กับ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เพื่อนำไปสมาทานปฏิบัติตน ตรงตามธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงให้ไว้ เพื่อบรรลุผลแห่งการปฏิบัติธรรม ดังปัจฉิมโอวาทานุสาสนีย์ว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต ฯ" ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั่วไปที่สักๆ แต่ว่าฟังพระปัจฉิมโอวาท แล้วไม่นำมาตริตรองใคร่ครวญให้รอบคอบถี่ถ้วนแล้ว มักมองเป็นเพียงว่า พระพุทธองค์ทรงต้องการแค่ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แค่อย่าเลินเล่อ เผอเรอขาดสติ มีความรอบคอบก็เพียงพอแล้ว โดยไม่เฉลียวใจเลยสักนิดว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหมดในทางปฏิบัติ เพียงแต่ในบางครั้งบางคราวได้ละไว้ในฐานที่เข้าใจ สำหรับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติ ตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดีแล้ว ย่อมมองเห็นความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันตามความเป็นจริง คำว่า "อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ" หมายความว่า ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สักๆ แต่คิดว่าคอยระมัดระวังอินทรีย์ไม่ให้เลินเล่อ เผลอเรอ ขาดสติ เพียงแค่นี้ก็ได้ชื่อว่า "ไม่ประมาท" แล้ว นั่นเป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่เราได้สมาทานตั้งเจตนาจดจำเอาไว้ นำมารองรับ แต่จะให้ถึงพร้อมโดยไม่ประมาทได้นั้น เป็นธรรมที่จะให้เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก ด้วยเพียงแค่ตรึกนึกคิดจนความคิดตกผลึก เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยความเพียรเพ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เหล่านั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้มากด้วยการตรึกธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม (พระพุทธพจน์) ส่วนพระอริยบุคคลที่ยังไม่หลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ย่อมยังมีการเผลอเรอขาดสติมากบ้างน้อยบ้างตามโอกาสแตกต่างกันไปในแต่ละขั้นของพระอริยะ ส่วนบุคคลที่จะยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้นั้น มีเฉพาะพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์เท่านั้น เราลองนำพระพุทธพจน์มาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงดูกับพระสูตรอื่นจะได้เห็นชัดว่า ทำอย่างไรถึงจะยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้ จากพระสูตร "เรา (พระตถาคต) ไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น" "เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ฯ" พระองค์ทรงเพียรเผากิเลสด้วยสติปัฏฐาน คือการมีสติอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ที่ฐาน จนจิตมีสติ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เราเรียกว่า ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ว่า "ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ คือ ความไม่ประมาท" "ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท" (พระพุทธพจน์) เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรปฏิบัติธรรมเพื่อยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมได้อย่างไร ตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนไว้ "ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ" ซี่งสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ที่ว่า "ประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ" จากพระสูตรที่นำมาเสนอนั้นพอสรุปได้ว่า ต้องประกอบชาคริยานุโยค ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร (ไม่ประมาท) จงเพ่งฌาน (สัมมาสมาธิ) อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง" หลายคนที่ยังมีความข้องใจอยู่ว่า เกี่ยวอะไรกับ "สัมมาสมาธิ" บอกได้ว่า ฌานที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองไว้นั้น ต้องเป็นฌาน คือความเพ่งในสัมมาสมาธิ อันมีความเพ่งที่ ๑-๔ ส่วนฌานที่นอกเหนือไปจากนี้ เป็นพวกฌานสมาบัติ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปแล้วว่า ความเพ่ง(ฌาน)เหล่านั้น ไม่อาจนำไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ อย่างมากช่วยให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้ในพระสูตร คำว่า "เพ่งฌาน" ฌานก็คือ "ความเพ่ง" ส่วนคำว่า "เพ่ง" ในที่นี้ คือการรู้เห็นอะไรอย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย การรู้เห็นที่ว่ามานั้น ไม่จำเป็นต้องจ้องดู มองด้วยตาแบบเขม็งเกร็ง แต่เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษทางใจ เป็นนามธรรม ให้เพียรระลึกรู้ (เพ่ง) อยู่ที่องค์ฌาน (ความเพ่งที่ ๑-๔) แบบต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ต้องมีอาการเพ่งจ้องแบบตาเนื้อก็รู้เห็นได้ตามความเป็นจริง เพราะอารมณ์กรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นอารมณ์ ณ ภายในตน ทำให้จิตรู้เห็นพระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้อย่างชัดเจน หลายคนอ่านแล้วอาจเกิดความรู้สึกสงสัยข้องใจเนื่องจากตนเองยังเข้าไม่ถึงความเพ่งว่า แล้ว "ฌานในสัมมาสมาธิ" แตกต่างจาก "ฌานสมาบัติ" ที่เรียกว่า รูปฌาน อรูปฌาน อย่างไรเล่า? มารู้จักคำว่า "สะมาบัด" น. "ภาวะที่จิตสงบประณีต คุณวิเศษที่เกิดจากการที่จิตเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่ การบรรลุคุณวิเศษชั้นสูงด้วยอำนาจของการเข้าสมาธิ" เป็นฌานที่เกิดจากการเพ่งอารมณ์ภายนอกกายเป็นอารมณ์กรรมฐานและยึดอารมณ์นั้นเอาไว้อย่างเหนียวแน่นจนแน่วแน่ เป็นสมาธิละเอียดขึ้นไปตามขั้นตอนของการเพ่งเป็นสุขที่เกิดจากอามีส ขึ้นชื่อว่าอารมณ์ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงต้องยึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเพราะเกรงไปว่าอารมณ์ที่ยึดเอาไว้นั้นจะจืดจางลงไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องคอยจดจำอารมณ์จิตอันปราณีตนั้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆจนชำนาญเป็นวสี ขณะเดียวกันในส่วนลึกๆ ของจิตนั้นยังเป็นทุกข์ด้วยเกรงไปว่าอารมณ์อันปราณีตที่ประคองอยู่นั้นจะจืดจางลงไป จึงเพียรเพ่งรักษาอารมณ์อันประณีตนั้นไว้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น เมื่อเปรียบเทียบกับฌานความเพ่งที่ ๑-๔ ใน "สัมมาสมาธิ" แล้ว มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในผลที่ได้รับ ฌานในสัมมาสมาธินั้น เป็นฌานที่เพียรเพ่งเพื่อปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตตามความเพ่งที่ ๑-๔ จิตมีสติบริสุทธิ์กุมวางเฉยอยู่ (อุเบกขาสติปาริสุทธิง) เป็น "สมาธิ" ที่เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ต้องเป็นอารมณ์ในมหาสติปัฏฐาน ๔ อันมี กาย เวทนา จิต และธรรม เป็น "เอกายาโน" ทางสายเอก คือทางสายเดียวเท่านั้น ที่ยังสัตว์ (จิตที่ติดข้องอารมณ์อยู่) ให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ไม่ใช่ทางแบบที่พยายามตีความกันเอาเองตามมติที่ชอบของตนอย่างทุกวันนี้ นั่นเป็นไปเพื่อความมักง่ายของตนเองเท่านั้น ฌานนอกพระพุทธศาสนานั้น ที่ใช้คำนี้ "นอกพระพุทธศาสนา" เหตุด้วย พระพุทธองค์ได้เคยทรงปฏิเสธไปแล้วว่าไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ในขณะที่พระองค์ยังดำรงตนเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ต่อเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้เล็งเห็นว่า ฌานสมาบัติที่มีอยู่ก่อนพระพุทธองค์จะทรงอุบัติขี้นมานั้น ถึงไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ก็จริง แต่ทำให้กิเลสของผู้ที่ปฏิบัติฌานสมาบัติจนชำนิชำนาญเป็นวสีแล้วเบาบางลงได้ ยิ่งเป็นวสีมากยิ่งเบาบางลงมาก บุคคลเหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรมจากพระองค์ก็รู้จักทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน ทางสายเอกที่มีทางเดียวและถูกต้องตามหลักที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ ให้เริ่มต้นที่ กายในกายเป็นภายใน คือ "อานาปานสติ" เป็นการภาวนามยปัญญา อันอยู่ในบรรพะแรกของมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้เกิดผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ นี้บริบูรณ์ (พระพุทธพจน์) ย่อมหมายถึงการเข้าใจ เข้าถึง กาย เวทนา จิต และ ธรรม อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงเรียกว่าบริบูรณ์ได้ หลายคนอาจสงสัยข้องใจ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการสอนกันจนเกิดความสับสนวุ่นวายแปลกแยกออกไป ตามมติที่ชอบของตนเองโดยพละการ มักอ้างว่าคนเรานั้น มีจริตนิสัยที่แตกต่างกันออกไป บ้างเป็นพวกตัณหาจริต บ้างเป็นพวกทิฏฐิจริต อ้างว่าการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมจึงต้องแตกต่างกันบ้าง มีเรื่องเวลาและปัญญา (สัญญา) ที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นการอ้างแบบมักง่าย เอาที่สบายๆ ลัดสั้น ด้วยความเกียจคร้าน (ประมาท) โดยอ้างว่าไม่มีเวลาแต่มีปัญญา (สัญญา) มาก ให้เริ่มที่ หมวดจิต และหมวดธรรมได้เลย โดยลืมพิจารณาตริตรองตามความเป็นจริงว่า ในคนทุกคนนั้นล้วนต้องมีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริตอยู่ในตนเองทุกคน เทียบเคียงได้จากพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดเจนว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการปรุงแต่ง (สังขาร) เมื่อไม่มีการปรุงแต่ง (สังขาร) ทิฏฐิจริตจะมีมาจากไหน สิ่งที่ต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกันนั้น เราไม่อาจแยกออกจากกันโดยพละการตามชอบใจได้ เป็นการสอนชนิดที่เอาใจกันแบบสุดๆ ด้วยกลัวความยากลำบากที่ต้องอาศัยความเพียรเพ่งฌานเป็นอย่างมาก ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน บอกว่า "การเพียรเพ่งภาวนา เป็นอัตตกิลมถานุโยค" ไปเลยก็มี การเพียรเพ่งฌานนั้น เป็นหนึ่งในองค์อริยมรรค ๘ คือ "สัมมาสมาธิ" ที่เรียกว่า "อธิจิตตสิกขา" การอบรมจิตอย่างยิ่ง คืออบรมจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เป็นกำลังของ "ศีล" ทำให้จิตของตนมีสติ สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีกำลังที่จะวิรัติให้ศีลบริสุทธิ์ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ก็มีแต่เฉพาะพระอริยบุคคลชั้นต้น (โสดาบัน) เท่านั้น เป็นธรรมที่งามในเบื้องต้นสำหรับผู้พบเห็น เป็นศีลของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เป็นศีล สมาธิ (อธิจิตตสิกขา) ปัญญา อันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วต่างๆออกไปจากจิตของตนได้ มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรคมีองค์ ๘) ไว้ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล) งามในท่ามกลาง (สมาธิ) งามในที่สุด (ปัญญา) จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม" ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ดังนี้ สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต สติ สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องกัน
![]() สติ สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องกัน สติ สมาธิ ปัญญา ในแนวทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็น "ธรรมที่มีอุปการะมาก" เป็นไปเพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์ เมื่อกล่าวถึง สติ สมาธิ ปัญญา แล้ว มักมีความเข้าใจไปในคนละทิศคนละทาง ตามแต่มติความรู้ความเข้าใจ ที่ได้รับมาจากบุคคลที่เราให้ความเชื่อถือเคารพศรัทธา ถ่ายทอดกันมาอย่างไหร่ ก็เชื่อตามกันไปอย่างนั้น โดยขาดความเฉลียวใจ บ้างเน้นใหัมี "สติเพียงอย่างเดียว" แค่ให้รู้ตัวทั่วพร้อมก็พอ เดี๋ยวสมาธิปัญญาก็จะตามมาเอง ทั้งๆ ที่โดยสัจจะความจริงแล้ว สติ สมาธิ ปัญญานั้น ล้วนต้องหมั่นเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น โดยให้รู้จักประคองจิตไว้ที่ฐานอยู่เนืองๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้เอง เพราะสติ สมาธิ ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็น "ภาเวตัพพะ" คือต้องหมั่นเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น แต่เมื่อพิจารณาไปแล้ว ก็ยังดีกว่าบางมติที่สอนว่า "เหตุใกล้ทำให้สติเกิด" เป็นมโนมยปัญญา คือเป็นการคิดเองเออเอง เหตุใกล้นั้นทำให้เกิดอาการสะดุ้งรู้ตัว นึกได้ว่าตนเผลอไผลไปแล้วเท่านั้น เป็น "สัญญา" ไม่ใช่สติที่มีมาในสติปัฏฐาน ๔ ที่เรียกว่า "สัมมาสติ" การรู้ตัวแบบนั้นล้วนเป็น "สัญญาอารมณ์" จดจำอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างแม่นยำจนเป็น "ถิรสัญญา" สติ คือ การระลึก ในทางโลกเรามักระลึกจนจดจำอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ จึงสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ถิรสัญญา" ฝ่ายที่เชื่อก็ยังพยายามยัดเยียดเรียกสภาวะธรรมนั้นว่า "สติ" ตามความเป็นจริงแล้ว เราจดจำได้อย่างแม่นยำจนขึ้นใจนั้นเป็น "ถิรสัญญา" ส่วนสติที่จะเป็นสัมมาสติได้ต้องระลึกลงที่กาย เวทนา จิต และธรรมเท่านั้น จนปรากฏธรรมอันเอกเพื่อความหลุดพ้น บริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ช่วงแรกที่ยังฝึกฝนอบรมอยู่นั้นยังเรียกว่า "สติ" ต่อเมื่อพิจารณาระลึกรู้อยู่ที่กายสังขาร จนกระทั่งเข้าถึงกายในกายเป็นภายใน รู้จักธรรมอันเอกผุดขึ้นที่จิต จึงเรียกว่า "สัมมาสติ" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นการระลึกรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร เมื่อจิตผัสสะกับอุปกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ระลึกรู้แล้วละ ไม่ใช่รู้แล้วยึดเอามาพิจารณาไว้ก่อนให้ค้างคาใจ ผู้ที่ฝึกฝนอบรมจิตใหม่ๆ ระลึกรู้แล้วมักละได้ช้า ต่อเมื่อหมั่นกระทำให้มาก เจริญให้มาก ชำนาญจนเป็นวสี กระทบปุ๊บวางปั๊บ โดยไม่ต้องเสียเวลา นั่นเป็นองค์ธรรมแห่งปัญญา ไม่ใช่ "ถิรสัญญา" ส่วนองค์ธรรมที่เชื่อมต่อสติกับปัญญาเข้าด้วยกันในแนวทางพระพุทธศาสนานั้น คือ "สมาธิ" โดยเฉพาะ ในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ซึ่งแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน" (พระพุทธพจน์) นั่นแหละเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อเพียรเพ่งภาวนาไปจนจิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเกิดขึ้นมาตามลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวเชื่อมโยงรับรองไว้ มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" สภาวะธรรมของสัมมาสมาธินั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ได้โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องอาศัยองค์ภาวนาที่เรียกว่า "อามิสสัญญา" อีกแล้ว เป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงานทางจิต พร้อมที่จะโม้นน้อมนำไปสู่ญาณปัญญา (วิปัสสนา) เป็นเบื้องต้น แปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เกิดความเชื่อที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาให้เดินเข้าไปสู่ปรมัติธรรมโดยเอา "วิปัสสนา" (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว ไม่ต้องใส่ใจเสียเวลากับการทำสมาธิภาวนามยปัญญาให้หลังขดหลังแข็ง หรือเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก แค่รู้จักวิปัสสนาตามตำราที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา พิจารณาจนความรู้ที่ศึกษามานั้นตกผลึก เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เอง เป็นการสอนแบบขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ ทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไป ดั่งใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนในข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ องค์ธรรมของ "สัมมาสมาธิ" ใน "สติปัฏฐาน ๔" รับรองไว้ชัดเจนดังนี้ สมาธิฌานที่ ๔ "เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นความชัดเจนในเนื้อหาพระพุทธพจน์โดยไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นว่า "จิตของบุคคลนั้น มีสติบริสุทธิ์ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เช่นสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสแต่เก่าก่อนลงได้ กุมเฉยอยู่ มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความกระสับกระส่าย สับสน วุ่นวาย เพราะยึดมั่นถือมั่น กับ ความสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวของจิต เพราะปล่อยวางได้ต่างกันอย่างไร" สรุปสุดท้าย จากหลักฐานที่อ้างอิงข้างต้น พอนำไปพิจารณาตริตรองให้เห็นจริงได้ว่า สติ สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนาที่เป็น "สัมมา" นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ค้ำยันกัน เป็นข้อธรรมที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดสืบเนื่องต่อกัน ตามลำดับความเพียรเพ่งกรรมฐาน (ภาวนามยปัญญา) ที่จำเป็นต้องหมั่นกระทำให้มาก เจริญให้มาก จึงจะบริบูรณ์ได้ดังนี้....สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต ต้อง สมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ สมถะหรือวิปัสสนา
![]() ต้อง "สมถะและวิปัสสนา" ไม่ใช่ "สมถะหรือวิปัสสนา" เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผู้ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติธรรมให้ได้ผลในทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากตำรา ที่รจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาในภายหลังนั้น ตีความผิดไปจากความเป็นจริง เป็นความรู้ที่ไม่สามารถนำมาตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้เสียแล้ว ย่อมทำให้พระพุทธศาสนาเรียวลง เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว คือสัทธรรมปฏิรูปไป เพราะผู้ศึกษาขาดความฉลาดรอบคอบ ไม่นำสิ่งที่ศึกษาเรียนรู้มา ไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงว่าลงกันได้กับพระธรรม พระวินัยหรือไม่ และยังขาดความเคารพยำเกรงต่อสิกขาบทที่มีอยู่ในชั้นต้นๆ ที่เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว" "กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ" (พระพุทธพจน์) พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ว่าด้วยสัทธรรมปฏิรูป เพราะเหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ ดังนี้ "ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม ฯ" เฉพาะข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ สมาธิในข้อดังกล่าวนี้ เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา คือ "สัมมาสมาธิ" เป็นหนึ่งในหมวด "สมาธิ" แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัวเอง ซึ่งแตกต่างออกไปจากสมาธิที่มีอยู่ก่อนพระพุทธองค์จะได้ทรงอุบัติขึ้นมา สมาธิเหล่านั้นเป็นเพียงแค่สมถะ หรือที่เรียกสมถะยานิก เป็นองค์ฌานที่ไม่ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่เกิดปัญญา ที่เรียกว่า "วิปัสสนา" ได้เลย ส่วน "สัมมาสมาธิ" นั้น ประกอบด้วย "สัมมาวายามะ" "สัมมาสติ" เป็นสติที่มีมาในสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เป็นองค์ฌานที่ทำให้จิตรู้เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง ทำให้เกิดวิปัสสนาญาณปัญญา ปัจจุบันได้มีสิกขาบทที่รจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่มากมาย ทำให้ผู้ศึกษาเรียนรู้ และปฏิบัติธรรม รู้ผิด เห็นผิด ไปจากความเป็นจริง ได้มีการตีความตามมติของตนเองแยกสมถะยานิกและวิปัสสนายานิกออกจากกันโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรมของพวกพราหมณ์ที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา ส่วนที่เป็นวิธีปฏิบัติธรรมในแนวทางของพระพุทธศาสนานั้น สมถะและวิปัสสนาเป็นของคู่กัน เป็นองค์ธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้ อุปมาดังสติและปัญญาในทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน เมื่อพูดถึงสติ ต้องมีปัญญาเป็นเบื้องต้น เมื่อพูดปัญญา ต้องมีสติเป็นเบื้องต้น "เมื่อบุคคลเจริญสติ สมาธิ ปัญญา มรรคย่อมเกิด เมื่อเจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมละสังโยชน์ได้" พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นไว้ในที่ต่างๆ ว่า "สติ สมาธิ ปัญญา" นั้น เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก ล้วนต้องเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้เอง ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่คิดแล้วคิดอีก จนความคิดนั้นได้ตกผลึกเป็นสัญญา-ไม่ใช่ปัญญา เพราะสติ สมาธิ ปัญญานั้นเป็น "ภาเวตัพพะ" คือต้องเพียรเจริญ เพียรสร้างให้เกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนี้ มีการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ด้วยคติธรรมความเชื่อของตนเองที่มีอยู่กับผู้ที่ให้ความรู้การศึกษาแก่ตน ขาดความฉลาดรอบคอบ ไม่มีการพิจารณานำเอาความรู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้มานั้น นำไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง กับพระสูตรชั้นต้นๆ ที่เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว" เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแห่งจิต เมื่อมีใครมาพูดในสิ่งที่ไม่เหมือนกับที่ตนเองได้ศึกษาเรียนรู้มา ก็นำอคติที่ตนมีอยู่ กล่าวหาว่าร้ายไว้ก่อน นั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ของชาวพุทธที่ดี ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ดีแล้ว เป็นการปิดธรรมทัศน์ของตนเอง แบบไม่น่าให้อภัยเลย เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต ผู้ที่อบรมจิตจนสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จึงจักพ้นจากทุกข์ได้
![]() ผู้ที่อบรมจิตจนสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จึงจักพ้นจากทุกข์ได้ จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน ฯ (พระพุทธพจน์) ^ ^ พระพุทธพจน์ชัดเจนว่า จิตผู้รู้ที่ได้อบรมดีแล้ว ย่อมไม่กำหนัด ในอารมณ์ที่ควรกำหนัด จิตผู้รู้ที่ได้อบรมดีแล้ว ย่อมไม่โกรธเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการโกรธเคือง ชัดมากเลยว่า จิตสามารถฝึกฝนอบรมได้ด้วยการเพียรเพ่งฌาน ให้จิตมีสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดังภูเขาหิน เมื่อจิตของตนสงบตั้งมั่น ไม่วุ่นวาย ย่อมรู้จักปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ได้ จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องความทุกข์ยาก ลำบากกาย ลำบากใจกันจำนวนมาก เพราะขาดการฝึกฝนอบรมกาย อบรมจิตของตน จิตของตนมีคุณภาพได้นั้น จิตต้องได้รับการอบรมให้เข้าถึงความสงบตั้งมั่น ถ้าทำจิตเพียงแค่ให้สงบตัวลงได้เป็นครั้ง เป็นคราว แต่ไม่ตั้งมั่น ก็อย่าได้พยายามคาดหวังไปเองว่า "จิตของตนจะมีคุณภาพ" ได้เลย เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต |
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |